รู้ลึกเรื่องรถ
ตำนานการแข่งขันรถยนต์ จากยุคกลจักรไอน้ำถึงยุค “รางวัลใหญ่กรุงเทพฯ”
การแข่งขันรถยนต์เกิดขึ้นครั้งแรกเมื่อไหร่ ? คำตอบแบบกำปั้นทุบดิน คือ เมื่อมีรถยนต์คันที่ 2 ไง ซึ่ง “ไม่ผิด” แต่การแข่งขันมันเกิดขึ้นก่อนที่จะมีรถเครื่องยนต์สันดาปภายใน หรือรถไฟฟ้า อย่างที่เรารู้จักกันทุกวันนี้เสียด้วย !?!
หากนิยามว่า รถยนต์ คือ ยานพาหนะที่เคลื่อนที่ได้ด้วยกำลังของตัวเอง จะสามารถย้อนกลับไปก่อนยุครถยนต์ขับเคลื่อนด้วยเครื่องยนต์สันดาปภายในของ BENZ PATENT MOTORWAGEN (เบนซ์ พาเทนท์ โมทัวร์วาเกน) ปี 1886 เสียอีก ตามบันทึกบอกไว้ว่า การแข่งของยานพาหนะที่ขับเคลื่อนด้วยกำลังของตัวเอง กำเนิดขึ้นในตอนรุ่งสางของวันที่ 30 สิงหาคม 1867 หรือเกือบ 160 ปีก่อน ที่ประเทศอังกฤษ โดยเป็นการจัดแข่งในระยะทาง 8 ไมล์ หรือเกือบ 13 กม. จากเมืองแอชทัน-อันเดอร์-ไลน์ ไปยังเมืองที่เป็นบ้านของ “ผีแดง” นั่นคือ โอลด์ ทแรฟฟอร์ด ซึ่งอยู่ในแมนเชสเตอร์เช่นเดียวกัน
การแข่งขันรถยนต์ครั้งแรกในประวัติศาสตร์ที่ได้รับการบันทึกไว้ รถยนต์ 2 คัน ที่ทำการแข่งขันเป็นรถใช้เครื่องกลจักรไอน้ำเป็นต้นกำลัง โดยรถที่ได้รับชัยชนะเป็นของวิศวกร ISAAC WATT BOULTON (ไอแซค วัตต์ โบลทัน) และถูกบันทึกอย่างเป็นทางการในนิตยสาร THE ENGINEER แต่เนื่องจากการแข่งขันครั้งนั้นเป็นการละเมิดกฎหมาย “กฎธงแดง” (RED FLAG LAW) ที่บังคับให้ยานพาหนะกลจักรที่วิ่งบนเส้นทางร่วมกับม้า และคนเดินถนน ต้องมีคนถือธงแดงเดินนำหน้าเสมอ ดังนั้น จึงน่าเสียดายที่ในบันทึกไม่มีการเปิดเผยชื่อของผู้ขับขี่
สำหรับการแข่งขันแบบถูกกฎหมายครั้งแรก เกิดขึ้นเมื่อวันที่ 16 กรกฎาคม 1878 โดยเป็นการแข่งขันในระยะทางไกลถึง 200 ไมล์ หรือกว่า 320 กม. เริ่มจากเมืองกรีนเบย์ ไปยังเมืองเมดิสัน ในรัฐวิสคอนซิน ทางตะวันออกเฉียงเหนือของสหรัฐอเมริกา ใกล้ชายแดนแคนาดา
การแข่งขันครั้งนั้นมียานพาหนะเข้าร่วม 6 คัน ได้แก่ GREEN BAY (กรีนเบย์), OSHKOSH (ออชคอช), MADISON (เมดิสัน), MILWAUKEE (มิลวอกี), FOND DU LAC (ฟงด์ ดู ลัค) ส่วนอีกคันชื่อของมันได้สาบสูญไปแล้ว สำหรับชื่อของรถแข่งแต่ละคันมาจากเมืองที่ส่งรถเข้าร่วมแข่ง และแม้มีรถลงทะเบียนไปร่วมแข่ง 6 คัน แต่ในการแข่งขันจริงกลับเหลือรถแข่งเพียง 2 คันเท่านั้น ได้แก่ GREEN BAY กับ OSHKOSH ส่วน MADISON ติดหล่มระหว่างการเดินทางเลยมาร่วมแข่งไม่ทัน ส่วน MILWAUKEE พังก่อนการแข่งขัน และ FOND DU LAC สร้างไม่เสร็จ ส่วนอีกคันหนึ่งนั้นก็มาไม่ถึงจุดสตาร์ท
