เล่นท้ายเล่ม
ศาสนาประจำชาติ
ผมเขียนเรื่องนี้เมื่อวันที่ 12 มิถุนายน 2550 เหตุการณ์ประท้วงจากองค์กรชาวพุทธแห่งประเทศไทยประกอบด้วยพระสงฆ์ สามเณร และฆราวาส กว่า 1 หมื่นคน ยังคงชุมนุมเรียกร้องให้บัญญัติ ศาสนาพุทธเป็นศาสนาประจำชาติ ไว้ในร่างรัฐธรรมนูญ
การเรียกร้องได้ดำเนินการมาเป็นเวลานาน และยังหาข้อยุติไม่ได้ ล่าสุดก็จะยังคงชุมนุมใหญ่ต่อไปแล้วก็จะไม่ยอมรับร่างรัฐธรรมนูญในขั้นลงประชามติ
งานนี้ เมื่อมีการเรียกร้อง ใหม่ๆ นายพลเอกสนธิ บุญยรัตกลิน ประธานคณะมนตรีความมั่นคงแห่งชาติ ได้บอกแก่กลุ่มผู้เรียกร้องว่า ไม่ขัดข้องที่จะบัญญัติให้ศาสนาพุทธเป็นศาสนาประจำชาติ
แต่เรื่องของเรื่องนายพลเอกสนธิ ไม่ได้เป็นคนร่างรัฐธรรมนูญ คนที่ร่าง คือ สภาร่างรัฐธรรมนูญ จึงยังหาข้อยุติไม่ได้ และยังไม่รู้ว่าจะมีบัญญัติเช่นนั้นจริงหรือไม่ ?
การที่พระสงฆ์ สามเณร มารวมตัวกันเป็นจำนวนมาก ย่อมเป็นเรื่องไม่ธรรมดา มติอันเกิดจากคนเป็นจำนวนมากแบบนี้ รัฐบาลย่อมมีความหวั่นไหว ในขณะเดียวกัน การชุมนุมผู้คนเป็นจำนวนมาก การระมัดระวังเหตุการณ์จะบานปลาย ย่อมเป็นประเด็นสำคัญที่กลุ่มผู้ชุมนุมจำเป็นต้องมีความรอบคอบอย่างมีสติ เพื่อมิให้การชุมนุมโดยสันติต้องแปรสภาพ ผลสะท้อนจากการแสดงความเห็นของกลุ่มบรรพชิต ย่อมตกไปถึงสังคมไทย ให้มีการวิพากษ์วิจารณ์ถึงเรื่องอันไม่เป็นเรื่อง ให้เป็นเรื่องขึ้นมาได้และเป็นเรื่องจนถึงระดับต้องเสียสละเวลาเพื่อเข้ามาร่วมการชุมนุมในฝ่ายของฆราวาส
รัฐธรรมนูญของเรากี่ฉบับต่อกี่ฉบับมาแล้ว ยังไม่เคยบัญญัติให้พุทธศาสนาเป็นศาสนาประจำชาติ
แต่การเรียกร้องนั้น มีแทบจะทุกครั้งที่มีการร่างรัฐธรรมนูญกันใหม่
ดังเช่นในปีพุทธศักราช 2534 เกิดกระแสเรียกร้องให้บัญญัติพุทธศาสนาเป็นศาสนาประจำชาติ และบุคคลอันได้ชื่อว่าเป็น "เสาหลักประชาธิปไตย" คือ หม่อมราชวงศ์คึกฤทธิ์ ปราโมช ยังได้เขียนคอลัมน์ "ซอยสวนพลู" อันเป็นคอลัมน์ประจำลงพิมพ์ในหนังสือพิมพ์ "สยามรัฐ" รายวันของท่าน ฉบับวันที่ 7 พฤศจิกายน พุทธศักราช 2534 แสดงความเห็นเกี่ยวกับเรื่องนี้
ผมมีความคุ้นเคยอาจารย์หม่อมพอสมควร ในระหว่างที่เขียนคอลัมน์อยู่หนังสือพิมพ์ "เสียงอ่างทอง"ซอยวรพงษ์ บางลำพู เคยมีโอกาสไปเที่ยวพูดคุยกับเพื่อนฝูงที่สำนักงาน อาคารสยามรัฐ ถนนราชดำเนินกลาง อยู่บ่อยๆ
เห็นว่า บทความเห็นของท่านมีหลายมุมที่น่าจะอยู่ในความสนใจ และไม่เป็นเรื่องเชยแต่ประการใดที่จะนำมาถ่ายทอดลงใหม่ในที่นี้
ผมจึงเรียนขออนุญาตนำคอลัมน์อันมีชื่อเสียง และเป็นที่ยอมรับของอาจารย์หม่อม มาลงไว้อีกครั้ง
