มุมมองนักออกแบบ
ซี 30 คลื่นลูกที่ 3 ของ โวลโว
ซี 30 เป็นรถแฮทช์แบค 3 ประตู 4 ที่นั่ง ซึ่งใช้พื้นฐานเดียวกันกับ ซีดาน 4 ประตูเอส 40 และ แวกอน 5 ประตู เอส 50 รวมถึงรถยนต์ในเครือของ ฟอร์ด มอเตอร์ คัมพานีที่เป็นต้นสังกัดของ โวลโว คาร์ คอร์พอเรชัน ได้แก่ ฟอร์ด โฟคัส และ มาซดา 3
ความโดดเด่นด้านการออกแบบ ทำให้ ซี 30 กวาดรางวัลมากมาย ที่น่าสนใจ ได้แก่รางวัลรถที่สวยที่สุดในโลก จากกลุ่มคอลัมนิสต์นิตยสารรถยนต์อิตาลี รางวัล รถที่น่าดึงดูดใจ จากกลุ่มคอลัมนิสต์นิตยสารรถยนต์ยุโรปตะวันออก และรางวัลรถแสนเซกซี จากการโหวทของ คาร์ อวอร์ด กรุพ ประเทศฟิลิปปินส์ เหตุนี้บริษัท วอลโว่ คาร์ (ประเทศไทย) จำกัด จึงไม่รีรอที่จะนำเข้ามาจำหน่ายในบ้านเรา
รางวัลที่ยกตัวอย่าง อาจเป็นเครื่องการันตีความงดงามด้านการออกแบบได้ แต่ในมุมมองของนักออกแบบไทย จะมีความเห็นเหมือน หรือต่างอย่างไร ต้องติดตาม
ฟอร์มูลา : เดือนนี้มาวิจารณ์รถเมือง ฟรีเซกซ์ กันบ้าง ซี 30 รถแฮทช์แบครุ่นใหม่ของ โวลโว ?
ภัทรกิติ์ : ภายนอก ซี 30 เด่นที่บ่ากว้างเป็นสเตพขึ้นไป หลังคาเล็กกว่าส่วนล่างที่กว้างและบึกบึน แต่ขณะเดียวกันก็ดูโค้งมน ลู่ลมมากขึ้น ซึ่งเป็นเอกลักษณ์ของ โวลโว ยุค 2000โดยแท้
ฟอร์มูลา : หน้าตาแต่ละรุ่นจะคล้ายๆ กัน ?
ภัทรกิติ์ : เกือบเหมือนเลยละ โวลโว รุ่นหลังๆ ถ้ามองแต่ด้านหน้า บางทีไม่รู้เลยว่าเป็นรุ่นอะไร เพราะหน้าตาเหมือนกันมาก
คมกฤช : แค่เปลี่ยนขนาด และมีรายละเอียดต่างกันนิดหน่อย
ภัทรกิติ์ : ผิดกับ เมร์เซเดส-เบนซ์ ที่แต่ละรุ่นหน้าตาจะแค่คล้ายๆ กันเท่านั้น มองดูเดาได้ว่าอยู่บ้านเดียวกัน แต่แยกออกว่าใครพ่อ ใครพี่ ใครน้อง แต่ โวลโว เหมือนกันหมดอายุเท่ากันเลย อย่างรุ่นใหญ่ เอส 80 ควรทำให้ดูเป็นรถผู้ใหญ่ หน้าตาต้องขึงขังกว่าแต่เปล่า มันคันใหญ่จริง แต่ดูเหมือนคันเล็กพอกับ เอส 40 ต้องเข้าไปนั่งข้างในถึงจะรู้สึกได้ว่าใหญ่ คนขับรถรุ่นใหญ่อาจอึดอัดใจเล็กน้อย อุตส่าห์ซื้อแพงกว่าแล้วทำไมรถเหมือนรุ่นเล็ก
คมกฤช : อย่างไรก็ตาม รุ่นนี้ต่างออกไป โดยเฉพาะด้านหลัง ผมคิดว่าสัดส่วนของเขาดีมาก สวยดี อาจจะมีรายละเอียดที่ยี่ห้ออื่นๆ ไม่ค่อยทำ คือ บางรุ่น เขายังให้สีส่วนบัมเพอร์ สเกิร์ท ทั้งหมดเป็นสีดำ ของเหล่านี้ต้องชน ต้องเปื้อน เลยคิดว่าให้เป็นสีเนื้อของวัสดุไปเลยดีกว่า แทนที่จะเป็นสีเดียวกับตัวรถ โคมไฟหน้าก็ยังมีสีดำ เส้นสายจะตัดกันรุนแรง สีดำจัด กับสีอ่อนๆ จะทำให้รู้สึกว่างานละเอียด และมีเอกลักษณ์
