ประสาใจ
หญิงคนชั่ว
เห็นทีถึงเวลาที่เผ่าพันธุ์ผู้ชายชนะสิบทิศ ต้องทำความรู้จักกับคำว่า "หญิงคนชั่ว" ซึ่งขณะที่ผมเขียนอยู่นี้ ฮิทร้อนแรงใน "SOCIAL MEDIA" สร้างความประหลาดใจให้กับผู้ชายมากประสบการณ์อย่างผม ในฐานะเป็นแฟนนวนิยายเรื่อง "หญิงคนชั่ว" ซึ่งประพันธ์โดย ก.สุรางคนางค์
นวนิยายเรื่อง "หญิงคนชั่ว" นั้น ก.สุรางคนางค์ เขียนเมื่อปี 2480 หรือเมื่อ 76 ปีที่แล้ว ผู้เขียนจะได้สิ่งบันดาลใจจากไหนก็ไม่ทราบ แต่อีก 18 ปีต่อมา นวนิยายเรื่องนี้ก็มีผู้นำไปดัดแปลงสร้างเป็นภาพยนตร์
ก.สุรางคนางค์ เขียนหนังสือตั้งแต่อยู่ในชั้นเรียนมัธยมปีที่ 6 โรงเรียนเซนท์ฟรังซิสซาเวียร์คอนแวนท์ และจบชั้นมัธยมปีที่ 8 ที่โรงเรียนราชินีบน การศึกษาสมัยนั้น มีถึงชั้นมัธยมปีที่ 8 ก่อนจะเข้ามหาวิทยาลัย
หนังสือที่ ก.สุรางคนางค์ เขียน ได้รับการตีพิมพ์จากหนังสือรายสัปดาห์ชื่อ "เดลิเมล์วันจันทร์" อันเป็นนิตยสารรายสัปดาห์ที่มีผู้นิยมอ่านกันมาก เรื่องแรกของท่านนักเขียนผู้นี้ คือ "กรองกาญจน์"
ก.สุรางคนางค์ เขียนหนังสือมาก ที่ฮิทสุดก็เห็นจะเป็นเรื่อง "บ้านทรายทอง" ตามด้วย "พจมาน สว่างวงศ์"
ชื่อจริงของท่าน คือ กัณหา เคียงศิริ ท่านเสียชีวิตอย่างสงบด้วยโรคชรา เมื่ออายุได้ 88 ปี ในปี 2542 เนื้อหาของ "หญิงคนชั่ว" ไม่มีอะไรสลับซับซ้อนมาก เป็นเรื่องราวของ รื่น ซึ่งยากจนและต่ำต้อย รื่น เป็นหญิงสาวลูกชาวนาฉะเชิงเทรา แม้เธอจะเป็นเด็กสาวสละสลวยบริสุทธิ์ แต่เธอก็เป็นเพียงชาวนา เป็นชนชั้นล่างตามที่สังคมมักเข้าใจ
ต่อมาเธอหลงคารมของชายหนุ่มผู้มาจากกรุงเทพ ฯ ตามเข้ามาเมืองกรุง จนกระทั่งถูกนำไปขายเป็นหญิงโสเภณี และต่อมาเธอได้พบกับ วิทย์ ผู้ชายที่พร้อมด้วยหน้าตาและฐานะ แต่ทางบ้าน วิทย์ ไม่ชอบ อีกประการหนึ่ง เธอกำลังท้อง ในสถานที่ที่เธอทำงานอยู่ ชะตากรรมพาให้เธอพบกับเหตุการณ์อันเลวร้ายจนเธอแทบจะทนไม่ได้ จากนวนิยายเรื่องนี้ "หญิงคนชั่ว" น่าจะแปลว่า "หญิงโสเภณี" ซึ่งถ้ายึดเอาตามนี้ก็ต้องค้นหาต่อไปอีกว่า "หญิงโสเภณี" แปลว่ากระไร ซึ่งบังเอิญพจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน 2542 ให้ความหมายไว้ในคำว่า "หญิงงามเมือง" ระบุว่า "หญิงที่หาเลี้ยงชีพด้วยการค้าประเวณี"
เป็นอันว่า "หญิงคนชั่ว" "หญิงโสเภณี" และ "หญิงงามเมือง" อยู่ในความหมายเดียวกัน ซึ่งผมก็เห็นว่า ยังไม่น่าจะถูกต้องนัก และเมื่อเห็นความไม่เป็นธรรมในความหมาย ผมก็ต้องค้นหารากศัพท์เดิมที่เป็นภาษาต่างประเทศ และพบคำว่า "PROSTITUTION" ซึ่งดิคชันนารีออกซ์ฟอร์ด ฉบับอังกฤษ-ไทย แปลว่า หญิงโสเภณี
ขณะที่ออกซ์ฟอร์ด แอดวานศ์ ถือเป็นคำนาม แปลว่า "A PERSON WHO HAS SEX FOR MONEY" ผมก็เห็นว่าคำแปลนี้ ให้น้ำหนักไปที่ "เงินตรา" ซึ่งก็คงไม่ตรงประเด็นนัก เพราะทำท่าจะเปิดทางให้เห็นความแตกต่างระหว่าง มืออาชีพ กับมือสมัครเล่น โดยเอาเม็ดเงินมาเป็นตัวชั่งน้ำหนัก
