ระเบียงรถใหม่
ระเบียงรถใหม่
หวือหวาทั้งรูปโฉมและระบบขับ
VOLKSWAGEN XL1
อ่านพบในนิตยสารรถยนต์ชั้นนำฉบับหนึ่งของยุโรป เขาบอกว่า ในช่วงปลายของทศวรรษแห่งปี 1990 ตอนที่ยักษ์ใหญ่และยักษ์รองของเมืองยุ่นนำรถไฮบริดติดป้ายชื่อ โตโยตา ปรีอุส (TOYOTA PRIUS) และ ฮอนดา อินไซจ์ท์ (HONDA INSIGHT) ออกขายในตลาด บริษัทรถยนต์รายอื่นๆ ไม่ได้รู้สึกสะดุ้งสะเทือนสักเท่าไร เพราะยังมองไม่เห็นว่ารถไฮบริดจะมีฤทธิ์มีเดชขนาดไหน ? แต่ที่เห็นกันอยู่ในขณะนี้ก็คือ ผู้ผลิตรถยนต์แทบทุกรายล้วนเห็นเป็นเรื่องจำเป็นและคุ้มค่าที่ต้องมีรถประเภทนี้อยู่ในบัญชีรายชื่อสินค้า รายที่ยังไม่มีก็กำลังขวนขวายเพื่อให้มี
ถึงไม่อยากยอมรับ ก็ต้องยอมรับว่าบริษัทรถยนต์ที่ประสบความสำเร็จสูงสุดกับรถไฮบริด จะเป็นใครไปไม่ได้หากไม่ใช่ โตโยตา จากรถแบบแรก คือ โตโยตา ปรีอุส ซึ่งออกตลาดเมื่อปี 1997 ปัจจุบันกองทัพรถไฮบริดของผู้ผลิตรถยนต์รายนี้ที่ขายอยู่ทั่วโลกเพิ่มจำนวนเป็น 23 แบบ ไปแล้ว เมื่อปลายเดือนสิงหาคมที่ผ่านมายักษ์ใหญ่ของเมืองยุ่นนำรถเหล่านี้ออกแสดงพร้อมๆ กันในงาน TOYOTA HYBRID WORLD TOUR ซึ่งจัดขึ้นในรัฐมิชิแกนของสหรัฐอเมริกา และทำให้ผู้ผลิตรถยนต์รายอื่นๆ รู้สึกระคายเคืองเล็กๆ โดยประกาศว่า ยอดขายรถไฮบริดของค่าย โตโยตา ในตลาดทั่วโลก ผ่านหลัก 5,000,000 คัน ไปเรียบร้อยแล้ว ตั้งแต่เดือนมีนาคมของปีงูใหญ่
เพื่อให้สอดรับกับงานมหกรรมยานยนต์ครั้งที่ 30 ของค่าย "สื่อสากล" ที่เปิดฉากตอนปลายเดือนพฤศจิกายน และตั้งคำขวัญไว้ว่า "พลังงานสร้างสรรค์ ยานยนต์เปลี่ยนโลก" เดือนนี้รถใหม่ที่นำเรื่องราวมาเล่าสู่กันฟัง จึงมีอยู่เพียง 2 ประเภท คือ รถไฮบริดกับรถไฟฟ้า และทั้งหมดเป็นผลงานของผู้ผลิตรถยนต์สัญชาติเยอรมัน เริ่มกันที่รถติดป้ายชื่อ โฟล์คสวาเกน เอกซ์แอล 1 (VOLKSWAGEN XL1) ผลงานชิ้นโบว์แดงของยักษ์ใหญ่เมืองเบียร์ที่ประกาศอยู่บ่อยๆ ว่า ภายในปี 2018 จะเป็นผู้นำตลาดในด้าน E-MOBILITY
อวดตัวแบบ WORLD PREMIERE หรือ "ครั้งแรกในโลก" ที่งานมหกรรมยานยนต์เจนีวาเมื่อต้นเดือนมีนาคม 2013 และผู้คนมุงดูกันแน่นขนัดยิ่งกว่ายืนมุงดูพริททีทำนมหก เป็นรถไฮบริดอย่างที่เรียกกันในภาษารถยนต์ว่า PLUG-IN HYBRID คือ ไฮบริดชนิดต้องมีการเสียบปลั๊กเพื่อชาร์จไฟเข้าแบทเตอรี โดยใช้เครื่องยนต์เทอร์โบดีเซลฉีดเชื้อเพลิงโดยตรง 2 สูบเรียง 800 ซีซี 35 กิโลวัตต์/48 แรงม้า ทำงานร่วมกับมอเตอร์ไฟฟ้า 20 กิโลวัตต์/27 แรงม้า ที่ได้พลังไฟจากแบทเตอรีลิเธียม-ไอออน (LITHIUM-ION) ขนาด 5.5 กิโลวัตต์ชั่วโมง และถ่ายทอดกำลังสู่ล้อคู่หลังผ่านระบบเกียร์คลัทช์คู่ 7 จังหวะ
ระบบขับไฮบริดชนิดต้องเสียบปลั๊กเพื่อชาร์จไฟดังที่กล่าวข้างต้น ติดตั้งอยู่ในตัวถังซึ่งยาวแค่ 3.888 ม. กว้าง 1.665 ม. และสูง 1.153 ม. ที่ออกแบบให้นั่งกันเพียง 2 คน โดยนั่งคู่กันแต่ผู้โดยสารต้องนั่งเยื้องไปข้างหลังนิดหน่อยดังที่เห็นในภาพ เป็นตัวถังประตูปีกนกที่เบาเป็นพิเศษ คือ มีน้ำหนักตัวเปล่าแค่ 795 กก. เพราะโครงตัวถัง เปลือกตัวถัง และส่วนแต่งเติมทุกชิ้นล้วนทำจาก CFRP หรือ CARBON FIBRE REINFORCED POLYMER ซึ่งเป็นวัสดุสังเคราะห์มวลเบาแต่แข็งแรง ที่ยอดเยี่ยมกระเทียมโทน และไม่เคยคิดมาก่อนว่าจะมีโอกาสได้พบได้เห็นในรถที่ทำขาย ไม่ใช่รถแนวคิด คือ ค่าสัมประสิทธิ์แรงต้านอากาศที่ต่ำเพียง 0.189
ผลลัพธ์ของการนำระบบขับไฮบริดมาทำงาน ในตัวถังน้ำหนักเบาและลื่นลมนี้ คือ รถไฮบริดซึ่งสามารถทำอัตราเร่ง 0-100 กม./ชม. ในเวลา 12.7 วินาที มีความเร็วสูงสุดซึ่งจำกัดไว้ที่ระดับ 160 กม./ชม. มีอัตราสิ้นเปลืองเชื้อเพลิงเฉลี่ยที่เห็นตัวเลขแล้วต้องขยี้ตา คือ แค่ 0.9 ลิตร/100 กม. หรือ 111 กม./ลิตร ดังนั้นเมื่อเติมน้ำมันเชื้อเพลิงเต็มถังซึ่งจุเพียง 10 ลิตร จะไปได้ไกลกว่า 500 กม. และปล่อยคาร์บอนไดออกไซด์เพียง 21 กรัม/กม. อีกจุดหนึ่งที่น่าสนใจมากก็คือ เมื่อวิ่งด้วยพลังไฟฟ้าเพียงอย่างเดียว จะวิ่งได้ไกลถึง 50 กม. โดยสิ้นเปลืองพลังไฟน้อยกว่า 0.1 กิโลวัตต์ชั่วโมง/กม. หรือแค่ 0.1 หน่วย ซึ่งเมื่อคิดตามราคาค่าไฟฟ้าในบ้านเรา ก็ไม่ถึงสองสลึง ที่น่าสนใจเช่นกันก็คือ เมื่อไรจะมีขายในบ้านเรา ?
