ทดลองขับ
รีวิว ทดลองขับ ORA Good Cat พร้อมข้อดี-ข้อด้อย ละเอียดยิบ ดูจบตัดสินใจได้เลย !
"Autoinfo Online" ได้รับเชิญจาก Great Wall Motor (กเรท วอลล์ มอเตอร์) ให้เข้าร่วมกิจกรรม "ORA Good Cat Future Ready Driving Experience" เพื่อร่วมทดลองขับ และทดสอบสมรรถนะ ORA Good Cat (ออรา กูด แคท) รถยนต์ไฟฟ้า 100 % น้องใหม่ของค่าย ก่อนเปิดตัว พร้อมประกาศราคาอย่างเป็นทางการ ในวันที่ 29 ตุลาคมนี้
กิจกรรมจัดขึ้นที่ อิมแพคท์ เลคไซด์ เมืองทองธานี โดยเนรมิตให้เป็นสถานีทดสอบเทคโนโลยีการขับขี่ ก่อนนำคณะสื่อมวลชน ทดลองขับ ORA Good Cat บนถนนจริง เส้นทางกรุงเทพฯ-ฉะเชิงเทรา รวมระยะทางกว่า 147 กม. และปิดท้ายด้วยกิจกรรม ORA Good Cat Challenge ที่ทั้งสนุกสนานท้าทาย ทั้งคน และรถ
หลังจากได้ฟังคณะผู้บริหารกล่าวต้อนรับ และบรรยายข้อมูลผลิตภัณฑ์ รวมถึงแคมเปญของ ORA Good Cat เรียบร้อยแล้ว ก็ถึงเวลาออกเดินทาง โดยสภาพอากาศในวันนี้ มีฝนโปรยปรายลงมาตลอดทั้งวัน รถยนต์ไฟฟ้า ORA Good Cat ที่ให้สื่อมวลชนได้ทดสอบในวันนี้ มีด้วยกัน 2 รุ่น คือ รุ่น "400 Pro" (400 พโร) ที่มาพร้อมแบทเตอรีชนิดลิเธียม-ไอออน ฟอสเฟท (LFP) ความจุ 47.788 กิโลวัตต์ สามารถทำระยะทางวิ่งสูงสุดได้ 400 กม.
และ รุ่น "500 Ultra" (500 อุลทรา) ที่มาพร้อมแบทเตอรีชนิดลิเธียม Ternary (NMC) ความจุ 63.139 กิโลวัตต์ชั่วโมง ทำระยะทางวิ่งสูงสุด 500 กม. ให้กำลังสูงสุดเท่ากันที่ 143 แรงม้า แรงบิดสูงสุด 210 นิวตัน-เมตร และทำความเร็วสูงสุด ได้ถึง 152 กม./ชม. ส่วนรุ่นเริ่มต้น "400 Tech"(400 เทค) ไม่ได้นำมาทดสอบ แต่มีสมรรถนะ และความจุแบทเตอรีเหมือนรุ่น "400 Pro" ทุกประการ
"Autoinfo Online" ได้รุ่น 400 Pro สีแดงหลังคาดำ มาทดสอบ ต้องยอมรับว่าตัวจริงแต่ละสีของ ORA Good Cat นั้นสวยไม่ใช่เล่น โดยแบ่งเป็นสีภายนอก 7 สี และสีภายใน 3 สี ซึ่งจะจำกัดสีไว้เฉพาะในแต่ละรุ่น ดังต่อไปนี้
1. ORA Good Cat 400 Tech มีสีให้เลือกเพียง 2 สี คือ สีดำ (Sun Black) และสีขาว (Hamilton White) ส่วนสีภายในมีสีเดียว คือ สีดำ (เบาะผ้า)
