ระหว่างเพื่อน
ตะวันขึ้นที่เมืองไทย
พลตต. ทวิธาร วรินทราคม เป็นเพื่อนร่วม เอื้องฟ้า-โดมชรา กับผม เคยเป็นผู้บังคับการกองทะเบียน กรมตำรวจ ตำแหน่งราชการครั้งสุดท้ายก่อนเกษียณ คือ ผู้ช่วยผู้บัญชาการตำรวจสอบสวนกลาง กำกับและดูแลกองทะเบียน กองตำรวจป่าไม้ กองตำรวจทางหลวง กองพิสูจน์หลักฐานและกองตำรวจน้ำพลตต. ทวิธาร มีชื่อเรียกในหมู่เพื่อนฝูงว่า เหลา เกิดเมื่อวันที่ 26 มีนาคม 2474 มีพี่สาวคนหนึ่ง และน้องอีก 5 คน เป็นชาย 2 หญิง 3 พลอากาศเอก เฉลย วรินทราคม เป็นน้องชายคนหนึ่งของ เหลาการศึกษาเล่าเรียนเริ่มชั้นประถมและมัธยมในจังหวัดลพบุรี อาชีวะชั้นสูงที่โรงเรียนพณิชยการพระนครและประกาศนียบัตรชั้นสูงทางการบัญชี มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ นอกจากนี้ เหลา ยังได้ศึกษาเพิ่มเติม เป็นนิติศาสตร์บัณฑิต มธ., PH.D. ประกาศนียบัตร รร. สอบสวนกรมตำรวจ รร. เสนาธิการทหารอากาศ รร. เสนาธิการทหาร (บก. ทหารสูงสุด) รร. ปราบปรามยาเสพติดกระทรวงการคลัง สหรัฐอเมริกา (ขณะนั้น) วิทยาลัยการตำรวจระหว่างชาติ สหรัฐ ฯ และหลักสูตรพิเศษรร. การรบพิเศษ ฟอร์ท บแรกก์ กองทัพบกสหรัฐ ฯ เหลา เข้าเรียนคณะพาณิชยศาสตร์และการบัญชี รุ่นเดียวกับผมในปี 2493 งานอดิเรกที่ประทับใจผมมากก็คืองานเขียนหนังสือ เหลา เขียนหนังสือได้ดี มีความรอบรู้ในหลายด้าน อีกทั้งมีพรสวรรค์ในการเขียนบทกลอน รูปแบบงานเขียนมีทั้งเป็นแผ่นพับ เมล์แจกระหว่างเพื่อน เป็นบทความทางวิชาการในนิตยสารตำรวจและนิตยสารอื่นๆ รวมทั้ง นิตยสาร ต่วยตูน เมื่อพวกเราแก่เฒ่าด้วยกันแล้ว ก็มีนัดพบปะกินข้าวเที่ยงเป็นประจำทุกเดือน โดยที่ เหลา ก็จะเป็นคนหนึ่งในคณะทำงานติดต่อเพื่อนฝูงด้วยการเขียนหนังสือส่งถึงเพื่อน เช่นถึงสงกรานต์คราใดให้คิดถึง เคยทำบุญให้รุ่นกันในวันหนึ่ง นี่ใกล้ถึง ยี่สิบสี่มิถุนา จึงร่อนสาส์นถึงเพื่อนเตือนกันไว้ เงียบหายไปนานนักจักถามหา ไม่เคยลืมเอื้องโรย-โดมชรา ถึงอยู่ป่าดอยเขาจงเข้าใจ แต่พากเพียรเขียนกลอนสุนทรสาส์น ยากจะหาคำหวานมาขานไข ไร้อารมณ์กวีนี่กระไร โปรดเข้าใจคนหลังเขาเฝ้าเจียมตน จะร้อยร่ำคำกลอนสุนทรเสนาะ ให้หวานเพราะจับใจไม่ได้ผลรายงานข่าวความจริงสิ่งยุบล มันอับจนลำบากยากกระไร ไหนต้องได้ใจความตามประสงค์ สัมผัสส่งคงคำทำไฉน ขาดรสชาติโวหารวานอภัย เพราะไม่ใช่กวีกานท์งานประพันธ์ หากสุนทรอ่อนไปมือไม่ถึง ขออย่าพึงขึ้งเคียดคิดเดียดฉันท์ จงยกโทษโปรดให้อภัยกัน นักประพันธ์สมัครเล่น จำเป็นเอยงานชิ้นนี้ส่งมาจากดอยขุนตาน อันเป็นที่พักของชีวิตในบั้นปลายของ เหลา เมื่อวันที่ 15 เมษายน2553 