รถไฟฟ้าหน้าตาคิกขุ !
VOLKSWAGEN E-UP!
เมื่อกลางเดือนกันยายนของปี 2011 คณะของเราเดินทางไปเยือนเมืองเบียร์เพื่อทำข่าวงานมหกรรมยานยนต์ฟรังค์ฟวร์ทครั้งที่ 64 ในงานที่ว่านี้มีสายตาของพวกเราได้สัมผัสรถแบบใหม่ๆ ที่ไม่เคยสัมผัสมาก่อนนับ 100 คัน แต่มีอยู่คันหนึ่งที่พวกเราเห็นพ้องต้องกันว่า "โดนใจมาก" คือ รถขนาดเล็กติดป้ายชื่อ โฟล์คสวาเกน อัพ ! (VOLKSWAGEN UP!) ซึ่งไม่กี่วันหลังจากเปิดตัวในงานที่ว่า ก็เริ่มออกโชว์รูม เป็นรถค่าตัวหน่อมแน้ม คือ มีเงินแค่ 9,900 ยูโร ก็ซื้อได้แล้ว
โฟล์คสวาเกน อัพ ! ที่พวกเราถูกอกถูกใจกันมากนี้ เป็นรถ 3 หรือ 5 ประตูแฮทช์แบค ในตัวถังยาว 3.540 ม. กว้าง 1.641 ม. และสูง 1.478-1.489 ม. ซึ่งหน้าตาดูดีกว่ารถขนาดเดียวกันแบบอื่นๆ ที่เคยเห็นกันมาก่อน โดยเฉพาะเมื่อเป็นตัวถังสีอ่อน อย่างสีขาว หรือสีเงิน ส่วนเครื่องยนต์ที่ใช้ขับล้อคู่หน้า มีเพียงขนาดเดียว คือ เครื่องเบนซิน DOHC 3 สูบเรียง ความจุ 998 ซีซี แต่ปรับแต่งเป็น 2 แบบ คือแบบให้กำลังสูงสุด 44 กิโลวัตต์/60 แรงม้า กับแบบให้กำลังสูงสุด 55 กิโลวัตต์/75 แรงม้า
เดือนกันยายนของปีงูเล็กนี้ คณะของเราเดินทางไปทำข่าวงานมหกรรมยานยนต์ฟรังค์ฟวร์ทอีกครั้งหนึ่งและนับนิ้วได้ว่าเป็นครั้งที่ 11 ในบูธของยักษ์ใหญ่เมืองเบียร์ สองตาซึ่งมีเลนส์แก้วใสแจ๋วครอบอยู่ก็ได้สัมผัสรถจิ๋วที่เคยพึงพอใจอีกครั้งหนึ่ง แต่คราวนี้ป้ายชื่อรุ่นที่ติดอยู่ใต้แผงกระจังหน้า เปลี่ยนจาก UP! เป็น E-UP! ไปแล้ว ที่ต้องเปลี่ยนก็เนื่องจากนี่คือรถไฟฟ้า ไม่ใช่รถเครื่องเบนซินอย่างที่เคยเห็นเมื่อ 2 ปีก่อน
เป็นรถไฟฟ้าที่พัฒนาจากรถ โฟล์คสวาเกน อัพ ! ในตัวถัง 5 ประตูแฮทช์แบค ซึ่งยาว 3.540 ม. กว้าง 1.645 ม. สูง 1.477 ม.และมีค่าสัมผัสแรงต้านอากาศ 0.308 หน้าตารวมทั้งรายละเอียดของตัวถังภายนอกแทบไม่มีอะไรเปลี่ยนแปลง ยกเว้นจุดเดียว คือ เปลี่ยนจากฝาปิดถังน้ำมันเชื้อเพลิง เป็นฝาปิดเต้าเสียบปลั๊กไฟ
ที่เปลี่ยนไปแต่จะมองไม่เห็นหากไม่เปิดฝากระโปรงหน้า คือ เปลี่ยนจากการติดตั้งเครื่องยนต์เบนซินเป็นติดตั้งมอเตอร์ไฟฟ้าขนาด 60 กิโลวัตต์/82 แรงม้า ที่ให้แรงบิดสูงสุด 210 นิวตัน-เมตร (21.4 กก.-ม.) ตั้งแต่รอบแรกของการหมุน มอเตอร์ดังกล่าวนี้ได้พลังไฟฟ้าจากแบทเตอรีลิเธียม-ไอออน (LITHIUM-ION) ขนาด 18.7 กิโลวัตต์ชั่วโมง ซึ่งมีน้ำหนักตัว 230 กก. และสามารถประจุไฟได้หลายวิธี รวมทั้งด้วยไฟบ้าน 230 โวลท์ ซึ่งจะใช้เวลาประมาณ 9 ชั่วโมง และด้วยวิธีประจุด่วนซึ่งเสียเวลาแค่ครึ่งชั่วโมงแต่จะได้ปริมาณไฟเพียงร้อยละ 80
เมื่อประจุไฟเต็มร้อย รถจะวิ่งได้ไกลประมาณ 160 กม. สามารถทำอัตราเร่ง 0-100 กม./ชม. ในเวลา 12.4 วินาที และทำความเร็วสูงสุด 130 กม./ชม. มีอัตราสิ้นเปลืองพลังไฟ 11.7 กิโลวัตต์ชั่วโมง หรือหน่วย/100 กม. เมื่อเทียบกับค่าไฟฟ้าในเมืองเบียร์ซึ่งมีราคาสูงถึง 0.258 ยูโร หรือประมาณ 11 บาท/หน่วย ก็ได้ผลลัพธ์ว่าอัตราสิ้นเปลืองในการใช้รถไฟฟ้าแบบนี้ คือ 1.29 บาท/กม. หากเทียบจากค่าไฟฟ้าในบ้านเรา ซึ่งเมื่อรวมค่าบริการและค่าเอฟทีแล้ว ก็ยังไม่เกิน 5 บาท/หน่วย ตัวเลขก็จะเปลี่ยนเป็นประมาณ 60 สตางค์/กม.
