ประกันภัย
ยุควิกฤษประกันภัย !
ต่อเนื่องจากบทความ 2 บทความที่นำเสนอไปก่อนหน้านี้ คือ "ประกันก็เสี่ยง ไม่ประกันก็เสี่ยง" และ "เบี้ยประกันภัยใหม่ กับ แนวโน้มธุรกิจประกันภัย" ช่วงนี้ต้องถือว่าเป็นช่วงที่มีข่าวไม่ดีนักสำหรับวงการประกันภัย ซึ่งเกิดต่อเนื่องกันมาหลังจากมีการทำ "เวิร์คชอพประกันภัย" โดยท่านนายกรัฐมนตรี ฯพณฯ พตท. ดร.ทักษิณ ชินวัตร ให้ความสำคัญกับการประกันภัยโดยได้ให้เกียรติมาเป็นประธานการสัมมนาครั้งใหญ่ในประวัติศาสตร์ ที่ไม่มีนายกรัฐมนตรีคนใดลงมาจับงานประกันภัยด้วยตนเอง ส่วนใหญ่ก็จะแค่รัฐมนตรีช่วย ฯ ผู้รับหน้าที่กำกับดูแล หรือไม่ก็เป็นรัฐมนตรีเจ้ากระทรวงพาณิชย์ สูงสุดก็เป็นแค่รองนายกรัฐมนตรี
ในยุคของรัฐบาลท่านนายกรัฐมนตรี ฯพณฯ พตท. ดร. ทักษิณ ชินวัตร ท่านลงมาเล่นเองด้วยต้องถือว่าเป็นยุคปฏิรูปวงการประกันภัยเลยทีเดียว ในยุดนี้ได้เกิดการประกันภัยรูปแบบใหม่ๆ ออกมาก เช่น ประกันภัยเอื้ออาทร ประกันภัยอิสรภาพ ประภัยภัยไข้หวัดนก การอนุญาตให้ธนาคารสถาบันการเงินมาทำธุรกิจตัวแทนนายหน้าประกันภัยหารายได้จุนเจือรายได้ค่าธรรมเนียมแทนรายได้หลักจากอัตราดอกเบี้ยเหี่ยวเฉาไปยังไม่ฟื้นตั้งแต่ยุคฟองสบู่แตก เป็นต้น เพื่อสอดคล้องกับนโยบายคิดใหม่ทำใหม่ของพรรคไทยรักไทยเลยทีเดียว
ในขณะเดียวกันพอถึงยุค ทักษิณ ขาลง (พูดตามสื่อเขาว่ากันนะครับ) เศรษฐกิจก็ตกต่ำ น้ำมันแพงส่งออกเดี้ยงไม่ถึงเป้า นำเข้าสูงทำให้เกิดการขาดดุลการค้าต่อเนื่องกว่า 6 เดือน ค่าครองชีพสูงเงินเฟ้อเกิน 5 % ข้าวยากหมากแพง ต้องปรับค่าแรงขึ้น การลงทุนก็ถดถอยต่างชาติทยอยหนีมีข่าวการทุจริตคอร์รัพชันเอื้อประโยชน์ตนเองและพวกพร้องอยู่ทุกวัน ทั้งในวงการการเมืองวงการราชการ และวงการธุรกิจการค้า เข้าตำราสามขาประสานกิน (นักการเมือง+ข้าราชการ+พ่อค้า) ทฤษฎีว่าด้วยการล้มสลายในวิชารัฐประศาสนศาสตร์ เลยทีเดียว
และก็ยุคนี้อีกละครับ ท่านที่เกิดการตกต่ำในวงการประกันภัยเช่นเดียวกับรัฐบาล ทักษิณ ขาลงมีการโกงกันในวงประกันภัย หลายบริษัทเกิดการขาดทุนย่อยยับ เปลี่ยนผู้ถือหุ้นผู้ร่วมทุนกันแทบไม่เว้นวันแม้แต่ชื่อบริษัทประกันภัยหลายบริษัทมีการเปลี่ยนแล้วเปลี่ยนอีกจนจำไม่ได้ กรมการประกันภัยก็หัวหมุนจับแพะชนแกะกับการแก้ปัญหาในการกำลังดูแลธุรกิจประกันภัยตามกฎหมาย กับการแก้ไขข้อร้องเรียนของลูกค้าและประชาชน จนเรียกว่าตั้งตัวไม่ติด