2. ORA Good Cat 400 Pro มีสีให้เลือก 5 สี ได้แก่ สีแดง หลังคาสีดำ (Mars Red with Black Roof), สีขาว หลังคาสีดำ (Hamilton White with Black Roof), สีฟ้า (Coral Blue), สีดำ (Sun Black) และสีขาว (Hamilton White) ส่วนสีภายในมีสีเดียว คือ สีดำ (เบาะหนัง)
3. ORA Good Cat 500 Ultra มีสีให้เลือก 7 สี ได้แก่ สีเขียว หลังคาสีขาว (Verdant Green with Hamilton White Roof), สีเบจ หลังคาสีน้ำตาล (Hazel Wood Beige with Wisdom Brown Roof), สีแดง หลังคาสีดำ (Mars Red with Black Roof), สีขาว หลังคาสีดำ (Hamilton White with Black Roof), สีฟ้า (Coral Blue), สีดำ (Sun Black) และสีขาว (Hamilton White)
ส่วนสีภายในมีให้เลือก 3 สี ได้แก่ สีดำ (เบาะหนัง) สำหรับตัวเลือกทุกสีภายนอก ยกเว้นเลือกตัวรถสีเขียวพร้อมหลังคาสีขาว (Verdant Green & Hamilton White) จะได้ภายในสีเขียว/เทา (เบาะหนัง) และตัวรถสีเบจพร้อมหลังคาสีน้ำตาล (Hazel Wood Beige & Wisdom Brown) จะได้ภายในสีเบจ/น้ำตาล (เบาะหนัง)
การออกแบบภายนอก (Exterior Design)
การออกแบบภายนอก มีความน่ารักสวยงาม ทันสมัย แต่แฝงไปด้วยความคลาสสิคสไตล์ Retro Futuristic ไฟหน้าทรง Cat Eye แบบ LED เต็มรูปแบบ พร้อม Daytime Running Light ดูโดดเด่นเป็นเอกลักษณ์ และมีไฟส่องสว่างหลังดับเครื่องยนต์ Follow Me Home มาให้ด้วย
ไฟท้าย LED แบบ Tail light Strip มาในดีไซจ์นพาดยาวจากซ้ายจรดขวา พร้อมไฟเบรคดวงที่ 3 และไฟตัดหมอกหลังแบบ LED
กระจังหน้าดีไซจ์นเรียบง่าย คลาสสิค พร้อมระบบ Active Air Intake ล้ออัลลอยเป็นแบบสปอร์ทน่ารัก ขนาด 18 นิ้ว สำหรับรุ่น Pro และ Ultra ขนาด 17 นิ้ว สำหรับรุ่น Tech
มิติตัวรถ 1,825x4,235x1,596 มม. (กว้างxยาวxสูง) ระยะฐานล้อ 2,650 มม. ซึ่งยาวที่สุดในรถระดับเดียวกัน และการออกแบบระบบกันสะเทือนด้านหน้า แบบอิสระ แมคเฟอร์สันสตรัท ด้านหลังแบบทอร์ชันบีม พร้อมเหล็กกันโคลง หนึบแน่น ให้การยึดเกาะที่มั่นใจ
การออกแบบภายใน (Interior Design)
ภายในออกแบบได้ดี ดูสวยงาม และประณีต ตามแนวคิด “Intelligent Cockpit with Exquisite Craftsmanship” ซึ่งเป็นผลงานระดับมาสเตอร์พีศ ที่ทำให้เมื่อเห็นแล้ว จะรู้สึกดึงดูดทุกสายตา บริเวณคอนโซลบุหนัง Alcantara พร้อมเดินด้ายสีฟ้า ให้ความรู้สึกสปอร์ท หลังคาเป็นแบบพาโนรามิคซันรูฟ (ยกเว้นรุ่น 400 Tech) เพิ่มพื้นที่แสงสว่าง และอรรถรสในการเดินทางได้มาก
