ชีวิตอิสระ
โฮจิมินห์ หลังสิ้นถนนสายเก่า
การเดินทางบนถนนแห่งกาลเวลาของชนชาติใดชนชาติหนึ่ง มักมีเรื่องราวที่น่าจดจำ และยากจะลืมเลือน คละเคล้ากันไป ฉะนั้นสิ่งเลวร้ายหลายอย่างที่ได้ก้าวผ่าน จะถูกนำมาเรียงร้อยเป็นบทเรียนเพื่อป้องกันไม่ให้เกิดซ้ำขึ้นอีก สำหรับเส้นทางสายกาลเวลาของชนชาติเวียดนาม ทุกย่างก้าวที่เดินผ่านล้วนเต็มไปด้วยรอยเลือด และคราบน้ำตา จากมหาอำนาจทั้ง จีน ฝรั่งเศส และสหรัฐอเมริกาล้วนผลัดกันเข้ามาย่ำยีชนชาติเล็กๆ นี้อยู่เนืองๆ
ประวัติศาสตร์ของเวียดนาม นับแต่ก่อตั้งประเทศ ล้วนเกี่ยวพันกับสงครามอย่างไม่รู้จักจบสิ้นการป้องกันทางทิศเหนือจากกองทัพอันเกรียงไกรของจีน ที่รุกรานครั้งแล้วครั้งเล่า แต่พวกเขาพร้อมจะสู้ยิบตา เพื่อปกป้องเอกลักษณ์ของชนชาติตนไว้ ล่วงมาถึงปีคริสต์ศักราช 1858 (พศ. 2401)นักล่าอาณานิคมอย่างฝรั่งเศส ยกพลขึ้นบกที่ดา นัง (DA NANG) มีจุดมุ่งหมายตั้งฐานอิทธิพลทั้งทางยุทธศาสตร์และศาสนาในอินโดจีน (เวียดนาม ลาว และกัมพูชา) เป็นลางบอกเหตุของการเริ่มต้นยึดอาณานิคม ซึ่งกินเวลาต่อเนื่องมาอีกเกือบศตวรรษ
ปี 1861 (พศ. 2404) ฝรั่งเศสเข้ายึดไซ่ง่อน (SAIGON) และอีก 6 ปีต่อมา ตอนใต้ทั้งหมดของประเทศได้ถูกเปลี่ยนชื่อใหม่เป็น โคชินไชนา (COCHINE CHINA) และถูกผนวกเข้าเป็นอาณานิคมของฝรั่งเศส โดยเริ่มขยายอำนาจขึ้นไปทางเหนือ ในปี 1883 (พศ. 2426) และตอนกลางของเวียดนามก็ถูกเปลี่ยนชื่อใหม่ว่า อันนัม (ANNAM) ส่วนตอนเหนือ หรือตังเกี๋ย (TONKIN) ในที่สุดก็กลายเป็นรัฐในอารักขาของฝรั่งเศส
ในปี 1946 (พศ. 2489) สงครามกู้อิสรภาพอันยาวนานนับทศวรรษจึงเปิดฉากขึ้น การต่อสู้เริ่มปะทุเดือดโดยกองทัพประชาชนเวียดนาม หรือเวียดมินห์ (VIET MINH) ซึ่งเป็นขบวนการปลดปล่อยเวียดนามออกจากการปกครองของฝรั่งเศส จัดตั้งเมื่อปี 1941 (พศ. 2484) โดยมี โฮจิมินห์ เป็นผู้นำ และนายพลโว งูเยน เกียบ (VO NGUYEN GIAP) เป็นผู้บัญชาการกองทัพ จนถึงปี 1954 (พศ. 2497)ฐานทัพฝรั่งเศสที่เดียนเบียนฟู (DIEN BIEN PHU) ก็ถูกตีแตกยับ จนต้องถอยร่นมาอยู่เส้นขนานที่ 16
