รถใหม่รอบโลก
Ferrari คู่แสบ 812 Competizione และ 812 Competizione A
มาราเนลโล, 5 พฤษภาคม 2564 - 812 Competizione (812 กมเปติซีโอเน) ยนตรกรรมรุ่นล่าสุดในซีรีส์พิเศษจำนวนจำกัด โดยพัฒนามาจากรุ่น 812 Superfast (812 ซูเพอร์ฟาสต์) ได้เปิดตัวต่อสื่อมวลชน, ลูกค้า และสาวกของ Ferrari (แฟร์รารี) พร้อมกันทั่วโลกวันนี้ อีเวนท์ซึ่งถ่ายทอดสดผ่านช่องทางโซเชียลมีเดียต่างๆ ของ Ferrari นี้ ยังรวมถึงการเผยโฉมรุ่น 812 Competizione A (812 กมเปติซีโอเน เอ) ซึ่งผลิตจำนวนจำกัดเช่นกัน มาพร้อมกับตัวถังแบบ Targa-top ที่เป็นดั่งตัวแทนแห่งความรุ่งโรจน์ของยนตรกรรมเปิดประทุนจากม้าลำพอง
งานเปิดตัวครั้งนี้ถูกจัดขึ้นที่ GT Sporting Activities Department ใกล้สนามแข่ง Fiorano ที่เผยให้เห็นถึงความสัมพันธ์อันแข็งแกร่งจนไม่อาจแยกจากกัน ระหว่างสปอร์ทคาร์แห่งมาราเนลโล และ DNA ที่ส่งตรงมาจากความสำเร็จในสนามแข่งที่ไม่มีใครเทียบเคียงได้ตลอด 7 ทศวรรษที่ผ่านมา
โดยเริ่มเปิดงานด้วยรุ่น 812 Competizione ที่วิ่งโชว์ในสนามแข่งเพื่อเผยให้ผู้ชมได้เห็นถึงบริบทของรถทั้งในด้านของประสิทธิภาพ และสมรรถนะสูงสุด รวมถึงรับฟังเสียงคำรามของขุมพลัง V12 แบบไม่มีระบบอัดอากาศ หลังจากนั้น Enrico Galliera ประธานเจ้าหน้าที่ฝ่ายการตลาดและการขายของ Ferrari กล่าวแนะนำรถอย่างเป็นทางการ และต่อด้วยการเปิดตัวรุ่น 812 Competizione A
Ferrari ทั้ง 2 รุ่นนี้ผลิตขึ้นเป็นพิเศษเพื่อเหล่านักสะสม และผู้หลงใหลในความเป็นเอกลักษณ์ของ Ferrari ที่มุ่งเน้นไปยังประสิทธิภาพซึ่งหาใครมาเทียบเคียงไม่ได้ มีการนำนวัตกรรมทางเทคโนโลยีมาใช้กับทั้งเครื่องยนต์, ระบบไดนามิคส์ของรถ และอากาศพลศาสตร์ เพื่อยกระดับสมรรถนะของรถให้สูงขึ้นอีกขั้น
ผู้ขับจะรู้สึกเป็นหนึ่งเดียวกับรถเมื่ออยู่หลังพวงมาลัยของทั้ง 812 Competizione และ 812 Competizione A ไม่ว่าจะบนถนน หรือในสนามแข่ง รับประกันได้ว่ารถจะตอบสนองต่อทุกการควบคุมอย่างฉับพลันแม้ในการขับขี่ที่จริงจังในสนามแข่งก็ตาม มั่นใจได้ว่าผู้ขับจะได้รับขีดสุดแห่งความสนุกขณะขับขี่ในทุกย่านความเร็วด้วยระบบเลี้ยวอิสระ 4 ล้อ ที่ให้ความคล่องตัว และแม่นยำเป็นพิเศษขณะเข้าโค้ง
812 Competizione และ 812 Competizione A มาพร้อมกับขุมพลัง V12 ที่เร้าใจ ซึ่งพัฒนาต่อยอดมาจากเครื่องยนต์ที่คว้ารางวัลมามากมาย รุ่นเดียวกับที่ใช้ใน 812 Superfast จนได้ผลลัพธ์เป็นขุมพลัง V12 แบบไม่มีระบบอัดอากาศ ที่ทำกำลังสูงสุดได้ถึง 830 แรงม้า มอบความทรงพลังร่วมด้วยความตื่นเต้นเร้าอารมณ์ และเสียงคำรามตามแบบฉบับของ Ferrari V12 อันเป็นที่รู้จักคุ้นเคยกันเป็นอย่างดี การเพิ่มกำลังให้แก่เครื่องยนต์ซึ่งมีความจุกระบอกสูบเท่าเดิมที่ 6.5 ลิตร เช่นเดียวกับใน 812 Superfast หลายชิ้นส่วน จึงได้รับการปรับเปลี่ยนทางวิศวกรรมใหม่ เพื่อให้ได้มาซึ่งเรดไลน์ที่สูงขึ้นจนทำสถิติใหม่ ร่วมด้วยการเพิ่มประสิทธิภาพการไหลของระบบไอดี และห้องเผาไหม้ ตลอดจนลดความเสียดทานภายในเครื่องยนต์ให้น้อยลง
รอบเครื่องสูงสุดทำได้ถึง 9,500 รตน. เมื่อรวมกับแรงบิดที่เพิ่มขึ้นจากการออกแบบองค์ประกอบหลักของเครื่องยนต์ใหม่ อาทิ ก้านสูบ, ลูกสูบ และเพลาข้อเหวี่ยง เป็นต้น ก้านสูบไททาเนียมมีน้ำหนักเบากว่าแบบที่ทำจากเหล็กถึง 40 % ในขณะที่ทำให้ความแข็งแรงทนทานในระดับเดียวกัน สลักลูกสูบเคลือบด้วย DLC (Diamond-like Carbon ฟีล์มเคลือบผิวด้วยคาร์บอน ที่มีคุณสมบัติคล้ายเพชร) เพื่อลดค่าแรงเสียดทาน จึงช่วยเพิ่มสมรรถนะ, ลดอัตราสิ้นเปลืองเชื้อเพลิง และลดการสึกหรอ การปรับแต่งยังรวมไปถึงการใช้เพลาข้อเหวี่ยงซึ่งเบากว่าเดิม 3 % ที่ได้รับการปรับสมดุลใหม่
จุดที่ถูกพัฒนามากที่สุด คือ ฝาสูบที่ออกแบบใหม่หมด แคมชาฟท์ (ซึ่งเคลือบด้วย DLC) จะทำการเปิด/ปิดผ่านชุดกระเดื่องกดวาล์วเคลือบ DLC ซึ่งพัฒนามาจากรถแข่ง F1 ของ Ferrari และปรับใช้กับเครื่องยนต์นี้โดยเฉพาะ โดยใช้ระยะยกแคมชาฟท์ที่สูงขึ้นกว่าเดิม