โปล ลาครัวซ์ นักเขียนโบราณ ให้ความหมายคำว่า "หญิงคนชั่ว" ในปี 1851 คือ หญิงที่กระทำความไม่ถูกต้องด้วยการมีประเวณีนอกเหนือสถานะสมรส
คล้ายกับนักเขียนอีกคนหนึ่งที่เขียนไว้ในปี 1842 คือ วอร์ดลอว์ ซึ่งระบุความหมายของคำว่า "PROSTITUTION" คือ การประเวณีที่อยู่นอกเหนือกฎเกณฑ์ของสังคม
การระบุเช่นนี้ ทำให้ผมต้องย้อนกลับไปหาความหมายของการประเวณีดังกล่าว จากพจนานุกรมออกซ์ฟอร์ด แอดวานศ์ พบความหมายในรูปแบบคำกิริยา ซึ่งหนีคำว่า "เงินตรา" ไม่พ้น
"TO DO SOMETHING THAT EARNS YOU MONEY BUT THAT OTHER PEOPLE DO NOT RESPECT BECAUSE YOU ARE CAPABLE OF DOING SOMETHING BETTER"
ในโลกแห่งความเป็นจริง ผมก็ยังเห็นว่า ไม่น่าจะใช่ความหมายที่ถูกต้อง สำหรับเหตุผลที่ยกขึ้นมาอ้างว่า ไม่เป็นที่เคารพนับถือของสังคม เพราะคุณยังสามารถทำอย่างอื่นที่ดีกว่านั้นได้
ก็ถ้า "รื่น" ของผม เธอทำได้ดีที่สุดแค่ "SOMETHING THAT EARNS YOU MONEY" แล้วจะให้เธอทำอย่างใดอื่นได้หรือ
หญิงบางคน เป็นเพียง "คู่นอน" ไม่ใช่ในฐานะภรรยา แต่เขาก็มาหลับนอนด้วยเป็นประจำ อย่างนี้แม้เป็นเพราะอำนาจเงิน แต่เธอก็ไม่ใช่ "หญิงคนชั่ว" ไม่ใช่ "PROSTITUTE" แต่เป็น "MISTRESS" เฉกเช่นหญิงที่เป็นคู่สมรสของชายอื่นในสังคม
พฤติกรรมของหญิงที่หลับนอนกับผู้ชาย ยากที่จะเห็นถึงความต้องการอันแท้จริงของเธอ ในกลุ่มประเทศที่เจริญแล้ว จะพบเห็น "มือสมัครเล่น" จำนวนไม่ใช่น้อย แถมเป็นประเภท "ตู้เอทีเอมเคลื่อนที่" อีกต่างหาก
การตราความหมายของสังคมให้การประเวณีของหญิงคนชั่ว ค่อนข้างจะเป็นงานถนัดของสังคมที่หลงตัวเอง มองเห็นว่า เซกซ์ คือ ตัณหาของมนุษย์ที่ไร้พรมแดน
เซกซ์เดินทางไปได้ทุกตรอกซอกมุมโลก ไม่ว่าถิ่นนั้นๆ จะเป็นถิ่นผู้ดี หรือย่านอันตราย มันไปในรูปทรงแห่งความจริงที่ว่า เป็นการค้าอย่างหนึ่ง อยู่เหนือดุลบัญชีของบุคคลในสังคม และอยู่เหนือความเข้าใจจากรัฐ หรือจากผู้สอนศาสนาที่ประกอบการพิธีแต่งงานให้กับคนทั่วไป
หากเราเข้าใจว่า "หญิงคนชั่ว" คือ การค้าเกี่ยวข้องกับเงิน เราจะพลอยเข้าใจผู้หญิงที่แต่งงานซึ่งเกี่ยวข้องกับเงินด้วยหรือเปล่า
เพราะในการแต่งงานที่สังคมยอมรับนั้น เริ่มต้นด้วยการสู่ขอ เริ่มจากสินสอดทองหมั้น ไม่ว่าจะเป็นทองคำ หรือเงินสด ซึ่งบางทีก็ถึงกับตาตั้ง
สมัยผมยังหนุ่ม ประมาณ 60 ปีมาแล้ว ผมเป็นผู้ชายที่เที่ยวผู้หญิง เพราะเพื่อนในมหาวิทยาลัยชี้นำ ซึ่งผมไม่ได้กล่าวโทษเพื่อน เพียงแต่เล่าความจริงให้ฟัง
บางทีก็เจอประเภทที่คุยกันเฉยๆ แล้วก็จ่ายเงินโดยไม่มีเรื่องของเซกซ์ บางครั้งผมก็หลับนอนกับเธอ แต่ไม่มีการประเวณีเข้ามาเกี่ยวข้อง เรื่องนี้เกิดขึ้นระหว่างผมเที่ยวภัตตาคารแบบ "โนแฮนด์ส" บังเอิญสาวเสิร์ฟที่มานั่งด้วยนั้น ถูกชะตากับผม เลยไปค้างคืนกับเธอในห้องพักแถวดินแดงบ่อยครั้งโดยไม่มีอะไรกัน
คืนหนึ่ง ผมจำได้ว่า ผมไม่เมา แต่ดันมีพฤติกรรมกับเธอ ซึ่งสร้างความแปลกใจให้เธอมากขึ้นไปอีก ถึงกับหลุดปากถามผมว่า "เป็นอะไรไปหรือเปล่า ?"