ยุควิกฤต อะไรๆ ก็มักวิกฤตไปหมด เหมือนที่เขาว่า "ผีซ้ำด้ำพลอย" เกิดปัญหาบริษัทพาณิชย์ประกันภัยล้มละลายไม่มีเงินจ่ายเคลม พนักงานไม่ได้รับเงินเดือน อู่ซ่อมรถไม่ได้ค่าจ้างซ่อมต้องไปประท้วงหน้าทำเนียบรัฐบาล กรมการประกันภัยลงโทษสั่งปรับฐานประวิงการจ่ายรวม 29 กระทงความผิดเป็นเงิน 2,962,500 บาทเมื่อวันที่ 10 กุมภาพันธ์ 2548 และวันที่ 11 เมษษยน 2548 ต่อมาได้สั่งลงโทษปรับอีก 125,000 บาท ฐานดำรงเงินกองทุนประกันภัยไม่ครบตามกฏหมายเมื่อวันที่ 24 พฤษภาคม 2548 ก่อนที่จะมาสั่งปิดเพิกถอนใบอนุญาตอย่างเป็นทางการเมื่อวันที่ 7 กรกฎาคม 2548
ในการลงโทษสั่งปรับบริษัทพาณิชย์ประกันภัยนั้นก็มีประการลงโทษปรับบริษัทที่ทำผิดกฎหมายอีกหลายบริษัทที่ทำความผิดตามกฎหมายฐานประวิงการจ่ายค่าสินไหมทดแทน ได้แก่ บริษัท กมลประกันภัย จำกัด 2 กระทงความผิดปรับเป็นเงิน 250,000 บาท และบริษัท แอลเอ็มจี ประกันภัย จำกัด (เดิมชื่อ บริษัท นารายณ์-คุ้มเกล้าประกันภัย จำกัด) 1 กระทง ความผิดปรับเป็นเงิน 125,000 บาท
ต่อมาก็เกิดข่าวลือ พร้อมใบปลิวว่อนไปทั่วว่า กรมการประกันภัย จะสั่งปิดบริษัทประกันภัยเพิ่มอีก 6 บริษัท ทำให้ท่านอธิบดีกรมการประกันภัย นางสาว พจนีย์ ธนวรานิช ต้องเร่งออกมาชี้แจงทันทีทันใดโดยสุรปว่า
ในวันที่ 20 กรกฎาคม 2548 กรมการประกันภัยได้รับแจ้งว่ามีผู้ส่งเอกสารใบปลิวไปยังบริษัทต่างๆเรื่องกรมการประกันภัยมีคำสั่งปิดบริษัทประกันภัยจำนวน 6 บริษัท ซึ่งเรื่องดังกล่าวไม่เป็นความจริงแต่อย่างใด ขณะนี้มีบริษัทที่ถูกเพิกถอนใบอนุญาตเพียง 1 บริษัทเท่านั้น โดยเมื่อวันที่ 7 กรกฎาคมที่ผ่านมา นาย ทนง พิทยะ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ ได้มีการลงนามคำสั่ง เพิกถอนใบอนุญาตประกอบธุรกิจประกันวินาศภัยของ บริษัท พาณิชย์การประกันภัย จำกัด เนื่องจากแผนฟื้นฟูไม่สามารถแก้ไขปัญหาการเพิ่มทุน และการจ่ายค่าสินไหมให้แก่ผู้เอาประกันภัยได้ ประกอบกับบริษัทประวิงการจ่ายค่าสินไหมทดแทนและฝ่าฝืนกฎหมายประกันภัย
