ประกันภัย
น้ำท่วมประกันภัยอ่วมขอขึ้นเบี้ย
วิกฤตการณ์น้ำท่วมหนักในหลายประเทศของโลก เป็นภาพข่าวที่คุ้นตาคุ้นหูอยู่ทุกวัน โดยเฉพาะประเทศไทยเรา ในระยะหลังเกิดน้ำท่วมถี่ และหนักมากขึ้น ในมุมมองของบริษัทประกันภัย ถือว่าภัยน้ำท่วมช่วยสร้างจิตสำนึกกระตุ้นผู้บริโภคให้ตื่นตัว เห็นถึงความสำคัญของประกันภัยมากขึ้น และมีโอกาสจะซื้อความคุ้มครองภัยมากขึ้นด้วย แต่เนื่องจากภัยน้ำท่วมสร้างความเสียหายต่อทรัพย์สินมากขึ้นกว่าเดิม ทำให้ต้นทุนในการดูแลภัยธรรมชาติเพิ่มขึ้น ส่งผลให้เบี้ยประกันภัยแพงขึ้นอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ความเสี่ยงจากภัยน้ำท่วมที่มีมากขึ้น ทำให้บริษัทประกันภัยต้องปรับเงื่อนไขในการประกันภัยเข้มข้นมากขึ้น โดยปรับเบี้ยประกันภัยเพิ่มขึ้น เพื่อให้สอดรับกับความเสี่ยง โดยเฉพาะพื้นที่เสี่ยงสูง อาจจะถูกปรับเงื่อนไข หรือเบี้ยประกันภัยมากกว่าพื้นที่ที่มีความเสี่ยงต่ำ หรือบางพื้นที่อาจไม่ได้รับผลกระทบเลย ขณะที่ผลกระทบจากบริษัทรับประกันภัยต่อ (รีอินชัวเรอร์) ในต่างประเทศที่ประสบปัญหาขาดทุนจากมหันตภัยธรรมชาติที่เกิดขึ้นทั่วโลก ในช่วงครึ่งปีแรกนี้ อาจจะปรับการรับประกันภัยลูกค้าในประเทศไทยที่ซื้อประกันภัยทรัพย์สินคุ้มครองภัยธรรมชาติ ทั้งเงื่อนไขและเบี้ยประกันด้วย ในด้านบริษัทประกันภัยต่อ (รีอินชัวเรอร์) หลายรายได้ส่งสัญญาณถึงภัยน้ำท่วมในประเทศไทยเกิดบ่อยมากขึ้น ซึ่งส่งผลในการต่อสัญญาประกันภัยทรัพย์สิน (IAR: INDUSTRIAL ALL RISK) ปลายปีนี้เป็นไปได้ที่บริษัทประกันภัยต่อ (รีอินชัวเรอร์) อาจจะลดการจำกัดวงเงินความรับผิดสูงสุดต่อ 1 ภัย (SUB LIMIT) เพื่อจำกัดความคุ้มครองภัยน้ำท่วมในประเทศไทย ซึ่งจากเดิมไม่เคยมีกำหนดเงื่อนไขนี้ ทำให้หลายบริษัทประกันภัยต้องขายประกันภัยน้ำท่วมแบบจำกัดวงเงินความรับผิดสูงสุดต่อ 1 ภัย ไม่เกิน 10 % ของทุนประกันจากเดิมไม่ได้จำกัด และกำหนดให้ลูกค้าร่วมรับผิดชอบ ค่าเสียหายส่วนแรก (DEDUCTIBLE) 10 % ของความเสียหาย รวมถึงปรับเบี้ยประกันภัยเพิ่มขึ้น ชนเพดานเบี้ยขั้นสูงสุดที่ คปภ. กำหนดให้ใช้ในพื้นที่เสี่ยงต่อน้ำท่วมบ่อย น้ำท่วมปีที่ผ่านๆ มาสร้างความเสียหายต่อธุรกิจประกันภัยเยอะมาก ช่วงหลังเกิดน้ำท่วมใหญ่เมื่อ 10 ปีก่อน ประกันแบบ IAR (คุ้มครองทรัพย์สินทุกชนิด) หลายบริษัทประกันขาดทุน อย่างปีที่แล้ว โคราชเจอไป 3 ครั้งหนักๆ ในปีนี้ต้องเฝ้าระวังเป็นพิเศษในพื้นที่น้ำท่วมซ้ำซากอย่างจังหวัดสิงห์บุรี อ่างทอง และพระนครศรีอยุธยา เพราะลูกค้าเคลมทุกปี หรือในพื้นที่มีความเสียหายมาก อย่าง เชียงใหม่ หาดใหญ่ และสมุย ต้องขอให้คำแนะนำลูกค้า ช่วยปรับปรุงวิธีป้องกันความเสี่ยง