ชีวิตอิสระ
ภารกิจสุดหิน พิชิตความสูง 2,285 ม.
อุทยานแห่งชาติดอยฟ้าห่มปก เป็นอุทยานแห่งชาติที่มีชื่อเสียงในเรื่องของยอดดอย ผ้าห่มปก ซึ่งเป็นยอดดอยที่มีความสูงถึง 2,285 ม. เตี้ยกว่าความสูงของยอดดอยอินทนนท์ที่สูงที่สุดในประเทศเพียงไม่กี่เมตร อุณหภูมิตลอดทั้งปีเฉลี่ยที่ 25 องศาเซลเซียส กลางวัน 14-19 องศาเซลเซียส แต่ถ้าดวงอาทิตย์ลับขอบฟ้า จะต่ำกว่า 10 องศาเซลเซียสแน่ๆ ข้อมูลแหล่านี้ทำให้ภารกิจที่ผมสนใจจะเดินทางไปสัมผัสความหนาวเย็นของอุณหภูมิในระดับเลขตัวเดียว ซึ่งร่างกายจะต้องแข็งแรงและพร้อมที่จะปรับตัว
คำเล่าลือถึงความหนาวเย็น รวมถึงความสูงของยอดดอย และความยากลำบากในการเดินทางจากนักเดินทางจากรุ่นสู่รุ่น ที่เคยได้สัมผัส ดอยผ้าห่มปก ซึ่งอยู่ในความดูแลของอุทยานแห่งชาติดอยฟ้าห่มปก อ. ฝาง จ. เชียงใหม่ ทำให้ผมเกิดความอยากไปลองสัมผัสดูสักครั้งในชีวิต หลังจากที่คิดว่าร่างกายแข็งแรงพร้อมรับความหนาวเย็น การเดินทางครั้งนี้จึงเกิดขึ้น
ทริพนี้ผมได้นำ มิตซูบิชิ ปาเจโร สปอร์ท 3.2 ดีไอดี ขับเคลื่อน 4 ล้อ เป็นพาหนะ และได้รับการอนุเคราะห์ แผนที่นำทางผ่านระบบดาวเทียมจาก GARMIN ASUS A50 โทรศัพท์เคลื่อนที่ซึ่งมีระบบนำทางในตัว รวมถึงเทนท์กันหนาว จากนอร์ท อีเกิล ไว้ใช้เป็นที่พักอาศัย
ทางหลวง 107 ข่วงสิงห์-ฝาง
ชมความงาม 2 ข้างทาง
การเดินทางเริ่มต้นที่สี่แยกข่วงสิงห์ ก่อนถึงตัวเมืองเชียงใหม่เพียงเล็กน้อย เลี้ยวเข้าทางหลวงหมายเลข 107 ผ่าน อ. แม่ริม อ. เชียงดาว และ อ. ไชยปราการ จวบจนสิ้นสุดบริเวณ อ. ฝาง รวมระยะทางประมาณ 150 กิโลเมตร ซึ่งเป็นทางโค้งขึ้นและลงเขา ตลอดเส้นทาง แต่ก็ได้พลังจากเครื่องยนต์ดีเซลขนาด 3.2 ลิตร คอมมอนเรล เทอร์โบ ทำหน้าที่ร่วมกับช่วงล่างนุ่มๆ แต่หนึบ ทำให้ผ่านทุกเนินเขาและทางโค้งได้อย่างปลอดภัย ก่อนที่จะมุ่งสู่ อ. ฝาง เพื่อจัดเตรียมเสบียง แล้วจึงไปต่อยังที่ทำการของอุทยานแห่งชาติดอยฟ้าห่มปก เพื่อลงทะเบียน ก่อนหน้านี้ประมาณ 2 ปี ที่นี่เคยใช้ชื่อว่าอุทยานแห่งชาติบ่อน้ำพุร้อนฝาง ก่อนที่จะปรับเปลี่ยนชื่อเรียกให้สอดคล้องกับดอย ผ้าห่มปก ที่ลือชื่อ กฎกติกาของการขึ้นดอย คือ นักเดินทางไม่สามารถขึ้นบนดอยได้หลังเวลา 15.30 น. ถ้าหลังจากเวลานี้ต้องรอขึ้นดอยในวันถัดไป
