ตอบจดหมาย
การขับรถ เกียร์อัตโนมัติเข้าโค้ง
1. การขับรถเกียร์อัตโนมัติเข้าโค้ง ไม่ต้องไปยุ่งกับตำแหน่งเกียร์ใดๆ ทั้งสิ้น ถ้าความเร็วของรถก่อนเข้า
โค้งสูงเกินกว่าความเร็วที่เหมาะสมในโค้ง ก็เบรคลดความเร็วลงมา จากนั้นก็เหยียบคันเร่งรักษาความเร็วไว้
2. การวัดระดับน้ำมันเครื่องที่ถูกต้อง ควรจอดรถในแนวระนาบ ไม่ให้ตัวรถเอียงไปด้านใดด้านหนึ่ง
สตาร์ทให้เครื่องยนต์เดินเบาสักพัก แล้วดับเครื่องยนต์ ปล่อยทิ้งไว้สัก 2-3 นาที แล้วจึงวัด
3. โดยทั่วไปแล้วถุงลมนิรภัยจะมีอายุการใช้งานประมาณ 5-10 ปี ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับสภาพการใช้งาน และการออกแบบกลไกปลีกย่อยของแต่ละยี่ห้อ ในคู่มือการใช้รถจะมีระบุการตรวจเชคตามระยะ
การขับรถเกียร์อัตโนมัติเข้าโค้ง
ฉบับแรกจาก สิทธิศักดิ์ บุญยิ่ง/จ. ระนอง ถามเกี่ยวกับวิธีการขับรถเกียร์อัตโนมัติเข้าโค้งให้ถูกต้อง
ถาม : ผมซื้อรถเกียร์อัตโนมัติมาใช้ แต่ยังใช้ไม่ค่อยคล่อง เพราะเคยขับแต่รถเกียร์ธรรมดา มีคนบอกว่า
วิธีขับรถเกียร์อัตโนมัติเข้าโค้ง ให้ลดเกียร์ลงมา 1 ขั้น ก่อนจะถึงโค้งเล็กน้อย จะเป็นการช่วยเบรค และทำให้เกาะถนนทรงตัวดีกว่า อยากทราบว่าจริงเท็จอย่างไร ?
ตอบ : การทำงานของเกียร์อัตโนมัติ เช่น รถที่มีเกียร์เดินหน้า 4 เกียร์ ถ้าโยกคันเกียร์ไปที่เลข 3 ระบบ
ควบคุมจะเลือกใช้เกียร์ตามความเหมาะสมในการใช้งานว่าควรใช้เกียร์ 1, 2 หรือเกียร์ 3 แต่มันจะไม่เปลี่ยนไปเกียร์ 4 ถ้าโยกมาที่เลข 2 ก็ทำนองเดียวกัน คือ มันจะเลือกใช้เกียร์ 1 หรือ 2 เท่านั้น ไม่เปลี่ยนไปเกียร์ 3 และ 4 ถ้าดึงมาที่เลข 1 ก็จะเลือกอยู่เกียร์เดียว
การเปลี่ยนจังหวะเกียร์ของห้องเกียร์อัตโนมัติ เกิดขึ้นในช่วงเวลาที่สั้นมาก โดยการให้คลัทช์ชุดหนึ่ง
แยกตัวออกจากกัน ในขณะที่คลัทช์อีกชุดหนึ่งบีบตัวอย่างกะทันหัน ถ้าเราเปลี่ยนตำแหน่งเกียร์ที่ความเร็ว 110 กม./ชม. พอเราโยกคันเกียร์มาที่ตำแหน่งเกียร์ 3 ระบบควบคุมจะปลดชุดคลัทช์ของเกียร์ 4 แล้วให้คลัทช์ของเกียร์ 3 ทำงานทันที ความแตกต่างระหว่างความเร็วของหน้าผ้าคลัทช์ด้านเครื่องยนต์ กับหน้าผ้าคลัทช์ด้านที่หมุนตามความเร็วของล้อ (ที่หมุนเร็วกว่าด้านเครื่องยนต์) จะทำให้เกิดแรงกระชากในระบบขับเคลื่อน หน้าผ้าคลัทช์จะสึกหรอโดยไม่มีความจำเป็น และในขณะเดียวกัน ล้อขับเคลื่อนก็จะถูกเครื่องยนต์เบรคด้วยแรงกระชาก