เบาะนั่งถูกออกแบบตามหลักสรีรศาสตร์ บุด้วยหนังที่ให้สัมผัสที่นุ่มสบาย เบาะฝั่งคนขับปรับไฟฟ้า พร้อมฟังค์ชัน Welcome Seat ที่ช่วยให้เข้า/ออกรถได้อย่างง่ายขึ้น และมีระบบนวดไฟฟ้ามาให้ด้วย (เฉพาะรุ่น 500 Ultra) เบาะหลังสามารถพับลงได้ แบบ 60:40 เพิ่มพื้นที่บรรทุกได้สูงสุด 858 ลิตร
มาตรวัดขนาดใหญ่แบบ Interactive Double Screen พาดยาวไปถึงกลางคอนโซลขนาด 25 นิ้ว มีความละเอียดสูง แบ่งออกเป็น หน้าจอแสดงผลการขับขี่แบบดิจิทอล (Full TFT) ขนาด 7 นิ้ว และหน้าจอมัลทิมิเดียพร้อมระบบสัมผัส ขนาด 10.25 นิ้ว ดูทันสมัย แต่ทัชสกรีนยากไปหน่อย
ในส่วนของเครื่องเสียง ต้องบอกว่าอยู่ระดับกลาง เนื่องจากรุ่นที่เราทดสอบ (400 Pro) มีลำโพงเพียง 4 ตัว ที่ติดตั้งบริเวณประตูทั้ง 4 บานเท่านั้น หากเป็นรุ่น 500 Ultra จะเพิ่มสวิทเตอร์บริเวณเสา A มาด้วย เป็น 6 ลำโพง รองรับ Apple CarPlay และ Android Auto ระบบนำทาง และแอพพลิเคชันเพลง เช่น JOOX รวมถึงมีระบบชาร์จโทรศัพท์แบบไร้สาย (Wireless Charging)
การใช้งานระบบต่างๆ ในรถ ไม่ว่าจะเป็นการปรับแอร์ ปรับเครื่องเสียง หรือฟังค์ชันอื่นๆ ต้องใช้เวลาศึกษากันพอสมควร เนื่องจากทุกสิ่งทุกอย่างอยู่ในหน้าจอ 10.25 นิ้ว เกือบทั้งหมด คนออกแบบเลยให้ระบบสั่งการด้วยเสียงเพิ่มมาด้วย ซึ่งเป็นอะไรที่ดีมากๆ การตอบโต้ด้วยเสียงผ่านระบบปัญญาประดิษฐ์ AI ใช้งานง่าย รองรับภาษาไทย เพียงพูดสั่งการด้วยเสียง สามารถควบคุมเครื่องปรับอากาศ ซันรูฟ ระบบนำทาง และมัลทิมีเดียต่างๆ ได้ในประโยคเดียว
การเข้าถึงข้อมูลแบทเตอรีรถไฟฟ้าก็ทำได้ง่าย เช่น ระบบตรวจสอบสถานะปริมาณแบทเตอรี ระบบตรวจสอบสถานะการชาร์จแบทเตอรี ระบบตรวจสอบระยะทางวิ่งคงเหลือ ระบบช่วยเตือนเมื่อแบทเตอรีมีปริมาณต่ำ ระบบช่วยเตือนเมื่อแบทเตอรีมีความร้อนสูง และสามารถอัพเกรดเฟิร์มแวร์ผ่านระบบออนไลน์ (FOTA) ได้ตลอดเวลา
นอกจากนี้ ยังสามารถสั่งการ และควบคุมรถได้จากระยะไกล สามารถควบคุมการเปิด/ปิดการชาร์จ เครื่องปรับอากาศ ลอคและปลดลอคประตู ปิดหน้าต่าง สามารถดูสถานะ และตำแหน่งรถยนต์ กำหนดรัศมีการใช้งานรถ และการแสดงผลการตั้งค่าต่างๆ ของรถได้ รวมถึงระบบ Cockpit Cleaning System ที่ช่วยเปิดการไหลเวียนเพื่อระบายอากาศอัตโนมัติ ช่วยลดปริมาณฝุ่น PM2.5 ผ่านระบบ GWM Application
