ชีวิตอิสระ
อ่างขาง-ป่าเกี๊ยะ 2 ดอยสูงบนทางหลวงสาย 107
หลังจากที่ภารกิจขึ้นชมยอดดอยฟ้าห่มปกล้มเหลวไม่เป็นท่า เวลาที่ยังพอมีเหลือจึงใช้ในการแอ่วเหนือช่วงฤดูหนาว สถานที่ท่องเที่ยวที่จะนำเสนอในฉบับนี้ยังคงอยู่บนทางหลวงสาย 107 ย้อนรอยมุ่งสู่ อ. เมือง จ. เชียงใหม่
ประมาณ 1 สัปดาห์ ก่อนออกเดินทางจากกรุงเทพ ฯ ผมได้หาข้อมูลเกี่ยวกับสถานที่ท่องเที่ยวไว้ 2 แห่ง นั่นคือ สถานีเกษตรหลวงอ่างขาง และสถานีวิจัยเกษตรที่สูงป่าเกี๊ยะดอยเชียงดาว ซึ่งมีความงดงาม และมีเสน่ห์เชื้อเชิญให้นักเดินทางได้มาสัมผัสในช่วงฤดูหนาว กับสภาพเส้นทางสไตล์โฟร์วีลดไรฟแบบสนุกๆ
เป้าหมายอยู่ห่างจากอุทยานแห่งชาติฟ้าห่มปก ประมาณ 70 กม. ซึ่งเป็นเส้นทางที่จะเข้าไปยังตัวเมืองเชียงใหม่ มิตซูบิชิ ปาเจโร สปอร์ท 3.2 ดีไอดี ขับเคลื่อน 4 ล้อ ได้กลับเข้าสู่ถนนหลวงสาย 107 อีกครั้ง และกำหนดจุดหมายผ่านระบบนำทางผ่านดาวเทียมของ GARMIN ASUS A50 ไว้ที่สถานีเกษตรหลวงดอยอ่างขาง
ผมเดินทางโดยใช้ทางหลวง 107 พอถึงสี่แยกบ้านปางควาย เลี้ยวขวาตัดเข้าทางหลวงหมายเลข 1249 แล้วขับไปต่ออีกประมาณ 25 กม. แต่ใช้เวลากว่า 1 ชม. เนื่องจากสภาพเส้นทางที่ลาดชัน ในช่วงนี้ผมได้เปลี่ยนระบบขับเคลื่อน 2 ล้อ ให้เป็นแบบขับเคลื่อน 4 ล้อ เพราะไม่อยากประมาทกับเส้นทางไม่คุ้นเคย ท่านที่จะเดินทางตามรอยของผม แนะนำว่าให้เชคสภาพของเครื่องยนต์ก่อนขึ้นดอย และผู้ขับขี่ควรจะมีประสบการณ์พอสมควร เพราะสภาพเส้นทางชันมาก แต่ก็ยังดีที่ลาดยางไว้ทุกหนแห่ง ทำให้ความอันตรายบรรเทาลง
สถานีเกษตรหลวงอ่างขาง
จากไร่ฝิ่นสู่แปลงเกษตรเมืองหนาว
หลังจากที่พุ่งทะยานไต่ระดับความสูงมาจนถึงปากทางเข้าสถานีเกษตรหลวงอ่างขาง เสียค่าเข้าชมคนละ 30 บาท และค่ายานพาหนะอีกคันละ 50 บาท ก็เข้ามาจอดรถลานจอดรถด้านหลัง ก้าวแรกที่ลงจากรถ ผมได้สัมผัสกับอากาศเย็นสบาย ทำให้ความอ่อนล้าจากการเดินทางหายเป็นปลิดทิ้ง
สถานีเกษตรหลวงแห่งนี้ได้จัดภูมิทัศน์ไว้ทั่วบริเวณอย่างสวยงาม และเป็นระเบียบ มีพื้นที่โดยรอบกว่า 16,000 ไร่ จัดตั้งขึ้นเมื่อปี 2512 ตามแนวพระราชดำริของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ที่ว่า ให้พวกเขาช่วยตัวเอง พื้นที่โดยรอบแต่เดิมเป็นไร่ฝิ่น แต่ได้เปลี่ยนมาเป็นแปลงเกษตรเมืองหนาว ซึ่งสร้างรายได้ให้ชาวเขาได้ดีกว่าเก่า มีพันธุ์ผลไม้เมืองหนาวมากกว่า 10 ชนิด ผักเมืองหนาวกว่า 60 ชนิด และดอกไม้เมืองหนาวอีกกว่า 20 ชนิด มีชาวไทยภูเขาเผ่าจีนฮ่อ ไทยใหญ่ มูเซอดำ และปะหล่อง อาศัยอยู่กว่า 600 หลังคาเรือน ใน 6 หมู่บ้าน
