เคยได้ยินเรื่อง โครงการรถโดยสารประจำทางด่วนพิเศษ หรือ บีอาร์ที กันบ้างหรือเปล่า ที่นี่เคยเอามาเล่าอยู่หลายหน ตอนนี้ก็อยู่ระหว่างการก่อสร้างสายแรก แต่ก็ปรากฏว่า มีแต่เสียงคนไม่เห็นด้วย เพราะไปสร้างเอาสายที่มีแต่รถ 10 ล้อ วิ่ง ประชาชนธรรมดาไม่ค่อยเดินทางเส้นนั้นกัน
ก็ต้องคอยดูว่าเริ่มโครงการแล้วจะเป็นอย่างไร เพราะตอนนี้ท่านผู้ว่าก็โดยสอบเรื่อง รถดับเพลิงเรือดับเพลิง แค่นั้นก็งงไปหมดแล้ว
เอาเป็นว่า หนนี้เก็บเอามาเล่าสู่กันฟัง เพราะเหตุว่ามันเป็นข่าว
ข่าวแรก กทม. ก็เตรียมประมูลซื้อรถโดยสารประจำทางชนิดใช้แกสธรรมชาติ CNG เป็นเชื้อเพลิง ขนาดเครื่องยนต์ไม่น้อยกว่า 220 กิโลวัตต์ หรือ 300 แรงม้า เกียร์อัตโนมัติ มีลักษณะเป็นรถพ่วง ARTICULATED BUS จำนวน 30 คัน เพื่อใช้ในโครงการรถโดยสารประจำทางด่วนพิเศษ ด้วยวิธีการทางอีเลคทรอนิคส์ โดยผู้ขายต้องรับประกันความชำรุดบกพร่อง หรือดำเนินการตามเงื่อนไขในการบำรุงรักษา เป็นเวลา 2 ปี
มันติดอยู่ตรงรายละเอียดที่ว่า เจ้ารถโดยสารแบบนี้ ต้องขับเคลื่อนด้วยเครื่องยนต์แกสธรรมชาติอัด ผลิตภัณฑ์ของยุโรป หรืออเมริกาเหนือ ที่ได้มาตรฐานไอเสียไม่ต่ำกว่า ยูโร III โดยมีหนังสือรับรอง อาทิ TUV USEPA หรือ สมอ. ถังบรรจุแกสอัดมีความจุรวมไม่น้อยกว่า 900 ลิตร
เรื่องคงยังไม่ค่อยยุ่งเท่าไรนัก เพราะเพิ่งจะแค่เริ่มต้น แต่เรื่องที่จะเปลี่ยนรถแอร์ 2,000 คัน ให้เป็นรถใช้แกสธรรมชาติน่ะ มันยังยุ่ง เพราะเกิดไปขอยกเว้นอากรนำเข้าของแชสซีส์รถโดยสารพร้อมเครื่องยนต์ใช้แกสธรรมชาติ CNG โดย ขสมก. ทำหนังสือถึงกระทรวงการคลัง ขอยกเว้นอากรนำเข้าโดยเสนอเป็นยกเว้นของ ซีเคดี หรือยกเว้นแบบสำเร็จรูป
เท่านั้นเองก็เป็นเรื่อง เพราะผู้ผลิตแชสซีส์ หรือเครื่องยนต์ในประเทศก็มีอยู่เยอะ งานนี้ ธนบุรี บัสบอดี้ ฯ พี่ใหญ่ อดรนทนไม่ได้ เลยทำหนังสือคัดค้าน
หลังจากประชุมพิจารณา หมดกาแฟกันไปหลายห่อแล้ว ทั้งคณะกรรมการภาษีอากร สำนักงานเศรษฐกิจการคลัง สภาอุตสาหกรรมจังหวัดต่างๆ ที่มีโรงงานประกอบแชสซีส์ หรือต่อตัวถังรถยนต์โดยสาร ก็มีความเห็นว่า การยกเว้นอากรขาเข้า จะเป็นการทำลายอุตสาหกรรม อุตสาหกรรมประกอบตัวถังภายในประเทศ อาจยกเว้นเฉพาะชิ้นส่วนที่ไม่สามารถผลิตได้ภายในประเทศ