ORA Good Cat กับสมรรถนะที่พอตัว
ORA Good Cat ขับเคลื่อนด้วยมอเตอร์ไฟฟ้าแบบ Permanent Magnet Synchronous Motor ให้กำลังสูงสุด 105 กิโลวัตต์ หรือ 143 แรงม้า มีแรงบิดสูงสุด 210 นิวตัน-เมตร สามารถทำความเร็วสูงสุดได้ 152 กม./ชม. (ความเร็วสูงสุดที่ทำได้บนมาตรวัดอยู่ที่ 159 กม./ชม.) มีอัตราเร่ง 0-50 กม./ชม. ภายใน 3.8 วินาที และด้วยตัวรถที่โค้งมนทำให้ค่าสัมประสิทธิ์แรงต้านอากาศต่ำเพียง 0.273
จากการทดลองขับทั้งในเมือง และนอกเมือง ORA Good Cat ตอบสนองอัตราเร่งได้ทันใจในทุกความเร็ว สไตล์รถยนต์ไฟฟ้าที่กดปุ๊บมาปั๊บ แต่ก็ไม่ได้แรงจนหลังติดเบาะ โดยสามารถปรับเปลี่ยนโหมดการขับขี่ได้ 5 รูปแบบ ได้แก่ 1. มาตรฐาน เป็นโหมดการใช้งานทั่วไป 2. Sport โหมดนี้จะเปลี่ยนหน้าจอเป็นสีแดง อัตราการตอบสนองคันเร่งจะไว ทำให้ขับสนุกขึ้น 3. ECO โหมดนี้เน้นความประหยัด อัตราการตอบสนองคันเร่งจะช้า ทำให้ขับได้นุ่มนวล รื่นไหล และประหยัดไฟ 4. ECO+ โหมดนี้ต้องเข้าไปปรับในหน้าจอกันหน่อย และต้องเริ่มปรับที่ความเร็วต่ำเท่านั้น สุดท้าย 5. อัตโนมัติ โหมดนี้ผมชอบที่สุด เพราะรถจะเลือกโหมดให้เองอัตโนมัติ หากเห็นว่าช่วงนั้นเราต้องการอัตราเร่ง ระบบจะปรับไปโหมดสปอร์ทให้ หากเรามีพฤติกรรมขับช้า ชิลล์ๆ ระบบก็จะปรับไปที่โหมด ECO ให้โดยอัตโนมัติ
ORA Good Cat ยังมีระบบ Energy Recovery หรือการกู้คืนพลังงานเข้าแบทเตอรี เมื่อถอนคันเร่ง โดยสามารถปรับความหน่วงได้ 3 ระดับ ได้แก่ น้อย, มาตรฐาน และมาก แต่สิ่งที่เหนือความคาดหมาย คือ มีระบบ One Paddle มาให้ด้วย โดยระบบจะหน่วงความเร็วให้เราจนถึงจุดหยุดนิ่ง หมายความว่า สามารถหยุดรถได้โดยไม่ต้องแตะเบรค ซึ่งผมชอบมาก เหมือนกับระบบที่อยู่ใน Nissan Leaf
ในส่วนของช่วงล่าง และระบบรองรับ ORA Good Cat ใช้ช่วงล่างด้านหน้าแบบอิสระ แมคเฟอร์สันสตรัท (MacPherson Strut) พร้อมเหล็กกันโคลง ช่วงล่างด้านหลังเป็นแบบทอร์ชันบีม (Torsion Beam) พร้อมเหล็กกันโคลง ในช่วงความเร็วต่ำ ช่วงล่างถูกปรับเซทให้แข็ง สามารถดูดซับแรงสั่นสะเทือนจากรอยต่อถนนได้ดี ให้ความนุ่มนวลในระดับหนึ่ง แต่เสียงช่วงล่างแอบดังเข้าห้องโดยสารเยอะไปหน่อย ในช่วงความเร็วสูง รถมีอาการโคลงตัวเยอะ คงมาจากน้ำหนักตัวที่มาก (น้ำหนักยังไม่เผยข้อมูล)
