รู้ลึกเรื่องรถ
FERRARI F80 ไฮเพอร์คาร์ระดับเรือธง รุ่นล่าสุดของค่ายม้าลำพอง
เปิดตัวกันไปสดๆ ร้อนๆ ช่วงเดือนตุลาคมที่ผ่านมา กับรถระดับเรือธงของค่ายม้าลำพอง FERRARI F80 (แฟร์รารี เอฟ 80) เป็นสายเลือดสืบทอดโดยตรงจาก FERRARI GTO (แฟร์รารี จีทีโอ), FERRARI F40 (แฟร์รารี เอฟ 40), FERRARI F50 (แฟร์รารี เอฟ 50), FERRARI ENZO (แฟร์รารี เอนโซ) และ FERRARI LAFERRARI (แฟร์รารี ลาแฟร์รารี)
นับตั้งแต่เปิดตัว FERRARI F80 ถูกชาวเนททั่วโลกถล่มยับแทบไม่เหลือชิ้นดี 3 ประเด็น ได้แก่ การใช้ขุมพลังแบบ วี 6 สูบ ที่เกือบทุกคนผิดหวัง เพราะบรรดาแฟนๆ ต้องการเห็นรถรุ่นนี้ใช้เครื่องยนต์แบบ วี 12 สูบ, เรื่องเสียง จากคลิพในงานเปิดตัวพบว่า เงียบมากๆ ไม่มีเสียงคำรามกึกก้องบาดหัวใจแบบที่ไฮเพอร์คาร์ควรจะเป็น และการดีไซจ์นแถบสีดำบนฝากระโปรงหน้า ที่ดูเหมือนว่าไม่มีใครชอบเลย ซึ่งเราจะมาวิเคราะห์กันว่า ทำไมค่ายม้าลำพองถึงกำหนดทิศทางรถระดับเรือธงของเขาออกมาแนวนี้ เริ่มจาก
1. การใช้ขุมพลังแบบ วี 6 สูบ ก่อนอื่นต้องหาคำตอบให้ได้ว่า เพราะเหตุใดจึงตัดสินใจใช้เครื่องยนต์แบบ วี 6 สูบ ไฮบริด ขับเคลื่อนล้อหลัง พร้อมมอเตอร์ไฟฟ้าสำหรับขับเคลื่อนล้อหน้า เป็นขุมกำลังของไฮเพอร์คาร์เวอร์ชันถนนที่อยู่ในจุดสูงสุดของพวกเขา แน่นอนว่า มันคือการแสดงออกถึงเทคโนโลยีที่เชื่อมต่อกันโดยตรงกับโลกของรถแข่งทางเรียบ ซึ่งในกรณีนี้ คือ FERRARI 499P LE MANS HYPERCAR (แฟร์รารี 499 พี เลอ มองส์ ไฮเพอร์คาร์) ที่พาทีมม้าลำพองคว้าแชมพ์เลอ มองส์ 2 สมัย นั่นเอง
ก่อนอื่นต้องเข้าใจว่า ปรัชญาการพัฒนารถรุ่นทอพของพวกเขาจะอ้างอิงกับรถแข่งเสมอมา นับตั้งแต่ยุคของ GTO และ F40 โดยทั้งสองล้วนใช้เครื่องยนต์แบบ วี 8 สูบ เทอร์โบคู่ เพราะสอดคล้องกับยุคสมัยของรถแข่งสูตร 1 ทศวรรษที่ 80 ใช้เครื่องยนต์เทอร์โบ และเมื่อกติกาการแข่งขันเปลี่ยนไปเป็นรถแข่งรอบจัดไม่มีเทอร์โบ รถรุ่นที่ตามมาอย่าง F50, ENZO และ LAFERRARI ก็จะใช้เครื่องยนต์แบบ วี 12 สูบ ไม่มีระบบอัดอากาศ
สำหรับยุคปัจจุบัน ทั้งรถแข่งสูตร 1 และรถแข่งรายการเอนดูรานศ์ กติกาการแข่งขันกำหนดให้ใช้เครื่องยนต์แบบ วี 6 สูบ จับคู่กับระบบไฮบริด 800 โวลท์ ทั้งสิ้น ดังนั้น การเลือกเครื่องยนต์แบบ วี 6 สูบ ไฮบริด มาประจำการใน F80 คือ ตัวแทนของเทคโนโลยีแห่งยุคสมัย ส่วนใครถวิลหาขุมพลังแบบ วี 12 สูบ ก็สามารถทำฝันให้เป็นจริงได้ด้วยการจับจองรุ่น