ต่อจากฉบับที่แล้ว ที่ประชาชนตื่นรุมซื้อประกันกลัวภัยพิบัติ ทำให้ภาพรวมธุรกิจประกันภัยขยายตัวต่อเนื่อง ซึ่งมาจากสองปัจจัยเป็นสำคัญ คือ คนซื้อประกันภัยเพิ่มขึ้นเพราะกลัวเกิดเหตุการณ์อันคาดไม่ถึงซ้ำรอย กับ ประกันภัยเดิมมีการเก็บเบี้ยประกันภัยเพิ่มโดยเฉพาะส่วนที่เกี่ยวกับภัยธรรมชาติซึ่งมีเบี้ยประกันเพิ่มตั้งแต่ 20 % ถึง มากกว่า 200 % ยังไม่รวมกรมธรรม์ตาม พรบ. ภัยพิบัติแห่งชาติที่จะมีผลใช้บังคับ 1 กรกฎาคม 2555 นี้ ซึ่งมีเบี้ยประกันที่ถูกบังคับให้จ่ายอีกจำนวนมหาศาลทั้งนี้ คปภ. (คณะกรรมการกำกับและส่งเสริมการประกอบธุรกิจประกันภัย) เปิดเผยว่า ธุรกิจประกันภัยไตรมาสแรก ปี 2555 (มกราคม-มีนาคม) โตขึ้นเป็นลำดับ มีเบี้ยประกันภัยรับโดยตรง จำนวน 131,887 ล้านบาท ขยายตัวร้อยละ 17.98 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน ธุรกิจประกันชีวิตมีเบี้ยประกันชีวิต จำนวนทั้งสิ้น 89,594 ล้านบาท ขยายตัวร้อยละ 17.01 เมื่อเทียบกับ ช่วงเดียวกันของปีก่อน จากการขยายตัวของการประกันชีวิตประเภทสามัญ จำนวน 74,904 ล้านบาท ขยายตัวร้อยละ 18.04 รองลงมาเป็นการประกันชีวิตประเภทกลุ่ม จำนวน 11,365 ล้านบาท ขยายตัวร้อยละ 15.78 และจากการประกันอุบัติเหตุส่วนบุคคล จำนวน 1,228 ล้านบาท ขยายตัวร้อยละ 8.51 ธุรกิจประกันวินาศภัยมีเบี้ยประกันภัย จำนวนทั้งสิ้น 42,292 ล้านบาท ขยายตัวร้อยละ 20.09 เมื่อเทียบกับ ช่วงเดียวกันของปีก่อน จากการขยายตัวของการประกันภัยเบ็ดเตล็ด จำนวน 14,091 ล้านบาท ขยายตัวร้อยละ 30.74 รองลงมาเป็นการประกันอัคคีภัย จำนวน 2,550 ล้านบาท ขยายตัวร้อยละ 25.26 และจากการประกันภัยรถ จำนวน 24,381 ล้านบาท ขยายตัวร้อยละ 15.10 ทั้งนี้ จำนวนกรมธรรม์ประกันภัยที่เกิดขึ้นในไตรมาสแรก ของปี 2555 ธุรกิจประกันภัยมีจำนวนกรมธรรม์ประกันภัยรายใหม่ รวมทั้งสิ้น 12,555,005 ราย เป็นจำนวนเงินเอาประกันภัยรวม 20,947,213 ล้านบาท โดยแบ่งเป็นกรมธรรม์ประกันภัยของธุรกิจประกันชีวิต 1,408,955 ราย เป็นจำนวนเงินเอาประกันภัย เท่ากับ 899,701 ล้านบาท และเป็นกรมธรรม์ประกันภัยของธุรกิจประกันวินาศภัย 11,146,050 ราย เป็นจำนวนเงินเอาประกันภัยเท่ากับ 20,047,513 ล้านบาท อย่างไรก็ตาม มีคำเตือนจาก เลขาธิการ คปภ. ว่า ถึงแม้ธุรกิจประกันภัยไตรมาสแรกของปี 2555 จะโตถึงร้อยละ 17.98 แต่จากวิกฤตหนี้สาธารณะเศรษฐกิจยุโรป สำนักงาน คปภ. ได้เฝ้าติดตามสถานการณ์ความผันผวนอย่างใกล้ชิด เนื่องจาก ธุรกิจประกันภัยมีเงินลงทุนส่วนหนึ่งในตลาดพันธบัตร ตลาดเงิน และตลาดลงทุน เพื่อใช้เป็นเงินหมุนเวียนรอจ่าย ประกอบกับการเรียกร้องค่าสินไหมทดแทนจากเหตุอุทกภัยที่ผ่านมามีการเรียกร้องกับบริษัทประกันภัยต่อ ในยุโรป ซึ่งอยู่ระหว่างการพิจารณาจ่ายค่าสินไหมทดแทนตามรายงานของจากผู้ประเมินวินาศภัยในต่างประเทศ เรื่องของการติดตามหนี้ประกันภัยต่อค่าสินไหมน้ำท่วมปีที่แล้ว ยังค้างคาจ่ายกันมาได้เพียง 