เล่นท้ายเล่ม
ประทีปดวงใหญ่ที่ไชยา
ท่านพุทธทาสภิกขุ ได้ชื่อว่าเป็นประทีปดวงใหญ่ ไม่เพียงแต่ที่เขตไชยา หากความสว่างของประทีปนั้นแผ่อาณาเขตไปไพศาล และสวนโมกข์ ก็มิได้เป็นเพียงสวนที่มีต้นโมกครึ้มพื้นที่ หากเป็นถึงสถานที่แห่งความหลุดพ้น เอาชนะกิเลสเพื่อเข้าถึงวิโมกข์
ไม่น่าเชื่อว่าท่านพุทธทาสได้เริ่มงานของท่านตั้งแต่ปี 2475 อันเป็นขวบปีแห่งการเปลี่ยนแปลงการปกครองของประเทศไทย ขณะที่ท่านมีวุฒิทางด้านพระพุทธศาสนาแค่จบเปรียญธรรม 3 ประโยค ได้ฉายา "มหาเงื่อม"
ท่านพุทธทาสใช้ภาษาเรียบง่าย เป็นต้นว่าเมื่อท่านกล่าวถึง ศีล สมาธิ ปัญญา ท่านก็กล่าวเพียง "สะอาด สงบ สว่าง" โดยความหมาย ความสะอาด คือ ศีล ความสงบ ก็คือ สมาธิ และความสว่างไม่มีอะไรเท่าปัญญา
ต้องเรียกว่าท่านเป็นนักประดิษฐ์ถ้อยคำคนหนึ่ง และประดิษฐ์ได้อย่างคมขำ ดูได้จากการประดิษฐ์สถานที่ซึ่งท่านตัดสินใจยึดเป็นสถานปฏิบัติธรรม พื้นที่ซึ่งเต็มไปด้วยป่าพงพี มีต้นโมกขึ้นหนาตา รองลงไปก็เป็นต้นพลา ท่านก็คิดคำขึ้นว่าสถานที่แห่งนี้คือ "โมกขพลาราม" อันมาจากคำว่า "โมกขะ" "พล" และ "อาราม" เข้ามาสนธิกัน
ทว่าความหมายที่ลึกซึ้ง และคมยิ่งกว่านั้น "โมกขพลาราม" ก็คือ "พลังแห่งการหลุดพ้น"
หากถามว่าหลุดพ้นจากอะไร แน่นอน มนุษย์ทุกรูปนามย่อมต้องการหลุดพ้นจากความโลภ ความโกรธ และความหลง
หลักการของท่านพุทธทาสใหญ่ๆ น่าจะอยู่ที่บทเดียวอันเป็นบทแรกในคำสอนของท่าน คือ ทำอย่างไรให้คนเราเข้าใจพุทธศาสนาให้ดีที่สุด เพื่อการปฏิบัติจะได้เข้าถึงการปฏิบัติที่ดีที่สุดด้วยกัน บทที่สองรองลงมาก็น่าจะเป็นการสอนให้คนเราเคารพต่อศาสนาอื่นในโลก มีความเอื้ออาทรแก่กันและกัน
ด้วยปณิธานยิ่งใหญ่ของท่านนี้เอง ผลงานของท่านพุทธทาสจึงมิได้ตกหล่นเพียงในประเทศไทยเท่านั้นหากได้รับการแปลเป็นภาษาต่างๆ ออกไปหลายภาษารวมทั้ง เยอรมัน จีน อังกฤษ และมลายู
"ตัวกู ของกู" ก็เป็นสุดยอดวาทะอันหลักแหลม หลบความหมายของคำหยาบไปอย่างสิ้นลายเลยทีเดียว ท่านพุทธทาสจำเพาะเจาะจงใช้คำๆ นี้ เพื่อให้ตรงกับความหมายของศัพท์ (อหังการ มมังการ)
