วิถีตลาดรถยนต์
อะไรจะมากมายขนาดนี้
[table]
เปรียบเทียบยอดจำหน่ายรถยนต์ประจำเดือนมีนาคม ปี '55 กับ '54
ตลาดโดยรวม, + ,18.3 %
รถยนต์นั่ง, -, 5.8 %
กระบะขับเคลื่อน 2 ล้อ, +, 32.1 %
กระบะขับเคลื่อน 4 ล้อ, +, 209.9 %
รถขับเคลื่อน 4 ล้อ ,+, 30.5 %
รถเอมพีวี, +, 43.9 %
เปรียบเทียบยอดจำหน่ายรถยนต์ประจำเดือนมกราคม-มีนาคม ปี '55 กับ '54
ตลาดโดยรวม, +, 16.0 %
รถยนต์นั่ง, - ,7.5 %
กระบะขับเคลื่อน 2 ล้อ, + ,28.7 %
กระบะขับเคลื่อน 4 ล้อ, +, 203.4 %
รถขับเคลื่อน 4 ล้อ, +, 36.6 %
รถเอมพีวี ,+, 47.8 %
[/table]
สถิติมีไว้ถูกทำลายจริงๆ แทบไม่น่าเชื่อว่าปีที่ผ่านมาเป็นปีแห่งความทุกข์ระทม จนบางคนเกรงว่าจะเลยลามปามมาจนถึงปีนี้ โดยเฉพาะเรื่องของน้ำท่วม ซึ่งน่าจะเป็นปัจจัยที่ทำให้เกิดการชะลอการตัดสินใจซื้อลงไปบ้าง แต่ในความเป็นจริงที่เกิดขึ้น ตั้งแต่เริ่มปีใหม่เป็นต้นมา กำลังซื้อหลั่งไหลมาอย่างเนืองแน่น โดยเฉพาะเรื่องของการซื้อขายรถใหม่ป้ายแดง ที่มีแต่จะเพิ่มขึ้นๆ จนถึงเดือนมีนาคม แค่เดือนที่ 3 ของปี ตัวเลขยอดจำหน่ายรถยนต์ทะลุทะลวงเกินพิกัด ตกเข้าไปถึง 109,992 คัน ต้องเปิดบันทึกสถิติหน้าใหม่กันอีกครั้งแล้ว ช่วงเดือนมีนาคมปีที่แล้ว เพิ่งจะเริ่มเกิดแผ่นดินไหว และคลื่นยักษ์สึนามิ ถล่มเกาะญี่ปุ่น ส่งผลกระทบมาถึงบ้านเรา ทำให้ยอดจำหน่ายรถยนต์ปีที่ผ่านมา นับจากช่วงนี้ไป ตกต่ำหัวปักหัวปำกันเป็นทิวแถว โดยเฉพาะรถยนต์ค่ายญี่ปุ่น ปีนี้ยังไม่มีสัญญาณภัยพิบัติขนาดหนักหนาสาหัส ไม่แน่ว่าเราอาจได้ตัวเลขยอดจำหน่ายเดือนละแสนกว่าคันอย่างนี้กันอีกหลายรอบ
เดือนมีนาคม เป็นช่วงเวลาที่มีรถยนต์รุ่นใหม่ออกสู่ตลาดอย่างเป็นทางการ มากมายหลายรุ่น จากการจัดงานมอเตอร์โชว์ ในช่วงปลายเดือนต่อเนื่องถึงต้นเดือนเมษายน ถึงแม้ว่ารถยนต์บางรุ่นที่ใช้เวทีงานนี้เปิดตัวรุ่นใหม่ จะยังไม่พร้อมในด้านการส่งมอบให้ผู้สั่งจอง เรียกว่าชิงเปิดตัวสร้างกระแสเอาไว้ก่อนก็ตาม แต่ตัวเลขยอดจองรถยนต์ใหม่ที่เกิดขึ้นระหว่างการจัดงาน ก็ทำให้แฮพพีกันไปทุกๆ ฝ่าย ทั้งคนจัดงาน บริษัทที่เข้าร่วมงาน พนักงานขายของบริษัทที่เข้าร่วมงาน