DODICI CILINDRI (โดดีซี ซีลินดรี) และ MERCEDES-AMG ONE (เมร์เซเดส-เอเอมจี วัน) สุดยอดไฮเพอร์คาร์อีกรุ่นหนึ่งของยุคปัจจุบัน ซึ่งใช้เทคโนโลยีเดียวกับรถแข่งสูตร 1 ก็ใช้เครื่องยนต์แบบ วี 6 สูบ ไฮบริด พร้อมมอเตอร์ไฟฟ้าสำหรับขับเคลื่อนล้อหน้าเช่นเดียวกัน แถมของค่ายดาวสามแฉกใช้เครื่องยนต์ความจุเพียง 1.6 ลิตร เท่ากับรถแข่งสูตร 1
ด้านเทคโนโลยีของขุมพลังนั้น เขาเลือกใช้เครื่องยนต์รหัส F163CF แบบ วี 6 สูบ ความจุ 3.0 ลิตร โดยมีมุมองศากว้างพิเศษถึง 120 องศา จนดูเผินๆ แทบจะเป็นเครื่องบอกเซอร์อยู่แล้ว โดยวางตำแหน่งเทอร์โบ 2 ตัวอยู่ตรงกลางระหว่างลูกสูบทั้ง 2 ฝั่ง ในลักษณะที่เรียกกันว่า HOT V และเทอร์โบชุดนี้มีความพิเศษ โดยติดตั้งขดลวด และแม่เหล็กเข้าที่แกนระหว่างกังหันเทอร์ไบน์กับกังหันคอมเพรสเซอร์ เพื่อให้ระบบไฟฟ้าแรงดันสูงช่วยกระตุ้นให้เทอร์โบตอบสนองว่องไวขึ้น จนสามารถลดอาการตอบสนองเฉื่อยของเทอร์โบได้อย่างมีประสิทธิภาพ
เครื่องยนต์สันดาปภายในบลอคนี้สร้างพละกำลังได้มากถึง 662 กิโลวัตต์/900 แรงม้า ที่ 8,750 รตน. และให้กำลังสุทธิ 882 กิโลวัตต์/1,200 แรงม้า เมื่อทำงานร่วมกับมอเตอร์ไฟฟ้าอีก 3 ตัว ได้แก่ ด้านหน้า 2 ตัว ขับเคลื่อนล้อหน้า แยกอิสระซ้าย-ขวา ให้กำลังตัวละ 104 กิโลวัตต์/142 แรงม้า กับด้านหลังเป็นมอเตอร์ไฟฟ้าแบบ MGU-K 1 ตัว ที่สามารถชาร์จไฟกลับได้ด้วย ให้กำลัง 60 กิโลวัตต์/81 แรงม้า ที่นอกจากจะพันขดลวดในส่วนของ STATOR ด้วยลวดทองแดงฝอยแบบ LITZ WIRE ที่ช่วยให้ลดปรากฏการณ์ SKIN EFFECT ทำให้กระไฟไหลได้ดีแล้ว ในส่วน ROTOR จะใช้การเรียงแม่เหล็กแบบที่เรียกว่า HALBACH ARRAY ที่มีการจัดเรียงแม่เหล็กถาวรแบบเสริมพลังแม่เหล็กด้านหนึ่ง แต่ในทางกลับกันก็หักล้างพลังแม่เหล็กอีกฝั่งจนแทบจะเป็นศูนย์ การจัดเรียงนี้ช่วยให้มอเตอร์ให้กำลัง และแรงบิดสูง เมื่อเทียบกับขนาด ซึ่งเป็นเทคโนโลยีที่ค่ายม้าลำพองนำมาพัฒนาใช้กับรถแข่งของพวกเขามาได้สักพักแล้ว โดยมอเตอร์ไฟฟ้าชุดนี้หมุนได้ 30,000 รตน. และมีน้ำหนักเพียง 8.8 กก. เท่านั้น
ส่วนเรื่องการถ่ายทอดพละกำลังลงสู่ล้อคู่หลัง ใช้ระบบส่งกำลังแบบเกียร์อัตโนมัติคลัทช์คู่ 8 จังหวะ โดยล้อหน้าจะใช้ไฟฟ้าที่เก็บไว้ที่แบทเตอรี 860 โวลท์ ความจุ 2.28 กิโลวัตต์ชั่วโมง มีน้ำหนักรวม 39.3 กก. และสามารถปลดปล่อยพลังงานไฟฟ้าได้มากถึง 242 กิโลวัตต์ และมีความหนาแน่นถึง 6.16 กิโลวัตต์/กก.
