ระเบียงรถใหม่
เอาดี อาร์ 8
เยอรมนีมีผู้ผลิตรถยนต์รายใหญ่อยู่เพียง 7 ราย คือ เอาดี (AUDI) บีเอมดับเบิลยู
(BMW) ฟอร์ด (FORD) เมร์เซเดส-เบนซ์ (MERCEDES-BENZ) โอเพล (OPEL)
โพร์เช (PORSCHE) และ โฟล์คสวาเกน (VOLKSWAGEN)
หากยกเว้น โพร์เช ซึ่งผลผลิตส่วนใหญ่เป็นรถสปอร์ทราคาแพงระยับไว้เสียราย ก็จะ
กล่าวได้ว่า ประเทศนี้มีผู้ผลิตรถยนต์สำหรับ "ตลาดล่าง" อยู่ 3 ราย คือ ฟอร์ด โอเพล
และ โฟล์คสวาเกน กับมีผู้ผลิตรถยนต์สำหรับ "ตลาดบน" อยู่ 3 รายเท่ากัน คือ เอาดี
บีเอมดับเบิลยู และ เมร์เซเดส-เบนซ์
ในบรรดาผู้ผลิตรถยนต์สำหรับ "ตลาดบน" จำนวน 3 รายนี้ หากถือจำนวนรถที่ผลิต และ
จำหน่ายได้ในแต่ละปีเป็นเกณฑ์วัด ก็ต้องยกนิ้วให้เจ้าของเครื่องหมายการค้า "ดาวสาม
แฉก" เป็นหมายเลข 1 ตามมาด้วยเจ้าของเครื่องหมายการค้า "ใบพัดเครื่องบินสีฟ้า
ขาว" และมีเจ้าของเครื่องหมายการค้า "สี่ห่วง" อยู่รั้งท้าย อย่างในปี 2005 ซึ่งตลาด
รถยนต์ในเมืองเบียร์ทำยอดขายรถใหม่ได้รวมทั้งสิ้น 3,342,122 คัน ก็ปรากฏผลว่า
เมร์เซเดส-เบนซ์ กวาดยอดขายไป 343,870 คัน หรือเท่ากับร้อยละ 10.3 โดยมี
บีเอมดับเบิลยู ตามมาห่างๆ ด้วยยอดขาย 263,915 คัน หรือเท่ากับร้อยละ 7.9 และ
เอาดี รั้งท้ายด้วยยอดขาย 248,765 คัน หรือเท่ากับร้อยละ 7.4
แต่เมื่อพิจารณาจากคุณภาพของสินค้ารถยนต์ที่ผลิต เกจิอาจารย์ด้านรถยนต์หลายๆ คน
ในทวีปยุโรปให้ความเห็นว่า จากที่เคยตามหลังมาตลอด ขณะนี้ เจ้าของเครื่องหมาย
การค้า "สี่ห่วง" สามารถก้าวแซงขึ้นหน้าอีก 2 เจ้าไปเรียบร้อยแล้ว และประจักษ์พยาน
ยืนยันชิ้นหนึ่ง คือ เอาดี อาร์ 8 (AUDI R8) ที่นำมาเปิด "ระเบียงรถใหม่" เดือนนี้
เป็นรถแบบใหม่ล่าสุดของค่าย "สี่ห่วง" เพิ่งปรากฏตัวต่อสายตาสาธารณชนเป็นครั้งแรก
ที่งานมหกรรมยานยนต์ปารีสครั้งล่าสุด เมื่อปลายเดือนกันยายนที่ผ่านมา และเปิดให้สั่ง
จองแล้วไปแล้วตั้งแต่วันที่ 28 กันยายน 2006 แต่ต้องรออีกประมาณครึ่งปี รถคันแรก
จึงจะส่งถึงมือลูกค้าผู้สั่งจอง
ได้ชื่อตามรถแข่งติดตรา "สี่ห่วง" ซึ่งชนะเลิศการแข่งขันรถ เลอ มองส์ 24 ชั่วโมง
(LE MANS 24 HOURS) อันเลื่องชื่อมาแล้ว 5 ครั้ง ในปี 2000, 2001, 2002, 2004
และ 2005 หน้าตา และรูปทรงองค์เอวของตัวถังภายนอก พัฒนาจากรถแนวคิด เอาดี
เลอ มองส์ กวัตตโร (AUDI LE MANS QUATTRO) ซึ่งปรากฏตัวเป็นครั้งแรกเมื่อ
3 ปีก่อน และยังถูกกล่าวถึงอยู่บ่อยๆ
ตัวถังยาว 4.430 ม. กว้าง 1.900 ม. สูง 1.250 ม. และมีช่วงฐานล้อยาว 2.650 ม.