ถ้าเป็นทางตรงก็ไม่เป็นอะไร ส่วนใหญ่คนขับจะไม่รู้ด้วยซ้ำไป แต่ถ้าอยู่ในทางโค้งที่ยางต้องรับภาระ
จากแรงเหวี่ยง หรือแรงหนีศูนย์กลาง แล้วถูกเครื่องยนต์โดยชุดเกียร์ช่วยเบรคแบบกระชาก จนล้อลอค
หากอยู่บนถนนที่เปียกลื่น แม้เพียงเสี้ยววินาที ก็อาจทำให้รถเสียการทรงตัว เพราะฉะนั้น ถ้าขับรถเกียร์อัตโนมัติเข้าโค้ง ไม่ต้องไปยุ่งกับตำแหน่งเกียร์ใดๆ ทั้งสิ้น ถ้าความเร็วของรถก่อนเข้าโค้ง สูงเกินกว่าความเร็วที่เหมาะสมในโค้ง ก็เบรคลดความเร็วลงมา จากนั้นก็เหยียบคันเร่งรักษาความเร็วในโค้ง
ระบบเบรคของรถ ได้ถูกออกแบบมาให้ทำงานด้วยแรงเบรคที่เหมาะสม ทั้งล้อหน้าและล้อหลังโดยไม่
ต้องอาศัยแรงต้านของระบบขับเคลื่อนมาช่วยเสริมแรงเบรคของล้อใดๆ ทั้งสิ้น และผ้าเบรคกับจานเบรคก็ถูกสร้างมาให้ทำหน้าที่ให้ดี พร้อมกันกับที่ตัวมันจะต้องมีความสึกหรอด้วยกันทั้งคู่ โดยผ้าเบรคจะสึกเร็วกว่าจานเบรค ถือเป็นชิ้นส่วนที่สึกหรอตามปกติ เมื่อใดถึงกำหนด คือ ความหนาใกล้ค่าต่ำสุดที่ผู้ผลิตรถกำหนด ศูนย์บริการก็มีหน้าที่เปลี่ยนชุดใหม่ให้เรา ไม่มีความจำเป็นใดๆ ทั้งสิ้น ที่จะต้องให้ชิ้นส่วนภายในห้องเกียร์อัตโนมัติของเรา มารับภาระสึกหรอแทน
จุดประสงค์หลักของการมีระบบจำกัดจำนวนเกียร์ คือ เอาไว้ช่วยเบรคตอนลงทางลาดชัน โดยเฉพาะ
ทางลาดที่ใช้เวลาขับนาน ระบบเบรคจะได้ไม่ต้องรับภาระความร้อน และความสึกหรอมากเกินควร มีวิธีเลือกตำแหน่งเกียร์สำหรับช่วยเบรคตอนลงทางลาดอย่างง่ายๆ คือ ตอนขึ้นทางลาดนี้ใช้เกียร์ใด ขาลงก็ให้เลือกเกียร์นั้นในการช่วยเบรค ถ้าเข้าใจดี และมีความชำนาญจากการฝึกฝน เราก็อาจจะเอาไปใช้ตอนขึ้นทางลาดด้วยก็ได้ เพื่อป้องกันไม่ให้ระบบอัตโนมัติเปลี่ยนเกียร์กลับไปกลับมาจนน่ารำคาญ
เท่าไรถึงพอดี
ฉบับที่สองจาก สมบูรณ์ บุตรอำไพ/จ. นครสวรรค์ ต้องการทราบวิธีวัดระดับน้ำมันเครื่อง
ถาม : ผมเพิ่งซื้อรถมาได้ไม่ถึง 1 เดือน เป็นรถใหม่ป้ายแดง ได้ตรวจเชคระดับน้ำมันเครื่องตอนเย็น
ก่อนดับเครื่อง พบว่าระดับน้ำมันเครื่องต่ำเกินไป จึงซื้อมาเติมเข้าไปจนถึงขีดบนสุดพอดี แต่พอตอนเช้าอีกวันได้ตรวจเชคดูอีกที พบว่าระดับน้ำมันเครื่องอยู่เกินกว่าขีดบนสุดขึ้นไปมาก เหตุใดจึงเป็นเช่นนี้ และอยากทราบว่าการที่ระดับน้ำมันเครื่องมากเกินไป จะมีผลเสียต่อเครื่องยนต์หรือไม่ ?
