ระเบียงรถใหม่
รถแนวคิดสัญชาติญี่ปุ่น รวม 9 คัน
สปอร์ทจิ๋วไม่หิวน้ำมันเชื้อเพลิง
HONDA EV-STER
คนบางคนเชื่อว่า หมอดู คือ ผู้หยั่งรู้อนาคต ดังนั้นเมื่อต้องการล่วงรู้เรื่องราวที่อาจจะเกิดขึ้นในอนาคต คนเหล่านั้นจะไปหาหมอดู แต่ในกรณีของยานพาหนะติดล้อที่เรียกขานกันโดยทั่วไปว่ารถยนต์ หากต้องการล่วงรู้ว่าจะเป็นอย่างไรในอนาคต ? อย่าพึ่งหมอดู แต่จงไปที่งานแสดงรถยนต์ซึ่งจัดกันอยู่บ่อยๆ แล้วศึกษาจากสิ่งที่เรียกกันว่า CONCEPT CAR หรือ "รถแนวคิด"
เดือนนี้ "ระเบียงรถใหม่" นำเรื่องราวของรถแนวคิดรวม 9 คันมาเล่าสู่กันฟัง ทั้งหมดเป็นรถแนวคิดสัญชาติญี่ปุ่น ที่เพิ่งปรากฏตัวในงานแสดงรถยนต์ระดับ "อินเตอร์" รวม 2 รายการ คือ THE 42ND TOKYO MOTOR SHOW หรือ มหกรรมยานยนต์โตเกียวครั้งที่ 42 ซึ่งมีขึ้นในญี่ปุ่นเมื่อต้นเดือนธันวาคมปีกระต่าย กับ THE NORTH AMERICAN INTERNATIONAL AUTO SHOW หรือ มหกรรมยานยนต์ดีทรอยท์ ซึ่งมีขึ้นในสหรัฐอเมริกาเมื่อกลางเดือนมกราคมปีงูใหญ่
เริ่มกันที่ ฮอนดา อีวี-สเตอร์ (HONDA EV-STER) หนึ่งในบรรดารถแนวคิดมากกว่าครึ่งโหลคัน ซึ่งยักษ์รองของเมืองยุ่นนำออกแสดงแบบ WORLD PREMIERE หรือ "ครั้งแรกในโลก" ที่งานมหกรรมยานยนต์โตเกียวครั้งที่ 42
เป็นรถแนวคิดในรูปลักษณ์ของรถสปอร์ทเปิดประทุน 2 ที่นั่ง ขับเคลื่อนล้อหลังด้วยพลังไฟฟ้า โดยใช้แบทเตอรีลิเธียม-ไอออน (LITHIUM-ION) ขนาด 10 กิโลวัตต์ชั่วโมง ซึ่งให้กำลังสูงสุด 58 กิโลวัตต์ และใช้เวลาน้อยกว่า 3 ชั่วโมงในการประจุไฟเมื่อใช้ไฟบ้านแรงดัน 200 โวลท์ แต่จะเพิ่มเวลาเป็นประมาณ 2 เท่า เมื่อใช้ไฟขนาด 100 โวลท์
ตัวถังยาว 3.570 ม. กว้าง 1.500 ม. และสูง 1.100 ม. ออกแบบให้มีน้ำหนักตัวเบาที่สุดเท่าที่จะเป็นไปได้ โดยใช้วัสดุสังเคราะห์มวลเบาอย่างที่เรียกกันในภาษาอังกฤษว่า CARBON MATERIALS เมื่อประจุไฟเต็มหม้อแต่ละครั้งรถแนวคิดคันนี้จึงวิ่งได้ไกลถึง 160 กม. โดยทำอัตราเร่ง 0-60 กม./ชม. ได้ในเวลา 5.0 วินาที และความเร็วสูงสุด 160 กม./ชม.
ยักษ์รองเมืองยุ่นบอกว่า ลักษณะเด่นประการหนึ่งของรถแนวคิดขับเคลื่อนด้วยพลังไฟฟ้าล้วนๆ คันนี้ คือ เป็นรถที่ผู้ขับไม่ว่าจะเป็นผู้ชายหรือผู้หญิง สามารถปรับเปลี่ยนคุณสมบัติบางอย่างของรถ เช่น กำลังที่ได้จากมอเตอร์ และความแข็งความอ่อนของระบบรองรับ (กันสะเทือน) ได้ด้วยตนเอง จึงทำให้เกิดรสชาติของการขับรถอย่างเต็มที่ ที่น่าเสียดายก็คือ ไม่ยอมบอกรายละเอียดว่าจะทำได้อย่างไร ?
ที่แปลกไปจากรถยนต์ทั่วๆ ไปและเห็นได้อย่างชัดเจนในภาพบนด้านขวามือก็คือ การบังคับควบคุมทิศทางการวิ่งของรถแนวคิดคันนี้ ไม่ได้กระทำด้วยพวงมาลัย แต่ใช้คันบังคับแฝดอย่างที่เรียกในภาษาอังกฤษว่า TWIN-LEVER STEERING ซึ่งยักษ์รองเมืองยุ่นยืนยันว่าใช้งานได้ง่ายมาก ส่วนแผงหน้าปัดอุปกรณ์ซึ่งหน้าตาสร้างความรู้สึกเหมือนกำลังนั่งอยู่ในยานอวกาศ ก็ไม่ได้มีแต่มาตรวัดต่างๆ เท่านั้น หากยังมีจอแสดงข้อมูลเพื่อให้ผู้ขับสามารถสนุกสนานและเพลิดเพลินกับการขับรถ รวมทั้งเครื่องเสียงระบบนำทางและการเชื่อมต่อกับระบบอินเตอร์เนท ยักษ์รองของเมืองยุ่นบอกว่า อุปกรณ์วิลิศมาหราทั้งหลายทั้งปวงนี้ ได้รับการออกแบบและติดตั้งในตำแหน่งที่เหมาะสม จึงไม่ทำให้ผู้ขับสูญเสียสมาธิในการบังคับควบคุมรถแม้แต่น้อย
วิ่งได้ไม่ต้องมีคนขับ
HONDA AC-X
รถแนวคิดวิลิศมาหราอีกคันหนึ่งที่ยักษ์รอง ฮอนดา มอเตอร์ เพิ่งนำออกอวดตัวแบบ WORLD PREMIERE หรือ "ครั้งแรกในโลก" ที่งานมหกรรมยานยนต์โตเกียวครั้งล่าสุดเมื่อเดือนสุดท้ายของปีกระต่าย คือ ฮอนดา เอซี-เอกซ์ (HONDA AC-X) ซึ่งหากเรียกขานกันอย่างเต็มยศ ไม่ใช้ชื่อย่อ ก็ต้องเรียกว่า ฮอนดา แอดวานศ์ด์ ครูเซอร์ เอกซ์พีเรียนศ์ (HONDA ADVANCED CRUISER EXPERIENCE)
