บีเอ็มดับเบิลยู กรุ๊ป แมนูแฟคเจอริ่ง ประเทศไทย เดินหน้าเสริมความแข็งแกร่ง ให้แก่เครือข่ายการผลิตระดับโลกของ บีเอมดับเบิลยู ผนึกกำลังด้วยการส่งออกรถยนต์ บีเอมอับเบิลยู X5 ใหม่ไปยังประเทศจีน และส่งออกมอเตอร์ไซค์ บีเอมดับเบิลยู R 1250 GS ไปยังประเทศอินเดีย สานความสำเร็จต่อเนื่องพร้อมตอบรับแนวทางการดำเนินงานของโรงงานในเครือข่าย บีเอมดับเบิลยู กรุพ ทั่วโลกในการผนึกกำลังการผลิตระหว่างโรงงานต่างๆ ในเครือข่ายเพื่อสร้างศักยภาพที่แข็งแกร่งยิ่งขึ้น ตอบโจทย์ความต้องการของลูกค้าทั้งภายในประเทศ และในทุกภูมิภาคทั่วโลก และขับเคลื่อนความสามารถทางการผลิตระหว่างโรงงานในเครือข่ายอย่างเต็มสูบครบทั้ง 3 บแรนด์
อูเว ควาส กรรมการผู้จัดการ บีเอ็มดับเบิลยู กรุ๊ป แมนูแฟคเจอริ่ง ประเทศไทย กล่าวว่า ในปัจจุบัน บีเอมดับเบิลยู กรุพ มีโรงงานผลิตและประกอบยานยนต์ในเครือข่ายทั้งหมด 31 แห่ง ใน 15 ประเทศทั่วโลก มุ่งประสานความร่วมมือจากโรงงานแต่ละแห่งเพื่อให้เกิดประโยชน์สูงสุดจากทรัพยากร และกำลังการผลิต ทำให้เรามีประสิทธิภาพในการรับมือกับปัญหาในตลาดต่างๆ ได้อย่างแข็งแกร่ง ซึ่งนับตั้งแต่ก่อตั้งโรงงานในปี 2543 เราได้ใช้เงินลงทุนจำนวน 5.47 พันล้านบาท (ประมาณ 143 ล้านยูโร) ในการก่อสร้างและขยายกระบวนการประกอบ และได้ลงทุนเพิ่มอีก 818.6 ล้านบาท (ประมาณ 21 ล้านยูโร) ในปี 2561 โดยที่ยังคงรักษามาตรฐานระดับโลกของ บีเอมดับเบิลยู ไว้ได้อย่างสมบูรณ์แบบ ทั้งในด้านคุณภาพ ความปลอดภัย และกลยุทธ์ในการบริหารทรัพยากร เช่นเดียวกับเครือข่ายการผลิตของ บีเอมดับเบิลยู ทั่วโลก
นอกจากการส่งออก บีเอมดับเบิลยู X5 ไปยังประเทศจีนแล้ว บีเอ็มดับเบิลยู กรุ๊ป แมนูแฟคเจอริ่ง ประเทศไทย ยังเดินหน้าเสริมศักยภาพการประกอบมอเตอร์ไซค์ บีเอมดับเบิลยู มอเตอร์ราด โดยตั้งแต่เดือนกันยายนที่ผ่านมา ได้เริ่มการส่งออกรถแอดเวนเจอร์ไบค์ใหม่ไปยังประเทศในทวีปเอเชีย ได้แก่ จีนและอินเดีย การร่วมผนึกกำลังกับประเทศอินเดียนั้นอยู่ภายใต้ข้อตกลงเขตการค้าเสรี (FTA) ซึ่งจะช่วยเสริมศักยภาพทางการผลิตระหว่างโรงงานในเครือข่าย บีเอมดับเบิลยู ให้มีประสิทธิภาพและความยืดหยุ่นมากยิ่งขึ้น
