บทความ
เหลียวหลังแลหน้า อุตสาหกรรมรถยนต์ไทย '48
มกราคม-มิถุนายน 2548
ครม.ชุดใหม่/ราคาน้ำมันพุ่ง/แฟชันทุบรถ/ญี่ปุ่นบุก
คณะรัฐมนตรีชุดใหม่
หลังจากเลือกตั้งไม่นาน เราก็ได้คณะรัฐมนตรีชุดใหม่ ที่แตกต่างจากชุดเก่าพอสมควรโดยเฉพาะสามกระทรวงหลักที่เกี่ยวข้องกับวงการรถยนต์ มีหน้าเดิมเหลืออยู่เพียงหนึ่งเดียว
รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์
ดร.ทนง พิทยะ
ดร. ทนง กล่าวกับผู้บริหารกระทรวง ว่าจะทำงานให้ดีที่สุด ซื่อสัตย์ สุจริต มีความโปร่งใส เป็นธรรม กับผู้ประกอบการ และผู้บริโภค
สำหรับปัญหาเร่งด่วนที่จะต้องแก้ไข คือ ปัญหาภัยแล้ง ราคาสินค้า การเจรจาการค้าระหว่างประเทศ การส่งเสริมการส่งออก และการดูแลด้านทรัพย์สินทางปัญญาที่จะทำอย่างไรให้สินค้าไทยเป็นที่ยอมรับภายใต้แบรนด์เนมสินค้าไทย รวมถึงอื่นๆ อีกทั้งก็จะมีแนวทางบุกตลาดเพื่อให้สินค้าไทยไปสู่ตลาดโลก นำรายได้กลับเข้าประเทศให้มากขึ้น และจะทำอย่างไรที่จะพัฒนารูปแบบการค้าผ่านทางอินเตอร์เนท โดยทุกอย่างจะต้องเกิดความเป็นธรรม
ส่วนรัฐมนตรีช่วย สุริยา ลาภสุทธิสิน
รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม
วัฒนา เมืองสุข
วัฒนา กล่าวว่า ภารกิจเร่งด่วนและยุทธศาสตร์สำคัญที่ต้องเร่งดำเนินการ คือการปรับโครงสร้างอุตสาหกรรมให้สามารถแข่งขันได้ โดยเน้นส่งเสริมอุตสาหกรรมที่ไทยใช้วัตถุดิบภายในประเทศ และเกิดมูลค่าเพิ่มมากขึ้น
สำหรับแผนปรับโครงสร้างอุตสาหกรรม ได้มอบให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เร่งจัดทำแผนเชิงปฏิบัติการ (โรดแมพ) ให้เป็นรูปธรรม เพราะการแก้ปัญหาโครงสร้างอุตสาหกรรมทั้งระบบต้องใช้ระยะเวลา และพิจารณารายละเอียดมากขึ้น ว่าจะแยกแผนเป็นระยะสั้น ระยะกลาง และระยะยาวได้อย่างไร เพื่อให้การพัฒนาอุตสาหกรรมมีเป้าหมาย และผลักดันไปสู่การขยายตัวผลิตภัณฑ์มวลรวมภาคอุตสาหกรรม มีมูลค่า 3.3 ล้านล้านบาท ภายในปี 2551 หรือคิดเป็น 6 % ต่อปี
รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม
สุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ
สุริยะ มอบนโยบายในการปฏิบัติงานแก่ผู้บริหารและหัวหน้าหน่วยงานภายในกระทรวง ฯ เพื่อตอบสนองนโยบายของรัฐบาล โดยเฉพาะเรื่องการปราบปรามทุจริตคอร์รัพชันเนื่องจากกระทรวงคมนาคมได้รับข้อครหาเกี่ยวกับการทุจริตตลอดมา ทั้งๆ ที่กระทรวง ฯ
ได้ดำเนินการในโครงการต่างๆ ที่สำคัญ และเกิดประโยชน์ต่อประชาชนและประเทศชาติมากมาย รวมทั้งการดำเนินการในโครงการต่างๆ ของกระทรวง ฯ ยังทำให้รัฐสามารถประหยัดงบประมาณเป็นอย่างมาก
นอกจากนี้ยังได้มอบนโยบายให้ผู้บริหารของกระทรวง ฯ ดำเนินการในเรื่องต่างๆ ดังนี้
1. การขนส่งระบบราง ซึ่งรัฐบาล โดยกระทรวงคมนาคม จะเป็นเจ้าภาพหลักในการดำเนินการ ขอให้หน่วยงานในสังกัดทำการตรวจสอบขั้นตอนต่างๆ ให้สามารถดำเนินการอย่างโปร่งใส และเร่งรัดให้เป็นไปตามกำหนดเวลา โดยให้ประชาชนมีส่วนร่วม และไม่ทำให้เกิดปัญหาการจราจรในระหว่างการดำเนินโครงการ
