เล่นท้ายเล่ม
บ้านเมืองของเรานะโยม
นโยบายสร้างคนให้รักแผ่นดิน รักประเทศของตน ผมเห็นว่าญี่ปุ่นได้รับความสำเร็จเป็นอย่างดี และมั่นคงมาเป็นเวลาช้านาน
คนญี่ปุ่นรักประเทศของเขามากกว่ารักตัวเอง 60 ปีแล้ว หลังแพ้สงครามมหาเอเชียบูรพาญี่ปุ่นมีความเจริญในทุกด้านทั้งบ้านและเมืองไปจนถึงระดับความเป็นผู้คน
พวกเขายังคงพูดภาษาของเขาอย่างเหนียวแน่นไม่สนใจภาษาอังกฤษไม่ว่าจะทำอาชีพที่ใกล้ชิดนักท่องเที่ยวต่างประเทศสักเท่าใด
ตั้งแต่คนขายของไปจนถึงคนขับแทกซี
โทรทัศน์ของพวกเขา ก็ไม่มีช่องที่เป็นภาษาอังกฤษ แม้แต่สถานี CNN ในห้องพักของโรงแรมก็ยังต้องเป็นสถานี และช่อง CNNJ แล้วก็พูดภาษาญี่ปุ่นกันตลอดรายการ
ผมคิดว่าคนญี่ปุ่นมีคุณภาพ พฤติกรรมทั้งหลายทั้งปวงที่พวกเขากระทำล้วนเกิดจากความคิดว่า "เพื่อญี่ปุ่น" ไม่ใช่เพื่อพรรคพวก เพื่อตัวเอง หรือเพื่อญาติพี่น้อง คนใกล้ชิด คนญี่ปุ่นที่เข้าไปรับจ้างทำงานให้กับสวนสนุกอย่างดีสนีย์แลนด์ และดีสนีย์ซี ก็พูดภาษาญี่ปุ่นล้วนๆ ไม่สนใจว่านักเดินทางท่องเที่ยวอย่างผมจะฟังรู้เรื่องหรือไม่รู้เรื่อง แต่สิ่งที่กลับมาถึงผมแสดงได้อย่างเดียวว่า พวกเขาประพฤติตนเต็มรูปแบบของคนรักประเทศ
เพราะถึงพูดกันไม่รู้เรื่อง พวกเขาก็พยายามให้การบริการตามหน้าที่อย่างเต็มความสามารถเพื่ออำนวยความสะดวกสบายให้แก่เรา
สิ่งหนึ่งที่ผมกังวลในการไปท่องเที่ยวต่างประเทศทุกวันนี้ คือ การล้วงกระเป๋า การฉกชิงวิ่งราวกระเป๋าตามเมืองสำคัญของประเทศสำคัญ เช่น ฝรั่งเศส อังกฤษ และอิตาลี อาชญากรรมนี้มักต้อนรับคนเดินทางอย่างไม่เลือกเพศ เพราะผู้กระทำความผิดเลือกปฏิบัติการกับนักท่องเที่ยวโดยเห็นว่านักท่องเที่ยวมีเวลาอยู่กับแผ่นดินของพวกเขาในเวลาอันจำกัด
แต่สิ่งที่ผมหวาดระแวงและกลัวนั้นไม่มีเลยในเมืองญี่ปุ่นมีคนไทยเล่าให้ฟังว่าลืมกระเป๋าเงินไว้ก็ยังได้รับคืน การท่องเที่ยวเต็มไปด้วยความปลอดภัยไม่ต้องกลัวว่าจะถูกล้วงกระเป๋าในที่ชุมชน ในตลาด ในร้านค้า ในระหว่างการชมการแสดง และในรถใต้ดิน
หายากครับที่จะพบว่า บ้านเมืองกับคนในประเทศมีความเจริญไปพร้อมๆกันอย่างที่ผมพบเห็นในเมืองญี่ปุ่น
พฤติกรรมของผมอย่างหนึ่งเมื่อมีโอกาสไปเที่ยวต่างประเทศ ได้แก่ การอ่านหนังสือพิมพ์ภาษาอังกฤษเพื่อดูความเป็นไปในบ้านในเมืองของเขา ดูงานแห่งชาติดูคนในชาติ อ่านข่าวที่เกี่ยวกับอาชญากรรมเพื่อศึกษาความเป็นคนของพวกเขา
ช่วงที่ผมมาญี่ปุ่น ผมก็ซื้ออ่าน "JAPAN TIMES" และ "THE DAILY YOMIURI" เพื่อขอทราบความเป็นไปในบ้านในเมืองของเขา และได้อ่านข่าวการเลือกตั้งสภามหานครโตเกียว (TOKYO METROPOLITAN ASSEMBLY) เสียงรัฐบาลมีมาตรการกระตุ้นวัยรุ่นให้ออกมาใช้สิทธิ์การเลือกตั้ง และมีการโฆษณาประชาสัมพันธ์กันอย่างจริงจัง
ตั้งแต่โฆษณาลงไปบนกระดาษเช็ดมือ กระดาษรองแก้ว รองอาหารตามภัตตาคารสติคเกอร์ติดกระจกตามร้านทำผมทำหน้าของวัยรุ่น แจกจ่ายโบรชัวร์สวยงามเอาใจเด็กๆเขียนเป็นภาพปลาดอลฟิน ยังไปเลือกตั้ง คำโฆษณาของเขาผมอ่านแล้วก็ซึ้งครับ
"BOUND FROM TOKYO TO THE FUTURE: YOUR VOTE IS YOUR TIKET."