มีโครงสร้างตัวถังแบบ SPACE FRAME ที่เรียกกันในภาษาไทยว่า "โครงอวกาศ" หรือ
"โครง 3 มิติ" และมีเปลือกตัวถังทำจากอลูมิเนียมล้วน จึงมีน้ำหนักตัวไม่หนักนัก คือ
แค่ 1,558 กก. เท่านั้นเอง
ในระยะแรกจะมีเครื่องยนต์เพียงขนาดเดียว คือ เครื่องฉีดเชื้อเพลิงโดยตรง DOHC
วี 8 สูบ 32 วาล์ว 4,163 ซีซี ให้กำลังสูงสุด 420 แรงม้า ที่ 7,800 รตน. และ
แรงบิดสูงสุด 43.9 กก.-ม. ที่ 5,500 รตน. เป็นเครื่องยนต์บลอคเดียวกับที่ติดตั้งใน
รถ เอาดี อาร์เอส 4 (AUDI RS4) แต่ปรับเปลี่ยนรายละเอียดเล็กน้อยในบางจุด
พละกำลังจากเครื่องยนต์ส่งทอดสู่ล้อคู่หน้า และคู่หลัง ผ่านระบบเกียร์อัตโนมัติ 6 จังหวะ
หรือเกียร์อัตโนมัติ AUDI R TRONIC
สมรรถนะความเร็วตามตัวเลขของผู้ผลิต อัตราเร่ง 0-100 กม./ชม. ทำได้ใน 4.6
วินาที ส่วนความเร็วสูงสุดอยู่ที่ระดับ 301 กม./ชม.
เอาดี อาร์ 8 จะมีตัวถังอีก 2 แบบให้เลือกใช้ คือ ตัวถังคูเปน้ำหนัก
เบาที่คาดว่าจะออกจำหน่ายในปี 2008 กับตัวถังเปิดประทุนซึ่งจะตามมาในปี 2009
ในส่วนของเครื่องยนต์ นอกจากเครื่อง วี 8 สูบ 4.2 ลิตร 420 แรงม้า ที่กล่าว
ข้างต้นแล้ว ยังมีเครื่องยนต์อีกขนาดหนึ่ง ที่ค่าย "สี่ห่วง" ตั้งใจจะนำมาใช้กับรถแบบนี้ แต่
ต้องรอจนกว่าจะถึงปี 2008 คือ เครื่อง วี 10 สูบ ซึ่งพัฒนาจากเครื่อง DOHC วี 10
สูบ 4,961 ซีซี 520 แรงม้า ที่ใช้อยู่ในขณะนี้กับรถสปอร์ท ลัมโบร์กินี กัลญาร์โด
(LAMBORGHINI GALLARDO)
ลัมโบร์กินี มาเกี่ยวอะไรด้วย ? ไม่ใช่เรื่องน่าประหลาดใจอะไรเลย เพราะทั้ง เอาดี
และ ลัมโบร์กินี ต่างก็เป็นผู้ผลิตรถยนต์ที่อยู่ในเครือค่ายของยักษ์ใหญ่ โฟล์คสวาเกน
กรุพ (VOLKSWAGEN GROUP) นั่นเอง
เมร์เซเดส-เบนซ์ เอสแอลอาร์ แมคลาเรน 722
สุดยอดรถสปอร์ทปีกนกตราดาวสามแฉก
ในบูธของค่าย "ดาวสามแฉก" ในงานมหกรรมยานยนต์ปารีสครั้งล่าสุดเมื่อปลายเดือน
กันยายนที่ผ่านมา มีรถสปอร์ทระดับ "ซูเพอร์คาร์" จอดอวดโฉมอยู่ 1 คัน มองดูอย่าง
ผาดๆ เผินๆ ใครๆ ก็ย่อมคิดว่าเป็นรถ เมร์เซเดส-เบนซ์ เอสแอลอาร์ แมคลาเรน
(MERCEDES-BENZ SLR McLAREN) ที่เริ่มจำหน่ายในเยอรมนีมาตั้งแต่เดือนกรกฎาคม
2003 ด้วยค่าตัวแพงระยับระดับ 435,000 ยูโร หรือประมาณ 20 ล้านบาทไทย
ถ้าเข้าใจอย่างนั้น ก็ต้องถือว่าเข้าใจผิด เพราะที่จริงเป็นรถรุ่นพิเศษ เพิ่งปรากฏตัว
