แม้ว่าภายในประเทศจีน จะยังมีปัญหาการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจ ที่ค่อนข้างชะงักงัน รวมทั้งสงครามการค้ากับสหรัฐอเมริกา ก็ยังคงเป็นปัญหา แต่กระนั้น ค่ายรถยนต์จากประเทศจีน ต่างยังคงตั้งศูนย์ค้นคว้า และพัฒนา รวมทั้งศูนย์เพื่อการออกแบบในทวีปยุโรปกันหลากหลายยี่ห้อ ด้วยความหวังที่จะดึงดูดผู้บริโภคจากยุโรปให้ได้เป็นเวลานานนับปี ที่ค่ายรถยนต์จากจีน ได้หยั่งเชิงเข้าไปในทวีปยุโรป เริ่มต้นด้วยค่าย Geely โดยนำรถยนต์ออกแสดงในงานมหกรรมยานยนต์ฟรังค์ฟวร์ท เมื่อเดือนกันยายน 2548 แต่จนกระทั่งถึงในปัจจุบัน ยอดขายของ Geely ในยุโรป ก็ยังคงไม่ได้รับการยอมรับมากนัก ทั้งเรื่องของคุณภาพในการประกอบ วัสดุที่ใช้ รวมทั้งผลการทดสอบการชนที่น่าจะทำให้ผู้อยู่ในรถเกิดการบาดเจ็บสาหัสทีเดียว แต่กระนั้น ค่ายรถยนต์จากจีน อย่าง Great Wall ได้ก่อตั้งศูนย์วิศวกรรมขึ้นในเยอรมนี รวมทั้งศูนย์ค้นคว้าและพัฒนา ซึ่งเป็นส่วนช่วยให้ผู้ผลิตทำความเข้าใจกับความต้องการของผู้บริโภคได้อย่างใกล้ชิดมากขึ้น ได้ศึกษาการนำรถเข้ารับการตรวจสภาพ เพื่อจดทะเบียนในประเทศนั้นๆ รวมทั้งการเชื่อมสัมพันธ์กับผู้ผลิตชิ้นส่วนรายย่อยต่างๆ “ศูนย์ค้นคว้าและพัฒนาในยุโรปเหล่านี้ ช่วยให้ผู้ผลิตชาวจีน ได้รับเทคโนโลยีสมัยใหม่ที่ก้าวหน้าเพิ่มมากขึ้น” Stefan Bratzel กรรมการของศูนย์จัดการด้านยานยนต์ มหาวิทยาลัย Bergisch Gladbach เยอรมนี ซึ่งเป็นผู้ตรวจสอบอุตสาหกรรมยานยนต์ให้กับบริษัทวิเคราะห์ธุรกิจ กล่าวว่า “เท่ากับเป็นการสร้างรากฐานเป็นการเตรียมการ เพื่อผลิตรถยนต์ออกมาจำหน่ายคนยุโรปในอนาคต เพราะผู้ผลิตจีน ต่างก็ทราบดีว่า หากไม่สามารถพัฒนาผลิตภัณฑ์ของตนเอง ให้คนยุโรปยอมรับได้ ก็คือ จะขายรถไม่ได้นั่นเอง” แม้ว่าศูนย์ค้นคว้าและพัฒนา หรือการออกแบบ จะไม่ใช่สิ่งจำเป็นในการแนะนำรถยนต์สักรุ่นหนึ่ง แต่ค่ายรถยนต์จากประเทศจีนบางยี่ห้อ ก็ซุ่มทำงานในยุโรปแบบเงียบๆ นานนับปี โดยไม่พยายามที่จะแนะนำรถยนต์รุ่นใดๆ ออกสู่ตลาดเลย Volkswagen Group ที่เป็นหุ้นส่วนกับ SAIC Motor ก่อตั้งศูนย์วิศวกรรมในยุโรป เมื่อปี 2548 เช่นเดียวกับการร่วมหุ้นกับค่ายรถยนต์เจ้าใหม่ JAC Motors ช่วง 2-3 ปีที่ผ่านมา ตลาดรถยนต์ของจีน เริ่มชะลอตัว ทำให้ค่ายรถยนต์จีน จำเป็นต้องหาวิธีการเพื่อความอยู่รอด โดยค่ายรถยนต์สัญชาติจีน ถือว่าบาดเจ็บมากที่สุด คือ Geely ที่ยอดขายหล่นฮวบลงไปอยู่อันดับ 5 จากอันดับ 2 ภายในเวลาเพียงปีเดียว รวมทั้งมาตรฐานค่าไอเสีย C6 ที่เข้มงวดในหลายมลรัฐของจีน รวมทั้งสงครามทางการค้ากับสหรัฐอเมริกา ทำให้ LMC Automotive บริษัทวิเคราะห์สถานการณ์ในอุตสาหกรรมยานยนต์ ต้องประเมินยอดการขายรถยนต์ประจำปี ใหม่หลายครั้ง พร้อมทั้งระบุว่า ปีนี้ น่าจะเป็นอีกปีหนึ่ง ที่อุตสาหกรรมยานยนต์จีน มียอดการขายรถยนต์ได้ใกล้เคียงกับปีที่ผ่านมา ขณะที่ยอดการขายรถยนต์จากต่างประเทศ จะสามารถช่วยให้ประคับประคองสถานการณ์ของค่ายรถยนต์จากจีนได้ แต่นักวิเคราะห์ก็เตือนว่า การที่จะประสบความสำเร็จในตลาดยุโรป นับเป็นเรื่องยาก เห็นได้จากค่ายรถยนต์ระดับโลกหลายราย ก็ไม่ประสบความสำเร็จในภูมิภาคนี้ แม้แต่ค่ายยักษ์ใหญ่ General Motors ยังยอมยกธงพ่ายแพ้ไปแล้ว ขณะที่ค่ายรถยนต์ระดับหรูของจีน รายใหม่ Nio ซึ่งเพิ่งเปิดศูนย์พัฒนาในมิวนิค ด้วยจำนวนพนักงานเกือบ 200 คน ผู้ก่อตั้ง William Li ให้สัมภาษณ์ว่า บริษัทกำลังหาช่วงจังหวะที่จะขยายผลิตภัณฑ์สำหรับตลาดยุโรป พร้อมทั้งยอมรับว่า “เป็นการง่ายที่จะเข้าสู่ตลาดยุโรป แต่เป็นเรื่องยากที่จะอยู่ให้รอด และได้ยอดขายที่น่าพอใจ”