2. การขนส่งระบบต่อเนื่อง ขอให้หน่วยงานผลักดันให้เกิดเป็นรูปธรรมอย่างเร็วที่สุดโดยเฉพาะการเชื่อมต่อระบบการขนส่งทางน้ำจากจังหวัดประจวบคีรีขันธ์ ไปยังท่าเรือแหลมฉบัง ซึ่งเป็นข้อเสนอแนะของนายกรัฐมนตรี รัฐมนตรีว่าการ ฯ ได้มอบหมายให้ปลัดกระทรวง ฯ ไปศึกษาความเป็นไปได้ ความคุ้มทุน จำนวนความต้องการ วิธีการดำเนินการ และมอบให้นาย วิเชษฐ์ รัฐมนตรีช่วยว่าการ ฯ เป็นผู้ติดตามความก้าวหน้าในการศึกษาความเป็นไปได้
3. นโยบาย 5 ป. ของรัฐมนตรีว่าการ ฯ ได้แก่ โปร่งใส ปราดเปรียว ประสิทธิภาพ ปลอดภัย และประทับใจ ขอให้หน่วยงานในสังกัดยึดถือนโยบาย 5 ป. เป็นแนวทางในการฎิบัติงานอย่างเคร่งครัดนอกจากนั้น รัฐมนตรีว่าการ ฯ และคณะ จะเดินทางไปประชุมและตรวจเยี่ยมหน่วยงานในสังกัดทุกๆ 2 สัปดาห์ เพื่อรับฟังปัญหา ข้อเสนอแนะ และแลกเปลี่ยนความคิดเห็น เพื่อให้มีการทำงานแบบบูรณาการอย่างเต็มรูปแบบ
ส่วนรัฐมนตรีช่วยอีก 2 คน ประกอบด้วย อดิศร เพียงเกษ และ ภูมิธรรม เวชยชัย
เบนซินพุ่ง ดีเซลอั้นไม่อยู่
ราคาน้ำมันตลาดโลกปรับตัวสูงขึ้นตั้งแต่ปลายปี 2546 แต่ถึงกระนั้นรัฐบาลโดยกระทรวงพลังงานก็ยังคงตรึงราคาน้ำมันในไทยไว้ แต่เมื่อถึงภาวะวิกฤติ รัฐได้ประกาศขึ้นราคาน้ำมันเป็นครั้งแรกเมื่อวันที่ 7 พค. '47 และได้มีการปรับตัวเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องจนสูงขึ้นเป็นประวัติการณ์ คือ กว่า 22 บาท ด้วยสาเหตุนี้ทำให้กระทรวงพลังงานยกเลิกการตรึงราคาน้ำมันเบนซิน ออคเทน 95 และ 91 โดยเปลี่ยนให้ราคาน้ำมันเบนซินกลับไปสู่ระบบราคาลอยตัวตามตลาดโลก ตั้งแต่วันที่ 21 ตค. '47
หลังจากนั้นไม่นาน รัฐก็อั้นไม่อยู่กับการตรึงราคาน้ำมันดีเซล โดยประกาศขึ้นราคาในวันที่ 22 มีค. '48 พรวดเดียว 3 บาท เป็น 18.19 บาท/ลิตรทันที
งานนี้ธุรกิจที่ได้รับผลกระทบเต็มๆ หนีไม่พ้นธุรกิจขนส่งทั้งคนและสินค้าเพราะเป็นธุรกิจที่เกี่ยวข้องกับน้ำมันดีเซล หลังจากที่รัฐบาลปรับขึ้นราคาน้ำมันดีเซลอีก 3 บาท/ลิตรนั้น ส่งผลให้รถโดยสารและรถขนส่งสินค้า เช่น ขสมก. รถร้อนมีต้นทุนสูงขึ้นอีก 350 บาท/คัน/วัน และรถปรับอากาศ 500 บาท/คัน/วัน
ส่วนรถโดยสารของ บริษัท ขนส่ง จำกัด หรือ บขส. จะมีต้นทุนเพิ่มขึ้นสูงกว่าจากการวิ่งรถระยะไกล ต้นทุนรถร้อนจะเพิ่มขึ้นอยู่ที่ 500 บาท/คัน/วัน และรถปรับอากาศ 800 บาท/คัน/วัน คงยากที่จะหลีกเลี่ยงที่จะให้ผู้ประกอบการตรึงราคาค่าโดยสารต่อไป ส่วนจะขึ้นเท่าไรนั้นจะมีการประชุมคณะกรรมการขนส่งทางบกกลาง ซึ่งเป็นหน่วยงานที่กำกับดูแลการปรับอัตราค่าโดยสารที่มีปลัดกระทรวงคมนาคมเป็นประธาน เพื่อดูแลการปรับอัตราค่าโดยสารดังกล่าวให้เป็นธรรมแก่ประชาชนมากที่สุด
ญี่ปุ่นรุก เอฟทีเอ
การเจรจาความตกลงเขตการค้าเสรี (FTA) ระหว่างไทยกับญี่ปุ่น เริ่มทวีความเข้มข้นขึ้นเป็นลำดับ เมื่อญี่ปุ่นพยายามกดดันให้ไทยยอมยกเลิกภาษี นำเข้าเหล็ก และรถยนต์สำเร็จรูปขนาดเกิน 3,000 ซีซี
อย่างไรก็ตามในเวลาต่อมา ญี่ปุ่นยอมลดท่าทีแข็งกร้าวในการเจรจากับฝ่ายไทยไม่ว่าจะเป็นประเด็นเรื่องการลดภาษีชิ้นส่วนยานยนต์ โดยญี่ปุ่นยินยอมถอนข้อเสนอภาษีชิ้นส่วนรถยนต์ และการลดภาษีนำเข้ารถยนต์ขนาดเกิน 3,000 ซีซี หลายคนตั้งข้อสังเกตว่า การที่ญี่ปุ่นยอมถอยในอุตสาหกรรมที่มีมูลค่ามหาศาล เช่น อุตสาหกรรมรถยนต์นั้น เป็นการซื้อเวลาเพื่อให้มีการเปลี่ยนหัวหน้าทีมเจรจาของฝ่ายไทยหรือไม่ ?