ภัทรกิติ์ : ผมชอบมุมมองจากด้านท้าย เป็นรูป 6 เหลี่ยม ยูนีคมาก ดูดีเชียว เป็นรถที่มีเอกลักษณ์สุดๆ ไม่เหมือนรถ 3 ประตูคันอื่นในท้องตลาด ถ้าดูจากรถแนวคิดของโวลโว ในปี 2001 ที่ใช้ชื่อว่า เอสซีซี ซึ่งออกแบบมาเพื่อเน้นทัศนวิสัยโดยเฉพาะสังเกตได้จากเสาเอ ที่เจาะให้โปร่ง มองทะลุได้ จุดนี้ ซี 30 ไม่ได้เอามา ที่เอามาใช้ คือรูปทรงโดยรวม และกระจกบานท้ายที่ลึกลงไปกว่าปกติ
อภิชาต : ถ้าเทียบกับรถแฮทช์แบคอื่นๆ คันนี้ถือว่าลึกมาก โดยทั่วไปแนวกระจกจะอยู่ประมาณหัวไหล่คนนั่งหลัง
ฟอร์มูลา : ถ้านำ ฟอร์ด โฟคัส และ มาซดา 3 ที่ใช้พแลทฟอร์มเดียวกัน มาเปรียบเทียบล่ะ ?
ภัทรกิติ์ : เป็นการพัฒนาที่ต่างกันอย่างสิ้นเชิง ดูแทบไม่ออก ว่าแชร์เครื่องยนต์กลไกพื้นฐานกันตรงไหน
ฟอร์มูลา : แล้วถ้าเทียบกับคู่แข่งอื่นๆ ที่สมน้ำสมเนื้อ ?
ภัทรกิติ์ : กับ บีเอมดับเบิลยู ซีรีส์ 1 ผมชอบ ซี 30 มากกว่า ซีรีส์ 1 ดูมีเนื้อมีหนัง มีกล้าม แต่สแกนดิเนเวียน ดีไซจ์น ของ โวลโว มันดูอมตะ อยู่ได้นาน เหมือนเฟอร์นิเจอร์ของสแกนดิเนเวีย ให้อารมณ์เดียวกับเหยือกน้ำยี่ห้อ สเตลทัน (STELTON) ที่เรียบง่าย นิ่งแต่ดึงดูดใจอย่างแรง ส่วน บีเอม ฯ ซีรีส์ 1 มันคืองานออกแบบสไตล์ บโรค ยุคใหม่มีอารมณ์ของการเลื่อนไหล เรียกว่า ไดนามิค เชพ ขณะที่ ซี 30 เป็นงาน เพียวโมเดิร์น แท้ๆ ชิ้นส่วนเรียบง่าย ไม่มีการตกแต่งพื้นผิวใดๆ เลย ซึ่งคนสามารถเอนจอยกับมันได้ทั้งคู่ แล้วแต่ว่ารสนิยมของคุณเป็นอย่างไร
คมกฤช : รถคันอื่นมักมีเส้นสายของความเป็นรถยนต์อยู่ บางทีดูเหมือนหุ่นยนต์ แต่ ซี 30ไม่ใช่ มันเป็นเหมือนงาน โพรดัคท์ ดีไซจ์น แค่มองก็มีความสุขแล้ว
อภิชาต : ถ้ามองในมุม โพรดัคชัน ผมเห็นด้วยเรื่อง สแกนดิเนเวียน ดีไซจ์น การทำพื้นผิวเรียบในรถที่เล็ก และสั้น แถมมีบ่าใหญ่ จะแสดงออกถึงคาแรคเตอร์ของตัวรถได้อย่างดี ตัวถังด้านข้างเป็นส่วนสำคัญที่จะโชว์ทักษะการออกแบบ ผมคิดว่านักออกแบบเขาต้องการปฎิวัติ โวลโว ไม่ให้เป็นเหมือนอิฐบลอค หรือเหมือนกล่องไม้ขีดอย่างที่เคยเป็นมา
ฟอร์มูลา : ทำไมต้องปฏิวัติทรงเหลี่ยมที่เคยเป็นเอกลักษณ์ของ โวลโว ?
