บทความ
10 ข่าวเด่น 5 คนดังแห่งปี 2548
ปี 2548 นับว่าเป็นปีทองอีกปีหนึ่งของอุตสาหกรรมยานยนต์ไทยแต่ก็มีบางเรื่องราวที่ทำให้เกิดผลกระทบที่นับว่าสร้างความฮือฮา "ฟอร์มูลา" รวม 10 ข่าวเด่นในรอบปี
1. เบนซินพุ่ง ดีเซลอั้นไม่อยู่ แกสโซฮอลมาแรง
ราคาน้ำมันในตลาดโลกปรับตัวสูงขึ้นตั้งแต่ปลายปี 2546 แต่รัฐบาลโดยกระทรวงพลังงานก็ยังคงตรึงราคาภายในประเทศไว้ ทำให้เกิดหนี้สะสมในกองทุนน้ำมันสูงถึงหลายหมื่นล้านบาท ที่สุดกระทรวงพลังงานก็ประกาศยกเลิกการตรึงราคาน้ำมันเบนซิน ออคเทน 95 และ 91 กลับไปสู่ระบบราคาลอยตัวตามตลาดโลก ตั้งแต่วันที่ 21 ตค. '47 หลังจากทยอยขึ้นราคาเป็นระยะก่อนหน้านั้น
ต่อมาไม่นาน รัฐก็อั้นราคาน้ำมันดีเซลไว้ไม่อยู่ ประกาศขึ้นราคาในวันที่ 22 มีค. '48 พรวดเดียว 3 บาทเป็น 18.19 บาท/ลิตร ทันที
ปัจจุบัน (พฤศจิกายน) ราคาเบนซิน 95 อยู่ที่ลิตรละ 25.24 บาท เบนซิน 91 ลิตรละ 24.44 บาท และดีเซล ลิตรละ 22.69 บาท
ด้วยเหตุนี้ และสาเหตุอื่นที่ไม่เปิดเผย การส่งเสริมการใช้น้ำมันแกสโซฮอลจึงเกิดขึ้นอย่างต่อเนื่องโดยมีเป้าหมายชัดเจนว่าตั้งแต่ 1 มกราคม 2550 จะยกเลิกเบนซิน 95 ให้ใช้น้ำมันแกสโซฮอล 95 แทนพร้อมทั้งเร่งขยายสถานีบริการจาก 730 แห่ง เป็น 4,000 แห่ง ส่งเสริมการใช้ น้ำมันแกสโซฮอลให้ได้ถึง 4 ล้านลิตร หรือประมาณร้อยละ 50 ของน้ำมันเบนซิน 95 และในปี 2551 ส่งเสริมให้มีการใช้น้ำมันแกสโซฮอล 91 และ 95 ทั่วประเทศ โดยปรับราคาน้ำมันแกสโซฮอล 95 ให้มีส่วนต่างจากน้ำมันเบนซินออคเทน 95 ลิตรละ 1.50 บาท จากเดิมที่มีส่วนต่างเพียง 75 สตางค์/ลิตร
2. แฟชันทุบรถระบาดทั้งปี ('45-'47)
"สาวใจเด็ด ทุบรถประชด ! ซื้อป้ายแดงยังต้องซ่อม" นี่คือ พาดหัวข่าวสนั่นวงการรถยนต์ในรอบครึ่งปีแรก ปลุกระแสร้องเรียนขอเปลี่ยนรถคันใหม่ หรือให้บริษัทซื้อรถคืน จนกระทั่งเกิดเป็น แฟชันทุบรถในเวลาต่อมา
ซึ่งทำให้ กระทรวงอุตสาหกรรม ต้องออกโรงหาทางแก้ไข และป้องกันปัญหาถึง 3 แนวทาง คือ
1. มอบหมายให้สถาบันยานยนต์ไปหารือกับผู้ผลิตรถยนต์ทุกค่ายในการจัดตั้งสายด่วนรับเรื่องร้องเรียนหรือ คอลล์ เซนเตอร์ (CALL CENTER) ที่เป็นเบอร์กลาง เพื่อรับเรื่องร้องเรียน และให้คำปรึกษาแนะนำแก่ผู้ใช้รถยนต์