ถ้าจะเข้าเยี่ยมชมวิถีชีวิตชาวไทยภูเขา ต้องลองติดต่อกับเจ้าหน้าที่เพื่ออำนวยความสะดวก แต่หากจะชมแปลงสาธิตเกษตรเมืองหนาว สามารถขับรถวนได้โดยรอบ ในสถานีเกษตรหลวงอ่างขางยังมีพระตำหนักของพระนางเจ้าสิริกิติ์ ซึ่งใช้ประทับในการแปรพระราชฐาน ตั้งอยู่บริเวณใกล้กับบ้านพักรับรองที่เปิดให้เป็นบ้านพักสำหรับนักท่องเที่ยวอีกด้วย แต่ต้องจองล่วงหน้าอย่างน้อย 1 เดือน
การเดินทางลงจากดอยไม่จำเป็นต้องใช้เส้นทางเก่า เพราะมีอีกเส้นทางที่จะไปยัง กิ่วลม จุดชมวิวอีกหนึ่งแห่งที่นักท่องเที่ยวสามารถชมพระอาทิตย์ขึ้น-ตกดิน ทั้งยังสามารถชมทัศนียภาพของถนนทางขึ้นลงดอยอ่างขางได้อีกด้วย ก่อนกลับให้ขับรถไปตามทางอีกประมาณ 2 กม. ก็จะพบกับที่ประดิษฐานของพระธาตุดอยอ่างขาง แวะนมัสการเพื่อเสริมความเป็นสิริมงคลให้กับตัวเอง แล้วค่อยลงจากดอยแบบสบายใจไร้กังวล
ลุยหนัก
ตลอดทางขึ้นดอย
จุดหมายสุดท้ายของการเดินทางในทริพนี้ อยู่ที่สถานีเกษตรที่สูงป่าเกี๊ยะดอยเชียงดาว ผมกลับเข้าสู่ถนนหลวงสาย 107 อีกครั้ง ระยะทางที่ GARMIN ASUS A50 ได้คำนวณออกมาอยู่ที่ประมาณ 100 กม.ใช้เวลาเดินทางลัดเลาะทางโค้งกว่า 200 โค้ง กินเวลาเกือบ 3 ชั่วโมง จนเข้าสู่เขตบ้านแม่นะ สังเกตด้านหน้าปากทางเข้าจะมีป้ายวัดจอมคีรีวงศ์ ต่อจากนี้ไป คือ การเดินทางเพื่อพิสูจน์สมรรถนะของระบบขับเคลื่อน 4 ล้อ ของ มิตซูบิชิ ปาเจโร สปอร์ท เพราะสภาพเส้นทางที่ทุรกันดาร เป็นดินลูกรัง มีหลุมบ่อและร่องลึกที่เกิดจากการกัดเซาะของน้ำฝน สำหรับรถขับเคลื่อน 2 ล้อจะเดินทางค่อนข้างยากลำบาก
บางช่วงบางตอนของเส้นทางมีเนินที่จะต้องเหยียบคันเร่งส่งให้พ้นยอดเนิน และหากพลาดท่าตกร่องก็จะทำให้เสียเวลาเดินทางอีกมากโข ระหว่างทางมีป้ายหมู่บ้านปางโฮ่ง และปางฮ่าง ถ้าหากพบเจอแสดงว่ามาถูกทาง ขับไปเรื่อยๆ จนถึงหน่วยพิทักษ์ป่าเด่นหญ้าขัด ตรงไปอีกสักประมาณ 15-20 นาทีก็จะพบทางแยกไปโรงเรียนบ้านสันป่าเกี๊ยะ ผ่านหน่วยจัดการต้นน้ำแม่ตะมาน ห่างจากหน่วย ฯ ประมาณ 500 ม. ก็ถึงสถานีวิจัยเกษตรที่สูงป่าเกี๊ยะดอยเชียงดาว
นอนชมดาว
บนดอยป่าเกี๊ยะ
ดอยป่าเกี๊ยะ หรือสถานีวิจัยเกษตรที่สูงป่าเกี๊ยะดอยเชียงดาว เป็นหน่วยงานของคณะเกษตรศาสตร์มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ จุดเด่นของดอยป่าเกี๊ยะอยู่ตรงที่ยอดดอยซึ่งมองเห็นดอยหลวงเชียงดาวแบบเต็มๆ ตา ดอยหลวงเชียงดาวนั้นมียอดดอยที่สูงเป็นอันดับ 3 ของประเทศ น้อยคนนักที่จะสามารถเดินขึ้นไปบนยอดดอยหลวงเชียงดาวได้ เพราะต้องเดินขึ้นดอยเพียงอย่างเดียว โดยใช้เวลาจากจุดเริ่มต้นไปถึงจุดสูงสุดบนยอดดอยประมาณ 8-10 ชม. ที่ดอยป่าเกี๊ยะจึงเป็นสถานที่ที่นักท่องเที่ยวเดินทางมาชมยอดดอยหลวงเชียงดาวเป็นจำนวนมาก