ข้อมูลแบทเตอรีใน ORA Good Cat
ORA Good Cat มาพร้อมอุปกรณ์ป้องกันความปลอดภัยทางไฟฟ้ากว่า 416 รายการ มีระบบระบายความร้อนด้วยของเหลวประสิทธิภาพสูง, ระบบตรวจจับ 360 องศา, ระบบป้องกันการชนกันของแบทเตอรี และระบบเตือนแบทเตอรีอัจฉริยะ
อย่างที่บอกไปตอนแรกว่า ORA Good Cat มีแบทเตอรีด้วยกัน 2 ชนิด คือ แบทเตอรีชนิดลิเธียม-ไอออน ฟอสเฟท (LFP) ความจุ 788 กิโลวัตต์ชั่วโมง มีระยะทางวิ่งสูงสุด 400 กม. อยู่ในรุ่น 400 Tech และ 400 Pro และแบทเตอรีชนิดลิเธียม Ternary (NMC) ความจุ 139 กิโลวัตต์ชั่วโมง ระยะทางวิ่งสูงสุด 500 กม. ในรุ่น 500 Ultra ทั้ง 2 แบบ สามารถรองรับการชาร์จแบบเร็วด้วยไฟกระแสตรง (DC) สูงสุด 60 กิโลวัตต์ และการชาร์จไฟบ้านแบบกระแสสลับ (AC) สูงสุด 6 กิโลวัตต์
ระยะเวลาในการชาร์จ
- ชาร์จแบบเร็วด้วยไฟฟ้ากระแสตรง DC (0-80 %) 45 นาที สำหรับรุ่น 400 และ 60 นาที สำหรับรุ่น 500
- ชาร์จแบบเร็วด้วยไฟฟ้ากระแสตรง DC (30-80 %) 32 นาที สำหรับรุ่น 400 และ 40 นาที สำหรับรุ่น 500
- ชาร์จด้วยไฟบ้านแบบ AC 8 ชั่วโมง สำหรับรุ่น 400 และ 10 ชั่วโมง สำหรับรุ่น 500
คุณสมบัติของแบทเตอรี
- แบทเตอรีสามารถใช้งานได้ในสภาพแวดล้อมอุณหภูมิ -30°C ถึง 55°C
- แบทเตอรีสามารถชาร์จไฟได้ในสภาพแวดล้อมอุณหภูมิ -20°C ถึง 55°C
- แบทเตอรีสามารถทำงานได้อย่างเป็นปกติในช่วงความกดอากาศ -150 ถึง 5,000 ม. จากระดับน้ำทะเลปานกลาง และภายใต้สภาวะความชื้นสัมพัทธ์ในอากาศ 2-98 %
- แบทเตอรีมีความสามารถในการป้องกันมาตรฐาน IPX9K และ IP67 ซึ่งสามารถป้องกันน้ำ การกัดกร่อน การชน อัคคีภัย และการกระแทกได้ โดยเมื่อเกิดการกระแทก ระบบไฟฟ้าจะตัดการทำงานภายใน 1 วินาที เพื่อความปลอดภัยของผู้ขับขี่ และผู้โดยสาร
- เซลล์แบทเตอรีถูกห่อหุ้มด้วยกล่องที่มีความแข็งแรงในระดับ 3 มิติ พร้อมการควบคุมอุณหภูมิ และระบบระบายความร้อน
ระบบการช่วยเหลือผู้ขับขี่ และระบบความปลอดภัย (Driver Assistance and Safety Systems)
ORA Good Cat ยังให้ระบบช่วยเหลือการขับขี่แบบอัตโนมัติมาให้ ในระดับ L2+ โดยแบ่งออกเป็น 2 แบบ คือ