แน่นอนว่า สมรรถนะของ FERRARI F80 ร้อนแรงไม่น้อยหน้าใคร โดยมีอัตราเร่งจาก 0-100 กม./ชม. ใน 2.15 วินาที 0-200 กม./ชม. ใน 5.75 วินาที (MERCEDES-AMG ONE อัตราเร่ง 0-200 กม./ชม. ใน 7.0 วินาที) ความเร็วสูงสุด 350 กม./ชม. ซึ่งมีรถจำนวนไม่น้อยที่ทำความเร็วสูงสุดได้เท่านี้ แต่ความเร็วสูงสุดไม่ใช่สุดยอดปรารถนาของไฮเพอร์คาร์คันนี้ เพราะมันไม่ได้ถูกออกแบบมาให้วิ่งแต่ทางตรง แต่มันมาพร้อมกับอากาศพลศาสตร์ขั้นสุดยอดที่จะทำให้มันวิ่งได้เร็วขณะเข้าโค้ง นั่นคือ การใช้ระบบอากาศพลศาสตร์แบบแอคทีฟ ที่สามารถปรับเปลี่ยนแรงกดมากน้อยได้ตามต้องการ
เรียกได้ว่า การใช้เครื่องยนต์แบบ วี 6 สูบ ไฮบริด นั้นเป็นเรื่องของเทคโนโลยีแห่งยุคสมัย ถึงคุณจะเถียงว่า รถแบบนี้เขาซื้อมาจอด ไม่มีใครขับกันบ่อยๆ ซึ่งอันนั้นมันเป็นความคิดของคุณเท่านั้น แต่สำหรับค่ายม้าลำพอง ไฮเพอร์คาร์คันนี้ คือ ตัวแทนเทคโนโลยีจากสนามแข่งของพวกเขา แล้วหากจะขายไม่ออกเพราะแนวคิดนี้ มันก็เป็นเรื่องของเขา
2. เสียงไม่กึกก้องกัมปนาทแบบที่สาวกหลงใหล เรื่องนี้ทางค่ายดูอยากจะบอกว่า นี่คือเสียงแห่งยุคสมัยเช่นกัน เพราะนี่คือเสียงของ FERRARI แบบ 6 สูบ ที่มีจังหวะจุดระเบิด 1-6-3-4-2-5 ที่มีซุ่มเสียงเป็นเอกลักษณ์ แต่ถึงอย่างไรก็ตาม ความชอบมันเป็นเรื่องส่วนบุคคล ตัวผู้เขียนเองก็รู้สึกว่ามันไม่เร้าใจเช่นกัน
3. เรื่องสไตลิง ผลงานของนักออกแบบฝีมือฉกาจ ที่ฝากผลงานยอดเยี่ยมกับ FERRARI สารพัดรุ่น นั่นคือ FLAVIO MANZONI (ฟลาวีโอ มันโซนี) คือ อีกสิ่งหนึ่งที่คนส่วนใหญ่รับไม่ได้ โดยเฉพาะส่วนหน้ากากสีดำ ซึ่งคนจำนวนไม่น้อยพูดเป็นเสียงเดียวกันว่า “กลับไปหา PININFARINA เถอะ” สงสัยจะลืมกันไปว่าเขาคนนี้ คือ ผู้ออกแบบ LAFERRARI
เอาจริงๆ หลังจากได้ดูรูปซ้ำแล้วซ้ำเล่าก็พบว่า มันเป็นรถที่สวยมากเกือบทุกมุม ติดเพียงด้านหน้าที่ขัดตาอยู่ และเชื่อว่า ถ้าถอดไอ้หน้ากากสีดำไปทำให้เป็นสีเดียวกับตัวรถก็จะดูสบายตาขึ้น โดยที่ดีไซจ์เนอร์เลือกใช้หน้ากากสีดำ เขาให้เหตุผลว่า อยากจะก้าวข้ามรูปลักษณ์ของ “ตา จมูก ปาก” ซึ่งเป็นสิ่งที่อยู่คู่กับโลกยานยนต์มาช้านาน ด้วยการใช้ไวยากรณ์ใหม่ ซึ่งคิดว่า คงต้องใช้เวลาสักพักกว่าเราจะเข้าใจถึงวิสัยทัศน์นี้