ให้เห็นเป็นครั้งแรกในงานแสดงรถยนต์รายการที่ว่า มีชื่อรุ่นที่ยืดยาวออกไปอีกนิดว่า
เมร์เซเดส-เบนซ์ เอสแอลอาร์ แมคลาเรน 722 เอดิชัน (MERCEDES-BENZ SLR
McLAREN 722 EDITION)
เป็นรถที่ค่าย "ดาวสามแฉก" รังสรรค์ขึ้น โดยมีจุดมุ่งหมาย 2 ประการ ประการแรก
เพื่อตอบสนองความประสงค์ของลูกค้าขาประจำ ซึ่งเรียกร้องรถที่เบากว่า เร็วกว่า และเลี้ยว
ได้แคล่วคล่องว่องไวกว่ารถรุ่นสามัญ ประการที่ 2 เพื่อรำลึกถึงชัยชนะในการแข่ง
MILLE MIGLIA อันเลื่องชื่อเมื่อปี 1955
การแข่งรถในอิตาลีครั้งดังกล่าว ค่าย "ดาวสามแฉก" ส่งรถ เมร์เซเดส-เบนซ์ 300
เอสแอลอาร์ (MERCEDES-BENZ 300 SLR) เข้าชิงชัย โดยมีนักขับชาวอังกฤษผู้ยิ่ง
ใหญ่ คือ สเตอร์ลิง มอสส์ (STERLING MOSS) เป็นผู้ขับ และมี เดนนิส เจนคินสัน
(DENNIS JENKINSON) เป็นผู้นำทาง หมายเลขประจำรถ คือ 722 ซึ่งหมายความว่า
ให้เริ่มการแข่งขันเวลา 07.22 นาฬิกา และนี่เอง คือ ที่มาของชื่อรุ่นรถรุ่นพิเศษนี้
เอกสารประชาสัมพันธ์ของค่าย "ดาวสามแฉก" ระบุว่า มีการเปลี่ยนแปลง หรือปรับปรุง
ชิ้นส่วนต่างๆ มากกว่า 300 รายการ แต่น่าจะกล่าวได้ว่า การเปลี่ยนแปลงที่เป็นหัว
ใจสำคัญอยู่ที่เครื่องยนต์
เมร์เซเดส-เบนซ์ เอสแอลอาร์ แมคลาเรน 722
สุดยอดรสปอร์ทปีกนก ตราดาวสามแฉก
เมร์เซเดส-เบนซ์ เอสแอลอาร์ แมคลาเรน รุ่นสามัญ ติดตั้งเครื่องยนต์ SOHC วี
8 สูบ ความจุ 5,439 ซีซี ติดซูเพอร์ชาร์เจอร์ ให้กำลังสูงสุด 626 แรงม้า ที่
6,500 รตน.และแรงบิดสูงสุด 79.6 กก.ม.ที่ 3,250 รตน. ในรถรุ่นพิเศษนี้
เครื่องยนต์ที่ใช้ยังเป็นเครื่องบลอคเดิม แต่ปรับแต่งใหม่ ทำให้ได้กำลังสูงสุดเพิ่มขึ้น
อีก 24 แรงม้า หรือร้อยละ 3.8 คือเป็น 650 แรงม้า ที่ 6,500 รตน. และได้
แรงบิดสูงสุดเพิ่มขึ้นอีก 4.1 กก.ม. คือเป็น 83.7 กก.ม.ที่ 3,250 รตน. ส่วน
ระบบเกียร์เพื่อส่งกำลังสู่ล้อคู่หลัง ยังคงเป็นเกียร์อัตโนมัติ 5 จังหวะ เช่นเดิม
ผลลัพธ์ของการเปลี่ยนแปลงดังกล่าวข้างต้นในด้านสมรรถนะความเร็ว ก็ปรากฏผล
ว่า อัตราเร่ง 0-100 กม./ชม.ที่เคยทำได้ใน 3.8 วินาที ก็ทำได้เร็วขึ้น 0.2
วินาที คือเหลือแค่ 3.6 วินาที อัตราเร่ง 0-200 กม./ชม.ที่เคยทำได้ใน 10.6
วินาที ลดเหลือ 10.2 วินาที ในขณะที่ความเร็วสูงสุดเพิ่มขึ้น 3 กม./ชม. คือ
จาก 334 เป็น 337 กม./ชม.