เริ่มจำหน่ายแล้วในเมืองแม่เมื่อกลางเดือนตุลาคมที่ผ่านมา ค่าตัวเริ่มต้นที่ 26,900 ยูโร หรือเท่ากับประมาณ 1,156,000 บาทไทย
น่าจะดีหากขับรถคันนี้ไปตีกอล์ฟ
VOLKSWAGEN E-GOLF
ศาสตราจารย์ ดอกเตอร์ มาร์ทิน วินเทร์คอร์น (PROF. DR. MARTIN WINTERKORN) ซีอีโอของค่าย โฟล์คสวาเกน ยืนยันอีกครั้งหนึ่งในการแถลงข่าวที่งานมหกรรมยานยนต์ฟรังค์ฟวร์ทครั้งล่าสุดเมื่อกลางเดือนกันยายนที่ผ่านมา ในเจตนารมณ์ที่จะเป็นผู้นำตลาดทางด้าน E-MOBILITY ซึ่งน่าแปลเป็นภาษาไทยอย่างตรงตัวได้ว่า "การเคลื่อนจากที่หนึ่งไปยังอีกที่หนึ่งด้วยพลังงานไฟฟ้า"
เขาประกาศอย่างเปิดเผยว่า ในเบื้องต้น คือ ภายในปี 2014 นี้ โฟล์คสวาเกน และผู้ผลิตรถยนต์ในเครือข่ายจะมีรถรวม 14 โมเดลที่ขับเคลื่อนด้วยพลังไฟฟ้า หรือด้วยระบบไฮบริด และหากมีความเพียงพอ ตัวเลขนี้ก็สามารถเพิ่มเป็น 40 เขากล่าวย้ำด้วยว่า ขณะนี้โฟล์คสวาเกน ได้วาง E-MOBILITY ไว้ตรงจุดศูนย์กลางของกลุ่ม มีการว่าจ้างผู้ชำนาญการด้านนี้ถึง 400 คน รวมทั้งให้การฝึกอบรมและพัฒนาบุคลากรเกือบ 70,000 คน เพื่อรับมือกับเทคโนโลยีใหม่นี้
ตัวเลขดังกล่าวข้างต้นน่าจะสะท้อนให้เห็นได้อย่างชัดเจน ในความเอาจริงเอาจังของผู้ผลิตรถยนต์ยักษ์ใหญ่ ที่ในแต่ละปีจะใช้เงินก้อนโตในงานวิจัยและพัฒนา คือ มากกว่า 7,000 ล้านยูโร หรือมากกว่า 300,000 ล้านบาทไทย ส่วนหนึ่งของเงินจำนวนนี้และเป็นเงินก้อนใหญ่กว่าส่วนอื่นๆ เป็นเงินที่ใช้ในการพัฒนาเทคโนโลยี และชิ้นส่วนสำหรับ E-MOBILITY ยานพาหนะที่น่าจะมีส่วนอย่างสำคัญในการลดปริมาณคาร์บอนไดออกไซด์ และช่วยสร้างโลกสีเขียว
ในตลาดยุโรปขณะนี้ กลุ่ม โฟล์คสวาเกน มีรถอยู่ 420 โมเดล ที่ปล่อยคาร์บอนไดออกไซด์จากปลายท่อไอเสียสูงสุดไม่เกิน 130 กรัม/กม. มี 302 โมเดล ที่ปล่อยสูงสุดไม่เกิน 120 กรัม/กม. มี 50 โมเดลที่ปล่อยไม่เกิน 100 กรัม/กม. และมีอยู่รวม 23 โมเดลที่ปล่อยคาร์บอนไดออกไซด์ 95 กรัม/กม. หรือน้อยกว่า หนึ่งในจำนวนนั้นก็คือรถไฮบริด โฟล์คสวาเกน เอกซ์แอล 1 (VOLKSWAGEN XL1) ที่เพิ่งผ่านตาไป
นอกจาก โฟล์คสวาเกน อี-อัพ ! (VOLKSWAGEN E-UP!) ที่กล่าวไปแล้ว รถไฟฟ้าอีกแบบหนึ่งที่ยักษ์ใหญ่ของเมืองเบียร์นำออกอวดตัวแบบ WELTPREMIER หรือ "ครั้งแรกในโลก" ที่งานมหกรรมยานยนต์ฟรังค์ฟวร์ทครั้งล่าสุด คือ รถเก๋งแฮทช์แบคติดป้ายชื่อ โฟล์คสวาเกน อี-กอล์ฟ (VOLKSWAGEN E-GOLF) ที่กำลังอวดโฉมอยู่นี้
เช่นเดียวกับรถไฟฟ้า โฟล์คสวาเกน อี-อัพ ! รถไฟฟ้าแบบที่ 2 นี้ไม่ใช่รถที่ออกแบบและทำขึ้นใหม่ทั้งคัน หากเป็นรถที่พัฒนาจากรถ โฟล์คสวาเกน กอล์ฟ (VOLKSWAGEN GOLF) ซึ่งมีอยู่แล้วในสายการผลิต และการเปลี่ยนแปลงประการสำคัญไม่ได้อยู่ที่ตัวถังหรืออุปกรณ์ประกอบอื่นใด หากเป็นการเปลี่ยนระบบขับ จากขับด้วยเครื่องยนต์สันดาปภายใน ซึ่งมีทั้งเครื่องเบนซินและเครื่องดีเซล เป็นขับด้วยพลังไฟฟ้าล้วนๆ
ระบบขับด้วยพลังไฟฟ้าใน โฟล์คสวาเกน อี-กอล์ฟ ซึ่งมีค่าสัมประสิทธิ์แรงต้านอากาศ 0.281 ไม่มีอะไรวิจิตรพิสดารกว่าระบบที่ใช้ในรถ โฟล์คสวาเกน อี-อัพ ! ที่ต่างกันก็คืออุปกรณ์ต่างๆ มีขนาดโตกว่าให้พลังงานสูงกว่า กล่าวคือ มอเตอร์ไฟฟ้าที่ติดตั้งอยู่หน้ารถ เป็นมอเตอร์ขนาด 85 กิโลวัตต์/115 แรงม้า ที่ค่ายนี้ออกแบบ/พัฒนาขึ้นเอง มีรอบสูงถึง 12,000 รตน. และให้แรงบิด 270 นิวตัน-เมตร (27.6 กก.-ม.) ตั้งแต่รอบแรกของการหมุน ส่วนแบทเตอรีเพื่อป้อนพลังไฟ เป็นแบทเตอรีลิเธียม-ไอออนขนาด 24.2 กิโลวัตต์ชั่วโมงที่มีน้ำหนักตัว 318 กก. และใช้เวลาค่อนข้างยาว คือ ประมาณ 13 ชั่วโมง เมื่อประจุไฟด้วยไฟบ้าน 230 โวลท์
ภายหลังการประจุไฟเต็มร้อย รถจะวิ่งได้ไกล 130-190 กม. สามารถทำอัตราเร่ง 0-100 กม./ชม. ใน 10.4 วินาที ทำความเร็วสูงสุด 140 กม./ชม. (จำกัดด้วยระบบอีเลคทรอนิค) มีอัตราสิ้นเปลืองพลังไฟโดยเฉลี่ย 12.7 กิโลวัตต์ชั่วโมง หรือหน่วย/100 กม. เมื่อคำนวณจากค่าไฟฟ้าของเมืองเบียร์ซึ่งมีราคาแพงกว่าไฟฟ้าในบ้านเรา คือ 0.258 ยูโร หรือประมาณ 11 บาท/หน่วย ดังที่กล่าวไปแล้ว ก็จะได้อัตราสิ้นเปลืองเท่ากับประมาณ 1.40 บาท/กม.