อภิชาต : เขายอมสูญเสียเอกลักษณ์เหลี่ยม แต่ไม่ได้เอาความแข็งแรง บึกบึน ออกไปด้วยอันที่จริง บ่าบนตัวถังด้านข้าง เป็นคาแรคเตอร์ประจำตัวมานานแล้ว แต่เมื่อก่อนเล็กกว่านี้หลังจากที่ ฟอร์ด เข้ามาเทคโอเวอร์ ได้เข้ามาปฏิวัติรูปทรงใหม่ให้หนักแน่น และดูแข็งแรงมากขึ้น ตั้งแต่ตอนออกแบบ เอส 80 รุ่นแรก ส่วน ซี 30 คันนี้ ที่ สตีฟ มาร์ทิน ออกแบบเห็นแล้วรู้ได้ทันทีว่า โวลโว ยังพยายามคงเอกลักษณ์ในเรื่องของความปลอดภัยไว้ จากบ่า เจ้าเก่านั่นเอง
ภัทรกิติ์ : คริส เบงเกิล นักออกแบบของบีเอม ฯ เคยบอกว่า ถ้าคุณจะสนุกกับเส้นสายของการออกแบบรถยนต์ คุณต้องล้างรถเอง แล้วจะได้สัมผัสเหลี่ยมมุม หรือความโค้งมนที่น่าสนใจ แต่ล้าง ซี 30 ไม่สนุกหรอก เพราะไม่รู้จะลูบไล้อะไร ราบเรียบไปหมด ชิ้นงานโมเดิร์นดีๆ ในโลกหลายชิ้น ก็ไม่ได้มีรายละเอียดพิสดาร สัดส่วนมันลงตัว เหมาะสำหรับคนชอบงาน มีนีมัม ลิซึม
อภิชาต : คันนี้ราคาเท่าไรครับ ?
ฟอร์มูลา : 2 ล้านกลางๆ
ภัทรกิติ์ : ราคานี้ ต้องเจอกับ มีนี คูเพอร์ ถามว่าคุณจะเลือกอะไร รถคันนี้เขาไม่ได้มีคาแรคเตอร์ มหาศาล แบบ มีนี ซะด้วยสิ แต่ถ้าคนขับรถคันนี้เป็นเด็กสาว อายุสัก20 ต้นๆ เรียนมหาวิทยาลัย ผมมองว่าเขาต้องเป็นคนที่เฉี่ยวมากทีเดียว ผมว่าหายากที่จะเกิดความรู้สึกว่าคนขับ โวลโว เป็นคนที่เฉี่ยว เพราะ โวลโว ไม่เคยเฉี่ยวและทำให้คนในรถเฉี่ยวมาก่อนเลย
ฟอร์มูลา : แต่ โวลโว ก็มีพวกรุ่น เทอร์โบ รุ่นสปอร์ท ไม่ใช่เหรอ ?