เช่นเดียวกับรถรุ่นสามัญ รถรุ่นพิเศษนี้เป็นรถประกอบด้วยมือ ที่โรงงานของสำนัก
แมคลาเรน ซึ่งตั้งอยู่ที่เมืองโวคิง (WOKING) ในประเทศอังกฤษ โดยจำกัดจำนวน
ผลิตไว้เพียง 150 คัน ไม่มีขาดไม่มีเกิน สนนราคาค่าตัวที่ซื้อขายกันในเมืองเบียร์
คือ 455,000 ยูโร หรือเท่ากับประมาณ 2.14 ล้านบาท เมื่อคิดอัตราแลกเปลี่ยน
เงิน 1 ยูโร แลกได้ด้วยเงินไทย 37 บาทถ้วน
มีนี คูเพอร์/มีนี คูเพอร์ เอส
รถรุ่นใหม่ที่ดูยังไงก็เหมือนรถรุ่นเก่า
บีเอมดับเบิลยู ซื้อกิจการของรถ มีนี และนำรถ มีนี รุ่นใหม่ออกจำหน่ายเป็นครั้งแรก
เมื่อวันเสาร์ที่ 7 กรกฎาคม 2001 โดยตั้งเป้าหมายการผลิต และจำหน่ายไว้ที่ระดับ
100,000 คัน/ปี ช่วงเวลา 5 ปีผ่านพ้นไปอย่างรวดเร็ว และปรากฏว่ารถ มีนี รุ่น
ใหม่ประสบความสำเร็จเกินความคาดหมาย จนโรงงานซึ่งตั้งอยู่ในเมืองออกซ์ฟอร์ด
(OXFORD) ในประเทศอังกฤษ ต้องเพิ่มกำลังผลิตอีก 1 เท่าตัว เป็น 200,000 คัน/
ปี และเมื่อนับจนถึงสิ้นเดือนกันยายนที่ผ่านมา ปรากฏว่ารถ มีนี ทำยอดขายใน 70
ประเทศทั่วโลกไปแล้วมากกว่า 800,000 คัน
และบัดนี้ ก็ถึงยุคของรถ มีนี รุ่นที่ 2 ซึ่งปรากฏตัวต่อสายตาสาธารณชนเป็นครั้งแรก
ที่งานมหกรรมยานยนต์ปารีสครั้งล่าสุด เมื่อปลายเดือนกันยายนที่ผ่านมา ในรูปทรงองค์
เอวที่ดูยังไงก็ดูแทบไม่ออก ว่าต่างจากรถรุ่นเดิมที่ตรงไหนบ้าง โดยเฉพาะในสายตา
ของผู้ที่ไม่ได้เป็นเจ้าของรถแบบนี้
แม้ว่าหน้าตาเหมือนรถรุ่นเก่ายังไงยังงั้น แต่คนของ บีเอมดับเบิลยู ยืนยันหัวชนฝาว่า
นี่คือ รถรุ่นใหม่ ชิ้นส่วนมากกว่าร้อยละ 90 เป็นของใหม่ และเฉพาะชิ้นส่วนตัวถังนั้น
ทุกๆ ชิ้นล้วนเป็นชิ้นส่วนที่ออกแบบขึ้นใหม่ แถมยังระบุตัวเลข ซึ่งพิสูจน์ให้เห็นว่า รถรุ่น
ใหม่นี้มีขนาดตัวถังแตกต่างจากรถเก่าในทุกมิติ นั่นคือ ความยาว เพิ่มจาก 3.635 ม.
เป็น 3.699 ม. คือ ยาวขึ้น 6.4 ซม. ความกว้าง ลดจาก 1.688 ม. เป็น 1.683
ม. คือ แคบลง 0.5 ซม. และความสูง ลดจาก 1.415 ม. เป็น 1.407 ม. คือ เตี้ยลง
0.8 ซม. ในขณะที่ความยาวช่วงฐานล้อยังคงเดิม คือ 2.467 ม.
