ระเบียงรถใหม่
เมร์เซเดส-เบนซ์ ซี-คลาสส์/มาเซราตี กรัน ตูริสโม
เมร์เซเดส-เบนซ์ ซี-คลาสส์
รถหรูรุ่นเยาว์จากเมืองเบียร์
คอลัมน์ "ระเบียงรถใหม่" หายหน้าหายตาไป 4 เดือนเต็มๆ เพราะต้องสละพื้นที่ให้กับรายงานข่าวมหกรรมยานยนต์ระดับ "อินเตอร์" รวม 2 รายการ คือ มหกรรมยานยนต์ดีทรอยท์ ในสหรัฐอเมริกาซึ่งมีขึ้นตอนต้นเดือนมกราคม กับ มหกรรมยานยนต์เจนีวา ในสวิทเซอร์แลนด์ ซึ่งมีขึ้นตอนต้นเดือนมีนาคม
กลับมาพบกันอีกครั้งในเดือนนี้ พร้อมกับรถระดับหรูของค่ายยุโรปรวม 6 ชุด มีทั้งรถพันธุ์เยอรมันรถพันธุ์อังกฤษ และรถจากเมืองมะกะโรนี โดยเริ่มกันที่ เมร์เซเดส-เบนซ์ ซี-คลาสส์ (MERCEDES-BENZ C-CLASS) รถหรูรุ่นเยาว์จากเมืองเบียร์ ซึ่งเปิดตัวต่อสายตาสาธารณชนเป็นครั้งแรก ที่งานมหกรรมยานยนต์เจนีวาครั้งล่าสุดนี้
เมร์เซเดส-เบนซ์ ซี-คลาสส์ นับเป็นรถขายดีที่สุดของค่าย "ดาวสามแฉก" ค่ายนี้นำรถ เมร์เซเดส-เบนซ์ซี-คลาสส์ ออกจำหน่ายในตลาดเป็นครั้งแรกเมื่อเดือนเมษายน 1993 และ 7 ปีหลังจากนั้น คือ เมื่อเดือนมีนาคม 2000 ก็ปลดรถรุ่นแรกออกจากสายการผลิต แล้วแทนที่ด้วยรถรุ่นที่ 2 ซึ่งมีตัวถังให้เลือกใช้รวม 3 แบบ คือ ตัวถัง 4 ประตูซาลูน ตัวถัง 5 ประตูตรวจการณ์ และตัวถัง 2 ประตูคูเป ปรากฏว่าในช่วงเวลา 7 ปี ที่อยู่ในสายการผลิต ค่าย "ดาวสามแฉก" สามารถขายรถ เมร์เซเดส-เบนซ์ ซี-คลาสส์ รุ่นที่ 2 ในตลาดทั่วโลกได้ถึง 2.0 ล้านคัน โดยที่ร้อยละ 70 หรือประมาณ 1.4 ล้านคัน เป็นยอดขายของรถตัวถัง 4 ประตูซาลูน
สำหรับรถรุ่นล่าสุดซึ่งนับได้ว่าเป็นรถรุ่นที่ 3 และมีรหัสประจำรุ่นว่า W204 นี้ ในระยะแรก จะมีตัวถังให้เลือกใช้เพียงแบบเดียว เป็นตัวถัง 4 ประตูซาลูน ยาว 4.581 ม. กว้าง 1.770 ม. สูง 1.448 ม. และมีช่วงฐานล้อยาว 2.760 ม. ซึ่งเมื่อเทียบกับรถรุ่นเดิมซึ่งถูกปลดจากสายการผลิตไปแล้ว ก็จะพบว่าขนาดความยาวเพิ่มขึ้น 5.5 ซม. ขนาดความกว้างเพิ่มขึ้น 4.2 ซม. ขนาดความสูงเพิ่มขึ้น 1.9 ซม. และช่วงฐานล้อยาวขึ้น 4.5 ซม. ขนาดตัวถังที่โตขึ้นเล็กน้อยในทุกมิตินี้ ส่งผลให้มีน้ำหนักตัวเปล่าเพิ่มขึ้นเล็กน้อย คือ จาก 1,485-1,630 กก. ในรถรุ่นก่อน เพิ่มขึ้นเป็น 1,490-1,700 กก. ในรถรุ่นใหม่นี้
เป็นรถหรูขนาดเล็กที่เพียบไปด้วยอุปกรณ์ไฮเทควิลิศมาหรา อย่างที่เรียกกันในภาษาอังกฤษว่า STATE-OF-THE-ART TECHNOLOGY ยกตัวอย่าง ให้ดู 2 รายการ ก็คือ ระบบ AGILITY CONTROL ซึ่งช่วยปรับความอ่อนความแข็งของระบบรองรับ (ระบบกันสะเทือน) ให้สอดรับกับสภาพของการขับขี่ รวมทั้งเพื่อให้เกิดความปลอดภัยสูงสุด กับระบบ INTELLIGENT LIGHT SYSTEM ที่ช่วยปรับเปลี่ยนลักษณะการทำงานของชุดไฟหน้า ซึ่งใช้ดวงโคมแบบ BI-XENON ได้ถึง 5 ลักษณะ ตัวอย่างเช่น เมื่อใช้ความเร็วสูงกว่า 90 กม./ชม. ไฟหน้าจะทำงานในลักษณะ MOTORWAY MODE คือ ส่องแสงไกลกว่าปกติประมาณร้อยละ 60 เมื่อรถเลี้ยวโค้งด้วยความเร็วต่ำกว่า 40 กม./ชม. ไฟหน้าจะทำงานในลักษณะ CORNERING MODE คือ ส่องแสงไปทางด้านข้างไกล 30 ม. และทำมุม 65 องศา