มีกำหนดออกโชว์รูมในฤดูใบไม้ผลิของปี 2014 ส่วนค่าตัว ขณะนี้ยังไม่มีการยืนยันตัวเลข
ไฮบริดสุดหรูดูได้ที่โลโก
MERCEDES-BENZ S 500 PLUG-IN HYBRID
เมื่อตอนหัวค่ำของวันพุธที่ 15 พฤษภาคม 2013 เจ้าของเครื่องหมายการค้า "ดาวสามแฉก" สร้างข่าวใหญ่ โดยการนำรถสุดหรู เมร์เซเดส-เบนซ์ เอส-คลาสส์ (MERCEDES-BENZ S-CLASS) รุ่นใหม่ล่าสุดออกอวดตัวต่อสายตาสาธารณชนแบบ "ครั้งแรกในโลก" เป็นงานเปิดตัวที่ดูฟู่ฟ่าอลังการ และเรียกความสนใจจากผู้คนได้เป็นอย่างดี เพราะเป็นการเปิดตัวเคียงคู่กับแอร์บัส เอ 380 (AIRBUS A380) เครื่องบินโดยสารขนาดใหญ่ที่สุดในโลก และสถานที่คือโรงงานของแอร์บัสซึ่งตั้งอยู่ในเมืองฮัมบวร์ก
นอกจากเทคโนโลยีก้าวล้ำนำยุคสารพัดรายการ ที่ค่าย "ดาวสามแฉก" บรรจุไว้อย่างเต็มพิกัดแล้ว จุดดึงดูดความสนใจของรถสุดหรูค่าตัวแพงรุ่นใหม่นี้อยู่ที่ว่า ในวันแรกที่ออกจำหน่ายก็มีรถไฮบริดให้ลูกค้าเงินถุงเงินถังสตางค์แยะเลือกใช้แล้วถึง 2 โมเดล คือ MERCEDES-BENZ S 400 HYBRID ในตัวถังฐานล้อสั้นซึ่งติดป้ายค่าตัว 85,204 ยูโร หรือประมาณ 3.66 ล้านบาทไทย และรถชื่อเดียวกันในตัวถังฐานล้อยาวซึ่งติดป้ายค่าตัว 91,095 ยูโร หรือประมาณ 3.92 ล้านบาทไทย รถไฮบริดคู่นี้ติดตั้งระบบขับไฮบริดชนิดไม่ต้องเสียบปลั๊กเพื่อชาร์จไฟ ซึ่งใช้เครื่องยนต์เบนซินฉีดตรง DOHC วี 6 สูบ 3,498 ซีซี 225 กิโลวัตต์/306 แรงม้า ทำงานร่วมกับมอเตอร์ไฟฟ้า 20 กิโลวัตต์/27 แรงม้า และแบทเตอรีลิเธียม-ไอออน (LITHIM-ION) ได้กำลังสุทธิสูงสุด 245 กิโลวัตต์/333 แรงม้า และถ่ายทอดกำลังสู่ล้อคู่หลังผ่านระบบเกียร์อัตโนมัติ 7 จังหวะ 7G-TRONIC PLUS
เท่านั้นยังไม่หนำใจยักษ์ใหญ่ของเมืองเบียร์ ที่งานมหกรรมยานยนต์ฟรังค์ฟวร์ทครั้งล่าสุดซึ่งมีขึ้นเมื่อกลางเดือนกันยายนที่ผ่านมานี่เอง คนรักรถเงินถุงเงินถังสตางค์แยะและคนรักสีเขียวก็ได้ชื่นอกชื่นใจกันอีกครั้ง เมื่อค่าย "ดาวสามแฉก" นำรถติดป้ายชื่อ MERCEDES-BENZ S 500 PLUG-IN HYBRID ออกอวดตัวแบบ WELTPREMIERE หรือ "ครั้งแรกในโลก" พร้อมประกาศว่า หากอยากได้ไว้เป็นเจ้าของก็ขอให้รอปีหน้า แต่ไม่ยอมบอกว่าเดือนอะไรของปีหน้า ?
เป็นรถไฮบริดซึ่งแตกต่างจากรถไฮบริดทุกรุ่นทุกแบบที่ค่ายนี้เคยทำขายมาก่อน เนื่องจากติดตั้งระบบขับไฮบริดชนิดต้องมีการเสียบปลั๊กเพื่อชาร์จไฟแบทเตอรี อย่างที่เรียกกันในภาษารถยนต์และเป็นที่มาของชื่อรถรุ่นนี้ว่า PLUG-IN HYBRID เป็นระบบที่ค่าย "ดาวสามแฉก" ออกแบบ/พัฒนาขึ้นใหม่ โดยใช้เครื่องยนต์เทอร์โบเบนซินฉีดตรง DOHC วี 6 สูบ 3.0 ลิตร 245 กิโลวัตต์/333 แรงม้า ทำงานร่วมกับมอเตอร์ไฟฟ้า 80 กิโลวัตต์/109 แรงม้า ซึ่งได้พลังไฟจากแบทเตอรีลิเธียม-ไอออน (LITHIUM-ION) มีเต้าเสียบปลั๊กไฟติดตั้งอยู่ตรงมุมขวาของกันชนท้าย เป็นระบบขับที่มีโหมดการทำงานให้เลือกใช้ถึง 4 แบบ คือ HYBRID ซึ่งมอเตอร์ไฟฟ้าจะร่วมกันทำงานกับเครื่องยนต์ E-MODE ซึ่งจะใช้มอเตอร์ไฟฟ้าเพียงอย่างเดียว E-SAVE ซึ่งไม่ใช้พลังไฟของแบทเตอรีที่ประจุไว้เต็มร้อย เพื่อสงวนไว้ใช้ในภายหลังกับการขับขี่โดยไม่ใช้เครื่องยนต์ และ CHARGE ซึ่งรถจะวิ่งไปด้วยและประจุไฟเข้าแบทเตอรีไปด้วย
ที่เหนือชั้นกว่ารถไฮบริดแบบอื่นๆ ของค่ายนี้ก็คือ มีการติดตั้งระบบบริหารจัดการพลังงานซึ่งเรียกชื่อเป็นภาษาอังกฤษว่า ANTICIPATORY ENERGY MANAGEMENT SYSTEM ไว้ด้วย ระบบนี้จะใช้ข้อมูลจากระบบนำทางด้วยดาวเทียมตรวจวัดสภาพถนนไว้ล่วงหน้าถึง 8 กม. แล้วปรับการทำงานของระบบขับไฮบริดเพื่อให้ได้ประสิทธิผลสูงสุด ตัวอย่างเช่น เมื่อพบว่าเบื้องหน้าเป็นทางลงเขา ก็จะใช้พลังไฟของแบทเตอรีอย่างเต็มที่ไว้ก่อน แล้วค่อยประจุไฟกลับคืนด้วยวิธี RECUPERATION เมื่อขับรถลงเขา
ตามตัวเลขของยักษ์ใหญ่เมืองเบียร์ รถไฮบริดชนิดต้องเสียบปลั๊กเพื่อชาร์จไฟรุ่นนี้ สามารถทำอัตราเร่ง 0-100 กม./ชม. ใน 5.5 วินาที ทำความเร็วสูงสุด 250 กม./ชม. มีอัตราสิ้นเปลืองเชื้อเพลิงเฉลี่ย 3.0 ลิตร/100 กม. หรือ 33.3 กม./ลิตร ปล่อยคาร์บอนไดออกไซด์แค่ 69 กรัม/กม. และเมื่อวิ่งด้วยพลังไฟเพียงอย่างเดียวจะไปได้ไกลประมาณ 30 กม. ส่วนสนนราคาค่าตัว คงต้องรอปีหน้า