หลังจากฝรั่งเศสพ่ายแพ้ที่สมรภูมิเดียนเบียนฟู จึงเป็นที่มาของการทำ "สนธิสัญญาเจนีวา" สงบศึกโดยได้แบ่งประเทศออกเป็น 2 ส่วน ที่เส้นขนานที่ 17 ส่วนเหนือเป็นสาธารณรัฐประชาธิปไตยเวียดนามหรือเวียดนามเหนือ ภายใต้การนำของพรรคเลา ดง (LAO DONG) ส่วนทางใต้เป็นสาธารณรัฐเวียดนามใต้ โดยมีพระเจ้าเบ่าได๋ เป็นกษัตริย์ และมี โง ดินห์ เดียม (NGO DINH DIEM)เป็นนายกรัฐมนตรี
เมื่อทหารฝรั่งเศสชุดสุดท้ายถอนกำลัง ในปี 1956 (พศ. 2499) ความหวังที่จะเห็นประเทศสงบสุขก็มลายหายไปอีก เพราะพายุระลอกใหม่จากมหาอำนาจสหรัฐอเมริกา ได้โหมพัดกระหน่ำเข้ามาทั้งการเลือกตั้งก็ยังเต็มไปด้วยความฉ้อฉล ทำให้ความหวังที่จะรวมชาติโดยการเลือกตั้งอย่างเสรีแทบจะเป็นไปไม่ได้ ขณะเดียวกันสหรัฐอเมริกาก็สนับสนุนกำลังทางทหาร ทำให้เวียดนามใต้กลายเป็นรัฐอารักขาของสหรัฐอเมริกา
ในปี 1960 (พศ. 2503) แนวร่วมเพื่อปลดแอกแห่งชาติของเวียดนามใต้ ถูกจัดตั้งขึ้น และเริ่มปฏิวัติเพื่อต่อต้านระบบการปกครองที่ขาดเสถียรภาพในเวียดนามใต้ อีกทั้งขบวนการคอมมิวนิสต์เวียดนามใต้ ในนามของเวียดกง (VIET CONG) ก็เริ่มเข้มแข็งขึ้นเรื่อยๆ ด้วยเหตุนี้ จอห์น เอฟ เคนเนดีประธานาธิบดีของสหรัฐ ฯ ในขณะนั้น ที่มีความเชื่อในทฤษฎีโดมิโนของ ไอเซนฮาวเออร์(EISENHOWER) คือ เมื่อชาติหนึ่งเป็นคอมมิวนิสต์ ชาติที่อยู่ใกล้เคียงจะถูกคุกคาม และตกอยู่ในอิทธิพลคอมมิวนิสต์ด้วย เช่นเดียวกับสภาพการณ์ที่เกิดขึ้นในยุโรปตะวันออก จึงส่งที่ปรึกษาทางทหารและอาวุธยุทโธปกรณ์ เพื่อพัฒนากองทัพให้กับเวียดนามใต้
ต่อมาเมื่อประธานาธิบดี จอห์น เอฟ เคนเนดี เสียชีวิตจากการลอบสังหารเมื่อวันที่ 22 พฤศจิกายนปี 1963 (พศ. 2506) ลินดอน เบน จอห์นสัน ได้รับตำแหน่งแทน ตัดสินใจส่งทหารเข้าสู่เวียดนามโดยปลายปี 1967 (พศ. 2510) มีกำลังทหารอเมริกันที่ถูกส่งไปประจำการที่เวียดนามใต้กว่า 5 แสนคนรวมทั้งทหารสัมพันธมิตรอีกกว่าแสนคน ทำให้สงครามเวียดนามขยายตัว และรุนแรงมากขึ้น