รวมไปถึงผู้ซื้อที่ได้รับพโรโมชันพิเศษช่วงจัดงานกันแบบจัดเต็ม ที่เหลือก็เป็นเรื่องของการส่งมอบ ถ้าไม่ตรงตามที่สัญญาไว้กับลูกค้า ก็เตรียมหูชากันได้เลย รถยนต์รุ่นใหม่ที่เปิดตัวเข้าสู่ตลาดอย่างเป็นทางการในเดือนนี้มี มิตซูบิชิ มิราจ ทางเลือกใหม่ของอีโคคาร์, ซูซูกิ สวิฟท์ อีโคคาร์ที่น่าสนใจอีกคันหนึ่ง, เชฟโรเลต์ ทเรลบเลเซอร์ พิคอัพดัดแปลงที่พัฒนาขึ้นบนพื้นฐานของ โคโรลาโด, ฮันเด เอลันทรา ดีกรีรถยอดเยี่ยม 2012 ของอเมริกาเหนือ และฮอนดา ซีวิค ใหม่ เป็นต้น ซึ่งบรรดาน้องใหม่เหล่านี้จะส่งผลให้ยอดจำหน่ายรถยนต์ในประเทศ คึกคักกระชุ่มกระชวยต่อเนื่องไปอีกหลายเดือน ก่อนที่จะถึงช่วงเวลาเงินเวลาทองอีกครั้งในปลายปี จากช่วงเวลาของงาน MOTOR EXPO 2012 วันที่ 29 พฤศจิกายน-10 ธันวาคม
ยอดจำหน่ายรถยนต์ในประเทศ เดือนมีนาคม 2555 ปรับตัวสูงขึ้นจากเดือนเดียวกันปีที่แล้ว 18.3 % ขณะที่ยอดรวมในไตรมาสแรกมียอดสะสมแล้ว 276,699 คัน เพิ่มขึ้นจากไตรมาสเดียวกันของปีที่แล้ว 16.0 % สายเลือดใหญ่ที่หล่อเลี้ยงอุตสาหกรรมยานยนต์ในประเทศ รวมถึงการเชิดหน้าชูตาให้กับอุตสาหกรรมยานยนต์ไทยด้วยการส่งออกไปจำหน่ายในหลายประเทศทั่วโลก รถพิคอัพ 1 ตัน ขับเคลื่อน 2 ล้อ ในช่วงเวลาตั้งแต่ต้นปีที่ผ่านมา เป็นการเปลี่ยนสู่ความเป็นสายเลือดใหม่กันในเกือบจะทุกยี่ห้อ ส่งผลให้ตัวเลขยอดจำหน่ายพุ่งขึ้น กลับมาเป็นพระเอกตัวจริงบนโชว์รูมผู้จำหน่ายอีกครั้งหนึ่ง เดือนมีนาคม มียอดจำหน่ายรวมกันทุกยี่ห้อถึง 50,786 คัน เพิ่มสูงกว่ามีนาคมปีที่แล้วถึง 32.1 % ถึง โตโยตา จะเสียเปรียบเรื่องความใหม่ของผลิตภัณฑ์ แต่กระแสความนิยมยังไม่มีตก เดือนนี้ยังครองอันดับ 1 ต่อเนื่องด้วยยอดจำหน่าย 17,593 คัน เพิ่มขึ้น 26.0 % จากมีนาคมปีที่แล้ว มีส่วนแบ่งการตลาด 34.6 %
