ชีวิตอิสระ
“ชีวิตอิสระ” ชวนเที่ยวทิพย์ กับ 3 สถานที่สุดว้าว ที่ต้องไปให้ได้ !
จากสถานการณ์ COVID-19 ที่ระบาดในไทย ส่งผลกระทบต่อการเดินทางท่องเที่ยวอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ “ชีวิตอิสระ” ขอพาไปเที่ยวทิพย์ กับ 3 สถานที่สุดว้าว ที่ชาตินี้ต้องไปให้ได้ !1. ดอยสกาด อ. ปัว จ. น่าน ใครที่กำลังมองหาสถานที่เที่ยวใหม่ๆ ซึ่งยังไม่เป็นที่รู้จักนัก “ดอยสกาด” ถือเป็นอีกหนึ่งสถานที่ที่น่าสนใจ เป็นดอยของชาวไทยภูเขาเผ่าลัวะ ที่ยังคงรักษาวิถีชีวิตเรียบง่าย และด้วยความที่ไม่ค่อยมีใครรู้จัก ธรรมชาติที่นี่จึงบริสุทธิ์มาก เหมาะสำหรับนักท่องเที่ยวที่ต้องการ พักผ่อนเพื่อชาร์จพลังงานให้ร่างกาย จากธรรมชาติบำบัดบนดอยสูง ถิ่นชาอัสสัม ใบเมี่ยง และมะแขว่น ชาวเขาที่นี่มักปลูกบ้านเรือนแทรกตัวตามไหล่เขาเป็นกลุ่มๆ และเกือบทุกหลังคาเรือนจะมีต้นมะแขว่น ซึ่งเป็นเครื่องเทศพื้นเมืองของภาคเหนือ รวมถึงต้นชา สายพันธุ์อัสสัม ขึ้นอยู่แทบทุกบ้าน ถ้าสังเกตจะเห็นว่าต้นชาที่นี่ไม่ค่อยเป็นแถวสวยงามเหมือนต้นชาที่อื่นๆ นัก เพราะส่วนใหญ่เน้นปลูกใต้ร่มเงาของต้นไม้ใหญ่ ใบชาอัสสัม นิยมปลูกเอามาทำ “ใบเมี่ยง” ไว้รับประทาน รวมถึงนำไปทำของใช้ เช่น หมอนใบเมี่ยง โดยใช้ใบเมี่ยงแก่มาอบแห้ง แล้วใส่เป็นไส้ของหมอนรูปร่างต่างๆ กลิ่นหอมของใบเมี่ยงจะช่วยคลายเครียด และดูดซับกลิ่นต่างๆ ได้ ซึ่งเหมาะกว่าต้นชาสายพันธุ์ “อู่หลง” ที่นิยมปลูกเพื่อนำใบมาทำชาเท่านั้น จนทำให้ดอยสกาดมีชื่อเสียงในเรื่องใบเมี่ยง และมะแขว่น สกาดดีโฮมสเตย์ ไม่พัก ก็แวะได้ นักท่องเที่ยวที่มาดอยสกาด ส่วนมากต้องการมาพักค้างแรมเพื่อดื่มด่ำกับธรรมชาติ และอากาศบริสุทธิ์ ตอนที่เราไป มีที่พักแบบ โฮมสเตย์อยู่ 3 แห่ง ได้แก่ สกาดดีโฮมสเตย์, ชาวดอยโฮมสเตย์ และอุ่นไอใบเมี่ยง ผมเลือกพัก “สกาดดีโฮมสเตย์” เพราะเป็นที่พักแห่งแรกบนดอยสกาด ที่สร้างชื่อเสียงจนเป็นที่รู้จักของนักท่องเที่ยว ซึ่งดัดแปลงบ้านไม้ให้เป็นที่พัก มีทั้งหมด 3 ห้อง แต่ละห้องนอนรวมกันได้ 3 คน มีห้องน้ำในตัว รวมแล้วพักได้สูงสุดไม่เกิน 10 คน/คืน ส่วนราคาขึ้นอยู่กับจำนวนคนที่พัก ถ้ามาหลายคนก็เฉลี่ยเริ่มต้นคนละ 800 บาท