ค่าย "ดาวสามแฉก" แบ่งการตกแต่งและอุปกรณ์ของรถ เมร์เซเดส-เบนซ์ ซี-คลาสส์ รุ่นใหม่นี้เป็น 3 ระดับ กำกับด้วยรหัส คลาสสิค (CLASSIC) เอเลแกนศ์ (ELEGANCE) และ อวองการ์ด (AVANTGARDE) เมื่อมองจากภายนอก ความแตกต่างประการสำคัญของการตกแต่ง 3 แบบนี้ก็คือ แบบ คลาสสิค และ เอเลแกนศ์ จะมีแผงกระจังหน้าแบบ 5 ซี่ และติดตั้งโลโก "ดาวสามแฉก" บนหน้าหม้อ ส่วนแบบ อวองการ์ด จะมีแผงกระจังแบบ 3 ซี่ และติดตั้งโลโก "ดาวสามแฉก" ซึ่งมีขนาดโตกว่าไว้ในแผงกระจังหน้านี้ด้วย ด้วยเหตุนี้ ค่าย "ดาวสามแฉก" จึงประกาศว่า เมร์เซเดส-เบนซ์ ซี-คลาสส์ รุ่นนี้ นับเป็นรถติดตรา "ดาวสามแฉก" แบบแรกในประวัติศาสตร์ที่มีหน้ารถให้เลือกใช้ 2 แบบ
แยกโมเดลให้เลือกใช้ตามขนาดเครื่องยนต์รวมแปดโมเดล รายละเอียดต่างๆ ของเครื่องยนต์และสมรรถนะความเร็ว โปรดดูได้ในตาราง ส่วนระบบเกียร์มีให้เลือกใช้ถึงสามแบบ คือเกียร์ธรรมดา 6 จังหวะ เกียร์อัตโนมัติ 5 จังหวะ และเกียร์อัตโนมัติ 7 จังหวะ รถพวงมาลัยขวา เริ่มจำหน่ายแล้วในตลาดเมืองผู้ดี เมื่อเดือนมิถุนายนที่ผ่านมา
[table]
รหัสโมเดล,เครื่องยนต์,ความจุ,แรงม้า,ความเร็วสูงสุด(กม./ชม.)
,,(ซีซี),สูงสุด,เกียร์ธรรมดา/เกียร์อัตโนมัติ
C 180 KOM,ซูเพอร์ชาร์จ DOHC 4 สูบเรียง ,1796,156,228/223
C 200 KOM,ซูเพอร์ชาร์จ DOHC 4 สูบเรียง,1796,184,239/235
C 230,DOHC วี 6 สูบ,2496,204,247/238
C 280,DOHC วี 6 สูบ,2996,231,250/250
C 350,DOHC วี 6 สูบ,3498,272,- /250
C 200 CDI,เทอร์โบดีเซลฉีดตรง DOHC 4 สูบเรียง,2148,136,215/213
C 220 CDI,เทอร์โบดีเซลฉีดตรง DOHC 4 สูบเรียง,2148,170,229/228
C 320 CDI,เทอร์โบดีเซลฉีดตรง DOHC วี 6 สูบ,2987,224,250/250
[/table]
มายบัค 62 เอส
สุดยอดรถหรูจากเมืองเบียร์
ตลาดรถยนต์นั่งในเยอรมนีมีรถยนต์ให้เลือกใช้หลาย 10 ยี่ห้อ และถ้านับจำนวนโมเดลก็จะได้ยอดรวมมากกว่า 2 พันโมเดล อย่างไรก็ตาม หากตั้งคำถามว่า รถยนต์นั่งที่มีสนนราคาค่าตัวแพงที่สุด คือ รถอะไร คำตอบจะมีอยู่เพียงหนึ่งเดียวเท่านั้น ไม่ใช่รถ โรลล์ส-รอยศ์ (ROLLS-ROYCE) อย่างที่บางท่านอาจตอบคำถามนี้ในใจ หากแต่เป็น มายบัค 62 เอส (MAYBACH 62 S) รถที่มีตัวถังให้เลือกใช้เพียง 2 สี คือ สีดำ กับสีเงิน แต่ตั้งค่าตัวไว้สูงลิบลิ่วถึง 518,000 ยูโร หรือเท่ากับประมาณ 24 ล้านบาท
เมื่อเอ่ยชื่อ มายบัค (MAYBACH) คนส่วนใหญ่จะขมวดคิ้ว จะมีก็แต่คนรักรถขนานแท้จริงๆ เท่านั้นที่ทราบดีว่า เป็นชื่อเสียงเรียงนามของรถพันธุ์เยอรมัน ที่เคยโด่งดังและเป็นที่รู้จักกันดีในช่วงทศวรรษหลังปี 1920 และ 1930 เป็นรถยนต์นั่งระดับอัครฐานสไตล์เดียวกับรถ โรลล์ส-รอยศ์ (ROLLS-ROYCE) ของเกาะอังกฤษ และรถอีกหลายยี่ห้อที่สูญพันธุ์ไปแล้วในปัจจุบัน มายบัค เองก็เกือบจะสูญพันธุ์ไปแล้วเช่นกัน จนกระทั่งเมื่อ 6-7 ปีที่ผ่านมานี้เอง ชื่อนี้ก็กลายเป็นข่าวขึ้นมาอีกครั้งหนึ่ง เมื่อยักษ์ใหญ่ของเมืองเบียร์ คือ เมร์เซเดส-เบนซ์ ประกาศว่าจะผลิตรถชื่อนี้ออกขายอีกครั้งหนึ่ง