ภาษาธรรม ย่อมเป็นภาษาหนึ่ง และภาษาคนก็เป็นอีกภาษาหนึ่ง การทำให้ ภาษาคน และภาษาธรรมเข้ากันได้ ก็คงมีวิธีเดียวคือ อยู่ที่การสอน การอธิบาย ทำอย่างไร และด้วยวิถีทางใดบ้างที่จะทำให้คนเราเข้าใจในธรรม
เข้าใจในที่นี้ก็หมายถึง การเข้าใจโดยง่าย ยิ่งคนรุ่นใหม่ด้วยแล้ว ทำอย่างไรจะให้พวกเขายอมรับ
สมัยพุทธกาล พระพุทธเจ้าเคยตรัสชมเชยพระมหากัจจายนะ ว่ามีความสามารถขยายธรรมบทสั้นๆให้พิสดารออกไปได้ยืดยาว
สมมติกันเล่นๆ นี่ถ้าท่านพุทธทาสมีชีวิตสมัยเดียวกันครั้งกระโน้น ท่านอาจเป็นอีกผู้หนึ่งที่ได้รับคำชมจากพระพุทธองค์ก็ได้
ในธรรมทั้งหมดของท่านพุทธทาส ยังมีธรรมะหนึ่งเรียกว่า "ธรรมะ 9 ตา" อันประกอบด้วย
1. อนิจตา ได้แก่ ความไม่เที่ยง ไม่ยั่งยืน เป็นความแปรเปลี่ยน สังขารแห่งคนเรา คือ อนิจตา
2. ทุกขตา คู่กันกับข้อ 1 คือ อนิจตา แปลว่า ความทนอยู่ไม่ได้ หมายถึง ทนอยู่กับสภาพเดิมไม่ได้ต้องแปรต้องเปลี่ยนเป็นอื่นไปเสมอ
3. อนัตตา หมายถึง ความไม่มีตัวตน ความมิใช่ตัวตน อนัตตาจึงมีถึง 2 ความหมาย คือความไม่มีตัวตนถาวรอย่างหนึ่ง ส่วนที่เปลี่ยนนั้นเป็นเพียงร่างกาย
ความมิใช่ตัวตนอย่างหนึ่ง รูป เวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณ ล้วนประกอบขึ้นมานี้ มิใช่ตัวตนของใคร มันเกิดและดับไปตามธรรมดาของสังขาร
4. อิทัปปัจจยตา เป็นหลักแห่งการเกิดขึ้นโดยอาศัยกันของปัจจัยทั้งหลาย หลักในข้อนี้ ยกตัวอย่างง่ายๆ ให้ดูเกมฟุตบอลที่ต้องใช้ผู้เล่น 11 คนเป็นทีม การแพ้ชนะมิได้อยู่ที่คนใดคนหนึ่ง ทุกคนใน 11คน ต่างมีส่วนเสมอและเท่ากัน ทั้งทีมเป็นปัจจัยช่วยกัน และก่อให้เกิดการชนะหรือแพ้ได้
5. สุญตา คือ ความว่างเปล่า พระท่านพิจารณาสังขารเป็นความว่างเปล่า มีสภาพเป็นศูนย์ สิ่งที่เรียกกันว่าตัวตนนั้น ความจริงไม่มี สิ่งนั้นเป็นเพียงการประกอบกันของธาตุทั้ง 4 คือ ดิน น้ำ ลม ไฟ และนี่คือ ที่มาของคำว่า "ตัวกูของกู" โดยท่านพุทธทาส
6. ธัมมัฏฐิตตา และ 7. ธัมมนิยามตา คือ การที่สิ่งทั้งปวงเกิดขึ้น ตั้งอยู่และแตกดับสลายไป ย่อมเป็นกฎแห่งธรรมชาติ ไม่ขึ้นอยู่กับผู้สร้าง หรือ ผู้บันดาล
ดังพระพุทธโอวาทที่รจนาไว้ว่าดังนี้
"ไม่ว่าตถาคตทั้งหลาย (พระพุทธเจ้าทั้งหลาย) จะเกิดขึ้นหรือไม่ก็ตาม กฎธรรมชาติ และกฎธรรมดานั้น ก็ยังอยู่"