2. ตั้งคณะกรรมการวินิจฉัยคุณภาพรถยนต์ ประกอบด้วย เลขาธิการสำนักงานมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม (สมอ.) เป็นประธานคณะกรรมการ และผู้อำนวยการสถาบันยานยนต์ เป็นรองประธาน ส่วนกรรมการ ประกอบด้วยผู้แทนจาก สำนักงานเศรษฐกิจอุตสาหกรรม (สศอ.) นายกสมาคมวิศวกรรมยานยนต์ไทย สำนักงานคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภค (สคบ.) ประธานกลุ่มอุตสาหกรรมยานยนต์สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย นายกสมาคมผู้สื่อข่าวรถยนต์และจักรยานยนต์ไทย ผู้แทนจากสำนักงานมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม เป็นกรรมการและเลขานุการ และผู้แทนจากสถาบันยานยนต์เป็นกรรมการและผู้ช่วยเลขานุการ
คณะกรรมการชุดนี้มีอำนาจหน้าที่ คือ
1. กำหนดขอบเขต หลักการ และวิธีการวินิจฉัยคุณภาพยานยนต์
2. รับเรื่องร้องเรียนเกี่ยวกับคุณภาพยานยนต์ จากหน่วยงานราชการที่เกี่ยวข้อง เพื่อดำเนินการให้คำวินิจฉัยตามเหตุผลทางเทคนิค และข้อแนะนำในการดำเนินการแก้ไขปัญหาตามหลักการที่กำหนดขึ้น
3. แต่งตั้งคณะอนุกรรมการ คณะทำงาน หรือ บุคคล เพื่อดำเนินการในเรื่องใดเรื่องหนึ่งตามความเหมาะสม และ
4 . รายงานผลการดำเนินงาน ต่อรัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม
อย่างไรก็ตามแฟชันนี้คงยังไม่หมดความนิยม แถมยังมีแฟชันเผาตามมาด้วย แต่ไม่โด่งดังเท่ากรณีแรก
3. ล้มโครงการ เอศคาร์
อีโคคาร์ โพรเจคท์ หรือ โครงการเอศคาร์ รถทางเลือกใหม่ เกิดขึ้นจากแผนยุทธศาสตร์ยานยนต์ที่จะผลักดันให้ไทยเป็นดีทรอยท์แห่งเอเชียอย่างสมบูรณ์ในปี 2553 แต่โครงการนี้ค่อนข้างยืดเยื้อในเรื่องสเปคที่จะกำหนดออกมาเพื่อให้เป็นรถประหยัดพลังงาน
โดยรูปแบบของ เอศคาร์ ที่กำหนดไว้ล่าสุดคือ ขนาดที่ 1.63X3.6 เมตร อัตราการสิ้นเปลืองน้ำมันเชื้อเพลิงอยู่ที่ 5/100 ลิตร/กม. เครื่องยนต์ 1,000 ซีซี มาตรฐานความปลอดภัย ยูโร 4 และสามารถใช้เอธานอลได้ 20 % ราคาคันละ 3.5 แสนบาท
แต่แล้วเมื่อ สุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ เข้ารับตำแหน่ง รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรมอีกครั้งหนึ่ง งานแรกๆ ที่เขาทำ คือ ล้มโครงการ อีโคคาร์ หรือ เอศคาร์ ด้วยเหตุผลที่ว่า ไม่มีความจำเป็นเร่งด่วน หากโครงการไม่เกิดก็ไม่ส่งผลกระทบต่ออุตสาหกรรมยานยนต์ภายในประเทศเนื่องจากปัจจุบันผู้ประกอบการรถยนต์ได้ย้ายฐานเข้ามาผลิตในไทยมากขึ้น ซึ่งการลงทุนที่เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องได้เป็นปัจจัยกระตุ้นให้อุตสาหกรรมยานยนต์ทั้งภายในประเทศและส่งออก สามารถเติบโตได้ด้วยกลไกของตลาด ดังนั้นรัฐควรให้การสนับสนุน ผู้ประกอบการหันมาลงทุนตั้งโรงงานผลิตรถในไทยมากกว่า
