เปรียบเทียบยอดจำหน่ายรถยนต์ประจำเดือนกันยายน 2024/2023
ตลาดโดยรวม -37.1 %
รถยนต์นั่ง -38.4 %
รถกิจกรรมกลางแจ้ง (SUV) -31.0 %
กระบะ 1 ตัน -40.1 %
รถเพื่อการพาณิชย์ -24.7 %
เปรียบเทียบยอดจำหน่ายรถยนต์ประจำเดือนมกราคม-กันยายน 2024/2023
ตลาดโดยรวม -25.3 %
รถยนต์นั่ง -22.7 %
รถกิจกรรมกลางแจ้ง (SUV) +9.4 %
กระบะ 1 ตัน -40.0 %
รถเพื่อการพาณิชย์ -10.7 %
เผลอไปช่วงเวลาเดียว จะเปลี่ยนสู่ปีใหม่อีกแล้วครับ ปี 2567 ที่กำลังจะผ่านไป ตลาดรถยนต์ในประเทศไทยเป็นหนึ่งในภาคผลิตที่อ่อนตัวหนักมาก ท่ามกลางการแข่งขันที่ดุเดือด และรุนแรง เซกเมนท์ใหม่ คือ รถยนต์ไฟฟ้า มีการแข่งขันสูงทั้งจากบรรดาค่ายรถหน้าใหม่ และต้องแข่งขันกับรถสันดาปภายในจากเจ้าตลาดรายเดิม ที่เริ่มปรับตัว
รถจากค่ายญี่ปุ่นครองตลาดมาอย่างยาวนาน ในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมา มีความพยายามจากค่ายรถหน้าใหม่ โดยเฉพาะจากจีนที่จะเข้ามาแย่งชิงส่วนแบ่งในตลาด ปี 2567 ที่กำลังจะผ่านไป มีบแรนด์รถยนต์เกิดใหม่ในเมืองไทยมากที่สุดในประวัติศาสตร์ก็ว่าได้ และมีอีเวนท์การเปิดตัวรถรุ่นใหม่ไม่น้อยกว่า 80 อีเวนท์ สวนทางกับตลาดที่ยอดการจำหน่ายรวมเหลือเพียง 6 แสนคัน จากเคยขายกัน 8-9 แสนคัน/ปี ดังนั้น ปีใหม่ที่กำลังจะมาถึงจึงไม่ใช่เรื่องง่ายอีกต่อไป สำหรับการรักษาสภาพความแข็งแกร่ง ปี 2568 ผมมีข้อสังเกตให้ทุกท่านได้ลองติดตามดู
โดยเฉพาะการรุกคืบของผู้ผลิตรถยนต์จากจีน สำหรับรถจากจีนมีความเคลื่อนไหวของค่ายรถหน้าใหม่ หลายค่ายได้พยายามเข้ามาทำตลาดในไทย แต่ผลลัพธ์ยังคงท้าทาย ในขณะที่ค่ายญี่ปุ่นจะรักษาความแข็งแกร่งในฐานะเจ้าตลาดไว้ได้อย่างไร
การเริ่มรุกตลาดรถกระบะจากจีนเป็นเรื่องที่น่าสนใจในปี 2568 สำหรับฝั่งญี่ปุ่นที่สามารถครองใจผู้บริโภคในไทยมานานด้วยความเข้าใจในตลาด และสามารถจัดการซัพพลายเชนไว้ในมือได้อย่างแข็งแกร่ง จะปรับตัวอย่างไร
ผมเชื่อว่า ในภาพรวมปีหน้าเราจะเห็นภาพการร่วมมือกันของรถญี่ปุ่นอย่างไม่เคยมีมาก่อน เพื่อรับมือกับรถยนต์จากจีน รถญี่ปุ่นมีความได้เปรียบในแง่ของความเข้าใจผู้บริโภคในไทยอย่างลึกซึ้งกว่าค่ายรถหน้าใหม่ ในขณะที่เครือข่ายของรถญี่ปุ่น สามารถควบคุมซัพพลายเออร์สำคัญทั้งหมดในอุตสาหกรรมนี้ไว้ได้ ญี่ปุ่นมีฐานลูกค้าเก่าจำนวนมาก