ส่วนรูปลักษณ์ส่วนอื่นๆ ของรถคันนี้ เรียกได้ว่าเป็น มาสเตอร์พีศทางวิศวกรรมอากาศพลศาสตร์ชั้นเยี่ยม ด้วยการใช้หลักการ ADAPTIVE AERO เพราะนี่คือรถที่ขณะวิ่งด้วยความเร็ว 250 กม./ชม. จะสามารถสร้างแรงกดได้ถึง 1,000 กก. เลยทีเดียว และขณะเดียวกันก็สามารถหาสมดุลระหว่างแรงกดกับการลดแรงต้านอากาศได้อย่างลงตัว โดยที่ความเร็วดังกล่าว บริเวณส่วนหน้าของรถจะสามารถสร้างแรงกดได้ 460 กก. จากการออกแบบให้ช่องดูดอากาศด้านหน้าทำหน้าที่เป็นปีก โดยอากาศจะวิ่งผ่านช่องเปิด ที่มีรูปตัดเป็นทรง S-DUCT โดยชิ้นส่วนหน้ากากสีดำ ทำหน้าที่เป็นเหมือนปีกด้วยเช่นกัน ส่วนด้านในของช่อง S-DUCT จะมีแผ่นปีกด้านในอีก 2 ชิ้น ทำงานร่วมกันจนเป็นเหมือนระบบปีก 3 ชั้น (TRIPLANE WING) ทั้งหมดนี้ปรับมาจากระบบอากาศพลศาสตร์ของ FERRARI 499P
อากาศที่ไหลผ่านช่องเปิดด้านกันชนหน้า จะถูกบีบอัดปริมาตร และยิงขึ้นไปทางด้านบน มันช่วยเหนี่ยวนำ ดูดให้อากาศใต้ท้องรถหนีตามขึ้นไปด้วย และทำให้แรงดันใต้ท้องรถลดลง คิดเป็นส่วนแบ่งถึง 150 กก. จากจำนวนรวม 460 กก. ทั้งหมดนี้ต้องทำงานร่วมกับระบบกันสะเทือนแบบแอคทีฟ ที่จะช่วยรักษาความสูงของตัวรถจากพื้นให้เหมาะสม เพื่อให้เกิดประสิทธิภาพสูงสุด ซึ่งแน่นอนว่าชิ้นส่วนอื่นๆ ของตัวรถเองก็ออกแบบเพื่อให้การไหลของอากาศ ช่วยสร้างแรงยึดเกาะถนนให้มากที่สุด และสามารถระบายความร้อนออกจากตัวรถได้เต็มประสิทธิภาพ
สำหรับส่วนด้านท้าย สามารถสร้างแรงกดได้มากถึง 590 กก. ที่ความเร็ว 250 กม./ชม. โดยปีกหลังแบบแอคทีฟที่ไม่เคยมีใช้ใน FERRARI มาก่อน การทำงานของมันไม่ใช่เพียงปรับความสูง แต่สามารถปรับมุมกระทำได้ด้วยเช่นกัน โดยในโหมดแรงกดสูง (HIGH DOWNFORCE หรือ HD) ที่จะใช้ระหว่างการลดความเร็วกับช่วงเลี้ยวโค้ง ปีกจะสามารถปรับมุมองศาให้ชันเพิ่มขึ้นได้มากกว่าเดิมถึง 11 องศา เพื่อเพิ่มแรงกดให้มากขึ้นอีก 180 กก. ส่วนในโหมดลดแรงต้านอากาศ (LOW DRAG หรือ LD) ตัวปีกหลังจะหงายหน้าขึ้นเล็กน้อย วิธีการนี้จะลดแรงต้านอากาศ และจะอยู่ในโหมดนี้ช่วงต้องการวิ่งความเร็วสูงสุด