ในส่วนของตัวถังภายนอก เมื่อมองกันอย่างพินิจพิเคราะห์ โดยนำรถรุ่นเก่าและรุ่นใหม่
มาจอดเทียบเคียงกัน ก็จะพบว่า มีอยู่หลายจุดเหมือนกัน ที่พอจะเห็นความแตกต่าง
ที่เห็นได้ง่ายหน่อย ก็คือ เส้นสะเอว (BELT LINE) ที่ของรถรุ่นใหม่จะอยู่สูงกว่ารถ
รุ่นเก่าประมาณ 2 ซม. แผงกระจังหน้าที่รูปลักษณ์แตกต่างกันเล็กน้อย และดวงโคม
ไฟท้ายรูปสี่เหลี่ยมคางหมูลบมุม ซึ่งของรถรุ่นใหม่จะกว้างกว่ารถรุ่นเดิมอย่างเห็นได้ชัด
ออกจำหน่ายแล้วในเมืองผู้ดีเมื่อเดือนธันวาคมที่ผ่านมา โดยแยกโมเดลให้เลือกใช้
ตามรสนิยมเพียยง 2 โมเดล คือ มีนี คูเพอร์ (MINI COOPER) กับ มีนี คูเพอร์ เอส
(MINI COOPER S) โมเดลแรกค่าตัวเริ่มต้นที่ 12,995 ปอนด์ หรือเท่ากับประมาณ
0.91 ล้านบาทไทย (เมื่อคิดอัตราแลกเปลี่ยน เงินอังกฤษ 1 ปอนด์ แลกได้ด้วยเงิน
ไทย 70 บาทถ้วน) ส่วนโมเดลหลัง 15,995 ปอนด์ หรือประมาณ 1.12 ล้านบาท
เมื่อมองจากตัวถังภายนอก รถ 2 โมเดลนี้ มีความแตกต่างอยู่หลายจุด ดังที่เห็นได้
อย่างชัดเจนในภาพประกอบ ตัวอย่าง คือ แผงกระจังหน้าซึ่งมีตะแกรงไม่เหมือนกัน
กรอบไฟตัดหมอกรูปลักษณ์ไม่เหมือนกัน และท่อไอเสียต่างกัน คือ มีนี คูเพอร์ ติดตั้ง
ท่อไอเสียเดี่ยว ส่วน มีนี คูเพอร์ เอส ติดตั้งท่อคู่ อย่างไรก็ตาม ความแตกต่างสำคัญ
ซึ่งมองไม่เห็นหากไม่เปิดฝากระโปรงหน้าขึ้นดู คือ เครื่องยนต์
โมเดลพื้นฐาน คือ มีนี คูเพอร์ ติดตั้งเครื่องยนต์ DOHC 4 สูบเรียง ความจุ 1,598
ซีซี ให้กำลังสูงสุด 120 แรงม้า ที่ 6,000 รตน. และแรงบิดสูงสุด 16.3 กก.-ม.ที่
4,250 รตน. เป็นเครื่องยนต์ที่ออกแบบขึ้นใหม่ โดยความร่วมมือกับค่าย เปอโฌต์/
ซีตรอง (PEUGEOT/CITROEN) และผลิตที่โรงงานของ บีเอมดับเบิลยู ในอังกฤษ
ประหยัดเชื้อเพลิงกว่าเครื่องยนต์ขนาดเดียวกันในรถรุ่นเดิมถึงร้อยละ 20 แถมยังให้
ไอเสียที่สะอาดกว่าถึง 139 กรัม/กม.
ส่วนโมเดลหัวกะทิ คือ มีนี คูเพอร์ เอส ติดตั้งเครื่องยนต์ฉีดเชื้อเพลิงโดยตรง DOHC
4 สูบเรียง ความจุ 1,598 ซีซี ติดเทอร์โบชาร์เจอร์ ให้กำลังสูงสุด 175 แรงม้า ที่
5,500 รตน. และแรงบิดสูงสุด 24.5 กก.-ม. ที่ 1,600 รตน.
ทั้ง 2 โมเดลที่กล่าวข้างต้น มีระบบเกียร์ให้เลือกใช้ 2 แบบ คือ เกียร์ธรรมดา 6
จังหวะ กับเกียร์อัตโนมัติ 6 จังหวะ ระบบรองรับ หน้าอิสระ แมคเฟอร์สันสตรัท/
สปริงขด/เหล็กกันโคลง หลังอิสระ แกนตัวเซด/แขนยึดตามยาว/สปริงขด พวงมาลัย
แบบฟันเฟืองตัวหนอนพร้อมเพาเวอร์ผ่อนแรง ห้ามล้อ หน้าจานรู/หลังจาน
สมรรถนะความเร็วตามตัวเลขของผู้ผลิต รุ่นหัวกะทิ คือ มีนี คูเพอร์ เอส อัตราเร่ง
0-100 กม./ชม. ทำได้ใน 7.1 วินาที ความเร็วสูงสุด 225 กม./ชม.