ขณะที่การลดภาษีเหล็กหันมาใช้ระบบโควตา (TARIFF QUOTA) คือการจำกัดปริมาณ หรือ โควตา โดยกำหนดอัตราภาษีขึ้น 2 ราคา สำหรับสินค้านำเข้า จำนวนสินค้าภายใต้โควตาจะถูกเรียกเก็บภาษีในอัตราต่ำ หากเกินกว่าโควตาที่กำหนดแล้ว ก็ยังสามารถนำเข้ามาได้ แต่ต้องถูกเรียกเก็บภาษีในอัตราสูงกว่า โควตาภาษีนี้ แตกต่างจากโควตาตามปกติตรงที่โควตาตามปกติจะกำหนดจำนวนนำเข้าสินค้าคงที่หากนำเข้าเต็มโควตาแล้วก็จะไม่สามารถนำเข้าได้อีก แต่โควตาภาษีนั้น แม้โควตานำเข้าเต็มแล้ว ก็ยังสามารถนำเข้าได้อีก แต่ต้องเสียภาษีในอัตราสูงขึ้น
การใช้ระบบโควตานำเข้าเหล็กมีจุดหมายให้ผู้ประกอบการของไทย มีเวลาปรับตัว และมีการใช้ระบบกำหนดระยะเวลาในการลดภาษีควบคู่กัน ซึ่งข้อเรียกร้องของภาคเอกชนไทยมีความต้องการให้ตั้งสถาบันที่เป็นกลางขึ้นมากำหนดโควตาการนำเข้า โดยมุ่งเน้นรายการที่ไทยผลิตไม่ได้ และต้องแก้ปัญหาให้ทั้ง 2 ฝ่ายมีข้อมูลที่ตรงกัน
ความคืบหน้าล่าสุดของผลการเจรจา เอฟทีเอ ไทย-ญี่ปุ่น ในประเด็นเปิดเสรีเหล็กยานยนต์ และชิ้นส่วนยานยนต์ ปรากฏว่า ญี่ปุ่นยอมผ่อนผันเลื่อนกรอบระยะเวลาออกไป พร้อมเสนอทางออก จากข้อเสนอเดิมที่ต้องการให้ไทยเปิดเสรีในทันที โดยลดอัตราภาษีเหลือ 0 % เพื่อให้ระยะเวลาแก่ผู้ประกอบการไทยปรับตัว โดยญี่ปุ่นพร้อมให้ความร่วมมือในการพัฒนาอุตสาหกรรมเหล็ก และชิ้นส่วนยานยนต์ของไทย โดยมีโครงการความร่วมมืออุตสาหกรรมชิ้นส่วนยานยนต์กับไทย ซึ่งช่วยทำให้เทคโนโลยีพื้นฐานอุตสาหกรรมเหล็กไทยแข็งแกร่งขึ้น อย่างไรก็ดี ฝ่ายญี่ปุ่นชี้แจงว่า การนำเข้าชิ้นส่วนยานยนต์จากญี่ปุ่นของประเทศไทยไม่ได้สร้างปัญหาเรื่องการขาดดุลการค้าอย่างที่ภาคเอกชนไทยมีความกังวล เนื่องจากสินค้าเหล่านั้นเป็นวัตถุดิบนำเข้ามาผลิตเพื่อส่งออก จึงส่งผลให้มูลค่าเพิ่มสูงขึ้นมาก
การเปิดเสรีระหว่างกันจะทำให้ประเทศไทยได้ประโยชน์ เพราะในปี 2553 ญี่ปุ่นจะทำข้อ เอฟทีเอ กับประเทศในภูมิภาคอาเซียน ดังนั้นหากภายในปี 2553 ไทยยังมีกำแพงภาษีสินค้าเหล่านี้อยู่ ก็จะทำให้เกิดการเสียเปรียบประเทศอี่นได้ ซึ่งญี่ปุ่นเห็นว่าควรมีการเปิดเสรีในอุตสาหกรรมรถยนต์ และชิ้นส่วนระหว่างกันภายในปี 2553 นอกจากนี้ญี่ปุ่นเสนอทางออกในการเปิดเสรีเหล็กว่า กรณีที่เป็นเหล็กที่ไทยผลิตได้ หากในแต่ละปีมีความต้องการใช้มากกว่าที่ไทยผลิตได้ ก็ขอให้ไทยเปิดเสรีในส่วนนี้ ส่วนจะมีอัตราภาษีเท่าไร และจะจำกัดโควตาอย่างไร ขึ้นอยู่กับการเจรจาในรายละเอียดต่อไป ซึ่งฝ่ายไทยได้เรียกร้องเป้าหมายทำข้อตกลง ภายในเดือนกรกฎาคมนี้
คลอดสเปค อีโคคาร์
อีโคคาร์ โพรเจคท์ รถทางเลือกใหม่ ที่เกิดขึ้นจากแผนยุทธศาสตร์ยานยนต์ที่จะผลักดันให้ไทยเป็นดีทรอยท์แห่งเอเชียอย่างสมบูรณ์ในปี 2553 แต่โครงการนี้ค่อนข้างจะยืดเยื้อ ในเรื่องของสเปคที่จะกำหนดออกมาเพื่อให้เป็นรถประหยัดพลังงาน
