เราอยู่กรุงเทพมหานครมาไม่ต่ำกว่า 70 ปี พบสิ่งที่เคยเห็น และไม่เคยเห็นเช่นเดียวกับท่านผู้อ่าน หลายสิ่งหลายอย่างรวมทั้งศาลพระตรีมูรติ ที่เซนทรัลเวิร์ลด์ ราชประสงค์เรารู้จักศาลแห่งนี้ เพราะเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นในคืนวันไหว้ ของเทศกาลตรุษจีนที่ผ่านมา (11 กุมภาพันธ์ 2564) ประชาชนแห่แหนเข้าไปกราบไหว้ ศาลพระตรีมูรติ ที่ เซนทรัลเวิร์ลด์ สี่แยกราชประสงค์ อย่างเนืองแน่น ทั้งช่อดอกกุหลาบ และขวดน้ำแดง จำนวนมหาศาล ด้วยความเชื่อว่า พระตรีมูรติ เป็นเทพเจ้าแห่งเนื้อคู่ ซึ่งชายและหญิงถือว่าเคยอยู่ร่วมกัน หรือไม่ก็เคยเป็นคู่สร้างคู่สมแต่ชาติปางก่อน จำนวนผู้คนคืนนั้นมากมาย เราคิดไม่ถึงว่า คนโสดเมืองไทยยามนี้ล้นเหลือทั้งชายและหญิง แรกเห็นภาพข่าวในทีวี คิดว่าเป็นเหตุการณ์ที่เมืองนอก เมื่อทราบเรื่องแล้วก็ไม่เข้าใจไปอีกว่า ทำไมต้องมากราบไหว้ขอพร ในวันไหว้เทศกาลตรุษจีน น่าจะเลือกวันวาเลนไทน์ 14 กุมภาพันธ์ไปเลย จะได้เข้าใจง่ายขึ้น ความรู้เรื่องนี้ เท่าที่หาได้ คือ วันที่ 11 กุมภาพันธ์ 2564 มีรายงานข่าวจากศูนย์การค้าเซนทรัลเวิร์ลด์ แจ้งว่า วันนี้จะมีพิธีบวงสรวงพระตรีมูรติ โดยพราหมณ์จะประกอบพิธีบวงสรวงในเวลา 19.39 น. หน้าศาลพระตรีมูรติ ซึ่งเชื่อว่าเป็นฤกษ์ดีที่สุดในการสักการะเพื่อขอพรให้พบคู่แท้ ซึ่งในช่วงที่ยังมีการระบาดของ COVID-19 จะมีการทำพิธีตามมาตรการ Social Distancing อย่างเคร่งครัด เชื่อกันว่า “พระตรีมูรติ” มีความหมายที่แสดงถึงความอุดมสมบูรณ์ทั้งในชีวิต ความรัก และการงาน คัดลอกจากพจนานุกรมราชบัณฑิตสถาน คำว่า “ตรีมูรติ” นั้น หากเป็นคำวิเศษณ์ หมายถึง มีรูป 3 คือ รูปพระพรหม, รูปพระวิษณุ และรูปพระศิวะ และถ้าเป็นคำนาม หมายถึง ชื่อเรียกเทพเจ้าในศาสนาพราหมณ์ มี 3 องค์ คือ พระพรหม (พระผู้สร้าง), พระวิษณุ หรือ พระนารายณ์ (พระผู้รักษา) และพระศิวะ หรือ พระอิศวร (พระผู้ทำลาย) พราหมณ์ เป็นคำนาม หมายถึง คนในวรรณะที่ 1 แห่งสังคมฮินดู ซึ่งมี 4 วรรณะ คือ พราหมณ์, กษัตริย์, แพศย์ และศูทร ถ้าเป็นคำนาม หมายถึง ผู้ถือเพศไว้ผม นุ่งขาวห่มขาว เช่น พราหมณ์ปุโรหิต แต่คำว่า พราหมณ์ดีดน้ำเต้า หรือ พราหมณ์เก็บหัวแหวน เป็นชื่อเพลงไทยจำพวกหนึ่ง พระตรีมูรติ ในประเทศไทย คือ เทพารักษ์ประจำวังเพ็ชรบูรณ์ (ปัจจุบันคือห้างเซนทรัลเวิร์ลด์) มีเรื่องเล่าลือถึงความศักดิ์สิทธิ์ของพระตรีมูรติว่า ในสมัยสงครามโลกครั้งที่ 2 วังเพ็ชรบูรณ์ได้รอดพ้นความเสียหายมาได้อย่างปาฏิหาริย์ ทั้ง ๆ ที่ในช่วงเวลานั้นมีการทิ้งระเบิดลงในกรุงเทพฯ และระเบิดบางลูกตกลงมาบริเวณวัง แต่ปรากฏว่าระเบิดด้านและไม่ได้ทำความเสียหายใด ๆ ให้แก่วังเพ็ชรบูรณ์ เทวรูปพระตรีมูรติ ตั้งอยู่บริเวณลานด้านหน้าศูนย์การค้าเซนทรัลเวิร์ลด์ ในแต่ละวัน มีผู้คนเดินทางมากราบไหว้มากมาย ซึ่งฤกษ์ที่ดีที่สุด คือ วันพฤหัสบดี (11 กุมภาพันธ์ 2564) เวลา 09.30 น. และ 21.30 น. เห็นการกราบไหว้ขอพรของปวงชนแล้ว