คู่แข่งรายสำคัญ อีซูซุ เดือนนี้ทำยอดไล่จี้ โตโยตา กระชั้นขึ้นมา สามารถทำยอดจำหน่ายได้ 16,643 คัน เพิ่มขึ้น 22.6 % รับส่วนแบ่งการตลาดไป 32.8 % มิตซูบิชิ ยังคงเหนียวแน่นกับอันดับที่ 3 เหมือนเช่นเดิม ถึงแม้ว่าจะเป็นหนึ่งในพิคอัพที่เสียเปรียบอยู่บ้างในเรื่องความใหม่สดของรูปร่างหน้าตา เดือนมีนาคมโกยยอดจำหน่ายไป 5,859 คัน เพิ่มขึ้นจากมีนาคมปีที่แล้ว 50.8 % ส่วนแบ่งการตลาด 11.5 % ขณะที่ เชฟโรเลต์ มีการปรับตัวสูงที่สุดในเดือนมีนาคม ทำยอดจำหน่ายได้ 3,294 คัน ปรับตัวสูงขึ้นถึง 236.8 % กินส่วนแบ่ง 6.5 % อันดับที่ 5 เป็นของ นิสสัน ที่ถึงแม้ยอดจำหน่ายจะลดลงไปจากเดือนมีนาคมปี 2554 บ้าง แต่ก็ยังมีดีพอที่จะรักษาตำแหน่งทอพไฟว์เอาไว้ได้ จำหน่ายไป 2,534 คัน ติดลบ 17.5 % ได้ส่วนแบ่งการตลาด 5.0 %
ตลาดพิคอัพเซกเมนท์นี้ ไตรมาสแรกมียอดจำหน่ายรวมกันทั้งสิ้น 128,010 คัน เพิ่มขึ้นจากช่วงไตรมาสแรกปีที่แล้ว 28.7 % พิคอัพยอดนิยมสูงสุด 5 อันดับแรก ไม่ต่างไปจากความนิยมในแต่ละเดือน โตโยตา นำโด่งอยู่หัวแถวด้วยยอด 48,512 คัน ส่วนแบ่งตลาด 37.9 % ตามด้วย อีซูซุ 40,548 คัน ส่วนแบ่ง 31.7 % มิตซูบิชิ 15,975 คัน ส่วนแบ่ง 12.5 % เชฟโรเลต์ 7,348 คัน ส่วนแบ่ง 5.7 % และนิสสัน 5,674 คัน ส่วนแบ่งตลาด 4.4 %
ในส่วนของ พิคอัพ 1 ตัน ขับเคลื่อน 4 ล้อ ถึงแม้เดือนมีนาคม ยอดจำหน่ายรวมจะไม่สูงถึงหลักหมื่นคัน แต่เป็นตลาดที่มีการปรับตัวเข้ามาอยู่ในกระแสความนิยมสูงมาก หลังจากที่พิสูจน์ให้เห็นถึงสมรรถนะในภารกิจสมบุกสมบันจากกรณีน้ำท่วมใหญ่ปีที่ผ่านมา การเติบโตในแต่ละเดือนที่ผ่านมา สูงขึ้นกว่าเท่าตัวจากที่เคยเป็นอยู่ในปีก่อนหน้านี้ เดือนมีนาคมนี้ก็เช่นกัน 8 เซียนประจัญบานที่ส่งขุนพลเด็ดออกชิงชัยแย่งส่วนแบ่งการตลาดในตลาดเซกเมนท์นี้ มียอดจำหน่ายรวมกันถึง 5,783 คัน เป็นยอดจำหน่ายที่ปรับตัวสูงขึ้นถึง 209.9 % เมื่อเทียบกับเดือนมีนาคม ปี 2554 เบอร์ 1 ที่เป็นทางเลือกของผู้นิยมใช้รถประเภทนี้ ยังคงเป็นพิคอัพขับ 4 จากค่าย โตโยตา เดือนมีนาคมจำหน่ายไปอีก 3,129 คัน กินส่วนแบ่งการตลาด 54.1 % ตามด้วย อีซูซุ 1,824 คัน ส่วนแบ่งตลาด 31.5 % เชฟโรเลต์ โคโลราโด ขับเคลื่อน 4 ล้อ ปิดยอดจำหน่ายในอันดับที่ 3 ด้วยยอด 268 คัน ส่วนแบ่ง 4.6 % อันดับที่ 4 เป็นของค่าย มิตซูบิชิ 181 คัน ส่วนแบ่ง 3.1 % และฟอร์ด เรนเจอร์ ขับเคลื่อน 4 ล้อ 180 คัน ส่วนแบ่งตลาดเท่ากับ มิตซูบิชิ