ภัทรกิติ์ : มันก็ยังดูขัดๆ ทั้งรูปร่าง และภาพลักษณ์รถครอบครัวที่แข็งแกร่ง ปลอดภัยก็ยังไม่หายไป แม้ โวลโว สมัยนี้พัฒนารูปทรงไปมากแล้ว แต่ในใจของหลายๆ คนก็ยังติดภาพลักษณ์รถครอบครัว คันเทอะทะอยู่ โวลโว หลายรุ่นที่ขายไม่ได้ในตลาดก็เพราะราคา ถ้าลดราคาลงได้ น่าจะไปได้ฉลุยกว่า ก็สวยซะขนาดนี้
ฟอร์มูลา : แต่โดยทั่วไปก็ถูกกว่าเมร์เซเดส-เบนซ์ หรือ บีเอมดับเบิลยู อยู่แล้ว ?
ภัทรกิติ์ : มันไม่ได้ถูกกว่ากันอย่างเห็นๆ สมัยก่อนถูกกว่ามาก โวลโว นี่ ซื้อขายกันประมาณหลักแสน บางคนบอกว่า 2 ล้านกลางๆ ไปซื้ออย่างอื่นดีกว่าไหม และยิ่งมารู้ตอนหลังว่า แชร์ระบบกลไกพื้นฐานกับ ฟอร์ด โฟคัส และ มาซดา 3 ซึ่งชื่อ ชั้นด้อยกว่าด้วยแล้ว คนยิ่งสลบ ทั้งที่มันไม่ได้เกี่ยวกันเลย
ฟอร์มูลา : นอกจาก เอสซีซี คอนเซพท์ แล้ว น่าจะยังมี โวลโว รุ่นเก่าๆ ที่เป็นแรงบันดาลใจให้ ซี 30
ภัทรกิติ์ : มีสิครับ สำคัญเลย พี 1800 อีเอส กับ 480 อีเอส ไง
คมกฤช : เป็นปู่ กับ พ่อ ของ ซี 30 กระจกท้ายเหมือนกันเปี๊ยบ
ภัทรกิติ์ : สมัยก่อนใครมี 2 คันนี้ หล่อสุดๆ วิ่งบนถนนมีแต่คนมอง
อภิชาต : ดีไซจ์น และ ดีเอนเอ ยังอยู่ครบถ้วน
ภัทรกิติ์ : แนวคิดตั้งแต่สมัยดั้งเดิม ไม่เชยเลย เอามาใช้ใหม่ก็ยังตื่นเต้นอยู่ อย่างไรก็ตามผมเชื่อว่า ซี 30 ไม่ใช่รถยนต์ที่ตั้งใจสร้างมาสำหรับใช้ในชีวิตประจำวันสักเท่าไร แนวคิดมันแรง โน คอมพโรไมซ์ ข้างหลังจะเอาสวย ทำให้บ่ากว้าง แต่ข้างบนแคบๆ หน่อยจะทำไม แต่ก็โอเคนะ คนยอมนั่งงอก่องอขิง ใน มีนี คูเพอร์ ก็มีถมไป
ฟอร์มูลา : ลองดูภายในบ้าง ?
ภัทรกิติ์ : เหมือน เอส 40 เรียบง่าย โอบอุ้ม ห่อหุ้ม สบาย และถ้าคุณชอบชุดเครื่องเสียงแบบบางเฉียบ สไตล์ สแกนดิเนเวียน ต้องคันนี้เลยครับ
ฟอร์มูลา : คอนโซลกลางบางรุ่นเล่นลวดลายกราฟิคตรง...
