เกือบ 20 ปี นับจากปี 2542 "บีทีเอส" รถไฟฟ้าสายแรกของประเทศไทยได้มาช่วยบรรเทาความทุกข์จากการจราจรที่ติดขัดในเมืองหลวง และเพิ่มการเดินทางที่สะดวกให้กับคนเมือง และปริมณฑล จากวันนั้นจนวันนี้ได้มีการก่อสร้างรถไฟฟ้ามากขึ้นในหลายสาย บางสายก็สร้างจนแล้วเสร็จ และมีอีกหลายสายที่กำลังดำเนินการอยู่ วันนี้ทีมงาน autoinfo.co.th จะขออัพเดทรถไฟฟ้าแต่ละสายว่ามีการก่อสร้างไปถึงไหน แล้วจะเสร็จปีไหนกันบ้างติดตามได้จากรายงานปี 2563 สายสีน้ำเงิน (หัวลำโพง–บางแค/เตาปูน–ท่าพระ) โครงการรถไฟฟ้าสายสีน้ำเงินช่วงหัวลำโพง-บางแค และช่วงเตาปูน-ท่าพระ เป็นเส้นทางรถไฟฟ้าที่เชื่อมระหว่างกรุงเทพมหานครชั้นใน (ฝั่งพระนคร) กับฝั่งธนบุรี ระยะทางรวม 27 กิโลเมตร แบ่งการก่อสร้างเป็น 2 ช่วง ช่วงแรกหัวลำโพง-บางแค รวม 11 สถานี ช่วงที่ 2 เตาปูน-ท่าพระ สร้างแบบยกระดับ รวม 8 สถานี ปัจจุบันการรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย (รฟม.) ได้ก่อสร้างเสร็จทั้งหมดแล้ว โดยอยู่ระหว่างติดตั้งระบบรถไฟฟ้า และมีกำหนดทยอยเปิดให้บริการช่วงหัวลำโพง–บางแค ภายในเดือน สค.–กย. 2562 และช่วงเตาปูน–ท่าพระ จะเปิดให้บริการในเดือน มีค. 2563 สายสีเขียว (หมอชิต–สะพานใหม่–คูคต) โครงการรถไฟฟ้าสายสีเขียวเส้นทางหมอชิต-สะพานใหม่-คูคต เป็นการเชื่อมต่อระหว่างตัวเมืองโซนนอก และกลางใจเมืองเข้าด้วยกัน มีทั้งหมด 16 สถานี ระยะทาง 19 กิโลเมตร จุดเริ่มต้นโครงการเชื่อมรถไฟฟ้าบีทีเอสหมอชิต ยาวต่อเนื่องตามแนวพหลโยธินไปสิ้นสุดที่บริเวณคูคต อ. ลำลูกกา จ. ปทุมธานี สถานะโครงการปัจจุบันได้ก่อสร้างงานโยธาเสร็จแล้ว 100 % อยู่ระหว่างติดตั้งระบบรถไฟฟ้า โดยล่าสุดเริ่มเปิดให้บริการระยะแรกเพิ่ม 1 สถานี คือ สถานีห้าแยกลาดพร้าว ในเดือน สค. 2562 จากนั้นจะทยอยเปิดให้บริการเพิ่มอีก 4 สถานี ได้แก่ สถานีพหลโยธิน 24 สถานีรัชโยธิน สถานีเสนานิคม และสถานีมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ภายในเดือน ธค. นี้ โดยจะเปิดได้ครบทั้ง 16 สถานี ภายในปี 2563 ปี 2564 สายสีชมพู (แคราย–มีนบุรี) โครงการรถไฟฟ้าสายสีชมพูช่วงแคราย-มีนบุรี มีระยะทาง 34.5 กิโลเมตร มีสถานีทั้งหมด 30 สถานี เริ่มตั้งแต่ถนนแคราย ผ่านติวานนท์ เลี้ยวผ่านแจ้งวัฒนะ ข้ามรามอินทรา ก่อนสิ้นสุดที่มีนบุรี โดยก่อสร้างเป็นแบบรางเดี่ยว หรือโมโนเรล ปัจจุบันอยู่ระหว่างดำเนินการก่อสร้าง คาดว่าจะเปิดให้บริการได้ในปี 2564 สายสีเหลือง (ลาดพร้าว-สำโรง) โครงการรถไฟฟ้าสายสีเหลืองช่วงลาดพร้าว-สำโรง มีระยะทาง 30.4 กิโลเมตร มีสถานีทั้งหมด 23 สถานี โดยเป็นระบบรถไฟฟ้ารางเดี่ยวโมโนเรลแบบยกระดับ ต้นทางเชื่อมต่อกับรถไฟฟ้าใต้ดินเอมอาร์ทีลาดพร้าวไปตามถนนลาดพร้าว เลี้ยวเข้าศรีนครินทร์ และไปสิ้นสุดที่สำโรง สมุทรปราการ ปัจจุบันอยู่ระหว่างดำเนินการก่อสร้าง คาดว่าจะเปิดให้บริการได้ในปี 2564 สายสีแดงชานเมือง (บางซื่อ-รังสิต) โครงการรถไฟฟ้าสายสีแดงชานเมือง ช่วงบางซื่อ-รังสิต มีระยะทาง 26.3 กิโลเมตร มีสถานีทั้งหมด 10 สถานี เป็นทางยกระดับจากบริเวณแยกถนนประดิพัทธ์ไปถึงดอนเมือง ระยะทาง 19.2 กิโลเมตร และลดระดับลงมาเป็นทางระดับพื้นดิน เมื่อเลยสถานีดอนเมืองถึงสถานีรังสิตระยะทาง 7.1 กิโลเมตร คาดว่าจะเปิดให้บริการได้ในปี 2564 ปี 2566 สายสีส้ม (ศูนย์วัฒนธรรมฯ–มีนบุรี) โครงการรถไฟฟ้าสายสีส้ม ช่วงศูนย์วัฒนธรรมแห่งประเทศไทย-มีนบุรี เป็นระบบรถไฟฟ้ารางใหญ่ ระยะทาง 22.57 กม. ทั้งหมด 17 สถานี แบ่งเป็นสถานีใต้ดิน 10 สถานี และยกระดับ 7 สถานี เป็นโครงการรถไฟฟ้าสายแรกที่เชื่อมโยงกรุงเทพฯ ฝั่งตะวันออกสู่ใจกลางเมือง โครงการอยู่ระหว่างการดำเนินงานก่อสร้างโยธา ส่วนงานระบบรถไฟฟ้ากำลังนำเสนอขออนุมัติจากคณะรัฐมนตรี (ครม.) โดยตามแผนงาน คาดว่าจะเปิดให้บริการได้ในปี 2566 ปี 2569 สายสีม่วง (เตาปูน–ราษฎร์บูรณะ วงแหวนกาญจนาภิเษก) สำหรับโครงการรถไฟฟ้าสายสีม่วง ช่วงเตาปูน-ราษฎร์บูรณะ (สีม่วงใต้) เป็นจุดเริ่มต้นเชื่อมต่อกับรถไฟฟ้าใต้ดินเอมอาร์ที บริเวณสถานีเตาปูน และสิ้นสุดบริเวณครุใน ระยะทาง 23.6 กิโลเมตร รวมทั้งสิ้น 17 สถานี แบ่งเป็นสถานีใต้ดิน 10 สถานี สถานียกระดับ 7 สถานี อยู่ระหว่างการจัดเตรียมเอกสารประกวดราคาก่อสร้างงานโยธา คาดว่าจะเปิดให้บริการได้ในปี 2569