ร่มไม้ชายศาล
“เด็กแว้น/อายุความ”
ปัญหาอย่างหนึ่งซึ่งชัดเจนว่าประเทศไทย แก้ไม่ตก แม้จะมีตำรวจ มีกฎหมาย มีอัยการศาลคอยเอาผิด นั่นคือ กรณีที่เด็กของเรา เอารถไปแข่งบนถนนหลวง เรียกว่า ถ้าจับกันจริงๆ จับได้ทุกวันๆ ละไม่รู้กี่ราย จนกระทั่งตำรวจจับไม่ไหว หรือขี้เกียจจับ ลงท้ายชาวบ้านร้านถิ่นเดือดร้อนกันไปหมด อันตรายถึงตายอีกต่างหากสรุปได้ว่า มาตรการที่ใช้อยู่ทุกวันนี้ "ล้มเหลว" ไม่ว่าการลงโทษโดยศาล การริบรถ การกวดขันผู้ปกครอง การจี้ไชร้านแต่งรถ แต่งท่อไอเสีย ไม่ต้องหลอกตัวเองอีกต่อไป ที่สำคัญ คือ รัฐบาลทุกรัฐบาลไม่ค่อยใส่ใจเท่าที่ควร สนเรื่องการเมืองซะมากกว่า ปล่อยให้ตำรวจรับมือไปตามเรื่อง จนรับไม่ไหว คุยกับชาวบ้านที่เขาเดือดร้อน หลายคนออกความเห็นว่า รัฐบาลซึ่งควบคุมดูแลบริษัทขายรถอยู่แล้ว น่าจะเรียกผู้ผลิตผู้ค้ามาคุยเพื่อหาทางออก เพราะบริษัทแต่ละราย ทั้งผู้ผลิตและผู้ขาย ทำกำไรร่ำรวยสะดือปลิ้นทั้งนั้น โดยเฉพาะรถมอเตอร์ไซค์รายซึ่งเป็นเจ้าตลาด ซึ่งผมจะไม่เอ่ยชื่อ อ้อ ประเทศของเขาเอง ไม่ใช้รถมอเตอร์ไซค์เลยก็ว่าได้ มารวยจากบ้านเราชัดๆ ในฐานะที่เขาผลิตขายรถตลอดเวลา รวมทั้งรถยนต์ด้วย รถที่ขายใช้ในทางดีก็แยะ ใช้ในทางไม่ดี เด็กแว้นเอาไป "ซิ่ง" เห็นๆ อยู่ ขอให้เขาระดมสมอง ว่าจะช่วยแก้ไขยังไงดี เป็นไปได้ไหม ให้เขาจัดหาสนามแข่งขึ้นมา ช่วยบริหารจัดการแบบครบวงจร มีรถรับส่งไปสนามแข่งด้วย เพราะมีกำลังทรัพย์อยู่แล้ว ให้บริษัททั้งผู้ผลิตผู้ขายลงขันตามฐานะ รัฐจัดเงินอุดหนุนให้บ้างก็ยังได้ สนามที่ว่านี้เปิดบริการตามที่เด็กเขาต้องการ กลางคืนก็เอาด้วย ให้ครบเครื่องไปเลย เมื่อทำยังงี้แล้ว ก็สามารถดูแลความปลอดภัยการขับขี่ การแข่ง ให้เป็นเรื่องเป็นราว เด็กจะได้เรียนรู้วิธีการที่ถูกต้อง โอกาสไต่เต้าเป็นนักกีฬาอาชีพในสนามจริงก็เกิดขึ้นได้ไม่ยาก แต่อย่าคุมกฎจนเกินไป จนเด็กไม่ชอบ หนีไปแข่งแบบเถื่อนๆ อีกตามเคย อ้อ จะถ่ายทอดสด จะโฆษณาสินค้า ถอนทุนไปด้วยก็ยังไหว เผลอๆ ได้กำไรนะเอ้อ ประเมินแล้ว บริษัทผู้ผลิตผู้ขายรถ มีกำลัง มีเรี่ยวแรง ทำได้แน่นอน ไม่ยอมทำ รัฐต้องตะล่อม ต้องบีบจนหน้าเขียว เอ๊ย..จนสำเร็จ ถือเป็นการ "คืนกำไร" ให้ชาวบ้านให้ประชาชน เมื่อร่ำรวยกันทั้งนั้น ในแง่ของการป้องกันปราบปราม ถ้ามีสนามแข่งแล้วยังมีผู้ฝ่าฝืน ก็ต้องเพิ่มมาตรการขึ้นไปเรื่อยๆ เช่น การปรับผู้ปกครองให้หนักมือเข้าไว้ ไม่มีเงินก้อนจ่าย ต้องผ่อนส่ง ต้องยึดทรัพย์ มีการบันทึกประวัติเด็กที่ทำผิด เมื่อฝ่าฝืนหลายครั้งไม่เข็ดหลาบ ให้มีผลตามมา เช่น เป็นทหารเกณฑ์ไม่ต้องจับใบดำใบแดง