โอเพล โคร์ซา
ยอดรถนาครของค่ายสายฟ้า
ดังที่กล่าวมาแล้วว่า เยอรมนีมีผู้ผลิตรถยนต์สำหรับ "ตลาดล่าง" อยู่ 3 ราย คือ ฟอร์ด
(FORD) โอเพล (OPEL) และ โฟล์คสวาเกน (VOLKSWAGEN) หากถือจำนวนรถที่
ขายได้ในแต่ละปีในตลาดเมืองเบียร์เป็นเกณฑ์ตัดสิน ก็จะกล่าวได้ว่า ผู้ผลิตรายใหญ่ที่
สุด คือ โฟล์คสวาเกน รองลงไป โอเพล และรั้งท้ายสุด ฟอร์ด
อย่างในปี 2005 ซึ่งตลาดรถยนต์ในเมืองเบียร์สามารถจำหน่ายรถใหม่ได้รวมทั้งสิ้น
3,342,122 คัน ปรากฏว่า โฟล์คสวาเกน สามารถครอบครองส่วนแบ่งตลาดสูงสุด
ร้อยละ 18.6 ด้วยยอดขายที่สูงถึง 621,978 คัน รองลงไป คือ โอเพล ซึ่งทำยอด
ขาย 347,960 คัน หรือร้อยละ 10.4 และตามมาห่างๆ ด้วย ฟอร์ด ซึ่งทำยอดขาย
ได้เพียง 246,814 คัน หรือร้อยละ 7.4
โอเพล เจ้าของเครื่องหมายการค้า "สายฟ้า" ผลิตรถยนต์นั่งออกจำหน่ายในตลาด
ยุโรป และภูมิภาคอื่นอยู่หลายอนุกรม แต่อนุกรมที่คนรักรถในบ้านเราน่าจะคุ้นเคยกันดี
คือ โอเพล โคร์ซา (OPEL CORSA) รถยนต์นั่งขนาดเล็ก ที่เคยโด่งดัง และขายดิบ
ขายดีในบ้านเราเมื่อ 10 กว่าปีก่อน ยุคเดียวกับรถ ฮอนดา ซีวิค 3 ประตูแฮทช์แบค
ที่ผู้คนแย่งกันสั่งจอง และหาซื้อใบจอง
ค่าย "สายฟ้า" นำรถยนต์นั่งขนาดเล็กอนุกรมนี้ออกจำหน่ายเป็นครั้งแรกเมื่อปี 1982
และเปลี่ยนรุ่นรถอนุกรมนี้ไปแล้วรวม 3 ครั้ง กล่าวได้อย่างเต็มปากเต็มคำว่า โอเพล
โคร์ซา เป็นรถขนาดเล็กที่ได้รับความนิยมเป็นอย่างมากทั้งในยุโรป และในหลายภูมิภาค
จึงไม่น่าประหลาดใจอะไรเลย ที่ค่าย "สายฟ้า" ระบุว่า สามารถจำหน่ายรถอนุกรมนี้
ในตลาดทั่วโลกไปแล้วมากกว่า 9.4 ล้านคัน
สำหรับ โอเพล โคร์ซา ที่เห็นอยู่นี้ เป็นรถรุ่นใหม่ล่าสุด (รุ่นที่ 4) ปรากฏตัวต่อสาย
ตาสาธารณชนเป็นครั้งแรก ที่งานมหกรรมยานยนต์ลอนดอนครั้งล่าสุด เมื่อปลายเดือน
กรกฎาคม 2006 และเพิ่งออกจำหน่ายในยุโรปเมื่อเดือนตุลาคมที่ผ่านมานี้เอง เป็น
รถผลิตใน 2 ประเทศ คือ ที่เมืองซาราโกซา(ZARAGOZA)ในสเปน และที่เมืองไอเซ
นัค (EISENACH) ในเยอรมนี
ในตลาดยุโรป คู่แข่งสำคัญของรถอนุกรมนี้ คือ โฟล์คสวาเกน โพโล (VOLKSWAGEN
POLO) และ ฟอร์ด ฟิเอสตา (FORD FIESTA) รถร่วมสัญชาติ เฟียต ปุนโต (FIAT
PUNTO) ของอิตาลี และ เรอโนลต์ กลีโอ (RENAULT CLIO) กับ เปอโฌต์ 207
(PEUGEOT 207) ของฝรั่งเศส
เช่นเดียวกับรถรุ่นที่ 3 โอเพล โคร์ซา รุ่นใหม่นี้ มีตัวถังให้เลือกใช้ 2 แบบ คือ ตัว