ในช่วงปลายเดือนธันวาคมของทุกปี จะเป็นช่วงที่ดอกพญาเสือโคร่ง หรือที่เรียกกันว่า ดอกซากุระเมืองไทย กำลังบานสะพรั่งเต็มยอดดอย บรรยากาศและวิวทิวทัศนที่สวยงามอย่างนี้หาดูได้ไม่ง่ายนักนอกจากจะเป็นจุดชมวิวที่สวยงาม ที่แห่งนี้ยังมีแปลงเกษตรสาธิตสำหรับนักศึกษาใช้เพื่อเรียนรู้และขยายพันธุ์ทั้งพืชผัก และผลไม้เมืองหนาว อาทิเช่น สตรอว์เบอร์รี กาแฟ และผักกะหล่ำดอก สำหรับนักท่องเที่ยวที่ต้องการถ่ายภาพชมนก ที่แห่งนี้ยังมีนกหายากบินวนเวียนมาให้เห็นอยู่ตลอดเวลา
บนดอยป่าเกี๊ยะจะมีบ้านพักเป็นแบบโรงนอนที่ให้นักศึกษาพักอาศัย และบ้านพักรับรองสำหรับคณะอาจารย์ แต่นักท่องเที่ยวก็สามารถพักได้ด้วยเช่นกัน ราคาอยู่ที่ท่านละ 200 บาท/1 คืน สำหรับโรงนอน แต่หากอยากพักในส่วนของบ้านพักจะเสียค่าใช้จ่ายประมาณหลังละ 1,0002,000 บาท และสำหรับผู้ที่นิยมการนอนพักแรมแบบกางเทนท์ จะเสียค่าบำรุงสถานที่เทนท์ละ 100 บาท ที่นี่มีห้องน้ำและเครื่องครัวคอยให้บริการ แต่ก่อนเดินทางแนะนำให้เชคเรื่องที่พักกับทางมหาวิทยาลัยเชียงใหม่เสียก่อน เพราะในช่วงฤดูการท่องเที่ยวนั้น จะมีนักท่องเที่ยวที่หลั่งไหลมาจากทั่วสารทิศ ซึ่งอาจจะทำให้พลาดการพักแรม เพราะไม่มีที่พักนั่นเอง
หากท่านที่ต้องการเดินทางไปสัมผัสอากาศหนาวเย็นยะเยือก พร้อมชมวิวทิวทัศน์ที่สวยงาม สถานที่เที่ยวทั้ง 2 แห่งที่ผมได้ไปสัมผัสมานั้น ถือว่ามีทีเด็ดอยู่มากมาย ทั้งในเรื่องของการเดินทาง และบรรยากาศที่มีมนต์เสน่ห์ แต่ทว่าบนถนนหลวงสาย 107 นั้น ยังมีที่เที่ยวอีกมากมาย หากจะไปให้ทั่วคงต้องใช้เวลาอีกหลายวัน ไว้ช่วงปลายปีผมจะไปเก็บภาพสวยๆ ของสถานที่เที่ยวที่เหลือมาให้ชมกันอย่างจุใจ
ขอขอบคุณ
บริษัท มิตซูบิชิ มอเตอร์ส (ประเทศไทย) จำกัด เอื้อเฟื้อรถยนต์ มิตซูบิชิ ปาเจโร สปอร์ท 3.2 ดีไอดีขับเคลื่อน 4 ล้อ เป็นพาหนะในการเดินทาง
บริษัท อัสซุสเทค คอมพิวเตอร์ (ไทยแลนด์) จำกัด เอื้อเฟื้อโทรศัพท์เคลื่อนที่ GARMIN ASUS A50 เพื่อใช้เป็นระบบนำทาง
บริษัท อิตัลสยาม พาร์ท แอนด์ เซอร์วิศ จำกัด ที่เอื้อเฟื้อเทนท์ นอร์ธอีเกิล ไว้ใช้พักแรมในการเดินทาง
ABOUT THE AUTHOR
ณ
ณัฐเทพ เผ่าจินดา
นิตยสาร 417 ฉบับเดือน กุมภาพันธ์ ปี 2554
คอลัมน์ Online : ชีวิตอิสระ(4wheels)