แน่นอนว่า ในกลยุทธ์สำคัญของการผลิตรถในเชิงอุตสาหกรรม การที่มีจำนวนฐานลูกค้ามาก และยังสามารถพึ่งพาตลาดในประเทศ และการผลิตเพื่อการส่งออก ซึ่งญี่ปุ่นนั้นสามารถใช้ประโยชน์จาก ECONOMIES OF SCALE ปี 2568 เราจะเห็นภาพค่ายรถญี่ปุ่น เช่น ISUZU (อีซูซุ), MITSUBISHI (มิตซูบิชิ) และ TOYOTA (โตโยตา) ร่วมกันสั่งซื้อชิ้นส่วนสำคัญอย่าง เครื่องยนต์ ระบบเกียร์ และเพลา มากยิ่งขึ้น เพื่อลดต้นทุนการผลิต และสามารถทำราคาให้แข่งขันกับรถจีน ญี่ปุ่นจะเปลี่ยนฐานการผลิตโดยยกเลิกรถบางรุ่นในไทย หันไปนำเข้าทั้งจากอินโดนีเซีย จีน และมาเลเซีย รถบางค่ายจะนำเข้าจากอินเดีย โดยพักไว้ที่อินโดนีเซียก่อน เพื่อใช้ประโยชน์จากเขตการค้าเสรีอาเซียน
ถึงแม้ว่าค่ายรถจากจีนจะมีความโดดเด่นในหลายด้าน โดยเฉพาะความได้เปรียบทางด้านภาษี และต้นทุนที่รัฐบาลจีนสนับสนุน แต่จากนี้ไป จีนจะต้องพบกับความท้าทายในการเจาะตลาดไทยมากกว่าเดิม จากการร่วมมือกันของค่ายญี่ปุ่น
รถยนต์จีนนั้นชำนาญการขายในประเทศตัวเอง แต่บางครั้งหลายค่ายยังขาดประสบการณ์ในการทำตลาดระดับนานาชาติ ทำให้ไม่สามารถเข้าถึงกลุ่มผู้ซื้อได้อย่างมีประสิทธิภาพ จีนยังคงต้องการทำความเข้าใจผู้บริโภค และความต้องการที่แท้จริงของตลาดไทย
ในแง่ของการทำการผลิตในไทย จีนยังขาดแคลนพันธมิตรท้องถิ่น การทำตลาดในไทยต้องอาศัยครอบครัวท้องถิ่น และพันธมิตรที่มีประสบการณ์ในการขาย การเดินเกมด้วยเงินถุงเงินถังเพียงอย่างเดียวเป็นได้ในระยะสั้น แต่ในระยะยาว ค่ายรถจีนต้องเผชิญหน้ากับความผันผวนเหมือนที่เริ่มเกิดขึ้นกับรถบางบแรนด์ของจีนในช่วงกลางปี 2567 ที่ผ่านมา
“ราคารถของจีน” ไม่ใช่ปัญหา ค่ายรถจีนสามารถนำเสนอรถในราคาที่ต่ำ และได้รับการตอบรับในระดับที่ดีในช่วงต้นของการบุกตลาด แต่ประสบการณ์การแข่งขันทางด้านราคาไม่ใช่ว่าจะสำเร็จ เพราะในอดีต บางบแรนด์ของฝั่งรถญี่ปุ่น ก็เคยฟัดกันด้วยราคามาก่อน แต่ก็ไม่สามารถก้าวขึ้นมาเป็นบแรนด์นำตลาดได้ แสดงให้เห็นว่าราคาที่ต่ำไม่ได้ช่วยให้ประสบความสำเร็จในตลาด
ด้วยปัจจัยต่างๆ ที่กล่าวมานี้ ปี 2568 จะเป็นปีที่เปลี่ยนโฉมหน้าตลาดรถยนต์เมืองไทยอีกรอบ
ติดตามดูกันให้ดีๆ สวัสดีปีใหม่ทุกท่านครับ