ไม่มีการประกาศยืนยันอย่างเป็นทางการ แต่ก็เป็นที่รู้กันในวงการรถยนต์ของยุโรปว่า ที่จำเป็นต้องขุดชื่อ มายบัค ขึ้นมาจากหลุม ก็เพื่อไม่ให้น้อยหน้าเพื่อนร่วมสัญชาติอีกสองค่าย คือ บีเอมดับเบิลยู (BMW) ซึ่งปัจจุบันมี โรลล์ส-รอยศ์ (ROLLS-ROYCE) อยู่ในเครือข่าย และ โฟล์คสวาเกน (VOLKSWAGEN) ซึ่งมีทั้ง เบนท์ลีย์ (BENTLEY) และ บูกัตตี (BUGATTI)
เมื่อเริ่มจำหน่ายตอนกลางปี 2002 มายบัค เสนอรถให้ลูกค้าเลือกใช้เพียงสองโมเดล คือ มายบัค 57 (MAYBACH 57) กับ มายบัค 62 (MAYBACH 62) รถ 2 โมเดลนี้หน้าตาเหมือนกัน ใช้เครื่องยนต์ขนาดเดียวกัน คือ เครื่องยนต์เทอร์โบ SOHC วี 12 สูบ 5,513 ซีซี 550 แรงม้า ซึ่งพัฒนามาจากเครื่องยนต์ที่ใช้อยู่ในรถ เมร์เซเดส-เบนซ์ เอส 600 (MERCEDES-BENZ S600) แต่มีตัวถังสั้นยาวกว่ากัน 43.7 ซม. คือ โมเดลแรกมีตัวถังยาว 5.728 ม. ส่วนโมเดลหลังยาว 6.165 ม. (ขนาดความยาวของตัวถังนี่เอง คือ ที่มาของรหัสโมเดล 57 และ 62)
อย่างไรก็ตาม ความแตกต่างประการสำคัญของรถ 2 โมเดลนี้อยู่ที่ว่า มายบัค 57 เป็นรถที่ออกแบบให้เจ้าของรถเป็นผู้ขับรถด้วยตัวเอง อย่างที่เรียกกันในภาษาอังกฤษว่า OWNER-DRIVER แต่ มายบัค 62 เป็นรถที่ออกแบบให้เจ้าของรถนั่งบนเบาะหลังและมีคนขับรถมืออาชีพเป็นผู้ขับรถให้ เป็นรถสุดหรูอย่างที่เรียกกันในภาษาอังกฤษว่า CHAUFFEUR-DRIVEN SALOON
เกือบ 3 ปีหลังจากนั้น คือ ในเดือนมีนาคม 2005 รถโมเดลที่ 3 ของค่าย มายบัค จึงออกจำหน่ายในตลาด คือ มายบัค 57 เอส (MAYBACH 57 S) เป็นรถที่พัฒนาจากรถโมเดลแรก คือ มายบัค 57 มีการปรับปรุงรายละเอียดมากมายทั้งภายนอกและภายใน แต่การเปลี่ยนแปลงสำคัญที่สุด คือ การเปลี่ยนเครื่องยนต์เป็นเครื่องเทอร์โบ SOHC วี 12 สูบ 5,980 ซีซี ที่ให้กำลังสูงสะอกสะใจถึง 612 แรงม้า
และ 2 ปีหลังจากนั้น คือ ที่งานมหกรรมยานยนต์ดีทรอยท์ในสหรัฐอเมริกา เมื่อเดือนมกราคมที่ผ่านมานี้เอง รถโมเดลที่ 4 ของค่ายนี้ก็ปรากฏโฉม คือ มายบัค 62 เอส (MAYBACH 62 S) ที่เห็นอยู่นี้
เป็นรถโมเดลใหม่ซึ่งพัฒนาจากรถโมเดลดั้งเดิม คือ มายบัค 62 (MAYBACH 62) โดยมีการปรับปรุงเปลี่ยนแปลงรายละเอียดในหลายๆ จุด ทั้งภายนอกและภายในตัวถัง ความเปลี่ยนแปลงภายนอกที่สังเกตเห็นได้ง่ายที่สุด คือ แผงกระจังหน้าและกระทะล้อขนาดโต 20 นิ้ว ที่ออกแบบขึ้นใหม่ทั้งหมด
อย่างไรก็ตาม การเปลี่ยนแปลงที่เป็นสาระสำคัญที่สุดอยู่ที่เครื่องยนต์ โดยเปลี่ยนจากเครื่องเทอร์โบ SOHC วี 12 สูบ 5,513 ซีซี 550 แรงม้า เป็นเครื่องบลอคเดียวกับที่ใช้ในรถ มายบัค 57 เอส คือ เครื่องเทอร์โบ SOHC วี 12 สูบ 5,980 ซีซี ให้กำลังสูงสุด 612 แรงม้า ที่ 4,800-5,100 รตน.และแรงบิดสูงสุด 102 กก.-ม.ที่ 2,000-4,000 รตน. ส่วนระบบเกียร์เพื่อส่งทอดกำลังสู่ล้อคู่หลัง ยังคงเป็นเกียร์อัตโนมัติ 5 จังหวะ เช่นเดิม
สมรรถนะความเร็วตามตัวเลขของผู้ผลิต ทำได้ดีสมค่าตัวที่แพงระยับ อัตราเร่ง 0-100 กม./ชม. ทำได้ใน 5.2 วินาที ส่วนความเร็วสูงสุดจำกัดไว้ที่ 250 กม./ชม.