บุคลิกของรถพลังไอน้ำทั้ง 2 คันนั้นแตกต่างกัน โดย GREEN BAY ใช้ระบบขับเคลื่อน และเลี้ยว 4 ล้อ พร้อมเกียร์เดินหน้า 3 จังหวะ ไม่ทราบแรงม้าสูงสุด แต่ตัวรถนั้นว่ากันว่ามีน้ำหนักถึง 12,000 ปอนด์ หรือประมาณ 5.4 ตัน ! มันเป็นรถที่รวดเร็ว ซับซ้อน และเปราะบาง เปรียบได้กับ “กระต่าย”
ส่วน OSHKOSH ใช้เครื่องยนต์ 2 สูบ 12 แรงม้า ขนาดเส้นผ่าศูนย์กลางของลูกสูบ 150 มม. กับช่วงชัก 200 มม. น้ำหนักตัวรถ 5,000 ปอนด์ หรือประมาณ 2.2 ตัน แน่นอนว่า มันช้า เรียบง่าย แต่มั่นคง เปรียบได้กับ “เต่า” แล้วผลการแข่งขันก็จบลงเหมือนนิทานอีสป จากความเรียบง่ายแต่ต่อเนื่องของ OSHKOSH พามันเข้าเส้นชัยได้ก่อนคู่แข่ง
ตั้งแต่มีการแข่งขันรถยนต์อย่างเป็นทางการครั้งแรกของโลก ได้แสดงให้เห็นถึงความท้าทาย และพิสูจน์แนวคิดของวิศวกรว่าแนวคิดใดเหมาะสมที่สุด และได้ช่วยขับเคลื่อนอุตสาหกรรมยานยนต์อย่างต่อเนื่องมาจนถึงทุกวันนี้
เมื่อโลกยานยนต์หมุนสู่ยุคของเครื่องยนต์สันดาปภายใน ที่มีขนาดกะทัดรัดกว่าเครื่องกลจักรไอน้ำ ก็เกิดความก้าวหน้าอย่างรวดเร็ว เพราะหลังจากที่ CARL BENZ (คาร์ล เบนซ์) เปิดตัวรถ 3 ล้อ เมื่อปี 1886 เพียง 1 ปี ก็ได้มีการจัดการแข่งขันขึ้นที่ประเทศฝรั่งเศส โดย LE VOCIPEDE ซึ่งเป็นนิตยสารเกี่ยวกับจักรยาน เมื่อวันที่ 28 เมษายน 1887 การแข่งนั้นมีระยะทางเพียง 2 กม. แน่นอนว่าเพียง 1 ปี หลังจากการเกิดขึ้นของรถเครื่องยนต์สันดาปภายในคันแรก คงจะหาใครทำรถยนต์แบบเดียวกันได้สำเร็จค่อนข้างยาก และในวันนั้นมีรถเข้าร่วมการแข่งขันเพียงคันเดียว นั่นคือ รถของบริษัท DE DION-BOUTON ที่ต่อมาได้ก้าวหน้าขึ้นจนเป็นหนึ่งในผู้ผลิตรถยนต์ของประเทศฝรั่งเศส
อีกอีเวนท์หนึ่งที่เกิดขึ้นในประเทศฝรั่งเศสเช่นเดียวกัน เป็นการวิ่งแบบโซโล (วิ่งแค่คันเดียว) โดยวิ่งร่วมไปกับการแข่งขันจักรยานทางไกลรายการ PARIS-BREST-PARIS ซึ่งเป็นมหกรรมการแข่งขันจักรยานทางไกลที่ยิ่งใหญ่อีกรายการหนึ่ง ที่จัดขึ้นเป็นครั้งแรกในปี 1891 หรือ 5 ปีหลังจากการถือกำเนิดของรถยนต์คันแรก โดยการวิ่งครั้งนั้นมีระยะทางถึง 1,200 กม. !
