สำนักข่าว Nikkei รายงานข่าวจากกรุงโตเกียว ระบุว่า Honda Motor จะเริ่มจำหน่ายรถไฟฟ้า ในตลาดอเมริกาเหนือ ด้วยรถยนต์ที่ผลิตในสหรัฐอเมริกา และใช้ชิ้นส่วนเดียวกันกับรถของ General Motors มากกว่า 50 %อุตสาหกรรมรถยนต์ เริ่มมีการเปลี่ยนแปลงข้อกำหนดของการอนุรักษ์สิ่งแวดล้อม และจากแรงกดดันอื่นๆ โดย Honda มีแผนที่จะจัดหาแนวทางการออกแบบ สำหรับโครงสร้างรถไฟฟ้า และอุปกรณ์จำเป็นที่จะมอบให้ General Motors นำไปพัฒนาเป็นรถไฟฟ้าต่อไป ขณะที่พื้นฐานโครงสร้างของรถยนต์ จะเป็นตัวตัดสินการทำงานของวิศวกรในการพัฒนารถยนต์แต่ละรุ่น ผู้ผลิต จึงจำเป็นต้องการความร่วมมือในการพัฒนาโครงสร้างดังกล่าว เป็นการลดต้นทุน และเป็นการลดแรงกดดันด้านสิ่งแวดล้อม จากผลิตภัณฑ์ที่ออกสู่ตลาด ทำให้บรรดาผู้ผลิตต่างรีบเร่งในการพัฒนารถไฟฟ้า เพื่อลดค่าใช้จ่าย และปรับปรุงรุ่นรถที่ออกจำหน่าย เพื่อความอยู่รอดในตลาด Honda เป็นผู้พัฒนาโครงสร้างพื้นฐาน e:Architecture สำหรับรถไฟฟ้าขนาดกลาง ที่จะออกสู่ตลาดอเมริกาเหนือ ภายในปลายปีนี้ ขณะที่ GM ก็จะใช้โครงสร้างพื้นฐานเดียวกันนี้ ผลิตออกมาเป็นรถในเครือ เพื่อเป็นการแลกเปลี่ยน GM จะแบ่งปันข้อมูลในการพัฒนารถไฟฟ้าขนาดใหญ่ และเป็นผู้จำหน่ายรถไฟฟ้า ที่ใช้ชิ้นส่วนร่วมกันมากกว่า 50 % เมื่อเปรียบเทียบในแง่ค่าใช้จ่าย มีเพียงรูปทรงภายนอก และการตกแต่งภายใน ที่จะแตกต่างกันเท่านั้น โดยปกติแล้ว การพัฒนารถยนต์ไฟฟ้าแต่ละรุ่น จะมีค่าใช้จ่ายราว 50 พันล้านเยน หรือประมาณ 14.5 พันล้านบาท โดยแยกเป็นค่าชุดแบทเตอรี อย่างเดียว ราว 40-50 % ของค่าใช้จ่ายในการผลิตทั้งหมด และการปรับปรุงสายการผลิตในโรงงานแต่ละแห่ง มีค่าใช้จ่ายราว 10-15 พันล้านเยน ต่อโรงงานแต่ละแห่ง หรือประมาณ 2.9-4.35 พันล้านบาท โครงสร้างพื้นฐานจากการแบ่งปัน จะทำให้ทั้ง Honda และ GM สามารถพัฒนามอเตอร์, ชุดแบทเตอรี, อินเวอร์เตอร์ และอุปกรณ์สำคัญๆ ได้ด้วยตัวเอง โดยการร่วมมือในลักษณะนี้ ช่วยประหยัดค่าใช้จ่ายในการสั่งซื้อชิ้นส่วนสำคัญๆ ครั้งละจำนวนมากเช่นกัน GM ระบุว่า จะยกเลิกสายการผลิตรถยนต์เครื่องยนต์สันดาปภายใน และจำหน่ายเฉพาะรถยนต์ที่ปลอดมลภาวะ ทั้งรถยนต์และรถบรรทุก ภายในปี 2578 ขณะที่ค่าย Honda ก็มีแผนงานที่จะขายเฉพาะรถยนต์พร้อมชุดแบทเตอรี และ Fuel Cell ภายในปี 2573 ทางด้านสหภาพยุโรป ก็มีแผนที่จะจำกัดการจำหน่ายรถยนต์เบนซิน และดีเซล รวมทั้งรถยนต์ไฮบริด เริ่มจากปี 2578 ขณะที่ญี่ปุ่น และสหรัฐอเมริกา ก็ประกาศแผนงานเตรียมการเพื่อใช้งานรถไฟฟ้า และพัฒนาการใช้รถไฟฟ้า ในอนาคต โดยเมื่อเดือนสิงหาคม ประธานาธิบดี Joe Biden ก็ประกาศแผนงานระดับชาติ ว่ารถใหม่ครึ่งหนึ่ง ที่จะจำหน่ายในสหรัฐอเมริกา ต้องเป็นรถไฟฟ้าภายในปี 2573 เพื่อร่วมมือในการกำจัดสภาพอากาศ ที่ทำให้โลกร้อน อันเกิดจากมลภาวะค่าไอเสีย โดยในปี 2563 มียอดขายรถไฟฟ้าในสหรัฐอเมริกา เพียง 2 % แต่คณะทำงานของประธานาธิบดี วางแผนที่จะติดตั้งสถานีบริการชาร์จชุดแบทเตอรี และการให้เงินสนับสนุนผู้บริโภค เพื่อเพิ่มจำนวนรถไฟฟ้าให้มากขึ้น ทางด้านผู้ผลิตเอง การเพิ่มจำนวนรุ่นของรถไฟฟ้า ก็เป็นไปได้ค่อนข้างยาก เพราะค่าใช้จ่ายสูง แต่ก็พยายามที่จะเลือกเอาระหว่างการใช้ชุดแบทเตอรีราคาแพง ส่วนผลกำไรที่ยังน้อยมาก เพื่อให้สามารถทำกำไรให้บริษัทได้ ไม่เพียง Honda และ GM เท่านั้น ที่ร่วมมือเพื่อช่วยในการลดมลภาวะ ค่าย Nissan และ Renault รวมถึง Mitsubishi ก็วางแผนที่จะร่วมกันใช้มอเตอร์ไฟฟ้า, ชุดแบทเตอรี และชิ้นส่วนอื่นๆ ให้ได้ถึง 70 % หลังจากที่เพิ่งร่วมกันพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานสำหรับรถไฟฟ้า ขณะที่ Toyota, Suzuki และ Daihatsu ร่วมเป็นพันธมิตร ในการพัฒนารถไฟฟ้าสำหรับรถเพื่อการพาณิชย์ ส่วนค่าย Volkswagen กับ Ford ก็จับมือกันพัฒนารถไฟฟ้าเช่นกัน ในสหรัฐอเมริกา ความร่วมมือระหว่าง Honda และ GM นี้ ไม่ใช่ครั้งแรก เมื่อปี 2560 ต่างจับมือเป็นพันธมิตร เพื่อร่วมกันผลิตระบบ fuel cell พลังงานไฮโดรเจน ส่วนระบบยานยนต์ไร้คนขับ Honda ก็ร่วมลงทุนในระบบ Cruise ของ GM ตั้งใจที่จะค้นคว้าการให้บริการแบ่งปันกันใช้ โดยไม่ต้องมีผู้ขับขี่