ประสาใจ
ความเดิมวันนี้
สงครามโลกครั้งที่ 2 ปลายปี 2484 คนไทยในสหรัฐอเมริกา และยุโรปจำนวนมาก ไม่เห็นด้วยกับการตัดสินใจของรัฐบาลจอมพล ป.พิบูลสงคราม จัดตั้งหน่วยเรียกตนเองว่า “ขบวนการเสรีไทย”อุดมการณ์ของขบวนการนี้ คือ ให้ความร่วมมือกับฝ่ายสัมพันธมิตรอย่างลับๆ เพื่อทำลายอำนาจกองทัพญี่ปุ่น ประกอบด้วย มรว. เสนีย์ ปราโมช เป็นหัวหน้าในสหรัฐอเมริกา ขณะที่หัวหน้าขบวนการในอังกฤษ คือ มจ. ศุภสวัสดิ์วงศ์สนิท สวัสดิวัตน์ และในประเทศไทย มี ปรีดี พนมยงค์ เป็นหัวหน้า ก่อน 8 ธันวาคม 2484 ไม่นาน คนในพระนคร และธนบุรี ซ้อมภัยทางอากาศตอนกลางคืน การเตือนภัยไม่ใช้นกร้อง หรือมดดำคาบไข่ แต่ใช้ตำรวจในท้องที่ถีบ 2 ล้อร้องบอกชาวบ้าน “พรางไฟ พรางไฟ” วิธีพรางไฟ คือ ใช้ผ้าคลุมหลอดไฟฟ้าในเรือน ป้องกันแสงสว่างเล็ดลอดออกจากบ้าน ต่อมาการเตือนภัยจึงเปลี่ยนใช้เครื่องมือเป็นไซเรนขนาดใหญ่ ชาวบ้านเรียกง่ายๆ ว่า “หวอ” ในจังหวัดธนบุรีติดตั้งหวอบนดาดฟ้าตึกใหญ่ของตลาดพลู สมัยข้าพเจ้า (ไก่อ่อน) ทำงานให้ “เตี่ยแสง” (แสง เหตระกูล) ที่สำนักพิมพ์สี่พระยาการพิมพ์ ถนนสี่พระยา ท่านเล่าว่า วิธีพรางไฟในบ้านของท่าน คือ ท่านรีบกุลีกุจอปีนขึ้นโต๊ะหมุนหลอดไฟฟ้าออกจากขั้ว นับเป็นการเสี่ยงชีวิต แต่ “เตี่ย” ก็ทำไปด้วยตกใจเสียงหวอ คนจังหวัดพระนคร-ธนบุรีฟังเสียงหวอจากไซเรนบนยอดภูเขาทองแห่งเดียว ซึ่งดังที่สุดได้ยินกันทั่ว 2 จังหวัด เมื่อพระนครโดนทิ้งระเบิดหนัก เช่น ที่โรงไฟฟ้าวัดเลียบ เชิงสะพานพุทธ คนในพระนครส่วนใหญ่เป็นผู้เฒ่า เด็กเล็ก อพยพข้ามฟากเจ้าพระยา หนีภัยทางอากาศไปนอนในสวนจังหวัดธนบุรี ส่วนคนจำเป็นต้องอยู่ฝั่งพระนคร ก็เพราะต้องค้าขายอยู่ที่สำเพ็ง ซึ่งวุ่นวายตอนกลางวัน ตกบ่าย 4 โมง จึงเก็บเสื้อผ้าลงเรือ ถ้าเป็นคืนเดือนมืดก็อาจค้างคืนในพระนคร เพราะเชื่อว่าเครื่องบินฝรั่งไม่มาทิ้งระเบิดเหมือนคืนเดือนหงาย และคนพระนครบางกลุ่มจำนวนไม่น้อย นิยมหลบภัยในย่านบางกะปิ ถนนสุขุมวิท ชีวิตคนพระนครสมัยนั้น เมื่อได้ยินเสียงหวอ ไม่ว่ากลางวัน หรือกลางคืน ถ้าหาหลุมหลบภัยไม่เจอก็วิ่งเข้าวัด เป็นต้นว่า กำลังดูหนังอยู่ที่ศาลาเฉลิมกรุง หวอดังก็ออกจากโรงหนังวิ่งเข้าวัดใกล้เคียง ทั้งวัดมหรรณพ์ วัดสุทัศน์ วัดเลียบ ถ้าอยู่ฝั่งจังหวัดธนบุรีใกล้สะพานพุทธ ก็วิ่งเข้าวัดประยุรวงศาวาสวรวิหาร