การกินข้าวเที่ยงด้วยกันเป็นรายเดือนนั้น มักปฏิบัติในวันอาทิตย์ต้นเดือน โดยเป็นการพบปะระหว่างเพื่อนชายล้วน บางครั้ง 8 คน นานทีจะมีถึง 10 ที่นั่ง เมื่อวันอาทิตย์ต้นเดือนกันยายนที่ผ่านมา (4 กันยายน) เรานัดกินข้าวเที่ยงด้วยกันเป็นปกติ ที่ ชายทะเลจันทร์เพ็ญ ร้านอาหารเก่าแก่ของกรุงเทพ ฯ ถนนพระราม 4 ซึ่ง เหลา มาร่วมด้วยอีกไม่ถึง 2 อาทิตย์ต่อมา เราก็รับข่าวร้าย ชอคกันทั้งกลุ่มว่า เหลา ถึงแก่กรรม ตั้งศพสวดพระอภิธรรมที่วัดตรีทศเทพ ฌาปนสถานกรมตำรวจ พระราชทานเพลิงศพวันพฤหัสบดีที่ 22กันยายน 2554 หนึ่งในนามปากกาของ พลตต. ทวิธาร คือ วรินทราศรม งานเขียนชิ้นหลังสุดที่ผมได้มีโอกาสอ่านเรื่อง พระพุทธเมตตาประชาไทย ไตรโลกนาถ คันธารราฐอนุสรณ์ ในหนังสือ ต่วยตูน ประจำปักษ์หลังกันยายน 2554 เหลา เขียนเรื่องนี้จากพระบรมราโชวาท สมเด็จพระนางเจ้า ฯ พระบรมราชินีนาถ 11 สิงหาคม 2554 พระราชทานชาวไทยทุกหมู่เหล่า เนื่องในวโรกาสมหามงคลวันพระราชสมภพ 12 สิงหาคม 2554 เป็นเรื่องราวที่น่าอ่านอีกเรื่องหนึ่ง จากกลุ่มงานอดิเรกของ เหลา เหลา ในฐานะ ลูกเหลืองแดง ได้ประกอบคุณงามความดีจนได้รับเกียรติบัตรประกาศเกียรติคุณ จากมหาวิทยาลัยเมื่อวันที่ 10 ธันวาคม 2549 ในฐานะศิษย์เก่าผู้บำเพ็ญประโยชน์ สร้างและเผยแพร่ชื่อเสียงหรือปกป้องเกียรติคุณของมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ในรอบ 72 ปี และเมื่อ 10 มิถุนายน 2552 เหลา ได้เขียนถึงมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ในรอบ 75 ปี ในรูปแบบแฟนพันธุ์แท้ วรินทราศรม เขียนถึงการกำเนิดของมหาวิทยาลัยวิชาธรรมศาสตร์และการเมือง เมื่อ 27 มิถุนายน2477 โดย ปรีดี พนมยงค์ (หลวงประดิษฐ์มนูธรรม) ผู้ประศาสน์การ ซึ่งเป็นทั้งวันสถาปนามหาวิทยาลัยและวันเปิดเรียนภาคการศึกษาที่ 1 และถือเอาวันพระราชทานรัฐธรรมนูญ 10 ธันวาคม 2475 เป็นวันเปิดภาคการศึกษาที่ 2 ตราธรรมจักรบนผืนธงมหาวิทยาลัย ถูกออกแบบให้มีรัฐธรรมนูญวางอยู่บนพานแว่นฟ้า สัญลักษณ์ปฐมเทศนาแห่งพระพุทธศาสนา สอดคล้องกับหลักการของมหาวิทยาลัยที่สอนวิชา ธรรมศาสตร์ (MORAL) พร้อมกับสอนวิชาการเมือง (POLITICAL SCIENCES) มีนักศึกษารุ่นแรกสมัครเรียนถึง 7,094 คน มหาวิทยาลัยได้รับค่าเล่าเรียนคนละ 20 บาท รวบรวมได้3 แสนบาท นำไปซื้อที่ดินริมแม่น้ำเจ้าพระยา จากประตูท่าพระจันทร์ ถึงประตูท่าพระอาทิตย์เป็นพื้นที่กว่า18 ไร่ (ซึ่งต่อมาขยายพื้นที่เป็น 50 ไร่โดยประมาณ) สร้างมหาวิทยาลัยเป็นตลาดวิชา หรือตามคำกล่าวเปิดมหาวิทยาลัยของผู้ประศาสน์การตอนหนึ่งที่ว่า บ่อน้ำบำบัดความกระหายของราษฎร ผู้สมัครแสวงหาความรู้ระหว่างปี 2481-2490 มีการตั้งโรงเรียนเตรียมปริญญา มหาวิทยาลัยวิชาธรรมศาสตร์และการเมือง (ต.