ตอบจดหมาย
ล้างหม้อน้ำแล้วยิ่งแย่
ล้างหม้อน้ำแล้วยิ่งแย่
ฉบับแรกจาก ฉัตรชัย/กทม. ลังเลใจว่าจะล้างหม้อน้ำดีหรือไม่
ถาม : เพื่อนผมเคยเล่าให้ฟังว่า รถที่เขาใช้อยู่นั้น เคยล้างหม้อน้ำจากอู่แห่งหนึ่งหลังจากนั้นมีปัญหาตามมาอีกมากมาย เช่น หม้อน้ำรั่วบ่อยๆ และเครื่องยนต์โอเวอร์ฮีททำให้ผมลังเลใจ เพราะรถที่ผมใช้อยู่นั้น ใช้มา 4 ปีแล้ว ยังไม่เคยล้างหรือถ่ายน้ำหม้อน้ำเลยกำลังจะตัดสินใจล้างเร็วๆ นี้ อยากขอคำแนะนำที่ถูกต้องสำหรับการล้างหม้อน้ำครับ ?
ตอบ : ปัญหาที่เพื่อนของคุณเล่าให้ฟังนั้น เชื่อว่ามีหลายๆ คนเคยประสบมาแล้วและที่สำคัญหลายๆคนนั้นล้วนตกเป็นเหยื่อของอู่ (ที่แย่มากๆ) แทบทั้งสิ้น
เพราะหม้อน้ำ ส่วนใหญ่จะมีโครงสร้างเป็นท่ออลูมิเนียมที่เมื่อผ่านการใช้งานไปสักระยะหนึ่ง จะค่อยๆถูกทำลายจากปฏิกิริยาของกรดภายในน้ำหล่อเย็นทำให้ผนังภายในของท่ออลูมิเนียมบางจุดมีความบางมาก ยิ่งในบางจุดด้วยแล้วบางมากจนแทบจะทะลุเป็นรูรั่วได้ ทำให้เมื่อนำรถไปใช้บริการจากอู่ที่จ้องจะหาช่องทำมาหากินอยู่แล้วถูกช่างในอู่หว่านล้อมให้ใช้น้ำยาล้างหม้อน้ำเพื่อล้าทำความสะอาดภายในจนเกลี้ยงก่อนจะเติมน้ำใหม่เข้าไป แต่ปรากฏว่าหลังจากล้างหม้อน้ำได้ไม่นานก็เกิดปัญหาหม้อน้ำรั่วตามมาจนต้องกลับไปหาช่างที่อู่อีกครั้ง เพื่อตรวจหารูรั่วแล้วก็กลายเป็นต้องปะรูรั่วหม้อน้ำในหลายๆ จุด แต่หลังจากซ่อมรูรั่วนั้นได้ไม่นาน
เครื่องยนต์ก็เกิดโอเวอร์ฮีทอีก ครั้งนี้ช่างเจ้าเดิมเลยแนะนำให้เปลี่ยนหม้อน้ำใบใหม่กลายเป็นเสียเงินหลายต่อ
มาถึงความจริงที่ผู้ใช้รถทุกคน ควรทราบและทำความเข้าใจ นั่นก็คือการดูแลรักษาหม้อน้ำให้มีความคงทน ต้องเริ่มตั้งแต่แรกเริ่มของการใช้รถด้วยการหมั่นตรวจสอบระดับน้ำหล่อเย็นในถังพักให้อยู่ในระดับที่ไม่น้อยกว่าขีดต่ำสุดของถังเป็นประจำทุกครึ่งเดือน และเมื่อครบปีก็จัดการถ่ายน้ำหล่อเย็นเก่าออกโดยคลายปลั๊กถ่ายน้ำเพื่อถ่ายน้ำเก่าออก การถ่ายน้ำต้องทำในขณะที่เครื่องยนต์ร้อนอยู่(แต่ไม่ใช่ร้อนจัดหลังจากที่ขับรถทางไกลมา) ทั้งนี้เพื่อให้วาล์ว เทอร์โมสตรัท เปิดให้น้ำหมุนเวียนได้ในขณะที่น้ำเก่าไหลออกก็จ่อสายยางเข้าที่ปากของหม้อน้ำเพื่อให้น้ำสะอาดเข้าไปไล่สิ่งสกปรกภายในท่อออกมาจนน้ำใสสะอาด เมื่อเห็นว่าน้ำที่ไหลออกมาใสดีแล้ว ให้ปิดปลั๊กถ่ายน้ำแล้วเติมน้ำให้เต็มตามด้วยปิดฝาหม้อน้ำ ปล่อยให้เครื่องยนต์เดินเบาสักระยะแล้วดับเครื่องยนต์ปล่อยให้เครื่องยนต์เย็นลงสักพักเปิดฝาหม้อน้ำออกเพื่อตรวจสอบระดับน้ำในหม้อน้ำอีกที
