เล่นท้ายเล่ม
บวชเรียน
เข้าพรรษาก็มีงานบวช นี่คือ วิถีชีวิตของคนไทยผู้นับถือศาสนาพุทธ การบวชเรียนแต่แรกข้าพเจ้าเข้าใจว่า บวชเพื่อทดแทนพระคุณพ่อแม่ ซึ่งการบวชเช่นนี้ ถือเป็นการบวชตามประเพณี พ่อแม่จะได้บุญจากการบวชของลูกก็ต้องคอยนาทีสำคัญ คือ เกาะชายผ้าเหลืองของลูกตอนถูกอุ้มเข้าโบสถ์
ข้าพเจ้าเชื่อเช่นนั้นมาหลายปี จนได้พบพระที่วัดสร้อยฟ้า สะพานพระราม 7 ท่านได้กรุณาแก้ไขความเชื่อของข้าพเจ้าถึงคำที่ว่า "เกาะชายผ้าเหลืองเข้าโบสถ์" นั้น มิได้มีความหมายตามความเชื่อที่ข้าพเจ้าเชื่อมาแต่เล็ก
ท่านสนทนาธรรมบทนี้ว่า ความหมายก็คือ พ่อแม่จะได้อานิสงส์จากการบวชเรียนของลูก จากวัตรปฏิบัติของลูกในการบวชเป็นพระแล้ว ได้แก้ไขชีวิตที่ผิดพลาดของตนเองที่ผ่านมา เนื่องจากมีดวงตาเห็นธรรมด้วยเพราะลูกบวชเป็นพระ
ไม่ใช่ลำพังเกาะชายผ้าเหลืองเข้าโบสถ์ ก็ได้เนื้อนาบุญอักโข แต่เป็นเพราะลูกได้ห่มผ้าสีเหลืองแล้วช่วยให้พ่อแม่หูตาสว่างขึ้น แก้ไขชีวิตตนเองให้ดีขึ้นกว่าเดิม
และการบวชเรียนในวันนี้ ก็มิได้มีเพียงแค่บวชตามประเพณี เพราะมีคำกล่าวเป็นสัจธรรมว่าด้วยประเภทการบวชเรียนไว้ดังนี้
"บวชตามประเพณี บวชหนีทหาร บวชผลาญข้าวสุก (วัด) บวชสนุกตามเพื่อน"
ถึงอย่างไรก็ตาม บวชเป็นพระก็ยังมี 2 แนวทางให้เลือก จะเป็นพระในสายศึกษา หรือในสายปฏิบัติ เนื่องจากวัดในพุทธศาสนามี 2 ประเภท
วัดแบบคามวาสี คือ วัดเอื้ออาทรต่อคนเมือง
วัดแบบอรัญวาสี เป็นวัดป่า อยู่กับธรรมชาติ ไฟฟ้า ประปา วิทยุ หรือโทรทัศน์มีไม่ได้
การบวชเพื่อเข้าวัดแบบคามวาสี เป็นการบวชเพื่อศึกษาพระธรรมวินัย พระไตรปิฎก เป็นพระคันถธุระแบบคามวาสี
การบวชเพื่อเข้าวัดแบบอรัญวาสี เป็นการบวชเพื่อปฏิบัติเรียกว่า เป็นพระฝ่ายวิปัสสนาธุระอยู่ตามป่าตามเขา อยู่กับธรรมชาติล้วนๆ เป็นพระแบบอรัญวาสี
เท่าที่ข้าพเจ้าเห็นในพุทธจักรของเรานี้ พระคันถธุระแบบคามวาสีที่ยิ่งใหญ่สุดก็เป็นสมเด็จพระพุฒาจารย์ (โต พรหมรังสี) และพระวิปัสสนาธุระแบบอรัญวาสีที่ยิ่งใหญ่โดยแท้ ก็ไม่พ้น เจ้าประคุณหลวงปู่มั่น ภูริทัตโต
เจ้าประคุณสมเด็จโตนั้น เมื่อครั้งยังเยาว์วัยได้อยู่ และศึกษาอักขรสมัยกับสำนักเจ้าคุณอรัญญิก วัดอินทรวิหาร พระนคร จนถึงอายุ 12 ปี จึงได้บวชเป็นสามเณร โดยมีเจ้าคุณพระบวรวิริยเถร วัดสังเวชวิศยาราม (ขณะนั้นเรียก วัดบางลำพูบน) เป็นพระอุปัชฌาย์ ต่อมาจึงได้ย้ายไปอยู่วัดระฆังโฆสิตาราม ฝั่งธนบุรี เพื่อศึกษาพระปริยัติธรรม
