เมื่อปลายเดือนที่ผ่านมา มีสมาชิกท่านหนึ่งแจ้งมาว่า อยากให้มีคำแนะนำการใช้รถในหน้าฝน และถ้าเป็นไปได้ ขอให้เพิ่มคำแนะนำสำหรับรถไฟฟ้าด้วย ตอนแรกที่ยังไม่ได้คิดอะไรมาก ผมเห็นว่าอาจจะสายเกินไปหน่อย เพราะกว่าจะได้ลงพิมพ์ ก็จะย่างเข้าเดือนกันยายนแล้ว แต่แล้วก็นึกขึ้นได้ ว่าความเข้าใจเรื่องฤดูกาลของผม ซึ่งอยู่ในความทรงจำ มาตั้งแต่ยังเป็นนักเรียนชั้นมัธยมนั้น มันไม่ตรงกับสภาวะที่เกิดขึ้นจริงในยุคนี้เสียแล้วครับ นั่นหมายความว่า กว่าฉบับเดือนกันยายนนี้จะถึงมือท่านผู้อ่าน หน้าฝนก็คงจะยังไม่แผ่วลงไปแน่ และอาจจะหนักระดับเสมือนกลางฤดูเลยก็ได้ อิทธิพล และผลกระทบจากสภาวะ “โลกร้อน” นี้ สุดที่ใครก็ตามจะสามารถคาดเดา หรือพยากรณ์ได้ครับ
ในส่วนของรถไฟฟ้า ยังเร็วเกินไปที่จะให้คำแนะนำแบบเฉพาะเจาะจงนะครับ เพราะมันเป็นนวัตกรรม คือ ใหม่สมชื่อ ที่ไม่เคยมีมาก่อน คงไม่เกินเลยหากจะพูดว่า ทุกๆ ชั่วโมงที่ผ่านไป เทคโนโลยีด้านรถไฟฟ้า กำลังเปลี่ยนแปลงล้ำหน้าอยู่ตลอดครับ เอาเป็นว่าในฤดูฝนนี้ ใครที่กำลังใช้อยู่ ก็ปฏิบัติตนเสมือนว่าเป็นรถที่ใช้เครื่องยนต์ได้เลยนะครับ เริ่มตั้งแต่ยางปัดน้ำฝนต้องอยู่ในสภาพดี เพราะเกี่ยวข้องกับความปลอดภัยโดยตรง โดยเฉพาะขณะขับกลางฝนในเวลากลางคืน การตรวจสภาพยางปัดน้ำฝนไม่ใช่ดูที่เนื้อยางว่ายังไม่เสื่อม หรือยังไม่ฉีกขาดนะครับ ต้องดูที่ความสามารถในการกวาดหยดน้ำที่ผิวกระจก ว่าเกลี้ยงหรือไม่ เพราะฉะนั้นจึงเป็นสิ่งที่ผู้ขับรู้ดีที่สุด อย่าไปหวังพึ่งพาช่างให้ตรวจให้ ถ้าเอายางปัดน้ำฝนมาดูผ่านแว่นขยาย เราจะเห็นว่าตรง “คม” ของมันมีลักษณะเป็นมุมฉาก แต่ละมุม จะทำหน้าที่กวาดน้ำทางใดทางหนึ่งโดยเฉพาะ เพราะขณะทำงาน ยางปัดน้ำฝนจะลู่เอนเล็กน้อย มุมฉากนี้จะมีรูปทรงพิเศษเฉพาะ ซึ่งได้จากการวิจัยทดสอบกันมาหลายสิบปี ว่ากวาดน้ำได้เกลี้ยง ไม่ส่งเสียงดัง และมีอายุใช้งานนานเพียงพอด้วย