ไตรมาสแรกของปี 2555 ตลาดพิคอัพเซกเมนท์นี้มียอดรวมกัน 13,955 คัน ปรับตัวสูงขึ้นกว่าไตรมาสแรกของปี 2554 ถึง 203.4 %
รถกิจกรรมกลางแจ้ง หรือเอสยูวี เดือนมีนาคมปรับตัวสูงขึ้น 30.5 % มียอดจำหน่ายรวมทั้งสิ้น 7,648 คัน และเป็น โตโยตา อีกเช่นเคย ที่ครองความเป็นหนึ่งในตลาดรถยนต์ประเภทนี้ ทำยอดจำหน่ายได้ถึง 3,130 คัน คิดเป็น 40.9 % ของตลาดทั้งหมด ตามด้วย มิตซูบิชิ 2,538 คัน ส่วนแบ่งตลาด 33.2 % เชฟโรเลต์ อยู่ในอันดับที่ 3 ขายได้ 1,161 คัน ส่วนแบ่งการตลาด 15.2 % อันดับที่ 4 เป็นค่ายใหญ่ อีซูซุ 507 คัน ส่วนแบ่งตลาด 6.6 % อันดับที่ 5 นิสสัน 100 คันพอดิบพอดี ส่วนแบ่ง 1.3 % รวม 3 เดือนแรกของปี ตลาดนี้มียอดจำหน่าย 20,143 คัน ปรับตัวสูงขึ้น 36.6 %
ในส่วนของรถเอมพีวี ก็เป็นอีกตลาดหนึ่งที่เราได้เห็นชื่อของ โตโยตา อยู่ในอันดับที่ 1 ของความนิยม จากยอดรวมที่จำหน่ายออกไปในเดือนมีนาคม 1,731 คัน โตโยตา ขายได้ 1,104 คัน คิดเป็นส่วนแบ่งตลาดสูงถึง 63.8 % ทิ้งห่างอันดับที่ 2 อย่างไม่เห็นฝุ่น ฮอนดา ยังอยู่ในกระแสความนิยมอันดับต้นๆ ในตลาดนี้มียอดจำหน่าย 451 คัน อยู่ในอันดับที่ 2 มีส่วนแบ่งตลาด 26.1 % อันดับที่ 3 ปโรตอน รถยนต์จากแดนเสือเหลืองมาเลเซีย จำหน่ายไป 108 คัน ส่วนแบ่งตลาด 6.2 % เบอร์ 4 ของตลาดนี้เป็นของ ซูซูกิ จำหน่ายไป 24 คัน ได้ส่วนแบ่งตลาด 1.4 % อันดับที่ 5 เป็นทีของ ซังยง จำหน่ายไป 21 คัน ส่วนแบ่งตลาด 1.2 %
ผ่านไป 3 เดือน มียอดจำหน่ายรวมกัน 4,630 คัน ปรับตัวสูงขึ้น 47.8 % เฉพาะ โตโยตา ก็กินส่วนแบ่งการตลาดไปถึง 72.3 % แล้วที่เหลือก็ว่ากันไปตามอัตภาพ ฮอนดา 15.7 % ปโรตอน 7.9 % ซูซูกิ และซังยง 1.2 %
ตัวเลขยอดจำหน่ายรถยนต์ในประเทศเดือนเมษายน มีความเป็นไปได้สูงว่าจะเติบโตขึ้นอย่างต่อเนื่อง แต่จะเกินหลักแสนคัน หรือจะทำลายตัวเลขยอดจำหน่ายที่เกิดขึ้นในเดือนมีนาคมนี้ เช่นเดียวกับตลาดรถยนต์นั่ง ที่จะฟื้นกลับมาปิดตัวในแดนบวกได้หรือไม่ประการใด ต้องติดตามกันต่อไป
ABOUT THE AUTHOR
ข
ขุนสัญจร
นิตยสาร 417 ฉบับเดือน กรกฏาคม ปี 2555
คอลัมน์ Online : วิถีตลาดรถยนต์