ในการแข่งขันครั้งปฐมฤกษ์ ทีมของบริษัท PEUGEOT (เปอโฌต์) ได้นำเอารถยนต์รุ่น TYPE 3 (ไทพ์ 3) แบบ 4 ล้อ เข้าร่วมวิ่งไปกับเหล่าบรรดาจักรยานด้วย แม้จะยังวิ่งสู้จักรยานแรงมนุษย์ไม่ได้ เพราะตอนที่วิ่งไปได้ครึ่งทาง (ถึงเมืองบแรสต์) จักรยานที่ขี่โดย CHARLES TERRONT (ชาร์ลส์ แตร์องต์) ก็เข้าเส้นชัยที่ปารีสเรียบร้อยแล้ว แต่อย่างไรก็ตาม นั่นคือ ระยะทาง 1,200 กม. ซึ่งในขณะนั้นไม่เคยมีรถยนต์คันใดทำได้มาก่อน และเป็นการตอกย้ำถึงศักยภาพของสิ่งที่เรียกว่า “รถยนต์”
จากนั้นในวันที่ 22 กรกฎาคม 1894 ก็ได้เกิดการแข่งขันรถยนต์ ที่เรียกว่าเป็นการแข่งแบบจริงจังเป็นครั้งแรก โดยเกิดขึ้นที่ประเทศฝรั่งเศสอีกเช่นเคย ในเส้นทางจากปารีสไปยังรูออง เมืองหลวงของแคว้นนอร์มังดี ทางตอนเหนือของประเทศฝรั่งเศส ระยะทางทั้งหมด 127 กม. และมีเป้าหมายในการพัฒนายานยนต์ที่ปลอดภัย ง่ายต่อการขับขี่ และมีค่าใช้จ่ายที่สมเหตุผล
งานนี้มีคนนำรถยนต์ลงทะเบียนเข้าร่วมมากถึง 102 คัน ! ดังนั้น จึงต้องมีรอบคัดเลือก เพื่อหารถที่เหมาะสมกับการแข่งขัน โดยคัดเหลือเพียง 25 คันเท่านั้น จากการวิ่งทดสอบระยะทาง 50 กม. ซึ่งแน่นอนว่า ผู้ผลิตรถยนต์ฝรั่งเศสชั้นนำ อย่าง PEUGEOT, PANHARD (ปังอาร์ท) และ DE-DION (เดอ-ดียง) ต้องอยู่ในนั้น และแม้ว่ารถของ DE-DION จะเข้าเส้นชัยเป็นคันแรก ด้วยเวลา 6.48 ชม. กับความเร็วเฉลี่ย 19 กม./ชม. และ PEUGEOT เข้าเส้นชัยตามหลัง 3.30 นาที แต่ PEUGEOT ได้รับการตัดสินให้เป็นผู้ชนะ เพราะพบว่า DE-DION ทำผิดกติกา
หลังจากนั้น ความนิยมในการนำรถยนต์มาแข่งขันกันก็เกิดขึ้นทั้งในยุโรป และสหรัฐอเมริกา การแข่งขันก็มีความหลากหลาย และท้าทายมากขึ้น โดยประเทศที่เป็นผู้นำเรื่องการจัดการแข่งขัน คือ “ฝรั่งเศส” ไม่ว่าจะเป็นการแข่งแบบจับเวลาบนถนนขึ้นเขา หรือ HILLCLIMB หรือการแข่งขันทางตรงที่เรียกว่า DRAG RACE และตามมาด้วยการจัดแข่งขันระดับนานาชาติ