โรลล์ส-รอยศ์ แฟนทอม
รถเปิดประทุนค่าตัวแพงที่สุดในโลก
ปี 1998 บีเอมดับเบิลยู (BMW) แห่งเยอรมนี ควักเงินก้อนโตซื้อกิจการของผู้ผลิตรถหรูเมืองผู้ดีซึ่งรู้จักกันในชื่อ โรลล์ส-รอยศ์ (ROLLS-ROYCE) ไว้ทั้งหมด และจากนั้นจนถึงสิ้นปี 2006 ปรากฏว่า มีรถใหม่เพียงแบบเดียวเท่านั้นที่หลุดจากสายการผลิตของผู้ผลิตรถหรูยี่ห้อนี้ คือ โรลล์ส-รอยศ์ แฟนทอม (ROLLS-ROYCE PHANTOM) รถ 4 ประตูซาลูนสุดหรูค่าตัว 217,000 ปอนด์ หรือเท่ากับประมาณ 15 ล้านบาทไทย
ปี 2004 ผู้ผลิตรถหรูรายนี้ นำ โรลล์ส-รอยศ์ 100 อีเอกซ์ (ROLLS-ROYCE 100 EX) รถแนวคิดในรูปลักษณ์ของรถเปิดประทุนออกแสดงที่งานมหกรรมยานยนต์เจนีวาครั้งที่ 74 ในสวิทเซอร์แลนด์ และประกาศว่า เป็นรถที่ทำขึ้นเพื่อเฉลิมฉลองวาระครบรอบ 100 ปี ผู้คนเห็นแล้วบอกว่า น่าจะทำขายไม่ใช่แค่ทำโชว์ แต่ต้องรอจนถึงฤดูใบไม้ร่วงปี 2005 นั่นแหละ โรลล์ส-รอยศ์ จึงประกาศยืนยันอย่างเป็นทางการว่าจะผลิตรถเปิดประทุนออกขาย และต้องรอจนกว่าจะถึงปี 2007 ผู้คนก็เฝ้ารอให้ถึงเวลานั้น
ที่งานมหกรรมยานยนต์ดีทรอยท์ครั้งล่าสุด เมื่อเดือนมกราคมที่ผ่านมานี้เอง การรอคอยที่ว่านี้ก็สิ้นสุดลง เมื่อ โรลล์ส-รอยศ์ นำรถเปิดประทุน ซึ่งเป็นรถใหม่แบบที่ 2 ในยุคที่อยู่ในร่มเงาของ บีเอมดับเบิลยูออกแสดงต่อสายตาสาธารณชนเป็นครั้งแรก ติดป้ายชื่อว่า โรลล์ส-รอยศ์ แฟนทอม ดรอพเฮด คูเป (ROLLS-ROYCE PHANTOM DROPHEAD COUPE) พร้อมประกาศว่า รถคันแรกจะส่งถึงมือลูกค้าตอนกลางปี และขณะนั้นมีผู้สั่งจองแล้ว 300 คัน ทั้งๆ ที่ตั้งค่าตัวไว้สูงลิบถึง 260,000 ปอนด์ หรือเท่ากับประมาณ 18 ล้านบาทไทย
เป็นรถที่ออกแบบและพัฒนา โดยทีมงานภายใต้การนำของ เอียน คาเมรอน (IAN CAMERON) นักออกแบบชาวอังกฤษ ตัวถังยาว 5.609 ม. กว้าง 1.987 ม. สูง 1.581 ม. และมีค่าสัมประสิทธิ์แรงต้านอากาศ 0.37 ออกแบบโดยใช้ตัวถัง 4 ประตูซาลูนของรถ โรลล์ส-รอยศ์ แฟนทอม เป็นพื้นฐาน แต่ชิ้นส่วนตัวถังภายนอกทุกชิ้นออกแบบขึ้นใหม่ทั้งหมด โดยใช้โครงตัวถังซึ่งทำจากอลูมิเนียมล้วนและทำด้วยมือ ส่วนประทุนหลังคาซึ่งมีขนาดโตกว่ารถเปิดประทุนทุกแบบที่มีจำหน่ายในขณะนี้ ทำจากผ้าฟาบริค 5 ชั้น แทนที่จะเป็นประทุนแข็งตามสมัยนิยม ด้วยเหตุผลที่ว่า "ไม่มีอะไรอีกแล้วที่จะโรแมนทิคเหมือนขับรถเปิดประทุนยามราตรีขณะฝนตก แล้วฟังเสียงเม็ดฝนตกกระทบหลังคาผ้าใบ"
เป็นรถขับล้อหลัง ด้วยพลังจากเครื่องยนต์ฉีดเชื้อเพลิงโดยตรง DOHC วี 12 สูบ 48 วาล์ว 6,749 ซีซี 460 แรงม้า ถ่ายทอดกำลังผ่านระบบเกียร์อัตโนมัติ 6 จังหวะ สมรรถนะความเร็วตามตัวเลขของผู้ผลิตอัตราเร่ง 0-100 กม./ชม. ทำได้ใน 5.9 วินาที ส่วนความเร็วสูงสุดจำกัดไว้ที่ 240 กม./ชม.