โดยหลักการได้นำเสนอในเรื่องการปรับลดภาษีสรรพสามิตเหลือ 10 % และจะกำหนดให้สิทธิประโยชน์ภายใต้หลักเกณฑ์ส่งเสริมการลงทุนของสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (บีโอไอ) โดยยกเว้นภาษีนิติบุคคลในระยะเวลาสูงสุด 8 ปี ให้แก่ผู้ผลิตรถยนต์ที่ใช้เอธานอลจาก 10 เป็น 20% และย้ายฐานเข้ามาผลิตในประเทศไทยเท่านั้น ซึ่งทำให้เห็นว่าผู้ประกอบการยอมรับการใช้วัตถุดิบและชิ้นส่วนภายในประเทศในการผลิต
รัฐบาลจะหารือกับผู้ผลิตรถจากประเทศญี่ปุ่น ทั้ง โตโยตา/ฮอนดา/นิสสัน และ ซูซูกิ ในโครงการ อีโคคาร์เพื่อชักจูงใจให้เข้ามาลงทุนในไทย ซึ่งเชื่อว่ามาตรการต่างๆ ที่ออกไปจะทำให้ผู้ประกอบการสนใจพอสมควร ซึ่งขณะนี้มีค่าย ฮอนดา แสดงความสนใจดำเนินโครงการนี้ 100 %
สำหรับรูปแบบของ อีโคคาร์ ยังกำหนดขนาดไว้ที่ 1.63X3.6 เมตร อัตราการสิ้นเปลืองน้ำมันเชื้อเพลิงอยู่ที่ 5 ลิตร/100 กม. เครื่องยนต์ 1,000 ซีซี มาตรฐานความปลอด ยูโร 4 และสามารถใช้เอธานอลได้ 20 % ราคาคันละ 3.5 แสนบาท
แฟชันทุบรถระบาด
"สาวใจเด็ด" ทุบรถประชด ! ซื้อป้ายแดงยังต้องซ่อม นี่คือพาดหัวข่าวสนั่นวงการรถยนต์ในรอบครึ่งปีแรก กลายเป็นการปลุกระแสร้องเรียนขอเปลี่ยนรถคันใหม่ หรือให้บริษัทซื้อรถคืน จนกระทั่งเกิดเป็นแฟชันทุบรถในเวลาต่อมา
ซึ่งทำให้ กระทรวงอุตสาหกรรม ต้องออกโรงหาทางแก้ไข และป้องกันปัญหาถึง 3 แนวทาง คือ
1. มอบหมายให้สถาบันยานยนต์ไปหารือกับผู้ผลิตรถยนต์ทุกค่ายในการจัดตั้งสายด่วนรับเรื่องร้องเรียน หรือ คอลล์ เซนเตอร์ (CALL CENTER) ที่เป็นเบอร์กลาง เพื่อรับเรื่องร้องเรียน และให้คำปรึกษาแนะนำแก่ผู้ใช้รถยนต์
2. ตั้งคณะกรรมการวินิจฉัยคุณภาพรถยนต์ ประกอบด้วย เลขาธิการสำนักงานมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม (สมอ.) เป็นประธานคณะกรรมการ และผู้อำนวยการสถาบันยานยนต์ เป็นรองประธาน ส่วนกรรมการประกอบด้วยผู้แทนจาก สำนักงานเศรษฐกิจอุตสาหกรรม (สศอ.) นายกสมาคมวิศวกรรมยานยนต์ไทย สำนักงานคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภค (สคบ.) ประธานกลุ่มอุตสาหกรรมยานยนต์ สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย นายกสมาคมผู้สื่อข่าวรถยนต์และจักรยานยนต์ไทย ผู้แทนจากสำนักงานมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม เป็นกรรมการและเลขานุการ และผู้แทนจากสถาบันยานยนต์เป็นกรรมการและผู้ช่วยเลขานุการ
คณะกรรมการชุดนี้จะมีอำนาจหน้าที่ คือ 1. กำหนดขอบเขต หลักการและวิธีการวินิจฉัยคุณภาพยานยนต์ 2. รับเรื่องร้องเรียนเกี่ยวกับคุณภาพยานยนต์ จากหน่วยงานราชการที่เกี่ยวข้อง เพื่อดำเนินการให้คำวินิจฉัยตามเหตุผลทางเทคนิค และข้อแนะนำในการดำเนินการแก้ไขปัญหาตามหลักการที่กำหนดขึ้น 3. แต่งตั้งคณะอนุกรรมการ คณะทำงาน หรือบุคคล เพื่อดำเนินการในเรื่องหนึ่งเรื่องใดตามความเหมาะสม และ 4 . ให้คณะกรรมการ ฯ รายงานผลการดำเนินงาน ต่อรัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม
รถใหม่เปิดตัวคึกคัก
ต้อนรับปี 2548 ด้วยรถยนต์จากค่ายแดนปลาดิบอย่าง ฮอนดา ที่คลอด รถ เอมพีวี 7 ที่นั่งภายใต้ชื่อ ออดิสซีย์ (ODYSSEY) เจเนอเรชันที่ 3 ซึ่งมีความแตกต่างไปจาก 2 รุ่นแรกอย่างเด่นชัดตั้งแต่หัวจรดท้าย ไม่ว่าจะเป็นความสูงของตัวรถที่ลดลงจากการปรับระดับพื้นห้องโดยสาร จนกระทั่งใกล้เคียงกับรถตรวจการณ์ เบาะนั่งทั้ง 7 ที่นั่งสามารถปรับเปลี่ยนได้หลากหลายรูปแบบ เบาะแถวกลางพับแยก 60/40 ส่วนเบาะแถวที่ 3 พับเก็บด้วยระบบไฟฟ้า เครื่องยนต์ของ ออดิสซีย์ ใหม่ ใช้เครื่องยนต์รุ่นเดียวกันกับ แอคคอร์ด แบบ 4 สูบ ดับเบิลโอเวอร์เฮดแคมชาฟท์ 16 วาล์ว ไอ-วีเทค 2.4 ลิตร 160 แรงม้า ที่มาพร้อมกับเกียร์อัตโนมัติ 5 จังหวะ
ราคาค่าตัวของ ออดิสซีย์ ใหม่ตัวนี้มีให้เลือก 2 ระดับ คือรุ่น อีแอล 2,690,000 บาท และรุ่น อีแอลเอกซ์ 2,790,000 บาท ซึ่งเพิ่มถุงลมนิรภัยด้านข้างและม่านนิรภัย มาให้เป็นอุปกรณ์มาตรฐาน
ในเดือนมกราคมเดียวกัน มิตซูบิชิ ส่ง เอมพีวี เข้าร่วมประชันกับค่ายอื่นด้วย สเปศ แวกอน (SPACE WAGON) รถอเนกประสงค์ 7 ที่นั่งขนาดกลางรุ่นที่ 4 ที่ มิตซูบิชิ พัฒนาขึ้นมาใหม่โดยวางตัวให้อยู่ระหว่าง โตโยตา วิช และ ฮอนดา ออดิสซีย์ จุดเด่นเฉพาะตัวของรุ่นนี้ที่สะกดสายตาผู้คนอยู่ตรง โคมไฟหน้าทรงหัวลูกศรแบบโพรเจคเตอร์ และไฟท้ายใสแบบ แอลอีดี เบาะนั่งคู่หน้าสามารถปรับตำแหน่ง สูง/ต่ำ และมีช่องตรงกลางเบาะสำหรับวางขาผู้โดยสารในแถว 2 เบาะนั่งแถวที่ 2 และ 3 ยังสามารถทำการพับเก็บในรูปแบบต่างๆ ได้อีกด้วย เครื่องยนต์ขนาด 2.4 ลิตร แบบ 4 สูบซิงเกิลโอเวอร์เฮดแคมชาฟท์ 16 วาล์ว MIVEC รหัส 4 G 69 ให้กำลัง 165 แรงม้า ระบบเกียร์ INVECS II แบบขั้นบันได 4 จังหวะ
ราคาค่าตัวถือว่าถูกกว่าคู่แข่งอยู่พอสมควร โดยตั้งเอาไว้ที่ 1.5 ล้านบาท
ถัดมาในเดือนแห่งความรัก ฮอนดา ก็เปิดตัว ซีอาร์-วี ใหม่ ถือเป็นการเปลี่ยนแปลงตามรอบเวลา 2 ปีครั้งของทาง ฮอนดา ซึ่งในครั้งนี้มุ่งเน้นความแข็งแกร่งมากขึ้น เริ่มจากไฟหน้าขนาดใหญ่ เพิ่มเลนส์สะท้อนภายในแยกเป็น 3 ชุด กระจังหน้าทรงเหลี่ยมตามสไตล์อเมริกัน ภายในเล่นสีทูโทน ช่องแอร์ถูกขยายให้กว้างขึ้นเพื่อเพิ่มความสบายยามขับขี่ นอกจากเครื่องยนต์ขนาด 2.0 ลิตร 150 แรงม้าที่ใช้อยู่เดิม ฮอนดา ยังได้นำเครื่องยนต์ขนาด 2.4 ลิตร 160 แรงม้า พร้อมด้วยเกียร์อัตโนมัติ 5 จังหวะจาก แอคคอร์ด 2.4 ลิตร มาใช้กับ ซีอาร์-วี โฉมใหม่อีกด้วย
ราคาค่าตัวของ ซีอาร์-วี โฉมใหม่นี้เริ่มต้นที่ รุ่น 2.0 ลิตร ไอ-วีเทค เอส 1,211,000 บาท ขึ้นไปจนถึง รุ่น 2.4 ไอ-วีเทค อีแอล 1,399,000 บาท