เจ้าคุณอรัญญิก เป็นชาวเวียงจันทน์ พระผู้ทรงคุณทางวิปัสสนาธุระ พระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย รัชกาลที่ 2 โปรดให้อาราธนามารับพระราชทานบริขารอันควรแก่สมณะฝ่ายอรัญวาสี สันนิษฐานว่าเดิมชื่อด้วง หลังการค้นพบชื่อ "เจ้าคุณขรัว ด" ส่วนคำว่า "อรัญญิก" หมายถึง การชอบอยู่ตามป่าตามเขา เนื่องจากท่านไปธุดงค์เป็นประจำทุกปี
ส่วนเจ้าคุณพระบวรวิริยเถร นามเดิมชื่อ อยู่ เป็นพระผู้ทรงเกียรติคุณทางวิปัสสนาธุระมีวาจาประสิทธิจนคนทั้งหลายเกรงกลัววาจาของท่านยิ่ง มีความคุ้นเคยกับเจ้าคุณอรัญญิก ถึงมรณภาพไปเมื่ออายุได้ 93 ปี
การศึกษาพระปริยัติธรรมของเจ้าประคุณสมเด็จโต มีความในหนังสือประวัติกล่าวว่าท่านได้ศึกษาในสำนักสมเด็จพระพุทธโฆษาจารย์ (นาค) วัดระฆัง ฯ เป็นพื้น และไปศึกษาในสำนักสมเด็จพระสังฆราช (สุก) วัดมหาธาตุ ปรากฏว่าแตกฉานและได้รับยกย่องให้เป็นพระผู้เชี่ยวชาญชำนาญพระไตรปิฎกเป็นอย่างยิ่ง เป็นพระองค์หนึ่งในสังฆมณฑลที่ได้รับการเชิดชูเกียรตินิยมว่า เป็นพระ "หนังสือดี"
คุณธรรมที่ยกย่องว่า "หนังสือดี" นั้น ต้องบริบูรณ์ด้วยองค์ 2 คือ รู้ภาษาบาลีดีจนสามารถอ่านพระไตรปิฎกได้ถ่องแท้ กับต้องเป็นผู้ได้อ่านพระไตรปิฎกหมดทุกคัมภีร์
เจ้าประคุณหลวงปู่มั่น ภูริทัตโต เกิดในตระกูลแก่นแก้ว มีนายคำด้วงเป็นบิดา และนางจันเป็นมารดา เมื่ออายุได้ 15 ปี ก็บวชเป็นสามเณรอยู่สำนักวัดบ้านคำบง บวชได้ 2 ปี ก็ต้องสึกตามคำขอร้องของบิดา
เมื่ออายุได้ 22 ปี เกิดศรัทธาแรงกล้าอยากบวชเป็นพระ ได้ขออนุญาตบิดามารดาอีกครั้ง ซึ่งไม่ได้รับการปฏิเสธแต่อย่างใด จึงได้อุปสมบทเป็นพระที่วัดเลียบ ในตัวเมืองอุบล ฯมีพระอริยกวีเป็นพระอุปัชฌาย์ และพระครูสีทา เป็นพระกรรมวาจาจารย์ และพระครูประจักษ์อุบลคุณ เป็นพระอนุศาสนาจารย์ ได้นามฉายาว่า "ภูริทัตโต"
บวชแล้วได้อยู่ในสำนักวิปัสสนากับ พระอาจารย์เสาร์ กันตสีโล วัดเลียบ เมืองอุบล ฯ
ขณะเจ้าประคุณหลวงปู่มั่นพำนักอยู่สำนักป่าหนองผือ ตำบลนาใน อำเภอพรรณานิคมจังหวัดสกลนคร พระคุณเจ้าหลวงพ่อชา สุภทฺโท ได้เข้าไปกราบนมัสการและปรารภถึงนิกายทั้ง 2 ของพระพุทธศาสนา คือ ธรรมยุติ และมหานิกาย ซึ่งเจ้าประคุณหลวงปู่มั่นก็ว่า "การประพฤติปฏิบัตินั้น หากถือเอาพระธรรมวินัยเป็นหลักแล้ว ก็ไม่ต้องสงสัยในนิกายทั้งสอง"
และในกาลครั้งนั้น เจ้าประคุณหลวงปู่มั่นได้เมตตาตอบปัญหาบางประการเกี่ยวกับการลงมือกระทำของพระผู้ปฏิบัติใหม่ หลังจากที่หลวงพ่อชาได้ปรารภว่า