8. อตัมมยตา ขอข้ามไปถึง ธรรมะที่ 9 คือ ตถตา เพราะเพิ่งได้ฟังลูกศิษย์คนหนึ่งของท่านพุทธทาสกล่าวถึงไปหยกๆ
ศิษย์ผู้นี้คือ พตท. ทักษิณ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี ท่านกล่าวแก่ผู้สื่อข่าวสั้นๆ ว่า "ตถตา มันเป็นเช่นนั้นเอง" หลังจากผู้สื่อข่าวรุมถามท่านว่า คิดอย่างไรที่ พลตรีจำลอง ศรีเมืองออกมาเดินขบวนขับไล่
ก็ถูกต้อง ตถตา คือ ความเป็นเช่นนั้นเอง เป็นการอธิบายความที่สิ่งทั้งหลายทั้งปวง เป็นเหตุปัจจัยแห่งกันและกัน เมื่อมีเหตุปัจจัยก็ย่อมจะเกิดขึ้น ดำรงอยู่ และเป็นไปตามกฎธรรมดา และเมื่อหมดเหตุปัจจัย มันก็ดับ
และการเกิด การดำรงคงอยู่ หรือการดับไปนั้น มิได้ขึ้นอยู่กับการบันดาลของใคร
โมกขพลาราม ของท่านพุทธทาสเคยได้รับคำเปรียบเทียบจาก มรว. คึกฤทธิ์ ปราโมช ว่าเป็น ดีสนีย์แลนด์
ถ้าเราเป็นเจ้าอาศรมได้ฟังอย่างนี้ก็คงรู้สึกเคืองพอสมควร แต่ท่านพุทธทาสมีความเมตตาสูง เห็นและเชื่อว่าเป็นการสัพยอกหลอกล้อกันเล่นๆ เมื่อมีลูกวัดไปถามท่านก็ตอบอย่างอารมณ์ดีว่า เป็นสวนสนุกดีสนีย์แลนด์ก็ดีแล้ว คนจะได้มาเที่ยวกันแยะๆ มาสวนโมกข์แล้วไม่มีอะไรต้องเสียหาย
ท่านเคยบอกว่า ท่านเป็นพ่อค้า มีร้านค้าประจำถิ่นชื่อ สวนโมกขพลาราม ขายของไม่คิดเงิน มีสินค้าประจำร้านชื่อ "ธรรมโฆษณ์" สำหรับคนทุกชั้น ทุกวัย ทุกชนิด ทุกเพศ ยิ่งกว่าห้างสรรพสินค้า
"แต่ก็มีเหมือนกัน" ท่านพุทธทาสบันทึก "ที่บางคนไม่สนใจ แล้วหาว่าขายของปลอม พากันด่า คิดทำลายล้าง ใส่ร้ายป้ายสีต่างๆ นานา แต่ร้านของเราก็ไม่ล้ม กลับมีคนสนใจเพิ่มขึ้นเสียอีก"
แล้วท่านก็บันทึกถึงความเป็นพ่อค้าของท่านต่อไปด้วยว่า
"บัดนี้ ข้าพเจ้าอายุ 80 กว่าปีแล้ว ก็ยังไม่จำเป็นที่จะต้องหยุดการค้า กลับจะทำได้ดี แคล่วคล่อง ว่องไวไปกว่าเดิมไปเสียอีก ซ้ำอบรมผู้สนใจให้เข้าใจ สามารถดำเนินรอยตามได้จำนวนหนึ่ง"
บันทึกข้อสุดท้ายของ "ข้าพเจ้าเป็นพ่อค้า" คือ
"หวังว่า ท่านทั้งหลายคงจะรู้จักข้าพเจ้าตามที่เป็นจริงยิ่งขึ้น ให้ข้าพเจ้าและร้านของข้าพเจ้ารับใช้ท่านให้ดีที่สุด ยิ่งๆ ขึ้นไป...ตถาตา...!"
ABOUT THE AUTHOR
บ
บรรเจิด ทวี
นิตยสาร 399 ฉบับเดือน มิถุนายน ปี 2549
คอลัมน์ Online : เล่นท้ายเล่ม