จะรถเก่า หรือรถใหม่ก็ต่อภาษีรถออนไลน์ได้แล้ว ทั้งนี้ เพื่อเป็นการเพิ่มความสะดวกให้แก่ผู้ใช้รถ ไม่ต้องเดินทาง ใช้เวลาไม่นาน ต่อที่ไหนก็ได้ “autoinfo.co.th” มีขั้นตอนการต่อภาษีรถยนต์ออนไลน์ ปี 2564 เเบบง่ายๆ ทำได้เอง มาฝากสิ่งที่ต้องมีในการต่อภาษีรถยนต์ แบบออนไลน์ 1. รถยนต์ที่มีอายุการใช้งานเกิน 7 ปี ต้องตรวจสภาพรถ ที่ ตรอ. เรียบร้อย 2. พรบ. ประกันภัยคุ้มครองผู้ประสบภัยจากรถ หากท่านยังไม่มีสามารถซื้อได้ในเวบไซท์ของกรมการขนส่งทางบก ในขั้นตอนการต่อทะเบียนออนไลน์ได้ ขั้นตอนต่อภาษีรถยนต์ออนไลน์ ปี 2564 ต้องทำยังไง ? 1. เข้าเวบไซท์ e-service ของกรมการขนส่งทางบก (www.eservice.dlt.go.th) จากนั้นกด “ลงทะเบียนสมาชิกใหม่” (สำหรับผู้ที่ยังไม่เคยยื่นชำระภาษีออนไลน์ ต้องสมัครสมาชิกก่อน) 2. หน้าลงทะเบียน กรอกข้อมูลส่วนตัวให้ครบ สามารถเลือกให้เป็นที่อยู่เดียวกับที่อยู่ปัจจุบันได้ จากนั้นกด “บันทึก” 3. กรอกรายละเอียดเกี่ยวกับรถที่ต้องการต่อภาษี ประเภทรถ,จังหวัด และเลขทะเบียนรถ จากนั้นกด “ลงทะเบียนรถ” (ถ้าเป็นรถเก่าจะต้องผ่านการตรวจสภาพรถจากสถานตรวจสภาพรถเอกชน (ตรอ.) ก่อน) เมื่อกรอกรายละเอียดเกี่ยวกับรถเสร็จแล้วให้ไปกดช่อง “ยื่นภาษี” 4. ระบุข้อมูลรถให้ครบ แล้วกดปุ่ม “กรอกสถานที่จัดส่งเอกสาร” 5. ระบุที่อยู่ในการจัดส่งเอกสารให้ถูกต้อง จากนั้นกดปุ่ม “เลือกวิธีการชำระเงิน” 6. เลือกวิธีการชำระเงิน โดยจะมี 3 วิธี 1. ชำระเงินโดยหักบัญชีเงินฝาก ต้องมีบัญชีเงินฝาก และเป็นสมาชิกใช้บริการโอนเงินผ่านระบบอินเตอร์เนทกับธนาคาร ซึ่งจะต้องเสียค่าธรรมเนียมธนาคาร 20 บาท/รายการ ธนาคารที่ร่วมโครงการได้แก่ ธ.กรุงไทย ธ.กรุงศรีอยุธยา และ ธ.ยูโอบี 2. ชำระเงินโดยบัตรเครดิท/บัตรเดบิท จะต้องเสียค่าธรรมเนียมบัตรเครดิท 2 % รวม Vat 7 % ของค่าธรรมเนียม ธนาคารที่ร่วมโครงการได้แก่ ธ.กรุงเทพ และ ธ.กรุงศรีอยุธยา 3. เคาน์เตอร์บริการ ชำระเงินโดยพิมพ์ใบแจ้งชำระภาษีรถ แล้วนำไปชำระเงิน ณ เคาน์เตอร์, ตู้ ATM ที่ร่วมโครงการ ธ.กรุงไทย, ธ.กรุงเทพ, ธ.ธนชาต, ธกส., ธ.ซีไอเอ็มบี ไทย, ธ.