"กระผมยังมีข้อสงสัยในการปฏิบัติ เมื่อเอาหนังสือวิสุทธิมรรค (ปกรณ์พิเศษอธิบายในเรื่องศีล สมาธิ ปัญญา) ขึ้นมาอ่าน มีความรู้สึกว่า มันจะไปไม่ไหวเสียแล้ว เนื้อความในสีลานิทฺเทส สมาธินิทฺเทส ปัญญานิทฺเทสนั้น ดูไม่ใช่วิสัยของมนุษย์จะทำได้ กระผมมองเห็นว่ามนุษย์ทั้งโลกนี้มันจะทำตามไม่ได้ครับ มันยาก มันลำบาก มันเหลือวิสัยจริงๆ ครับ"
เจ้าประคุณหลวงปู่มั่นก็ตอบว่า
"ของนี้มันยากก็จริงอยู่ ถ้าเราจะกำหนดทุกๆ สิกขาบทในสีลานิทฺเทสนั้นน่ะ มันก็ลำบากแต่ความจริงแล้ว สีลานิทฺเทส คือ สิ่งที่บรรยายออกมาจากใจของคนเรานั่นเอง ถ้าหากว่าเราอบรมจิตใจของเราให้มีความละอาย มีความกลัวต่อความผิดทั้งหมด เราก็จะเป็นคนที่สำรวมสังวรระวัง เพราะมีความละอาย และเกรงกลัวต่อความผิด
"เมื่อเป็นอย่างนั้น ก็จะเป็นเหตุให้เราเป็นคนมักน้อย และสติก็จะกล้าขึ้น จะยืน เดิน นั่ง นอนอยู่ที่ไหน มันจะตั้งอกตั้งใจมีสติเต็มเปี่ยมเสมอ ความระวังมันก็เกิดขึ้น"
"อะไรทั้งหมดที่ท่านศึกษาในหนังสือน่ะ มันขึ้นตรงต่อจิตทั้งนั้น ถ้าท่านยังไม่อบรมจิตของท่านให้มีความรู้ มีความสะอาดแล้ว ท่านก็จะมีข้อสงสัยอยู่เรื่อยไป"
"ดังนั้น ท่านจงรวมธรรมะคำสอนของพระพุทธเจ้าไว้ที่จิต สำรวมอยู่ที่จิต อะไรที่เกิดขึ้นมาถ้าสงสัย ถ้ายังไม่รู้แจ้งแล้ว ก็อย่าไปทำ อย่าไปพูด อย่าไปละเมิดมัน..."
เกี่ยวกับเจ้าประคุณหลวงปู่มั่นนี้ ยังปรากฏว่าพระคุณเจ้าหลวงตามหาบัว ญาณสมฺปนฺโนวัดป่าบ้านตาด เมืองอุดร ฯ ได้บันทึกประวัติเจ้าประคุณหลวงปู่มั่นเกี่ยวกับธุดงควัตร 13ประการอันเป็นแนวทางยึดปฏิบัติของพระสายวิปัสสนาธุระมาตราบเท่าทุกวันนี้ คือ 1. การสมาทานผ้าบังสุกุล 2. การสมาทานธุดงค์ด้วยการถือใช้ผ้าเพียง 3 ผืน 3. การสมาทานบิณฑบาตเป็นวัตร 4. สมาทานจาริกังคะ คือ การเที่ยวไปบิณฑบาตตามลำดับเรือน ละความละโมบในโภชนะ 5. การสมาทานถือธุดงค์การฉันอาสนะเดียวเป็นวัตร 6. ข้อปฏิบัติว่าด้วยการฉันเฉพาะอาหารในบาตเป็นวัตร 7. ข้อปฏิบัติในการไม่รับภัตรที่นำมาส่งทีหลัง 8. การอยู่ป่าเป็นวัตร 9. การอยู่รุกขมูลโคนไม้เป็นวัตร 10. ปฏิบัติด้วยการถืออยู่กลางแจ้ง 11. การสมาทานอยู่ในป่าช้า 12. ได้สิ่งใด พึงยินดีในสิ่งนั้น และ 13. การนั่ง ยืน เดิน ไม่เอนกายลงนอน ถึงหลับ ก็เป็นไปใน 3 อิริยาบถ เป็นต้น
นี่คือ บางส่วนบางตอนของ เจ้าประคุณหลวงปู่มั่น ภูริทัตโต พระสายวิปัสสนาธุระผู้ยิ่งใหญ่ทางพระพุทธศาสนาโดยแท้
ABOUT THE AUTHOR
บ
บรรเจิด ทวี
นิตยสาร 399 ฉบับเดือน มิถุนายน ปี 2550
คอลัมน์ Online : เล่นท้ายเล่ม