ค่ายยักษ์ใหญ่ตลอดกาลอย่าง โตโยตา ไม่น้อยหน้าส่ง ฟอร์ทูเนอร์ ออกมาชิงชัยด้วยรถกิจกรรมกลางแจ้ง (เอสยูวี) ที่ฉีกแนวจาก สปอร์ท ไรเดอร์ โดยมีพื้นฐานมาจาก วีโก แต่ โตโยตา ได้ปรับเปลี่ยนหน้าตาใหม่ เน้นมาดสปอร์ทมากขึ้น ทั้งกันชน โคมไฟ และกระจังหน้า พร้อมทั้งเพิ่มส่วนห้องโดยสารตอนท้าย ภายในออกแบบคล้ายกับ เลกซัส เบาะแถวที่ 2 แบ่งพับ 60/40 ได้และแถวที่ 3 แยกพับซ้าย/ขวา เครื่องยนต์มีใช้ทั้ง เบนซิน 2.7 ลิตร 16 วาล์ว วีวีที-ไอ 160 แรงม้า เกียร์อัตโนมัติจาก เซิร์ฟ (SURF) ในรุ่น 2.7 วี และดีเซล 3.0 ลิตร เทอร์โบ-คอมมอนเรล อินเตอร์คูเลอร์ 163 แรงม้า เกียร์ธรรมดา 5 จังหวะ ในรุ่น 3.0 จี และเกียร์อัตโนมัติ 4 จังหวะ ในรุ่น 3.0 วี พร้อมระบบขับเคลื่อน 4 ล้อ ตลอดเวลา
ราคาค่าตัวก็ไม่แพงอย่างที่คิดเริ่มต้นที่ 999,000 บาท ในรุ่น 3.0 จี สูงสุด 1,219,000 บาท ในรุ่น 3.0 วี และเบนซิน รุ่น 2.7 วี 1,119,000 บาท
เดือนมีนาคม ค่ายใบพัดสีฟ้าขาว ส่ง บีเอมดับเบิลยู ซีรีส์ 1 มาประเดิมตลาด ด้วยรูปลักษณ์แบบ คอมแพคท์ 5 ประตูที่มีลักษณะคล้าย ซีรีส์ 5 แต่คมลึกกว่า เป็นรถที่มีดีไซจ์นโดดเด่น สวยสะดุดตา เครื่องยนต์ของ ซีรีส์ 1 รุ่น 120 ไอ ใช้เครื่องยนต์เบนซิน ขนาดความจุ 2.0 ลิตร ระบบวาล์วแปรผันโดยใช้มอเตอร์ไฟฟ้าเข้าไปควบคุมระยะเปิด/วาล์ว ส่งผลให้มีพละกำลัง 150 แรงม้า ที่มาพร้อมกับเกียร์อัตโนมัติ 6 จังหวะ
ราคาค่าตัวที่ตั้งไว้ของรุ่น 120 ไอ อยู่ที่ 2.8 ล้านบาทซึ่งสูงกว่า ซีรีส์ 3 เล็กน้อย
ค่ายน้องใหม่ ซูซูกิ ส่ง เอพีวี จีแอลเอกซ์ รถอเนกประสงค์ 8 ที่นั่งที่ถอดแบบหน้าตามาจากโฟล์คสวาเกน คาราเวลล์ เป็นรถแบบ มีนี เอมพีวี ในกลุ่มเดียวกันกับ โตโยตา อวันซา แต่มีเครื่องยนต์ที่ใหญ่กว่า โดยออกแบบให้ห้องเครื่องยนต์อยู่ระหว่างล้อหน้า/หลัง เพื่อความสมดุล โดยซ่อนไว้ใต้เบาะนั่งแถวหน้า ประตู 4 บานออกแบบให้มีขนาดใหญ่ เข้า/ออกสะดวก เครื่องยนต์เป็นแบบ 4 สูบ 16 วาล์ว ขนาด 1.6 ลิตร ให้กำลังสูงสุด 93 แรงม้ามีให้เลือกทั้งเกียร์ธรรมดา 5 จังหวะ และเกียร์อัตโนมัติ 4 จังหวะ ขับเคลื่อนล้อหลัง
ราคาค่าตัวของ มีนี เอมพีวี ตัวนี้ เริ่มต้นที่ 520,000 บาท ในรุ่น จีเอ 630,000 บาทในรุ่น จีแอล ขึ้นไปถึง 750,000 บาท ในรุ่น จีแอลเอกซ์
ในเดือนปีใหม่ไทย ค่ายใบพัดสีฟ้าขาวส่ง บีเอมดับเบิลยู เอกซ์ 3 รถ เอสยูวี ระดับหรูออกมาให้ผู้คนได้ยลโฉมกันถ้วนหน้า ซึ่งก่อนหน้านี้ทาง บีเอมดับเบิลยู ได้ส่ง เอกซ์ 5 มาชิมลางเป็นที่เรียบร้อยแล้ว กระแสตอบรับถือว่าดีมาก ซึ่ง เอกซ์ 3 ที่ว่านั้นมีหน้าตาละม้ายคล้าย เอกซ์ 5 มาก แตกต่างกันตรงที่ขนาดรูปร่างที่เล็กกว่า เครื่องยนต์ในรุ่น 2.5 ไอ เป็นเครื่องยนต์เบนซิน 6 สูบเรียง ดับเบิลโอเวอร์เฮดแคมชาฟท์ 24 วาล์ว 2.5 ลิตร 192 แรงม้า พร้อมระบบขับเคลื่อน 4 ล้อ แบบ XDRIVE
ราคาค่าตัวของ เอกซ์ 3 รุ่น 2.5 ไอ บีเอมดับเบิลยู ตั้งไว้ที่ 4.6 ล้านบาท ถือว่าสมราคา เอสยูวี ระดับหรู