หากระดับน้ำพร่องไปให้เติมเข้าไปจนเต็มเป็นอันเสร็จเรียบร้อยการล้างหม้อน้ำขอแนะนำให้ทำเป็นประจำทุกปีส่วนการเติมน้ำยาหล่อเย็นควรเลือกยี่ห้อที่ได้มาตรฐานและเติมในปริมาณที่แนะนำข้างกระป๋องถ้าจะไม่เติมน้ำยาหล่อเย็นก็ไม่เป็นอะไร แต่การเติมน้ำยาจะช่วยลดจุดเดือดของน้ำไม่ให้น้ำหล่อเย็นร้อนจนเดือดมากเกินไป อีกทั้งยังช่วยการก่อเกิดสนิมและการกัดกร่อนภายในท่ออลูมิเนียมของรังผึ้งหม้อน้ำได้อีก
อย่างรถของคุณใช้งานมา 4 ปีแล้ว ถ้าจะล้างหม้อน้ำก็ขอแนะนำให้ล้างด้วยตัวคุณเองโดยทำตามขั้นตอนที่แนะนำมาข้างต้น โดยไม่ต้องไปอาศัยน้ำยาล้างหม้อน้ำแต่อย่างใดเพื่อป้องกันปัญหาบานปลายอย่างที่เพื่อนของคุณประสบมา
เครื่องยนต์เดินไม่เรียบ
ฉบับที่สองจาก พิทยา/นครสวรรค์ ไม่สบายใจในอาการผิดปกติของเครื่องยนต์
ถาม : ผมใช้รถ โตโยตา ไมทีเอกซ์ มาหลายปีแล้ว ก่อนหน้านี้ก็ไม่มีปัญหาอะไร เมื่อเร็วๆ นี้ปรากฏว่าเครื่องยนต์มีอาการรอบแรงบ้าง รอบเบาบ้าง ทั้งๆ ที่ไม่ได้ไปแตะคันเร่งแต่อย่างใด สังเกตดูพบว่าจะมีอาการตอนที่คอมเพรสเซอร์แอร์ ตัดต่อการทำงาน โดยแอร์ ยังคงเย็นอยู่แต่รอบเครื่องยนต์กลับเบาบ้างแรงบ้าง จนน่ารำคาญ อยากทราบว่า ทำไมจึงเป็นเช่นนี้และมีทางแก้ไขได้อย่างไร ?
ตอบ : เชื่อว่าปัญหาที่คุณถามมานั้น ไม่น่าจะเกิดกับเครื่องยนต์โดยตรงแต่เกิดจากกลไกของชุดปรับเร่งรอบเครื่องยนต์ให้สัมพันธ์กับรอบคอมเพรสเซอร์ หรือชุดไอเดิล-อัพ(IDLE-UP) นั้น เกิดอาการผิดปกติ หน้าที่หลักของชุดไอเดิล-อัพ นี้ก็คือ ในขณะที่คอมเพรสเซอร์แอร์ยังไม่ทำงาน ชุดคลัทช์ ของพูลเลย์ ที่ต่อกับคอมเพรสเซอร์ จะถูกปลดให้เป็นอิสระ รอบเครื่องยนต์ที่รอบเดินเบาจะอยู่ที่ประมาณ 800-850 รตน. ทันทีที่คอมเพรสเซอร์แอร์ ทำงาน โดยที่ชุดคลัทช์ ของพูลเลย์จะต่อการทำงานโดยอาศัยแรงฉุจากรอบหมุนของเครื่องยนต์ทำให้รอบของเครื่องยนต์ต้องหมุนด้วยรอบที่มากขึ้น คือเครื่องยนต์จะต้องหมุนที่รอบเดินเบาประมาณ950-1,000 รตน. แต่ด้วยการทำงานของชุดไอเดิล-อัพไม่ว่าคอมเพรสเซอร์ จะทำงานหรือไม่ทำงาน รอบของเครื่องยนต์ที่รอบเดินเบาจะคงที่อยู่ที่ประมาณ800-850 รตน.