ถ้ารูปทรงนี้ผิดเพี้ยนไปเพราะความสึกหรอ แม้จะใช้งานอย่างถูกวิธีก็ตาม มันก็จะกวาดน้ำได้ไม่หมด และไม่จำเป็นต้องสึกพร้อมกันในอัตราเท่ากันด้วย เราจึงพบอยู่บ่อยๆ ว่า มันจะกวาดน้ำในทิศทางหนึ่ง “แย่” กว่าอีกทิศหนึ่ง เมื่อใดที่ยางปัดน้ำฝนกวาดน้ำจากผิวกระจกได้ไม่เกลี้ยง รีบเปลี่ยนใหม่ทันทีครับ ส่วนใหญ่มีขายเป็นใบสำเร็จรูป คือ มีโครงโลหะมาให้เสร็จ เพราะแบบที่แกะเปลี่ยนเฉพาะเส้นยางนั้นยุ่งยาก และต้องใช้ฝีมือเชิงช่างพอสมควร ราคาก็ไม่แพง ถ้าหาซื้อมาเปลี่ยนเองก็ประมาณใบละ 100 กว่าบาท สำหรับรถทั่วๆ ไป ส่วนรถราคาแพงที่มีรูปแบบใบปัดน้ำฝนค่อนข้างพิเศษหายาก อาจจะโดน “ขูดเลือด” ถึงใบละเกิน 1,000 บาทก็ได้
สำหรับผู้ที่ยังไม่มีความเชื่อมั่นในการตรวจสอบ หรือตัดสินใจ มีวิธีง่ายๆ ครับ คือ เปลี่ยนใหม่ปีละชุดทุกต้นฤดูฝน ไม่ต้องกลัวว่าจะบ่อยไป หรือสิ้นเปลือง เพราะอายุของมันก็อยู่ในช่วงประมาณที่ว่านี้ นี่หมายถึงใช้งานมันอย่างถูกต้องแล้วนะครับ ถ้าใช้ผิดวิธีวันเดียวก็พังแล้ว
วิธีใช้งานที่ถูกต้องมีดังนี้ครับ ห้ามใช้งานขณะกระจกแห้งเด็ดขาด บางคนใช้แทนที่ปัดฝุ่นจากกระจก ปัด 3 ทีคมของมันก็สึกจนหมดอายุแล้ว เพราะฉะนั้นถ้าจะปัดฝุ่นต้องฉีดน้ำใส่กระจกก่อนเสมอ รถรุ่นปัจจุบันจะมีปั๊มไฟฟ้าฉีดน้ำล้างกระจกอยู่แล้ว จากนั้นใบปัดน้ำฝนจะทำงานโดยอัตโนมัติประมาณ 2 ถึง 3 ครั้ง ถ้าจะปัดน้ำฝนจากกระจก รอให้กระจกเปียกพอสมควรครับ สังเกตง่ายๆ คือ เมื่อถึงจุดที่เรามองผ่านลำบากนั่นแหละครับ แสดงว่ามีหยดน้ำฝนที่กระจก “เพียงพอ” แล้ว เมื่อใดที่ฝนหยุด หรือเกือบหยุด ต้องปิดทันที หรือเลือกจังหวะหน่วง ให้เหมาะกับปริมาณเม็ดฝน ผมเห็นฝนหยุดไปนานแล้ว ยังคุยเพ้อเจ้อด้วยโทรศัพท์มือถืออีกหลายนาที แบบนี้จะไปโทษว่ายางปัดน้ำฝนที่เขาทำมาไม่ทนทานพอไม่ได้ครับ
น้ำฉีดกระจกต้องมีปริมาณเพียงพออยู่ตลอดเวลา ส่วนใหญ่รถที่ผู้ผลิตเน้นด้านคุณภาพ จะมีสารทำความสะอาดกระจก ผสมมาในน้ำฉีดกระจกด้วยเสมอ แต่เป็นเพียงครั้งเดียว พอหมดแล้วเจ้าของรถก็จะเติมเพียงน้ำประปาล้วน ซึ่งก็เกือบจะเหมือนไม่มีค่าใช้จ่าย แต่ไม่เพียงพอสำหรับการใช้รถให้ถูกต้อง