แต่เมื่อ ริชาร์ด เอม นิกซัน ซึ่งเสนอนโยบายถอนทหารสหรัฐ ฯ ออกจากเวียดนาม และได้รับเลือกให้เป็นประธานาธิบดี ในปี 1969 (พศ. 2512) จึงได้มีการทำข้อตกลงสันติภาพที่ปารีส ในปี 1973(พศ. 2516) มีวัตถุประสงค์เพื่อยุติการสู้รบทั้งหมด หลังจากนั้นสหรัฐ ฯ ได้ตกลงถอนทหารทั้งหมดออกจากเวียดนาม จนสิ้นสุดในเดือนเมษายน ปี 1975 (พศ. 2518)
วันที่ 30 เมษายน ปี 1975 (พศ. 2518) กองทัพของฝ่ายเหนือ จึงได้บุกเข้ายึดกรุงไซ่ง่อนได้สำเร็จพร้อมทั้งเปลี่ยนชื่อเมืองเป็น "โฮจิมินห์" เพื่อเป็นเกียรติแก่นักต่อสู้เพื่ออิสรภาพคนสำคัญของเวียดนามสิ้นสุดการต่อสู้อันยาวนานของพรรคคอมมิวนิสต์ในนามของการปลดแอก และการรวมชาติด้วยชัยชนะ หลังจากตกเป็นอาณานิคมของฝรั่งเศสอย่างสมบูรณ์ ในปี 1883 (พศ. 2426) เป็นต้นมาและต้องต่อสู้กับฝรั่งเศส และสหรัฐอเมริกา เป็นเวลานานถึงเกือบ 100 ปี
โฮจิมินห์ ซิที วันนี้ท้องฟ้าสดใส หลังจากฝ่ามรสุมมาลูกแล้วลูกเล่า พลังคนหนุ่มสาวรุ่นใหม่ ไม่ได้คิดคำนึงถึงสงครามอีกต่อไป ไม่ว่าจะมองไปทางไหน ก็พบแต่สีสัน และกิจกรรมอันหลากหลายผู้คนตื่นตัวทำงานอย่างขะมักเขม้น สภาพการจราจรที่เต็มไปด้วยมอเตอร์ไซค์ ทำให้พลอยตื่นเต้นไปกับบรรยากาศรอบตัว
เวียดนาม เริ่มเปิดประเทศ ด้วยทรัพยกรธรรมชาติที่มีล้นพ้น อีกทั้งค่าแรงก็แสนถูก ประชาชนขยันอดทน ทำให้มีนักลงทุนจากนานาประเทศไหลบ่าเข้ามาลงทุนกันมากมาย ส่วนด้านการท่องเที่ยวก็เริ่มได้รับความนิยมจากต่างชาติมากขึ้น ทำให้เศรษฐกิจของเวียดนามเติบโตอย่างรวดเร็ว
เปิดถนนสายใหม่
ผมได้มีโอกาสมาเยือนเวียดนามอีกครั้ง ก่อนหน้านี้ได้เดินทางไปเวียดนามกลาง ชมเมืองเว้ (HUE)อดีตเมืองหลวงอันยิ่งใหญ่ในสมัยราชวงศ์เหวียน และชมความเงียบสงบของเมืองฮอยอัน (HOI AN)ซึ่งเป็นเมืองมรดกโลกทางด้านวัฒนธรรม อดีตเคยเป็นเมืองท่าที่ใหญ่ที่สุดของภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้
ครั้งนี้ก็เดินทางมากับ บริษัท มาสด้า เซลส์ (ประเทศไทย) จำกัด เหมือนเดิม ซึ่งได้นำรถ มาซดา 3จำนวน 2 คัน เดินทางร่วมไปกับขบวนคาราวาน "เปิดประตูสู่อินโดจีน" เส้นทางข้าม 3 ประเทศ(กรุงเทพ ฯ-พนมเปญ-โฮจิมินห์) รวมระยะทางทั้งสิ้น 2,756 กม.