เพื่อให้แน่ใจว่าเครื่องยนต์จะได้รับปริมาณอากาศที่ถูกต้องในทุกความเร็วรอบเครื่อง ระบบไอดีจึงได้รับการออกแบบใหม่ทั้งหมด ท่อร่วมไอดี และท่อนำอากาศมีขนาดกะทัดรัดขึ้น เพื่อลดความยาวโดยรวมของระบบ ทั้งยังได้พละกำลังมากขึ้นที่รอบสูงๆ ในขณะที่แรงบิดจะเพิ่มสูงขึ้นในทุกย่านความเร็วรอบจากการใช้ท่อร่วมไอดีแบบแปรผัน ที่ปรับความยาวท่อได้อย่างต่อเนื่องตามลำดับการจุดระเบิดของเครื่องยนต์ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพสูงสุดในการประจุอากาศเข้ากระบอกสูบ ผลที่ได้ คือ ขุมพลังที่เร่งขึ้นสู่เรดไลน์ได้อย่างรวดเร็วโดยไม่มีสะดุดขาดตอน
ทีมวิศวกรพัฒนาปั๊มน้ำมันเครื่องแบบแปรผันที่สามารถปรับแรงดันน้ำมันได้อย่างต่อเนื่องตลอดย่านการทำงานของเครื่องยนต์ เพื่อลดแรงเสียงทาน และการสูญเสียกำลัง ทั้งยังช่วยเพิ่มประสิทธิภาพโดยรวมของเครื่องยนต์อีกด้วย อีกส่วนสำคัญที่ต้องกล่าวถึงก็คือ การใช้น้ำมันเครื่อง (Shell Helix 5W40) ที่มีความหนืดต่ำกว่าที่เคยใช้ในขุมพลัง V12 อื่นๆ และปรับปรุงการไหลเวียนของน้ำมันเครื่องใหม่ทั้งหมด
ระบบจ่ายน้ำมันเชื้อเพลิงแบบ Direct Injection ถูกพัฒนาระบบควบคุมการทำงานขึ้นใหม่ เพื่อให้สอดคล้องกับกฎระเบียบมาตรฐานการปล่อยมลพิษที่เข้มงวดมากกว่าเดิม มีการปรับไทมิง และปริมาณการจ่ายน้ำมัน ตลอดจนเพิ่มแรงดันในการฉีดเชื้อเพลิงใหม่ เพื่อลดมลพิษ และฝุ่นละอองขนาดเล็กให้น้อยลง โดยเฉพาะอย่างยิ่งในขณะที่เครื่องยนต์ยังมีความร้อนไม่ถึงอุณหภูมิทำงาน
ระบบจุดระเบิดถูกควบคุมอย่างแม่นยำจาก ECU ซึ่งมีระบบตรวจวัดไอออนเพื่อควบคุมจังหวะจุดระเบิด โดยระบบมีทั้งฟังค์ชันจุดระเบิดครั้งเดียว หรือหลายครั้งเพื่อให้ได้มาซึ่งแรงบิดที่ต่อเนื่อง และราบรื่น นอกจากนั้น ECU ยังควบคุมการเผาไหม้ในกระบอกสูบเพื่อให้แน่ใจว่าเครื่องยนต์จะทำงานได้อย่างเต็มประสิทธิภาพ ด้วยการตรวจวัดค่าออคเทนของน้ำมันเชื้อเพลิงที่ถูกนำมาใช้กับเครื่องยนต์
เพื่อคงเสียงคำรามของ Ferrari V12 ต่างคุ้นเคยเป็นอย่างดี ในขณะที่จำเป็นต้องติดตั้ง GPF (Gasoline Particulate Filter ตัวกรองฝุ่นละอองน้ำมันเบนซิน) เข้าไปยังระบบไอเสีย เพื่อให้เป็นไปตามมาตรฐานกฎระเบียบล่าสุดของการควบคุมมลพิษ ทีมวิศวกรจึงใช้ท่อไอเสียแบบใหม่ล่าสุดที่เป็นนวัตกรรม ช่วยแก้ไขปัญหาเรื่องเสียงย่านความถี่ กลาง/สูง
ปลายท่อไอเสียมองเห็นได้เด่นชัด เพื่อเน้นย้ำถึงภาพลักษณ์ของรถที่ได้แรงบันดาลใจมาจากสนามแข่ง ทว่าไม่ลดทอนความสง่างามอันเป็นเอกลักษณ์สำคัญของ Ferrari ลงแม้แต่น้อย นอกจากนั้น ยังติดตั้งเรโซเนเตอร์เข้าไปอีกหนึ่งคู่ที่ท่อไอดี เพื่อเพิ่มความถี่เสียงของเครื่องยนต์ให้ไพเราะยิ่งขึ้น จนเกิดเป็นการหลอมรวมอย่างสมบูรณ์แบบระหว่างเสียงจากปลายท่อไอเสีย และระบบไอดี
ทั้ง 812 Competizione และ 812 Competizione A มาพร้อมกับชุดเกียร์ 7 จังหวะ คลัทช์คู่ ที่จะยกระดับสมรรถนะให้ถึงขีดสูงสุด และไม่เคยมีมาก่อนในรถ V12 การปรับระบบควบคุมใหม่ ช่วยลดระยะเวลาขณะเปลี่ยนเกียร์ลงถึง 5 % และแม้จะใช้อัตราทดเกียร์เท่ากับรุ่น 812 Superfast แต่รถรุ่นใหม่ทั้งสองนี้ก็มีความเป็นสปอร์ทมากกว่า จากรอบเครื่องที่เร่งได้สูงขึ้นอีก 500 รตน. ของขุมพลัง V12 ที่ได้รับการปรับแต่งใหม่
สิ่งที่เคียงคู่ไปกับสมรรถนะที่เพิ่มขึ้นก็คือ การปรับปรุงเพิ่มเติมเกี่ยวกับมาตรฐานการปล่อยมลพิษของรถยนต์ด้วยระบบ HELE ที่พัฒนาขึ้นอีกขั้น มาพร้อมกับฟังค์ชัน on-the-move Start & Stop และการปรับระบบควบคุมเครื่องยนต์เพื่อลดการปล่อยมลพิษ ขณะที่ยังคงไว้ซึ่งเสียงที่เป็นเอกลักษณ์ของ Ferrari V12 แม้ขับขี่ด้วยความเร็วต่ำ และเมื่อปิดระบบ HELE เครื่องยนต์จะกลับมาทำงานเต็มประสิทธิภาพพร้อมกับการเปลี่ยนเกียร์ที่ฉับไวอีกครั้ง เพื่อการตอบสนองทันใจ