และปลอดภัยครับ น้ำสำหรับฉีดล้างกระจก ต้องผสมสารทำความสะอาดกระจกด้วยเสมอ เพราะมันช่วยชะล้างคราบไขมันจากซากแมลง ละอองยางมะตอย และสิ่งสกปรกสารพันได้อย่างดี มีข้อแม้ว่าต้องเป็น “น้ำยา” ที่ดีมีคุณภาพ เท่าที่เห็นในท้องตลาด มีคุณภาพเพียงพอครับ เพราะผลิตจากต่างประเทศที่มีมาตรฐานสูง มีมาตรการคุ้มครองผู้บริโภคเข้มแข็ง แต่ราคานั้นสูงมาก จนหลายคนที่อยากใช้ ต้องเปลี่ยนใจเพราะ “ซื้อไม่ลง”
ผมว่านี่เป็นตัวอย่างหนึ่งของวัฏจักรวิกฤต หรือวัฏจักรอุบาทว์ นั่นคือ ผู้บริโภคอยากซื้อใช้แต่แพง เลยไม่ซื้อ เมื่อไม่มีลูกค้าเพียงพอ ก็ไม่มีใครอยากลงทุนผลิตขาย เมื่อไม่มีผลิตภัณฑ์ดีๆ ของไทยขาย ก็เหลือแต่ผู้ที่นำเข้ามาจำหน่ายในราคาที่สูงเกินควร ผมเข้าใจดีว่าการนำเข้าสินค้าจากต่างประเทศมีต้นทุนสูงกว่า แต่ราคาที่จำหน่ายกันอยู่นั้น เอาเปรียบเกินไปครับ วิธีตัดวงจรวิกฤตในกรณีนี้ มีทางเดียว คือ ต้องเริ่มที่ความเข้าใจถึงความสำคัญของน้ำยาล้างกระจกรถ เมื่อมีผู้ใช้รถจำนวนมากพอที่ซื้อสินค้านี้ ก็จะมีผู้ตัดสินใจผลิตจำหน่ายแข่งขันกันเอง และผมเชื่อว่าเมื่อใดที่ถึงจุดนั้น ก็จะมีปัญหาด้านคุณภาพตามมาทันที พวกเราอาจจะเจอน้ำยาที่ไม่เพียงละลายไขมันจากซากแมลง แต่จะละลายสีตัวถังรถของพวกเราให้ด่างไปด้วย
ไฟส่องสว่างก็สำคัญมากต่อความปลอดภัยสำหรับการใช้รถในฤดูฝน ตรวจไฟท้าย ไฟเลี้ยว ไฟเบรค ไฟถอยหลัง ว่าทำงานครบทุกดวง โคมไฟหน้าต้องปรับมุมส่องสว่างให้ถูกต้องด้วยครับ นี่เป็นจุดอ่อนอย่างหนึ่งของรถยนต์ในเมืองไทย ที่มีรถระดับสูงสุดของโลกอยู่เกือบครบ แต่การตรวจสภาพ และการบำรุงรักษารถ ยังล้าหลังสุดกู่ ดูได้ง่ายๆ จากทิศทางของลำแสงของไฟหน้ารถครับ ผิดทิศผิดทาง เดือดร้อนผู้อื่นที่ร่วมใช้ถนน เพราะไม่มีการปรับตั้งตรวจสอบกันเลย นอกจากปัญหาด้านการตรวจสอบ และการบำรุงรักษา ซึ่งเป็นปัญหาทางเทคนิคแล้ว มารยาท และศีลธรรมจรรยา ของคนไทยยุคนี้ที่เสื่อมทรามลงอย่างมาก ก็มีส่วนเกี่ยวข้องอยู่ไม่น้อย...โปรดติดตามในตอนต่อไป
บทความแนะนำ