เพื่อเป็นการให้ความคุ้มครองผู้เอาประกันภัย และผู้มีสิทธิเรียกร้องตามกรมธรรม์ประกันภัยของ บริษัท พาณิชย์การประกันภัย จำกัด กรมการประกันภัยได้ออกมาตรการให้ความช่วยเหลือดังนี้ 1. ในกรณีที่กรมธรรม์ประกันภัยยังมีระยะเวลาคุ้มครองเหลืออยู่ หากผู้เอาประกันภัยต้องการใช้สิทธิในการได้รับความคุ้มครองตามระยะเวลาประกันภัยที่เหลืออยู่ สามารถยื่นหลักฐานขอทำประกันภัยใหม่กับบริษัทประกันภัยหรือสาขาของบริษัทประกันภัยที่มีรายชื่ออยู่ในบัญชีรายชื่อบริษัทที่เข้าร่วมมาตรการให้ความช่วยเหลือผู้เอาประกันภัยจำนวน 33 แห่ง ภายในวันที่ 30 กันยายน 2548
2. ในกรณีที่ผู้เอาประกันภัยต้องการยกเลิกกรมธรรม์ ให้ผู้เอาประกันภัยติดต่อผู้ชำระบัญชีบริษัท พาณิชย์การประกันภัย จำกัด เพื่อยื่นขอรับคืนเบี้ยประกันภัย ณ ที่ทำการชั่วคราวผู้ชำระบัญชีกรณีบริษัท พาณิชย์การประกันภัย จำกัด ชั้น 3 กรมการประกันภัย กระทรวงพาณิชย์ เลขที่44/100 ถ.นนทบุรี 1 ต. บางกระสอ อ.เมือง จ. นนทบุรี หรือที่สำนักงานคุ้มครองผู้เอาประกันภัยเขต 4 เขต และสำนักงาน ประกันภัยจังหวัดทุกจังหวัดโดยใช้หลักฐานดังนี้ สำเนากรมธรรม์ประกันภัย สำเนาบัตรประชาชน ใบเสร็จรับเงิน (ถ้ามี) และหนังสือรับรองการจดทะเบียนนิติบุคคล (กรณีเป็นนิติบุคคล) ภายในวันที่ 31 สิงหาคม 2548ตามประกาศผู้ชำระบัญชี
3. ในกรณีมีความเสียหายเกิดขึ้นแล้ว ไม่ว่าก่อนหรือหลังวันที่ 7 กรกฎาคม 2548 ให้ผู้มีสิทธิเรียกร้องติดต่อผู้ชำระบัญชีบริษัท พาณิชย์การประกันภัย จำกัด เพื่อยื่นขอรับชำระหนี้ต่อผู้ชำระบัญชีหรือที่สำนักงานคุ้มครองผู้เอาประกันภัยเขต 4 เขต และสำนักงานประกันภัยจังหวัดทุกจังหวัดโดยใช้หลักฐานดังนี้ กรมธรรม์ประกันภัยพร้อมสำเนา สำเนาบัตรประชาชน ใบเคลม ใบนัดชำระหนี้และหนังสือรับรอง การจดทะเบียนนิติบุคคล (กรณีเป็นนิติบุคคล) ภายในวันที่ 31 สิงหาคม 2548 ตามประกาศผู้ชำระบัญชี
หากมีปัญหาในเรื่องของการโอนกรมธรรม์หรือการเรียกร้องค่าสินไหมทดแทนตามกรมธรรม์ ประกันภัยขอให้ติดต่อสอบถามและขอความช่วยเหลือได้ที่สายด่วนประกันภัย 1186
สำหรับรายชื่อบริษัทประกันภัย 33 แห่งที่ร่วมกันยื่นมือมาให้ความช่วยเหลือกรณีของบริษัทพาณิชยการประกันภัย จำกัด มีรายชื่อตามท้ายนี้ โดยผู้เอาประกันภัยที่ประสงค์จะได้รับความคุ้มครองต่อไปให้ยื่นหลักฐานการขอทำประกันภัย เช่น กรมธรรม์ประกันภัยเดิมพร้อมสำเนา สำเนาบัตรประชาชน ใบเสร็จรับเงิน (ถ้ามี) และหนังสือรับรองการจดทะเบียนนิติบุคคล (กรณีเป็นนิติบุคคล) ภายในวันที่ 30 กันยายน 2548 โดยนำหลักฐานไปติดต่อกับบริษัทประกันภัย หรือสาขาของบริษัทประกันภัยบริษัทใดบริษัทหนึ่ง ดังรายชื่อต่อไปนี้
