วิถีตลาดรถยนต์
ชะลอตัวต่อไป
เปรียบเทียบยอดจำหน่ายรถยนต์ประจำเดือนกรกฎาคม 2024/2023
ตลาดโดยรวม -20.6 %
รถยนต์นั่ง -26.4 %
รถกิจกรรมกลางแจ้ง (SUV) +22.0 %
กระบะ 1 ตัน -35.5 %
รถเพื่อการพาณิชย์ +32.1 %
เปรียบเทียบยอดจำหน่ายรถยนต์ประจำเดือนมกราคม-กรกฎาคม 2024/2023
ตลาดโดยรวม -23.7 %
รถยนต์นั่ง -20.3 %
รถกิจกรรมกลางแจ้ง (SUV) +12.3 %
กระบะ 1 ตัน -40.1 %
รถเพื่อการพาณิชย์ +1.3 %
7 เดือนแรกของปี 2567 ผ่านพ้นไป สถานการณ์การซื้อขายรถใหม่ในบ้านเรา ยังไม่มีทีท่าว่าจะกระเตื้องขึ้นไปในทิศทางที่ดีขึ้นกว่าปีที่ผ่านมา มีแต่ชะลอตัวลง ทั้งนี้ปัจจัยที่ทำให้ตลาดรถยนต์ยังไม่ฟื้นตัวอย่างที่ควรจะเป็น ก็ยังคงประกอบด้วยปัจจัยเดิมๆ ทั้งจากเสถียรภาพทางการเมืองที่ยังไม่มั่นคง, สภาพเศรษฐกิจที่ยังซบเซา และปัญหาการปล่อยสินเชื่อของสถาบันการเงิน ที่มีความเข้มงวดเป็นพิเศษ เป็นต้น ถึงแม้ว่าตลาดรถยนต์กำลังอยู่ในช่วงความตื่นตัวในเรื่องของการทำตลาดของรถยนต์พลังงานทางเลือกใหม่ ที่มีทั้งรถยนต์ที่ขับเคลื่อนด้วยพลังงานไฟฟ้า, รถยนต์พลัก-อิน ไฮบริด หรือแบบไฮบริด ที่ส่วนใหญ่เป็นรถยนต์หลากหลายยี่ห้อจากจีนแผ่นดินใหญ่ ซึ่งรถยนต์ในส่วนนี้ เริ่มเข้ามามีส่วนแบ่งทางการตลาดมากขึ้น โดยเฉพาะตลาดรถยนต์นั่ง และรถกิจกรรมกลางแจ้ง หรือรถเอสยูวี ขณะที่ในส่วนของรถพิคอัพ ก็มีข่าวออกมาแล้ว ว่าจะมีรถพิคอัพพลังงานไฟฟ้าจากประเทศจีน เข้ามาขอมีส่วนร่วมด้วยในอีกไม่ช้านี้ น่าสนใจดีเหมือนกัน สำหรับพิคอัพพลังงานไฟฟ้า ว่านักเลงรถพิคอัพในเมืองไทยจะเปิดใจยอมรับได้มากแค่ไหน ?
สำหรับเดือนกรกฎาคม 2567 ตลาดรถยนต์ส่วนใหญ่ยังคงปรับตัวลดลง เมื่อเปรียบเทียบกับเดือนกรกฎาคม 2566 จะมีก็แค่ตลาดรถเอสยูวี และรถเพื่อการพาณิชย์อื่นๆ ที่มีตัวเลขยอดจำหน่ายปรับตัวสูงขึ้น โดยตัวเลขยอดจำหน่ายรวมทั้งตลาดอยู่ที่ 46,394 คัน เทียบกับเดือนกรกฎาคม 2566 แล้วมีตัวเลขยอดจำหน่ายที่ลดลง 12,031 คัน หรือปรับตัวลดลง 20.6 % และ 5 อันดับรถยนต์ที่ทำตัวเลขยอดจำหน่ายได้มากที่สุด ประกอบด้วย อันดับ 1 ค่าย TOYOTA (โตโยตา) จำหน่ายได้ 17,786 คัน เทียบกับตัวเลขยอดจำหน่ายเดิมเดือนกรกฎาคม 2566 แล้วตัวเลขยอดจำหน่ายหดหายไป 2,635 คัน หรือลดลง 12.9 % ครองส่วนแบ่งการตลาด 38.3 % อันดับ 2 ISUZU (อีซูซุ) 6,784 คัน เทียบกับกรกฎาคม 2566 หายไปถึง 4,951 คัน หรือลดลง 42.2 % ส่วนแบ่งการตลาดได้ไป 14.6 % อันดับ 3 HONDA (ฮอนดา) 5,442 คัน ลดลง 2,109 คัน หรือลดลง 27.9 % ส่วนแบ่งการตลาด 11.7 % อันดับ 4 BYD (บีวายดี) 2,686 คัน เป็นยอดจำหน่ายที่เพิ่มขึ้นถึง 1,310 คัน หรือเพิ่มขึ้นจากเดือนกรกฎาคม 2566 ถึง 95.2 % ส่วนแบ่งการตลาด 5.8 % และอันดับ 5 FORD (ฟอร์ด) 1,949 คัน ลดลง 805 คัน หรือลดลง 29.2 % ส่วนแบ่งการตลาด 4.2 %