ม.ธ.ก.)นักเรียนที่จบ ต.ม.ธ.ก. 8 รุ่น มีจำนวนทั้งหมด 5,898 คน ผู้เรียนจบได้สิทธิ์เลือกเรียนทำปริญญาต่อทางวิชากฎหมาย เป็นธรรมศาสตร์บัณฑิต หรือไม่ก็เลือกเรียนวิชาการบัญชี ซึ่งในระยะต้นมีหลักสูตรการศึกษา 3 ปีกับ 5 ปี นักศึกษาเรียนจบหลักสูตรสามปีจะได้รับประกาศนียบัตรการบัญชีเทียบเท่าปริญญาตรี และหลักสูตร 5 ปีจะได้รับประกาศนียบัตรชั้นสูงทางการบัญชี ซึ่งเทียบเท่าปริญญาโท ที่มาของประกาศนียบัตรการบัญชีนั้น เป็นเพราะธรรมศาสตร์ถือตามแบบของอังกฤษ ที่เห็นว่าวิชาการบัญชีเป็นวิชาชีพ (PROFESSIONAL) ไม่ใช่วิชาการ (ACADEMIC) ตลาดวิชาของธรรมศาสตร์เปลี่ยนไปตั้งแต่ปี 2492 โดยมีการแบ่งการศึกษาออกเป็น 4 คณะ คือ คณะนิติศาสตร์ คณะพาณิชยศาสตร์และการบัญชี คณะรัฐศาสตร์และคณะเศรษฐศาสตร์ โดยคณะสังคมสงเคราะห์ศาสตร์เกิดขึ้นอีก 1 คณะ ในปี 2497 ผมเข้าเรียนคณะพาณิชยศาสตร์และการบัญชี ในปี 2493 ซึ่งในทศวรรษ 2490 นั้น มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ถูกผลักดันให้ย้ายออกไปจากกลางพระนครสู่ชนบท ซึ่งได้รับการต่อต้านจากพลังนักศึกษาระหว่างปี 2494 เป็นผลให้ฝ่ายทหารค่อยๆ คืนพื้นที่ท่าพระจันทร์ทีละส่วน จนถึงส่วนสุดท้ายในปี 2497 สมัยที่ผมเรียนจึงเป็นสมัย นักศึกษาชีพจรลงเท้า ต้องตระเวนไปอาศัยสถานที่เรียนนอกกำแพงชราท่าพระจันทร์รวมทั้งที่โรงเรียนเตรียมอุดมศึกษา ปทุมวัน มธก. หรือมหาวิทยาลัยวิชาธรรมศาสตร์และการเมือง ถูกรัฐบาลตัดคำว่า การเมือง ตามพระราชบัญญัติมหาวิทยาลัย 18 มีนาคม 2495 มีชื่อใหม่ว่า มธ. มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์เป็นตลาดวิชา เข้าเรียนได้เลยถ้ามีวุฒิตามที่มหาวิทยาลัยกำหนด และได้เปลี่ยนระบบใหม่จากการเป็นตลาดวิชาเป็นมหาวิทยาลัยปิด มีการสอบคัดเลือกตั้งแต่ปี 2503 และมีการจำกัดจำนวนนักศึกษา ตั้งแต่ปี 2505 เป็นต้นมา ธรรมศาสตร์เปิดตำนานใหม่ที่รังสิตในปี 2529 หลังจากที่มหาวิทยาลัยครบรอบ 50 ปีได้ 2 ปีตามโครงการที่วางไว้ตั้งคณะใหม่อีก 9 คณะ ทั้งคณะวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี วิศวกรรมศาสตร์ แพทยศาสตร์ ทันตแพทยศาสตร์สหเวชศาสตร์ สถาปัตยกรรมศาสตร์และการผังเมือง ศิลปกรรมศาสตร์ สาธารณสุขศาสตร์ แลสถาบันเทคโนโลยีนานาชาติสิรินธร พร้อมกับมีโรงพยาบาลธรรมศาสตร์เป็นของมหาวิทยาลัยเพื่อความเป็นสากล ณ ศูนย์ธรรมศาสตร์รังสิต
ABOUT THE AUTHOR
&
"สยาม เมืองยิ้ม"
นิตยสาร 399 ฉบับเดือน ธันวาคม ปี 2554
คอลัมน์ Online : ระหว่างเพื่อน