ครม. อนุมัติร่างกฎกระทรวงฯ รถยนต์ส่วนบุคคลไม่เกิน 7 คน จดทะเบียนให้บริการขนส่งผู้โดยสารรับจ้าง ผ่านแอพพลิเคชันได้อย่างถูกกฎหมาย ด้านคมนาคม เร่งออกกฎกระทรวง คาดมีผลบังคับใช้ภายในอีก 30 วันกระทรวงคมนาคม เปิดเผยว่า คณะรัฐมนตรี (ครม.) มีมติอนุมัติร่างกฎกระทรวงว่าด้วยรถยนต์รับจ้างบรรทุกผู้โดยสารไม่เกิน 7 คนผ่านระบบอิเล็กทรอนิกส์ พ.ศ. ... ตามที่กระทรวงคมนาคมเสนอ โดยเป็นการอนุญาตให้รถยนต์ส่วนบุคคลมาจดทะเบียนเปลี่ยนประเภทเป็นรถยนต์รับจ้าง ซึ่งการรับจ้างผ่านระบบอีเลคทรอนิคส์ เพื่อให้เป็นทางเลือกสำหรับประชาชนในการให้บริการ และส่งเสริมให้ผู้ขับรถยนต์ดังกล่าว สามารถประกอบอาชีพได้ถูกต้องตามกฎหมาย ทั้งนี้ เหตุผลและความจำเป็นของการออกกฎกระทรวงฉบับดังกล่าว เนื่องจากปัจจุบันการให้บริการการเดินทางโดยการเรียกใช้บริการผ่านระบบอีเลคทรอนิคส์เป็นที่นิยมของประชาชน ซึ่งรถยนต์ที่นำมาให้บริการบางส่วนยังไม่สามารถนำมาจดทะเบียนได้ตามประเภทที่กฎหมายกำหนด ดังนั้น จึงเห็นสมควรกำหนดให้มีรถยนต์รับจ้างบรรทุกคนโดยสารไม่เกิน 7 คน ผ่านระบบอีเลคทรอนิคส์ขึ้นอีกแบบหนึ่งของรถยนต์รับจ้าง ด้านกระทรวงคมนาคม โดยกรมการขนส่งทางบก (ขบ.) จะมีการจัดทำประกาศตามกฎกระทรวง กําหนดหลักเกณฑ์ วิธีการ เงื่อนไข การรับรองผู้ให้บริการ และแอพพลิเคชัน ที่จะนํามาให้บริการ ให้แล้วเสร็จภายใน 30 วัน ซึ่งภายหลังออกประกาศแล้ว การขออนุญาตใช้แอพพลิเคชัน และผู้ขับขี่จะต้องมีใบอนุญาตขับขี่รถรับจ้างสาธารณะ สำหรับตัวรถยนต์ ที่จะนำมาเปลี่ยนประเภทเป็นรถยนต์รับจ้างผ่านระบบอีเลคทรอนิคส์ ต้องมีอายุใช้งานได้ไม่เกิน 9 ปี แบ่งออกเป็น 3 ประเภท ได้แก่ 1. ขนาดเล็ก (เครื่องยนต์ 50-90 kW) เช่น Nissan March (นิสสัน มาร์ช), Toyota Vios (โตโยตา วีออส), Honda City (ฮอนดา ซิที), Mitsubishi Mirage (มิตซูบิชิ มิราจ) เป็นต้น 2. ขนาดกลาง (เครื่องยนต์ 90-120 kW) เช่น Toyota Altis (โตโยตา อัลทิส), Honda Civic (ฮอนดา ซีวิค) เป็นต้น 3. ขนาดใหญ่ (เครื่องยนต์มากกว่า 120 kW) เช่น Honda Accord (ฮอนดา แอคคอร์ด), Toyota Fortuner (โตโยตา ฟอร์ทูเนอร์) เป็นต้น ทั้งนี้ จะมีลักษณะเป็นรถเก๋ง, แวน 2 ตอน หรือ 3 ตอนก็ได้ โดยต้องทำประกันภัยเพิ่มเติมเพื่อคุ้มครองสวัสดิภาพของผู้โดยสาร และติดเครื่องหมายแสดงการใช้แอพพลิเคชัน ในส่วนอัตราค่าโดยสาร รถขนาดเล็ก, กลาง กำหนดให้ไม่เกินอัตรารถแทกซีในปัจจุบัน รถขนาดใหญ่ กำหนดให้ไม่เกินอัตราของรถแทกซี VIP ในปัจจุบัน มีค่าบริการเพิ่มเติมกรณีอื่นได้ แต่ต้องไม่เกิน 200 บาท โดยรัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคมจะเป็นผู้ประกาศกำหนดอัตราค่าโดยสาร ด้านผู้ให้บริการแอพพลิเคชัน ต้องมีคุณสมบัติตามเงื่อนไข และหลักเกณฑ์ที่กำหนดในร่างกฎกระทรวง ได้แก่ 1. เป็นนิติบุคคลที่จดทะเบียนในประเทศไทย 2. มีทุนจดทะเบียนตามที่กำหนดในประกาศ คือ ไม่ต่ำกว่า 5 ล้านบาท 3. มีสถานที่ประกอบการในประเทศไทย 4. มีความพร้อมในการให้บริการตลอด 24 ชั่วโมง 5. ไม่เคยถูกเพิกถอนการได้รับอนุญาตเป็นผู้ให้บริการระบบ GPS ตามกฎมายของกรมการขนส่งทางบก