เป็นรถแนวคิดในรูปลักษณ์ของรถซีดาน 4 ประตู 4 ที่นั่ง ขับเคลื่อนแบบไฮบริด ที่ออกแบบ และพัฒนาตามแนวความคิดที่ว่า เมื่อขับรถยนต์โดยเฉพาะเมื่อขับรถทางไกล ผู้คนจะรู้สึกเพลิดเพลินและสนุกสนานที่สุด เมื่อพบว่า สิ่งตอบสนองความปรารถนาและความจำเป็นต่างๆ ของพวกเขา มีอยู่แล้วอย่างครบถ้วนในตัวรถ
รูปทรงองค์เอวของตัวถังซึ่งยาว 4.700 ม. กว้าง 1.820 ม. สูง 1.400 ม. และมีค่าสัมประสิทธิ์แรงต้านอากาศที่เยี่ยมยอดมา คือ แค่ 0.21 เป็นผลลัพธ์ของการออกแบบตามแนวคิดที่เรียกเป็นภาษาอังกฤษว่า DUAL SOLID MOTION ซึ่งจนถึงขณะนี้ก็ยังคิดไม่ออกว่าควรจะแปลเป็นภาษาไทยว่าอย่างไร ? แต่ยักษ์รองของเมืองยุ่นให้อรรถาธิบายเชิงชวนเชื่อไว้ว่า ส่วนบนของตัวถังให้ความรู้สึกของพลังงานอันไร้ขีดจำกัด ในขณะที่ส่วนล่างให้ภาพลักษณ์ของเสถียรภาพที่ไว้วางใจได้ ลองพิจารณากันเองก็แล้วกันนะครับ ว่าเป็นอย่างที่เขาว่าหรือเปล่า ? ที่เห็นได้ชัดโดยไม่ต้องมีการชักนำให้เชื่อก็คือ ตัวถังของรถแนวคิดคันนี้ มีจุดสะดุดตาสะดุดใจอยู่หลายจุด ตัวอย่าง คือ แถบไฟ LED ที่พาดยาวตั้งแต่ส่วนหลังของบังโคลนหน้าจนจรดบั้นท้าย ดังที่เห็นในภาพล่างสุดด้านซ้ายมือ
ส่วนภายในห้องโดยสารที่ออกแบบตามแนวคิด ADVANCED INTERFACE INTERIOR ซึ่งก็ยังคิดไม่ออกว่าควรจะแปลเป็นไทยว่าอย่างไรเช่นกัน ตำแหน่งที่ควรจะเป็นพวงมาลัย ถูกแทนที่ด้วยคันบังคับแฝด หรือ TWIN LEVERS STEERING แบบเดียวกับที่เพิ่งผ่านตาไปในรถแนวคิด ฮอนดา อีวี-สเตอร์ (HOMDA EV-STER)
ระบบขับไฮบริดแบบต้องเสียบปลั๊กเพื่อชาร์จไฟ อย่างที่เรียกกันในภาษาอังกฤษว่า PLUG-IN HYBRID ใช้เครื่องยนต์เบนซินขนาด 1.6 ลิตร 95 กิโลวัตต์/129 แรงม้า ทำงานร่วมกับมอเตอร์ไฟฟ้า 120 กิโลวัตต์/163 แรงม้า เติมน้ำมันเชื้อเพลิงเต็มถังแต่ละครั้ง รถจะวิ่งได้ไกลกว่า 1,000 กม. โดยมีอัตราสิ้นเปลืองเชื้อเพลิงเฉลี่ย 110 กม./ลิตร แต่เมื่อวิ่งด้วยพลังไฟฟ้าเพียงอย่างเดียวจะวิ่งได้แค่ประมาณ 50 กม. และความเร็วสูงสุดแค่ 100 กม./ชม.
เนื่องจากเชื่อว่า แม้เป็นคนที่รักการขับรถอย่างแท้จริง ก็ยังอาจเกิดอาการเบื่อหน่ายเมื่อต้องขับรถทางไกล ทีมงานผู้รังสรรค์รถแนวคิดคันนี้ จึงทำระบบขับแบบอัตโนมัติที่เรียกกันในภาษาอังกฤษว่า AUTOMATIC-DRIVE MODE ไว้ด้วย เพียงกดปุ่มซึ่งติดตั้งอยู่บนคันบังคับแฝดที่กล่าวข้างต้น คันบังคับแฝดจะเลื่อนตัวเข้าอยู่ในแผงหน้าปัดอุปกรณ์ ขณะเดียวกันพนักพิงของเบาะผู้ขับจะเอนตัวลง เก้าอี้นั่งเปลี่ยนสภาพเป็นเก้าอี้นอน และรถเข้าสู่โหมดของการวิ่งแบบไร้ผู้ขับ กันชนหน้ากันชนท้ายและกระโปรงข้างจะปรับตัวเองโดยอัตโนมัติ รวมทั้งมีการเปิดสัญญาณไฟหน้าชุดพิเศษ เพื่อบ่งบอกให้รู้ว่ารถแนวคิดคันนี้กำลังวิ่งแบบอัตโนมัติ ผู้ขับอาจกำลังนอนหลับ
รถนาครไม่ต้องป้อนน้ำมัน
HONDA MICRO COMMUTER CONCEPT
ผลงานชิ้นสุดท้ายของยักษ์รอง ฮอนดา มอเตอร์ ที่เลือกมาให้ชื่นชมกันใน "ระเบียงรถใหม่" เดือนนี้ เป็นรถแนวคิดติดป้ายชื่อยาวสามวา คือ ฮอนดา ไมคโร คอมมิวเตอร์ คอนเซพท์ (HONDA MICRO COMMUTER CONCEPT)
เป็นรถแนวคิดในรูปลักษณ์ของรถนาครขนาดกระจิริดกระจิ๋วหลิว ออกแบบให้นั่งได้แค่ 2 คน กรณีเป็นผู้ใหญ่ และนั่งได้ 3 คน กรณีเป็นผู้ใหญ่ 1 คน กับเด็ก 2 คน ตัวถังทรงกล่องเดียว ซึ่งยาวแค่ 2.500 ม. กว้างแค่ 1.250 ม. และสูง 1.430 ม. เต็มไปด้วยพื้นที่กระจก ซึ่งให้ความรู้สึกในความปลอดโปร่งโล่งตาสบายตัว เพราะนอกจากกระจกหน้าและหน้าต่างกระจกบานโตแล้ว แม้แต่ประตูข้างทั้ง 2 บาน ก็เป็นประตูมองทะลุอย่างที่เรียกกันในภาษาอังกฤษว่า SEE-THROUGH DOORS
