เราบันทึกเรื่องวันนี้ หลังจากได้ฟัง “ฟ้าใส ปวีณสุดา” ตัวแทนสาวไทยในการประกวด มิสยูนิเวิร์ส ที่แอทแลนทา รัฐจอร์เจีย สหรัฐ-อเมริกา ตอบคำถาม สตีฟ ฮาร์วีย์ พิธีกรหลักผิวสีในรอบ 5 คนสุดท้ายอย่างน่าอัศจรรย์พิธีกร ฮาร์วีย์ ถาม ฟ้าใส ว่า “เพื่อต้องการให้ประเทศ และประชาชนสงบสุข รัฐบาลใช้วิธีสอดแนม ซึ่งหลายคนเชื่อว่าเป็นการละเมิดความเป็นส่วนตัว คุณคิดอย่างไรระหว่างความมั่นคง กับความเป็นส่วนตัว ?” ฟ้าใส ไม่ได้ใช้เวลามาก ตอบโดยทันทีว่า “ฉันเชื่อว่า รัฐบาลของทุกประเทศย่อมมี นโยบายรักษาความสงบสุขให้แก่พวกเรา แต่ฉันก็เชื่อด้วยว่า ความสงบสุขนี้ไม่ควรก้าวข้ามความเป็นส่วนตัว เพราะพวกเราทุกคนมีสิทธิ์ในการปกป้องความเป็นส่วนตัวของเรา” “อย่างไรก็ตาม ความมั่นคงก็เป็นสิ่งจำเป็น และสำคัญ ดังนี้ ฉันจึงมั่นใจที่จะบอกว่า สังคมเราจะดีได้ รัฐบาลควรพิจารณาขอบเขตระหว่างความเป็นส่วนตัว กับความมั่นคงให้พอเหมาะพอดีเพื่อความสงบสุขของสังคม” รัฐบาลของเราวันนี้ แม้สืบสานต่อจากงานเชื่อมโยงของคณะผู้รักษาความสงบแห่งชาติ แต่ก็เป็นรัฐบาลที่กำเนิดจากระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข และมาจากการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร พูดเรียบง่าย คือ รัฐบาลของประชาชน โดยประชาชน และเพื่อประชาชน วันนี้-วันที่เราบันทึกเรื่องนี้ 10 เดือนแล้ว ประชาชนยังหารัฐบาลของประชาชนไม่พบ ความสงบสุขของปวงชนมีอยู่ แต่ความระส่ำระสายของขบวนการนักการเมืองล้นหลาม ล้วนเป็นเรื่องส่วนตัวของนักการเมือง ของพรรคการเมืองที่นักการเมืองสร้างขึ้น เป็นไปได้อย่างไร ในเมื่อประชาชนเป็นคนที่ปั้น “ตัวแทน” (ผู้แทนราษฎร) เข้าไปนั่งในสภา อยู่ในโลกของรัฐสภา แต่ประชาชนยังอยู่ในจิตใจของนักการเมืองเหล่านี้หรือไม่ เป็นคำถามที่ตอบยาก ประชาชน ถ้าคิดอย่างเรา ต้องรำพึงรำพันใต้ต้นคูณ ระหว่างตัวแทนประชาชน กับตัวแทนสาวไทย (ฟ้าใส) ควรปรบมือให้กับใครวันนี้ ? ความวุ่นวายเริ่มตั้งแต่การเลือกตั้ง อันมีกติกาว่า อนุญาตให้พรรคการเมืองพิจารณาใส่ชื่อบุคคลที่จะมาเป็นนายกรัฐมนตรี หลังผลการเลือกตั้งแล้ว ความสงบสุขบนถนนการเมืองก็ไม่มี เพราะประชาชนเลือกตัวแทนกันขึ้นมาหลายพรรคการเมือง ทำให้หลายพรรคการเมืองลอยหน้าเข้ารัฐสภากันเป็นแพ ผลก็คือ พรรคการเมืองมี 2 ฝ่ายโดยสมบูรณ์ตามหลักประชาธิปไตย คือ มีทั้งฝ่ายรัฐบาล และฝ่ายค้าน ฟังเพียงเท่านี้ก็น่าจะสงบสุข ? แต่มันไม่ใช่ เพราะ 2 ฝ่ายต่างมีพละกำลังปริ่มน้ำด้วยกันทั้งคู่ เหลื่อมล้ำกันเล็กน้อยหลังจากตัวเลขปรากฏ “ลุงตู่” พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา ได้เป็นนายกรัฐมนตรี เป็นหัวหน้าฝ่ายรัฐบาล และสมพงษ์ อมรวิวัฒน์ หัวหน้าพรรคเพื่อไทย ได้รับพระบรมราชโองการโปรดเกล้าฯ แต่งตั้งเป็นผู้นำฝ่ายค้าน เมื่อมีสภาตัวแทนปวงชนชาวไทยเรียบร้อยแล้ว เปิดตัววันแรกก็ต้องเชิญ ธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ หัวหน้าพรรคอนาคตใหม่ ออกจากสภา