ภัทรกิติ์ : แผงอลูมินัม
คมกฤช : ตามสมัยนิยม
อภิชาต : ดูแล้วใช้ได้ทีเดียวครับ ตัวคอนโซลตั้งแต่ข้างบนไล่ลงมา เนียนตา เข้ากันได้ดีนะครับแต่หัวเกียร์ยังดูธรรมดา เลยขัดกันอยู่นิดๆ
ภัทรกิติ์ : เบาะหลังพนักพิงแยกขาด นั่งได้ 2 คน ตรงกลางมีที่เท้าแขนพับได้
ฟอร์มูลา : ทั่วไปนั่งได้ 3 คน แบบเบียดๆ พับเบาะลงมาได้ แต่ไม่ค่อยเรียบ
ภัทรกิติ์ : รถเก๋งบางคัน พับเบาะไม่ได้ ไม่เห็นมีคนว่าเลย แล้วนี่รถสไตล์สปอร์ท ต้องคิดอะไรแค่ใส่อะไรได้นิดหน่อย ซื้อไว้ให้ลูกสาวขับเล่นๆ ขำๆ เท่านั้นแหละครับ แนวคิด คือ ให้เท่ขับสนุก อรรถประโยชน์เป็นเรื่องรอง
ฟอร์มูลา : บุคลิกเขาก็เลยไม่ใช่แบบ โอเพล อัสตรา ?
ภัทรกิติ์ : ไม่ใช่เลยครับ ไม่ใช่ โฟล์คสวาเกน กอล์ฟ ด้วย
ฟอร์มูลา : แต่รูปทรงก็ไม่ได้ไปถึงขั้น สปอร์ท ฉีกแนวแบบ มีนี คูเพอร์ มันยังคงความเป็นรถบ้านอยู่
ภัทรกิติ์ : มันก็ไม่ใช่รถบ้านขนาดนั้น ผมว่ายังมี คาแรคเตอร์ เป็นรถวัยรุ่น ที่ยังไม่ต้องรับผิดชอบอะไรมาก น่ารักดีครับ ขับกระชับ คล่องแคล่วในเมือง
อภิชาต : ภายในโดยรวมโอเค แต่สิ่งที่น่าเสียดาย คือ หัวเกียร์ มันไม่ไปกับส่วนอื่นๆ ทำให้ลดทอนความน่าสนใจลงไปหน่อย คอนโซลกลางผม แฮพพี นอกนั้นเฉยๆ
ภัทรกิติ์ : มันดูเรียบๆ แบบ สแกนดิเนเวียน แต่ก็มีความเป็นสปอร์ทอยู่ในตัว คือ มันไม่เร้าอารมณ์ แต่มัน กูด ควอลิที พอดี และลงตัว
คมกฤช : ระหว่างภายนอก กับภายในมันเข้ากัน ข้างนอกดูเรียบ ข้างในก็ดูนิ่ง
ภัทรกิติ์ : จากประสบการณ์ โวลโว ยุคหลังๆ เบาะนั่งดีมาก สมบูรณ์ ไร้ที่ติ นั่งแล้วแทบน้ำตาไหล
อภิชาต : ขนาดนั้นเลยเหรอครับ
ภัทรกิติ์ : เพื่อนผมที่ไม่ชอบ โวลโว พอลากเข้าไปนั่ง ร้องจ๊าก กันทุกคน เฮ้ย ! ...เบาะดีขนาดนี้เลยเหรอ รถเยอรมันก็สู้ไม่ได้ สัมผัสที่โดนตัว ทุกๆ อย่าง ทั้งความรู้สึก การโอบอุ้มน้ำหนักตัว ดีมาก ในความคิดผม ภายในสบาย ภายนอกถือเป็นคลื่นลูกใหม่ของโวลโว ด้านการออกแบบที่เป็นยูนีค ใครมีสตางค์ ซื้อเก็บไว้เถอะครับ รับรองไม่ผิดหวัง
ABOUT THE AUTHOR
ก
กองบรรณาธิการบทความและสารคดี
นิตยสาร 399 ฉบับเดือน สิงหาคม ปี 2551
คอลัมน์ Online : มุมมองนักออกแบบ