กระทรวงคมนาคมก็เลยตอบออกมา ให้ ขสมก. จัดซื้อจัดจ้างรถยนต์โดยสารที่ใช้แกสธรรมชาติเป็นเชื้อเพลิง ภายในประเทศ ทั้งนี้ไม่เห็นด้วยกับการนำเข้ารถยนต์สำเร็จรูป และหากจะมีการจัดซื้อจากต่างประเทศจริงแล้ว ขอให้นำเข้ามาในรูปแบบชิ้นส่วน เพื่อให้มีการประกอบภายในประเทศ
แต่หากจะมีการลดอัตราอากรขาเข้าสินค้า CBU CHASSIS WITH ENGINE และCKD CHASSISWITH ENGINE ลง โดยมีเงื่อนไข จะต้องเป็นการนำเข้าเพื่อการผลิตรถยนต์โดยสารที่ใช้แกสเป็นเชื้อเพลิง (NGV) จำนวน 2,000 คัน มีกรอบระยะเวลาการลดภาษีอากรขาเข้าลงจำนวน 2 ปี
แล้วเรื่องก็เตะกลับมาที่กระทรวงการคลังว่า เนื่องจากในการดำเนินงานจัดซื้อรถโดยสารสำเร็จรูปที่ใช้แกสธรรมชาติเป็นเชื้อเพลิง จะต้องใช้เงินลงทุนจำนวนมาก รัฐบาลจึงเห็นว่าควรจะระงับไว้ก่อน เพื่อจะไม่สร้างภาระผูกพันไว้ โดยจะให้รัฐบาลชุดต่อไปเป็นผู้พิจารณาดำเนินการอนุมัติโครงการ ฯ
จบข่าว
ไปที่เรื่องมันยังยุ่งอีกเรื่องดีไหมครับ
รู้จักเจ้ามาตรฐานโรงงานผู้ผลิตผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรมกันบ้างไหม มันเริ่มกันมาตั้งแต่ ISO 9000: 2000 แล้วก็ระเรื่อยมาให้หลายๆ ผลิตภัณฑ์ต้องวุ่นวายกับการดำเนินการภายใน เพื่อให้ผ่านเจ้ามาตรฐานที่ว่า
ทีนี้มันก็เกิดมีน้องใหม่ขึ้นมาอีกหมายเลขหนึ่ง เป็นมาตรฐานระบบการจัดการ ISO/TS 16949: 2002 ชื่อเต็มยศของมันเรียกว่า
มาตรฐานระบบบริหารงานคุณภาพสำหรับอุตสาหกรรมยานยนต์และชิ้นส่วนยานยนต์ ISO/TS 16949
จัดทำขึ้นโดยกลุ่มองค์กรความร่วมมือด้านอุตสาหกรรมยานยนต์จากประเทศต่างๆ ซึ่งร่วมกันพัฒนามาตรฐานนี้มาจากมาตรฐาน ISO 9001 และ QS 9000 เพื่อเป็นมาตรฐานสำหรับอุตสาหกรรมการผลิตชิ้นส่วนยานยนต์โดยเฉพาะ ดังนั้น มาตรฐาน ISO/TS 16949 จึงเป็นมาตรฐานสากลที่เป็นที่ยอมรับจากบริษัทผู้ผลิตรถยนต์รายใหญ่ของโลก และกลายเป็นเงื่อนไขสำคัญในการส่งมอบชิ้นส่วน
ยานยนต์ให้กับบริษัทรถยนต์รายใหญ่ทั่วโลก ถึงแม้ว่ากลุ่มผู้ผลิตรถยนต์ญี่ปุ่นหลายรายจะยังไม่ได้มีการบังคับใช้กับผู้ผลิตชิ้นส่วนของตนก็ตาม
ประเทศไทยเป็นฐานการผลิตรถยนต์ และรถจักรยานยนต์ของหลายค่ายทั้งจากสหรัฐอเมริกา ยุโรปและญี่ปุ่น ซึ่งแต่ละบริษัทได้กำหนดนโยบายในการใช้ชิ้นส่วนในประเทศ และการคัดเลือกผู้ส่งมอบชิ้นส่วนที่แตกต่างกันไป แต่ต่างก็มีรูปแบบอยู่บนพื้นฐานเพื่อให้เกิดความมั่นใจในด้านคุณภาพของชิ้นส่วนที่ส่งมอบ ซึ่งส่งผลโดยตรงต่อคุณภาพของการผลิตยานยนต์ และความเชื่อมั่นของลูกค้าทั้งใน และนอกประเทศด้วย