เช่น โรงแรมมีมาตรการป้องกันน้ำท่วมถึงระดับไหน เพื่อทำให้เบี้ยประกันไม่เพิ่มขึ้นมาก เพราะส่วนหนึ่งลูกค้ามีการลงทุนระบบป้องกันความเสี่ยง ซึ่งการทำประกันภัยทรัพย์สินคุ้มครองภัยธรรมชาติในวันนี้ ผู้ประกอบการต้องมีมาตรการป้องกันความเสี่ยง เพราะไม่ใช่บริษัทประกันภัยทุกบริษัทจะรับประกันเหมือนในอดีต การรับประกันในทุกวันนี้ต้องดูทั้งระบบป้องกันความเสี่ยง และอยู่ในโซนอันตรายหรือไม่ บริษัท กรุงเทพประกันภัย จำกัด เป็นบริษัทแรกที่ขอประกาศเตรียมจะปรับเบี้ยประกันภัยทรัพย์สิน ทั้งรายใหญ่และรายย่อย ที่มีคุ้มครองภัยธรรมชาติรวมน้ำท่วมขึ้นอีก 50 % สำหรับลูกค้าทั้งเก่าและใหม่ที่จะซื้อกรมธรรม์ หรือต่ออายุรอบใหม่ในปีนี้ หลังจากปีที่ผ่านมาปรับเบี้ยประกันภัยส่วนนี้ขึ้นไปแล้ว 50-100 % เพราะจากการศึกษาจุดที่เกิดน้ำท่วม หลายพื้นที่ในปีนี้ พบว่าส่วนใหญ่เกิดจากน้ำที่ไหลมาจากพื้นที่อื่น และแนวโน้มหนักมากกว่าปีก่อน โดยมีโอกาสเกิดน้ำท่วมอีก เป็นจุดที่มีความเสี่ยง จึงจำเป็นต้องปรับเบี้ยประกันภัยให้สูงขึ้น แม้ลูกค้าที่อยู่ในพื้นที่นั้นจะไม่เคยมีเคลมเลย แต่ถือว่าอยู่ในเขตอันตราย โดยการปรับเบี้ยขึ้นอยู่กับทำเลที่ตั้งทรัพย์สิน ถ้าเขตไหนอันตรายแล้วเราปรับเบี้ยประกันขึ้น ถ้าลูกค้ารับไม่ได้ เราก็พร้อมที่จะให้ลูกค้าไปทำประกันกับที่อื่น เพราะเราต้องดูด้วยว่าคุ้มหรือไม่คุ้ม ซึ่งเท่าที่ได้รับรายงานในตอนนี้ ข้อมูลตั้งแต่ 1 กันยายน ถึง 16 กันยายน 2554 เพียง 16 วัน บริษัทกรุงเทพประกันภัย ฯ มีรถยนต์ถูกน้ำท่วม 45 คัน ในจำนวนนี้มีเสียหายสิ้นเชิง (TOTAL LOSS) 7 คัน ที่เหลือเสียหายบางส่วน ประเมินค่าสินไหมเบื้องต้นรวมประมาณ 4.5 ล้าน บาท นอกจากนี้มีที่อยู่อาศัยที่เป็นบ้านเสียหายอีก 17 หลัง ยังไม่สามารถประเมินค่าเสียหายได้ จุดที่เรากลัว คือ ร้านค้าหากน้ำท่วมทรัพย์สินในร้านจะเสียหายมาก ตอนนี้ตัวร้านค้า และทรัพย์สินประเภทอื่นอย่างโรงงาน ยังไม่ได้รับรายงาน ในส่วนของรถยนต์บริษัทกรุงเทพประกันภัย ฯ ยังจะไม่ได้ปรับเบี้ยประกันภัยเพิ่มขึ้น แม้จะได้รับความเสียหายสิ้นเชิงเนื่องจากรถยนต์ที่เสียหายมีแค่ 45 คัน จากลูกค้ารถยนต์ทั้งหมดจำนวน 250,000 ราย ถือว่าน้อยมาก สำหรับการบรรเทาความเดือดร้อนให้แก่ผู้ถูกภัยน้ำท่วม คณะกรรมการกำกับและส่งเสริมการประกอบธุรกิจประกันภัย (คปภ.) โดย จันทรา บูรณฤกษ์ เลขาธิการเปิดเผยว่า ตามที่เกิดอุทกภัยขึ้นใน 55 จังหวัดส่งผลให้ประชาชนได้รับความเดือดร้อน สูญเสียชีวิตและทรัพย์สินเป็นจำนวนมาก สำนักงาน คปภ. ได้กำหนดมาตรการให้ความช่วยเหลือประชาชน ดังนี้ 