ในหนังสือพิมพ์สยามรัฐ ฉบับวันที่ 6 พฤศจิกายนนี้ มีข้อเขียนในคอลัมน์ข้างวัด ซึ่งเขียนโดยท่านสร้อยรวงข้าว
ที่ผมเรียกท่านผู้นี้ว่า ท่านสร้อยรวงข้าว ก็เพราะผมสงสัยว่า ท่านจะเป็นอุปสัมบัน หรือเรียกกันตื้นๆอย่างชาวบ้านว่า เป็นพระ อะไรก็ตาม แม้แต่สงสัยว่าเป็นพระ ผมก็ต้องนับถือไว้ก่อน และจะพูดถึงก็ต้องใช้ถ้อยคำที่สมควร
ท่านสร้อยรวงข้าวได้เขียนไว้ ดังต่อไปนี้
"ระหว่างที่มีการร่างรัฐธรรมนูญกันอยู่นี้ ได้มีความเคลื่อนไหวขนาดเล็กๆ ของชาวพุทธส่วนหนึ่งอยากให้มีการระบุข้อความ "พระพุทธศาสนาเป็นศาสนาประจำชาติไทย" ไว้ในรัฐธรรมนูญ"
ครับ คนที่อ่านรัฐธรรมนูญอย่างผิวเผิน หรือไม่เคยอ่านเลยก็ดี ย่อมจะปลงใจอยู่ตลอดมาว่า พระพุทธศาสนาเป็นศาสนาประจำชาติไทยอย่างเป็นทางราชการ
ความปลงใจนั้น ผิดถนัด
ที่ผมเขียนมานี้ก็เพื่อจะได้บอกความคิดในอีกทางหนึ่งว่า ความปลงใจที่ท่านสร้อยรวงข้าวเห็นว่าผิดถนัดนั้น ความจริงไม่ผิดอะไรเลย เป็นความเข้าใจที่ถูกต้องอย่างถนัด
เพราะฉะนั้น ข้อความที่ท่านสร้อยรวงข้าวเขียนต่อไปในคอลัมน์ข้างวัด เมื่อวันที่ 6 เดือนนี้นั้น จึงเป็นความเข้าใจที่ผิดพลาดของคนที่ไม่รู้จักโลก คนที่ไม่เคยเรียนกฎหมาย และคนที่ไม่เข้าใจในการแปลกฎหมายแต่อย่างใดทั้งสิ้น พูดง่ายๆ ว่า ต้องเป็นพระ
ท่านสร้อยรวงข้าว ท่านยังได้อธิบายความคิดของท่านต่อไปว่า
"คำกล่าวที่ว่า ศาสนาพุทธเป็นศาสนาประจำชาติไทยนั้น เป็นสามัญสำนึกอันเคยชินของคนไทยเท่านั้นเอง ในความเป็นจริงนั้น ศาสนาพุทธเป็นศาสนาประจำชาติโดยพฤตินัยเท่านั้น
อะไรที่เป็นพฤตินัยนั้นก็คือ ไม่เป็นโดยนิตินัย คือ กฎหมายไม่รับรอง อย่างน้อยก็ไม่รับรองเป็นลายลักษณ์อักษร
การกล่าวว่าศาสนาพุทธเป็นศาสนาประจำชาติไทย จึงเป็นการกล่าวโดยความรู้สึก โดยสามัญสำนึกของคนไทยอย่างที่ว่าแล้ว"
ท่านสร้อยรวงข้าวนั้น ท่านทราบดีว่าองค์พระมหากษัตริย์ตามรัฐธรรมนูญ หรือตามนิตินัยต้องเป็นพุทธมามกะ แล้วจะกล่าวว่าศาสนาพุทธมิใช่ศาสนาประจำชาติของชาติไทยได้อย่างไร เมื่อองค์พระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุขแห่งชาติไทย ซึ่งประกอบด้วยคนหลายศาสนา เป็นมุสลิมก็มี เป็นคริสต์ก็มี ตลอดจนเป็นสิกข์ และศาสนาอื่นๆ ไปจนถึงผีสางนางไม้ ซึ่งตามจริงเขาอยู่ดีอยู่แล้วตามขนบธรรมเนียมประเพณีของเขา แต่ก็มีพระพุทธศาสนานี่แหละครับ ขึ้นไปยุ่งวุ่นวาย ทำท่าเหมือนกับอย่างหมอสอนศาสนา และไปเกลี้ยกล่อมให้เขาหันมานับถือพุทธ เอามาบวชหมู่ อุปสมบทหมู่ นัยว่าเขา