หรือตัดสิทธิการสอบเข้ารับราชการ เป็นได้แค่พนักงานบริษัทห้างร้าน ยังงี้เป็นต้น อีกอย่างที่น่าจะทำ คือ เรียกเด็กมาประชุมสัมมนา ว่าปัญหานี้จะเอายังไงกันแน่ จะมีทางออกอย่างไร อยากแข่งรถจริงๆ ไม่ให้คนอื่นเดือดร้อน มีวิธีไหนบ้าง เพื่อให้เด็กแสดงความในใจออกมาให้หมดเปลือก ทุกวันนี้ไล่จับเหมือนแมวจับหนู หรือจับปูใส่กระด้งไปวันๆ รับรองไม่จบ จริงไหมครับ ไปหาความครึกครื้นในโรงศาลอย่างเคย จะได้ไม่ซีเครียด โจทก์เจ้าประจำในคดีรถ คือ การไฟฟ้า ฯ งานนี้โดนอีกตามเคย เมื่อ "นายอุตุ" ลูกจ้างของ บริษัท นอนสบายจัง จำกัด ซึ่งขายเครื่องนอน ชื่อเถ้าแก่กับลูกน้องสอดคล้องกันพิลึก วันเกิดเหตุ นายอุตุ ขับรถบรรทุกของนายจ้างไปขวิดเสาไฟฟ้าของการไฟฟ้า ฯ หักโค่น สายไฟขาดกะรุ่งกะริ่ง เข้าใจว่าคงจะง่วงไปหน่อยเลยงีบนิดหนึ่งเหมือนชื่อแก เกิดเหตุแล้ว เป็นเรื่องปกติอีกนั่นแหละ เจ้าของรถทำเฉย การไฟฟ้า ฯ เจ้าทุกข์ ก็เร่งซ่อมเสาไฟสายไฟเป็นการด่วน แต่ไม่ด่วน หรือพูดตรงๆ ซะเลยว่า ช้ามากๆ คือ การสรุปเรื่องเพื่อเรียกค่าเสียหาย ส่วนใหญ่เป็นไป ตามขั้นตอน แฟ้มไปค้างอยู่ที่นั่นที่นี่ จนกระทั่งเกิน 1 ปี นับแต่วันเกิดเหตุ แทบทั้งนั้น ลงท้ายผู้พิพากษาปวดหัว เมื่อจำเลยถือโอกาสชักดาบ ด้วยการสู้คดี เรื่องอายุความ คือ ชักดาบได้เท่ๆ โดยชอบด้วยกฎหมายว่างั้นเถอะ รายนี้เกิน 1 ปีจนได้ การไฟฟ้า ฯ จึงยื่นฟ้อง นายอุตุ บริษัท นอนสบายจัง จำกัด พ่วงเอา บริษัท เย็นใจจัง ประกันภัย จำกัด ไม่รู้ว่าเกาหลีมีหุ้นด้วยไหม เป็นจำเลยที่ 3 เพราะรับประกันรถของบริษัท บังคับให้จ่ายค่าเสียหายเกือบ 1 แสนบาท พร้อมดอกเบี้ย นายอุตุ และบริษัท นอนสบายจัง จำกัด หายต๋อม ไม่สู้คดี บริษัท เย็นใจจัง ประกันภัย ฯ เล็งดูสำนวนแล้ว ทนายบอกว่าขาดอายุความนะเฮีย จึงตั้งป้อมสู้คดี ซึ่งเป็นงานถนัดอย่างหนึ่งของบริษัทประกันอยู่แล้วในการค้าความ ระดับเซียนก็ว่าได้ อ้างว่าโจทก์ฟ้องคนก่อเหตุล่าช้าเกิน 1 ปี คดีขาดอายุความ เอาผิดเขาไม่ได้แล้ว ย่อมไล่เบี้ยเอาผิดบริษัทประกันไม่ได้ด้วย ต้องยกฟ้องลูกเดียว หลานไม่เกี่ยว ศาลชั้นต้นพิจารณาคดีนี้ โดยไม่มีใครข่มขู่เหมือนคดีการเมืองในเวลานี้ ซึ่งมีประเทศไทยประเทศเดียวกระมัง แล้วตัดสินยกฟ้องจำเลยทั้งหมด การไฟฟ้า ฯ โจทก์ยื่นอุทธรณ์ อ้างว่า นายอุตุ และบริษัทนอนสบายจัง ฯ ไม่สู้คดี ไม่ได้ยกประเด็นเรื่องอายุความมาอ้าง จึงต้องรับผิดอยู่แล้ว บริษัทประกันเลยดิ้นไม่หลุด ที่สำคัญ คือ คดีพรรค์นี้ ถ้าเล่นงานบริษัทประกันมีอายุความยาวกว่า ตั้ง ๒ ปี เมื่อเค้าฟ้องตัวเองในเวลาไม่เกิน 2 ปี จึงไม่ขาดอายุความหรอก