ส่วนการวิ่งแข่งขันทางไกลจากเมืองสู่เมือง มักจะสตาร์ทที่กรุงปารีส แต่บางครั้งปารีสก็กลายเป็นเส้นชัย โดยเส้นทางที่ใช้แข่งขัน คือ ถนนสาธารณะ อาทิ การแข่งขัน PARIS-MADRID นอกจากการแข่งที่วิ่งกันบนถนนแล้ว บางครั้งก็ยังต้องวิ่งบนเส้นทางทุรกันดาร อาทิ การแข่งขัน PEKING-PARIS ที่มีระยะทางถึง 9,317 กม. การแข่งขันนี้จัดขึ้นในปี 1907 มีรถเข้าร่วมเพียง 5 คัน รูปแบบการแข่งสุดทรหดนี้น่าจะเป็นแรงบันดาลใจให้การแข่งขันแรลลีสุดหฤโหดอย่าง PARIS-DAKAR
แต่การวิ่งที่ไกลที่สุด เป็นการแข่งขันรายการ NEW YORK TO PARIS RACE ปี 1908 ที่มีระยะทางถึง 22,000 ไมล์ หรือราว 35,000 กม. และมีรถแข่งเข้าร่วมการแข่งขัน 6 ทีม จากฝรั่งเศส, อิตาลี, เยอรมนี และสหรัฐอเมริกา โดยทีมสหรัฐอเมริกาเข้าเส้นชัยเป็นอันดับ 1
จากความอันตรายในการใช้ถนนสาธารณะเป็นสนามแข่งขัน จึงมีการพัฒนาสถานที่สำหรับการแข่งขันรถยนต์โดยเฉพาะขึ้น แต่น่าประหลาดใจไม่น้อยที่สนามแข่งรถแห่งแรกกลับเกิดขึ้นห่างไกลจากต้นตำรับของการแข่งขันรถยนต์ เพราะถือกำเนิดขึ้นที่ประเทศออสเตรเลีย นั่นคือ ASPENDALE RACECOURSE รัฐวิคตอเรีย โดยสนามแห่งนี้สร้างขึ้นในปี 1906 เป็นสนามรูปทรงลูกแพร์ มีความยาวเกือบ 1.6 กม. ช่วงทางโค้งมีการยกทแรคเอียงเล็กน้อย
แต่สนามแข่งที่มีการยกมุมเอียงของทางโค้ง เพื่อรองรับความเร็วสูงอย่างจริงจังเกิดขึ้นครั้งแรกที่ประเทศอังกฤษ นั่นคือ สนาม BROOKLANDS ในเมืองเซอร์รีย์ ปี 1907 โดยสนามแห่งนี้มีความยาวถึง 4.43 กม. พื้นทแรคทำจากคอนกรีท สนามแห่งนี้ปัจจุบันไม่เปิดให้บริการแล้ว แต่ยังคงเหลือทแรคทางโค้งที่เป็นมุมเอียงอยู่ ซึ่งรายการรถยนต์ชื่อดังของสหราชอาณาจักร ยังคงนิยมใช้เป็นสถานที่ถ่ายทำอยู่เป็นประจำ โดยสาเหตุที่สนามนี้ถูกปล่อยทิ้งร้าง เพราะสมัยสงครามโลก ครั้งที่ 2 มันถูกใช้เป็นพื้นที่ในการสร้างเครื่องบินรบ ดังนั้น จึงถูกโจมตีทางอากาศจนเสียหายเกินกว่าจะบูรณะได้
อีกสนามแข่งรถเก่าแก่ ที่เกิดขึ้นในยุคแรก และยังคงใช้งานอยู่จนถึงปัจจุบันคือ INDIANAPOLIS MOTOR SPEEDWAY สนามแข่งรูปวงรี (OVAL TRACK) ความยาว 2.5 ไมล์ หรือ 4.02 กม. เปิดในปี 1909 โดยในปีที่มันเปิดนั้น มันคือสนามแข่งรถที่จุผู้ชมได้มากที่สุดในโลกถึง 257,000 คน !