การออกแบบตัวถังขนาดจิ๋วดังกล่าวนี้ มีแนวคิดที่น่าสนใจ คือ การเปิดโอกาสให้ผู้ใช้รถสามารถตกแต่งตัวถังได้ตามใจชอบ ในลักษณะเดียวกับการตกแต่งโทรศัพท์สมาร์ทโฟน หรืออุปกรณ์ส่วนตัวอื่นๆ กล่าวคือ แถบสีและลวดลายต่างๆ ที่ติดตั้งทั้งด้านหน้า ด้านหลัง และด้านข้างของตัวรถ สามารถถอดเข้าถอดออกได้ ใช้สีนี้ลายนี้แล้วเกิดเบื่อ หรือรู้สึกว่าซ้ำซากจำเจ ก็สามารถถอดออก แล้วเปลี่ยนไปใช้สีใหม่ ลายใหม่ได้ วันดีคืนดีเกิดอยากเปลี่ยนกลับไปใช้สีเก่า ลายเก่า ก็ทำได้อีก เรียกว่าเปลี่ยนสีรถเปลี่ยนลวดลายได้ง่ายๆ เหมือนเปลี่ยนสีเสื้อ หรือกระโปรงนั่นแล
เป็นรถขับเคลื่อนด้วยพลังไฟฟ้าล้วนๆ โดยติดตั้งอุปกรณ์กำลังทั้งหมด รวมทั้งแบทเตอรี และชุดควบคุมการทำงาน ซึ่งเรียกกันในภาษาอังกฤษว่า POWER CONTROL UNIT (PCU) ไว้ตรงท้ายรถ และวางตำแหน่งของล้อทั้ง 4 ให้อยู่ใกล้มุมของตัวรถมากที่สุดเท่าที่จะเป็นไปได้ เป็นการออกแบบเพื่อให้เกิดลักษณะอย่างที่เรียกกันในภาษาอังกฤษว่า MAN MAXIMUM,MACHINE MININMUM (M/M) ซึ่งแปลตรงตัวเป็นภาษาไทยว่า "คนมากสุด เครื่องจักรน้อยสุด" นั่นเอง
ระบบขับด้วยพลังไฟฟ้าดังที่กล่าวข้างต้น ใช้แบทเตอรีลิเธียม-ไอออน (LITHIUM-ION) ขนาด 3.3 กิโลวัตต์ชั่วโมง ซึ่งให้กำลังสูงสุด 16.7 กิโลวัตต์ ประจุไฟแต่ละครั้งโดยใช้เวลาน้อยกว่า 1 ชั่วโมง เมื่อใช้ไฟบ้านแรงดัน 200 โวลท์ และประมาณ 2 ชั่วโมง เมื่อใช้ไฟ 100 โวลท์ รถจะวิ่งได้ไกลประมาณ 60 กม. โดยสามารถทำอัตราเร่ง 0-60 กม. /ชม. ในเวลา 7.4 วินาที และความเร็วสูงสุด 60 กม./ชม.
ยักษ์รองของเมืองยุ่นยังอวดสรรพคุณของรถแนวคิดคันนี้ด้วยว่า เป็นรถที่ออกแบบให้สามารถสนองตอบความต้องการ และความจำเป็นของผู้ขับ ได้ตั้งแต่วินาทีแรกที่ผู้ขับไม่ว่าจะเป็นเขาหรือเธอหย่อนก้นอันกลมกลึงลงบนเบาะนั่งของผู้ขับ ตัวอย่างอย่างเป็นรูปธรรมก็คือ ในทันทีที่เขาหรือเธอเสียบโทรศัพท์สมาร์ทโฟนลงในช่องบนแผงหน้าปัด ข้อมูลส่วนตัวต่างๆ ก็จะปรากฏขึ้นบนจอที่เรียกกันในภาษาอังกฤษว่า MULTI-PROJECTION DISPLAY อย่างฉับพลันทันใจ แถมเป็นการแสดงข้อมูลด้วยสีสันและรูปแบบที่ตรงกับรสนิยมและความสนใจของผู้ใช้อีกต่างหาก
เมื่อพิจารณาหน้าตาและศึกษารายละเอียดต่างๆ อย่างครบถ้วนแล้ว ฟันธงได้เลยว่า ยากมากที่รถแนวคิดคันนี้จะเปลี่ยนสภาพเป็นรถตลาด อย่างไรก็ตาม เชื่อได้ว่ามีเทคโนโลยีบางอย่างที่ ฮอนดา อาจจะนำไปใช้ในรถที่ทำขายในอนาคต
รถสีเขียวเลี้ยวทุกล้อ
NISSAN PIVO 3
ที่งานมหกรรมยานยนต์โตเกียวครั้งล่าสุด เมื่อปลายเดือนพฤศจิกายนต่อกับต้นเดือนธันวาคมปีกระต่าย ยักษ์รอง นิสสัน มอเตอร์ นำรถแนวคิดซึ่งขับเคลื่อนด้วยพลังไฟฟ้าล้วนๆ ออกอวดตัวในงานรวม 3 คัน ปรากฏว่า มีอยู่เพียงคันเดียวเท่านั้นที่เป็นการอวดตัวในลักษณะ WORLD PREMIERE หรือ "ครั้งแรกในโลก" คือรถ นิสสัน ปีโว 3 (NISSAN PIVO 3) ที่เห็นอยู่นี้
ยักษ์รองของเมืองยุ่นนำรถแนวคิดซึ่งขับเคลื่อนด้วยพลังไฟฟ้าออกอวดตัวต่อสายตาสาธารณชนเป็นครั้งแรก ที่งานมหกรรมยานยนต์โตเกียวครั้งที่ 39 เมื่อเดือนตุลาคม 2005 โดยติดป้ายชื่อ นิสสัน ปีโว 1 (NISSAN PIVO 1) หลังจากนั้นก็ทำรถแนวคิดพลังไฟฟ้าขึ้นอีก 6 คัน คันล่าสุด คือ นิสสัน ปีโว 3 (NISSAN PIVO 3) ที่กล่าวข้างต้น จึงเป็นรถแนวคิดพลังไฟฟ้าคันที่ 8 ของค่ายนี้ รวมทั้งเป็นรถที่ยักษ์รองของเมืองยุ่นยืนยันทั้งด้วยคำพูดและเป็นลายลักษณ์อักษรว่า ไม่ใช่แค่ทำให้ดูเล่น แต่บ่งบอกแนวทางของรถไฟฟ้าที่จะทำขายในอนาคตอันใกล้ เป็นรถขนาดเล็กที่ออกแบบสำหรับการใช้งานในเขตเมือง อันเป็นย่านที่กำลังมีปัญหาด้านสิ่งแวดล้อม
ฟรองซัวส์ แบงกอง (FRANCOIS BANCON) ผู้บริหารระดับสูงของยักษ์รองเมืองยุ่น ซึ่งรับผิดชอบการกำหนดยุทธศาสตร์และวางแผนผลิตภัณฑ์อธิบายแก่ผู้สื่อข่าวว่า "ปีโว คือ คำตอบหนึ่งสำหรับนักสิ่งแวดล้อมในตลาดรถที่เติบโตแล้ว รถปีโว ที่ทำขึ้นรวม 3 แบบช่วยให้เราสามารถเข้าอกเข้าใจความจำเป็นของพวกเขาได้อย่างลึกซึ้ง และทำให้รถปลอดไอพิษกลายเป็นเป้าหมายที่ทะเยอทะยานที่สุดของบริษัท ที่ นิสสัน เราทุกคนเชื่อว่าโลกกำลังเปลี่ยนไป และการเคลื่อนที่จากจุดหนึ่งไปยังอีกจุดหนึ่งโดยสะดวกและปลอดไอพิษ จะมีบทบาทอย่างสำคัญในการทำให้โลกดีกว่าที่กำลังเป็นอยู่"
นิสสัน ปีโว 3 เป็นรถแนวคิดในรูปลักษณ์ของรถ 3 ที่นั่ง ที่มีตัวถังยาวไม่ถึง 3 ม. เป็นรถขับเคลื่อนด้วยไฟฟ้าล้วนๆ ซึ่งติดตั้งมอเตอร์ไฟฟ้าไว้ที่ล้อแต่ละล้ออย่างที่เรียกขานกันในภาษาอังกฤษว่า IWM หรือ IN-WHEEL MOTORS เป็นรถที่บังคับขับขี่ง่าย และเลี้ยวได้อย่างแคล่วคล่องเหมือนรถตุ๊กตุ๊กที่วิ่งกันเกลื่อนในบ้านเรา สามารถเลี้ยวได้ในถนนที่กว้างแค่ 4 ม. เพราะล้อจะเลี้ยวได้ทั้งล้อหน้าและล้อหลังดังที่เห็นในภาพ มีลักษณะการเลี้ยวอย่างที่เรียกกันในภาษาอังกฤษว่า ZERO TURN GAP คือ ถ้าล้อหน้าเลี้ยวไปได้ ล้อหลังก็จะเลี้ยวตาม โดยไม่ต้องเป็นห่วงเป็นกังวลว่าขอบถนนจะครูดตัวถังให้เป็นริ้วเป็นรอยเหมือนรถที่เลี้ยวแต่ล้อหน้า
นอกจากเป็นรถปลอดไอพิษและเลี้ยวได้อย่างแคล่วคล่องว่องไวดังกล่าวแล้ว ลักษณะเด่นอีกประการหนึ่งของรถแนวคิดที่ออกแบบสำหรับการใช้งานในเมืองคันนี้ คือ ระบบจอดรถอัตโนมัติ ซึ่งมีชื่อเรียกในภาษาอังกฤษว่า AVP หรือ AUTOMATED VALET PARKING มีลักษณะการทำงานที่อธิบายได้อย่างย่นย่อว่า ในสถานที่ที่ติดตั้งอุปกรณ์ไว้อย่างพร้อมสรรพ ผู้ขับรถแนวคิดคันนี้ ไม่จำเป็นต้องเสียเวลาหาที่จอดรถ หรือเสียพื้นที่ในเซลล์สมองเพื่อจดจำว่าจอดรถไว้ตรงไหน ? ผู้ขับรถเพียงแต่หยุดรถตรงจุดที่กำหนดไว้ ออกจากรถเพื่อไปจับจ่ายใช้สอยจิบกาแฟหรือทำธุรกิจใดๆ ก็ได้ เมื่อเสร็จธุระเหล่านั้นและต้องการใช้รถอีกครั้งหนึ่ง ก็สามารถใช้โทรศัพท์สมาร์ทโฟนเรียกรถให้วิ่งเข้ามาหาได้เองโดยอัตโนมัติ ฟังแล้วเหมือนเป็นเรื่องฝันๆ เฟื่องๆ ในนิยายวิทยาศาสตร์ แต่คนของ นิสสัน ยืนยันกับผู้สื่อข่าวว่า ระบบจอดรถโดยอัตโนมัติอย่างที่ว่ามานี้ หากจะทำ ? พรุ่งนี้ก็ทำได้จ๊ะ
รถพลังไฟฟ้าสองประสงค์
NISSAN TOWNPOD
รถแนวคิดขับเคลื่อนด้วยพลังไฟฟ้าล้วนๆ อีกคันหนึ่ง ที่ยักษ์รองของเมืองยุ่นนำออกอวดตัวในงานมหกรรมยานยนต์โตเกียวครั้งล่าสุดเมื่อปลายปีกระต่าย คือ นิสสัน ทาวน์พอด (NISSAN TOWMPOD) ซึ่งปรากฏตัวต่อสายตาสาธารณชนแบบ WORLD PREMIERE หรือ "ครั้งแรกในโลก" ที่งานมหกรรมยานยนต์ปารีสครั้งล่าสุดเมื่อเดือนกันยายน 2010 แต่คนรักรถในเมืองยุ่นเพิ่งได้สัมผัสตัวจริงเสียงจริงเป็นครั้งแรกก็ที่งานนี้
เป็นรถแนวคิดที่กำเนิดขึ้นจากแนวความคิดที่ว่า ผู้คนทั่วโลกกำลังใช้ชีวิตและทำงานอยู่ในยุคของดิจิทอล รถที่เราทำขายลูกค้าก็จำเป็นต้องปรับตัวให้เป็นไปตามยุคที่ว่านั้น ในทุกๆ มุมของโลกมีผู้ประกอบการสายพันธุ์ใหม่เกิดขึ้นทุกวัน ผู้ประกอบการเหล่านี้พอใจการนั่งทำงานที่บ้านหรือออฟฟิศเล็กๆ ไม่มีเวลาทำงานที่แน่นอนตายตัว เส้นแบ่งแยกระหว่างธุรกิจกับชีวิตส่วนตัวเห็นได้ไม่ชัดเจน หรือไม่มีด้วยซ้ำ ปัจจัยการเดินทางของคนเหล่านี้ ก็จำเป็นต้องเปลี่ยนไปด้วย
เช่นเดียวกับเสื้อที-เชิร์ทที่สวมใส่แบบลำลองก็ได้ หรือสวมทับด้วยเสื้อสูทอีกตัวแล้วกลายเป็นชุดเอาการเอางานก็ได้ รถแนวคิด นิสสัน ทาวน์พอด (NISSAN TOWMPOD) ที่กำเนิดขึ้นตามแนวคิดข้างต้นจึงประกาศตัวว่า เป็นรถที่ใช้ได้ทั้งกับงานธุรกิจและเรื่องเพลิดเพลิน หรือให้ชัดขึ้นอีกก็คือ เป็นรถสำหรับผู้ที่เห็นว่า BUSINESS IS PLEASURE ธุรกิจ คือ สิ่งเพลิดเพลิน