เบนท์ลีย์ บรุคแลนด์ส
รถคูเปรุ่นเฮฟวีเวทค่าตัวสุดโหด
ที่งานมหกรรมยานยนต์เจนีวาครั้งที่ 77 เมื่อเดือนมีนาคมที่ผ่านมา ในบูธพื้นที่ไม่กว้างขวางนักของค่ายเบนท์ลีย์ (BENTLEY) ผู้ผลิตรถหรูของเมืองผู้ดี ซึ่งปัจจุบันกลายสภาพเป็นผู้ผลิตรถยนต์ในเครือข่ายของ กลุ่มโฟล์คสวาเกน (VOLKSWAGEN GROUP) แห่งเยอรมนี มีรถใหม่จอดอวดตัวอยู่ 2-3 คัน ปรากฏว่าคันที่ได้รับความสนใจจากผู้ชมงานมากที่สุด คือ เบนท์ลีย์ บรุคแลนด์ส (BENTLEY BROOKLANDS) รถใหม่ในชื่อเก่า ซึ่งเพิ่งปรากฏตัวต่อสายตาสาธารณชนเป็นครั้งแรกที่งานนี้
ก่อนหน้านี้ค่าย เบนท์ลีย์ เคยผลิตรถออกจำหน่ายโดยใช้ชื่อ เบนท์ลีย์ บรุคแลนด์ มาก่อนแล้ว รถรุ่นที่ว่านี้ เป็นรถตัวถัง 4 ประตูซาลูน ติดตั้งเครื่องยนต์เทอร์โบโอเวอร์เฮดวาล์ว (OHV) วี 8 สูบ 6,750 ซีซี 248 แรงม้า เริ่มจำหน่ายในอังกฤษเมื่อปลายปี 1992 ด้วยค่าตัวระดับ 4.0 ล้านบาทไทย
ส่วน เบนท์ลีย์ บรุคแลนด์ส ที่เห็นอยู่นี้ เป็นรถแบบใหม่ และเป็นรถตัวถัง 2 ประตูคูเปที่พัฒนามาจากรถ เบนท์ลีย์ อาร์นาจ (BENTLEY ARNAGE) ซึ่งเป็นรถ 4 ประตูซาลูน เบนท์ลีย์ ประกาศยืนยันว่า จะจำกัดจำนวนผลิตของรถแบบนี้ไว้แค่ 550 คัน และรถคันแรกจะส่งถึงมือลูกค้าภายในไตรมาส 2 ของปี 2008 ส่วนสนนราคาค่าตัว ยังไม่มีการประกาศอย่างเป็นทางการ แต่คาดหมายกันว่า น่าจะอยู่ที่ระดับ 250,000 ปอนด์ หรือเท่ากับประมาณ 17 ล้านบาทไทย
เป็นรถคูเประดับสุดหรูขับเคลื่อนล้อหลัง ด้วยพลังจากเครื่องยนต์โอเวอร์เฮดวาล์ว วี 8 สูบ 6,750 ซีซี ซึ่งให้กำลังสูงที่สุดในประวัติศาสตร์ของผู้ผลิตรถยนต์รายนี้ คือ สูงถึง 530 แรงม้า รวมทั้งให้แรงบิดสูงถึง 107 กก.-ม. อันเป็นตัวเลขที่ เบนท์ลีย์ บอกว่า ไม่เคยมีเครื่องยนต์ วี 8 สูบ แบบใดๆ ในโลกนี้เคยทำได้มาก่อน
เครื่องยนต์ที่ว่านี้ มีประวัติความเป็นมาที่สามารถย้อนหลังไปได้จนถึงปี 1959 อันเป็นปีที่ค่ายนี้นำมาใช้เป็นครั้งแรกในรถซาลูน เบนท์ลีย์ เอส 2 (BENTLEY S2) ในเวลานั้นเครื่องยนต์มีขนาดความจุ 6.23 ลิตร ให้กำลังสูงสุด 200 แรงม้า และแรงบิดสูงสุด 40.8 กก.-ม. เป็นเครื่องยนต์อลูมิเนียมล้วน และใช้เพลาข้อเหวี่ยงแบบห้าฝาประกับ