ตอบ : ปัญหาที่คุณถามมา มักเกิดกับผู้ใช้รถมือใหม่ ที่ได้รับคำแนะนำผิดๆ ต่อกันมา การตรวจเชค
ระดับน้ำมันเครื่องนั้น ไม่จำเป็นต้องทำทุกวัน อาทิตย์ละ 1 ครั้งก็พอ
ลองสังเกตดูว่าเมื่อต้องจอดรถทิ้งไว้ตลอดทั้งคืน และตรวจเชคระดับน้ำมันเครื่องในตอนเช้าก่อนส
ตาร์ทรถ จะพบว่าระดับน้ำมันเครื่องจะสูง ที่เป็นเช่นนั้นก็เพราะ น้ำมันเครื่องที่กระจายอยู่ตามส่วนต่างๆ ของเครื่องยนต์ จะไหลมารวมตัวกันในอ่าง ทำให้มีระดับน้ำมันเครื่องสูง แต่พอเครื่องยนต์ทำงาน น้ำมันเครื่องจะถูงส่งไปยังชิ้นส่วนต่างๆ ของเครื่องยนต์ ทำให้ปริมาณน้ำมันเครื่องในอ่างลดลง
การวัดระดับน้ำมันเครื่องที่ถูกต้องนั้น ควรจอดรถในแนวระนาบ ไม่ให้ตัวรถเอียงไปด้านใดด้านหนึ่ง
สตาร์ทให้เครื่องยนต์เดินเบาสักพัก แล้วดับเครื่องยนต์ ปล่อยทิ้งไว้สัก 2-3 นาที แล้วจึงวัด ถ้าระดับน้ำมันอยู่กึ่งกลางระหว่างขีดบนสุดและล่างสุดของก้านวัด ถือว่าใช้ได้
แต่ถ้าระดับน้ำมันเครื่องอยู่ต่ำกว่าขีดล่างสุด แล้วยังฝืนใช้งานต่อไป จะมีผลทำให้เครื่องยนต์สึกหรอ
เป็นอย่างมาก และยังทำให้แรงดันน้ำมันเครื่องในเครื่องยนต์ต่ำเกินไป ส่งผลให้ความร้อนของเครื่องยนต์สูงกว่าที่ควรจะเป็น หากระดับน้ำมันเครื่องสูงเกินกว่าขีดบนสุดที่กำหนดไว้ จะทำให้แรงดันน้ำมันเครื่องในเครื่องยนต์สูงเกินไป และยังไปต้านการหมุนของเพลาข้อเหวี่ยง ทำให้เครื่องยนต์สูญเสียกำลังและแรงบิด แถมสิ้นเปลืองน้ำมันเชื้อเพลิงมากกว่าปกติอีกด้วย
ดังนั้นทางที่ดีควรตรวจเชคระดับน้ำมันเครื่องในแนวทางและวิธีการที่ถูกต้อง ที่สำคัญหากต้องเติมน้ำ
มันเครื่อง ไม่ควรใช้น้ำมันเครื่องต่างชนิดมาเติม ควรเป็นชนิดเดียวกับของเดิมจะดีที่สุด
อายุถุงลมนิรภัย
ฉบับสุดท้ายจาก ณรงค์ เกษเสถียร/กทม. ถามเกี่ยวกับเรื่องของถุงลมนิรภัย
ถาม : ผมใช้รถกระบะที่มีถุงลมนิรภัยมาให้ อยากทราบว่าถุงลมนั้นมีอายุการใช้งานยาวนานเพียงใด
และจะรู้ได้อย่างไรว่ามันยังใช้งานดีอยู่ ?
ตอบ : เชื่อว่าเป็นคำถามที่เจ้าของรถที่มีถุงลมนิรภัยทุกคนอยากรู้ เพราะเป็นเรื่องเกี่ยวกับความปลอด
ภัย หากอุปกรณ์ตัวนี้เกิดไม่ทำงานขึ้นมาเมื่อเกิดภาวะฉุกเฉินจริงๆ นั่นหมายถึงชีวิตเลยทีเดียว โดยทั่วไปแล้วถุงลมนิรภัยจะมีอายุการใช้งานประมาณ 5-10 ปี ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับสภาพการใช้งาน และการออกแบบกลไกปลีกย่อยของแต่ละยี่ห้อ ในคู่มือการใช้รถจะมีระบุการตรวจเชคตามระยะ ขอให้เจ้าของรถนำรถเข้าตรวจเชคตามระยะที่กำหนดไว้ หากเกิดความบกพร่องใดๆ กับระบบถุงลมนิรภัย คอมพิวเตอร์ที่ใช้ตรวจเชคจะแจ้งให้ทราบทันที
และเพื่อความมั่นใจต่อการใช้งานในแต่ละวัน เราอาจตรวจสอบด้วยตัวเองว่าระบบถุงลมนิรภัยยังใช้
งานได้ดีอยู่หรือไม่ โดยบิดกุญแจไปตำแหน่ง ON เพื่อตรวจดูสัญญาณไฟเตือนต่างๆ บนแผงหน้าปัด หากสัญญาณไฟเตือนติดและดับภายใน 5 วินาที แสดงว่าระบบถุงลมนิรภัยยังใช้งานได้ดีอยู่ แต่หากสัญญาณไฟติดค้าง หรือกะพริบ ควรรีบนำรถเข้าศูนย์บริการทันที
ABOUT THE AUTHOR
อ
อีซีแมน
นิตยสาร 417 ฉบับเดือน ธันวาคม ปี 2550
คอลัมน์ Online : ตอบจดหมาย(4wheels)