ตอบจดหมาย
การสตาร์ทบนทางชันที่เสี่ยงต่อการลื่นไถลของรถ
1. การสตาร์ทขณะที่เข้าเกียร์ คือ การสตาร์ทบนทางชันที่เสี่ยงต่อการลื่นไถลของรถ หากสตาร์ทด้วยวิธีปลดเกียร์ว่าง เมื่อเหยียบคลัทช์เข้าเกียร์แล้ว หากปล่อยคลัทช์ไม่ได้จังหวะ อาจทำให้ล้อหมุนฟรีและลื่นไถล
2. ออกแรงกดที่บริเวณมุมของตัวรถแล้วปล่อยให้ตัวรถดีดคืนขึ้นมา ชอคอับในสภาพการใช้งานปกติตัวรถจะต้องกระดอนขึ้นมายังตำแหน่งเดิมเพียงจังหวะเดียว ถ้ากระดอนขึ้นมามากกว่าหนึ่งครั้งแล้ว เตรียมตัวเสียเงินได้เลย
3. การเตรียมอุปกรณ์ต่างๆ สำหรับการผจญภัยในช่วงนี้ แม้จะย่างเข้าฤดูหนาว แต่เส้นทางยังชุ่มฝนอยู่ อุปกรณ์ต่างๆ ที่ควรจะต้องเตรียม ก็ไม่ต่างจากการเดินทางในช่วงฤดูฝน
เข้าเกียร์สตาร์ท
ฉบับแรกจาก นิรันดร์ พูนทรัพย์/จ. ราชบุรี สงสัยเรื่องเข้าเกียร์สตาร์ท
ถาม : ผมใช้รถ โตโยตา ไฮลักซ์ วีโก รุ่นขับเคลื่อน 4 ล้อ เกียร์ธรรมดาอยู่ ปกติแล้วก่อนสตาร์ทรถทุก
ครั้ง ต้องปลดเกียร์ว่างเพื่อความปลอดภัย แต่เคยได้ยินคนเข้าพูดกันถึงเรื่อง "สตาร์ทอินเกียร์" อยากทราบว่าเป็นอย่างไร และดีกว่าการปลดเกียร์ว่างสตาร์ทอย่างไร ?
ตอบ : การสตาร์ทรถโดยทั่วไป ต้องปลดเกียร์ว่างแบบที่คุณเข้าใจนั้นถูกต้องแล้ว แต่การสตาร์ทรถขณะเข้าเกียร์ หรือสตาร์ทอินเกียร์นั้น เป็นเทคนิคพิเศษที่ใช้กับรถขับเคลื่อน 4 ล้อโดยเฉพาะ ไม่แนะนำให้ใช้กับรถประเภทอื่น
สถานการณ์ที่แนะนำให้สามารถทำการสตาร์ทในขณะที่เข้าเกียร์ คือ การสตาร์ทบนทางชันที่เสี่ยงต่อการลื่นไถลของรถ หากสตาร์ทด้วยวิธีปลดเกียร์ว่าง เมื่อเหยียบคลัทช์เข้าเกียร์หากปล่อยคลัทช์ไม่ได้จังหวะ อาจทำให้ล้อหมุนฟรีและลื่นไถล จึงแนะนำให้ทำการสตาร์ทขณะที่เราเข้าเกียร์ แรงฉุดของมอเตอร์สตาร์ทจะทำให้รถเคลื่อนตัวไปข้างหน้าไม่เสียจังหวะ แต่ถ้ากำลังไฟแบทเตอรีไม่พอ อาจไม่สามารถทำการสตาร์ทด้วยวิธีนี้ได้ นอกจากนี้แล้ว หากทำการสตาร์ทต่อเนื่องนานกว่า 5 วินาทีแล้วเครื่องยนต์ยังไม่ทำงาน ควรหยุดพักการสตาร์ท เพราะอาจทำให้มอเตอร์สตาร์ทเสียหายได้
เทคนิคการสตาร์ทในขณะเข้าเกียร์ ยังสามารถนำไปใช้ในกรณีที่ต้องการขยับรถเพียงเล็กน้อยในภาวะคับขัน เช่น การขึ้นจากร่องน้ำ
ชอคอับเสีย
ฉบับที่สองจาก นิรุกข์ ไกรกาบแก้ว/กทม. อยากทราบอายุการใช้งานของชอคอับ
ถาม : เราจะรู้ได้อย่างไรว่าชอคอับในรถที่ใช้งานอยู่มีปัญหา แล้วจำเป็นต้องเปลี่ยนใหม่ทันทีหรือไม่หากจำเป็นต้องใช้งานต่อไปสักระยะหนึ่งแล้วค่อยเปลี่ยน จะเป็นอะไรหรือเปล่า เนื่องจากต้องใช้รถทุกวัน ไม่ค่อยมีเวลาว่างเลย ?