รถพันธุ์ใหม่ของค่ายใบพัด
BMW I3
เมื่อเปรียบเทียบกับผู้ผลิตรถยนต์สัญชาติเยอรมันด้วยกันแล้ว ก็น่าจะฟันธงได้เลยว่า เจ้าของเครื่องหมายการค้า "ใบพัดเครื่องบินสีฟ้าขาว" ไม่น้อยหน้าใครเลย เมื่อพูดคุยกันในเรื่องรถพลังงานทดแทน ไม่ว่าจะเป็นรถไฮบริดหรือรถที่ขับด้วยพลังไฟฟ้าล้วนๆ ยังจำกันได้ไหม ? เมื่อไม่กี่ปีที่ผ่านมานี้ เคยมีรถ บีเอมดับเบิลยู ซีรีส์-7 อยู่รุ่นหนึ่ง ที่สามารถใช้แกสไฮโดรเจนเป็นเชื้อเพลิง เป็นรถติดป้ายชื่อ BMW HYDROGEN 7 ซึ่งผลิตขายในจำนวนจำกัดเพียง 100 คัน เพื่อทดสอบเทคโนโลยีใหม่ ที่น่าเสียดายก็คือ ดูจะเป็นการทดสอบที่ไม่ให้ผลลัพธ์ในทางบวกอย่างที่หวัง เพราะระยะหลังๆ นี่ ไม่มีข่าวคราวเกี่ยวกับรถพลังไฮโดรเจนจากค่ายนี้อีกเลย
นอกจากรถไฮโดรเจนรุ่นที่ว่านี่แล้ว ย่างก้าวหนึ่งที่ค่าย "ใบพัดเครื่องบินสีฟ้าขาว" เดินนำหน้าผู้ผลิตรถยนต์สัญชาติเยอรมันรายอื่นๆ เมื่อประมาณ 2 ปีที่ผ่านมานี้ มีการสร้าง SUB-BRAND หรือยี่ห้อรอง บีเอมดับเบิลยู ไอ (BMW I) ที่ค่ายนี้จะใช้กับรถพลังงานทดแทนโดยเฉพาะ ไม่ว่าจะเป็นรถไฮบริดที่ยังจำเป็นต้องใช้เชื้อเพลิงจากซากสัตว์ดึกดำบรรพ์ หรือรถไฟฟ้าที่ไม่ต้องพึ่งพาน้ำมันเบนซินหรือดีเซลอีกแล้ว และรถติดป้ายชื่อ BMW I3 ซึ่งกำลังอวดตัวอยู่ในขณะนี้ ก็คือรถพลังงานทดแทนแบบแรก ที่เพิ่งออกตลาดพร้อมกับ SUB-BRAND หรือยี่ห้อรองดังกล่าว
ยักษ์ใหญ่ของเมืองเบียร์เปิดตัวรถแบบนี้เป็นการภายในเมื่อตอนปลายเดือนกรกฎาคม 2013 โดยจัดงานพร้อมๆ กันใน 3 เมืองสำคัญ คือ กรุงลอนดอนของอังกฤษ มหานครนิวยอร์คของสหรัฐอเมริกา กรุงปักกิ่งของสาธารณรัฐประชาชนจีน และต้องรอจนถึงกลางเดือนกันยายนนั่นแหละ ผู้คนทั่วไปจึงมีโอกาสสัมผัสรถแบบนี้ เมื่อยอดผู้ผลิตรถหรูของเมืองเบียร์นำออกอวดตัวในงานมหกรรมยานยนต์ฟรังค์ฟวร์ท
เป็นรถไฟฟ้าที่เริ่มต้นการออกแบบด้วยกระดาษเปล่าและหน้าจอเปล่า ไม่ใช่นำรถเครื่องยนต์เบนซินหรือดีเซลมาดัดแปลงเป็นรถไฟฟ้าเหมือนรถไฟฟ้าบางแบบ ตัวถังยาว 3.999 ม. กว้าง 1.775 ม. และสูง 1.578 ม. ซึ่งออกแบบให้นั่งได้รวม 4 คน มีค่าสัมประสิทธิ์แรงต้านอากาศ 0.28-0.29 และมีโครงสร้างส่วนที่เป็นห้องโดยสารทำจาก CFRP หรือ CARBON FIBRE REINFORCED PLASTIC ซึ่งเป็นวัสดุสังเคราะห์มวลเบาแต่แข็งแรง คือ แข็งแรงเพียงพอที่จะออกแบบประตูข้างอย่างที่เห็นในภาพ คือ เป็นประตูที่เปิดแยกจากกันโดยไม่มีเสาค้ำยันกลาง การเข้าออกรถของผู้โดยสารบนเบาะหลังจึงทำได้สะดวก แม้ว่าพื้นที่ดูจะคับและแคบไปหน่อย ทดลองนั่งดูแล้วปรากฏว่าเข่าเบียดพนักพิงของเบาะหน้า ทั้งๆ ที่ตัวก็ไม่ได้สูงเหมือนฝรั่ง
ระบบขับด้วยพลังไฟฟ้าล้วนๆ ใช้มอเตอร์ไฟฟ้าขนาด 125 กิโลวัตต์/170 แรงม้า ที่ค่ายนี้ผลิตเอง มีน้ำหนักตัวแค่ 50 กก. และติดตั้งอยู่บนโครงอลูมิเนียมเหนือเพลาหลัง อุปกรณ์ป้อนพลังไฟเป็นแบทเตอรีลิเธียม-ไอออน (LITHIUM-ION) ขนาด 360 โวลท์ 22 กิโลวัตต์ชั่วโมงของ SAMSUNG ซึ่งมีน้ำหนักตัว 230 กก. และวางราบอยู่กับพื้นรถ การประจุไฟแต่ละครั้งด้วยไฟบ้านจะใช้เวลาประมาณ 8 ชั่วโมง แต่จะลดเหลือเพียง 30 นาที เมื่อใช้วิธีประจุด่วนซึ่งได้ปริมาณไฟร้อยละ 80 ส่วนระบบเกียร์เพื่อส่งทอดกำลังสู่ล้อคู่หลังเป็นเกียร์อัตโนมัติจังหวะเดียว ระบบขับดังกล่าวนี้ มีโหมดการขับให้เลือกได้ 3 แบบ คือ COMFORT-ECO PRO-ECO PRO PLUS
ตามตัวเลขของผู้ผลิต รถไฟฟ้าค่าตัว 34,950 ยูโรแบบนี้ สามารถทำอัตราเร่ง 0-100 กม./ชม. ใน 7.2 วินาที และความเร็วสูงสุด 150 กม./ชม. ส่วนพิสัยการเดินทาง เมื่อเลือกใช้โหมดการขับ ECO PRO PLUS ซึ่งจำกัดความเร็วไว้ที่ 80 กม./ชม. รถจะวิ่งได้ไกลที่สุด คือประมาณ 200 กม. ถ้ายังไม่พอใจเพราะขี้เกียจประจุไฟบ่อยๆ ก็มีทางเลือกแต่ต้องยอมจ่ายเงินเพิ่มอีก 4,500 ยูโร โดยเลือกใช้รถโมเดลพิเศษที่ติดตั้งเครื่องยนต์เบนซิน DOHC 2 สูบเรียง 647 ซีซี 25 กิโลวัตต์/34 แรงม้า และถังเชื้อเพลิงจุ 9 ลิตรไว้ด้วย เครื่องยนต์นี้ไม่ได้ขับล้อ แต่ทำหน้าที่เป็น RANGE EXTENDER หรือ "ตัวยืดระยะทาง" คือ ปั่นไฟเข้าแบทเตอรี ช่วยยืดพิสัยการเดินทางเป็นประมาณ 340 กม.
