รอบรู้เรื่องรถ
ใช้น้ำมันเครื่องได้นานแค่ไหน ?
ผมจำได้ว่ากำหนดเปลี่ยนน้ำมันเครื่องของรถยนต์เมื่อ 40 ปีก่อนนี้ คือทุกๆ 2,000 กม. แล้วอีกราวๆ 10 ปีต่อมาก็ขึ้นมาเป็นทุกๆ 3,000 กม. แล้วอีกไม่นานก็กระโดดมาเป็นทุกๆ 5,000 กม. ค่อนข้างแปลกครับ คือข้ามเลย 4,000 มาเฉยๆ โดยไม่มีเหตุผลอะไร "กำหนดเปลี่ยนน้ำมันเครื่อง"
ที่ผมเอ่ยถึงนี้ หมายถึงกำหนดเปลี่ยนน้ำมันเครื่องที่พวกเรานิยมกันนะครับ ไม่ได้หมายถึงระยะเปลี่ยนน้ำมันเครื่องที่ผู้ผลิตรถเขากำหนด ซึ่งมักจะเป็นระยะทางที่มากกว่า ส่วนที่เรียกว่า "พวกเรานิยม" นั้น ที่จริงน่าจะมาจากความนิยมของบรรดาผู้ขายน้ำมันเครื่อง ที่ได้กำไรจากการขาย หรืออย่างน้อยก็มีผลประโยชน์บางส่วน ไม่ว่าจะเป็นศูนย์บริการ ช่าง ร้านขายน้ำมันเครื่อง เจ้าของปั๊มน้ำมัน พนักงานเติมน้ำมัน ฯลฯ แล้วพวกเราผู้ใช้รถและผู้จ่ายเงิน ก็รีบเชื่อทันทีอย่างสนิทใจเพราะวัฒนธรรมและค่านิยมของพวกเรา คือการเชื่ออะไรต่างๆ ได้มากมาย โดยไม่จำเป็นต้องมีเหตุผลมารองรับ
ในวงสนทนาเราจะได้ยินแต่คำว่า "เขาว่า" นำหน้าเรื่องราวต่างๆ ในทุกเรื่องทุกวงการเพราะฉะนั้นความนิยมเปลี่ยนน้ำมันเครื่องทุกๆ 5,000 กม. ซึ่งยืนยาวมากว่า 20 ปีแล้ว ก็มาจาก "เขาว่า" นี่แหละครับ ในขณะที่ผู้ผลิตรถผลิตเครื่องยนต์ เขาเลือกระยะเปลี่ยนน้ำมันเครื่องกันเกิน 10,000 กม. กันหมดแล้ว หมดจริงๆ นะครับ หลายคนอาจจะแย้งในใจว่าไม่จริง เพราะในคู่มือประจำรถยังกำหนดให้เปลี่ยนทุกๆ 5,000 กม. อยู่
ผมรับรองได้ว่าเป็นคู่มือภาษาไทยที่ผู้แทนจำหน่ายกำหนดเอาเองและพิมพ์เองทั้งนั้นครับ บาง "ยี่ห้อ" ที่มีคู่มือแท้ภาษาอังกฤษให้มาด้วย ลองเปิดดูได้เลยครับ รับรองว่าเกิน 10,000 กม. ทุกรุ่นทุกยี่ห้อเราลองมาหาเหตุผลกันว่ามันมีอะไรเป็นแก่นสารซ่อนอยู่ หรือว่าเป็นเพียงความเชื่อที่ไร้สาระเท่านั้น
ผมคิดว่าความนิยมระยะทางดังกล่าวนี้ เป็นเพียงความรู้สึกแบบอัตวิสัยล้วนๆ คือเลขสวยดี จำง่ายเป็นครึ่งหนึ่งของ 10,000 พอดี แล้วก็ยึดติดกันมาเรื่อยๆ นานมาก ต้องบอกว่านานเกินไปมากเพราะเขาพัฒนาคุณภาพน้ำมันเครื่องกันอยู่ตลอดเวลา และก็ยังไม่มีใครทราบว่าจะยึดมั่นกันต่อไปอีกนานเพียงใด