ระบบระบายความร้อนได้รับการปรับปรุงเพื่อรับมือกับความร้อนซึ่งเกิดจากพลังที่เพิ่มขึ้น 30 แรงม้า ของเครื่องยนต์ ด้วยการใช้ช่องรับอากาศแบบเดี่ยวที่ด้านหน้าเป็นครั้งแรกในรถ Ferrari V12 ช่วยเพิ่มปริมาณอากาศเย็นที่จะถูกส่งไปยังแผงระบายความร้อนได้มากยิ่งขึ้น วงจรระบายความร้อนทั้งหมดก็ถูกพัฒนาเช่นกัน ประสิทธิภาพในการลดความร้อนเพิ่มขึ้น 10 % เมื่อเทียบกับ 812 Superfast นอกจากนั้น ช่องรับอากาศแบบเดี่ยวยังช่วยเพิ่มประสิทธิภาพการไหลของอากาศไปยังท่อร่วมไอดีของเครื่องยนต์ จึงลดการสูญเสียแรงดันอากาศในท่อไอดีลงอีกทางหนึ่ง
อ่างน้ำมันเครื่องออกแบบใหม่เพื่อรับมือกับอัตราการไหลเวียนน้ำมันที่เพิ่มขึ้น (สูงขึ้น 30 %) และแรงเหวี่ยงของรถขณะเร่งความเร็ว ต้องยกความดีความชอบให้แก่การปรับปรุงห้องกั้น และปริมาณการเก็บน้ำมัน อ่างน้ำมันเครื่องใหม่ช่วยลดน้ำมันเครื่องลงได้มากกว่า 1 กก. เทียบกับที่ใช้ใน 812 Superfast ส่งให้ทั้ง 812 Competizione และ 812 Competizione A ใช้น้ำมันเครื่องน้อยที่สุดในบรรดาขุมพลัง V12 ด้วยกัน นอกจากนั้น ยังช่วยลดน้ำหนักของรถลงอีกด้วย
พละกำลัง และรอบเครื่องยนต์ที่เพิ่มสูงขึ้นของ 812 Competizione ทั้ง 2 รุ่น ส่งผลให้มีความร้อนเพิ่มขึ้นตามไปด้วย และเพื่อรับมือกับสิ่งเหล่านี้ การไหลเวียนของระบบระบายความร้อนจึงได้รับการเพิ่มประสิทธิภาพ โดยไม่จำเป็นต้องเพิ่มขนาด และน้ำหนักของแผงระบายความร้อนต่างๆ
ท่อดักอากาศของ 812 Superfast ถูกจัดวางขนาบข้างทั้งซ้าย/ขวาของกระจังหน้า ขณะที่ 812 Competizione ใช้แบบช่องเดียวซึ่งช่วยให้สามารถขยายขนาดของหม้อน้ำให้ใหญ่ขึ้นเท่าที่ตัวรถจะอำนวย ซึ่งไม่เพียงช่วยลดน้ำหนัก แต่ยังลดการสูญเสียอากาศที่จะเข้าไปยังห้องเผาไหม้ได้อีกด้วย นั่นหมายถึง ทำให้ประสิทธิภาพโดยรวมดียิ่งขึ้น
การระบายอากาศร้อนที่ออกมาจากหม้อน้ำได้รับการปรับปรุง โดยจะถูกปล่อยออกมาจากทั้งช่องระบายอากาศที่ฝากระโปรงทั้ง 2 ฝั่งของ “ครีบ” กลาง และช่องระบายอากาศที่อยู่บนปีก พื้นที่บริเวณนี้ให้ประสิทธิภาพในการระบายความร้อนที่ดี และยังเปิดทางให้ทีมออกแบบสามารถลดช่องระบายอากาศใต้ท้องรถลงได้ด้วย ทั้งหมดนี้จึงส่งผลดีต่ออากาศพลศาสตร์ส่วนหน้าของรถ เพิ่มประสิทธิภาพการลดความร้อนเครื่องยนต์ได้มากกว่าใน 812 Superfast ถึง 10 %
รูปทรงของช่องระบายอากาศจากเครื่องยนต์ทั้ง 2 ฝั่งของครีบบนฝากระโปรง ออกแบบมาเพื่อรับประกันว่าจะสามารถจัดการการไหลของอากาศได้อย่างถูกต้อง แม้จะอยู่ใน 812 Competizione A ที่ผู้ขับมักขับขี่แบบเปิดหลังคาก็ตาม เส้นทางการไหลของอากาศร้อนจะเบี่ยงออกจากห้องโดยสาร และวิ่งแยกไปตามแนวด้านข้าง จนกระทั่งสุดตัวถังรถ
การทำให้รถไปได้เร็วขึ้นในโค้ง จำเป็นต้องมีการปรับปรุงในส่วนของพลังเบรค ระบบระบายความร้อนให้กับเบรคต้องระวังไม่ให้ส่งผลกระทบกับทั้งการสร้างแรงกดที่ด้านหน้าของรถ หรือเพิ่มน้ำหนักให้ระบบเบรคเอง เมื่อเทียบกับ 812 Superfast แล้ว ระบบระบายความร้อนแบบ “Aero” ด้านหน้าของคาลิเพอร์เบรคได้รับการออกแบบใหม่ เป็นแบบเดียวกับที่ได้เปิดตัวไปในรุ่น SF90 Stradale ซึ่งมีช่องดักอากาศรวมเป็นชิ้นเดียวกับคาลิเพอร์
การระบายอากาศให้กับคาลิเพอร์ และผ้าเบรคเกิดขึ้นจากการถ่ายเทอากาศซึ่งรับมาจากช่องด้านข้างของกันชนไปยังช่องดักอากาศ จากนั้นกระจายอากาศให้ไหลเข้าไปยังอุปกรณ์ทั้ง 2 ชิ้น โดยธรรมชาติแล้ว วิธีนี้จะให้ผลดีก็ต่อเมื่อเส้นทางการไหลของอากาศวิ่งไปยังพื้นที่ของคาลิเพอร์บริเวณด้านหลังของล้อ ด้วยเหตุนี้ จึงมีการปรับปรุงทั้งในส่วนของช่วงล่างหน้ารอบๆ ดุมล้อ, การจัดวางท่อทางเดิน และอุปกรณ์เกี่ยวเนื่องอื่นๆ
การปรับแต่งใหม่เหล่านี้ ส่งผลให้อุณหภูมิน้ำมันเบรคลดลงอย่างมาก โดยเมื่อเทียบกับ 812 Superfast แล้ว อุณหภูมิทำงานลดลงถึงราว 30 องศาเซลเซียส การเบรคจึงมีความแม่นยำ และให้ความรู้สึกขณะเหยียบเบรคที่สม่ำเสมอ แม้จะใช้งานต่อเนื่องหนักหน่วงในสนามแข่งก็ตาม การถอดชุดกังหัน และท่อดักอากาศของ 812 Superfast ออกไป ตัดน้ำหนักรวมของรถลงได้กว่า 1.8 กก. จึงหักลบกับน้ำหนักที่เพิ่มขึ้นของคาลิเพอร์แบบแอโรได้