ต่อกันที่ รถดังจากค่ายเมืองน้ำหอมอย่าง เปอโฌต์ 307 เซเซ รถสปอร์ท 2+2 สไตล์ใหม่ 2 บุคลิก คูเป และกาบริโอเลต์ จุดเด่นของ 307 เซเซ คือ สามารถเปลี่ยนจากสปอร์ทคูเปเป็นสปอร์ทแบบ กาบริโอเลต์ ด้วยการเก็บหลังคาไปไว้ภายในห้องสัมภาระด้านท้าย ทำงานด้วยระบบไฟฟ้า ด้วยระยะเวลาเพียง 25 วินาที ภายใน 4 ที่นั่งแบบซีดาน แต่เน้นความสปอร์ท เครื่องยนต์รหัส EW 10 J4 ขนาด 2.0 ลิตร 138 แรงม้า มาพร้อมกับเกียร์อัตโนมัติ 4 จังหวะ
ราคาค่าตัวของ 307 เซเซ รุ่นนี้อยู่ในช่วงแนะนำ ที่ประมาณ 2,590,000 บาท แพงเอาเรื่องอยู่เหมือนกัน
ถัดมาในเดือนพฤษภาคม ด้วย บีเอมดับเบิล ซีรีส์ 3 ใหม่ซึ่งตอนนี้เป็นรุ่นที่ 5 แล้วรูปลักษณ์ภายนอกหรูหรา แต่ยังคงความเป็นสปอร์ทซีดาน 4 ประตู เสาซีและขอบฝากระโปรงถอดแบบมาจาก ซีรีส์ 7 แต่มีรูปทรงเรียวกว่า ห้องโดยสารเรียบหรุ คอนโซลหน้าแบบชิ้นเดียวตลอด ขุมพลังเบนซิน 2 ขนาดคือ 4 สูบเรียง 16 วาล์ว 2.0 ลิตร 150 แรงม้าในรุ่น 320 ไอ แล ะไอ เอสอี กับ 6 สูบเรียง 24 วาล์ว 3.0 ลิตร 258 แรงม้า ในรุ่น 330 ไอ พร้อมเกียร์อัตโนมัติ 6 จังหวะ
ราคาค่าตัวของ ซีรีส์ 3 ใหม่เริ่มต้นที่ 2.4 ล้านบาท ในรุ่น 320 ไอ และ ไอเอสอี 2.7 ล้านบาท ส่วนรุ่น 330 ไอ อยู่ที่ 4.2 ล้านบาท
ต่อกันที่ แลนด์ โรเวอร์ ดิสคัฟเวอรี 3 รถ เอสยูวี ระดับหรู ลุยงานหนัก พร้อมใช้งานในทุกสภาวะถนน หลังคาทรงสูง และกว้าง ภายในเน้นการใช้งานแบบครอบครัว 7 ที่นั่ง เบาะแถว 2 และ 3 สามารถพับเก็บได้ เครื่องยนต์มีให้เลือกทั้งดีเซล เทอร์โบ คอมมอนเรล วี 6 สูบ ขนาด 2.7 ลิตร ให้กำลังสูงสุด 119 แรงม้า ในรุ่นเบนซิน ควอดแคม วี 8 สูบ 32 วาล์ว ขนาด 4.4 ลิตร กำลังสูงสุด 295 แรงม้าเกียร์อัตโนมัติ 6 จังหวะ
ราคาค่าตัวของ ดิสคัฟเวอรี 3 จากรุ่น ดีเซล ทีดี วี 6 เอสอี 4,460,000 บาท ทีดี วี 6 เอชเอสอี 4,890,000 บาท และรุ่นเบนซิน 6,530,000 บาท
ส่งท้ายเดือนมิถุนายน ด้วย บีเอมดับเบิลยู ซีรีส์ 7 โฉมใหม่ เจเนอเรชัน 4 ซึ่งมีลักษณะที่เปลี่ยนแปลงไปจากเดิมอย่างเห็นได้ชัดตรงที่ โคมไฟหน้าและไฟท้าย กระจังหน้า กันชนหน้า/หลัง บีเอมดับเบิลยูซีรีส์ 7 โฉมใหม่ที่มีขายอยู่ในบ้านเรานั้น เป็นรุ่นฐานล้อยาว แอลไอ 4 โมเดล คือ 730/740/750 และ 760 ซึ่งต่างกันตามขนาดของเครื่องยนต์
ในรุ่น 730 บรรจุเครื่องยนต์แบบ 6 สูบเรียง 3.0 ลิตร ตัวใหม่ 258 แรงม้า แต่ถูกปรับลดเหลือ 219 แรงม้า ด้วยเหตุผลทางภาษี ส่วนรุ่นกลางที่ใช้เครื่องยนต์แบบ วี 8 สูบ บีเอม ฯ ปรับขนาดให้ใหญ่ขึ้น คือ 4.0 ลิตร 306 แรงม้า ในรุ่น 740 และ 4.8 ลิตร 367 แรงม้า ในรุ่น 750 ที่ออกมาจำหน่ายแทนรุ่น 735 และ 745 รุ่นทอพ ยังคงเป็นรุ่น 760 แอลไอ ที่ใช้เครื่องยนต์แบบ วี 12 สูบ 48 วาล์ว ขนาด 6.0 ลิตร ให้กำลังสูงสุด 445 แรงม้า