รวมตัวเลขยอดจำหน่ายรถยนต์ใหม่ ตั้งแต่เดือนมกราคม-กรกฎาคม 2567 อยู่ที่ 354,421 คัน เทียบกับช่วงเดียวกันของปี 2566 มีความแตกต่างถึง 110,212 คัน หรือ 7 เดือนแรกของปี 2567 จำหน่ายรวมกันได้น้อยกว่าที่เคยทำไว้ในปี 2566 ลดลงถึง 23.7 % รถยนต์ที่มียอดจำหน่ายรวมมากที่สุด ประกอบด้วย อันดับ 1 TOYOTA จำหน่ายรวม 134,064 คัน ลดลงจากช่วงเดียวกันของปีที่ผ่านมา 23,216 คัน หรือลดลง 14.8 % ครองส่วนแบ่งการตลาด 37.8 % อันดับ 2 ISUZU 53,044 คัน ลดลง 44,972 คัน หรือลดลง 45.9 % ครองส่วนแบ่งการตลาด 15.0 % อันดับ 3 HONDA จำหน่ายแล้วรวม 48,941 คัน ลดลง 4,744 คัน หรือลดลง 8.8 % ครองส่วนแบ่งการตลาด 13.8 % อันดับ 4 BYD จำหน่ายแล้วรวม 17,421 คัน เพิ่มขึ้น 4,878 คัน หรือเพิ่มขึ้น 38.9 % ครองส่วนแบ่งการตลาด 4.9 % และอันดับ 5 MITSUBISHI (มิตซูบิชิ) จำหน่ายแล้วรวม 16,222 คัน ลดลง 6,118 คัน หรือลดลง 27.4 % ครองส่วนแบ่งการตลาด 4.6 %
ส่วนรถพิคอัพ 1 ตัน ยอดจำหน่ายรวมเดือนกรกฎาคม 2567 ของทั้งตลาดอยู่ที่ 16,125 คัน เทียบกับช่วงเดียวกันของปีที่แล้ว พบว่ามียอดจำหน่ายรวมหายไป 8,857 คัน หรือลดลง 35.5 % รถพิคอัพยอดนิยมของคนไทย เริ่มจากค่าย TOYOTA จำหน่ายได้ 7,369 คัน ลดลงจากเดือนกรกฎาคมปีที่แล้ว 2,719 คัน หรือลดลง 27.0 % ครองส่วนแบ่งการตลาด 45.7 % อันดับ 2 ISUZU 5,843 คัน ลดลง 4,385 คัน หรือลดลง 42.9 % ครองส่วนแบ่งการตลาด 36.2 % อันดับ 3 FORD 1,947 คัน ลดลง 807 คัน หรือลดลง 29.3 % ครองส่วนแบ่งการตลาด 12.1 % อันดับ 4 MITSUBISHI 639 คัน ลดลง 777 คัน หรือลดลง 54.9 % ครองส่วนแบ่งการตลาด 4.0 % และอันดับ 5 NISSAN (นิสสัน) 165 คัน จำหน่ายได้น้อยลง 204 คัน หรือลดลง 55.3 % ครองส่วนแบ่งการตลาด 1.0 %
7 เดือนแรกของปี 2567 ผ่านไป รถพิคอัพจำหน่ายรวมทั้งสิ้น 124,562 คัน เทียบกับช่วงเดียวกันปี 2566 ตลาดใหญ่ตลาดนี้มีตัวเลขยอดจำหน่ายลดลงถึง 83,372 คัน หรือปรับตัวลดลง 40.1 % อันดับ 1 ยังคงเป็น TOYOTA จำหน่ายรวม 57,058 คัน ลดลงจากปี 2566 อยู่ 23,574 คัน หรือจำหน่ายได้น้อยลง 29.2 % ครองส่วนแบ่งการตลาด 45.8 % ตามด้วย ISUZU จำหน่ายแล้วรวม 46,436 คัน จำหน่ายน้อยลง 42,425 คัน หรือลดลง 47.7 % ครองส่วนแบ่งการตลาด 37.3 % อันดับ 3 FORD มียอดจำหน่ายรวม 13,229 คัน เป็นยอดจำหน่ายที่ลดลง 9,642 คัน หรือลดลง 42.2 % ครองส่วนแบ่งการตลาด 10.6 % อันดับ 4 MITSUBISHI จำหน่ายแล้วรวม 5,203 คัน ลดลง 6,407 คัน หรือลดลง 55.2 % ครองส่วนแบ่งการตลาด 4.2 % และอันดับ 5 NISSAN มียอดจำหน่ายรวม 1,801 คัน ลดลง 929 คัน หรือลดลง 34.0 % ครองส่วนแบ่งการตลาด 1.4 %