ดังนั้น ไม่ว่าคุณจะวิ่งอยู่ที่ระดับความเร็วใดก็ตาม แม้ว่าแอร์จะทำงานหรือไม่ทำงานคุณก็ไม่รู้สึกว่ารอบเครื่องยนต์ถูกฉุดโดยคอมเพรสเซอร์
แต่อาการผิดปกติของรถคุณที่เล่ามา แน่นอนเลยว่าต้องเกิดจากชุดไอเดิล-อัพ เสีย การแก้ไขต้องนำรถไปที่ศูนย์บริการแอร์ เพื่อให้ช่างตรวจสอบก่อนที่จะเปลี่ยนชุดไอเดิล-อัพ ใหม่ ราคาประมาณพันต้นๆหากคุณปล่อยให้อาการผิดปกตินี้เกิดต่อไป จะทำให้คุณเกิดความหงุดหงิด รำคาญใจในขณะขับยิ่งนานไป คุณจะยิ่งเครียดมากขึ้นเรื่อยๆ ควรรีบนำรถเข้าตรวจเชคโดยเร็วจะเป็นการดีที่สุด
ลืมบิดลอคฮับ ที่เพลาหน้า
ฉบับสุดท้ายจาก ต่อตระกูล/กทม. กังวลใจว่ากลไกลอคฮับของรถขับเคลื่อนสี่ล้อ จะเสียหาย
ถาม : ผมใช้รถ โตโยตา แอลเอน บ่อยครั้งที่ผมเปลี่ยนระบบขับเคลื่อนไปเป็น 4L หรือ 4H แล้วลืมบิดลอคฮับเพลาล้อหน้า หรือบางทีเปลี่ยนมาขับสองล้อ ก็ลืมปลดลอคอีก ไม่ทราบว่า จะมีผลเสียหายเกิดขึ้นกับระบบขับเคลื่อนหรือไม่ ?
ตอบ : หน้าที่หลักของชุดลอคฮับ เพลาล้อหน้า ก็คือทำการตัดและต่อการทำงานระหว่างเพลาขับหน้ากับดุมล้อหน้า เมื่อคุณบิดชุดลอคฮัเพลาล้อหน้าไปยังตำแหน่ง FREE หรือ UNLOCK
การทำงานระหว่างเพลาขับหน้ากับดุมล้อหน้าจะเป็นอิสระจากกัน แต่เมื่อบิดไปที่ตำแหน่ง LOCKจะเป็นการต่อการทำงานระหว่างเพลาขับหน้ากับดุมล้อหน้าเข้าด้วยกัน
ทันทีที่คุณเปลี่ยนชุดทดเกียร์หรือทรานสเฟอร์เกียร์มาที่ตำแหน่ง 4L หรือ 4Hแรงบิดส่วนหนึ่งจะส่งผ่านมายังเพลาขับหน้า แต่ถ้าตำแหน่งล้อคู่หน้ายังอยู่ที่ตำแหน่ง FREE หรือUNLOCK การขับเคลื่อนจะเป็นเพียงแค่ 2L หรือ 2H เท่านั้น เช่นเดียวกัน หากคุณบิดชุดลอคฮับเพียงล้อหน้าข้างเดียวไปยังตำแหน่ง LOCK จะเป็นผลให้ระบบขับเคลื่อน
ถูกขับเคลื่อนแค่สองล้อหลังกับอีกหนึ่งล้อหน้าที่ถูกบิดมายังตำแหน่ง LOCKการวิ่งในทางตรงและทางราบ จะไม่มีความผิดปกติแตอย่างใดแต่เมื่อคุณต้องขับขึ้นไปยังบนทางที่มีความลาดชันมากๆ หรือทางที่มีความคดเคี้ยวไปมาจะสังเกตเห็นความผิดปกติในการเคลื่อนที่ของรถอย่างชัดเจนเมื่อเปรียบเทียบกับการขับเคลื่อนสี่ล้อเต็มรูปแบบ
ในทางกลับกัน เมื่อคุณเปลี่ยนระบบขับเคลื่อนมาเป็น 2H แต่ลืมปลดลอคฮับ เพลาล้อหน้าให้เป็นอิสระจะเป็นผลให้ล้อข้างที่ยังอยู่ในตำแหน่ง LOCK ต้องแบกน้ำหนักของเพลาขับหน้าตลอดเวลา ถึงแม้จะไม่มีแรงบิดส่งถ่ายมายังล้อนั้นๆ แต่ล้อข้างนั้นๆ ก็จะต้องแบกน้ำหนักเพลาไปในขณะที่รถวิ่งส่งผลให้รถต้องสิ้นเปลืองน้ำมันโดยใช่เหตุ
ทางที่ดี ควรเสียเวลาสักนิด ก่อนทำการออกรถทุกครั้ง โดยดูว่าขณะนั้นคุณกำลังจะเลือกระบบขับเคลื่อนแบบใด หากขับเคลื่อนสี่ล้อก็ควรบิดชุดลอคฮับเพลาหน้าไปยังตำแหน่ง LOCK ให้ถูกต้อง และปลดลอคมาเป็น FREE หรือ UNLOCK ทันทีที่คุณเปลี่ยนกลับมาเป็นระบบขับเคลื่อนสองล้อ หมั่นทำบ่อยๆ จนเกิดเป็นความเคยชิน
ABOUT THE AUTHOR
โ
โนว์ฮาว จูเนียร์
ภาพโดย : -นิตยสาร 417 ฉบับเดือน มิถุนายน ปี 2546
คอลัมน์ Online : ตอบจดหมาย(4wheels)