1. ระบบการช่วยเหลือผู้ขับขี่ และระบบความปลอดภัยเชิงป้องกัน (Active Safety)
- ระบบควบคุมความเร็วอัตโนมัติแบบแปรผัน (ACC) ระบบนี้มาพร้อมกล้องติดรถยนต์ ADAS ที่ทำงานร่วมกับกับชิพควบคุมการขับเคลื่อนอัตโนมัติ EYEQ4 ของโมบายล์อาย ช่วยควบคุมในช่วงความเร็วที่ถูกกำหนดไว้ รวมถึงการหยุด และรีสตาร์ทกลับไปยังความเร็วที่ตั้งไว้ก่อนหน้า โดยรถจะลดความเร็วลง และหยุดตามคันหน้า และเมื่อรถคันหน้าเคลื่อนตัวหลังจากเบรคภายใน 3 วินาที รถของเราจะเคลื่อนตัวตามคันข้างหน้าอัตโนมัติ โดยจะมีระยะห่างตามที่เรากำหนด
- ระบบควบคุมความเร็วอัตโนมัติ (ICA) ทำงานตามความเร็วที่ผู้ขับขี่ตั้งเอาไว้ แต่จะตรวจจับรถคันหน้าเพื่อรักษาระยะห่างที่ปลอดภัย
- ระบบควบคุมความเร็วอัตโนมัติที่ความเร็วต่ำ (TJA) เป็นระบบควบคุมความเร็วอัตโนมัติเมื่อใช้ความเร็วต่ำ โดยสามารถควบคุมรถให้ติดตามรถด้านหน้า หรือขับต่อไปด้วยความเร็วคงที่ เพื่อลดภาระของผู้ขับขี่
- ระบบเบรคฉุกเฉินอัตโนมัติ บนทางตรง และทางแยก (AEBI) ถือเป็นหนึ่งในระบบที่ดีทีสุด ในระดับ L2+ ที่มาพร้อมระบบการตรวจจับคนเดินถนน และทางแยก โดยสามารถคำนวณระยะทางระหว่างรถ และคนเดินถนนได้แบบเรียลไทม์ มีสัญญาณเตือนด้วยเสียง และการเบรคอัตโนมัติ ช่วยหลีกเลี่ยงการชน หรือลดแรงกระแทก
- การเบรคฉุกเฉินความเร็วต่ำ เมื่อเรดาร์ทำงาน จะตรวจสิ่งกีดขวางทั้งที่หยุดนิ่ง หรือคนเดินถนนที่เคลื่อนที่ในแนวถอยจอด และหากพบว่ามีความเสี่ยงที่จะชน ระบบจะช่วยเบรคให้อัตโนมัติ โดยความเร็วขณะถอยต้องไม่ต้องเกิน 8 กม./ชม.
- ระบบช่วยควบคุมรถให้อยู่ในเลน (LKA) ช่วยควบคุมพวงมาลัยให้รถอยู่ในเลน โดยจะระบุเส้นแบ่งเลนถนนผ่านกล้องที่กระจกหน้ารถ เมื่อคนขับเบี่ยงเลนโดยไม่รู้ตัว ระบบจะช่วยควบคุมพวงมาลัยให้รถอยู่ในเลน เมื่อระบบตรวจสอบพบว่าผู้ขับขี่มีลักษณะการขับขี่ที่ไม่ปลอดภัย ระบบจะแจ้งเตือนด้วยเสียง
- ระบบช่วยเตือนเมื่อรถออกนอกเลน (LDW) แจ้งเตือนเมื่อรถกำลังออกนอกเลน เมื่อรถเบี่ยงออกจากเลนโดยไม่รู้ตัว ระบบจะส่งเสียงเตือนเพื่อให้ผู้ขับขี่มีเวลาตอบสนองมากขึ้น เมื่อผู้ขับขี่มีอาการจาม อ่อนล้า ฯลฯ ซึ่งอาจทำให้รถเบี่ยงออกนอกเลน ระบบจะแจ้งเตือนโดยทันที