1. บริษัท กรุงเทพประกันภัย จำกัด (มหาชน)
2. บริษัท กลางคุ้มครองผู้ประสบภัยจากรถ จำกัด
3. บริษัท ทิพยประกันภัย จำกัด (มหาชน)
4. บริษัท เทเวศประกันภัย จำกัด (มหาชน)
5. บริษัท ไทยศรีประกันภัย จำกัด
6. บริษัท ไทยเศรษฐกิจประกันภัย จำกัด (มหาชน)
7. บริษัท ไทยสมุทรประกันภัย จำกัด
8. บริษัท ไทยเจริญประกันภัย จำกัด (มหาชน)
9. บริษัท ไทยพาณิชย์ประกันภัย จำกัด (มหาชน)
10. บริษัท ไทยพัฒนาประกันภัย จำกัด
11. บริษัท ธนชาติประกันภัย จำกัด
12. บริษัท นวกิจประกันภัย จำกัด (มหาชน)
13. บริษัท นำสินประกันภัย จำกัด (มหาชน)
14. บริษัท บางกอกสหประกันภัย จำกัด (มหาชน)
15. บริษัท ประกันคุ้มภัย จำกัด (มหาชน)
16. บริษัท ประกันภัยไทยวิวัฒน์ จำกัด (มหาชน)
17. บริษัท ประกันภัยศรีเมือง จำกัด
18. บริษัท พระนครธนบุรีประกันภัย จำกัด
19. บริษัท เมืองไทยประกันภัย จำกัด
20. บริษัท มิตซุย สุมิโตโม อินชัวรันส์ จำกัด
21. บริษัท โรยัลแอนด์ซันอัลลายแอนซ์ ประกันภัย จำกัด
22. บริษัท วิริยะประกันภัย จำกัด
23. บริษัท ศรีอยุธยาประกันภัย จำกัด (มหาชน)
24. บริษัท สามัคคีประกันภัย จำกัด (มหาชน)
25. บริษัท สินมั่นคงประกันภัย จำกัด (มหาชน)
26. บริษัท สยามซิตี้ประกันภัย จำกัด
27. บริษัท สหวัฒนาประกันภัย จำกัด
28. บริษัท อวีว่า ประกันภัย (ไทย) จำกัด
29. บริษัท อาคเนย์ประกันภัย (2000 )จำกัด
31. บริษัท เอราวัณประกันภัย จำกัด
32. บริษัท แอลเอ็มจี ประกันภัย จำกัด
33. บริษัท ไอโออิ กรุงเทพ ประกันภัย จำกัด
สรุปแถมท้ายย้ำกันอีกครั้งนะครับ นี่ก็เป็นอีกบทเรียนหนึ่งที่เกิดขึ้นแล้วก็เกิดขึ้นอีกเป็นระยะๆตลอดมาสำหรับวงการประกันภัย ยังไม่รู้จะเกิดขึ้นอีกเมื่อไร แต่ที่สำคัญต้องมาย้ำเตือนให้ระวังไว้ ให้ดี "ไม่ทำประกันภัยก็เสี่ยง ทำประกันภัยก็ยังเสี่ยง ถ้าเลือกทำประกันกับบริษัทที่ไม่มั่นความมั่นคง หรือมีประวัติการเบี้ยวการโกง" นะครับท่าน
ABOUT THE AUTHOR
ก
กฤชกมล นิติธรรมโกศล
นิตยสาร 399 ฉบับเดือน กันยายน ปี 2548
คอลัมน์ Online : ประกันภัย