4. ญี่ปุ่นรุก เอฟทีเอ
การเจรจาเปิดเขตการค้าเสรี FTA หรือ (FREE TRADE AGREEMENT) ระหว่างรัฐบาลไทยกับญี่ปุ่นต่อรองกันมานาน สุดท้ายได้ข้อสรุปโดยคาดว่าจะมีการลงนามอย่างเป็นทางการในเดือนเมษายน 2549 และเริ่มมีผลบังคับใช้ในเดือนกรกฎาคม 2549
นักวิเคราะห์ประเมินว่ากลุ่มอุตสาหกรรมยานยนต์ไทยเสียประโยชน์ เนื่องจากจะทำให้มีรถรุ่นใหม่และชิ้นส่วนไหลเข้ามาจากญี่ปุ่นเพิ่มขึ้น และโอกาสที่จะส่งออกจากไทยจะมีน้อยลง และจะทำให้เกิดการแข่งขันที่รุนแรงเพิ่มขึ้น และนักลงทุนไทยก็จะเสียโอกาสเพราะไม่สามารถแข่งขันได้ ในขณะที่กลุ่มเหล็กและเกษตรได้ประโยชน์
ข้อสรุปของอุตสาหกรรมยานยนต์ไทย คือ ไทยจะทยอยลดภาษีนำเข้ารถยนต์ที่มีเครื่องยนต์ 3,000 ซีซีขึ้นไป จากปัจจุบัน 80 เป็น 60 % ในปี 2552 ส่วนรถยนต์นั่งขนาดต่ำกว่า 3,000 ซีซี ไม่เปิดตลาดสของชิ้นส่วนยานยนต์ไทยจะปรับลดภาษีในปีที่ 6 หลังความตกลง มีผลบังคับใช้ หรือภายในปี 2554หากความตกลงเปิดเสรีเอเชียแปซิฟิค (AFTA) เลื่อนใช้จากปี 2553 เป็นปี 2554
ทั้งนี้ รถยนต์ค่ายยุโรปเริ่มประกาศทบทวนแผนการลงทุนในไทยแล้ว ทำให้นักวิเคราะห์คาดว่าจะส่งผลกระทบต่อผู้ผลิตชิ้นส่วนให้แก่ค่ายยุโรป ส่วนค่ายญี่ปุ่นมีแนวโน้มจะลงทุนเพิ่มขึ้น ซึ่งมองเห็นได้จากนักลงทุนญี่ปุ่นเตรียมที่จะเข้ามาลงทุนด้วยงบกว่า 4.1 หมื่นล้านบาท นั่นก็หมายถึงความหลากหลายของรถยนต์ที่จะเข้ามาจำหน่ายในประเทศไทย จะทำให้ผู้ผลิตรถยนต์และผู้ผลิตชิ้นส่วนได้รับการพัฒนาไปอย่างมาก
5. "มหกรรมยานยนต์ ครั้งที่ 22" ยิ่งใหญ่ที่สุดในเอเชีย
มหกรรมยานยนต์ ครั้งที่ 22" ที่ อิมแพคท์ เมืองทองธานี เมื่อต้นเดือนธันวาคม 2548 จัดว่ายิ่งใหญ่อลังการที่สุดในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ มีบริษัทรถยนต์เข้าร่วมงานอย่างคับคั่งโดยใช้พื้นที่ภายในอาคารขนาดใหญ่กว่า 85,000 ตารางเมตร นอกจากนี้ยังมีกิจกรรมกลางแจ้งอีกมากมายหลายประเภทที่สร้างความบันเทิงต่างๆ ให้แก่ผู้เข้าชมงานอีกด้วย
6. พาเหรดรถใหม่
การเปิดตัวรถใหม่ปีนี้มีอย่างต่อเนื่องมากมายหลายรุ่น หลายยี่ห้อ แต่ที่ฮือฮาเรื่องความใหม่ สดด้วยเทคโนโลยี และความทันสมัยคงมีเพียงไม่กี่รุ่น