คราวนี้มาดูเหตุผลทางตรรกกันบ้างครับ เราทราบกันอยู่แล้วว่า กำหนดเปลี่ยนน้ำมันเครื่องที่สมควรนั้น ไม่มีค่าตายตัว เพราะขึ้นอยู่กับคุณภาพของน้ำมันเครื่องที่ใช้ คราวนี้อนุโลมว่าคุณภาพอยู่ในระดับใกล้เคียงกัน คือน้ำมันเครื่องคุณภาพสูงพอสมควร ที่ศูนย์บริการเลือกใช้ ซึ่งก็ต้องถูกควบคุมคุณภาพโดยผู้ผลิตรถยนต์แน่นอน หรือน้ำมันเครื่องที่ผู้จำหน่ายเชื้อเพลิงมาตรฐานรายใหญ่ทั้งหลาย ถือว่าเป็นผลิตภัณฑ์หลัก โดยยกเว้นน้ำมันเครื่องสังเคราะห์แท้ไว้ก่อนนะครับ ถึงจะมีคุณภาพระดับใกล้เคียงกันที่เราพอจะประเมินได้ ระยะเปลี่ยนน้ำมันเครื่องเหมาะสมก็ยังขึ้นอยู่กับสภาวะที่เครื่องยนต์ของรถเราถูกใช้งานอยู่ดี
ในส่วนนี้ก็พอจะอนุโลมได้อีกครับว่าต่างกันไม่มาก ถ้าไม่นับกลุ่มที่ที่ทำงานห่างจากบ้านไม่ถึง 3 กม. แล้วไม่ชอบขับรถไปทำธุระอื่นหรือไปเที่ยวพักผ่อนหย่อนใจ ซึ่งน้ำมันเครื่องจะรับภาระหนักมากกับกลุ่มที่บ้านกับที่ทำงานอยู่คนละจังหวัดและขับรถไปกลับทุกวัน ซึ่งเป็นกรณีที่น้ำมันเครื่องรับภาระน้อยมาก เราก็พอจะอนุโลมได้ว่า สำหรับผู้ใช้รถกลุ่มใหญ่คือเกือบทั้งหมด ที่อยู่อาศัย "ในเมือง" ก็จะมีการใช้งานเครื่องยนต์ของรถในระดับที่ไม่ต่างกันนัก คือมีทั้งช่วงสั้น รถติด ขึ้นทางด่วนทางพิเศษกันบ้าง ขับในเมืองรถติดปานกลางในวันหยุดราชการบ้าง
ซึ่งก็จะมีระยะเปลี่ยนน้ำมันเครื่องที่ "เหมาะสมทางเทคนิค" อยู่ค่าหนึ่งนะครับ สำหรับน้ำมันเครื่องคุณภาพที่ผมยกตัวอย่างมาแล้ว ระยะเปลี่ยนน้ำมันเครื่องที่เหมาะสมทางเทคนิค ซึ่งมีอยู่จริงนี้ จะเป็นตัวเลขเท่าใดนั้น ขึ้นอยู่กับหน่วยความยาวของถนนที่เราจะใช้ ไม่จำเป็นต้องเป็นกิโลเมตรเหมือนที่เราใช้กันด้วยครับ ชาวอังกฤษ ชาวอเมริกัน และอีกหลายประเทศก็ยังใช้ไมล์เป็นหน่วยความยาวของถนนกันอยู่ เพราะฉะนั้นหน่วยกิโลเมตรที่พวกเรา (และคนส่วนใหญ่ของโลก) ใช้กัน ก็ไม่ได้มีความพิเศษอะไร สมมติว่ายังมีคนที่ไม่ยอมรับหรือจินตนาการไม่ได้ ว่ามันไม่ได้มีความ "พิเศษ"
มาดูการกำหนดระยะทางหนึ่งเมตรในประวัติศาสตร์กันก็ได้ครับ ซึ่งเขาเลือกเอาตามใจชอบเหมือนกันขอให้ได้ความยาวที่เหมาะกับการใช้งาน โดยกำหนดให้ระยะทางหนึ่งในสี่สิบล้านส่วน ของเส้นรอบวงของโลก มีค่าเท่ากับหนึ่งเมตร ที่จริงมีรายละเอียดปลีกย่อยอีกมากครับ เช่น วัดแนวใดต้องให้ผ่านกรุงปารีสที่จุดไหน เพราะชาวฝรั่งเศสเป็นผู้กำหนดมาตรฐานนี้
ตอนหลังนี้วิธีนี้ไม่ละเอียดพอ และเทียบกันลำบาก เลยใช้วิธีอื่นทางฟิสิคส์แทน แต่ระยะหนึ่งเมตรก็ยังใกล้เคียงกับค่าเดิมอยู่