ท่านผู้อ่านจะแปลคำโฆษณาชวนไปเลือกตั้งนี้อย่างไรก็ได้ แต่รวมความแล้วก็คือเพื่ออนาคตของโตเกียว คะแนนเดียวของท่านมีความหมาย
อีกข่าวหนึ่งเป็นข่าวจากกระทรวงสาธารณสุข/แรงงานและสวัสดิการ ใช้งบประมาณ 1 พันล้านเยน รณรงค์ให้คนญี่ปุ่นซึ่งมีจำนวนประมาณ 150,000 คนเลิกคิดฆ่าตัวตาย มาตรการที่จะนำมาใช้ก็มีทั้งการบำบัด และการป้องกัน โดยเฉพาะผู้ป่วยทางโรคประสาทเกี่ยวกับความผิดปกติทางอารมณ์เนื่องจากความขัดแย้งทางจิตใจที่แก้ไขไม่ตก
รวมความแล้วก็คือ ญี่ปุ่นกำลังพยายามป้องกันไม่ให้คนญี่ปุ่นฆ่าตัวตาย
การฆ่าตัวตายโดยไม่จำเป็นย่อมเกิดได้เสมอ ไม่ว่าจะเป็นบ้านเมืองที่ไหนๆ ในเมืองไทยของเราผมก็พบคนที่ฆ่าตัวตายอยู่บ่อยๆ และส่วนมากก็มักเป็นนักการเมือง ยินดีฆ่าตัวตายอย่างไม่จำเป็น และไม่เลือกเวลา แต่นักการเมืองไทยนั้นมหัศจรรย์เอาเรื่อง ตายได้หลายครั้งไม่ใช่ YOU ONLY LIVE TWICE.
คนเหล่านี้ฆ่าตัวตายเพราะเหตุผลทางการเมือง ไม่มีเหตุผลอื่นแทรกซ้อน เพราะการเมืองเป็นเรื่องที่เข้าใจกันเองในกลุ่มนักการเมืองด้วยกัน และต้องเป็นนักการเมืองที่แท้
การเมือง จึงมีนิทานการเมืองอยู่บ่อยๆ คนที่เล่านิทานการเมืองได้ก็ต้องเป็นนักการเมืองซึ่งอนุโลมได้ทั้งฝ่ายค้าน และฝ่ายรัฐบาล
เป็นต้นว่า นิทานการเมืองเรื่องที่ 1 เล่าโดย คุณนิพิฏฐ์ อินทรสมบัติ สส. พัทลุง ประชาธิปัตย์
"ปักษ์ใต้บ้านผม มีกีฬาวัวชน วัวบางตัวแสดงความกล้าหาญ เห็นจอมปลวกไม่ได้จะแสดงความเก่งด้วยการไล่ขวิด"
แต่วัวเหล่านั้น เมื่อเดินผ่านสนามชนวัวจะเยี่ยวราด
"ไม่กล้าจริง"
ระบอบประชาธิปไตย มาพูดกันในสภาดีกว่า เพราะคนที่อยู่ในวิถีประชาธิปไตยไม่รังเกียจวิธีการแบบนี้
"ผมเป็นลูกจ้างประชาชน ไม่ใช่ลูกจ้างรัฐบาล"
นิทานการเมืองเรื่องที่ 2 เล่าโดย พตท. ทักษิณ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี หัวหน้าพรรคไทยรักไทย
"สมัยก่อนเวลาเราไปเรียนหนังสือ เขาจะให้ทำเวร วันหนึ่งมีเด็กชายอยู่ 3 คน เด็กชาย 1 เด็กชาย 2 และเด็กชาย 3 ได้รับมอบให้ทำเวร" เด็กชาย 1 เด็กชาย 2 เป็นคนที่ซื่อสัตย์ ขยัน ก็ทำเวรอย่างขะมักเขม้น ทำเสร็จก็ไปนั่งอยู่หลังห้องเพราะได้ทำเสร็จแล้ว