ช่องรับอากาศด้านข้างทั้ง 2 ช่องที่ผลิตจากคาร์บอนไฟเบอร์สำหรับระบบเบรค ติดตั้งอยู่ข้างกระจังหลัก ทำหน้าที่ส่งอากาศเย็นไปยังเครื่องยนต์ และห้องโดยสาร ช่องทั้ง 2 นี้เป็นทรงเหลี่ยม และแยกส่วนระหว่างระบายความร้อนเบรคและช่องดักอากาศแบบคู่ ซึ่งช่องดักอากาศจะแบ่งการไหลของอากาศที่เข้ามาจากข้างกันชน เพื่อลดความผันผวนของกระแสลมที่เกิดขึ้นจากด้านนอกของดอกยาง จึงได้แรงกดส่วนหน้ามาจากขอบฝั่งนอกของกันชนอีกทางหนึ่ง
ถัดจากช่องดักอากาศด้านหน้าเป็นส่วนของ Splitter ที่ยื่นออกมาตลอดแนวขอบล่างของกันชน โพรงทั้งสองที่ซุ้มล้อ (ด้านบน และด้านหลัง) ทำหน้าที่ลดแรงดัน และช่วยให้แผ่นปิดใต้ท้องรถทำงานได้อย่างมีประสิทธิภาพ กระแสอากาศจะถูกแยกส่วน และปล่อยออกไปทางช่องด้านหลังของครีบบนฝากระโปรง
การเพิ่มประสิทธิภาพการไหลเวียนของอากาศร้อนเป็นหนึ่งในพื้นฐานที่ใช้พัฒนาส่วนใต้ท้องรถด้านหน้าของ 812 Competizione ครีบระบายอากาศที่มีอยู่ทั้งบนฝากระโปรง และช่องต่างๆ ที่ปีกหน้า ช่วยให้สามารถลดขนาดช่องระบายลมร้อนที่ส่งมาจากหม้อน้ำที่ใต้ท้องรถด้านหน้าลงได้ ทำให้พื้นที่ใต้ท้องรถบริเวณที่ส่งผลกระทบให้เกิดแรงกดด้านลบนี้ มีขนาดเล็กลง ผลลัพธ์ปลายทางที่ได้ก็คือ ระดับแรงกดส่วนหน้ารถที่สูงขึ้น และกระตุ้นให้เกิดการไหลของอากาศบริเวณท้ายรถมากกว่าเดิม
การปรับเปลี่ยนระบบเบรคยังช่วยให้วิศวกรสามารถออกแบบแผ่นปิดใต้ท้องรถด้านหน้าให้ขยายเข้าไปในซุ้มล้อได้ดียิ่งขึ้น การจัดวางแบบใหม่ช่วยเพิ่มที่ว่างรอบๆ ปีกนกล่างด้านหน้า ทำให้สามารถเพิ่มพื้นที่สำหรับสร้างแรงกดได้ ทั้งยังช่วยให้มีพื้นที่สำหรับติดตั้งตัวเรียงอากาศด้านข้างแบบใหม่ทรงตัว S ที่สร้างขึ้นเป็นพิเศษจากการทดสอบในอุโมงค์ลม เพื่อเพิ่มการไหลของกระแสอากาศตามแนวด้านข้าง และทำงานได้สอดคล้องกับดิฟฟิวเซอร์หน้า มิติของดิฟฟิวเซอร์ได้รับการขยายให้ใหญ่ขึ้น และสร้างแรงกดได้มากกว่า 812 Superfast ทั้งยังลดความร้อนคาลิเพอร์ได้ดีขึ้นอีกด้วย องค์ประกอบเหล่านี้ช่วยเพิ่มสมรรถนะอย่างมีนัยยะสำคัญ การเพิ่มประสิทธิภาพช่องระบายอากาศช่วยเพิ่มแรงกดด้านหน้าโดยรวม 30 % ขณะที่ตัวเรียงอากาศด้านข้างช่วยเพิ่มประสิทธิภาพแรงกดขึ้นอีกถึง 40 %
เช่นเดียวกับ 812 Superfast ดิฟฟิวเซอร์ด้านหน้าประกอบด้วย ระบบแอโรปรับได้แบบ Passive ซึ่งจะทำงานเมื่อความเร็วสูงกว่า 250 กม./ชม. ขึ้นไป เมื่อแผงดังกล่าวปรับดิฟฟิวเซอร์ไปจนสุด จะช่วยให้รถสามารถไต่ขึ้นไปยังความเร็วสูงสุดได้
ด้านท้ายที่โดดเด่นของ 812 Competizione มาพร้อมกับการสร้างสรรค์นวัตกรรมต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นเลย์เอาท์ของระบบไอเสีย, รูปทรงของดิฟฟิวเซอร์, ขนาดของสปอยเลอร์, แผงหลัง และดีไซจ์นของกันชน ดิฟฟิวเซอร์หลังได้รับการขยายออกไปจนเต็มพื้นที่ความกว้างของรถ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการไหลอากาศของแอโรไดนามิคใต้ท้องรถ และยังสร้างความแตกต่างจาก 812 Superfast อย่างเห็นได้ชัด
หม้อพักไอเสีย และปลายท่อ ได้รับการปรับเปลี่ยนทางวิศวกรรมเช่นกัน จากปลายท่อทรงกลมคู่แบบคลาสสิคในแต่ละฝั่งของกันชน ตอนนี้เปลี่ยนเป็นปลายเดี่ยวทรงสี่เหลี่ยมผืนผ้าแนวตั้งซึ่งเป็นรูปแบบที่ไม่เคยมีมาก่อน สิ่งนี้มีผลเชิงบวก 2 ประการ ช่วยให้สามารถขยายความกว้างของดิฟฟิวเซอร์ออกไปจนเต็มพื้นที่ และเปิดทางให้สามารถนำโซลูชันที่มีอยู่ในรถแข่ง F1 ตั้งแต่ปี 2010 มาใช้กับโรดคาร์ได้ การปฏิสัมพันธ์แบบไดนามิคส์ระหว่างไอเสีย และอากาศจากดิฟฟิวเซอร์ด้วยรูปแบบนี้ การไหลของแกสร้อนที่ออกมาจากปลายท่อไอเสียจะทำปฏิกิริยากับส่วนโค้งด้านนอกของครีบบนดิฟฟิวเซอร์ เกิดเป็นกระแสอากาศเพิ่มเติมที่ขอบด้านท้ายของครีบ ช่วยกระตุ้นการไหลของอากาศที่เย็นกว่าซึ่งออกมาจากดิฟฟิวเซอร์ จึงได้แรงกดเพิ่มมากขึ้นอีกระดับ