ก็อดคิดไม่ได้ถึง นวนิยายแห่งความรักระหว่าง “กามนิต” และ “วาสิฏฐี” ซึ่งคนทั้งสองพบกันครั้งแรกบนลานอโศก “ความรักที่แท้จริง ไม่ใช่สีแดง ย่อมมีสีดำดั่งสีนิลเหมือนดั่งสีพระศอพระศิวะ ผู้ทรงดื่มพิษร้ายเพื่อรักษาโลกไว้ให้พ้นภัย” วาสิฏฐี เปล่งวาจา “ความรักแท้จริง ต้องสามารถต้านทานพิษแห่งชีวิต และต้องเต็มใจยอมลิ้มรสที่ขมขื่นที่สุด เพื่อเสียสละให้ผู้ที่เรารักคงชีพอยู่” “และเพราะด้วยความขมขื่นที่สุดนี้ ความรักย่อมเต็มใจเลือกเอาสีนิลคือความขื่นขมไว้ดีกว่าจะเลือกเอาสีอื่น คือมุ่งแต่จะหาความบันเทิงสุขอย่างเดียว” เพราะความรัก ทำให้ กามนิต เบี้ยวราชทูต ไม่กลับกรุงอุชเชนีพร้อมท่านราชทูต สาตาเคียร เป็นบุตรประธานมนตรี เป็นผู้ร้ายของเรื่อง เจอฤทธิ์เดชกามนิตตั้งแต่วันที่สาวน้อยวาสิฏฐีเดาะคลีในอุทยาน การพบกันแทบจะทุกคืน ทำให้สาตาเคียร สบโอกาสลอบทำร้ายในคืนหนึ่ง หลังจากนั้นวาสิฏฐีถูกกักบริเวณมิให้ออกมาเที่ยวเล่นในลานเมื่ออาทิตย์ตกแล้ว ครั้นมีโอกาส นางก็บอกกามนิตให้ออกจากเมืองไปเสีย ด้วยเกรงจะมีอันตรายร้ายแรง ทั้งสองนัดพบกันที่ บ้านร้างของหญิงวิเศษ ซึ่งทำนายคนทั้งสองว่า อนาคตจะมีเรื่องร้าย วาสิฏฐี บอกกามนิตว่า สวรรค์เท่านั้นเป็นโลกใหม่ที่เราจะได้พบกันจริง มิใช่โลกซึ่งมีแต่สิ่งมายาไม่แน่นอน วาสิฏฐี ให้กามนิต เพ่งดวงตามองดูแม่น้ำคงคา มุ่งดวงจิตให้แน่วแน่เพื่อเตรียมการไปประสบความสุขนิรันดร์บนสวรรค์... ท้ายที่สุด กามนิต ถูกโคในกรุงราชคฤห์ขวิดเสียชีวิต พระพุทธเจ้าทรงทราบจากคำถวายรายงานของพระอานนท์และพระสารีบุตร พร้อมด้วยพระสงฆ์อื่นที่เข้าไปเฝ้าพระพุทธเจ้าที่บ้านนายช่างปั้นหม้อ พระพุทธเจ้าตรัสว่า “อาคันตุกะกามนิต เป็นผู้ที่โง่เขลา หลงผิด คล้ายเด็กดื้อ" “ดูก่อน ภิกษุทั้งหลาย ชายอาคันตุกะผู้นี้สืบเสาะหาเรา เพื่อจะขอเป็นสาวกศึกษาธรรม เราตถาคตเล็งเห็นอุปนิสัยแล้ว จึงแสดงหลักธรรมพอเป็นปัจจัย ในที่สุดก็สมเหตุ" “คือเขาแสดงความไม่พอใจ ดิ้นรนใฝ่ใจอยู่ในกามสุขทิพยารมณ์ และเพราะจิตยึดหน่วงเอาเราตถาคตเป็นอารมณ์คู่กันไปด้วย" “ณ บัดนี้ ไปเกิดอยู่ในสุขาวดีแดนสวรรค์ตะวันตกแล้ว และจะเสวยกามาพจรสุขอยู่ในนั้น นับเวลาได้หลายโกฏิปี" หลังจากหาความสงบสุขจากการอยู่กินกับภรรยาสองคนไม่ได้ กามนิต ก็ปรารถนาบวชเรียน และเป็นผู้ที่อยากเฝ้าพระพุทธเจ้า โดยหารู้ไม่ว่า ตนกำลังเล่าเรื่องของตนให้พระสัมมาสัมพุทธเจ้าฟัง ซ้ำยังเปิดเผยว่า ต้องการเฝ้าพระศาสดาองค์เดียว คือ พระสมณโคดมศากยะบุตร เพื่อถวายตัวเป็นศิษย์ ท่านผู้รักการอ่านครับ ท้ายสุดนี้ขอเตือน “รักนั้น หวานเพียงกลืน” หากจะได้ก็ได้เท่าที่ต้องการ โปรดระวังการกลืนความหวาน หากเกิดอุบัติเหตุติดคอ หมอเอาไม่อยู่...จะเข้าทางคดีดังของสังคมวันนี้... ...ไม่รู้ใครสมควรได้สิทธิ์ “คนละครึ่ง” หรือ ใครจะได้สิทธิ์ “เราชนะ” ใคร จะใช้สิทธิ์ “ม. 33 รักกัน เราไม่ทิ้งกัน” และสุดท้ายใครจะตบหัวใครเป็นผู้ทำให้ระบบล่ม...?!?