“นอกจากนี้ เพื่อรองรับความร่วมมือในเขตการค้าเสรีอาเซียน (AFTA) ยังได้ยกระดับกลยุทธ์การผลิตเพื่อเพิ่มขีดการแข่งขันของภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ โดยได้เสริมความแข็งแกร่งระหว่างประเทศในเครือข่าย สะท้อนถึงกลยุทธ์ "Production follows the Market" ที่มุ่งปรับกำลังการผลิตให้เหมาะสมกับข้อกำหนดและบริบทในแต่ละประเทศ ทำให้เราสามารถนำเสนอราคาที่แข่งขันได้มากขึ้น สนับสนุนเศรษฐกิจในประเทศ รวมทั้งพัฒนาประสิทธิภาพและความยืดหยุ่นของเครือข่ายการผลิตในประเทศไทยและมาเลเซีย เรามีความเชื่อมั่นในศักยภาพการเติบโตของตลาดในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ และยังคงมุ่งมั่นที่จะสร้างความสำเร็จอย่างต่อเนื่องในภูมิภาคนี้”
เปรมมณีย์ ทรัพย์โชคไชย พาณิชย์จังหวัดชลบุรี กระทรวงพาณิชย์ กล่าวว่า ในฐานะประเทศที่มีกำลังการผลิตรถยนต์มากที่สุดในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ อุตสาหกรรมยานยนต์คิดเป็น 10 % ของผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศไทย ด้วยการลงทุนโดยตรงจากต่างประเทศ (FDI) นับเป็นหนึ่งในปัจจัยสำคัญที่สร้างการเติบโตของอุตสาหกรรมนี้ ซึ่งเม็ดเงินลงทุนของ บีเอมดับเบิลยู ในโรงงานที่นิคมอุตสาหกรรมอมตะ จังหวัดระยอง ก็มีส่วนสำคัญในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจ และยังเป็นอีกหนึ่งผู้ประกอบการที่แสดงเจตนารมณ์ในการพัฒนาศักยภาพบุคลากรของไทยด้วยความรู้ความเชี่ยวชาญที่ได้มาตรฐานระดับโลก ในโอกาสนี้ ดิฉันจึงขอแสดงความยินดีกับ บีเอ็มดับเบิลยู กรุ๊ป แมนูแฟคเจอริ่ง ประเทศไทย กับความสำเร็จด้านการส่งออก และเชื่อว่า บีเอมดับเบิลยู จะยังเล็งเห็นศักยภาพในการเติบโตของประเทศไทยในด้านยนตรกรรมต่อไป
นิมิตร แสงอำไพ ผู้อำนวยการสำนักงานศุลกากรท่าเรือแหลมฉบัง กระทรวงการคลัง กล่าวว่า สำนักงานศุลกากรยินดีเป็นอย่างยิ่งกับอีกความสำเร็จของบีเอ็มดับเบิลยู กรุ๊ป แมนูแฟคเจอริ่ง ประเทศไทย ที่ได้เสริมความแข็งแกร่งให้กับเครือข่ายทั้งด้านการผลิตและการส่งออกไปสู่ประเทศต่างๆ ทั้งในอาเซียนและในระดับภูมิภาคเอเชีย เราจะยังคงสนับสนุนการดำเนินงานในเขตปลอดอากรอย่างต่อเนื่อง เพื่อผลประโยชน์สูงสุดต่อเศรษฐกิจประเทศไทย ในนามของสำนักงานศุลกากรและกระทรวงการคลัง เราภูมิใจที่ได้เป็นส่วนหนึ่งที่ได้ร่วมสนับสนุนบีเอ็มดับเบิลยู กรุ๊ป แมนูแฟคเจอริ่ง ประเทศไทย ในการดำเนินธุรกิจในประเทศไทยต่อไป