ตอบ : ชอคอับนั้นเป็นชิ้นส่วนหนึ่งของระบบรองรับ ทำหน้าที่ดูดซับแรงสั่นสะเทือน หากรถไม่มีชอคอับคอยช่วยในระบบรองรับแล้ว เมื่อรถต้องวิ่งผ่านทางที่มีผิวขรุขระ คงไม่มีความแตกต่างไปจากเกวียนสักเท่าไร
ชอคอับนั้นมีอายุการใช้งานตามแต่ผู้ผลิตแต่ละยี่ห้อกำหนดมา เมื่อหมดอายุการใช้งานแล้วจะส่งผลต่อระบบรองรับอย่างเห็นได้ชัด เนื่องจากความถี่ในการกระดอนขึ้น/ลงของกระบอกชอคอับนั้นมีมาก คุณสามารถสังเกตชอคอับในรถของคุณได้ว่าหมดอายุการใช้งานแล้วหรือยัง โดยออกแรงกดที่บริเวณมุมตัวรถ แล้วปล่อยให้ตัวรถดีดคืนขึ้นมา ชอคอับในสภาพการใช้งานปกติตัวรถจะต้องกระดอนขึ้นมายังตำแหน่งเดิมเพียงจังหวะเดียวเท่านั้น ถ้ากระดอนขึ้นมามากกว่าหนึ่งครั้งแล้ว คุณเตรียมตัวเสียเงินได้เลย เพราะชอคอับนั้นมีปัญหาแน่นอน ให้ทำแบบเดียวกันนี้ทีละมุมจนครบทั้ง 4 มุม
การทดสอบชอคอับเสีย นอกจากทดสอบโดยการกดที่ตัวรถแล้ว ยังอาจสังเกตที่ตัวกระบอกชอคอับได้อีก หากชอคอับนั้นหมดสภาพการใช้งานแล้ว จะสังเกตได้ว่าบริเวณโดยรอบของกระบอกชอคอับจะมีคราบน้ำมันอยู่ น้ำมันที่ว่าคือ น้ำมันไฮดรอลิคที่บรรจุอยู่ในกระบอกชอคอับรั่วไหลออกมา ถ้าพบว่ามีสภาพเช่นนั้นก็ควรรีบจัดการเปลี่ยนชุดใหม่
ที่ถามมาว่าเมื่อพบว่าชอคอับเสีย ควรรีบเปลี่ยนชุดใหม่ทันทีด้วยหรือ คำตอบที่ถูกต้องคือ ใช่ ต้องรีบจัดการเปลี่ยนใหม่โดยเร็วที่สุด ที่เป็นเช่นนั้นก็เพราะว่า อาจส่งผลเสียหายต่อชิ้นส่วนอื่นของระบบรองรับได้อีก โดยเฉพาะยาง เมื่อการกระดอนของชอคอับไม่อยู่ในสภาพปกติแล้ว จะเกิดอาการเหินลอยตัวจากพื้นอันเนื่องมาจากการกระดอนของชอคอับ ทำให้ยางเกิดการเฉือนกับพื้นผิวถนน จนเป็นเหตุให้หน้ายางเป็นบั้งๆ นอกจากนี้ยังส่งผลเกี่ยวกับการทรงตัวของรถอีก ไม่ว่าจะเป็นการขับข้ามสะพานที่ชันๆ หรือการเบรคอย่างรุนแรง อาจทำให้รถเซถลาด้านใดด้านหนึ่ง จนไม่สามารถควบคุมทิศทางได้
เมื่อพบว่าชอคอับที่ล้อใดหมดสภาพการใช้งานแล้ว ก็ไม่ใช่ว่าจะเปลี่ยนชอคอับนั้นเพียงจุดเดียว การเปลี่ยนชอคอับนั้นต้องเปลี่ยนทีละคู่ อย่างเช่น คู่ล้อหน้า หรือคู่ล้อหลัง เพื่อให้เกิดความสมดุลในขณะที่ใช้งาน หรือถ้ามีเงินเหลือ จะเปลี่ยนใหม่ทั้ง 2 คู่เลยก็ได้
ช่วยแนะนำสถานที่ท่องเที่ยว
ฉบับสุดท้ายจาก กุลพล อธิคมอำนวย/กทม. อยากทราบฤดูที่เหมาะสมแก่การท่องเที่ยว
ถาม : ผมเพิ่งซื้อรถ ซูซูกิ แคริเบียน ต่อจากเพื่อนมา ตกแต่งไปพอสมควร แต่ยังไม่เคยออกไปใช้ท่องเที่ยวที่ไหน และยังไม่มีประสบการณ์การท่องเที่ยวในเส้นทางธรรมชาติ อ่านคอลัมน์ "ชีวิตอิสระ" แล้วอยากไปสัมผัสแบบนั้นบ้าง จึงอยากให้ช่วยแนะนำฤดูกาลที่เหมาะสม รวมถึงวิธีเตรียมตัวก่อนเดินทางให้ด้วย ?