เพราะเป็นตัวแทนประชาชนที่หมดสิทธิ์การปฏิบัติหน้าที่ในสภาตามคำสั่งศาลรัฐธรรมนูญ สังคมภาคการเมืองของเรา จึงไม่สงบสุข เพราะประชาชนมีการเมืองทั้งในสภา และนอกสภา ดูเหมือนว่า ประชาชนต้องฟังทั้งในสภา และนอกสภา แต่ประชาชนเป็นมนุษย์สามัญ ถ้าทั้งวันเอาแต่ฟังเสียงทั้งใน และนอกสภา ก็อดตายเท่านั้น ไม่มีทางเป็นไปได้อย่างอื่น อะไรสำคัญเท่า “ปากกับท้อง” ? “ความมั่นคง” และ “ความเป็นส่วนตัว” ก็ยังสำคัญไม่เท่า “ปากกับท้อง” ความจริงที่ว่า เสาหลักของครอบครัวไม่ใช่ผู้แทน และยังเป็นของจริง มีความเสถียรตลอดไป ไม่เกี่ยวกับตัวเลขรายได้ขั้นต่ำของประชาชน ที่พูดมานี้ เป็นภาวะของประชาชน เพราะมันคือ ภาระส่วนตัวของแต่ละครอบครัว น่าประหลาดใจมากที่นักการเมืองสมัครใจอุทิศตนเองเพื่อเห็นแก่ประชาชน หลายพรรคการเมืองทั้งฝ่ายรัฐบาล และฝ่ายค้านมีแต่ความระส่ำระสาย ภาวะของพรรคการเมือง มิได้เป็นภาระของประชาชน แต่เป็นภาระของนักการเมือง ความระส่ำระสายของพรรคการเมือง สูง/ต่ำปานใดวัดไม่ได้เหมือนองศาของอุณหภูมิที่คนกรุงเทพฯ ตื่นเต้นกับลมเย็น และสภาพอากาศเย็นแห่งฤดูกาลนี้ นักการเมือง เห็นแก่ภาระของตน หนีสภาพการปริ่มน้ำ การเลือกตั้งซ่อมเกิดขึ้นตรงไหน ตรงนั้นระส่ำระสายสุด เกณฑ์ระส่ำระสายทางการเมืองของเราน่าจะวัดได้ในระดับหนึ่ง หลังการเปรยของ “ลุงตู่” หัวหน้าฝ่ายรัฐบาล ที่ว่า ปรับคณะรัฐมนตรีไม่ได้ ก็ยุบสภา ! การดิ้นรนของนักการเมืองทั้งในสภา และนอกสภา เป็นภาพแห่งความพยายามที่จะสอดแนมความเป็นส่วนตัวของประชาชน ก้าวข้ามกติกาแห่งรัฐ เพื่อความมั่นคงของตน นักการเมืองอ้างประชาชน ทั้งๆ ที่ทำให้ประชาชนความจำเสื่อม ประชาชน ไม่ว่าจังหวัดอะไรก็ลืมตัวแทน เดือดร้อนเมื่อไร ก็พร้อมใจกันเมื่อนั้น เดินทางมาถึงกรุงเทพฯ ทั้งขบวนสั้น และขบวนยาว ไม่ได้มาเพื่อจะพบตัวแทน แต่นำความเดือดร้อนมา “กราบเรียนเพื่อทราบ” นักการเมืองโลกคนไหนก็ไม่ทราบ ประกาศว่า “รัฐบาลจำเป็นต้องมีประชาชน แต่ประชาชนไม่จำเป็นต้องมีรัฐบาล” แปลเป็นไทยว่า ประชาชนอยู่ได้ถ้าไม่มีรัฐบาล แต่รัฐบาลอยู่ไม่ได้ถ้าไร้ประชาชน ความทั้งหมดนี้ อาจเกี่ยวข้องกับสภาวการณ์ทางด้านเศรษฐกิจ ซึ่งมิใช่เพียงสภาวการณ์เศรษฐกิจในประเทศ แต่บวกสภาวการณ์เศรษฐกิจโลก เข้าไปด้วย น่าเห็นใจ “ลุงตู่” นายกรัฐมนตรี ผู้ปรารถนาที่จะนำประเทศชาติเดินหน้าไปพร้อมกันกับประชาชน หนึ่งในโครงการที่น่าจะเป็นผลดีแก่สังคมไทย ก็ต้องเป็น โครงการ EEC เสร็จสมบูรณ์วันใด วันนั้น คือ วันแหลมทองคำของโลก เศรษฐกิจ เป็นของทุกคนในโลก มิใช่เป็นของปวงชนชาวไทยประเทศชาติเดียว แต่การเดินไปพร้อมกันกับประชาชน ไม่ใช่ชีวิตเรียบง่าย เพราะประชาชนมีตัวแทน ถ้าพูดกับตัวแทนไม่รู้ความ ชีวิตเรียบง่ายก็ไม่เกิด สิ่งที่เกิด และสัมผัสได้ คือ ความพยายามของ ลุงตู่ ท่านออกมาพบประชาชนของท่านวันไหน วันนั้นก็เห็นกันเต็มๆ น่าเห็นใจท่านไหมละ ? เราบันทึกเรื่องนี้ใน “วันรัฐธรรมนูญ 10 ธันวาคม” และเป็นวันครบรอบปีที่ 88 ของวันรัฐธรรมนูญ วันสำคัญยิ่งของปวงชนชาวไทยครับ