ราคาค่าตัวของ ซีรีส์ 7 โฉมใหม่ นั้น เริ่มต้นที่ 6.5 ล้านบาท ในรุ่น 730 แอลไอ และเพิ่มอีก 5 แสนบาท สำหรับ 730 แอลไอ เอสอี ตามมาด้วย 740 แอลไอ 8.7 ล้านบาท และ 750 แอลไอ 14.5 ล้านบาท
ต่อไปก็ถึงคราวของค่ายดาว 3 แฉก อย่างเมร์เซเดส-เบนซ์ ซีแอลเอส ด้วยรูปทรงโฉบเฉี่ยวแบบคูเป แต่มี 4 ประตู เพื่อความสะดวกในการเข้า/ออก ห้องผู้โดยสาร ส่วนการตกแต่งภายในเป็นแบบสปอร์ท เบาะคู่หน้ากระชับตัว เบาะหลังแยก เหมือนกับ ซีแอลเค เครื่องยนต์มีให้เลือก 3 แบบ คือ วี 6 สูบ ขนาด 3.5 ลิตร 272 แรงม้า ในรุ่น ซีแอสเอส 350 และแบบ วี 8 สูบ ขนาด 5.0 ลิตร 306 แรงม้า ในรุ่น ซีแอสเอส 500 เกียร์เป็นแบบอัตโนมัติ 7 จังหวะ ส่วนในรุ่น ซีแอลเอส 55 เอเอมจี ที่ใช้เครื่องยนต์ วี 8 สูบ ซูเพอร์ชาร์จ ขนาด 5.5 ลิตร ให้พละกำลังสูงสุดถึง 476 แรงม้า
ราคาค่าตัวของ ซีแอลเอส เริ่มต้นที่ 8.6 ล้านบาท 10.9 ล้านบาท ขึ้นไปจนถึง 14.9 ล้านบาทสำหรับรุ่น ซีแอลเอส 55 เอเอมจี
ยอดขายกว่า 2 แสนคัน
ตลาดรถยนต์ 4 เดือนแรกของปี 2548 มีปริมาณทั้งสิ้น 222,406 คัน เพิ่มขึ้น 11.8 % เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีที่ผ่านมา โดยแบ่งออกเป็น รถยนต์นั่ง 58,460 คัน ลดลง 16.1 % รถเพื่อการพาณิชย์ 163,946 คัน เพิ่มขึ้น 26.9 % รวมทั้งรถกระบะขนาด 1 ตัน ในเซคเมนท์นี้จำนวน 148,265 คัน เพิ่มขึ้น 29 %
[table]
ตลาดรถยนต์รวม (มค.-เมย.48) ยอดจำหน่าย 222406 คัน
อันดับ 1 ,โตโยตา ,88614 คัน ,เพิ่มขึ้น 22.2 % ,ส่วนแบ่งการตลาด 39.8 %
อันดับ 2 ,อีซูซุ ,57216 คัน ,เพิ่มขึ้น 15.2 % ,ส่วนแบ่งการตลาด 25.7 %
อันดับ 3 ,ฮอนดา ,15547 คัน ,ลดลง 40.4 % ,ส่วนแบ่งการตลาด 7.0 %
ตลาดรถยนต์นั่ง ตัวเลขการขาย 58460 คัน,,,,
อันดับ 1, โตโยตา ,30293 คัน ,ลดลง 8.9 % ,ส่วนแบ่งการตลาด 51.8 %
อันดับ 2, ฮอนดา ,14903 คัน ,ลดลง 39.6 % ,ส่วนแบ่งการตลาด 25.5 %
อันดับ 3, มิตซูบิชิ ,3070 คัน ,เพิ่มขึ้น 111.1 % ,ส่วนแบ่งการตลาด 5.3 %
รถกระบะขนาด 1 ตัน ตัวเลขการขาย 148265 คัน,,,,
อันดับ 1, โตโยตา ,55251 คัน ,เพิ่มขึ้น 50 % ,ส่วนแบ่งการตลาด 37.3 %
อันดับ 2, อีซูซุ ,53555 คัน ,เพิ่มขึ้น 14.1 % ,ส่วนแบ่งการตลาด 36.1 %
อันดับ 3, มิตซูบิชิ ,11021 คัน ,เพิ่มขึ้น 22.9 % ,ส่วนแบ่งการตลาด 7.4 %
รวมรถกระบะดัดแปลง พีพีวี (PPV) จำนวน 12,489 คัน ได้แก่ โตโยตา 8,864 คัน อีซูซุ 2,869 คัน ฟอร์ด 495 คัน มิตซูบิชิ 311 คัน
ตลาดรถเพื่อการพาณิชย์ ตัวเลขการขาย 163946 คัน,,,,
อันดับ 1, โตโยตา ,58321 คัน ,เพิ่มขึ้น 48.4 % ,ส่วนแบ่งการตลาด 35.6 %
อันดับ 2, อีซูซุ ,57216 คัน ,เพิ่มขึ้น 15.2 % ,ส่วนแบ่งการตลาด 34.9 %
อันดับ 3, มิตซูบิชิ ,11680 คัน ,เพิ่มขึ้น 22.8 % ,ส่วนแบ่งการตลาด 7.1 %
[/table]
ABOUT THE AUTHOR
ก
กองบรรณาธิการ
ภาพโดย : ฝ่ายภาพนิตยสาร 399 ฉบับเดือน กรกฏาคม ปี 2548
คอลัมน์ Online : บทความ