ตลอดช่วง 4-5 ปีที่ผ่านมา เกิดปรากฏการณ์เล็กๆ ในกลุ่มคนรุ่นใหม่ ที่ผมรู้สึกสนใจ และอยากพูดถึง นั่นคือ การที่พวกเขาหันมานิยมฟังเพลงพอพของศิลปินญี่ปุ่นที่เคยฮิทในยุค 80 โดยเรียกเพลงกลุ่มนี้ว่า CITY POP
ว่ากันว่า กระแส CITY POP นั้นเริ่มมาจากความเพี้ยนของอัลกอรึธึมของ YOUTUBE ที่วันดีคืนดีก็แนะนำเพลง PLASTIC LOVE ของ MARIYA TAKEUCHI ที่ออกมาตั้งแต่กลางยุค 80 ให้แก่ผู้ชมซึ่งเป็นคนรุ่นใหม่ คาดว่าพวกเขาฟังแล้วคงได้อารมณ์เหงาๆ ปนแปลกแยกแบบที่พวกเขาชอบ เลยตามหาเพลงยุคเดียวกันมาฟังอย่างต่อเนื่อง จนกลายเป็นกระแสนิยมในหลายส่วนของโลก สอดคล้องไปกับทเรนด์ NOSTALGIA ที่แรงมาตั้งแต่ก่อนหน้านั้น
แม้วัยจะห่างไกลจากเจน Z หลายช่วงตัว แต่ผมก็พลอยอินไปกับ CITY POP ด้วย เพราะมันเป็นเพลงในยุค 80 ซึ่งเป็นยุคที่ผมเริ่มใช้ชีวิตแล้ว และทุกวันนี้ยังคิดถึงสีสันบรรยากาศของวันเวลาเหล่านั้นอยู่เสมอ
ที่สำคัญ คือ ผมกำลังรู้สึกเหงา และแปลกแยก ตามประสาชายวัยเกษียณอยู่พอดี !
แต่ถ้าจะเขียนถึงเรื่องเพลงล้วนๆ ตรงนี้ ก็คงผิดที่ผิดทางไปหน่อย ดังนั้น ผมจะลองวิเคราะห์ความสัมพันธ์ระหว่าง CITY POP กับรถญี่ปุ่นในยุค 80 ซึ่งหลายรุ่นกลายเป็นรถคลาสสิคที่ได้รับความนิยมเล่นหากันในยุคปัจจุบัน
ทศวรรษที่ 1980 เป็นห้วงที่เศรษฐกิจญี่ปุนกำลังเฟื่องฟูแบบฟองสบู่ มีการลงทุนในตลาดหลักทรัพย์ และอสังหาริมทรัพย์เพิ่มขึ้นอย่างมหาศาล ส่งผลให้เกิดความมั่งคั่งในหมู่ชนชั้นกลาง และสูงของสังคม ผู้นิยมซื้อหาสินค้าหรูหรา ราคาแพง ซึ่งหนึ่งในนั้น คือ รถยนต์
สำหรับคนยุคฟองสบู่ รถยนต์ไม่ได้เป็นเพียงพาหนะเดินทาง แต่ยังเป็นสัญลักษณ์ของสถานะ และความสำเร็จ รวมถึงเป็นส่วนหนึ่งของไลฟ์สไตล์คนรุ่นใหม่ นอกเหนือจากการแต่งกาย เทคโนโลยี และการใช้ชีวิตในเมืองใหญ่
บริษัทผู้ผลิตรถยนต์ญี่ปุ่นเลยใช้โอกาสนี้พัฒนา และทำการตลาดรถยนต์ที่สอดคล้องกับไลฟ์สไตล์ และสะท้อนภาพลักษณ์ของคนเมืองที่ทันสมัย
รถญี่ปุ่นรุ่นดังในยุคนั้นอย่าง HONDA PRELUDE (ฮอนดา พรีลูด), NISSAN 300 ZX (นิสสัน 300 เซดเอกซ์), TOYOTA SUPRA (โตโยตา ซูพรา) ฯลฯ ล้วนได้รับการออกแบบให้โฉบเฉี่ยว และหรูหรา สอดคล้องกับความต้องการของผู้บริโภค
ขณะเดียวกัน วงการเพลงญี่ปุ่นก็เกิดพอพมิวสิคที่มีเนื้อหาสะท้อนวิถีชีวิตในเมืองใหญ่ ทัศนคติ และความฝันของคนรุ่นใหม่
เพลงเหล่านี้ไม่เพียงถูกสร้างขึ้นเพื่อความบันเทิงเท่านั้น แต่ยังเป็นเหมือน “ซาวน์ดทแรค” ของชีวิตในยุคนั้นอีกด้วย
CITY POP และรถยนต์ญี่ปุ่นยุค 80 จึงเป็นสองพโรดัคท์ และสองวัฒนธรรมที่ไม่อาจแยกจากกัน เพราะต่างเป็นผลผลิตจากวิถีชีวิตของคนญี่ปุ่นในยุคสมัยแห่งการเปลี่ยนแปลง
“ขับรถไปกับฉันสิ, เดินทางไปด้วยกัน
หัวใจฉันเต้นรัว, ฉันไม่ต้องการสิ่งใด
ขับไปในเมืองนี้, เราจะไปด้วยกัน
บนท้องถนนที่สว่างไสวด้วยแสงไฟนีออน“
(จากเพลง DRIVE MY CAR ของ TATSURO YAMASHITA ศิลปินดังยุค CITY POP)