มิตซูบิชิ ทไรทัน พิคอัพอารยธรรมใหม่ เครื่องยนต์ ดีไอดี ไฮเพอร์คอมมอนเรล 2.5 และ 3.2 ลิตร ชู 3 จุดเด่น ด้วย เทคโนโลยี ความแข็งแกร่ง และพลังขับเคลื่อน เพิ่มความมั่นใจด้วยบทพิสูจน์การใช้งานจริงกับการเดินทางครั้งประวัติศาสตร์ ระยะทาง 20,193 กิโลเมตร บนเส้นทาง กรุงเทพ ฯ-มองโกเลีย-รัสเซีย-ปักกิง- กรุงเทพ ฯ (0830)
ฮอนดา ซีวิค รุ่นที่ 8 ที่มาพร้อมกับแนวคิด "ซีดาน สปอร์ท ล้ำสมัย" ได้รับการออกแบบใหม่หมดจดมีให้เลือกถึง 4 รุ่น ในเครื่องยนต์ 2 ขนาด คือ 1.8 ลิตร ไอ-วีเทค ให้กำลังสูงสุด 140 แรงม้า และเครื่องยนต์ 2.0 ลิตร ให้สมรรถนะที่แรงยิ่งขึ้นด้วย กำลังสูงสุด 155 แรงม้า (0618)
ส่วนรถใหม่รุ่นอื่นๆ ที่เปิดตัวในปี '48 ได้แก่ ฟอร์ด โฟคัส/เอาดี เอ 4/เอ 6/ซีตรอง เซ แซง (C5)/เซ กัตร์ (C4)/แลนด์ โรเวอร์ ดิสคัฟเวอรี 3/เรนจ์ โรเวอร์/โตโยตา วีออส/วิช/พรีรันเนอร์/เวนทูรี/คอมมิวเตอร์/โวลโว วี 70/เอส 60/เอส 80/เปอโฌต์ 407/ฮอนดา เซดเอกซ์/เบนท์ลีย์ คอนทิเนนทัล ฟลายอิง สเปอร์/บีเอมดับเบิลยู ซีรีส์ 3/ซีรีส์ 7/โพร์เช 911 คาร์เรรา 4 เอส และ เมร์เซเดส-เบนซ์ เอส-คลาสส์ เป็นต้น
7. โตโยตา ไทย ใหญ่ที่สุดในโลก (3703)
โตโยตา มอเตอร์ คอร์พอเรชัน ประเทศญี่ปุ่น ร่วมกับ บริษัท โตโยต้า มอเตอร์ ประเทศไทย จำกัดประกาศลงทุนขยายกำลังการผลิตในประเทศไทยเพิ่ม 37,000 ล้านบาท แบ่งการลงทุนเป็นสร้างโรงงานแห่งใหม่เพื่อรองรับการผลิตรถพิคอัพในโครงการ ไอเอมวี 15,000 ล้านบาท และขยายกำลังการผลิตรถยนต์นั่งของโรงงานเกทเวย์ อีก 3,000 ล้านบาท รวมถึงการลงทุนในส่วนที่เกี่ยวเนื่องอีก 19,000 ล้านบาท โดยการลงทุนครั้งนี้เพื่อตอบสนองความต้องการของตลาดภายในประเทศและการส่งออก ซึ่งจะทำให้ บริษัท โตโยต้า มอเตอร์ ประเทศไทย จำกัด เป็นฐานการผลิตรถยนต์ โตโยตา ที่ใหญ่ที่สุดในโลก
โดยมีกำลังการผลิตรวม 550,000 คัน/ปี
8. เลื่อนภาษีรถยนต์ใช้แกสโซฮอล
คณะรัฐมนตรีเคยประกาศให้การสนับสนุนแก่รถยนต์นั่งที่ใช้พลังงานทดแทนและมีที่นั่งไม่เกิน 10 คน ใช้เชื้อเพลิงประเภทเอธานอลเป็นส่วนผสมกับน้ำมันเชื้อเพลิงไม่น้อยกว่า 20 % หรือใช้แกสธรรมชาติเป็นเชื้อเพลิง โดยการลดภาษีสรรพสามิตเหลือเพียง 20 % ตั้งแต่ปี 2547 แต่แล้วก็มีมติคณะรัฐมนตรีเลื่อนการลดภาษีสรรพสามิตรถยนต์ที่ใช้พลังงานทดแทนไปเป็นวันที่ 1 มกราคม 2552 จึงส่งผลกระทบให้รถรุ่นใหม่ที่ใช้พลังงานทดแทน และแกสโซฮอล อี 20 ต้องเสียภาษีในอัตรา 40 % เหมือนเดิมต่อไป
