"สตูล" เป็นจังหวัดที่ไม่ได้มีดีแค่น้ำทะเลสวยใส และหาดทรายขาวของเกาะชื่อดังเท่านั้น บนแผ่นดินใหญ่ก็น่าสนใจไม่น้อย โดยเฉพาะด้านธรณีวิทยา เพราะเมื่อวันที่ 17 เมษายน 2561 ที่ผ่านมา องค์การยูเนสโก หรือองค์การการศึกษาวิทยาศาสตร์และวัฒนธรรมแห่งสหประชาชาติ ได้ประกาศให้ อุทยานธรณีสตูล (Satun Geopark) เป็นอุทยานธรณีโลก (Global Geopark) แห่งแรกในประเทศไทย ซึ่งเทียบได้กับมรดกโลก เนื่องจากค้นพบฟอสซิลดึกดำบรรพ์ครบทั้ง 6 ยุค "autoinfo.co.th" จะพาไปรู้จักอุทยานธรณีสตูล พร้อมสำรวจซากฟอสซิลภายในถ้ำดึกดำบรรพ์ล่องใต้ไปกับ เอมจี เซดเอส การเดินทางครั้งนี้ ผมถือโอกาสทดสอบสมรรถนะ เอมจี เซดเอส ระยะทางไกลไปในตัว เพราะอยากรู้ว่า รถครอสส์โอเวอร์ เอสยูวีซึ่งใช้เครื่องยนต์เพียง 1.5 ลิตร 114 แรงม้า เมื่อต้องเดินทางไกลกว่า 1,000 กม. จะยังให้ความรู้สึกสะดวกสบายอยู่หรือไม่ และสมรรถนะจะเป็นเช่นไร ตลอดระยะทางจากกรุงเทพฯ-สตูล พิสูจน์ให้เราเห็นว่า เอมจี เซดเอส ถูกเซทให้สามารถเดินทางไกลได้อย่างสบาย ช่วงล่างที่นุ่มนวลไปนิดในความเร็วต่ำ เวลาเดินทางด้วยความเร็วกว่า 100 กม./ชม. และเข้าโค้งแคบที่ความเร็วสูง รถกลับให้ความรู้สึกที่ดีมีเสถียรภาพ อย่างไม่น่าเชื่อ ถึงแม้ด้านพละกำลังช่วงออกตัว และยามเร่งแซงอาจไม่ทันใจอยู่บ้าง แต่ถ้าได้วิ่งทางตรงยาวแบบไม่รีบร้อนแล้วละก็ แม้ใช้ความเร็วเกิน 120 กม./ชม. เครื่องยนต์ก็ตอบสนองให้กำลังต่อเนื่องได้อย่างดี แม้จะใช้เกียร์อัตโนมัติเพียง 4 จังหวะ ฟอสซิล 6 ยุค ที่พิพิธภัณฑ์ทุ่งหว้า เรามาสตูลครั้งนี้ เพราะต้องการหาคำตอบว่า เหตุใดองค์การยูเนสโกจึงประกาศให้อุทยานธรณีสตูล เป็นอุทยานธรณีของโลก เราเดินทางไปยังพิพิธภัณฑ์ช้างดึกดำบรรพ์ทุ่งหว้า ภายในที่ทำการองค์การบริหารส่วนตำบลทุ่งหว้า (ตรงข้ามกับที่ว่าการอำเภอทุ่งหว้า) เป็นอาคารขนาดไม่ใหญ่นัก ภายในจัดแสดงการเสด็จมาเยือนสตูล ถึง 4 ครั้งของพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช รัชกาลที่ 9 รวมถึงเรื่องช้างต้นคู่พระบารมีของพระเจ้าอยู่หัว รวมถึงประวัติความเป็นมาของอำเภอทุ่งหว้า ส่วนพื้นที่จัดแสดงเกี่ยวกับยุคดึกดำบรรพ์ มีการจัดแสดงขวานหินของมนุษย์โบราณ ช้างดึกดำบรรพ์ในประเทศไทย และช้างดึกดำบรรพ์ที่พบในสตูล ที่น่าสนใจ คือ "ฟันช้างสเตโกดอน" ซึ่งเก่าแก่กว่าช้างแมมมอธ ที่อยู่ในยุคน้ำแข็งเมื่อ 20,000 ปีก่อนเสียอีก ช้างสเตโกดอน อยู่ในยุคพไลสโตซีน (Pleistocene) มีอายุประมาณ 1.8-0.01 ล้านปี ที่สำคัญถูกค้นพบในถ้ำวังกล้วย หรือถ้ำเลสเตโกดอน ในปัจจุบัน โดยชาวบ้านที่เข้าไปหากุ้งหาปลาในถ้ำ ซากที่พบเป็นชิ้นกระดูกขากรรไกรพร้อมฟันกรามซี่ที่ 2 และ 3 ด้านล่างขวา มีลักษณะเป็นสีน้ำตาลไหม้ น้ำหนัก 5.3 กก. ยาว 44 ซม. และสูง 16 ซม. ยิ่งกว่านั้น ยังมีการค้นพบร่องรอยของสิ่งมีชีวิตในมหายุคพาลีโอโซอิค (Paleozoic) ทั้ง 6 ยุค ตั้งแต่ แคมเบรียน (Cambrian) ออร์โดวิเชียน (Ordovician) ไซลูเรียน (Silurian) ดีโวเนียน (Devonian) คาร์บอนิเฟอรัส (Carboniferous) และเพอร์เมียน (Permian) เมื่อ 542-251 ล้านปีก่อน ซึ่งเป็นยุคต้นของสิ่งมีชีวิตบนโลก การค้นพบครั้งนี้ยิ่งใหญ่มาก ทำให้เห็นสาหร่ายทะเลดึกดำบรรพ์ แมงดาทะเลดึกดำบรรพ์ หอยทะเลดึกดำบรรพ์ ปลาหมึกทะเลดึกดำบรรพ์ จึงไม่แปลกที่องค์การยูเนสโก จะประกาศให้เป็นอุทยานธรณีของโลก ผู้ที่สนใจสามารถชมของจริงได้ที่พิพิธภัณฑ์แห่งนี้ น่าเสียดายที่เปิดเฉพาะวันธรรมดา จันทร์-ศุกร์ เวลา 08.30 - 16.30 น. เท่านั้น เที่ยวถ้ำเลสเตโกดอน ต้องติดต่อล่วงหน้า เพื่อให้การเดินทางมาชม "อุทยานธรณีสตูล" สมบูรณ์ยิ่งขึ้น เราต้องมาที่ "ถ้ำเลสเตโกดอน" (อ่านว่า ถ้ำ-เล-สะ-เต-โก-ดอน) ซึ่งอยู่ในหมู่บ้านคีรีวง ต. ทุ่งหว้า อ. ทุ่งหว้า จ. สตูล ติดกับถนนหมายเลข 416 การเข้าชมต้องล่องเรือแคนูเข้าไป และต้องติดต่อกับทาง อบต. ทุ่งหว้า (โทร. 09 - 1034 - 5989) ก่อนอย่างน้อย 1 วัน ไม่ใช่ใครมาก็เที่ยวได้ทันที เพราะเข้าชมได้เพียงวันละ 1 รอบเท่านั้น ดังนั้นก่อนเดินทาง ควรโทรสอบถามเจ้าหน้าที่เพื่อตรวจเชคระดับน้ำ และแจ้งจำนวนนักผจญภัยให้เรียบร้อยเสียก่อน การล่องเรือแบ่งเป็น 3 ช่วง ช่วงแรก นั่งเรือแคนูเข้าชมความงดงามภายในถ้ำ ระยะทาง 4 กม. ใช้เวลาประมาณ 2 ชม. เรือแคนู 1 ลำ บรรทุกได้สูงสุด 3 คน คือ นักท่องเที่ยว 2 คน และอีก 1 คน เป็นทั้งฝีพายและไกด์คอยให้ข้อมูลต่างๆ กฎเหล็กของที่นี่ คือ นักท่องเที่ยวทุกคนต้องสวมเสื้อชูชีพ และหมวกกันกระแทกทุกครั้ง รวมถึงห้ามจับหินงอกหินย้อยภายในถ้ำเด็ดขาด ใครมีไฟฉายให้พกติดตัวไปได้ เพราะในถ้ำมืดสนิท หลังออกจากปากถ้ำ จะเป็นการนั่งเรือแคนูสัมผัสธรรมชาติของป่าโกงกางแทน และระยะสุดท้ายจะนั่งเรือหางยาวชมระบบนิเวศป่าชายเลน