โดยรวมแล้ว ดิฟฟิวเซอร์ที่พัฒนาขึ้นใหม่นี้ เพิ่มแรงกดได้อีก 25 % เมื่อเทียบกับ 812 Superfast และจะพุ่งสูงขึ้นถึง 35 % หากนับรวมการเข้ามามีส่วนร่วมของแกสไอเสีย ในขณะที่ใต้ท้องรถส่วนท้ายช่วยสร้างแรงกดด้านหลังเพิ่มขึ้นอีก 10 %
การพัฒนารูปทรงของดิฟฟิวเซอร์ตามหลักแอโรไดนามิค ช่วยให้พื้นที่ต่างๆ ของรถทำหน้าที่สร้างแรงกดขยายออกไปตามแนวขวางได้ สปอยเลอร์ไม่เพียงสูงกว่าใน 812 Superfast แต่ยังเพิ่มความกว้างออกไปจนเกือบเต็มพื้นที่ความกว้างของตัวรถ ให้แอโรไดนามิคที่สมบูรณ์แบบเมื่อทำงานร่วมกับดิฟฟิวเซอร์เพื่อรับประกันว่าจะได้แรงกดสูงสุดที่ส่วนท้ายรถ ปีกหลังที่ได้รับการออกแบบใหม่ยังได้เปรียบในเรื่องของประสิทธิภาพแอโรไดนามิค รูปทรงแบบนี้ทำให้เกิดเป็นช่องแอโรไดนามิคที่ด้านข้าง ส่งไปยังขอบด้านนอกของสปอยเลอร์ เกิดเป็นการไหลของอากาศที่มีพลังงานสูง
แต่จุดที่สะดุดตาจริงๆ ก็คือ แผงด้านท้ายที่ปิดทึบเต็มพื้นที่ เป็นครั้งแรกที่นำมาใช้กับพโรดัคชันคาร์ ทั้งยังช่วยเปิดทางให้ทีมออกแบบได้นำการออกแบบด้านแอโรไดนามิคที่แปลกใหม่มาใช้ได้ แผ่นปิดนี้ติดตั้งครีบที่ยกตัวสูงขึ้นมาจากพื้นผิวจำนวน 3 คู่ ทำหน้าที่เป็นตัวเรียงกระแสอากาศ โดยตั้งแต่รุ่น LaFerrari (ลาแฟร์รารี) เป็นต้นมา ตัวเรียงกระแสอากาศแบบนี้ถูกนำมาใช้กับพโรดัคชันคาร์เพื่อสร้างแรงกดให้กับแผ่นปิดใต้ท้องรถแบบแผ่นเรียบเท่านั้น อย่างไรก็ตาม โซลูชันนี้ถูกปรับมาใช้กับแผงด้านท้ายของ 812 Competizione เพื่อเบี่ยงทิศทางการไหลของอากาศ และจัดสรรการกระจายแรงดันซึ่งเกิดขึ้นที่ท้ายรถ
ตัวเรียงกระแสอากาศนี้ช่วยเพิ่มประสิทธิภาพให้แก่สปอยเลอร์ และดิฟฟิวเซอร์ โดยสร้างพื้นที่ไล่ระดับแรงดันอากาศที่ไหลมาอย่างรุนแรงทันทีที่อยู่เหนือแผ่นปิดด้านท้าย กำเนิดเป็นกระแสอากาศอยู่บนระนาบขวาง ด้วยวิธีการนี้ ส่วนหนึ่งของการไหลจะเบี่ยงไปทางด้านข้างของสปอยเลอร์ ช่วยเพิ่มการสร้างแรงกดซึ่งเป็นประโยชน์ต่อประสิทธิภาพของดิฟฟิวเซอร์ เฉพาะตัวเรียงกระแสอากาศเพียงอย่างเดียวก็สามารถสร้างแรงกดด้านท้ายได้เพิ่มขึ้นถึง 10 % เมื่อเทียบกับ 812 Superfast
ร่องแนวนอน 3 ช่องในแต่ละข้างของกันชนหลัง เป็นอีกหนึ่งความโดดเด่นสะดุดตา นอกจากชวนให้หวนนึกถึงรุ่น F12tdf แล้ว พวกมันยังซ่อนระบบแอโรไดนามิคไว้ด้วย เนื่องจากบริเวณที่มีแรงดันต่ำซึ่งเกิดจากตัวถังรถ ส่วนหนึ่งของการไหลอากาศจากล้อหลังมีแนวโน้มที่จะวิ่งเข้าหาจุดศูนย์กลางของรถ อย่างไรก็ตาม ด้วยทางออกใหม่นี้ อากาศจะไหลเข้าไปในกันชนผ่านร่องแนวนอนทั้งสาม จากนั้นจะเบี่ยงขึ้นด้านบนด้วยแรงดีดภายใน เกิดเป็นแรงกดที่ท้ายรถ
ในรุ่น 812 Competizione A เพื่อหักลบกับผลกระทบที่เกิดขึ้นจากการไม่มีตัวเรียงกระแสอากาศ องค์ประกอบแบบสะพานเชื่อมถูกนำมาใช้ระหว่างเสาหลังคาทั้ง 2 ฝั่ง ด้วยการเพิ่มประสิทธิภาพอย่างพิถีพิถัน การไหลของอากาศจึงเบี่ยงทิศทางไปยังสปอยเลอร์หลังอย่างมีประสิทธิภาพ คืนค่าแรงกดให้กลับมาให้อยู่ในระดับเดียวกับ 812 Competizione การใช้สะพานเชื่อมนี้ยังช่วยลดแรงต้านที่ปกติจะเกิดขึ้นกับรถแบบ Targa (ทาร์กา) ให้น้อยลงอีกด้วย ตามหลักอากาศพลศาสตร์แล้ว สะพานเชื่อมจะทำหน้าที่เหมือนกับปีกหลัง ดังนั้น แรงดันที่พื้นผิวส่วนบนจึงช่วยสร้างสนามแรงดันเชิงบวก ซึ่งจะเร่งความเร็วของการไหลอากาศไปยังแผงหลัง และช่วยลดแรงต้านได้
ผู้โดยสารจะรู้สึกสบายขณะขับขี่เปิดหลังคา จากการใช้แผ่นกั้นอากาศที่ติดตั้งไว้ด้านบนของกระจกหน้า ซึ่งจะเบี่ยงทิศทางของอากาศให้สูงขึ้นด้านบน ป้องกันไม่ให้กระแสลมเข้าไปรบกวนในห้องโดยสาร นอกจากนั้น แผ่นกั้นยังช่วยขยายช่องว่างที่ครอบคลุมตลอดแนวยาวของห้องโดยสาร เพื่อไม่ให้เกิดแรงดันบริเวณด้านหลังศีรษะของผู้โดยสารอีกด้วย