คราวนี้มาดูวิธีนับเลขของพวกเรากันบ้าง แบบที่มีหนึ่งถึง 0 หรือ 10 ซึ่งเรียกเป็นสากลว่าแบบ DECIMAL คือวิธีแบบที่ใช้จำนวน 10 เป็นฐาน จำนวน 10 นี้ก็ไม่ได้มีอะไร "พิเศษ" นะครับมันคือจำนวนนิ้วมือของมนุษย์เราเท่านั้นเอง ซึ่งที่จริงก็ไม่ได้เหมาะแก่การใช้คำนวณเท่าใดนักเพราะแบ่งครึ่งกับแบ่งเป็น 5 ส่วนได้เท่านั้นเอง ถ้าพวกเรามี 12 นิ้วแล้วใช้วิธีนับแบบฐาน 12 ก็จะสะดวกกว่านี้อีก และหากเราใช้ฐาน 12 ระยะเปลี่ยนน้ำมันเครื่องที่พวกเราชอบ มันก็จะไม่เป็นเลขสวยครึ่งหมื่นอีกต่อไปแล้วครับ
เพราะฉะนั้นกำหนดเปลี่ยนน้ำมันเครื่องทุกๆ 5,000 กม. ที่นิยมและยึดมั่นกันทั่วประเทศเราก็เป็นเรื่องไร้สาระล้วนๆ ที่ไม่มีเหตุผลใดเลยมารองรับ ผมเคยเห็นหลายคนกระวนกระวายใจอย่างมากถ้าระยะทางที่ใช้เกิน 5,000 กม. ไปหลายร้อย กม. แต่ยังไม่มีเวลานำรถไปเปลี่ยนน้ำมันเครื่อง
ถ้าจำเป็นต้องกำหนดตัวเลขระยะเปลี่ยนน้ำมันเครื่องเป็นค่ากลางขึ้นมา ผมขอเลือก 10,000 กม. โดยให้กลุ่มที่ใช้งานหนัก (คือระยะทางแต่ละครั้งสั้นมาก) กับกลุ่มรักรถเป็นพิเศษ ลดระยะนี้ลงเหลือประมาณ 6,000 กม. ค่า 10,000 กม. ให้ถือเป็นค่ากลาง ซึ่งยืดหยุ่นได้มาก ใครใช้ทางไกลเป็นหลัก ก็สามารถเพิ่มเป็น 12,000 ถึง 13,000 กม. ได้อย่างสบาย ใครที่ใช้ระยะทางสั้นค่อนข้างมาก ก็อาจจะลดลงเหลือสัก 8,000 กม. ส่วนผู้ที่ใช้น้ำมันเครื่องสังเคราะห์แท้ (FULLY SYNTHETIC) เอา 2 คูณได้เลยนะครับ ถ้ายังฝืนความรู้สึก ก็ลดตัวคูณเหลือ 1.7 ถึง 1.8 ได้ตามสะดวก
ปัญหานี้แทบไม่แตกต่างจากการใช้เบนซินค่าออคเทนสูงเกินของพวกเรา ที่ถูกปล่อยปละละเลยมานานกว่า 10 ปี สูญเงินของประเทศไปนับหมื่นล้านบาท กว่าจะมีการตื่นตัวและให้ความรู้แก่ประชาชนอย่างจริงจัง ต่างกันอยู่เพียงเล็กน้อยตรงที่น้ำมันหล่อลื่นมิใช่เชื้อเพลิงที่ให้พลังงานซึ่งถึงอย่างไรก็ต้องมีหน่วยงานที่รับผิดชอบ เพราะเกือบทั้งหมดของน้ำมันหล่อลื่น และผลิตภัณฑ์ที่นำมาผลิตน้ำมันหล่อลื่นสำหรับรถยนต์ นำเข้าจากต่างประเทศ
ตัวเลขต่างๆ ที่กล่าวมานี้ สำหรับเครื่องยนต์เบนซินนะครับ ส่วนเครื่องยนต์ดีเซลซึ่งมีเขม่าเป็นตัวการสำคัญให้น้ำมันเครื่องและไส้กรองน้ำมันเครื่องเสื่อมสภาพต้องมีวิธีเลือกกำหนดเปลี่ยนแตกต่างออกไปโดยเฉพาะ
ABOUT THE AUTHOR
เ
เจษฎา ตัณฑเศรษฐี
นิตยสาร 399 ฉบับเดือน พฤศจิกายน ปี 2547
คอลัมน์ Online : รอบรู้เรื่องรถ