รถเอสยูวี เดือนกรกฎาคม 2567 ทั้งตลาดสามารถทำตัวเลขยอดจำหน่ายรวมกัน 8,932 คัน เพิ่มขึ้น 1,609 คัน หรือเพิ่มขึ้น 22.0 % เมื่อเทียบกับตัวเลขยอดจำหน่ายเดือนกรกฎาคม 2566 ตลาดนี้รถยนต์พลังงานทางเลือกใหม่จากประเทศจีน มีบทบาทมากขึ้น ในด้านของการตลาด แต่รถเอสยูวีของเจ้าตลาดอย่าง TOYOTA และ HONDA ยังคงเป็นผู้นำตลาดเช่นเดิม เดือนกรกฎาคมนี้ จ่าฝูง TOYOTA จำหน่ายไปแล้ว 4,157 คัน เทียบกับเดือนกรกฎาคม 2566 แล้วจำหน่ายได้มากขึ้นถึง 2,582 คัน หรือปรับตัวเพิ่มขึ้นถึง 163.9 % ครองส่วนแบ่งการตลาด 46.5 % รองจ่าฝูง HONDA จำหน่ายได้ 2,819 คัน เพิ่มขึ้น 190 คัน หรือเพิ่มขึ้น 7.2 % ส่วนแบ่งการตลาด 31.6 % อันดับ 3-5 เป็นรถเอสยูวีเชื้อชาติจีนทั้งสิ้น เริ่มจาก BYD จำหน่ายได้ 690 คัน ลดลง 686 คัน หรือลดลง 49.9 % ส่วนแบ่งการตลาด 7.7 % MG (เอมจี) จำหน่ายได้ 302 คัน ลดลง 178 คัน หรือลดลง 37.1 % ส่วนแบ่งการตลาด 3.4 % และ GMW (กเรท วอลล์ มอเตอร์) จำหน่ายได้ 244 คัน ลดลง 59 คัน หรือลดลง 19.5 % ครองส่วนแบ่งการตลาด 2.7 %
รวม 7 เดือน รถเอสยูวีทั้งหน้าใหม่ และหน้าเก่า มียอดจำหน่ายรวมกันทั้งสิ้น 69,080 คัน เพิ่มขึ้น 7,547 คัน หรือเพิ่มขึ้น 12.3 % เมื่อเทียบช่วงเดียวกันของปี 2566 ยอดจำหน่ายสะสมมากที่สุดประกอบด้วย TOYOTA 32,543 คัน เพิ่มขึ้นถึง 20,299 คัน หรือเพิ่มขึ้น 165.8 % ครองส่วนแบ่งการตลาด 47.1 % HONDA 21,688 คัน เพิ่มขึ้น 3,350 คัน หรือเพิ่มขึ้น 18.3 % ส่วนแบ่งการตลาด 31.4 % BYD 4,665 คัน ลดลง 7,878 คัน หรือลดลง 62.8 % ส่วนแบ่งการตลาด 6.8 % GWM 2,515 คัน ลดลง 1,410 คัน หรือลดลง 35.9 % ส่วนแบ่งการตลาด 3.6 % และ MAZDA (มาซดา) 2,224 คัน ลดลง 2,589 คัน หรือลดลง 53.8 % ส่วนแบ่งการตลาด 3.2 %
เดือนกรกฎาคม 2567 รถเพื่อการพาณิชย์อื่นๆ จำหน่ายได้รวม 4,766 คัน เพิ่มขึ้น 1,157 คัน หรือเพิ่มขึ้น 32.1 % เมื่อเทียบกับเดือนกรกฎาคม 2566 รวม 7 เดือน 24,882 คัน เพิ่มขึ้น 314 คัน หรือเพิ่มขึ้น 1.3 % รถพิคอัพ และรถเอสยูวี มีการนำไปจดทะเบียนรวมกันทั้งสิ้น 30,608 คัน ลดลง 6,300 คัน หรือลดลง 17.1 % เมื่อเทียบกับเดือนกรกฎาคม 2566