โรงงานของบีเอ็มดับเบิลยู กรุ๊ป แมนูแฟคเจอริ่ง ประเทศไทย ในจังหวัดระยอง ถือเป็นหนึ่งในโรงงานประกอบยานยนต์ที่มีประสิทธิภาพและความยืดหยุ่นมากที่สุดในเครือข่ายทั่วโลกของบีเอมดับเบิลยู รองรับการประกอบยนตรกรรมของทั้ง บีเอมดับเบิลยูและบีเอมดับเบิลยู มอเตอร์ราด ทั้งหมด 14 รุ่น ได้แก่ บีเอมดับเบิลยู ซีรีส์ 3 กรัน ตูริสโม บีเอมดับเบิลยู ซีรีส์ 5 บีเอมดับเบิลยู ซีรีส์ 7 บีเอมดับเบิลยู เอกซ์ 1 บีเอมดับเบิลยู เอกซ์ 3 และ บีเอมดับเบิลยู เอกซ์ 5 สำหรับบีเอมดับเบิลยู มอเตอร์ราด ได้แก่ บีเอมดับเบิลยู เอฟ 750 จีเอส บีเอมดับเบิลยู เอฟ 850 จีเอส บีเอมดับเบิลยู เอฟ 850 จีเอส แอดเวนเจอร์ บีเอมดับเบิลยู อาร์ 1250 จีเอส บีเอมดับเบิลยู อาร์ 1250 จีเอส แอดนเวนเจอร์ บีเอมดับเบิลยู เอส 1000 อาร์ บีเอมดับเบิลยู เอส 1000 อาร์อาร์ และ บีเอมดับเบิลยู เอส 1000 เอกซ์อาร์ โดยมีบุคลากรกว่า 950 คน และยังคงมีแผนในการลงทุนอย่างต่อเนื่อง รวมถึงการถ่ายทอดทักษะความเชี่ยวชาญที่ได้มาตรฐานในระดับโลกเพื่อพัฒนาบุคลากรที่มีคุณภาพในอุตสาหกรรมยานยนต์ไทย และสร้างรายได้เพื่อขับเคลื่อนเศรษฐกิจของประเทศ
นอกเหนือจากความสามารถในด้านการผลิตแล้ว บีเอมดับเบิลยู กรุพ ยังยึดมั่นในหลักการแห่งความยั่งยืนในทุกมิติของการดำเนินงาน อันเป็นอีกหนึ่งความโดดเด่นของ บีเอมดับเบิลยู กรุพ ในอุตสาหกรรมยานยนต์ ซึ่งไม่เพียงกำหนดแนวทางที่ชัดเจนในกระบวนการการผลิตรถยนต์ที่มีประสิทธิผลมากขึ้น แต่ยังมุ่งเสริมกำลังในเครือข่ายการผลิตเพื่อให้สามารถใช้ประโยชน์สูงสุดจากทรัพยากร ควบคู่ไปกับการลดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมให้น้อยที่สุด ในปี 2561 บีเอมดับเบิลยู กรุพ ได้สร้างสติถิใหม่ในการลดอัตราการปล่อยคาร์บอนไดออกไซด์ต่อการผลิตรถยนต์ 1 คัน ซึ่งลดลงถึง 2.4 % เมื่อเทียบกับปีก่อนหน้า คิดเป็น 0.40 ตัน/คัน โดยใน 5 ปีที่ผ่านมานี้ ตัวเลขดังกล่าวนี้ได้ลดลงถึง 39 % สอดคล้องกับอัตราการปล่อยคาร์บอนไดออกไซด์รวมจากเครือข่ายการผลิต ที่ลดลง 2.7 % เมื่อเทียบกับปีก่อนหน้า แสดงให้เห็นอีกหนึ่งข้อพิสูจน์ถึงเจตนารมณ์ของ บีเอมดับเบิลยู กรุพ ทั้งในการสร้างสรรค์นวัตกรรมและบริการใหม่ๆ เพื่อตอบสนองความต้องการของลูกค้า และการพัฒนาเพื่อก้าวไปสู่อนาคตแห่งยนตรกรรมที่มีความยั่งยืน