ช่องแอโรไดนามิค 2 ช่อง ถูกรังสรรค์ขึ้นระหว่างเสาหลังคาทั้งคู่ เพื่อจัดการกับอากาศที่ไหลผ่านกระจกหน้าต่าง และเพื่อบังคับให้วิ่งไปตามทิศทางที่กำหนดไว้ ประเด็นหลัก คือ การลดแรงดันทั้งภายในห้องโดยสาร และเพื่อความเสถียรในการไหลของอากาศ ด้วยกลยุทธ์นี้จึงได้ผลลัพธ์ถึง 2 ชั้น เพราะนอกจากได้ความสะดวกสบายเพิ่มขึ้นแล้ว ยังช่วยเพิ่มประสิทธิภาพทางแอโรไดนามิคจากการไหลของอากาศที่เสถียรแม้ขณะขับขี่เปิดหลังคาก็ตาม
แนวทางในการพัฒนาประสิทธิภาพของ 812 Competizione คือ การเพิ่มระดับสมรรถนะโดยรวม, มอบความสนุกในการขับขี่ยิ่งขึ้น และโฟคัสเป็นพิเศษที่บุคลิกของแฮนด์ลิงที่ต้องมีเอกลักษณ์เฉพาะตัวสมกับความเป็นรถรุ่นพิเศษ
812 Competizione เปิดตัวพร้อมกับหลากหลายนวัตกรรม เพื่อให้แน่ใจว่ารถจะมอบประสิทธิภาพทางไดนามิคส์ได้ตามเป้าที่ตั้งไว้ สิ่งเหล่านี้รวมไปถึงการนำระบบเลี้ยวอิสระ 4 ล้อมาใช้เป็นครั้งแรก, ระบบ Side Slip Control (SSC) เวอร์ชัน 7.0 และยาง Michelin Cup2R ที่ได้รับการพัฒนาขึ้นใหม่
ระบบเลี้ยวอิสระที่ล้อหลัง มาพร้อมกับระบบควบคุมอีเลคทรอนิครุ่นใหม่ที่สามารถสั่งการให้ล้อฝั่งซ้าย และขวาทำงานแยกอิสระจากกัน แทนที่จะเลี้ยวไปพร้อมๆ กัน ความก้าวหน้านี้ช่วยเพิ่มประสิทธิภาพในด้านการควบคุมองศาการเลี้ยวได้ตรงตามความต้องการของแต่ละล้ออย่างเป็นเอกเทศ ทั้งยังให้การตอบสนองที่ฉับไวยิ่งขึ้น
ระบบนี้มุ่งเน้นไปที่การตอบสนองของล้อคู่หน้าต่อคำสั่งที่ได้รับจากพวงมาลัย ทว่ายังคงไว้ซึ่งสัมผัสของแรงยึดเกาะจากล้อหลัง ซึ่งตอบสนองต่อแรงกระทำจากล้อหน้าได้ทันที และยังช่วยจัดการกับแรงเหวี่ยงด้านข้างของรถได้อย่างมีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น ตามความถี่ในการสั่งงานจากพวงมาลัย
ระบบ SSC ที่พัฒนาขึ้นอีกขั้น รวมเอาระบบควบคุมทั้งหมดที่พัฒนาขึ้นโดย Ferrari เข้าไว้ด้วยกัน และใช้การควบคุมแบบไดนามิคร่วมกัน ระบบจึงทำงานได้เป็นหนึ่งเดียว ช่วยเพิ่มประสิทธิภาพได้มากกว่าเดิม Side Slip Control 7.0 ระบบควบคุมเฟืองท้ายอีเลคทรอนิค (E-Diff 3.0), ระบบควบคุมการยึดเกาะ (F1-Trac), ระบบควบคุมช่วงล่าง SCM-Frs, ระบบควบคุมแรงเบรคขณะขับขี่บนขีดจำกัดสูงสุดของรถ (FDE) ซึ่งจะทำงานเมื่อปรับสวิทช์ Manettino ไปที่โหมด Race และ CT-Off, และ Virtual Short Wheelbase 3.0 ซึ่งรวมเอาระบบบังคับเลี้ยวด้วยไฟฟ้า และระบบควบคุมการเลี้ยวอิสระของล้อหลังเข้าไว้ด้วยกัน
นอกจากนี้ ยังมุ่งเน้นเป็นพิเศษในเรื่องของการทำให้รถเบาที่สุดเท่าที่จะเป็นไปได้ ส่งผลให้น้ำหนักโดยรวมลดลงถึง 38 กก. เมื่อเทียบกับ 812 Superfast ส่วนที่ได้รับการโฟคัสที่สุดก็คือ ระบบขับเคลื่อน, เกียร์ และตัวถังภายนอก มีการนำคาร์บอนไฟเบอร์มาใช้กับหลายชิ้นส่วน โดยเฉพาะอย่างยิ่งที่กันชนหน้า, กันชนหลัง, สปอยเลอร์ และช่องรับอากาศ
ระบบขับเคลื่อนมีน้ำหนักลดลงได้จากการใช้ก้านสูบไททาเนียม ร่วมกับเพลาข้อเหวี่ยงที่เบายิ่งขึ้น และแบทเตอรีลิเธียม-ไอออน 12 โวลท์ นอกจากนั้น ดีไซจ์นภายในห้องโดยสารก็ได้รับความใส่ใจอย่างยิ่ง ด้วยการใช้ชิ้นส่วนคาร์บอนไฟเบอร์, ผ้าที่ผลิตขึ้นด้วยเทคนิคพิเศษทำให้มีน้ำหนักเบา และลดฉนวนป้องกันเสียงรบกวนลง ในขณะที่ล้อเป็นฟอร์จอลูมิเนียมน้ำหนักเบา และใช้นอทล้อผลิตจากไททาเนียม
ล้อที่ผลิตจากคาร์บอนไฟเบอร์ มีให้เลือกติดตั้งเป็นครั้งแรกในรถ Ferrari V12 และทำให้น้ำหนักรวมลดลงอีกถึง 3.7 กก. เมื่อเทียบกับล้อฟอร์จน้ำหนักเบาใน 812 Superfast ด้านในของช่องและก้านล้อเคลือบด้วยสีขาวประเภทเดียวกับที่ใช้ในยานอวกาศ เพื่อสะท้อน และกระจายความร้อนที่เกิดจากระบบเบรคประสิทธิภาพสูงของรถ รับประกันได้ว่าจะยังคงใช้งานได้อย่างแม่นยำแม้ถูกใช้งานอย่างหนักหน่วงในสนามแข่ง