ศาลอุทธรณ์พิจารณาคดีแบบสบายๆ กว่าศาลชั้นต้น เพราะไม่ต้องนั่งบัลลังก์ฟังพยานหล่อบ้างขี้เหร่บ้างจนเบื่อ เพ่งดูแต่สำนวน แล้วพยักหน้าหงึกๆ เห็นด้วยกับโจทก์ พิพากษากลับ บังคับให้จำเลยทั้งหมดร่วมกันจ่ายค่าเสียหายตามฟ้อง พร้อมดอกเบี้ย บริษัทประกันซึ่งขยันเล่มเกมยาวอยู่แล้ว ร้องขอให้ผู้พิพากษาเซ็นอนุญาตให้ยื่นฎีกาจนได้ อ้างว่าคนทำเหตุไม่ต้องรับผิดตามกฎหมายอย่างเห็นๆ เพราะโจทก์ฟ้องมาเมื่อเกิน 1 ปี นับแต่เกิดเรื่อง เท่ากับไม่มีมูลหนี้ให้บริษัทประกันรับผิด จึงต้องยกฟ้องทั้งหมด ศาลฎีกาค่อยๆ คว้าสำนวนที่กว่าจะมาถึงคิวด้วยความอ่อนล้า เพราะมีคดีรอมากมาย กัดฟันพิจารณาด้วยความละเหี่ย แล้วชี้จนขาดออกมาว่า การไฟฟ้า ฯ ฟ้อง นายอุตุ ลูกจ้างผู้ละเมิด ฟ้องบริษัท นอนสบายจัง จำกัด นายจ้าง ให้ร่วมรับผิดในการกระทำละเมิด และให้บริษัท เย็นใจจัง ประกันภัย ฯ ร่วมรับผิดในฐานะผู้รับประกันภัยค้ำจุน อีแบบนี้การรับผิดชดใช้ค่าเสียหายของจำเลยทั้ง 3 ย่อมแตกต่างกัน นายอุตุ และบริษัท นอนสบายจัง จำกัด ต้องรับผิดในฐานะผู้กระทำละเมิดและในฐานะนายจ้าง มีอายุความ 1 ปี นับแต่วันที่ผู้เสียหายรู้การละเมิด และรู้ตัวผู้จะต้องจ่าย ตามกฎหมายแพ่ง ฯ มาตรา 448 วรรค 1 สำหรับคดีนี้ นายอุตุ กับนายจ้างไม่สู้คดี ไม่ได้อ้างอายุความ เลยโดนจับแพ้ ส่วนบริษัท เย็นใจจังประกันภัย ฯ ต้องรับผิดตามสัญญาประกันวินาศภัย ซึ่งมีอายุความ 2 ปี นับแต่วันวินาศภัยตามมาตรา 882 วรรค 1 อายุความที่ว่านี้สามารถแยกออกจากกันได้ ตามมาตรา 295 ที่กำหนดอายุความเป็นคุณหรือเป็นโทษเฉพาะแก่ลูกหนี้คนนั้น อายุความ 1 ปี ย่อมเป็นคุณเฉพาะ นายอุตุ กับนายจ้าง ไม่เกี่ยวข้องกับการฟ้องบริษัทประกัน เมื่อโจทก์เขาฟ้องบริษัทประกันในอายุความ 2 ปี จึงไม่ขาดอายุความ ศาลอุทธรณ์ตัดสินแม่นยำแล้ว ศาลฎีกาเลยแย่หน่อย ต้องทนเมื่อยอีกงาน ด้วยการพิพากษายืน ให้โจทก์ชนะคดีเด็ดขาด จำเลยทั้งหมดดิ้นไม่หลุด อันที่จริงมีคดีที่ศาลฎีกาตัดสินตามแนวทางนี้ไว้แล้ว เชื่อว่าบริษัทประกันน่าจะรู้ หรือค้นดูซะหน่อยก็รู้ แต่ถ้ามีรูเล่นเกมยาวได้ มักทำซื่อทำเนียน ดึงเกมจนได้ ซึ่งก็โดนลงโทษด้วยการจ่ายดอกเบี้ยมากขึ้น(ร้อยละ 7.5/ปี เป็นอย่างต่ำ) แต่คนเล่มเกมยาวมักไม่แคร์ บางคดีโดนดอกเบี้ยอ่วม เพราะคดีลากยาวเป็น 10 ปีขึ้นไป ตามสไตล์ศาลบ้านเรา งงเหมือนกัน ดึงเกมทำไม เออ ถ้าจำเลยเป็นชาวบ้าน แพ้คดีไม่มีอะไรจ่าย ก็ว่าไปอีกอย่าง แปลกนะครับว่าไหม จากคำพิพากษาศาลฎีกาที่ 386/2550
ABOUT THE AUTHOR
จ
จอมยุทธ
นิตยสาร 399 ฉบับเดือน กันยายน ปี 2555
คอลัมน์ Online : ร่มไม้ชายศาล