รถสปอร์ทยุคลมหายใจไร้มลทิน
BMW I8
ในอดีตเมื่อคนรักรถเงินถุงเงินถังสตางค์แยะสักคน ตั้งใจจะซื้อรถสปอร์ทสักคัน นอกจากยี่ห้อรถแล้ว ปัจจัยสำคัญอีก 2 ปัจจัยที่ต้องนำมาพิจารณาในการตัดสินใจก็คือ หน้าตา/รูปทรงองค์เอวของตัวรถและสมรรถนะการขับขี่ สื่อโฆษณาประชาสัมพันธ์ชักชวนให้ซื้อรถประเภทนี้จึงเน้นหนักในเรื่องตัวเลขของความเร็ว ส่วนคุณสมบัติอื่นๆ เช่น อัตราสิ้นเปลืองเชื้อเพลิง และคุณภาพของไอเสียดูจะเป็นเรื่องรอง เพราะไม่ใช่เรื่องที่อยู่ในความสนใจผู้มีเงินมากพอจะซื้อรถระดับนี้
แต่ยุคนี้นอกจาก 2 ปัจจัยที่กล่าวข้างต้นแล้ว ยังมีเรื่องสำคัญอีกเรื่องหนึ่งที่ผู้ผลิตรถสปอร์ททุกๆ ราย จำเป็นต้องเอาชนะให้ได้ หรืออย่างน้อยก็ต้องไม่แพ้ นั่นคือสารพัดสิ่งสารพัดอย่างที่ส่งผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมและลมหายใจของมนุษย์ รถสปอร์ท บีเอมดับเบิลยู ไอ 8 (BMW I8) ที่เลือกมาให้ชื่นชมกันในเดือนนี้ เป็นตัวอย่างหนึ่งที่แสดงให้เห็นได้ชัดว่า หากพยายามกันอย่างจริงๆ จังๆ ไม่ใช่พยายามแต่ปากเหมือนผู้นำรัฐบาลในประเทศด้อยพัฒนาบางประเทศที่ประกาศปาวๆ ว่าจะลดปัญหาการฉ้อราษฎร์บังหลวงแล้ว การลดผลกระทบในทางลบต่อสิ่งแวดล้อมก็ไม่ใช่เรื่องเหลือบ่ากว่าแรงของผู้ผลิตรถสปอร์ท
เป็นผลงานอีกชิ้นหนึ่งที่กำลังจะออกสู่โชว์รูมพร้อมกับ SUB-BRAND หรือยี่ห้อรอง BMW I อวดตัวเป็นครั้งแรกเมื่อ 3-4 ปีก่อนในฐานะรถแนวคิด และปรากฏตัวครั้งล่าสุดที่งานมหกรรมยานยนต์ฟรังค์ฟวร์ทเมื่อกลางเดือนกันยายนที่ผ่าน คราวนี้เป็นรถตลาดสมบูรณ์แบบ หน้าตาและรูปทรงองค์เอวอย่างนี้ หากไม่อธิบายละเอียดใดๆ บอกแต่เพียงว่า มีอัตราสิ้นเปลืองเชื้อเพลิงเฉลี่ย 40 กม./ลิตร และปล่อยคาร์บอนไดออกไซด์แค่ 25 กรัม/กม. จะมีคนเชื่อไหม ?
เป็นรถสปอร์ทขับเคลื่อนทุกล้อด้วยระบบ PLUG-IN HYBRID หรือไฮบริดชนิดต้องมีการเสียบปลั๊กเพื่อชาร์จไฟ ตัวถังยาว 4.689 ม. กว้าง 1.942 ม. และสูง 1.293 ม. ที่มีค่าสัมประสิทธิ์แรงต้านอากาศ 0.26 และนั่งได้ 2+2 คน ก็เป็นผลลัพธ์ของการออกแบบที่วิจิตรพิสดารไม่แพ้ระบบขับ เป็นตัวถังน้ำหนัก คือ มี UNLADEN WEIGHT หรือน้ำหนักรถเปล่าซึ่งยังไม่ได้เติมเชื้อเพลิงต่ำกว่า 1,490 กก. ทั้งนี้ และทั้งนั้น ก็เนื่องจากชิ้นส่วนตัวถังมากมายโดยเฉพาะส่วนที่เป็นห้องโดยสารล้วนทำจาก CFRP หรือ CARBON FIBRE REINFORCED PALASTIC วัสดุสังเคราะห์มวลเบาและแข็งแรง ที่ผ่านการพิสูจน์มาแล้วว่า ช่วยลดน้ำหนักได้ถึงร้อยละ 50 เมื่อเทียบกับชิ้นส่วนเหล็กกล้า และร้อยละ 30 เมื่อเทียบกับชิ้นส่วนอลูมิเนียม ที่น่าสังเกตและไม่เล่าสู่กันฟังไม่ได้ก็คือ เป็นตัวถังที่บรรจุสิ่งที่เป็น WORLD'S FIRST หรือ "สิ่งแรกในโลก" ไว้หลายรายการ ตัวอย่าง คือ เป็นรถตลาดแบบแรกของโลกที่ติดตั้งกระจกซึ่งเพิ่มความแข็งแรง ด้วยกระบวนการทางเคมีอย่างที่เรียกกันในภาษาอังกฤษว่า CHEMICALLY HARDENED GLASS และนิยมใช้กันอยู่ในขณะนี้กับโทรศัพท์สมาร์ทโฟน กับเป็นรถตลาดแบบแรกของโลกที่มีไฟหน้าแบบไฟเลเซอร์เป็นออพชันพิเศษให้เลือกใช้ด้วย
ระบบขับทุกล้อแบบไฮบริดชนิดต้องเสียบปลั๊กเพื่อชาร์จไฟที่กล่าวข้างต้น ซึ่งมีลักษณะการขับให้กดปุ่มเลือกใช้ได้ 3 โหมด คือ COMFORT-ECO PRO-S{ORT ใช้เครื่องเทอร์โบเบนซินฉีดเชื้อเพลิงโดยตรง DOHC 3 สูบเรียง 1499 ซีซี 170 กิโลวัตต์//231 แรงม้า ขับล้อคู่หลัง โดยส่งกำลังผ่านระบบเกียร์อัตโนมัติ 6 จังหวะ และใช้มอเตอร์ไฟฟ้า 96 กิโลวัตต์/131 แรงม้า ซึ่งได้พลังไฟจากแบทเตอรีลิเธียม-ไอออน (LITHIUM-ION) ขับล้อคู่หน้า เป็นแบทเตอรีขนาด 5 กิโลวัตต์ชั่วโมง ติดตั้งอยู่ตรงกลางใต้พื้นรถ สามารถประจุไฟด้วยไฟบ้านโดยใช้เวลาเพียงประมาณ 3 ชั่วโมงเท่านั้นเอง
ตามตัวเลขของผู้ผลิต รถสปอร์ทไฮบริดติดประตูปีกนกแบบนี้สามารถทำอัตราเร่ง 0-100 กม./ชม. ใน 4.4 วินาที ส่วนความเร็วสูงสุดจำกัดไว้ที่ 250 กม./ชม. เมื่อเติมเชื้อเพลิงเต็มถังแบทเตอรีไฟเต็มและเลือกลักษณะการทำงานแบบ COMFORT จะไปได้ไกลกว่า 500 กม. ถ้าไม่อยากเปลืองเชื้อเพลิง ให้รถวิ่งด้วยพลังไฟฟ้าล้วนๆ ก็จะไปได้ไกลประมาณ 35 กม. แต่ความเร็วสูงสุดจะเหลือแค่ 120 กม./ชม.