กลายเป็นพุทธไปแล้ว ซึ่งบวชนั้นก็เป็นการบวชชั่วคราว พอเขาสึกแล้วกลับไปบ้านเขา เขาก็ไปเชือดคอไก่ เซ่นสรวงเจ้าป่าเจ้าเขา หรือผีสางนางไม้ต่อไป
ประโยชน์ที่ได้รับ ก็คือ พระสงฆ์ไทยในพระพุทธศาสนานั้นได้รับความรู้สึกว่า ท่านเป็นหมอสอนศาสนาหรือเป็นมิชชันนารีเป็นครั้งคราวเท่านั้น และที่ท่านต้องการจะรู้สึกเช่นนี้ อยากจะเป็นหมอสอนศาสนาก็เพราะท่านเป็นหมอสอนศาสนา เขาเข้ามาทำอะไรต่อมิอะไรในเมืองไทยไว้มาก ซึ่งท่านไม่ได้ทำเป็นต้นว่า เปิดโรงเรียน ตั้งโรงพยาบาล และอื่นๆ อีก ความรู้สึกเช่นนี้เป็นเหตุให้พระไทยอยากเป็นหมอสอนศาสนา
รัฐธรรมนูญฉบับ พุทธศักราช 2521 อันเป็นรัฐธรรมนูญฉบับสุดท้ายของประเทศไทย ยังไม่มีใครร่างรัฐธรรมนูญขึ้นมาใหม่เรียบร้อยให้แทนที่ได้ ผมก็เห็นจะต้องถือทางนั้นไปก่อน รัฐธรรมนูญฉบับนี้ระบุไว้แน่ชัดว่า
มาตรา 7 พระมหากษัตริย์ทรงเป็นพุทธมามกะ และทรงเป็นอัครศาสนูปถัมภก
ผมเห็นว่า การที่ท่านเขียนรัฐธรรมนูญไว้แบบนี้ ไม่มีเรื่องพฤตินัย หรือนิตินัยอะไรทั้งสิ้น แต่เป็นการเขียนกฎหมายอย่างแนบเนียน และอย่างนุ่มนวล เพื่อรักษาน้ำใจของคนไทยทั้งชาติเอาไว้
คนไทยในเมืองไทยนั้น ไม่ได้มีแต่คนไทยที่นับถือศาสนาพุทธ หรือคนไทยที่ทำบุญตักบาตรให้ท่านสร้อยรวงข้าวได้กินมาเรื่อย ๆ แต่มีส่วนน้อยที่นับถือศาสนาอิสลาม ศาสนาคริสต์ ศาสนาฮินดู ตลอดไปจนกระทั่งไหว้เจ้า หรือนับถือผีสางนางไม้ต่างๆ สรุปแล้ว ก็เป็นคนไทยด้วยกันทั้งสิ้น แต่นับถือศาสนาต่างกัน
ถ้าหากว่าใครโหดเหี้ยมไปเขียนกฎหมายว่า ศาสนาพุทธเป็นศาสนาประจำชาติของไทย คนเหล่านี้ซึ่งมีอยู่ประมาณร้อยละ 5 ของพลเมืองไทยทั้งหมด เขาจะรู้สึกอย่างไรเมื่อเขาไม่ได้นับถือศาสนาพุทธและรัฐธรรมนูญมาบัญญัติโดยนิตินัยให้ศาสนาพุทธเป็นกฎหมายประจำชาติแล้ว ศาสนาต่างๆ ที่เขานับถือนั้นเป็นอะไรเล่า และเมื่อเขาไม่ได้นับถือศาสนาพุทธแล้วตัวเขาเหล่านี้จะพลอยเป็นคนที่อยู่นอกชาติไทย ไม่ใช่คนไทยไปอย่างนั้นหรือ ?
ที่ผมเขียนมาวันนี้ อยากจะบอกให้คนที่ยังสงสัย ทราบทั่วกันว่า ศาสนาพุทธเป็นศาสนาประจำชาติไทย เพราะพระประมุขแห่งชาติไทยทรงเป็นพุทธมามกะ เมื่อองค์รัฏฐาธิปัตย์แห่งชาติไทยทรงเป็นพุทธมามกะเสียอย่างหนึ่งแล้ว ศาสนาอื่นๆ ที่มีอยู่ในชาติไทย ก็ได้รับความคุ้มครอง ให้มีเสรีภาพในการนับถือศาสนา และในการปฏิบัติพิธีกรรมต่างๆ ตามศาสนาของแต่ละศาสนาได้เป็นอันดี ไม่มีข้อขัดข้องแต่อย่างไรทั้งสิ้น...
บรรเจิด ทวี
ABOUT THE AUTHOR
บ
บรรเจิด ทวี
นิตยสาร 399 ฉบับเดือน สิงหาคม ปี 2550
คอลัมน์ Online : เล่นท้ายเล่ม