40%-50% เท่านั้น ถึงขนาดสมาคมประกันวินาศภัยต้องเรียกบริษัทสมาชิกและผู้เกี่ยวข้องประชุมตั้งเป็นคณะทำงานติดตามหนี้ถึง 5 คณะ เร่งติดตามเจรจาค่าสินไหมจาก รีอินชัวเรอ/นายหน้าประกันต่อ/เซอร์เวเยอร์ผู้สำรวจภัย ทุกแห่งที่มีสัญญารับประกันภัยต่อในประเทศไทย ข้อมูลจากบริษัทสมาชิกชี้ว่าขณะนี้บริษัทประกันภัยต่อชะลอจ่ายมาแค่ 50% และตรวจเข้มส่งคนดูเคลมขอเอกสารเพิ่ม เนื่องจากสินไหมครั้งนี้เยอะและใหญ่มาก ต้องใช้ความละเอียดต้องใช้เวลา เราไม่มีประสบการณ์ไม่เคยเจอเคลมใหญ่ขนาดนี้ บางเรื่องทำกันไม่ถูก สมาคมฯ จึงต้องนัดสมาชิกมาคุยกันทำให้ได้แชร์ประสบการณ์กัน ซึ่งการตั้งคณะทำงานขึ้นมาอย่างชุดที่คุยกับรีอินชัวเรอจะได้รู้ว่าสิ่งที่รีอินชัวเรอส์ต้องการคืออะไร จะได้จัดหาให้ถูก เขามีคำแนะนำอะไรให้กับเราบ้าง ที่คุยกันหลายบริษัทเขาสะท้อนปัญหาหลายเรื่อง เช่น การทำรายงานสำรวจความเสียหายของเซอร์เวเยอร์ที่ไม่ละเอียด อาจจะเป็นเพราะเวลาจำกัด ต้องดูให้ดี ให้ละเอียด คณะทำงานจะมาช่วยดูเรื่องนี้ เป็นการทำงานร่วมกันแสดงถึงความเป็นเอกภาพของธุรกิจ สร้างมาตรฐานเดียวกัน สร้างความเชื่อมั่นกับผู้เอาประกันภัยได้รับเงินคืนแน่นอน บริษัทยักษ์ใหญ่อย่าง กรุงเทพประกันภัย ฯ เผยเคลียร์สินไหมสำหรับลูกค้าอุตสาหกรรม ที่ทำประกันภัยความเสี่ยงภัยทุกชนิด (IAR: INDUSTRIAL ALL RISK) จ่ายสินไหมทดแทนเบื้องต้นแล้วประมาณ 8,000 ล้านบาท หรือประมาณ 30 % ของยอดสินไหมรวมประมาณ 23,000 ล้านบาท เหลือแค่รายใหญ่ และจะพยายามจ่ายให้ได้ 75 % ภายในกรกฎาคมนี้ ตามเป้าของ คปภ. ส่วนรายย่อย ทั้งรถ และบ้านหมดแล้วยอดรวมกว่าพันล้าน อานนท์ วังวสุ ผู้ช่วยกรรมการผู้อำนวยการใหญ่ บริษัท กรุงเทพ ประกันภัย จำกัด (มหาชน) เปิดเผยว่า ขณะนี้บริษัทจ่ายสินไหมทดแทนลูกค้า รายย่อยทั้งบ้านอยู่อาศัยและรถยนต์ที่ได้รับความเสียหายจากน้ำท่วมปีที่ผ่านมาจบหมดแล้ว แบ่งเป็นประกัน รถยนต์ ประมาณ 500 กว่าล้านบาท จำนวนรถยนต์ที่ถูกน้ำท่วม 3,000 คัน ในจำนวนนี้เสียหายสิ้นเชิง (TOTAL LOSS) ประมาณ 700-800 คันและประกันอัคคีภัยบ้านอยู่อาศัยอีก 5,000 กว่าหลัง วงเงินประมาณ 500-600 ล้านบาท สำหรับผลการดำเนินการ 3 เดือนเบี้ย โต 13 % แถมยังขายซากรถน้ำท่วมได้ช่วยหนุนกำไรอีกทาง ด้าน บริษัท มิตซุย สุมิโตโม อินชัวรันซ์ จำกัด วิชัย สันติมหกุลเลิศ รองผู้จัดการ สาขาประเทศไทย กล่าวว่า บริษัทจ่ายสินไหมลูกค้ารายใหญ่แล้ว ประมาณ 70,000-80,000 ล้านบาท หรือ คิดเป็นประมาณ 40 % ของยอดสินไหม รวม 150,000 ล้านบาท ไม่มั่นใจจะเคลียร์ได้ทันเป้าหมาย 75 % ภายในเดือนกรกฎาคมนี้หรือไม่ เพราะขั้นตอนในการจ่ายสินไหมลูกค้ารายใหญ่ที่เหลือต่อจากนี้ค่อนข้างละเอียดอ่อนในการตรวจสอบความถูกต้องและยืนยันการประเมินมูลค่าชัดเจนของทรัพย์สินที่เสียหาย ดูจากข้อมูลเพียงแค่ 2 บริษัท ก็ยังหนักใจแทน แล้วที่เหลืออีก 60 กว่าบริษัท คงจะนึกไม่ออกว่าจะจบกันอย่างไร ? เห่อ.!!!