แม้จะมีการแข่งขันในสนามแข่งปิดเกิดขึ้นมาบ้างแล้ว แต่การแข่งขันที่มีความผจญภัยสูงก็ยังคงเป็นการแข่งบนถนนสาธารณะ อาทิ การแข่งขันรายการ TARGA FLORIO บนเส้นทางภูเขาบนเกาะซิซิลี ประเทศอิตาลี จัดขึ้นเป็นครั้งแรก ปี 1906
จุดเปลี่ยนแปลงของการแข่งขัน เกิดขึ้นในช่วงทศวรรษที่ 30 เมื่อการแข่งขันเปลี่ยนจากการนำเอารถยนต์ทั่วไปมาแข่ง มาเป็นรถยนต์ที่สร้างมาเพื่อการแข่งขันโดยเฉพาะ เราได้เห็นรถแข่งที่มีรูปร่างลู่ลมจาก ALFA ROMEO (อัลฟา โรเมโอ) ของอิตาลี BUGATTI (บูกัตตี), DELAGE (เดอลาจ) และ DELAHAYE (เดอลาเฮย์) ของฝรั่งเศส AUTO UNION (เอาโท ยูเนียน) และ MERCEDES-BENZ (เมร์เซเดส-เบนซ์) จากเยอรมนี นอกจากรูปทรงจะลู่ลม ยังมีการนำเอาเทคโนโลยีจากอากาศยานมาใช้ อาทิ ระบบอัดอากาศด้วยซูเพอร์ชาร์เจอร์ รวมถึงการใช้โลหะน้ำหนักเบาอย่างอลูมิเนียมมาเป็นส่วนประกอบ
สำหรับประเทศเยอรมนียุคก่อนสงครามโลก ดูจะหมกมุ่นอยู่กับการพัฒนาอากาศพลศาสตร์ของรถยนต์เป็นอย่างมาก สังเกตได้จากการพัฒนาสนามแข่ง AVUS ในกรุงเบร์ลิน ที่มีทางตรงยาวเป็นพิเศษ ซึ่งเคยได้ชื่อว่าเป็นสนามแข่งรถที่เร็วที่สุดในโลก แผนผังสนามนั้นดูออกจะเหมือนไม้แคะหู จากรูปทรงยาวขนานกัน และมีทางโค้งแบบวกกลับที่ปลายสนามแข่งทั้ง 2 ด้าน และการที่มีทางตรงยาวเป็นพิเศษ จุดประสงค์ก็เพื่อให้วิศวกรสามารถใช้ศึกษาด้านอากาศพลศาสตร์ได้อย่างเต็มที่
สนาม AVUS มีทางโค้งเพียง 2 จุดเท่านั้น คือ โค้งด้านทิศเหนือกับโค้งด้านทิศใต้ โดยโค้งด้านเหนือนั้นถูกออกแบบให้มีการเอียงรับด้วยความชันมากถึง 43 องศา และได้รับฉายาจากนักแข่งว่า “กำแพงมรณะ” (WALL OF DEATH) เนื่องจากมันไม่มีกำแพง ถ้าเกิดความผิดพลาดขึ้นรถก็จะลอยออกจากสนามไปทันที
สำหรับทางตรงของสนาม AVUS จะวิ่งตัดเข้าไปในป่า โดยความยาวทั้งหมดของสนามยุคแรก คือ 19.5 กม. ช่วงทางตรงนั้น คือ ช่วงวิ่งสวนกัน ช่วงละเกือบ 10 กม. ซึ่งเหมาะสำหรับการทำสถิติความเร็วทางเรียบ รองรับรถที่ใช้เครื่องยนต์จรวดได้ และสนามแห่งนี้ถือเป็นรังของทีมแข่ง SILVER ARROWS ที่ใช้รถ MERCEDES-BENZ และ AUTO UNION โดยเจ้าของสถิติสนาม คือ AUTO UNION TYPE C ทำความเร็วเฉลี่ยที่ 284.31 กม./ชม.