9. ตื่นตัวพลังงานทดแทน ไฮบริดบุกไทย
หลังจากที่ราคาน้ำมันปรับตัวสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง เป็นสาเหตุให้เกิดกระแสการใช้พลังงานทดแทนอย่างมาก ที่เห็นได้ชัดเจน คือ การสนับสนุนการใช้น้ำมันแกสโซฮอล ไบโอดีเซล รวมถึงการนำรถพลังงานใหม่ ไฮบริด มาเป็นอีกทางเลือกหนึ่ง ทำให้รถ ไฮบริด เริ่มเข้ามาบุกตลาดในเมืองไทย โดยผู้นำเข้าอิสระต่างสั่งเข้ามาให้เลือกมากหมายหลายรุ่น ไม่ว่าจะเป็น โตโยตา เอสตีมา/อัลฟาร์ด และปรีอุส ซึ่งได้รับความนิยมอย่างมาก ถึงแม้ว่าจะมีราคาสูง
10. ฉลองยอดผลิต 1 ล้านคัน
กลุ่มอุตสาหกรรมยานยนต์ สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย ได้กำหนดเป้าหมายที่จะผลิตรถยนต์เพื่อจำหน่ายภายในประเทศและส่งออกให้ได้ 1 ล้านคัน ภายในปี 2549 แต่ด้วยศักยภาพการผลิตของผู้ประกอบยานยนต์ไทย และการสนับสนุนจากภาครัฐ ทำให้ในปี 2548 ผู้ประกอบยานยนต์ไทย สามารถผลิตได้เกิน 1 ล้านคัน ซึ่งเร็วกว่ากำหนด 1 ปี
การฉลองความสำเร็จของอุตสาหกรรมยานยนต์ที่สามารถผลิตรถยนต์เกิน 1 ล้านคัน ถือเป็นจุดเริ่มต้นสำคัญที่จะทำให้ประเทศไทย ก้าวสู่การเป็นศูนย์การผลิตยานยนต์ของเอเชีย หรือ ดีทรอยท์ ออฟ เอเชีย
เพื่อฉลองความสำเร็จของอุตสาหกรรมยานยนต์ไทย คณะกรรมการเครือข่ายวิสาหกิจอุตสาหกรรมยานยนต์และชิ้นส่วน สภาอุตสาหกรรม ฯ และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ได้แก่ กระทรวงอุตสาหกรรม กลุ่มอุตสาหกรรมยานยนต์ กลุ่มอุตสาหกรรมชิ้นส่วนและอะไหล่ยานยนต์ สภาอุตสาหกรรม ฯ สมาคมผู้ผลิตชิ้นส่วนยานยนต์ไทย สมาคมอุตสาหกรรมยานยนต์ไทย สถาบันยานยนต์ และบริษัทผู้ผลิตรถยนต์ในประเทศไทย จึงได้จัดงาน "ล้านคันยานยนต์ไทยสู่เวทีโลก" (THAI AUTO: A ONE MILLION MILESTONE) ขึ้นเมื่อ 23 พฤศจิกายน 2548 เพื่อให้คนไทยทั้งประเทศได้ร่วมภาคภูมิใจกับความสำเร็จ
5 คนดังแห่งปี
ปพนธ์ รัตนชัยกานนท์
ยอดขุนพล ของ บริษัท มาสด้าเซลส์ (ประเทศไทย) จำกัด ประกาศโบกมือออกจาก มาซดาก้าวข้ามห้วย รับตำแหน่งรองประธานและกรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท ทรู คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) ในเครือเจริญโภคภัณฑ์ (ซีพี)