เป็นรถแนวคิดในรูปลักษณ์ของรถเก๋งที่ผนวกประโยชน์ใช้สอยของรถเพื่อการพาณิชย์ไว้ด้วยในตัว มีตัวถังขนาดเล็กกะทัดรัด แต่มีห้องโดยสารพื้นเรียบและต่ำที่กว้างขวางโอ่โถง การขึ้น/ลงรถทำได้โดยสะดวก เพราะประตูข้างทั้ง 2 ด้านเป็นประตูติดบานพับที่เปิดแยกจากกัน โดยไม่มีเสาค้ำยันกลางอย่างที่เรียกกันว่า "ประตูฆ่าตัวตาย" หรือ " ประตูตู้กับข้าว" การยกข้าวยกของขึ้นหรือลงจากห้องเก็บของท้ายรถ ก็ทำได้สะดวกเช่นกัน เพราะประตูบานท้ายซึ่งออกแบบเป็น 2 บาน ติดบานพับชนิดพิเศษที่ทำให้เปิดประตูได้กว้างกว่าปกติ ดังที่เห็นในภาพเล็กหน้าขวามือ
ภายในห้องโดยสารซึ่งออกแบบอย่างเรียบง่าย แต่เพียบไปด้วยอุปกรณ์ใช้สอยที่จำเป็น ติดตั้งเก้าอี้ที่นั่ง 2 แถวเหมือนรถเก่งทั่วๆ ไป ความพิเศษอยู่ตรงที่ว่า เก้าอี้ที่นั่งแถวหลังออกแบบให้มีขนาดบางเป็นพิเศษ และสามารถเลื่อนไปซ้อนใต้เก้าอี้แถวหน้า เมื่อต้องการเพิ่มพื้นที่บรรทุกสัมภาระหีบห่อ แผงหน้าปัดอุปกรณ์หน้าตาไม่วิจิตรพิสดาร แต่ใช้ประโยชน์ได้อย่างสมยุคสมสมัยดิจิทอล รวมทั้งมีเทคโนโลยีไร้สายบลูทูธ สามารถสื่อสารเชื่อมต่อกับระบบใช้งานส่วนตัวที่เรียกกันในภาษาอังกฤษว่า PDA หรือ PERSONAL DIGITAL ASSISTANT ได้โดยสะดวก การบังคับควบคุมให้รถที่ขับด้วยพลังไฟฟ้าล้วนๆ เดินหน้าหรือถอยหลังก็ทำได้ง่ายๆ ด้วยแท่ง JOYSTICK ซึ่งติดตั้งอยู่ตรงด้านขวาของเก้าอี้ที่นั่งผู้ขับ ที่ดูแปลกตาหน่อยก็คือ การบุผนังส่วนครึ่งหน้าด้วยวัสดุนุ่มสีอ่อน แต่ส่วนหลังกลับใช้สีเข้ม คือ สีน้ำเงิน
รถจิ๋วหน้าตากระจุ๋มกระจิ๋ม
SUZUKI Q-CONCEPT
ในงานมหกรรมยานยนต์โตเกียวครั้งล่าสุดเมื่อปลายปีกระต่ายที่เพิ่งผ่านพ้นไปอย่างน่าใจหายใจคว่ำเพราะปัญหาน้องน้ำ ยอดผู้ผลิตรถจิ๋ว คือ ซูซูกิ มอเตอร์ คอร์พอเรชัน นำรถแนวคิดออกอวดตัวแบบ WORLD PREMIERE หรือ "ครั้งแรกในโลก" พร้อมๆ กันรวม 3 คัน เลือกคันที่หน้าตาหวือหวาฟู่ฟ่าที่สุดมาให้ชมกันในเดือนนี้เพียงคันเดียว คือ คันที่ติดป้ายชื่อ ซูซูกิ คิว-คอนเซพท์ (SUZUKI Q-CONCEPT)
ยักษ์เล็กของเมืองยุ่นให้อรรถาธิบายของรถแนวคิดคันนี้ไว้ว่า เป็นรถแนวคิดในรูปลักษณ์ของรถสายพันธุ์ใหม่ เป็นรถที่ยังไม่มีชื่อเรียกโดยเฉพาะ มีตำแหน่งแห่งหนแทรกอยู่ตรงกลางระหว่างรถ 2 ประเภทที่ผู้คนคุ้นเคยดี คือ รถเก๋งกับรถจักรยานยนต์ ตัวถังซึ่งยาวแค่ 2.50 ม. และกว้างแค่ 1.30 ม. มีรูปทรงองค์เอวไม่เหมือนรถคันใดในโลก เมื่อมองจากด้านข้างตรงๆ ดูเหมือนแผ่นซีดี หรือแผ่นดีวีดีขนาดใหญ่โตมโหฬาร ที่มีล้อพลาสติคขนาดย่อมติดอยู่ด้วย
ภายในห้องโดยสารซึ่งออกแบบได้อย่างคิกขุ ติดตั้งเก้าอี้ที่นั่งเพียง 2 ตัว ในลักษณะนั่งเรียงกันเหมือนรถจักรยานยนต์ นอกจากนั้น ในกรณีที่ต้องการ ก็สามารถเปลี่ยนเก้าอี้ที่นั่งแถวหลัง เป็นเก้าอี้แฝดขนาดเล็กที่เด็กนั่งได้ 2 คน หรือยกออกทั้งหมด เพื่อใช้เป็นพื้นที่บรรทุกก็ยังได้ แผงหน้าปัดอุปกรณ์ดูกระจุ๋มกระจิ่ม เข้ากันได้อย่างเหมาะเจาะกับผู้ใช้รถวัยสาวอย่างพริททีที่ยืนอวดองค์เอวอยู่ในภาพ เป็นแผงหน้าปัดอุปกรณ์ไฮเทค หลังจากวางโทรศัพท์สมาร์ทโฟนลงบนช่องที่อยู่เหนือกึ่งกลางพวงมาลัย ผู้ขับสามารถใช้ระบบสัมผัสบนจอ TOUCHSCREEN กำหนดการทำงานของระบบนำทาง ทำให้รู้เส้นทางที่ควรจะไป รวมทั้งระยะทางและข้อมูลเกี่ยวข้องอื่นๆ นอกจากนั้นยังมีฟังค์ชันการทำงานพิเศษ ที่ทำให้ผู้ขับสามารถสื่อสารข้อมูลกับเพื่อน หรือคนอื่นๆ ที่ขับรถอยู่ใกล้ๆ ได้อีกต่างหาก