1. ให้บริษัทประกันภัยส่งรายงานถึงจำนวนผู้เอาประกันภัยที่มาเรียกร้องค่าสินไหมทดแทนด้านชีวิตและทรัพย์สิน 2. จัดตั้งศูนย์ช่วยเหลือด้านการประกันภัย ให้แก่ประชาชนในพื้นที่ โดยให้บริการรับแจ้งเหตุ ให้คำปรึกษารวมถึงประชาสัมพันธ์การให้ความช่วยเหลือของสำนักงาน คปภ. ขั้นตอนและเอกสาร หลักฐานในการเรียกร้องค่าสินไหมทดแทน ผ่านทางสถานีวิทยุหอกระจายข่าว รวมถึงอาสาสมัครประกันภัย 3. ดำเนินการสำรวจข้อมูลจากบริษัทประกันภัยในพื้นที่ถึงผู้เอาประกันภัยที่ได้รับความเสียหาย ทั้งชีวิต และทรัพย์สิน เพื่อติดตาม เร่งรัดให้บริษัทประกันภัยจ่ายค่าสินไหมทดแทนให้แก่ผู้เอาประกันภัยอย่างรวดเร็ว ถูกต้อง และเป็นธรรม 4. ประสานเครือข่าย เช่น สภาหอการค้าแห่งประเทศไทย สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย ในการแจ้งข้อมูลความเสียหายของผู้ประกอบการที่จัดให้มีการประกันภัย เพื่อสำนักงาน คปภ. จะเข้าไปช่วยเหลือ 5. ประสานสาขาบริษัทประกันภัย บริษัท กลางคุ้มครองผู้ประสบภัยจากรถ จำกัด สมาคมอู่กลางการประกันภัย และสถาบันการศึกษา เพื่อให้ความช่วยเหลือ คำแนะนำ การตรวจสภาพรถที่ได้รับความเสียหายจากภัยน้ำท่วม การให้บริการรถลาก และซ่อมแซมรถยนต์ บ้านที่อยู่อาศัย รวมถึงเครื่องมือเครื่องใช้การเกษตร 6. ประสานกรมการขนส่งจังหวัดเพื่อเตรียมการตรวจสภาพรถที่ได้รับความเสียหาย รวมทั้งจัดทำข้อมูลจำนวนรถที่จดทะเบียนแต่ละประเภท สำนักงาน คปภ. ได้ร่วมกับบริษัทประกันภัย หน่วยงานราชการบริจาคเครื่องอุปโภค/บริโภคให้แก่ผู้ประสบภัยแล้ว ทั้งนี้ภายหลังน้ำลดคาดว่าจะมีผู้เอาประกันภัยมาแจ้งความเสียหายจำนวนมาก จึงขอฝากเตือนประชาชนผู้เอาประกันภัยให้รีบแจ้งความเสียหายด้านการประกันภัยแก่บริษัททันทีภายหลังน้ำลด เพื่อสำนักงาน คปภ. จะเร่งประสานบริษัทพิจารณาดำเนินการจ่ายค่าสินไหมทดแทน ทั้งนี้หากเอกสารการทำประกันภัย หรือกรมธรรม์ประกันภัยสูญหายขณะน้ำท่วม ขอให้ประสานสำนักงาน คปภ. จังหวัดได้ทันที เนื่องจาก สำนักงาน คปภ. ส่วนกลางมีฐานข้อมูลกลางของผู้เอาประกันภัยทั่วประเทศ ซึ่งพร้อมให้ความช่วยเหลือด้านการประกันภัยต่อไป และหากมีข้อสงสัยสามารถถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ สายด่วนประกันภัย 1186 สิ่งที่หลายคนยังกังวลกันอยู่ คือ ปีหน้า 2555 หรือ ปี 2012 จะเกิดภัยน้ำท่วมใหญ่ไปทั่วโลกตามคำพยากรณ์ของหลายสำนักหรือไม่ ? ถ้าเป็นจริงบริษัทประกันภัยคงถูกห่วยเคลมภัยน้ำท่วมหน้ามืดแน่เลยนะครับ ก็เตรียมตัวเตรียมใจกันเอาไว้ให้ดี ยังไงก็ซื้อประกันภัยคุ้มครองเอาไว้ก่อนก็แล้วกันนะครับ...
ABOUT THE AUTHOR
ก
กฤชกมล นิติธรรมโกศล
นิตยสาร 399 ฉบับเดือน พฤศจิกายน ปี 2554
คอลัมน์ Online : ประกันภัย