คุณพ่อข้าพเจ้าเป็นข้าราชการต้องย้ายครอบครัวตามคำสั่งกรม จากอำเภอสรรพยาเมืองไกลปืนเที่ยง จังหวัดชัยนาท ย้ายลงมาตามอำเภอต่างๆ ริมแม่น้ำเจ้าพระยา ถึงอำเภอบางไทร จังหวัดพระนครศรีอยุธยา ก่อนย้ายเข้านครปฐม รับตำแหน่ง “ศุภมาตรา” (ผู้ช่วยสรรพากรจังหวัด) ซึ่งเป็นช่วงเวลาสงครามมหาเอเชียบูรพา หลักสูตรการเรียนของข้าพเจ้าสมัยนั้น มีภาคประถมศึกษา 4 ปี ต่อด้วยภาคมัธยมต้น 6 ปี ต่อด้วย มัธยม 7 และ 8 อีก 2 ปี เพื่อศึกษาต่อระดับมหาวิทยาลัย ช่วงมัธยมต้น ข้าพเจ้าเรียนที่อำเภอเมือง ทั้งโรงเรียนวรรณวิทย์ และสมานวิทยาลัย จำได้ว่าครูผู้หญิงประจำชั้นที่โรงเรียนวรรณวิทย์ขาสวย เมื่อหวอดัง ครูให้นักเรียนเข้าแถวลงหลุมหลบภัยของโรงเรียน ขณะอยู่ในหลุมข้าพเจ้า เอาแต่แหงนหน้ามองขาครูประจำชั้นที่ยืนบนปากหลุม เพลินตามองอยู่นานเท่าไรไม่ทราบ มารู้สึกตัวอีกทีก็เพราะเพื่อนระเบิดเสียงลั่น “เครื่องบินยังไม่มา เอ็งแหงนหน้ามองหาหอกอะไรวะ ?” ข้าพเจ้าเห็นทหารญี่ปุ่นเป็นครั้งแรกในชีวิต เดินทัพผ่านหน้าบ้านถนนเทศา ยุคนั้น ตอนนั้น ทหารญี่ปุ่นมีรูปร่าง “เตี้ย” จนผู้คนเรียก “ไอ้เตี้ย” ญี่ปุ่นตั้งค่ายทหาร สร้างทางรถไฟสายมรณะ ใช้ทหารต่างชาติเชลยศึกเป็นกรรมกร ตั้งแต่ตุลาคม 2485 สิ้นสุดตุลาคมปี 2486 เริ่มจากสถานีหนองปลาดุก (ตำบลหนองกบ อำเภอบ้านโป่ง จังหวัดราชบุรี) ผ่านสะพานข้ามแม่น้ำแคว จังหวัดกาญจนบุรี ไปทางทิศตะวันตก ถึงสถานีจันการายา ปลายทางที่ด่านพระเจดีย์สามองค์ฝั่งพม่า เช้าวันที่ 6 สิงหาคม 2488 สหรัฐอเมริกาใช้เครื่องบินทิ้งระเบิดแบบ บี 29 ทิ้งระเบิดปรมาณูลงเมืองฮิโรชิมา ซึ่งมีประชากร 2.5 แสนคน เครื่องบินบินสูง 31,600 ฟุต ด้วยความเร็ว 456 กม./ชม. ตามด้วยป้อมบินอีก 2 เครื่องตามมาทำหน้าที่บันทึกภาพ และเก็บข้อมูลทางวิทยาศาสตร์ วิทยุในเมืองฮิโรชิมา ประกาศว่าเป็นเครื่องบินลาดตระเวน ประชาชนชาวเมืองพากันแหงนมองท้องฟ้าเพื่อดูเครื่องบิน เครื่องบินลำหน้าเปิดประตูระเบิดเมื่อเวลา 08.15 น. ประชาชนชาวเมืองเห็นร่มชูชีพจำนวนหนึ่งทิ้งลงมาจากเครื่องบิน และอีกไม่กี่อึดใจก็บังเกิดแสงสว่างวาบใหญ่ขาวโพลน ในวินาทีนั้นเอง ประชาชนจำนวน 64,000 คนก็เสียชีวิต 11 นาฬิกา ของวันที่ 9 สิงหาคม ระเบิดปรมาณูลูกที่ 2 ทิ้งความพินาศในพริบตาลงที่เมืองนางาซากิ เมืองทั้งเมืองเสียหายย่อยยับจนอธิบายไม่ได้ ประชาชนที่รอดชีวิตส่วนใหญ่ตายในเวลาต่อมา หรือไม่ก็กำลังจะตายเพราะฤทธิ์กัมมันตภาพรังสี ผู้รอดชีวิต คือ ผู้ที่อยู่ในหลุมหลบภัย 15 สิงหาคม สถานีวิทยุเอนเอชเค ประกาศข่าวพิเศษ “สมเด็จพระจักรพรรดิ ทรงมีพระบรมราชโองการ จะอัญเชิญมาออกอากาศเวลาเที่ยงวัน วันนี้ ขอให้ทุกท่านคอยฟังกระแสพระราชดำรัสของสมเด็จพระจักรพรรดิด้วยความเคารพ” สมเด็จพระจักรพรรดิ ผู้ทรงพระราชอำนาจตัดสินชะตากรรมของประเทศ มีพระชนมายุ 44 พระชันษา เสด็จขึ้นครองราชสมบัติมาตั้งแต่ปี 2471 ทรงเป็นที่เคารพสักการะอันสูงสุดของประชาชน ทรงเป็นฉัตรชัยของประเทศประหนึ่งเทพเจ้า หากปราศจากพระองค์หรือรัชทายาท ประเทศญี่ปุ่นก็ไม่อาจดำรงอยู่ได้ เวลาเที่ยงวันมาถึง พร้อมกับเสียงเพลงชาติญี่ปุ่น “กิมิงาโยะ” ประชาชนทั่วแดนอาทิตย์อุทัยทุกคนต่างลุกขึ้นยืน รับฟังพระบรมราชโองการ “พสกนิกรที่รัก และจงรักภักดีต่อเราทั้งหลาย” “หลังจากครุ่นคิดอย่างหนักถึงความเป็นไป และสถานการณ์ทั้งหลายในขณะนี้ เราได้ตัดสินใจแน่วแน่ที่จะแก้ปัญหาทั้งมวลด้วยวิธีการที่ดูเหลือเชื่อ...” “ข้าศึกใช้ระเบิดชนิดใหม่ที่โหดร้ายทารุณ มีอำนาจทำลายอย่างใหญ่หลวงหาที่เปรียบมิได้ ทำให้ชีวิตผู้บริสุทธิ์ต้องสูญเสียไปนับหมื่นนับแสน ถ้าเรายังดื้อรั้นที่จะสู้รบต่อไป มันไม่เพียงแต่ทำให้ประเทศญี่ปุ่นต้องถูกทำลายไปทั้งหมด แต่มันยังเป็นความหายนะของอารยธรรมแห่งมนุษย์อีกด้วย” “นั่นเป็นเหตุผลที่ทำให้เราต้องใคร่ครวญว่า จะปกป้องชีวิตนับล้านๆ ของพสกนิกร และจะบอกเล่าต่อบรรพบุรุษของเราได้อย่างไร” “นี่คือ เหตุผลที่เราได้ออกคำสั่งให้ยอมรับคำประกาศร่วมกันของฝ่ายสัมพันธมิตร” หลังสงครามยุติ บ้านเมืองเปลี่ยนแปลงด้วยบรรยากาศทหารต่างชาติ ซึ่งชาวบ้านเรียก “ทหารฝรั่ง” ถนนหนทางมีรถเก๋งให้เห็น โดยเฉพาะรถ จีพ บริเวณถนนหน้าองค์พระปฐมเจดีย์ เอกชนพากันเปิดร้านอาหารแบบสวนอาหารต้อนรับทหารฝรั่ง (อดีตเชลยศึก) หลายร้าน ตอนนั้นข้าพเจ้าเป็นเด็กมัธยม 4 ทหารฝรั่งคนหนึ่งถามข้าพเจ้าว่าเกิดที่ไหน ? “ชัยนาท” ข้าพเจ้าตอบ ทหารฝรั่งตาโต “ว้าว ไชน่า รึ ?” ข้าพเจ้า “สเนค สเนค ฟิช ฟิช” (งู งู ปลา ปลา) ใช้ภาษามืออธิบายอยู่นาน กว่าทหารฝรั่งจับความได้ว่า ข้าพเจ้าไม่ได้เกิดเมืองจีน แต่เป็นจังหวัดหนึ่งของไทย !
ABOUT THE AUTHOR
ข
ข้าวเปลือก
นิตยสาร 417 ฉบับเดือน มกราคม ปี 2563
คอลัมน์ Online : ประสาใจ