1 ทศวรรษหลังจากนั้น คือ ในปี 1969 ขนาดความจุของเครื่องยนต์ วี 8 สูบ ที่ว่านี้ถูกขยายเป็น 6.75 ลิตร เท่ากับในปัจจุบัน แต่ความเปลี่ยนแปลงที่สำคัญกว่านั้นเกิดขึ้นในปี 1982 เมื่อมีการนำเทอร์โบชาร์เจอร์มาร่วมทำงานเป็นครั้งแรก ในรถรุ่นใหม่ซึ่งมีชื่อว่า เบนท์ลีย์ มูลซานน์ เทอร์โบ (BENTLEY MULSANNE TURBO) และทำให้ค่ากำลังสูงสุดพุ่งขึ้นเกือบถึงระดับ 300 แรงม้า กล่าวกันว่า การเปลี่ยนแปลงครั้งนี้ ส่งผลเป็นอย่างมากในการพลิกภาพลักษณ์ของ เบนท์ลีย์ ในฐานะผู้ผลิตรถหรูและแรง
ช่วงเวลา 2 ทศวรรษหลังจากนั้น มีการปรับปรุงรายละเอียดต่างๆ อีกหลายครั้ง และผลลัพธ์ในที่สุดก็คือ เครื่องยนต์ทวินเทอร์โบโอเวอร์เฮดวาล์ว วี 8 สูบ 6,750 ซีซี ซึ่งติดตั้งในรถ เบนท์ลีย์ อาร์นาจ (BENTLEY ARNAGE) รุ่นปี 2007 สามารถให้กำลังสูงสุดสูงกว่า 500 แรงม้า
เบนท์ลีย์ ยังไม่หยุดยั้งความพยายามที่จะพัฒนาเครื่องยนต์ วี 8 สูบ บลอคนี้ แถมยังยืนยันด้วยว่า ตัวเลขกำลังสูงสุด 530 แรงม้า และแรงบิดสูงสุด 107 กก.ม. ของ เบนท์ลีย์ บรุคแลนด์ส ที่กล่าวข้างต้นเป็นตัวเลขในขณะนี้ ถึงวันที่รถหลุดจากสายผลิตเป็นคันแรกในปี 2008 เป็นไปได้ว่า ตัวเลขอาจจะสูงกว่านี้
แจกวาร์ เอกซ์เจ-ซีรีส์
รถซาลูนสุดหรูของค่ายแมวป่า
ผู้ผลิตรถยนต์พันธุ์อังกฤษแท้ ซึ่งปัจจุบันกลายสภาพเป็นผู้ผลิตรถยนต์ในเครือข่ายของ ฟอร์ด มอเตอร์ คัมพานี (FORD MOTOR COMPANY) แห่งสหรัฐอเมริกา มีอยู่ 2 ราย คือ แอสตัน มาร์ทิน (ASTON MARTIN) กับ แจกวาร์ (JAGUAR) และทั้ง 2 รายล้วนเป็นผู้ผลิตระดับหรูค่าตัวแพง มียอดขายในแต่ละปีแค่หลักพันหรือหลักหมื่นเท่านั้น เฉพาะรายหลัง คือ แจกวาร์ ช่วงปี 2 ปีที่ผ่านมานี้ มีข่าวเล่าลือเป็นระยะๆว่า ฟอร์ด คิดจะขายทิ้ง เพราะทำกำรี้กำไรไม่ค่อยจะได้ แต่ระยะหลังๆ ข่าวเล่าลือที่ว่านี้ค่อยซาไปแล้ว ไม่ทราบว่าเพราะเริ่มมีกำไร หรือเพราะว่าหาคนซื้อไม่ได้ ?