ในส่วนของตัวถังที่กล่าวข้างต้น แนวคิดการออกแบบที่น่าสนใจมาก และเท่าที่จำได้ยังไม่เคยพบในรถแนวคิดคันอื่นๆ คือ การออกแบบประตูเป็นรูปครึ่งวงกลม และเปิดโดยหมุนขึ้นข้างบนดังที่เห็นในภาพ การออกแบบประตูในลักษณะนี้ รวมทั้งเก้าอี้ที่นั่งที่สามารถหมุนให้หันออกด้านข้าง ทำให้การขึ้น/ลงรถของทั้งผู้ขับและผู้โดยสารทำได้สะดวกมาก แม้เมื่อจอดอยู่ในที่แคบๆเป็นรถที่ออกแบบสำหรับการใช้งานในเมือง ไปซื้อข้าวซื้อของ ไปหาหมอ ส่งลูกไปโรงรียน หรือประกอบกิจกรรมประจำวันอื่นๆ ซึ่งระยะทางที่วิ่งก็ไม่น่าจะเกินวันละ 10 กม. จึงคาดหมายได้ว่า หากทำรถแบบนี้ออกขายอย่างจริงๆ จังๆ ระบบขับที่ใช้ก็คงจะเป็นการขับด้วยพลังไฟฟ้าล้วนๆ ซึ่งอีกไม่นานผู้คนก็คงจะคุ้นเคย
รถไฮบริดที่ต้องติดปีก
SUBARU ADVANCED TOURER CONCEPT
รถแนวคิดอีกคันหนึ่งจากงานมหกรรมยานยนต์โตเกียวครั้งที่ 42 ที่เลือกมาให้ชมกันในเดือนนี้ เป็นรถติดป้ายชื่อ ซูบารุ แอดวานซ์ด์ ทัวเรอร์ คอนเซพท์ (SUBARU ADVANCED TOURER CONCEPT) ผลงานชิ้นใหม่เอี่ยมแกะกล่องของยักษ์เล็ก ฟูจิ เฮฟวี อินดัสตรี (FUJI HEAVY INDUSTRIES LTD.) ซึ่งในระยะ 3-4 ปีหลังนี่ ทำรถแนวคิดให้ผู้คนได้ชื่นชมกันอยู่บ่อยๆ
เป็นรถแนวคิดในรูปลักษณ์ของรถเก๋งตรวจการณ์ขนาดเล็กกะทัดรัด ที่ยักษ์เล็กเมืองยุ่นบอกว่า ออกแบบ และพัฒนาด้วยแนวความคิด ซึ่งเขียนเป็นภาษาอังกฤษว่า CONFIDENCE IN MOTION ที่น่าจะแปลเป็นภาษาไทยอย่างตรงไปตรงมาได้ว่า "เชื่อมั่นในการเคลื่อนที่" รวมทั้งเป็นรถที่สามารถหลอมรวมความสนุกสนานและเพลิดเพลินใจของการขับขี่ เข้ากับคุณสมบัติการเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม อย่างได้สมดุลไม่เอนเอียงไปทางใดทางหนึ่ง
ตัวถังยาว 4.580 ม. กว้าง 1.840 ม. และสูง 1.430 ม. มีรูปลักษณ์และรายละเอียดในหลายๆ จุดที่ไม่เคยพบเคยเห็นกันมาก่อนในรถตลาดของค่ายนี้ ตัวอย่าง คือ หลังคาซึ่งทำจากกระจกบานโตมีเพียงส่วนขอบเท่านั้นที่เป็นโลหะ และประตูข้างทั้ง 2 ด้านที่เปิดแยกจากกันโดยไม่มีเสาค้ำยันกลาง แต่ประตูบานหน้าและบานหลังมีลักษณะการติดตั้งและปิด/เปิดแตกต่างกัน กล่าวคือ บานหน้าเป็นประตูปีกนก ส่วนบานหลังเป็นประตูที่ปิด/เปิดแบบธรรมดา แต่ติดบานพับแบบพิเศษที่ทำให้เปิดประตูได้กว้างกว่าปกติ
ภายในห้องโดยสารซึ่งออกแบบให้นั่งได้รวม 4 คน ตกแต่งอย่างหรูหราฟู่ฟ่าประดับประดาด้วยไม้และโลหะ แผงหน้าปัดอุปกรณ์ให้ความรู้สึกเหมือนกำลังนั่งอยู่ในรถที่พร้อมจะออกโชว์รูม ไม่ใช่รถแนวคิด กึ่งกลางพวงมาลัยติดตั้งจอมอนิเตอร์ขนาดใหญ่ ทำให้ผู้ขับสามารถเข้าถึงข้อมูล และสื่อต่างๆ คือ แผนที่ โทรทัศน์ และระบบอินเตอร์เนท อันเป็นสิ่งที่มนุษย์ในยุคสมัยนี้ขาดไปเสียไม่ได้ แม้ในยามที่นั่งอยู่ในรถยนต์
เป็นรถขับเคลื่อนทุกล้อแบบไฮบริด โดยใช้เครื่องยนต์ 4 สูบนอนยัน (บอกเซอร์) ขนาด 1.6 ลิตร ทำงานร่วมกับมอเตอร์ไฟฟ้าที่รับพลังไฟจากแบทเตอรีลิเธียม-ไอออน (LITHIUM-ION) เครื่องยนต์ที่ว่านี้เป็นเครื่องฉีดเชื้อเพลิงโดยตรงติดเทอร์โบ ที่ยักษ์เล็กเมืองยุ่นกำลังออกแบบและพัฒนาขึ้นใหม่ เป็นเครื่องยนต์ขนาดเล็กที่ให้กำลังสูง แต่ปล่อยไอพิษต่ำ ส่วนระบบเกียร์เพื่อส่งทอดกำลังสู่ล้อคู่หน้าและคู่หลังผ่านระบบขับทุกล้อ ที่เรียกเป็นภาษาอังกฤษว่า SYMMETRICAL ALL-WHEEL DRIVE เป็นเกียร์อัตโนมัติปรับอัตราทดต่อเนื่อง (เกียร์ CVT) ที่ค่ายนี้เพิ่งออกแบบ และพัฒนาขึ้นใหม่เช่นกัน และเรียกชื่อให้แตกต่างจากผู้ผลิตรายอื่นว่าระบบเกียร์ LINEARTRONIC เป็นระบบเกียร์อัตโนมัติปรับอัตราทดต่อเนื่องใช้สายพานและติดตั้งตามยาวแบบแรกของโลก ที่จะมีการผลิตในลักษณะมวลผลิต ที่เรียกกันในภาษาอังกฤษ MASS-PRODUCTION
รถในฝันที่มีวันเป็นจริง
TOYOTA NS4