ทางขึ้นดอยโหดๆ
ขับ 4 ช่วยได้
หลังจากลงทะเบียนเสร็จสรรพ จึงเดินทางต่อ ทางขึ้นดอยอยู่ห่างจากทางเข้าอุทยาน ฯ ประมาณ 8 กม.ผมปล่อยหน้าที่นำทางให้กับ GARMIN ASUS A50 และพุ่งทะยานด้วยพลังจากเครื่องยนต์ดีเซลคอมมอนเรล ขนาด 3.2 ลิตรจาก มิตซูบิชิ ปาเจโร สปอร์ท เส้นทางขึ้นดอย หากเดินทางไปในช่วงต้นฤดูหนาว จะพบกับสภาพที่สาหัสพอควร จากการที่ถูกน้ำฝนกัดเซาะเป็นร่องลึก หากผิดไลน์ก็คงต้องเสียเวลาในการกู้รถกลับเข้าเส้นทาง ในช่วงฤดูฝนนั้นอุทยาน ฯ ปิด ไม่สามารถเดินทางได้ สำหรับครั้งนี้เป็นครั้งแรกที่ผมเชื่อถือข้อมูลการเดินทางจากระบบนำทางผ่านดาวเทียม เพราะระบบนำทางเหล่านี้เคยทำผมหัวเสียมาแล้วหลายครั้ง แต่ต้องบอกว่า GARMIN ASUS A50 นั้นได้อัพเดทข้อมูลเส้นทางมาได้อย่างดี
ลานกางเทนท์กิ่วลม
จุดเริ่มต้นของความหนาวเหน็บ
จากปากทางเข้าขึ้นไปยังจุดกางเทนท์กิ่วลม ระยะทางประมาณ 20 กม. ใช้เวลาเดินทางประมาณ 1 ชม. ก็จะมาถึงสถานที่สุดท้ายของการเดินทางด้วยรถยนต์ นั่นคือ จุดกางเทนท์กิ่วลม ซึ่งอยู่ห่างจากยอดดอยประมาณ 3 กม. ที่นี่เป็นลานกางเทนท์ที่สูงที่สุดในประเทศไทยกับความสูงประมาณ 1,900 ม.เรามาถึงในช่วงที่พระอาทิตย์จะลับขอบฟ้า ช่างภาพรีบเร่งที่จะเก็บภาพสวยๆ เพราะเหลือเวลาไม่มากนัก เทนท์จากนอร์ท อีเกิล กางลงในมุมซึ่งคิดว่าน่าจะหลบกระแสลมแรงๆ ได้ดีพอสมควร จากนั้นอาหารมื้อแรกในสไตล์ปิ้งย่างก็ถูกโหมลงบนเตาปิ้งด้วยความหิวโหยจากการเดินทาง ระหว่างการรับประทานอาหาร ไกด์นำทางได้เริ่มให้ข้อมูลถึงสภาพเส้นทางที่จะต้องเดินทาง อุณหภูมิในขณะนั้นเริ่มลดลงเรื่อยๆ พร้อมกับความแรงของกระแสลมที่เพิ่มขึ้นต่อเนื่อง เหลือบไปดูที่เธอร์โมมิเตอร์ อุณหภูมิอยู่ที่ 9 องศาเซลเซียส ในเวลาประมาณ 22.00 น.