ซึ่งรวมอาหารเย็น และอาหารเช้าแล้ว โดยทุกห้องสามารถมองเห็นวิวของเทือกเขาภูคาได้แบบพาโนรามา และหากใครมีเวลาน้อย สามารถเข้ามาเยี่ยมชมบรรยากาศ จิบชา ดริพกาแฟ และถ่ายรูปเชคอินได้ เดิน 3 กม. เที่ยวรอบหมู่บ้าน นอกจากดื่มชา ชิมกาแฟ นอนพักผ่อนชมวิวสุดลูกหูลูกตาแล้ว ยังมีกิจกรรมที่ห้ามพลาด นั่นคือ การเดินชมวิถีชีวิตของคนในหมู่บ้าน ระยะทางประมาณ 3 กม. แต่ทางเดินไม่กว้างนัก และโค้งชันตามไหล่เขา ตลอดทางจะเห็นโรงเก็บไม้ที่ใช้ทำฟืน ต้นชาอัสสัม และต้นมะแขว่นแทบทุกบ้าน บางบ้านเลี้ยงเป็ด ไก่ รวมถึงหมูป่าด้วย เส้นทางจะมาสุดที่โรงเรียนสกาดพัฒนา หลังจากนั้นเราต้องเดินกลับทางถนนใหญ่ ระหว่างทางเจอกับชาวบ้านมากมาย ทุกคนยิ้มแย้มต้อนรับเราเป็นอย่างดี เสน่ห์ยามเช้า คือ ไฮไลท์ของที่นี่ หากใครมาค้างบนดอยสกาด อยากให้รีบตื่นก่อนพระอาทิตย์ขึ้น เพราะนอกจากจะได้เห็นทะเลหมอกที่สวยงาม และแสงสีทองที่สดใสแล้ว หากมาช่วงฤดูหนาว หรือหลังฝนตกใหม่ๆ จะเห็นคลื่นทะเลหมอกไหลเอื่อยๆ กระทบผ่านตัวไป เป็นความรู้สึกสดชื่นที่หาได้ยาก การมาดอยสกาดครั้งนี้ เราได้สัมผัสถึงเสน่ห์ของวิถีชาวบ้าน เป็นการบำบัดร่างกาย และจิตใจ ด้วยธรรมชาติที่ได้ผลจริง 2. อุทยานแห่งชาติ ภูจองนายอย จ. อุบลราชธานี ภูจองนายอย (ภู-จอง-นา-ยอย) คือ ชื่อสุดแปลกของอุทยานแห่งชาติอันดับที่ 53 ของไทย ตั้งอยู่ อ. นาจะหลวย จ. อุบลราชธานี มีอาณาเขตติดกับประเทศ สปป. ลาว และกัมพูชา ด้วยความที่อยู่ในเทือกเขาพนมดงรัก จึงอุดมไปด้วยพันธุ์ไม้ และสภาพธรรมชาติที่สวยงาม โดยเฉพาะน้ำตกห้วยหลวง ที่ขึ้นชื่อว่าสวยที่สุดในภาคอีสานใต้ น้ำตกห้วยหลวง งามสุดในอีสานใต้ น้อยคนนักที่จะรู้จักอุทยานแห่งชาติภูจองนายอย แต่กลับเป็นข้อดี เพราะทำให้อุทยานแห่งนี้ยังคงความเป็นธรรมชาติอยู่มาก โดยเฉพาะป่าเบญจพรรณ และป่าเต็งรังที่ยังหนาแน่นสมบูรณ์ แต่สิ่งดึงดูดผู้คนให้มาเที่ยวที่นี่ คือ ความสวยงามของ “น้ำตกห้วยหลวง” หรือที่ชาวบ้านเรียกว่า น้ำตกถ้ำบักเตว น้ำตกห้วยหลวงเป็นน้ำตกขนาดใหญ่ ที่สูง และสวยงามที่สุดในภาคอีสานตอนล่าง มีความสูงประมาณ 50 ม. ไหลลงสู่หุบเขาที่มีลักษณะเป็นแอ่งน้ำขนาดใหญ่ ด้วยกระแสน้ำที่แรง จากความสูงของน้ำตก