ปพนธ์ ถือเป็นกำลังสำคัญที่ทำให้ มาซดา กลับมาแจ้งเกิดอีกครั้ง หลังจากประสบปัญหาในช่วงภาวะเศรษฐกิจ และเป็นช่วงที่ มาซดา มอเตอร์ คอร์พอเรชัน ประเทศญี่ปุ่นเข้ามาทำตลาดในเมืองไทยด้วยตัวเอง หลังจากนั้น ปพนธ์ และทีมงานได้ช่วยกันทำให้ยอดขายรถยนต์ มาซดา เติบโตขึ้นมาอย่างต่อเนื่องจนประสบความสำเร็จสูงสุดจากการเปิดตัว มาซดา 3
สุดาพร เอื้อมพรวนิช
หญิงเก่งคนหนึ่งในวงการรถยนต์ ที่เข้าสู่วงการรถยนต์ โดยเข้าร่วมงานกับบริษัท ธนบุรีประกอบรถยนต์ จำกัด ทำงานด้านการตลาดและประชาสัมพันธ์ หลังจากนั้นไปอยู่กับ บริษัท วอลโว่ คาร์ (ประเทศไทย) จำกัด จนสร้างชื่อเสียงให้แก่ โวลโว อีกครั้งหนึ่ง และก่อนที่จะอำลาวงการรถยนต์ไป สุดาพร ก็ทิ้งผลงานล่าสุดของเธอไว้กับ แลนด์โวเวอร์ ประเทศไทย
วิกรานต์ อมาตยกุล
ผู้อำนวยการใหญ่ สำนักการตลาด บริษัท มิตซูบิชิ มอเตอร์ส (ประเทศไทย) จำกัด ถือเป็นบุคคลหนึ่งที่ประสบความสำเร็จอย่างยิ่งในวงการรถยนต์ไทย ด้วยประสบการณ์ที่เริ่มต้นจากการเป็นเซลส์ขายรถ เมร์เซเดส-เบนซ์ ตั้งแต่ปี 2535 จนพัฒนาขีดความสามารถเป็นผู้ดูแลฝ่ายขาย ของ บริษัท เดมเลอร์ไครสเลอร์ (ประเทศไทย) จำกัด และต่อมามีโอกาสเข้ามาร่วมงานกับ มิตซูบิชิ จนถึงปัจจุบันวิกรานต์ และทีมงาน ก็สามารถทำให้ มิตซูบิชิ กลับมาอยู่ในอันดับ 3 ของตลาดรถยนต์ได้อีกครั้ง
สุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ
รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคมผู้มีข่าวฮือฉาว ในโครงการก่อสร้างสนามบินสุวรรณภูมิ เกี่ยวกับการจัดซื้อเครื่องตรวจสอบวัตถุระเบิดซีทีเอกซ์ ที่มีมูลค่าถึง 4,400 ล้านบาท อันเป็นที่มาของการถูกอภิปรายไม่ไว้วางใจ และเป็นสาเหตุให้มีการปรับคณะรัฐมนตรีอีกครั้ง ซึ่ง สุริยะ ก็ได้มานั่งเป็น รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม
พงษ์ศักดิ์ รักตพงศ์ไพศาล
รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม ที่ได้เข้ามาคุมกระทรวง ที่ถือว่ามีความสำคัญทางเศรษฐกิจของประเทศ ชูธงทำภารกิจยุทธศาสตร์ ฮับ (HUB) ขนส่งทางอากาศ โดยมี "สนามบินสุวรรณภูมิ" เป็นตัวเพิ่มศักยภาพ และขีดความสามารถทางการแข่งขันกับนานาประเทศ
นอกจากนี้ยังมีโครงการต่อเนื่องที่จะทำการเชื่อมโยงการขนส่งทางบกด้วยระบบรางซึ่งจะทำให้การสร้างโครงข่าย ลอจิสติคส์ ประเทศไทยให้มีประสิทธิภาพด้านระบายการเดินทางท่องเที่ยว และการขนส่งสินค้าสมบูรณ์แบบมากขึ้น
ABOUT THE AUTHOR
นุสรา เงินเจริญ
นิตยสาร 399 ฉบับเดือน มกราคม ปี 2549
คอลัมน์ Online : บทความ