ตอบ : การขับรถและการใช้ชีวิตกลางแจ้ง เพื่อสัมผัสธรรมชาติแบบไร้สารปรุงแต่ง เหมาะที่จะทำในช่วงปลายฝนต้นหนาว ราวปลายเดือนตุลาคมถึงเดือนพฤศจิกายน เหตุผลก็คือ ในช่วงนี้น้ำในคลองหรือลำธาร ยังอยู่ในสภาพเหมือนกับช่วงฤดูฝน ต้นไม้ใบหญ้ายังเขียวขจีอยู่ อีกทั้งยังเหมาะในการกางเทนท์พักค้างแรม อากาศในช่วงนี้ถือว่าเป็นช่วงที่ดีที่สุด เพราะไม่มีฝนมากวนใจ แถมยังเย็นสบายเหมาะแก่การซุกตัวในเทนท์กับคนรัก
การเตรียมอุปกรณ์ต่างๆ สำหรับการผจญภัยในช่วงนี้ แม้จะย่างเข้าฤดูหนาว แต่เส้นทางยังชุ่มฝนอยู่เพราะฉะนั้นอุปกรณ์ต่างๆ ที่ควรจะต้องเตรียม ก็ไม่ต่างจากการเดินทางในช่วงฤดูฝน
อุปกรณ์ชิ้นแรกที่จะพูดถึงน่าจะเป็น "วินช์" หรือ "รอกไฟฟ้า" ถ้าหากเป็นของใหม่ก็หมดปัญหากังวลใจแต่ถ้าเป็นของมือสอง หรือติดมากับรถที่ผ่านการใช้งานมาบ้างแล้ว ก็ควรตรวจสอบสายสลิง ว่ามีรอยหัก หรือฉีกขาดมากน้อยขนาดไหน ยังสามารถใช้งานได้หรือไม่ หากไม่มั่นใจว่าจะสามารถทนแรงดึงขนาดหลายพันปอนด์ได้ ควรเปลี่ยนใหม่ดีกว่า
เมื่อตรวจดูสายสลิงเรียบร้อยแล้ว ก็มาถึงระบบไฟว่าอุปกรณ์ต่างๆ อยู่ในสภาพพร้อมใช้งานหรือไม่โดยเฉพาะปลั๊กที่จะต้องต่อกับรีโมทควบคุมการหมุนส่งกำลังของรอกไฟฟ้า อุปกรณ์ต่อมา คือ สนอร์เกิล หรือท่อหายใจของเครื่องยนต์ อย่างที่กล่าวแล้วว่า ความชุ่มฉ่ำของฝนยังอยู่ ฉะนั้นระดับน้ำในลำธารหรือคูต่างๆ ยังคงสูง โอกาสที่รถของคุณจะดำน้ำนั้นมีอยู่ตลอดเวลา ให้ตรวจสอบบรรดาข้อต่อว่าแน่นหนาดีหรือเปล่า ส่วนอุปกรณ์จุกจิก ไม่ว่าจะเป็นพลั่ว สายลาก ถังน้ำมันสำรอง ฯลฯ ก็ต้องมีติดรถไว้
ส่วนการตรวจเชคสภาพรถ ควรตรวจสอบลูกยางต่างๆ รวมทั้งจาระบีในข้อต่อต่างๆ ด้วย หลังจากตรวจตราอุปกรณ์ในการเดินทางแล้ว อย่าลืมตรวจเทนท์และถุงนอนของคุณด้วย
สุดท้ายควรตรวจสอบสถานการณ์และเส้นทางที่จะไปให้แน่นอนเสียก่อน เพราะเมื่อหมดฤดูฝนใหม่ๆบางครั้งสภาพเส้นทางในบางช่วงอาจไม่สามารถไปได้ อาจเป็นเพราะเส้นทางขาด หรือน้ำยังคงท่วมขังอยู่ เพราะฉะนั้นก่อนเดินทางเข้าไป ควรตรวจสอบและขออนุญาตกับเจ้าหน้าที่ในพื้นที่เสียก่อน จะได้ไม่มีปัญหาตามมาทีหลัง
ขอให้สนุกกับชีวิตกลางแจ้ง ในช่วงปลายฝนต้นหนาวครับ
ABOUT THE AUTHOR
อ
อีซีแมน
นิตยสาร 417 ฉบับเดือน สิงหาคม ปี 2550
คอลัมน์ Online : ตอบจดหมาย(4wheels)