- ระบบช่วยรักษาระยะให้อยู่กลางเลน (LCK) ช่วยควบคุมรถให้อยู่กึ่งกลางเลน
- ระบบช่วยควบคุมรถให้อยู่ในเลนในภาวะฉุกเฉิน (ELK) โดยหากมีการตรวจสอบพบรถอีกคันกำลังแล่นมา หรือมีรถแซงขึ้นมาจากอีกเลนหนึ่ง ระบบจะทำการแทรกแซงการทำงานมากขึ้น เพื่อหลีกเลี่ยง หรือลดการชน
- ระบบช่วยเลี่ยงการเข้าใกล้รถใหญ่จากด้านข้าง (WDS) โดยระบบจะตรวจสอบรถบรรทุกขนาดใหญ่ หรือรถที่มีขนาดยาว โดยในระหว่างการแซง ระบบจะรักษาช่องว่างระหว่างรถตามระยะที่เหมาะสม เพื่อหลีกเลี่ยงการปะทะ และจะประคองรถให้กลับสู่เลนเดิมอัตโนมัติ
- การเข้าโค้งอัจฉริยะ (Intelligent Turn) เมื่อระบบควบคุมความเร็วอัตโนมัติแบบแปรผัน (ACC) ทำงาน กล้องจะทำการตรวจสอบความโค้งของถนน และความเร็วจะถูกปรับอัตโนมัติหากจำเป็นต้องลดความเร็วในขณะเข้าโค้งเพื่อความปลอดภัย และเมื่อผ่านโค้งไปแล้ว รถจะกลับเข้าสู่ความเร็วเดิมที่ตั้งไว้
- ระบบช่วยออกตัวบนทางชัน (HSA) โดยเมื่อออกจากจุดที่หยุดนิ่งบนเนินสูงชัน เบรคจะยังคงค้างอยู่ราว 2 วินาที จนกระทั่งคันเร่งทำงานเพื่อป้องกันการถอยหลัง
- ระบบตรวจความดันลมยาง (TPMS) โดยรถจะทำการวัดแรงดันลมยางอย่างต่อเนื่อง และเตือนผู้ขับขี่หากมีแรงดันลมยางล้อใดลดลง
- กล้องแสดงภาพรอบทิศทาง 360 องศา ประกอบไปด้วย กล้องที่มองได้รอบ 4 ตัว ความละเอียดสูง 4 Megapixel โดยระบบจะรวมเอามุมมองภาพทั้ง 4 กล้อง มาสร้างภาพที่มีมุมมอง 360 องศา เพื่อแสดงให้เห็นมุมมองของรถในแบบ “เฮลิคอพเตอร์” และเปิดการทำงานอัตโนมัติเมื่อเข้าสู่โหมดการถอยหลัง โดยสามารถดูได้เมื่อขับรถที่ความเร็ว 15 หรือ 30 กม./ชม. และตอนสตาร์ทรถ
- ระบบช่วยจอดรถอัตโนมัติ 3 รูปแบบ (IAP) ใช้เซนเซอร์ และกล้องในการตรวจสอบเพื่อตรวจจับวัตถุ และเครื่องหมายบริเวณช่องจอด หรือจุดจอดรถ และช่วยทำงานเต็มรูปแบบเพื่อเข้าจอด ทั้งแนวตั้ง แนวนอน หรือ แนวเฉียง โดยเมื่อระบุช่องว่างที่จะนำรถเข้าจอดแล้ว รถจะทำการจอดด้วยตัวเองด้วยการควบคุมพวงมาลัย เบรค และคันเร่ง