ภารกิจสุดหิน
ระหว่างทางเดินป่าที่ ม่อนวัดใจ
04.00 น. ไกด์คนเดิมเดินมาปลุกที่ข้างเทนท์ พร้อมกับให้ทุกคนทำร่างกายให้อบอุ่น เพื่อเตรียมพร้อมในการเดินทาง แม้ว่าเมื่อคืนที่ผ่านมาผมจะไม่ได้นอนสักเท่าไหร่ เพราะความหนาวเย็นของกระแสลม และอุณหภูมิที่ลดลงอย่างต่อเนื่อง แต่ใจก็ยังต้องการที่จะพิชิตยอดดอย เตรียมเสบียงเสร็จก็เริ่มออกเดินทางเพราะเหลือเวลาอีกไม่นานก่อนที่ดวงอาทิตย์จะสาดแสงจากขอบฟ้า การที่ร่างกายไม่ได้พักผ่อนเพียงพอทำให้ต้องหยุดพักเป็นระยะ เวลาผ่านไปประมาณ 30 นาที กับระยะทางที่ทำได้เพียงประมาณ 500 ม. ในสภาพเส้นทางชัน เบื้องหน้ามีป้ายไม้ปักไว้พร้อมกับคำว่า ม่อนวัดใจ เส้นทางที่ชันสุดของทางเดินพิชิตยอดดอย หากผ่านช่วงนี้ได้ เส้นทางที่เหลือก็จะไม่ลำบาก เริ่มเดินทางต่อด้วยระยะทางเพียงไม่ถึง 200 ม. ผมถึงกับต้องบอกไกด์ว่าขอเวลาพักอีกเดี๋ยว ระบบทางเดินหายใจเริ่มสูดออกซิเจนได้น้อยลง หูเริ่มอื้อ และสมองเหมือนถูกอะไรกดทับ ร่างกายแสดงอาการไม่ตอบรับพร้อมกับอาเจียนออกมาอย่างรุนแรง จนต้องพักอยู่ ณ จุดนี้เป็นเวลานานเพื่อรอให้ร่างกายปรับสภาพ แต่ด้วยสภาพอากาศในขณะนี้อยู่ที่ประมาณ 2-3 องศาเซลเซียส ตามคำบอกกล่าวของผู้นำทาง กระแสลมที่นำพาความหนาวเย็นสอดแทรกเข้ามา ทำให้ผมและทีมงานต้องยอม ถอดใจ เพราะถ้าฝืนต่อ เดินไปจะเข้าสู่ป่ารกทึบ ภาพพระอาทิตย์ขึ้นก็จะไม่ได้เห็น และถ้าร่างกายยังปรับสภาพไม่ทัน อาจจะมีผลร้ายมากกว่านี้
ผู้นำทางได้แนะนำสถานที่ชมพระอาทิตย์ขึ้น ซึ่งห่างจากลานกางเทนท์ประมาณ 200 ม. ภาพพระอาทิตย์ขึ้นจึงเปลี่ยนจากยอดดอยฟ้าห่มปก เป็นจุดชมวิวซึ่งอยู่ทางทิศใต้ของลานกางเทนท์ หลังจากเก็บภาพเสร็จ จึงเริ่มพูดคุยถึงภารกิจที่สุดหิน แล้วจึงเริ่มเก็บสัมภาระ ย้อนกลับลงมาด้านล่าง ณ ที่ทำการอุทยาน ฯ ซึ่งยังมีแหล่งท่องเที่ยวอยากจะแนะนำ
บ่อน้ำพุร้อนฝาง
ผ่อนคลายหลังจากร่างกายบอบช้ำ
บ่อน้ำพุร้อนฝาง เป็นแหล่งท่องเที่ยวที่ขึ้นชื่อ ภายในที่ทำการของอุทยานแห่งชาติดอยฟ้าห่มปก ณที่แห่งนี้ผมได้ใช้เป็นที่พักหลบความหนาวเย็น ด้วยความสะดวกสบายของบ้านพัก และลานกางเทนท์ที่รองรับนักท่องเที่ยวได้กว่า 500 คน กับอุณหภูมิเฉลี่ยประมาณ 15-25 องศาเซลเซียส ในส่วนของบ่อน้ำพุร้อนนั้น ได้จัดให้มีห้องแช่และอาบน้ำแร่ธรรมชาติเป็นห้องส่วนตัว ทั้งยังมีแบบบ่อรวม ที่สามารถลงแช่ได้เป็นหมู่คณะ หากไม่จุใจ ยังมีบริการนวดแผนไทยที่อยู่บริเวณใกล้ๆ กัน หรือจะเช่าจักรยานเสือภูเขาไปลงเล่นน้ำที่ ห้วยแม่ใจ ซึ่งอยู่ตอนบนของที่ทำการอุทยาน ฯ ก็สะดวกสบาย