แม้วันเวลาจะเปลี่ยนไป ไซ่ง่อน ชื่อเก่าของ โฮจิมินห์ ก็ยังคงมีผู้คนเรียกขานกันอยู่ ทางการก็ยังเรียกเช่นนั้น ตั้งอยู่บนปากแม่น้ำไซ่ง่อน ห่างจากชายฝั่งทะเล 80 กม. มีพื้นที่ 2,000 ตารางกิโลเมตรแบ่งเป็น 17 เขตเมือง กับ 5 เขตชานเมือง เป็นเมืองที่มีความเจริญเติบโตเร็วที่สุดในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ และเป็นเมืองท่าที่ใหญ่ที่สุดของเวียดนาม กลิ่นอายของฝรั่งเศสยังคงกรุ่นอยู่ณ ที่นี้ ทั้งในด้านสถาปัตยกรรม สไตล์โกธิค ถนนสายยาว เรียงรายด้วยต้นไม้ 2 ข้างทาง ยามค่ำคืนไม่ว่าจะมองไปทางไหน จะพบแต่สีสันของแสงไฟระยิบระยับที่ประดับประดาไว้อย่างสวยสดงดงาม สถานที่ท่องเที่ยวในโฮจิมินห์ มีอยู่มากมาย ได้แก่
จัตุรัสโฮจิมินห์
บริเวณจัตุรัส มีรูปปั้น โฮจิมินห์ กับเด็กๆ ด้านหลังเป็นที่ตั้งของสำนักงานคณะกรรมการประชาชนแห่งกรุงโฮจิมินห์ ครั้งในอดีตเคยเป็นศาลากลาง ตกแต่งโดย รุฟฟิแอร์ (RUFFIER) สร้างเสร็จในปี 1908 (พศ. 2457) ใช้เวลาก่อสร้างยาวนานถึง 16 ปี ยามราตรีประดับไฟสว่างไสว อีกฟากเป็นโรงแรมเรกซ์ (REX HOTEL) ตั้งตระหง่านอวดโฉมอยู่อีกมุมหนึ่ง โรงแรมนี้เคยเป็นที่พักของบรรดาชาวอเมริกันที่มาปฏิบัติหน้าที่ในช่วงสงคราม
ทำเนียบรวมชาติ
ทำเนียบรวมชาติ หรือ ดินห์ ตง นัต (DINH THONG NHAT) อาคารทันสมัยหลังใหญ่ รายล้อมด้วยสวนขนาดใหญ่ สร้างขึ้นตั้งแต่ปี 1868 (พศ. 2411) ภายหลังข้อตกลงสัญญาเจนีวา นำจุดจบมาสู่การยึดครองของฝรั่งเศส โง ดินห์ เดียม ผู้นำเวียดนามใต้ ได้พำนักอยู่ในทำเนียบแห่งนี้ ในปี 1962(พศ. 2505) ทำเนียบนี้ถูกทิ้งระเบิดโดยนายทหารอากาศเวียดนามใต้ และได้มีการสร้างอาคารหลังใหม่ที่รู้จักกันในชื่อ "ทำเนียบอิสรภาพ" ขึ้นแทนที่ สร้างแล้วเสร็จ ในปี 1966 (พศ. 2509) และเมื่อวันที่30 เมษายน ปี 1975 (พศ. 2518) ขบวนรถถังของกองกำลังคอมมิวนิสต์ได้เข้าชนประตูเหล็กด้านหน้าของทำเนียบ และโค่นล้มรัฐบาลเวียดนามใต้
ทุกวันนี้ เปิดเป็นพิพิธภัณฑ์ให้นักท่องเที่ยวเข้าชม โดยทุกสิ่งล้วนยังคงไว้ให้เหมือนสภาพเดิมชั้นใต้ดินมีห้องประชุมวางแผนยุทธศาสตร์ ห้องสื่อสาร ห้องแผนที่ และหลุมหลบภัยของผู้นำส่วนชั้นล่างเป็นห้องจัดเลี้ยง ห้องโถงใหญ่รัฐบาลเวียดนามใต้ประกาศยอมแพ้ และห้องเล็กถูกใช้สำหรับการบรรยายสรุปประจำวันทางทหาร ในระหว่างช่วงก่อนที่รัฐบาลเวียดนามใต้จะถูกโค่นล้ม
ส่วนชั้น 2 และ 3 เป็นห้องรับรองแขกของผู้นำ ซึ่งมีห้องนอน ห้องรับประทานอาหาร และห้องสวดมนต์แบบคาธอลิค และชั้น 4 เป็นห้องฉายภาพยนตร์ส่วนตัว และลานจอดเฮลิคอพเตอร์ด้านหลังทำเนียบเป็นสวนสาธารณะ ซึ่งเป็นพื้นที่สีเขียว ร่มรื่น สบายตา สำหรับการพักผ่อนหย่อนใจของชาวเมืองในวันหยุด