812 Competizione ที่มีเอกลักษณ์พิเศษเฉพาะตัว ทำให้ดูแตกต่างจาก 812 Superfast อย่างสิ้นเชิง ทั้งในเรื่องรูปทรง และดุลยภาพ การปรับแต่งทางด้านวิศวกรรมต่างๆ เปิดโอกาสให้ Ferrari Styling Centre ได้ใส่นิยามใหม่ลงไปในตัวรถ ด้วยการเลือกสไตล์ที่ช่วยขับให้ดีไซจ์นของสถาปัตยกรรม, รูปทรงของประติมากรรม และความเป็นสปอร์ทคาร์ขนานแท้ โดดเด่นยิ่งขึ้น
หนึ่งในฟีเจอร์ที่โดดเด่นที่สุดของ 812 Competizione ก็คือ ฝากระโปรงซึ่งคาดด้วยแถบครีบแนวขวางทำจากคาร์บอนไฟเบอร์ นี่เป็นสไตล์ซึ่งจำลองช่องระบายอากาศออกจากห้องเครื่องแบบดั้งเดิม จากมุมมองด้านดีไซจ์นการเลือกที่จะใช้องค์ประกอบแนวขวางแทนที่จะเป็นครีบระบายอากาศทรงปกติที่เห็นได้จาก Ferrari รุ่นอื่นๆ ทำให้ฝากระโปรงดูสะอาดตายิ่งขึ้น และมีมิติกว่าเดิม นอกจากนั้น ยังทำให้ดูเป็นการตกแต่งแบบ 3 มิติ และชวนให้รำลึกถึงแถบคาดแนวขวางบนฝากระโปงของรถแข่ง Ferrari ในอดีตอีกด้วย
แอโรไดนามิคด้านหน้าที่ได้รับการปรับแต่งขึ้นใหม่ ช่วยให้ทีมออกแบบใส่ความดุดันเข้าไปในรถได้มากยิ่งขึ้น เพื่อให้สมกับความเป็นยนตรกรรมสุดพิเศษที่มีจำนวนจำกัด จมูกของรถเผยให้เห็นความทรงพลังด้วยกระจังหน้าที่กว้างเต็มพื้นที่ ขนาบข้างด้วยช่องดักอากาศของระบบเบรคที่โดดเด่นสะดุดตา Splitter คาร์บอนไฟเบอร์เน้นย้ำให้เห็นถึงความกว้าง และหมอบต่ำของรถ บ่งบอกเป็นนัยถึงประสิทธิภาพการยึดเกาะถนนที่ไม่ธรรมดา
จุดที่โดดเด่นชัดเจนที่สุดของความงดงามใน 812 Competizione คือ การเปลี่ยนมาใช้แผงด้านหลังแบบอลูมิเนียมทั้งชิ้นแทนกระจกหลัง ตัวเรียงกระแสอากาศที่ส่วนบนของแผงช่วยเพิ่มประสิทธิภาพด้านแอโรไดนามิคให้กับรถ ขณะที่เอฟเฟคท์แบบโครงกระดูกสันหลังส่งให้ภาพรวมของประติมากรรมการออกแบบเฉิดฉายยิ่งขึ้น
เมื่อรวมกับแถบครีบคาร์บอนไฟเบอร์ที่พาดขวางบนฝากระโปรงหน้า การปรับแต่งเหล่านี้เปลี่ยนภาพรวมของมิติรถไปโดยสิ้นเชิง ดูทะมัดทะแมงยิ่งกว่า 812 Superfast ขับภาพลักษณ์อันทรงพลังของรถทรงฟาสต์แบคให้โดดเด่นชัดเจน การไร้ซึ่งกระจกหลังยังช่วยสร้างมิติที่ต่อเนื่องลื่นไหลระหว่างหลังคา และสปอยเลอร์ ทั้งยังเปิดให้ผู้เป็นเจ้าของได้เลือกตกแต่งรถให้มีเอกลักษณ์ไม่ซ้ำใครยิ่งขึ้นด้วยลายกราฟิคที่คาดยาวจากหัวจรดท้ายรถ
แม้กระทั่งสปอยเลอร์ก็ยังดูสง่างามกว่าเดิม มีความสูงเพิ่มขึ้น ทว่าดีไซจ์นยังคงทำให้ท้ายรถดูแบนกว้างอย่างยิ่ง ช่วยให้มุมมองด้านหลังดูเตี้ยลงอย่างมาก ขอบของสปอยเลอร์ที่เชื่อมต่อเนื่องไปด้านข้าง ตอกย้ำถึงความกำยำ ทั้งยังมีสไตล์ที่ชวนให้นึกถึงรถระดับตำนานของ Ferrari อย่างรุ่น 330 P3/P4 อีกด้วย
ชุดไฟท้ายส่งให้รถมีภาพลักษณ์ดุดันยิ่งขึ้น ทั้งหมดถูกติดตั้งไว้อย่างแนบเนียนใต้สปอยเลอร์ เพื่อให้ความรู้สึกเป็นแนวนอนเมื่อมองจากท้ายรถ กันชนหลังออกแบบขึ้นเป็นพิเศษ และโดดเด่นด้วยช่องระบายอากาศขนาดใหญ่ 2 ช่อง ร่องแอโรไดนามิคทั้งสามที่คาดยาวตลอดแนวด้านข้างของกันชน มีสไตล์ที่โดดเด่น และสอดคล้องกับรูปทรงของตัวเรียงกระแสอากาศที่อยู่บนแผงหลัง
ในส่วนของสถาปัตยกรรมภายในห้องโดยสาร 812 Competizione ยังคงไว้ซึ่งเอกลักษณ์ของ 812 Superfast เก็บรักษาความพิเศษต่างๆ เอาไว้เช่นเดิม ไม่ว่าจะเป็นแดชบอร์ด และแผงประตูแบบ “เล่นระดับ” อันเป็นซิกเนเจอร์ของรถ ตัวแผงประตูถูกปรับให้เบาขึ้นทั้งในส่วนของรูปแบบ และน้ำหนัก เพื่อเน้นความเป็นสปอร์ทของห้องโดยสารให้เด่นชัดยิ่งขึ้น
ช่องเก็บของบนแผงประตูออกแบบให้ยื่นออกมาจากโครงสร้างหลักจนดูราวกับเป็นองค์ประกอบที่ลอยตัวอยู่ ช่วยสร้างสัมผัสที่ดูเบา และดูลื่นไหลต่อเนื่องไปกับส่วนอื่นๆ ในห้องโดยสาร มีเพียงส่วนเชื่อมต่อเล็กๆ บริเวณมือเปิดประตูที่ยังคงเหลือไว้เป็นที่วางแขน แต่ก็ช่วยสร้างไดนามิคที่กำยำให้กับแผงประตูได้เป็นอย่างดี
ร่องเกียร์ที่เป็นเอกลักษณ์อันโด่งดังบนพื้นที่กลางห้องโดยสาร คือ ส่วนที่เชื่อมโยงอดีต และอนาคตของ Ferrari เข้าไว้ด้วยกัน นับเป็นครั้งแรกที่ถูกนำมาใช้กับยนตรกรรม V12 และยังสะท้อนให้เห็นจิตวิญญาณของ 812 Competizione และประวัติศาสตร์ของแบรนด์ได้ชัดเจน