กรุงศรีอยุธยา, ธ.ทหารไทย, ธ.ยูโอบี, ธ.ไทยพาณิชย์, บริษัท เคาน์เตอร์เซอร์วิส จำกัด, ทรู มันนี่ เซอร์วิส และเทสโก โลตัส 7. ตรวจสอบความถูกต้องอีกครั้ง จากนั้นกดปุ่ม “ยืนยัน” 8. ถ้าผู้ใช้งานเลือกวิธีชำระแบบพิมพ์ใบชำระหนี้ โปรแกรมจะแสดงหน้าจอดังรูป โดยจะต้องพิมพ์ใบแจ้งชำระภาษีรถแล้วนำไปชำระ ณ เคาน์เตอร์ หรือตู้ ATM ของธนาคารที่เข้าร่วมโครงการ เมื่อชำระเงินแล้ว กรมการขนส่งทางบกจะส่งใบเสร็จรับเงิน เครื่องหมายแสดงการเสียภาษี และกรมธรรม์ พรบ คุ้มครองผู้ประสบภัยจากรถ ให้ผู้ชำระเงินทางไปรษณีย์ (สำหรับป้ายภาษีติดหน้ารถ ทางกรมการขนส่งทางบกจะส่งมาทาง EMS โดยจะใช้เวลาประมาณ 3-5 วันทำการ) การตรวจสอบสถานะ สามารถตรวจสอบสถานะการดำเนินการยื่นชำระภาษี สถานะการจัดส่งเอกสาร หมายเลข EMS เลขกรมธรรม์ หรือปัญหาจากการยื่นชำระ ได้ที่เมนู “ตรวจสอบผลการชำระภาษี/เปลี่ยนช่องทางชำระเงิน” โดยกรมการขนส่งทางบกแจ้งไว้ว่ารวมระยะเวลาตั้งแต่ชำระเงินค่าภาษีสำเร็จถึงวันที่ได้รับเอกสารจากไปรษณีย์ ใช้เวลาประมาณ 5-10 วันทำการ รวมถึงสามารถชำระภาษีล่วงหน้าได้ไม่เกิน 90 วันก่อนวันครบกำหนดชำระภาษี สอบถามเพิ่มเติม โทร. 1584 รถแบบไหนต่อภาษีออนไลน์ได้บ้าง ? ประกาศจากกรมการขนส่งทางบก บอกว่า รถที่ต่อภาษีออนไลน์ได้ มีดังนี้ รถยนต์นั่งส่วนบุคคลไม่เกิน 7 คน (รถเก๋ง), รถยนต์นั่งส่วนบุคคลเกิน 7 คน (รถตู้), รถยนต์บรรทุกส่วนบุคคล (รถกระบะ) ที่มีอายุการใช้งานเกิน 7 ปี และจักรยานยนต์ที่มีอายุการใช้งานเกิน 5 ปี นับตั้งแต่วันที่จดทะเบียนครั้งแรก สามารถยื่นชำระภาษีรถประจำปีผ่านช่องทางออนไลน์ได้ แต่รถเก่าจะต้องตรวจสภาพรถจากสถานตรวจสภาพรถเอกชน (ตรอ.) ก่อน อัตราค่าบริการต่อภาษีรถยนต์ออนไลน์ ปี 2564 - ค่าจัดส่งเอกสารทางไปรษณีย์ รายการละ 32 บาท - ค่าธรรมเนียมธนาคาร (กรณีชำระผ่านเคาน์เตอร์บริการ หรือหักบัญชีเงินฝาก) รายการละ 20 บาท - ค่าธรรมเนียมการใช้บัตร (กรณีชำระด้วยบัตรเครดิท) 2 % และภาษีมูลค่าเพิ่ม 7 % ของยอดเงินทั้งหมด อ่านเพิ่มเติม : รถอายุเกิน 7 ปี จ่ายภาษีออนไลน์ได้แล้ว !