ทริพนี้ถึงแม้จะไม่สามารถปฏิบัติภารกิจตามที่ตั้งใจไว้ แต่ก็ยังได้เก็บเกี่ยวสถานที่ท่องเที่ยวอีกหลายๆที่ มาแนะนำให้ผู้อ่านได้ใช้เป็นข้อมูลสำหรับการเดินทาง หากร่างกายพร้อมเมื่อไหร่ ผมรับรองว่าจะกลับไปพิชิตยอดดอยผ้าห่มปก อีกครั้งแน่นอน
ชีวิตอิสระ ในฉบับต่อไป ยังอยู่ที่สถานที่ท่องเที่ยวซึ่งเป็นเส้นทางระหว่างการเดินทางบนทางหลวงหมายเลข 107 แต่จะเป็นการเดินทางในรูปแบบของเส้นทางโฟร์วีลดไรฟ กับสถานีวิจัยเกษตรที่สูงดอยอ่างขาง และสันป่าเกี๊ยะ เพื่อยลดอยเชียงดาว ดอยสูงอันดับ 3 ของประเทศไทย สภาพเส้นทางจะหฤโหด และธรรมชาติจะงดงามขนาดไหนนั้น คอยติดตามได้ในนิตยสาร 4 WHEELS ฉบับต่อไป
ขอขอบคุณ
- บริษัท มิตซูบิชิ มอเตอร์ส (ประเทศไทย) จำกัด เอื้อเฟื้อรถยนต์ มิตซูบิชิ ปาเจโร สปอร์ท 3.2 ดีไอดี
ขับเคลื่อน 4 ล้อ เป็นพาหนะในการเดินทาง
- บริษัท อัสซุสเทค คอมพิวเตอร์ (ไทยแลนด์) จำกัด เอื้อเฟื้อโทรศัพท์เคลื่อนที่ GARMIN ASUS A50
เพื่อใช้เป็นระบบนำทาง
- บริษัท อิตัลสยาม พาร์ท แอนด์ เซอร์วิศ จำกัด ที่เอื้อเฟื้อเทนท์ นอร์ท อีเกิล ไว้ใช้พักแรมในการเดินทาง
การเดินทาง
เชียงใหม่-ดอยผ้าห่มปก ใช้เส้นทางเชียงใหม่-ฝาง ตามทางหลวงหมายเลข 107 เลี้ยวเข้าทางสี่แยกข่วงสิงห์ ผ่าน อ. แม่ริม-อ. เชียงดาว ขับตรงสู่อำเภอฝาง ระยะทางประมาณ 160 กม. เมื่อจะเข้าเมืองฝาง ใช้ทาง รพช. สายฝาง-บ้านห้วยบอน ไปจนถึงบ้านห้วยบอน ตรงไปตามทางลูกรังอีกประมาณ 5 กม. มีทางแยกขวาขึ้นเขาชันไปประมาณ 13 กม. จะพบหน่วยจัดการต้นน้ำดอยผาหลวง ตรงไปจนพบสามแยก ถ้าตรงไปอีกประมาณ 4 กม. จะถึงหน่วยจัดการต้นน้ำแม่สาว ถ้าไปทางแยกซ้ายประมาณ 5 กม. จะถึงกิ่วลมซึ่งมีลักษณะเป็นเขา และมีลานสำหรับจอดรถได้ ควรเดินทางด้วยรถขับเคลื่อน 4 ล้อ จะถึงที่ตั้งลานกางเทนท์กิ่วลม ซึ่งห่างจากยอดดอยผ้าห่มปก โดยมีทางเดินเท้าขึ้นดอย ประมาณ 3.5 กม. ซึ่งใช้เวลาเดินทางไป-กลับ ประมาณ 3 ชม. ผู้สนใจเดินทางขึ้นดอยผ้าห่มปก ต้องติดต่อกับที่ทำการอุทยานแห่งชาติดอยฟ้าห่มปกก่อน การจะเดินทางขึ้นสู่จุดยอดดอยผ้าห่มปกนั้น ต้องเตรียมตัวอย่างดี เพราะต้องเดินป่าและปีนเขาอย่างสมบุกสมบัน
ที่พัก
หากอยากสัมผัสกับความหนาวเย็นระดับสุดขั้ว แนะนำให้กางเทนท์บนจุดกางเทนท์กิ่วลม รับประกันว่าไม่มีผิดหวัง ค่าใช้จ่ายในการใช้พื้นที่รวมถึงค่าเตาปิ้ง ถ่านและฟืน ประมาณ 300 บาท แต่ถ้าทนกับอากาศที่หนาวเย็นไม่ไหว แนะนำให้ลงมาพัก ณ ที่ทำการอุทยานแห่งชาติดอยฟ้าห่มปก หากอยากนอนเทนท์ ราคาเช่าจะอยู่ที่ 150-300 บาท ตามขนาดของเทนท์ แต่หากเป็นบ้านพักจะมีสนนราคาตั้งแต่ 500-2,000 บาท ตามขนาดของที่พัก
ABOUT THE AUTHOR
ณ
ณัฐเทพ เผ่าจินดา
นิตยสาร 417 ฉบับเดือน มกราคม ปี 2554
คอลัมน์ Online : ชีวิตอิสระ(4wheels)