7 คันที่เพิ่งผ่านสายตาไป ล้วนเป็นรถแนวคิดสัญชาติญี่ปุ่นที่ได้เห็นมาจากการเดินทางไปเยือนมหกรรมยานยนต์โตเกียวครั้งที่ 42 เมื่อเดือนสุดท้ายของปีกระต่าย ส่วนอีก 2 คันที่ยังเหลืออยู่ ก็เป็นรถแนวคิดของผู้ผลิตรถยนต์ญี่ปุ่นเช่นกัน แต่เป็นรถญี่ปุ่นที่ไม่ได้เปิดตัวในญี่ปุ่น หากใช้งานแสดงรถยนต์รายการสำคัญในสหรัฐอเมริกา คือ มหกรรมยานยนต์ดีทรอยท์ เป็นที่อวดตัวแบบ WORLD PREMIERE หรือ "ครั้งแรกในโลก"
คันแรกที่เห็นอยู่นี้ เป็นผลงานของยักษ์ใหญ่ โตโยตา มอเตอร์ คอร์พอเรชัน TOYOTA MOTOR CORPORATION) หน้าตาเหมือนรถที่พร้อมแล้วจะออกจำหน่ายในตลาด แต่ที่จริงยังมีฐานะเป็นรถแนวคิดไม่ใช่รถตลาด ป้ายชื่อที่ติดอยู่ตรงบั้นท้าย คือ โตโยตา เอนเอส 4 (TOYOTA NS4)
เป็นรถแนวคิดในรูปลักษณ์ของรถเก๋งซีดาน ขับเคลื่อนด้วยระบบไฮบริดแบบต้องมีการเสียบปลั๊กเพื่อชาร์จไฟอย่างที่เรียกกันในภาษาอังกฤษว่า PLUG-IN HYBRID ที่ยักษ์ใหญ่ของเมืองยุ่นประกาศอย่างเปิดเผยว่า เป็นต้นแบบของรถเก๋งขนาดกลาง หรือ MID-SIZE CAR ที่ตั้งใจไว้ว่า ปี 2015 จะนำออกขายในตลาดทั่วโลก
"ในยุคดิจิทอลนี้ รถยนต์กลายเป็นซี่ล้อหนึ่งของวงล้อแห่งการเชื่อมต่อทางอีเลคทรอนิค" จิม เลนท์ซ์ (JIM LENTZ) ประธานและหัวหน้าเจัาหน้าที่ปฏิบัติการของ TMS หรือ TOYOTA MOTOR SALES,USA กล่าวกับผู้สื่อข่าว"รถ เอนเอส 4 แสดงให้เห็นว่า โตโยตา สามารถเชื่อมต่อมนุษย์เข้ากับรถยนต์ ด้วยเทคโนโลยีที่ให้ความสำคัญทั้งกับความสัมพันธ์เชิงอารมณ์และความสัมพันธ์ที่มีเหตุมีผล ผู้คนกับรถยนต์ และรถยนต์กับสังคม" ไม่ได้ยินด้วยหูของตนเองแต่อ่านจากที่มีผู้รายงานไว้ แปลอังกฤษเป็นไทย แล้วก็เป็นงงว่าคำพูดทั้งหมดนี้ ต้องการจะสื่ออะไร ?
ที่ไม่เป็นงงก็คือ คำยืนยันของยักษ์ใหญ่เมืองยุ่นที่บอกว่า ระบบขับแบบไฮบริดที่พัฒนาขึ้นใหม่และนำมาใช้ในรถแนวคิดคันนี้ ออกแบบโดยมีจุดมุ่งหมายเพื่อลดขนาด และน้ำหนักของชิ้นส่วนต่างๆ ที่ใช้ รวมทั้งลดอัตราสิ้นเปลืองเชื้อเพลิง เพิ่มสมรรถนะการเร่ง ยืดพิสัยการเดินทางเมื่อวิ่งด้วยพลังไฟฟ้าล้วนๆ และเวลาที่ใช้ในการประจุไฟเข้าแบทเตอรียังคงสั้นเหมือนในขณะนี้
นอกจากประสิทธิภาพของระบบขับแบบไฮบริดที่ว่านี้แล้ว จุดเด่นที่น่าจะเป็นจุดขายสำคัญอีกจุดหนึ่งเมื่อถึงวันที่วันแนวคิดคันนี้เปลี่ยนฐานะเป็นรถตลาด ก็คือ คุณสมบัติด้านการสื่อสาร ยักษ์ใหญ่ของเมืองยุ่นบอกว่า สามารถร่วมมือกับพันธมิตรซึ่งเป็นผู้นำด้านเทคโนโลยีอย่าง MOCROSOFT INTEL และ SALESFORCE พัฒนาระบบสื่อสาร HMI หรือ HUMAN-MACHINE INTERFACE ที่มีหน้าตาและให้ความรู้สึกเหมือนโทรศัพท์สมาร์ทโฟน มีระบบปฏิบัติที่ไม่ซับซ้อน สามารถส่งทอดข้อมูลต่างๆ ได้อย่างรวดเร็วและมีการเบี่ยงเบนต่ำ รวมทั้งสามารถ "เรียนรู้" นิสัยและความชอบหรือไม่ชอบของผู้ขับ เพื่อคาดการณ์ว่าผู้ขับจะสนองตอบอย่างไรต่อสภาพแวดล้อมและสถานการณ์ที่จะเกิดขึ้น นับเป็นอีกคุณลักษณ์หนึ่งที่ยืนยันให้ประจักษ์ว่า รถแนวคิดคันนี้ คือ A TRULY CONNECTED VEHICLE ยานพาหนะที่เชื่อมต่อมนุษย์เข้ากับยานพาหนะได้อย่างสมบูรณ์แบบ 2-3 ประโยคหลังนี่ ไม่ได้ว่าเอาเอง แต่เป็นคำยืนยันเชิงชวนเชื่อของยักษ์ใหญ่เมืองยุ่น ได้ยินแล้ว (ความจริงอ่าน) รู้สึกเคลิ้มอยู่เหมือนกัน ต้องหยิกเนื้อตัวเอง จึงรู้ว่าไม่ได้ฝันไป
สุดยอดสปอร์ทคูเปพันธุ์ยุ่น
LEXUS LF-LC
รถแนวคิดอีกคันหนึ่ง ที่มีโอกาสสัมผัสตัวจริงเสียงตอนที่เดินทางไปเยือนงานมหกรรมยานยนต์ดีทรอยท์ในเมืองมะกัน เป็นผลงานใหม่เอี่ยมแกะกล่องหุ้มพลาสติคของค่าย เลกซัส ผู้ผลิตรถระดับ "พรีเมียม" ซึ่งอยู่ในร่มเงาของยักษ์ใหญ่ โตโยตา มอเตอร์ คอร์พอเรชัน และป้ายชื่อที่อยู่ตรงบั้นท้ายอ่านออกเสียงได้ว่า เลกซัส แอลเอฟ-แอลซี (LEXUS LF-LC) ค้นอยู่เป็นนานสองนานสามนาน ก็ยังค้นไม่พบว่า อักษร 4 ตัว คือ LF และ LC ย่อมาจากคำอะไร ?