รถไฮบริดติดตราสี่ห่วง
AUDI A3 SPORTBACK E-TRON
แม้ว่าผู้ใช้รถเริ่มรู้จักรถไฮบริดกันมากขึ้น มีรถไฮบริดให้เลือกใช้มากมายหลายยี่ห้อหลายแบบหลายรุ่นและหลากหลายระดับราคา รวมทั้งมีรถไฮบริดชนิดต้องมีการเสียบปลั๊กเพื่อชาร์จไฟซึ่งสามารถวิ่งด้วยพลังไฟล้วนๆ แต่ก็ยังมีผู้ชำนาญการบางคนที่ไม่อาจเชื่อได้อย่างสนิทใจ ว่าส่วนแบ่งของรถประเภทนี้จะเพิ่มขึ้นรวดเร็วราวจรวดอย่างที่ผู้ชำนาญการอีกบางคนเชื่อมั่นกัน
อ่านพบในนิตยสารรถยนต์ฉบับที่กล่าวในตอนต้นเช่นกัน รายงานความเห็นของผู้เชี่ยวชาญทางเทคนิคผู้หนึ่งที่มีบทบาทอย่างสำคัญในการผลิตและจำหน่ายรถไฮบริดในตลาดอเมริกาเหนือ กล่าวอย่างตรงไปตรงมาไม่อ้อมค้อมรถที่ว่านี้ก็คือ โตโยตา ปรีอุส (TOYOTA HYBRID) เขายกกรณีของรัฐแคลิฟอร์เนียขึ้นมาเป็นกรณีศึกษา รัฐนี้ตั้งเป้าหมายว่า ภายในปี 2025 ร้อยละ 15 ของรถที่ขายจะเป็นรถไฮบริดชนิดต้องเสียบปลั๊กเพื่อชาร์จไฟ หรือรถแบบใดๆ ที่มีค่าไอพิษเป็น 0 "นั่นคือ 13 ปีนับจากนี้" เขาว่า "เมื่อเทียบกับรถไฮบริดยุคแรกๆ ภายใน 13 ปี ในแคลิฟอร์เนียเราทำได้ร้อยละ 6 และทั่วทั้งสหรัฐ ฯ เราทำได้เพียงร้อยละ 3.5" เขาให้ความเห็นว่า ความพยายามเพื่อบรรลุเป้าหมายดังกล่าวนี้เป็นงานที่น่ากังวลมาก โดยเฉพาะเมื่อพิจารณาจากความเป็นจริงที่ว่ารถเทคโนโลยีสูงประเภทนี้ยังมีราคาแพง ผู้ใช้รถต้องเปลี่ยนพฤติกรรม รวมทั้งต้องใช้เวลานานมากในการเติมพลังไฟเมื่อเทียบกับเวลาที่ใช้ในการเติมเชื้อเพลิงแบบเดิม
รถพลังงานทดแทนอีกแบบหนึ่งที่เลือกมาให้ชื่นชมกันในเดือนนี้ ก็เป็นรถใหม่ที่เพิ่งอวดตัวแบบ "ครั้งแรกในโลก" ในงานมหกรรมยานยนต์ฟรังค์ฟวร์ทครั้งล่าสุดเช่นเดียวกัน เป็นงานของค่าย "สี่ห่วง" ผู้ผลิตรถยนต์รายหนึ่งในจำนวนหลายรายที่อยู่ในเครือข่ายของยักษ์ใหญ่ VOLKSWAGEN GROUP เป็นรถที่ปรากฏตัวพร้อมกับป้ายชื่อ เอาดี เอ 3 สปอร์ทแบค อี-ทรอน (AUDI A3 SPORTBACK E-TRON) เมื่อเห็นเป็นครั้งแรกในงานที่ว่า จึงเข้าใจว่าเป็นรถไฟฟ้า ซึ่งเป็นการเข้าใจผิด เมื่อศึกษาอย่างละเอียดจากข้อมูลจำเพาะ จึงทราบว่าไม่ใช่รถไฟฟ้า แต่เป็นรถไฮบริดชนิดต้องเสียบปลั๊กเพื่อชาร์จไฟ
เช่นเดียวกับรถไฮบริดอีกหลายคันที่นำเรื่องราวมาเล่าสู่กันฟังในเดือนนี้ เอาดี เอ 3 สปอร์ทแบค อี-ทรอน ไม่ใช่รถไฮบริดที่ออกแบบขึ้นใหม่ทั้งคัน แต่พัฒนาจากรถติดป้ายชื่อ เอาดี เอ 3 สปอร์ทแบค (AUDI A3 SPORTBACK) รุ่นปัจจุบัน ซึ่งเพิ่งออกจำหน่ายในเมืองเบียร์เมื่อเดือนกุมภาพันธ์ของปีงูเล็กนี้ รถแบบดังกล่าวมีเครื่องยนต์ให้เลือกใช้ถึง 7 ขนาด มีทั้งเครื่องเบนซินและเครื่องเบนซิน ส่วนระบบเกียร์เลือกได้ระหว่างเกียร์ธรรมดา 6 จังหวะ กับเกียร์อัตโนมัติ 7 จังหวะ S TRONIC
ตัวถัง 5 ประตูแฮทช์แบค 5 ที่นั่ง ยาว 4.310 ม. กว้าง 1.785 ม. และสูง 1.424 ม. ของ เอาดี เอ 3 สปอร์ทแบค อี-ทรอน ติดตั้งระบบ PLUG-IN HYBRID หรือระบบไฮบริดชนิดต้องเสียบปลั๊กเพื่อใช้ ที่มีอัตราสิ้นเปลืองเชื้อเพลิงแค่ 1.5 ลิตร/100 กม. หรือ 66.7 กม./ลิตร และปล่อยคาร์บอนไดออกไซด์เพียง 35 กรัม/กม. เป็นระบบไฮบริดขับล้อหน้าซึ่งใช้เครื่องยนต์เทอร์โบเบนซินฉีดเชื้อเพลิงโดยตรง DOHC 4 สูบเรียง 1,395 ซีซี 110 กิโลวัตต์/150 แรงม้า ทำงานร่วมกันกับมอเตอร์ไฟฟ้า 75 กิโลวัตต์/102 แรงม้า ที่ได้พลังไฟจากแบทเตอรีลิเธียม-ไอออน (LITHIUM-ION) ขนาด 8.8 กิโลวัตต์ ซึ่งมีน้ำหนักตัว 125 กก. และยึดติดอยู่กับพื้นรถ มีกำลังสุทธิสูงสุด 150 กิโลวัตต์/204 แรงม้า และถ่ายทอดกำลังผ่านระบบเกียร์อัตโนมัติคลัทช์คู่ 6 จังหวะ E-S TRONIC
สมรรถนะความเร็วตามตัวเลขของค่าย "สี่ห่วง" อัตราเร่ง 0-100 กม./ชม. ทำได้ใน 7.6 วินาที ความเร็วสูงสุด 222 กม./ชม. เมื่อแบทเตอรีไฟเต็มและเติมเชื้อเพลิงเต็มถังซึ่งจุ 40 ลิตร จะวิ่งได้ไกลประมาณ 940 กม. ถ้าขาดเงินเติมน้ำมันเชื้อเพลิงและวิ่งด้วยพลังไฟล้วนๆ จะไปได้ไกลประมาณ 50 กม. และจำกัดความเร็วสูงสุดไว้ที่ 130 กม./ชม. เพราะเปลืองไฟเกินไปหากวิ่งเร็วกว่านี้ จะออกขายในปี 2014 โดยติดป้ายค่าตัวเริ่มต้นที่ 37,000 ยูโร หรือเท่ากับประมาณ 1,591,000 บาทไทย
สปอร์ทไฮบริดพิชิตความเร็ว
PORSCHE 918 SPYDER