โบสถ์นอเตอร์ดัม
โบสถ์นอเตอร์ดัม หรือ นา โต ดุก บา (NHA THO DUC BA) เป็นโบสถ์ใหญ่ที่สุดในเมืองได้รับการยกย่องว่ามีความสวยงามที่สุดแห่งหนึ่งในเวียดนาม ลักษณะของตัวโบสถ์เป็นสถาปัตยกรรมแบบโกธิค สร้างขึ้นตั้งแต่ปี 1877 (พศ. 2420) มีหอระฆังคู่สูง 40 เมตร เด่นเป็นสง่ามีรูปปั้นสีขาวขนาดใหญ่ของพระแม่มารี ตั้งอยู่ด้านหน้าโบสถ์ นักท่องเที่ยวนิยมมาที่นี่เพราะโบสถ์เปรียบเสมือนสัญลักษณ์อย่างหนึ่งในการเข้ามาของชาติตะวันตก
อุโมงค์กูชี
อุโมงค์กูชี (CU CHI) อยู่ห่างจากโฮจิมินห์ ซิที ประมาณ 60 กม. ไปทางทิศตะวันตกเฉียงเหนือมีเครือข่ายอุโมงค์ใต้ดินยาวกว่า 200 กม. ลึกลงไป 3 ระดับ พวกเวียดมินห์ใช้อุโมงค์นี้ เมื่อตอนที่สู้รบกับฝรั่งเศสในช่วงปี 1940 (พศ. 2483) ต่อมาใช้เป็นที่หลบซ่อนตัวของพวกเวียดกง ในอุโมงค์นี้มีทั้งศูนย์บัญชาการรบ คลีนิค ห้องน้ำ ห้องครัว ห้องประชุม และห้องนอน
ใครที่ได้เข้าไปในอุโมงค์นี้ ต่างรับรู้ถึงความทรมาน เพราะบางช่วงจะแคบมาก มีเส้นผ่าศูนย์กลางไม่เกิน 80 ซม. อย่าว่าแต่คนตัวใหญ่ไซซ์ฝรั่งเลย ขนาดผมไซซ์มาตรฐานชายไทย ตอนเข้าไปยังรู้สึกอึดอัด มืดก็มืด มีแต่แสงไฟจากไฟฉายของไกด์นำทาง แม้จะเข้าไปในอุโมงค์เพียงไม่กี่สิบเมตรยังแทบหายใจไม่ออก หากใครกลัวการอยู่ในที่มืดๆ แคบๆ แนะนำว่าอย่าลงไปเด็ดขาด
ต้องยกย่องความเพียรพยายามในการรักษาดินแดน และจิตใจอันแน่วแน่ของนักรบจรยุทธ พวกเขาสู้รบด้วยความทรหดอดทน ในช่วงสงครามกับสหรัฐอเมริกา ชาวบ้านต้องดำรงชีวิตอยู่ภายใต้ห่ากระสุนและระเบิด แต่ชาวกูชีก็ไม่เคยคิดทิ้งบ้านเกิด เมื่ออาศัยอยู่บนดินไม่ได้ ก็ต้องลงมาอาศัยอยู่ใต้ดินมีคนกว่า 80,000 คน ที่อาศัยอยู่ในอุโมงค์แห่งนี้ ในช่วงสงครามกับสหรัฐอเมริกา ต้องอาศัยหัวเผือกหัวมันประทังชีวิต
อดีตที่ผ่านมา มีส่วนสำคัญในการช่วยหล่อหลอมวิถีชีวิตของชาวเวียดนาม นับหลายทศวรรษที่พวกเขาคอยปกป้องประเทศจากการรุกรานของมหาอำนาจ ทำให้ชาวเวียดนามเป็นผู้ที่สามารถปรับตัวเพื่อประสานประโยชน์ มีน้ำอดน้ำทน จึงไม่น่าแปลกใจที่วันนี้ วันที่ท้องฟ้าไร้ซึ่งพายุฝนพวกเขาจะก้าวขึ้นมาเป็นเสือเศรษฐกิจตัวใหม่ของเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ รอเพียงประสบการณ์ที่จะคอยเพาะบ่มให้สุกงอมกว่านี้ ก็ยากที่จะมีใครหยุดชาวเวียดนามได้ พลังคนหนุ่มสาวรุ่นใหม่นี้ พร้อมจะก้าวเดินไปตามถนนแห่งกาลเวลาสายใหม่ ด้วยชั้นเชิงที่พริ้งเพรา และแพรวพราวยิ่งนัก
ขอบคุณ บริษัท มาสด้า เซลส์ (ประเทศไทย) จำกัด สนับสนุนการเดินทาง
ABOUT THE AUTHOR
ข
ขุนเดช
นิตยสาร 417 ฉบับเดือน กรกฏาคม ปี 2551
คอลัมน์ Online : ชีวิตอิสระ(4wheels)