จากแม่น้ำถึงปากทะเลอันดามัน ล่องเรือเข้าถ้ำ ชมหินงาม และซากฟอสซิล ในที่สุดก็ถึงเวลาล่องเรือ หลังจากฟังบรรยายจากหัวหน้านำเที่ยวเสร็จ ทำให้รู้ว่าวันนี้มีนักท่องเที่ยวมากถึง 44 คน เพราะเป็นช่วงที่ระดับน้ำดีที่สุดของเดือน จากปากถ้ำเราล่องเรือแคนูเข้าไปสู่ความมืด ภายในถ้ำอากาศโปร่งสบาย ไม่อึดอัด เสมือนมีท่ออากาศอยู่ตลอดทาง สายน้ำไหลพาเราเข้าไปเรื่อยๆ ไม่นานนักก็เริ่มเห็นหินงอกหินย้อยตามเพดาน และผนังถ้ำ ทั้งขนาดเล็กและใหญ่ บ้างมีลักษณะคล้ายปลีกล้วยห้อยย้อยลงมาจากเพดาน มีสีออกเหลืองแดงเนื่องจากมีแร่เหล็กผสมอยู่ เมื่อฉายไฟเข้าใส่ จะเห็นเป็นประกายระยิบระยับเหมือนโรยด้วยกากเพชร นั่นเป็นเพราะมีส่วนผสมของแร่แคลไซท์ บ้างเป็นหินย้อยหลอดที่ห้อยเป็นแท่งเล็กแหลมลงมาจากเพดานถ้ำ ดูงดงามแปลกตา บ้างลดหลั่นเป็นชั้นๆ คล้ายขั้นบันได และบ้างก็เป็นก้อนหินขนาดใหญ่ที่ยังคงมีน้ำไหลลงมาเป็นม่านน้ำตกแสดงถึงความเป็น "หินเป็น" หรือหินที่ยังมีชีวิตสามารถงอกหรือย้อยเพิ่มได้ โดยหินงอกหินย้อยที่เราเห็นนี้ เป็นหินยุคโครินเธียนส์ (Corinthians) ตอนปลาย อายุประมาณ 400 ล้านปี เก่าแก่เป็นอันดับที่ 2 รองจากกลุ่มหินตะรุเตา ซึ่งเป็นชั้นหินเก่าแก่ที่สุดในประเทศไทย เราเพลิดเพลินอยู่สักพักก็มาถึงช่วงกลางถ้ำ ซึ่งเป็นจุดที่พบซากฟอสซิลจำนวนมาก ซึ่งนอกจากฟอสซิลฟันกรามของช้างสเตโกดอนแล้ว ยังพบฟอสซิลฟันกรามของช้างเอลิฟาส ซึ่งเป็นบรรพบุรุษของช้างเอเชีย และคาดว่ามีอายุใกล้เคียงกับช้างสเตโกดอน นอกจากนั้นก็ยังพบฟอสซิล แรดชวา กระซู่ เต่า หอย หมึก รวมไปถึงขวานหินของมนุษย์โบราณ รวมแล้วกว่า 300 ชิ้น โดยเชื่อกันว่า น้ำจากภูเขาได้พัดพาซากฟอสซิลเหล่านี้เข้ามาในถ้ำ ขณะต่อมจินตนาการกำลังประมวลผลหินรูปทรงต่างๆ ทั้งเต่า ไดโนเสาร์ พระแม่มารี หัวใจช้าง ปอดช้าง เรือแคนูก็พามาถึงทางออกปากถ้ำรูปหัวใจ จุดนี้คุณจะได้เห็นหอยดึกดำบรรพ์ และหมึกดึกดำบรรพ์นอติลอยด์ด้วย จากตรงนี้เราต้องยกเรือข้ามโขดหิน เนื่องจากมีผนังถ้ำขวางไว้ และเปลี่ยนไปสัมผัสธรรมชาติของป่าโกงกางภายนอกถ้ำแทน เมื่อล่องไปประมาณ 10 นาที ก็ต้องเปลี่ยนจากเรือแคนู เป็นเรือหางแทน เพื่อชมระบบนิเวศของป่าชายเลนจากคลองวังกล้วยสู่ทะเลที่ท่าเรือท่าอ้อย เป็นอันเสร็จทริพนี้ และนั่งรถสองแถวกลับไปที่เดิม
บทความแนะนำ