ทำให้บริเวณรอบๆ แอ่งน้ำเกิดเป็นหาดทรายที่แวดล้อมด้วยต้นไม้ร่มรื่น นับเป็นหาดทรายกลางป่าที่สวยงาม ไม่เหมือนที่ใดๆ แก่งกะเลา ธารน้ำที่ร่มรื่น จากน้ำตกห้วยหลวง หากขับรถย้อนไปยังที่ทำการอุทยานแห่งชาติภูจองนายอย จะพบกับ “แก่งกะเลา” ซึ่งเป็นแก่งหินกลางลำธารก่อนถึงน้ำตกห้วยหลวง ธารน้ำจุดนี้จะไหลแผ่เป็นวงกว้างไปตามลานหินขนาดใหญ่ บรรยากาศรอบๆ ร่มรื่นด้วยพันธุ์ไม้นานาชนิด รวมถึงเหล่าผีเสื้อหลากหลายสีสัน ที่บินว่อนอยู่ทั่วบริเวณ เหมาะแก่การศึกษาธรรมชาติ และลงเล่นน้ำยิ่งนัก พลาญกงเกวียน เพิงหินสุดอลังการ ในอุทยานแห่งชาติภูจองนายอย ยังมีจุดที่น่าสนใจอีกแห่งหนึ่ง คือ “พลาญกงเกวียน” เป็นลานหินกว้าง ด้านหน้ามีกลุ่มหินลักษณะเป็นเพิงธรรมชาติ ถ้ามาในช่วงปลายฝนต้นหนาว จะเห็นดอกไม้ป่า และพันธุ์ไม้ขึ้นสลับกันเป็นหย่อมๆ ดูสวยงาม คำว่า “กงเกวียน” มาจากการเปรียบ-เปรยของนักเดินทางที่ใช้เพิงหินเหล่านี้ในการบังแดดบังฝน เมื่อนำมารวมกับ “พลาญ” จึงหมายถึง เพิงหินที่หลบแดดในลานกว้างๆ 3. ถํ้าเลสเตโกดอน อ. ทุ่งหว้า จ. สตูล “สตูล” เป็นจังหวัดทางภาคใต้ ที่ไม่ได้มีแค่น้ำทะเลสวยใส และหาดทรายสีขาวของเกาะชื่อดังเท่านั้น สตูลยังเป็นอุทยานธรณีโลก (GLOBAL GEOPARK) แห่งแรกในประเทศไทย (เทียบได้กับมรดกโลก) จากองค์การยูเนสโกอีกด้วย โดยเฉพาะ “ถ้ำเลสโตโกดอน” ที่ค้นพบฟอสซิลดึกดำบรรพ์ครบทั้ง 6 ยุค ถ้ำเลสเตโกดอน ขุมทรัพย์ของธรณีวิทยา “ถ้ำเลสเตโกดอน” (อ่านว่า ถ้ำ-เล-สะ-เต-โก-ดอน) ซึ่งอยู่ในหมู่บ้านคีรีวง ต. ทุ่งหว้า อ. ทุ่งหว้า จ. สตูล การเข้าชมต้องล่องเรือแคนูเข้าไป และต้องติดต่อกับทาง อบต. ทุ่งหว้า (โทร. 09-1034-5989) เสียก่อนอย่างน้อย 1 วัน เพื่อตรวจเชคระดับน้ำ และแจ้งจำนวนนักผจญภัยให้เรียบร้อยเสียก่อน การล่องเรือแบ่งเป็น 3 ช่วง โดยช่วงแรก นั่งเรือแคนูเข้าชมความงดงามภายในถ้ำ ระยะทาง 4 กม. ใช้เวลาประมาณ 2 ชม. เรือแคนู 1 ลำ บรรทุกได้สูงสุด 3 คน คือ นักท่องเที่ยว 2 คน และอีก 1 คนเป็นทั้งฝีพาย และไกด์คอยให้ข้อมูลต่างๆ กฎเหล็กของที่นี่ คือ นักท่องเที่ยวทุกคนต้องสวมเสื้อชูชีพ และหมวกกันกระแทกทุกคน รวมถึงห้ามจับหินงอกหินย้อยเด็ดขาด ใครมีไฟฉายให้พกติดตัวไปด้วย