Ferrari Styling Center นำส่วนท้ายรถ 812 Competizione A ที่ได้รับการปรับแต่งใหม่ เสาหลังคาแบบลอยตัว ผสมผสานกลมกลืนกับหน้ารถทรงลูกศรที่เกิดจากการใช้ครีบบนฝากระโปรง ทั้งยังให้ความรู้สึกราวกับรถกำลังพุ่งไปข้างหน้า และช่วยให้ภาพรวมของรถดูแตกต่างจากรุ่นตัวถังคูเปอย่างชัดเจน
จุดศูนย์ถ่วงของรถที่ดูเตี้ยลง โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อมองจากด้านข้าง ไม่เพียงเพราะหลังคา และกระจกหน้าทรงโอบโค้งที่ลื่นไหลต่อเนื่องไปยังกระจกข้างเท่านั้น แต่ยังเนื่องมาจากเสาหลังคาแบบลอยตัวที่ต่ำกว่าในรุ่น 812 Competizione อีกด้วย เมื่อเปิดหลังคาส่วนหนึ่งของโรลล์บาร์จะยื่นขึ้นมาเหนือส่วนอื่นๆ ของตัวรถ แต่เนื่องจากเป็นคาร์บอนไฟเบอร์ โรลล์บาร์นี้จึงกลายเป็นองค์ประกอบเสริมอันงดงาม และไม่ลดทอนภาพลักษณ์ที่หมอบต่ำของเสาหลังคาลงแม้แต่น้อย
เมื่อปิดหลังคา โรลล์บาร์จะเชื่อมต่อแนบเนียนไปกับโครงสร้างของหลังคาจนดูราวกับเป็นชิ้นเดียวกัน ตัวแผ่นหลังคาผลิตจากคาร์บอนไฟเบอร์เพื่อให้ดูกลมกลืนไปกับโรลล์บาร์ และเมื่อเปิดหลังคาออก ตัวหลังคาสามารถเก็บไว้ในช่องที่มีรูปทรงแบบเดียวกับตัวหลังคาพอดี การจัดเก็บที่ง่ายดายนี้ หมายถึง สามารถเพลิดเพลินกับการขับขี่ได้ในทุกสภาพอากาศโดยไม่ต้องกังวลใดๆ
สำหรับ 812 Competizione และ 812 Competizione A โปรแกรมการบำรุงรักษาตามปกติทั้งหมดในช่วง 7 ปีแรกของรถ การบำรุงรักษาตามกำหนดเวลานี้เป็นบริการพิเศษที่ช่วยให้ลูกค้ามั่นใจได้ว่ารถของท่านจะมีประสิทธิภาพสูงสุดและมีความปลอดภัยตลอดเวลา บริการพิเศษนี้มีให้สำหรับผู้ที่ซื้อ Ferrari มือสองด้วยเช่นกัน
การบำรุงรักษาตามปกติ (ตามระยะทาง 20,000 กม. หรือปีละครั้ง ไม่จำกัดระยะทาง) อะไหล่แท้ และการตรวจเชคอย่างพิถีพิถันโดยเจ้าหน้าที่ที่ได้รับการฝึกอบรมโดยตรงที่ศูนย์ฝึกอบรมของ Ferrari ในมาราเนลโล โดยใช้เครื่องมือวินิจฉัยที่ทันสมัยที่สุด บริการนี้ครอบคลุมทั่วโลก รวมถึงตัวแทนจำหน่ายอย่างเป็นทางการทั้งหมด
โปรแกรมการบำรุงรักษานี้ จะขยายขอบเขตของบริการหลังการขายที่เสนอโดย Ferrari เพื่อสร้างความพึงพอใจให้แก่ลูกค้าที่ต้องการรักษาประสิทธิภาพ และความเป็นเลิศ อันเป็นเอกลักษณ์ของรถยนต์ทุกคันที่สร้างขึ้นจากโรงงานในมาราเนลโล
ข้อมูลจำเพาะ Ferrari 812 Competizione
มิติ และน้ำหนัก
ยาว/กว้าง/สูง (มม.) 4,696/1,971/1,276
ฐานล้อ (มม.) 2,720 มม.
ช่วงล้อหน้า/หลัง (มม.) 1,672/1,645
น้ำหนัก (กก.) 1,487
เครื่องยนต์
แบบ เบนซิน วี 12 สูบ (65°)
ความจุ (ซีซี) 6,496
กระบอกสูบ/ช่วงชัก (มม.) 94/ 78
กำลังสูงสุด (แรงม้า/รตน.) 830/9,250
แรงบิดสูงสุด (กก.-ม./รตน.) 70.6/7,000-9,500
อัตราส่วนกำลังอัด 13.5:1
ความจุถังน้ำมันเชื้อเพลิง 92 ลิตร
ระบบส่งกำลัง
เกียร์ (จังหวะ) 7 แบบ F1 DCT
ระบบควบคุมด้วยอีเลคทรอนิคส์
PCV 3.0 (Passo Corto Virtuale-Virtual Short Wheelbase) พร้อมระบบเลี้ยวอิสระ 4 ล้อ, ESC, ABS/EBD แบบสมรรถนะสูง, F1-Trac, E-Diff3, SCM-E คอยล์คู่, SSC (Side Slip Control) 7.0
น้ำหนักต่อแรงม้า 1.79 กก./แรงม้า การกระจายน้ำหนัก หน้า/หลัง 49 %/51 % ล้อหน้าขนาด 20x10 นิ้ว ยาง 275/35 ZR20 ล้อหลังขนาด 20x11.5 นิ้ว ยาง 315/35 ZR20 เบรคคู่หน้าขนาด 398x223x38 มม. หลัง 360x233x32 มม.
สมรรถนะ
ความเร็วสูงสุดมากกว่า 340 กม./ชม.
อัตราเร่ง 0-100 กม./ชม. 2.85 วินาที
อัตราเร่ง 0-200 กม./ชม. 7.5 วินาที
สถิติเวลาต่อรอบสนาม Fiorano 1 นาที 20 วินาที
รายละเอียดเพิ่มเติม บริษัท คาวาลลิโน มอเตอร์ จำกัด
ABOUT THE AUTHOR
Thanasan Saowamol
ลุงหนึ่ง ฟอร์มูลา ศึกษาวิชาตำรารถมานานกว่า 30 ปี ผ่านร้อนหนาว ตั้งแต่ ยุคเครื่องยนต์ มาถึงยุคมอเตอร์ จะว่าเวอร์ ก็เจอมาหมด
ภาพโดย : Ferrariคอลัมน์ Online : รถใหม่รอบโลก