ถัง 3 และ 5 ประตูแฮทช์แบค ทั้ง 2 แบบมีขนาดตัวถังโตเท่ากันในทุกมิติ คือ ยาว
3.999 ม. กว้าง 1.737 ม. สูง 1.737 ม. และมีช่วงฐานล้อยาว 2.511 ม. รูปทรง
องค์เอวของตัวถัง 3 ประตูเน้นลักษณะสปอร์ท ในขณะที่ตัวถัง 5 ประตูเน้นความเป็นรถ
ครอบครัว และวิจารณ์กันในยุโรปว่า ตัวถังทั้ง 2 แบบมีห้องโดยสารที่ออกแบบได้เยี่ยม
มาก อุปกรณ์ และรายละเอียดต่างๆ ออกแบบได้อย่างมีรสนิยม และดูเหมือนว่าก้าวล้ำนำ
หน้ารถระดับเดียวกันยี่ห้ออื่นๆ ไปแล้วหลายก้าว
ตัวถังทั้ง 2 แบบ มีเครื่องยนต์ให้เลือกใช้อย่างจุใจถึง 6 ขนาด ทั้งเครื่องยนต์เบนซิน
และเครื่องยนต์ดีเซล ส่วนระบบเกียร์มีให้เลือก 3 แบบ คือ เกียร์ธรรมดา 5 หรือ 6
จังหวะ และเกียร์อัตโนมัติ 5 จังหวะ
เครื่องยนต์เบนซินซึ่งมีให้เลือกใช้รวม 3 ขนาด ประกอบด้วย เครื่อง DOHC 4 สูบ
เรียง 998 ซีซี ให้กำลังสูงสุด 60 แรงม้า ที่ 5,600 รตน. เครื่อง DOHC 4 สูบ
เรียง 1,229 ซีซี ให้กำลังสูงสุด 80 แรงม้า ที่ 5,600 รตน. และเครื่อง DOHC
4 สูบเรียง 1,364 ซีซี ให้กำลังสูงสุด 90 แรงม้า ที่ 5,600 รตน.
ส่วนเครื่องยนต์ดีเซลซึ่งก็มี 3 ขนาดเช่นกัน ประกอบด้วย เครื่อง DOHC 4 สูบเรียง
1,248 ซีซี ให้กำลังสูงสุด 75 แรงม้า ที่ 4,000 รตน. เครื่อง DOHC 4 สูบเรียง
1,248 ซีซี ให้กำลังสูงสุด 90 แรงม้า ที่ 4,000 รตน. และเครื่อง DOHC 4 สูบ
เรียง 1,686 ซีซี ให้กำลังสูงสุด 125 แรงม้า ที่ 4,000 รตน. โดยที่ทุกขนาดเป็น
เครื่องติดเทอร์โบชาร์เจอร์ และใช้ระบบฉีดเชื้อเพลิงโดยตรง
สนนราคาค่าตัวที่ซื้อขายกันในเมืองเบียร์ อยู่ระหว่าง 11,000-19,500 ยูโร หรือ
เท่ากับประมาณ 0.52-0.92 ล้านบาทไทย
โอเพล อันตารา
รถกิจกรรมกลางแจ้งของค่ายสายฟ้า
ผลงานอีกชิ้นหนึ่งของค่าย "สายฟ้า" ที่นำมาเสนอในเดือนนี้ เป็นรถอนุกรมใหม่ล่าสุด
ซึ่งปรากฏตัวเป็นครั้งแรกที่งานมหกรรมยานยนต์ฟรังค์ฟวร์ทครั้งที่ 61 เมื่อกลางเดือน
กันยายน 2005 ในฐานะรถแนวคิด โอเพล อันตารา จีทีซี (OPEL ANTARA GTC)
และฉายซ้ำครั้งล่าสุดที่งานมหกรรมยานยนต์ปารีส เมื่อปลายเดือนกันยายน 2006 โดย
ที่ครั้งหลังนี้อยู่ในสภาพรถตลาดอย่างสมบูรณ์
เป็น SUV (SPORT UTILITY VEHICLE) หรือ รถกิจกรรมกลางแจ้ง 4x4 ขนาด 5
ที่นั่ง ที่ค่าย "สายฟ้า" บรรจุเข้าสู่สายการผลิต แทนที่รถอนุกรมเดิมซึ่งจำหน่ายในชื่อ
โอเพล ฟรนเตรา (OPEL FRONTERA)