เพราะภายในถ้ำมืดสนิท ล่องเรือเข้าถ้ำ ชมหินงาม และซากฟอสซิล หลังจากฟังบรรยายเรียบร้อยแล้ว นักท่องเที่ยวทั้ง 44 คน ก็ขึ้นเรือแคนูเข้าไปสู่ความมืด ภายในถ้ำอากาศโปร่งสบาย ไม่อึดอัด สายน้ำไหลพาเราเข้าไปเรื่อยๆ ไม่นานนักก็เริ่มเห็นหินงอกหินย้อยตามเพดาน และผนังถ้ำ ทั้งขนาดเล็ก และใหญ่ บ้างมีลักษณะคล้ายปลีกล้วยห้อยย้อยลงมาจากเพดาน สีออกเหลืองแดง เนื่องจากมีแร่เหล็กผสมอยู่ เมื่อฉายไฟเข้าใส่ จะเห็นเป็นประกายระยิบระยับเหมือนโรยด้วยกากเพชร นั่นเป็นเพราะมีส่วนผสมของแร่แคลไซท์ บ้างเป็นหินย้อยหลอดที่ห้อยเป็นแท่งเล็กแหลมลงมาจากเพดานถ้ำ ดูงดงามแปลกตา บ้างลดหลั่นเป็นชั้นๆ คล้ายขั้นบันได บางที่ยังมีน้ำไหลลงมาเป็นม่านน้ำตก แสดงถึงความเป็น “หินเป็น” หรือหินที่ยังมีชีวิต สามารถงอก หรือย้อยเพิ่มได้ โดยหินงอกหินย้อยที่เราเห็นนี้ เป็นหินยุคโครินเธียนส์ (CORINTHIANS) ตอนปลาย อายุประมาณ 400 ล้านปี เก่าแก่เป็นอันดับที่ 2 รองจากกลุ่มหินตะรุเตา ซึ่งเป็นชั้นหินเก่าแก่ที่สุดในประเทศไทย ช่วงกลางถ้ำเป็นจุดที่พบซากฟอสซิลจำนวนมาก นอกจากฟอสซิลฟันกรามของช้างสเตโกดอนแล้ว ยังพบฟอสซิลฟันกรามของช้างเอลิฟาส ซึ่งเป็นบรรพบุรุษของช้างเอเชีย และคาดว่ามีอายุใกล้เคียงกับช้างสเตโกดอน นอกจากนั้น ก็ยังพบฟอสซิลแรดชวา กระซู่ เต่า หอย หมึก รวมไปถึงขวานหินของมนุษย์โบราณ รวมแล้ว กว่า 300 ชิ้น โดยเชื่อกันว่า น้ำจากภูเขาได้พัดพาซากฟอสซิลเหล่านี้เข้ามาในถ้ำ ขณะต่อมจินตนาการกำลังประมวลผลหินรูปทรงต่างๆ ทั้งเต่า ไดโนเสาร์ พระแม่มารี หัวใจช้าง ปอดช้าง เรือแคนูก็พามาถึงทางออกปากถ้ำรูปหัวใจ จุดนี้คุณจะได้เห็นหอยดึกดำบรรพ์ และหมึกดึกดำบรรพ์นอติลอยด์ด้วย จากตรงนี้เราต้องยกเรือข้ามโขดหิน เนื่องจากมีผนังถ้ำขวางไว้ และเปลี่ยนไปสัมผัสธรรมชาติของป่าโกงกางภายนอกถ้ำ เมื่อล่องไปประมาณ 10 นาที ก็ต้องเปลี่ยนจากเรือแคนู เป็นเรือหางยาวแทน เพื่อชมระบบนิเวศของป่าชายเลน จากคลองวังกล้วยสู่ทะเลที่ท่าเรือท่าอ้อย เป็นอันเสร็จทริพนี้ และนั่งรถสองแถวกลับไปที่เดิม
ABOUT THE AUTHOR
ว
วิธวินท์ ไตรพิศ
ภาพโดย : ฝ่ายภาพนิตยสาร 417 ฉบับเดือน กันยายน ปี 2564
คอลัมน์ Online : ชีวิตอิสระ(4wheels)