สนามแข่ง AVUS ยังคงใช้ในการแข่งขันต่อหลังสงครามโลก ครั้งที่ 2 จบลงแล้ว แต่ถูกปรับให้สั้นลง และมีทางโค้งมากขึ้น ไม่ได้เป็นสนามที่วิ่งตรงยาวอีกต่อไป และใช้ในการแข่งขันมาจนถึงทศวรรษที่ 90 แต่ปัจจุบันถูกปรับสภาพกลายเป็นส่วนหนึ่งของทางหลวงไปเรียบร้อยแล้ว
สำหรับในประเทศไทย ก่อนที่จะมีสนามแข่งรถระดับสากลอย่าง พัทยา เซอร์กิท หรือที่ปัจจุบันใช้ชื่อว่า พีระ เซอร์กิท และตามมาด้วยสนามอื่นๆ ไม่ว่าจะเป็นสนามช้าง หรือสนามบุรีรัมย์ อินเตอร์เนชันแนล เซอร์กิท หรือรายการแข่งขันรูปแบบปิดเมืองแข่ง อย่างการแข่งขันที่บางแสน เชื่อหรือไม่ ในอดีตนั้นเราก็เกือบจะได้จัดการแข่งขันรถยนต์ในรูปแบบปิดเมืองแข่งมาแล้ว เมื่อปี 2480 หรือปี 1937
รายการนั้นใช้ชื่อเป็นภาษาไทยว่า “การแข่งขันรถยนต์ระหว่างชาติ รางวัลใหญ่กรุงเทพฯ” ซึ่งอ่านดูแล้วออกจากพิลึกๆ แต่ถ้าใช้ภาษาอังกฤษว่า “BANGKOK GRAND PRIX” แล้วทุกคนจะร้องอ๋อ เพราะรางวัลใหญ่ คือ คำว่า GRAND PRIX หรือ GRAND PRIZE นั่นเอง
การแข่งขันรายการนี้ เกิดจากแนวคิดริเริ่มของเจ้านาย 2 พระองค์ ที่เหล่านักแข่งรถยนต์ระดับนานาชาติต่างคุ้นเคย นั่นคือ พระเจ้าวรวงศ์เธอพระองค์เจ้าจุลจักรพงษ์ และพระองค์เจ้าพีระพงศ์ภาณุเดช หรือ พ.พีระ ฉายาเจ้าดาราทอง นักแข่งยอดเยี่ยมที่คว้ารางวัลดาราทอง (รางวัลคะแนนสะสมสูงสุด) ของสมาคมนักแข่งรถยนต์อังกฤษมาครองได้ 3 ปีซ้อน ช่วงปี 1936-1938
ตามแผนเดิมได้รับการอนุมัติจากรัฐบาลของหลวงพิบูลสงคราม ให้จัดการแข่งรถยนต์ทางเรียบ ที่ใช้เครื่องยนต์ความจุ 1,500 ซีซี บนเส้นทางบริเวณรอบท้องสนามหลวง และพระบรมมหาราชวัง เป็นเส้นทางที่มีความยาวรอบละ 2 ไมล์ หรือ 3.2 กม. จำนวน 60 รอบ รวมระยะทางทั้งสิ้น 120 ไมล์ หรือ 192 กม. โดยจะมีนักแข่งนานาชาติ 12 คน เข้าร่วมการแข่งขัน (รวมพระองค์เจ้าพีระฯ) จัดขึ้นวันอาทิตย์ที่ 10 ธันวาคม 2482 หรือปี 1939 ก่อนจะมีการแข่งขันในครั้งนั้น พระองค์ได้ประชาสัมพันธ์ให้ประชาชนได้รับทราบข่าวการแข่งขันรายการ BANGKOK GRAND PRIX ด้วยการนำเอารถแข่งคู่พระทัย E.R.A ROMULUS วิ่งสาธิตให้ประชาชนได้รับชม โดยกระทรวงมหาดไทยได้อนุญาตให้ปิดถนนราชดำเนิน ตั้งแต่สะพานผ่านพิภพลีลาจนถึงลานหน้าพระบรมรูปทรงม้า ซึ่งจะเป็นส่วนหนึ่งของเส้นทางที่จะใช้ในการแข่งขัน
การวิ่งสาธิตจัดขึ้นในวันเฉลิมพระชนมพรรษาของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 9 วันที่ 5 ธันวาคม 2480 (ปี 1937) มีประชาชนมาชมการสาธิตเป็นจำนวนมาก และในครั้งนั้นก็ได้มีการจัดแข่งขันรายการย่อยๆ ด้วย แต่น่าเสียดายเหลือเกินที่สงครามใหญ่ได้ปะทุขึ้นในยุโรป ในเดือนกันยายน 2482 (ปี 1939) และลุกลามไปจนกลายเป็นสงครามโลก ครั้งที่ 2 ทำให้การแข่ง “รางวัลใหญ่กรุงเทพฯ” ไม่สามารถเกิดขึ้นได้
ทุกวันนี้ได้แต่หวังว่า สักวันจะได้เห็นการแข่งขันรายการ “รางวัลใหญ่กรุงเทพฯ” ถึงจะเลื่อนมาเกือบร้อยปีแล้ว ก็ยังรอได้ !