ปีกหลังแบบแอคทีฟ (ACTIVE WING) คือ หัวใจของระบบ ADAPTIVE AERO เพราะมันจะทำงานด้วยตัวเอง ด้วยข้อมูลจากเซนเซอร์ต่างๆ ที่วัดมาจาก อัตราเร่ง ความเร็ว องศาพวงมาลัย ฯลฯ มาประมวลผล และสั่งงานให้ปีกทำมุมที่แตกต่างกันไป เพื่อความสมดุลของแรงกด และแรงต้านอากาศที่ดีที่สุด นอกจากปีกหลังแล้ว ด้านหน้าของรถบริเวณใต้ลิ้นหน้า ก็จะมีลิ้นไฟฟ้าที่เปิดออกเพื่อทำงานร่วมกัน เพื่อสมรรถนะสูงสุดอีกด้วย
นอกจากเครื่องยนต์ไฮบริดที่ทรงพลัง ระบบอากาศพลศาสตร์ขั้นเทพ ดังที่กล่าวไปแล้วว่า รถคันนี้ยังโดดเด่นด้วยการใช้ระบบรองรับแบบแอคทีฟ ซึ่งทำงานด้วยระบบไฟ 48 โวลท์ โดยระบบรองรับทั้ง 4 ล้อ จะทำงานร่วมกับมอเตอร์ไฟฟ้า 48 โวลท์ ล้อละ 1 ตัว ซึ่งทำหน้าที่แทนเหล็กกันโคลง สามารถปรับการตอบสนองได้อย่างอิสระ วิ่งได้เรียบ และปรับความสูง-ต่ำของท้องรถให้สอดคล้องกับความเร็ว ปรับความแข็ง-อ่อนของการตอบสนอง เพื่อให้ดูดซับแรงกระแทกได้ดีสำหรับถนนทั่วไป แถมยังลดอาการหน้าทิ่มเวลาเบรค ช่วยรักษาสมดุลของการถ่ายเทน้ำหนัก (WEIGHT TRANSFER) ที่อาจทำให้รถเสียการทรงตัว รวมถึงการเข้า-ออกโค้งด้วย
ด้านการออกแบบโครงสร้างก็ไม่ธรรมดา โดยตัวชิ้นส่วนของปีกนกดับเบิลวิชโบนนั้น ตัวปีกนกบน (UPPER WISHBONE) สร้างขึ้นจากชิ้นส่วนที่ขึ้นรูปด้วยวิธีพิมพ์ 3 มิติ ซึ่งเป็นครั้งแรกของ FERRARI เพื่อช่วยให้ได้ชิ้นงานที่ซับซ้อน แต่มีน้ำหนักเบาเป็นพิเศษ
หน้าตา และซุ่มเสียงจากขุมพลังบลอค วี 6 สูบ อาจไม่ชนะใจมหาชน และไม่กลายมาเป็นโพสเตอร์ติดผนังห้องนอน หรือสกรีนเซฟเวอร์บนจอคอมพิวเตอร์ แต่มันไม่สำคัญเท่ากับชัยชนะในการแข่งขัน ซึ่งแน่นอนว่า บรรดาค่ายคู่แข่งอย่าง ASTON MARTIN (แอสตัน มาร์ทิน), KOENIGSEGG (โคนิกเซกก์), LAMBORGHINI (ลัมโบร์กินี), McLAREN (แมคลาเรน), MERCEDES-AMG, PAGANI (ปากานี) และ PORSCHE (โพร์เช) ต่างก็รอลูบคม FERRARI F80 อยู่ งานนี้จึงเป็นศึกแห่งศักดิ์ศรีที่ยอมไม่ได้ !