ปัจจุบัน แจกวาร์ ผู้ผลิตรถหรูเจ้าของเครื่องหมายการค้า "แมวป่า" ผลิตรถให้ลูกค้าเลือกใช้รวม 4อนุกรม คือ แจกวาร์ เอกซ์-ไทพ์ (JAGUAR X-TYPE) รถแมวป่าค่าตัวย่อมเยาที่สุด แจกวาร์ เอส-ไทพ์ (JAGUAR S-TYPE) รถตัวถัง 4 ประตูซาลูนซึ่งกำลังจะถูกปลดจากสายการผลิต แจกวาร์ เอกซ์เจ-ซีรีส์ (JAGUAR XJ-SERIES) รถระดับหรูซึ่งมีตัวถังขนาดใหญ่ที่สุดในสายการผลิต และ แจกวาร์ เอกซ์เค-ซีรีส์ (JAGUAR XJ-SERIES) รถสปอร์ทอนุกรมเดียวในสายการผลิต มีทั้งตัวถัง 2 ประตูคูเป และตัวถัง 2 ประตูเปิดประทุน
สำหรับ แจกวาร์ เอกซ์เจ-ซีรีส์ (JAGUAR XJ-SERIES) ที่นำมาให้ชมกันนี้ เป็นรถรุ่น FACELIFT หรือ "ยกหน้า" เพิ่งปรากฏตัวให้เห็นเป็นครั้งแรก ที่งานมหกรรมยานยนต์เจนีวาครั้งที่ 77 เมื่อเดือนมีนาคมที่ผ่านมา ขณะนี้ยังไม่ออกจำหน่ายในตลาด แต่จะออกตลาดในยุโรปตอนปลายปี 2007 ในฐานะรถรุ่นปี 2008
แจกวาร์ เอกซ์เจ-ซีรีส์ รุ่นที่จำหน่ายในตลาดขณะนี้ นับเป็นรถรุ่นที่เจ็ด เริ่มจำหน่ายในตลาดยุโรปเมื่อกลางปี 2003 (หลังจากรถหกรุ่นแรกขายไปแล้วทั่วโลกมากกว่า 800,000 คัน) เป็นรุ่นที่ไม่ประสบความสำเร็จในด้านยอดขายเหมือนที่คาดหวังไว้ ในปี 2005 ทำยอดขายในเมืองแม่คืออังกฤษได้แค่ 1,833 คัน ก่อนกระเตื้องขึ้นเป็น 2,293 คัน ในปี 2006 เนื่องจากการออกตลาดของรถรุ่นติดตั้งเครื่องยนต์ดีเซล
รถรุ่น "ยกหน้า" ที่เห็นอยู่นี้ มีการปรับปรุงเปลี่ยนแปลงเล็กๆ น้อยๆ ในหลายจุดทั้งภายนอก และภายใน เพื่อกระตุ้นยอดขายที่ร่อแร่ดังกล่าวข้างต้น สำหรับผู้ที่ต้องการรถรุ่นใหม่จริงๆ ไม่ใช่แค่ใหม่แบบ "ยกหน้า" ก็ต้องรอจนกว่าจะถึงปี 2009
การเปลี่ยนแปลงในส่วนของตัวถังภายนอกมีอยู่หลายจุด แต่ที่สังเกตเห็นได้อย่างชัดเจน คือ แผงกระจังหน้าที่ออกแบบใหม่หมด รวมทั้งโลโกรูป "แมวป่า" ที่มีขนาดโตขึ้นและรูปลักษณ์เปลี่ยนไปจากเดิมเล็กน้อย การเจาะช่องดักลมไว้ตรงปีกข้าง เหมือนรถสปอร์ท แจกวาร์ เอกซ์เค-ซีรีส์ และกันชนหลังที่ออกแบบทั้งหมด
ภายในห้องโดยสารก็มีการเปลี่ยนแปลงอยู่หลายจุด ที่น่าจะกล่าวถึงก็ คือ การขยายพื้นที่วางเท้าของผู้โดยสารบนเบาะหลัง โดยออกแบบพนักพิงและวัสดุหุ้มเสียใหม่ และการกำหนดเก้าอี้ที่นั่งคู่หน้าแบบมีเครื่องทำความอุ่นในตัว เป็นอุปกรณ์มาตรฐานในรถทุกๆ โมเดล
เครื่องยนต์ไม่มีการเปลี่ยนแปลงอะไร คือ ยังคงมีให้เลือกใช้รวม 5 ขนาดเช่นเดิม โดยแยกเป็นเครื่องเบนซิน 4 ขนาด กับเครื่องดีเซล 1 ขนาด ส่วนสนนราคาค่าตัวจะเพิ่มขึ้นเล็กน้อยประมาณ 500-600 ปอนด์ คือ จะเริ่มที่ 43,540 ปอนด์ หรือประมาณ 2.96 ล้านบาท ในโมเดลเริ่มต้น ไปจนถึง 60,150 ปอนด์ หรือประมาณ 4.09 ล้านบาท ในโมเดลหัวกะทิ
มาเซราตี กรัน ตูริสโม
รถสปอร์ทคูเปสุดสวยของค่ายสามง่าม
ที่งานมหกรรมยานยนต์เจนีวาครั้งล่าสุด เมื่อต้นเดือนมีนาคมที่ผ่านมา บูธของค่าย มาเซราตี เนืองแน่นไปด้วยผู้สื่อข่าวและมือกล้อง เห็นแล้วชวนให้ประหลาดใจ เพราะเป็นปรากฏการณ์ที่ไม่ได้เกิดขึ้นบ่อยๆ เพื่อค้นหาสาเหตุ จึงทำตัวให้ลีบ แล้วแหวกกลุ่มฝูงชนเข้าไป ก็พบว่า แม่เหล็กดึงดูดผู้คน ซึ่งอวดตัวอยู่บนแท่นหมุนขนาดยักษ์ ไม่ใช่อื่นใด หากแต่เป็นรถคูเป 2+2 ที่นั่ง ที่ออกแบบได้โดนตาโดนใจเห็นแล้วน้ำลายอาจไหลโดยไม่รู้เนื้อรู้ตัว ป้ายชื่อที่ติดไว้ตรงบั้นท้าย คือ มาเซราตี กรัน ตูริสโม (MASERATI GRAN TURISMO)