เมื่อ 5-6 ปีก่อน หากมีใครสักคนหล่นคำพูดจากริมฝีปากติดหนวดว่า "อีกไม่นานเราจะมีโอกาสได้นั่งรถสปอร์ทระดับซูเพอร์คาร์ที่เติมน้ำมันแค่ 3 ลิตรก็ยังวิ่งได้ไกลถึง 100 กิโล แถมยังปล่อยคาร์บอนไดออกไซด์แค่กิโลละ 70 กรัม" ก็คงต้องรีบหันไปดูว่ากำลังลืมตาหรือหลับตาพูด ? แต่วันนี้รถซึ่งมีคุณสมบัติอย่างที่เขาว่ามีแล้วจริงๆ
เป็นรถค่าตัวโคตระโหด คือ เอาค่าตัวของรถแบบอื่นอีก 7 คันที่ปรากฏตัวใน "ระเบียงรถใหม่" เดือนนี้มารวมกันแล้วเพิ่มเข้าไปอีกหนึ่งเท่าตัว ก็ยังซื้อรถคันนี้คันเดียวไม่ได้ อวดตัวให้เห็นเป็นครั้งแรกที่งานมหกรรมยานยนต์เจนีวาเมื่อต้นเดือนมีนาคม 2010 แต่ยังอยู่ในฐานะรถแนวคิด ส่วนตัวจริงเสียงจริงของรถที่กำลังจะเข้าสู่สายการผลิต เพิ่งได้เห็นกันเป็นครั้งแรก ก็ที่งานมหกรรมยานยนต์ฟรังค์ฟวร์ทในเยอรมนี เมื่อกลางเดือนกันยายนที่ผ่านมานี่เอง
เป็นรถสปอร์ทระดับ "ซูเพอร์คาร์" ติดตั้งระบบขับทุกล้อแบบไฮบริดชนิดต้องเสียบปลั๊กเพื่อชาร์จไฟ ที่ออกแบบด้วยเทคโนโลยีก้าวล้ำนำสมัย และไม่เคยพบเคยเห็นกัมาก่อนในรถตลาดแบบใดๆ ตัวถังยาว 4.643 ม. กว้าง 1.940 ม. และสูง 1.167 ม. ที่ออกแบบให้นั่งกันเพียง 2 คน และติดตั้งหลังคาแบบแข็งที่สามารถถอดเก็บไว้ใต้ฝากระโปรงหน้า มีน้ำหนักตัวรถเปล่า หรือ UNLADEN WEIGHT เพียง 1,634 กก. ซึ่งถือว่าเบามากสำหรับรถระดับนี้ ที่ทำได้ขนาดนี้ก็เนื่องจากชิ้นส่วนตัวถังทุกชิ้นล้วนผลิตจากวัสดุมวลเบา กล่าวคือ โมโนคอคและเปลือกตัวถังทำจากพลาสติคเสริมคาร์บอนไฟเบอร์ ซึ่งเรียกในภาษาอังกฤษว่า CFRP หรือ CARBON-FIBRE REINFORCED PLASTIC ส่วนแชสซีส์ทำจากอลูมิเนียมแมกนีเซียมและไททาเนียม
ถ้าเห็นว่า 1,634 กก. ยังเบาไม่พอก็มีทางเลือก แต่ต้องยอมให้เพิ่มค่าตัวรถจาก 768,026 เป็น 839,426 ยูโร คือ จากประมาณ 33.0 เป็น 36.1 ล้านบาทไทย คือ ติดตั้งชุดแต่งจากโรงงานซึ่งมีชื่อเรียกในภาษาอังกฤษว่า WEISSACH PERFORMANCE PACKAGE ชุดแต่งนี้จะมีการเปลี่ยนอุปกรณ์บางชิ้นเป็นวัสดุมวลเบา เช่น กระทะล้อแมกนีเซียม ฯลฯ ซึ่งส่งผลให้ลดน้ำหนักตัวได้ถึง 35 กก. จากรถมาตรฐาน
ส่วนระบบไฮบริดขับทุกล้อสุดไฮเทคที่กล่าวข้างต้น ใช้เครื่องเบนซิน DOHC วี 8 สูบ 4,593 ซีซี 447 กิโลวัตต์/608 แรงม้า ทำงานร่วมกับมอเตอร์ไฟฟ้า 2 ชุด ซึ่งให้กำลังรวม 210 กิโลวัตต์/286 แรงม้า แบทเตอรีลิเธียม-ไอออนขนาด 6.8 กิโลวัตต์ชั่วโมงซึ่งรับประกันอายุการใช้งานนาน 7 ปี และระบบเกียร์อัตโนมัติคลัทช์คู่ 7 จังหวะ เป็นระบบไฮบริดที่ให้กำลังสุทธิสูงสุด 652 กิโลวัตต์/887 แรงม้า (ตัวเลขที่ทำให้กล่าวได้ว่า นี่คือรถถนนที่ทรงพลังที่สุดในประวัติศาสตร์ของ โพร์เช) และมีโหมดการขับให้เลือกถึง 5 แบบ คือ E POWER-HYBRID-SPORT HYBRID-RACE HYBRID-HOT LAP
สมรรถนะความเร็วตามตัวเลขผู้ผลิต เมื่อกดปุ่มเลือกการขับแบบ E POWER ซึ่งรถจะวิ่งล้อหน้าด้วยพลังไฟฟ้าล้วนๆ อัตราเร่ง 0-100 กม./ชม. จะใช้เวลาต่ำกว่า 7.0 วินาที นิดหน่อย ทำความเร็วสูงสุด 150 กม./ชม. และวิ่งได้ไกล 16-31 กม. หากเปลี่ยนโหมดการขับเป็น RACE HYBRID คือ ใส่กันสุดๆ อัตราเร่ง 0-100 กม./ชม. จะทำได้ใน 2.8 วินาที อัตราเร่ง 0-200 กม./ชม. ทำได้ใน 7.7 วินาที และความเร็วสูงสุด คือ 345 กม./ชม. เป็นตัวเลขที่ทำให้กล่าวได้ด้วยเช่นกันว่า รถซึ่งจะผลิตเพียง 918 คันและมีแต่รถพวงมาลัยซ้ายแบบนี้ นอกจากทรงพลังที่สุดแล้ว ยังเป็นรถถนนที่เร็วที่สุดในประวัติศาสตร์ของค่าย โพร์เช อีกต่างหาก
ที่จำเป็นต้องบอกกล่าวกันไว้ด้วยก็คือ พร้อมๆ กับการเปิดตัวที่งานมหกรรมยานยนต์ฟรังค์ฟวร์ทดังที่กล่าวข้างต้น ก็มีการประกาศข่าวว่า โพร์เช 918 สไปเดอร์ ที่ขับโดยนักขับของโรงงาน เพิ่งสร้างสถิติขึ้นใหม่ คือ เป็นรถตลาดแบบแรกของโลกที่สามารถวิ่งครบรอบ NORDSCHLEIFE ซึ่งเป็นวงจรส่วนเหนือของสนามแข่งรถ นืร์บวร์กริง (NURBURGRING) อันโด่งดัง ในเวลาต่ำกว่า 7 นาที คือ ใช้เวลา 6 นาที 57 วินาที เป็นการทำลายสถิติเดิมที่ทำไว้โดยรถ DODGE VIPER SRT-10 ACR ถึง 15 วินาที
ABOUT THE AUTHOR
ช
ชูศักดิ์ ชมจินดา
นิตยสาร 399 ฉบับเดือน ธันวาคม ปี 2556
คอลัมน์ Online : ระเบียงรถใหม่