เรื่องอย่างนี้มีครับ แม้ผู้หญิงที่อยู่ในสถานอาบอบนวด ผมก็เคยผ่านมาแล้ว และแทบจะเรียกได้เต็มปากเลยว่า ไม่มีเงินเข้ามาเกี่ยวข้อง
ซึ่งถ้าย้อนกลับไปพันพัวกับนวนิยายเรื่อง "หญิงคนชั่ว" ของ ก.สุรางคนางค์ สภาพหรือสถานะก็คงไม่ต่างอะไรกับการที่ "รื่น" เจอกับ "วิทย์" แตกต่างกันข้อเดียว ผมเป็นผู้ชายที่ไม่พร้อมทั้งหน้าตาและฐานะเหมือน "วิทย์"
สังคมไม่ค่อยจะอยู่กับโลกแห่งความเป็นจริง สังคมบางประเทศมีแต่หน้าไหว้หลังหลอก บางประเทศก็อยู่กับความเป็นจริงเฉพาะในที่สาธารณะ ข้างหลังเป็นอีกภาพหนึ่ง
นิยายเรื่อง "ชู้รักเลดีแชทเตอร์เลย์" ที่ผมเคยพูดถึงก่อนหน้านี้ ก็ระบุความจริงข้อหนึ่งว่า "ชีวิตเป็นเรื่องซ่อนเร้น" มีการโจมตีสังคม เพราะเห็นว่า สังคมเป็นต้นเหตุทำให้เกิดพฤติกรรมที่สังคมเองไม่กล้ายอมรับ
"สังคมของมนุษย์ เป็นสังคมที่ไม่อภัยให้ผู้ใดที่มีความคิดเห็นของตนเอง ต้องการอยู่ในโลกของตนเอง หากความคิดหรือความต้องการนั้นไม่อยู่ในขอบเขตที่สังคมอนุญาต"
"นี่หรือโลกแห่งความศิวิไลซ์ ?"
"มันเป็นโลกบ้า โลกที่ไม่ต้องการความเข้าใจ ซ้ำยังใช้ประเพณีผูกมัดความบ้าบอให้กับผู้คนในสังคม ผู้ชายและผู้หญิงที่แต่งงานไม่ผิดอะไรกับแมลงตัวเล็กถูกกดทับด้วยคัมภีร์เล่มหนาใหญ่โต..."
"ชีวิตของแมลงไม่มีค่าเช่นไร ชีวิตของผู้คนก็ไม่มีค่าเช่นนั้น"
นั่นคือ สิ่งที่เขียนออกมาจากหัวใจของนักเขียนเรืองนาม ดี เอช ลอว์เรนศ์ ผู้เขียน "ชู้รักเลดีแชทเตอร์เลย์" สะเทือนโลก เพราะอยู่กับพื้นฐานแห่งความจริงของชีวิต
หญิงที่เข้าพิธีสมรสกี่คน ที่ไม่มีความรักเกิดขึ้นในใจ ขณะเอ่ยคำว่ายอมรับชายตรงหน้าเป็นสามี และหญิงกี่คนเมื่อแต่งงานแล้วตกเป็นเหยื่ออารมณ์ความต้องการทางเพศกับผู้ชายที่ถูกชะตา ผู้ชายที่ควรเป็นคนที่เธอรัก
ประการสำคัญ "หญิงคนชั่ว" คงมิใช่หมายถึง หญิง เพราะมีผู้ชายหลายคนในหลายประเทศ มีพฤติกรรมไม่ต่างอะไรกับ "หญิงคนชั่ว" ซึ่งแปลกมาก ไม่ยักมีใครเรียก "ชายคนชั่ว" แฮะ...!!!
ABOUT THE AUTHOR
ข
ข้าวเปลือก
นิตยสาร 417 ฉบับเดือน กรกฏาคม ปี 2556
คอลัมน์ Online : ประสาใจ