"ส่วนเด็กชาย 3 ไม่ทำเวร ไปเตะฟุตบอล แต่ดันรู้ว่าเมื่อไรที่ครูจะมาตรวจเวร เด็กชาย 3 ก็ขึ้นมาเหงื่อเต็มเสื้อ คว้าไม้กวาด กวาดเสนอหน้า พอครูมาถึง เด็กชาย 3 ก็ฟ้องใหญ่เลยว่าผมเหนื่อยมาก เด็กชาย 1 กับเด็กชาย 2 เอาเปรียบผม"
เด็กชาย 1 เด็กชาย 2 พยายามอธิบาย ครูก็ไม่ฟัง เด็กชาย 1 เด็กชาย 2 ก็ไม่รู้จะทำอย่างไรอธิบายก็ไม่ฟัง เถียงก็สู้ไม่ได้ เพราะเด็กชาย 3 พูดเก่ง สามารถพูดว่า
"ผมทำตั้งแต่เช้านะครับ ผมเช็ด ผมกวาด ผมอะไรได้หมด อธิบายได้อย่างนี้เลยนะครับ"
เด็กชาย 1 เด็กชาย 2 ไม่รู้จะเถียงอย่างไร เถียงไม่เก่ง ก็เลยเดินกำมือเข้าไปต่อยเด็กชาย 3 ต่อยเสร็จน้ำตาร่วง ไม่ได้กลัวนะครับเพราะต่อยไปแล้ว ในใจที่น้ำตาร่วงก็แช่งไปด้วยว่า
"โตขึ้นขอให้เป็นหมันเถอะ อย่าได้เอาพันธุ์อย่างนี้สืบพันธุ์ ผสมพันธุ์ต่อไปเลย"
นิทานการเมืองเรื่องที่ 3 เล่าโดย "ไก่อ่อน" สส. ระบบบัญชีรายถ้วยสภากาแฟ
"กาลครั้งหนึ่ง ไม่นานมานี้ ยังมีนักกอล์ฟ 2 คน นักกอล์ฟ 1 และนักกอล์ฟ 2 ไปออกรอบด้วยกันเป็นประจำ"
อยู่มาวันหนึ่ง นักกอล์ฟ 1 ก็ชวนนักกอล์ฟ 2 ออกรอบตามปกติ
"ตีไปได้ไม่กี่หลุม ปรากฏว่ามีหลุมหนึ่ง นักกอล์ฟ 1 ตีพลาด ลูกกอล์ฟออกนอกทาง ไปตกในพุ่มไม้"
ทั้งนักกอล์ฟ 1 และนักกอล์ฟ 2 ช่วยกันค้นหาลูกกอล์ฟในพุ่มไม้เป็นการใหญ่
"เวลาผ่านไปครู่ใหญ่ๆ นักกอล์ฟ 2 ก็บอกนักอล์ฟ 1 ว่าหมดความอดทน เลิกราการค้นหา และเดินออกมาจากพุ่มไม้นั้น"
เวลาผ่านไปประเดี๋ยวเดียว นักกอล์ฟ 1 ควักเอาลูกกอล์ฟลูกใหม่ในกางเกงชูขึ้นฟ้าพร้อมกับร้องบอกนักกอล์ฟ 2 ว่า "เจอแล้ว นี่ไง"
"นักกอล์ฟ 2 หันไปมอง คิดอยู่ในใจ "ก็กูหาลูกกอล์ฟของมันเจอ แล้วก็เอาเก็บใส่กระเป๋ามานี่มันยังตลกอะไรของมันอีก ?"
นิทานการเมืองเรื่องที่ 1 และเรื่องที่ 2 จะสอนอะไรบ้างผมไม่ทราบ แต่เรื่องที่ 3 นี้สอนให้รู้ว่าเป็นธรรมดาไก่ย่อมเห็นตีนงู และงูก็ย่อมจะเห็นนมไก่ ดังนี้แล ฯ
ABOUT THE AUTHOR
บ
บรรเจิด ทวี
นิตยสาร 399 ฉบับเดือน กุมภาพันธ์ ปี 2549
คอลัมน์ Online : เล่นท้ายเล่ม