เป็นรถอนุกรมใหม่ล่าสุดของค่าย "สามง่าม" กำหนดออกจำหน่ายในตลาดยุโรปในไตรมาสที่ 4 ของปีนี้และเป็นตัวตายตัวแทนของรถอนุกรมเดิม คือ มาเซราตี คูเป (MASERATI COUPE) ซึ่งอยู่ในตลาดมาตั้งแต่ปี 2002 และไม่ประสบความสำเร็จนักในด้านยอดขาย สนนราคาค่าตัวยังไม่ตัวเลขที่ยืนยันแน่นอน แต่คาดหมายกันว่า เมื่อเทียบเป็นเงินไทยที่แข็งเหมือนหิน ค่าตัวน่าจะอยู่ระหว่าง 4.40-4.75 ล้านบาท ในตลาดยุโรป รถที่น่าจะเป็นคู่แข่งโดยตรงของรถแบบนี้ คือ แจกวาร์ เอกซเคอาร์ (JAGUAR XKR) ของค่ายอังกฤษ และ บีเอมดับเบิลยู ซีรีส์-6 (BMW 6-SERIES) กับ โพร์เช 911 (PORSCHE 911) ของค่ายเยอรมัน
มีขนาดตัวถังยาว 4.881 ม. คือ ยาวกว่ารถ มาเซราตี คูเป ที่ยังมีจำหน่ายในขณะนี้ประมาณ 15 ซม. และสั้นกว่ารถซาลูน มาเซราตี กวัตตโรโปร์เต (MASERATI QUATTROPORTE) ซึ่งเป็นรถธงในสายการผลิต ประมาณ 15 ซม. เช่นกัน รูปทรงองค์เอวของตัวถัง ซึ่งนับว่าเป็นผลงานระดับ "มาสเตอร์พีศ" อีกชิ้นหนึ่งของสำนัก ปินินฟารีนา (PININFARINA) แห่งอิตาลี เห็นได้ชัดว่าได้รับอิทธิพลเป็นอย่างมากจากรถธง มาเซราตี กวัตตโรโปร์เต และมีอยู่หลายจุด ที่เห็นแล้วชวนให้นึกถึง รถแนวคิด ปินินฟารีนา เบิร์ดเคจ (PININFARINA BIRDCAGE) ที่สำนักออกแบบเมืองมะกะโรนีรังสรรค์ขึ้น เพื่อเฉลิมฉลองวาระครบรอบ 75 ปี และนำออกแสดงเป็นครั้งแรก ที่งานมหกรรมยานยนต์เจนีวา เมื่อเดือนมีนาคม 2005
ภายในห้องโดยสารซึ่งนั่งได้ 4 คน มีลักษณะการออกแบบที่เห็นได้ชัดว่า ทันสมัยกว่ารถรุ่นเดิม และฝีมือการประกอบตกแต่งก็ทำได้ดีกว่าเดิม ในแผงหน้าปัดอุปกรณ์ สิ่งเดียวที่หลงเหลือมาจากรถรุ่นก่อนคือ นาฬิกาหน้าปัดรูปไข่ ซึ่งกลายเป็นอุปกรณ์คลาสสิคของรถติดเครื่องหมาย "สามง่าม" ไปแล้ว
เป็นรถขับเคลื่อนล้อหลัง ด้วยพลังจากเครื่องยนต์ DOHC วี 8 สูบ 4,244 ซีซี ที่ตกทอดมาจากรถรุ่นเดิมแต่ปรับแต่งเสียใหม่จนได้กำลังสูงสุดเพิ่มขึ้นอีก 5 แรงม้า คือ จาก 400 เป็น 405 แรงม้า ที่ 7,100 รตน.ส่วนแรงบิดสูงสุด คือ 46.9 กก.-ม. ที่ 4,750 รตน. และได้แรงบิดสูงร้อยละ 75 ของค่านี้ ตั้งแต่รอบต่ำแค่ 2,500 รตน. ส่วนระบบเกียร์ เป็นเกียร์อัตโนมัติ 6 จังหวะ ซึ่งขอหยิบขอยืมมาจากรถธง มาเซราตีกวัตตโรโปร์เต ระบบรองรับก็ขอยืมมาจากรถ มาเซราตี กวัตตโรโปร์เต เช่นกัน แต่ปรับแต่งเสียใหม่ในบางจุด การถ่ายน้ำหนักลงล้อ ทำได้เกือบสมบูรณ์แบบ คือ กระจายน้ำหนักในอัตราส่วน หน้า 49/หลัง 51
สมรรถนะความเร็วตามตัวเลขของผู้ผลิต สะใจดีแท้ทั้งตีนต้นและตีนปลาย อัตราเร่ง 0-100 กม./ชม. ทำได้ใน 5.2 วินาที ส่วนความเร็วสูงสุดอยู่ที่ระดับ 285 กม./ชม.
ABOUT THE AUTHOR
ช
ชูศักดิ์ ชมจินดา
ภาพโดย : ชูศักดิ์ ชมจินดา/ชลัทชัย ปภัสร์พงษ์นิตยสาร 399 ฉบับเดือน กรกฏาคม ปี 2550
คอลัมน์ Online : ระเบียงรถใหม่