ออกจำหน่ายแล้วในเยอรมนี และอีกหลายประเทศในยุโรปเมื่อเดือนพฤศจิกายนที่ผ่าน
มา โดยมีตัวถังเพียงแบบเดียว เป็นตัวถังทรง 2 กล่อง ยาว 4.575 ม. กว้าง 1.850
ม. สูง 1.704 ม. และมีช่วงฐานล้อยาว 2.707 ม. รูปทรงองค์เอวของตัวถังภายนอก
ออกแบบอย่างเรียบๆ ไม่มีจุดโดดเด่นสะดุดตา และให้ความรู้สึกว่าเป็นรถยนต์นั่งตรวจ
การณ์มากกว่าเป็นรถกิจกรรมกลางแจ้ง คือ สไตล์เดียวกับรถ ฮอนดา ซีอาร์-วี รุ่นใหม่
ที่เพิ่งออกขายในบ้านเรา
ห้องโดยสารซึ่งจุ 5 ที่นั่ง ออกแบบได้ดี และดูจะกว้างขวางกว่ารถขนาดเดียวกันทุกแบบ
ห้องเก็บของท้ายรถจุถึง 370 ลิตร เมื่อเก้าอี้ที่นั่งอยู่ในสภาพปกติ และจะเพิ่มเป็น 865
ลิตร เมื่อพับเบาะหลังซึ่งแบ่งเป็น 2 ส่วนในอัตรา 60:40 ยิ่งเมื่อบรรทุกของสูงจนถึง
หลังคา เนื้อที่บรรทุกจะเพิ่มเป็น 1,420 ลิตรนั่นเทียว สำหรับของชิ้นยาวๆ อย่างรถ
จักรยาน ที่ไม่สามารถบรรจุไว้ในห้องโดยสาร ก็ยังมีที่บรรทุก ซึ่งทำไว้เป็นพิเศษตรง
ท้ายรถ ดังที่เห็นในภาพประกอบ
มีตัวถังแบบเดียว แต่มีเครื่องยนต์ให้เลือกใช้อย่างจุใจถึง 4 ขนาดแรงม้า ทั้งเครื่อง
เบนซิน และเครื่องดีเซล และมีระบบเกียร์ให้เลือกใช้ 2 แบบ คือ เกียร์ธรรมดา 5
จังหวะ กับเกียร์อัตโนมัติ 5 จังหวะ
เครื่องเบนซินซึ่งมีให้เลือก 2 ขนาด ประกอบด้วย เครื่อง DOHC 4 สูบเรียง 2,405
ซีซี ให้กำลังสูงสุด 140 แรงม้า ที่ 5,200 รตน. กับเครื่อง DOHC วี 6 สูบ 3,195
ซีซี ให้กำลังสูงสุด 227 แรงม้า ที่ 6,600 รตน.
ส่วนเครื่องยนต์ดีเซลมีขนาดเดียว เป็นเครื่องฉีดเชื้อเพลิงโดยตรง DOHC 4 สูบเรียง
1,991 ซีซี ติดเทอร์โบชาร์เจอร์ แต่ปรับแต่งเป็น 2 แบบ คือ แบบให้กำลังสูงสุด 127
แรงม้า ที่ 4,000 รตน. กับแบบให้กำลังสูงสุด 150 แรงม้า ที่ 4,000 รตน.
สมรรถนะความเร็วตามตัวเลขของผู้ผลิต รุ่นหัวกะทิ คือ OPEL ANTARA 3.2 V6
อัตราเร่ง 0-100 กม./ชม. ทำได้ใน 8.8 วินาที ความเร็วสูงสุด 203 กม./ชม.
สนนราคาค่าตัวของรถพวงมาลัยซ้ายที่ซื้อขายกันในตลาดเมืองเบียร์ อยู่ระหว่าง
26,900-37,100 ยูโร หรือเท่ากับประมาณ 1.26-1.74 ล้านบาทไทย เมื่อคิดว่า
เงิน 1 ยูโร แลกเปลี่ยนได้ด้วยเงินไทยยุคค่าเงินแข็ง 47 บาทถ้วน
ABOUT THE AUTHOR
ช
ชูศักดิ์ ชมจินดา
ภาพโดย : ชูศักดิ์ ชมจินดา/ชลัทชัย ปภัสร์พงษ์ และบริษัทผู้ผลิตนิตยสาร 399 ฉบับเดือน กุมภาพันธ์ ปี 2550
คอลัมน์ Online : ระเบียงรถใหม่