สำหรับผู้ผลิตชิ้นส่วนยานยนต์ของไทยที่สามารถได้รับการรับรองระบบ ฯ ตามมาตรฐาน ISO/TS 16949 นั้น จึง เท่ากับเป็นการรับรองคุณภาพในการผลิตของตนว่าสามารถผลิตได้ตามข้อกำหนดของลูกค้า โรงงานผลิตรถยนต์ และสามารถส่งมอบชิ้นส่วนให้แก่ผู้ผลิตรถยนต์ทุกค่ายได้ โดยไม่จำเป็นต้องขอรับการรับรองหลายๆ ระบบ ซึ่งจะทำให้ลดความซ้ำซ้อน ลดค่าใช้จ่ายในการขอรับการรับรองมาตรฐานต่างๆ และทำให้สามารถบริหารจัดการเพื่อให้เป็นไปตามมาตรฐานอยู่เสมอได้ง่ายขึ้น และเป็นการยกระดับการผลิตไปสู่สากล เพื่อสร้างความพร้อมในการรับกับการจัดหาชิ้นส่วนจากฐานการผลิตรถยนต์จากประเทศต่างๆ ด้วย
ที่ว่าเรื่องมันยังยุ่งก็เพราะ ยังมีผู้ผลิตชิ้นส่วนอีกมากที่ยังไม่ได้รับการรับรองมาตรฐานระบบการจัดการ ซึ่งส่วนหนึ่ง คือ เป็นกลุ่มที่เคยได้รับการรับรองในมาตรฐานระบบอื่นแล้ว และมีพื้นฐานหรือศักยภาพในการจะจัดทำตามระบบมาตรฐาน ISO/TS 16949 ได้
อีกส่วนหนึ่ง คือ กลุ่มที่ยังไม่ได้จัดทำระบบมาตรฐานการจัดการในองค์กรเลย ซึ่งเป็นผู้ผลิตรายเล็กในระดับ 2ND หรือ 3RD TIER ยังขาดความพร้อม และอาจจำเป็นต้องจัดทำระบบมาตรฐาน ISO/TS 16949 ในระยะต่อไปตามเงื่อนไขความต้องการของลูกค้าที่เป็นผู้ผลิตชิ้นส่วนรายใหญ่ได้
ในกลุ่มนี้ การสร้างพื้นฐานความรู้ความเข้าใจในมาตรฐานดังกล่าว นับเป็นสิ่งจำเป็นในระยะเร่งด่วน เพื่อที่ผู้ประกอบการจะได้เตรียมปรับโครงสร้างพื้นฐานในองค์กรเพื่อรองรับการเปลี่ยนแปลงได้อย่างมีประสิทธิภาพ
ปัญหามันไปอยู่ในส่วนของผู้ให้บริการปรึกษาแนะนำ และการตรวจประเมินตามมาตรฐาน มีผู้ที่ให้บริการในมาตรฐาน ISO/TS 16949 อยู่ในปัจจุบันไม่มากนักเมื่อเทียบกับการให้บริการในมาตรฐานอื่นๆ เนื่องจากยังมีผู้เชี่ยวชาญในมาตรฐานนี้ไม่มากนัก ต่างจากจำนวนผู้เชี่ยวชาญในด้านมาตรฐาน ISO 9001 ซึ่งมีอยู่จำนวนมากเพราะได้ดำเนินการมาแล้วเป็นระยะเวลานานโดยเฉพาะอย่างยิ่ง จำนวนผู้ตรวจประเมิน หรือ AUDITOR ตามมาตรฐาน ISO/TS 16949 ที่ยังมีจำนวนจำกัดมาก
จึงเรียนมาเพื่อให้ผู้ที่เกี่ยวข้องได้ทราบไว้ด้วย แต่ท่านจะดำเนินการอย่างไรต่อนั้น ไม่ต้องแจ้งมาที่นี่หรอก เพราะเรามีหน้าที่ค้นคว้ามานำเสนอท่านผู้ชมอยู่สม่ำเสมอแล้วครับ
ABOUT THE AUTHOR
ม
มือบ๊วย
นิตยสาร 399 ฉบับเดือน กันยายน ปี 2545