เป็นผลงานที่รังสรรค์ขึ้นในสหรัฐอเมริกา โดย CALTY DESIGN STUDIO ซึ่งเป็นศูนย์ออกแบบของค่ายนี้ที่ตั้งอยู่ในเมืองนิวพอร์ทบีช (NEWPORT BEACH) รัฐแคลิฟอร์เนีย และเป็นรถแนวคิดที่บ่งบอกทิศทางของรถสปอร์ทคูเป2+2 ที่นั่งขับเคลื่อนล้อหลังแบบไฮบริด ที่ค่ายนี้จะนำออกสู่ตลาดในอนาคตที่ไม่นานจนเกินรอ
"รถแนวคิดคันนี้ คือ การสืบสานแนวทางการปฏิวัติด้านการออกแบบของ เลกซัส ซึ่งเริ่มต้นด้วยรถ เลกซัส ซีที และ เลกซัส จีเอส ที่พวกคุณได้เห็นกันมาแล้ว" มาร์ค เทมพลิน (MARK TEMPLIN) รองประธานและผู้จัดการทั่วไปของผู้ผลิตรถยนต์รายนี้พูดกับผู้สื่อข่าว "การออกแบบรถไฮบริด 2+2 ที่นั่งคันนี้ เป็นการปลดปล่อยแนวคิดในการออกแบบรถสปอร์ทคูเปให้เป็นอิสระ และขยายขอบเขตจำกัดทั้งในด้านสมรรถนะ รูปแบบ และเทคโนโลยี"
"ทุกคนในศูนย์ร่วมแรงร่วมใจกันพัฒนารถแนวคิดสุดสวยคันนี้ เพื่อตีความหมายแก่นแกนที่แท้จริงของการเป็นรถ เลกซัส" เควิน ฮันเตอร์ (KEVIN HUNTER) ประธานของศูนย์ออกแบบ CALTY DESIGN STUDIO กล่าวเสริม "สิ่งที่บรรจุอยู่ในรถแนวคิด แอลเอฟ-แอลซี คือ วิสัยทัศน์ของเราต่อรถสปอร์ทระดับพรีเมียม"
ฟังแล้วดูดี และก็ต้องยอมรับว่าดีจริงจริง หากพิจารณาเฉพาะหน้าตาและรูปทรงองค์เอวของตัวถัง จะพิจารณาจากเรื่องอื่นก็ยังทำไม่ได้ เพราะยอดผู้ผลิตรถหรูรายนี้ไม่ได้ให้รายละเอียดอะไรเลยที่เกี่ยวข้องกับเครื่องยนต์กลไกระบบเกียร์ระบบขับและชิ้นส่วนอื่นๆ บอกแต่เพียงว่า เป็นรถวางเครื่องหน้าและขับเคลื่อนล้อหลังแบบไฮบริด จะเป็นไฮบริดแบบธรรมดาหรือไฮบริดแบบต้องเสียบปลั๊กเพื่อชาร์จไฟก็ยังไม่บอก
เป็นตัวถัง 2+2 ที่นั่ง ที่ดูปราดเปรียวและให้ความรู้สึกในพลกำลังที่น่าเกรงขาม ส่วนหน้าที่ยืดยาวเกือบครึ่งของความยาวโดยรวม มีจุดดึงดูดสายตามากมายหลายจุด รวมทั้งแผงกระจังหน้าของโตสะอกสะใจที่มีรูปลักษณ์เหมือนแกนหลอดด้ายซึ่งเรียกกันในภาษาอังกฤษว่า SPINDLE GRILLE โคมไฟหน้าสำหรับการขับขี่ตอนกลางวันซึ่งออกแบบเป็นรูปตัว L และไฟตัดหมอกวางตัวในแนวตั้งซึ่งให้ความรู้สึกของการเคลื่อนไหว
ภายในห้องโดยสารที่ตกแต่งอย่างประณีตพิถีพิถัน วางตำแหน่งและติดตั้งอุปกรณ์ต่างๆ ในลักษณะอย่างที่เรียกกันในภาษาอังกฤษว่า DRIVER-FOCUSED คือ ยึดผู้ขับเป็นหลัก เป็นห้องโดยสารที่ให้ความรู้สึกในความมั่นคงแต่เปิดเผย และอบอวลไปด้วยกลิ่นอายของสรรพเทคโนโลยี มีระบบสัมผัสซึ่งทำให้ผู้ขับควบคุมการทำงานของอุปกรณ์ต่างๆ โดยไม่จำเป็นต้องเคลื่อนหรือละสายตาจากท้องถนน มีจอแอลซีดีขนาด 12.3 นิ้ว ให้ข้อมูลต่างๆ รวมทั้งข้อมูลระบบนำทาง มีอะไรๆ อีกมากมายที่ไม่อาจบรรยายได้หมดในเนื้อที่อันจำกัดของ "ระเบียงรถใหม่" เดือนนี้ เอวัง
ABOUT THE AUTHOR
ช
ชูศักดิ์ ชมจินดา
ภาพโดย : ชูศักดิ์ ชมจินดา/บริษัทผู้ผลิตนิตยสาร 399 ฉบับเดือน เมษายน ปี 2555
คอลัมน์ Online : ระเบียงรถใหม่