- ระบบช่วยเตือนเมื่อมีรถในจุดอับสายตาขณะถอยหลัง (RCTA) เซนเซอร์ช่วยตรวจสอบจุดอับสายตาด้านหลังของตัวรถทั้งด้านซ้าย และด้านขวาของช่องทางเดินรถในขณะถอยหลัง เมื่อกำลังถอยหลังออกจากช่องจอดเข้าสู่ช่องจราจร เซนเซอร์หลังของรถจะทำการเชคด้านซ้าย และขวาของช่องจราจร พร้อมส่งสัญญาณเตือนด้วยเสียง และภาพ หากผู้ขับขี่ยังเพิกเฉย ไม่หยุดรถ ระบบเบรคให้อัตโนมัติในกรณีฉุกเฉิน จะเริ่มทำงานด้วยการลดความเร็ว และหยุดรถเพื่อหลีกเลี่ยงการชน
- ระบบช่วยเตือนความเมื่อยล้าขณะขับขี่ (DFM) ช่วยประเมิน และวิเคราะห์ลักษณะในการขับขี่ เช่น มุมบังคับเลี้ยว การเบรค การควบคุมไฟส่องสว่าง และใบปัดน้ำฝน ระยะเวลาในการขับ หากพบว่ามีลักษณะการขับขี่ที่เหนื่อยล้า หรือหลังจากขับรถด้วยความเร็วเกิน 80 กม./ชม. และขับรถมากกว่า 4 ชั่วโมง ระบบจะเตือนด้วยภาพ และเสียง นาน 20 วินาที ทุกๆ 10 นาที โดยสามารถทำการตั้งค่าใหม่ได้ก็ต่อเมื่อทำการหยุดรถเท่านั้น รถจะทำการแจ้งเตือน และแนะนำให้หยุดพัก
2. ระบบความปลอดภัยเชิงแก้ไข (Passive Safety)
- โครงสร้างตัวถัง ทำจากเหล็กกล้า IronBone™ เหล็กขึ้นรูปร้อนที่มีความแข็งแรงสูงเป็นพิเศษ ที่สามารถต้านทานแรงดึงได้สูงถึง 1,520 Mpa รวมไปถึงเหล็กกล้าความแข็งแรงสูง 65 % และเหล็กเทอร์โมฟอร์ม 8 ชิ้น ซึ่งสามารถดูดซับ และลดแรงกระแทกเพื่อคุ้มครองความปลอดภัยของผู้โดยสารเป็นหลัก
- ถุงลมนิรภัย 6 ตำแหน่ง เพื่อปกป้องผู้โดยสาร เมื่อเกิดอุบัติเหตุ ในกรณีที่ถุงลมนิรภัยทำงาน สัญญาณเตือนอันตรายจะทำงาน ประตูจะถูกปลดลอค และรถจะโทรติดต่อศูนย์ช่วยเหลือฉุกเฉิน และสามารถส่งตำแหน่งเพื่อขอความช่วยเหลือได้
- ได้รับมาตรฐานความปลอดภัย และ China Insurance Research Institute (C-IASI) ในระดับ Good
- ระบบโทรหาเบอร์ฉุกเฉิน เราสามารถตั้งเบอร์โทรออกฉุกเฉินไว้ได้
สรุป ORA Good Cat แม้จะเป็นแบรนด์น้องใหม่ในเมืองไทย แต่ก็ถือว่าเป็นรถไฟฟ้าที่น่าสนใจที่สุดเวลานี้ ด้วยรูปลักษณ์ภายนอกที่น่ารัก ชวนมอง มีระยะทางวิ่งที่ไกลกว่าคู่แข่งในระดับเดียวกัน ฟังค์ชันการใช้งานต่างๆ มากมายจนตกใจ ระบบความปลอดภัยมีมาให้แบบจัดเต็ม
ด้านสมรรถนะการขับขี่นั้น ต้องบอกว่าดีใช้ได้ ช่วงล่างถูกเซทให้ออกแข็งแนวสปอร์ท แต่ด้วยน้ำหนักตัวที่มาก เมื่อขับแล้วกลับรู้สึกเหมือนช่วงล่างนุ่ม ในช่วงความเร็วสูงรถมีเสถียรภาพดีพอตัว เวลาเปลี่ยนเลยกะทันหันตัวรถมีอาการโคลงอย่างชัดเจน เสียงจากช่วงล่างดังเข้าห้องโดยสารมากเกินไปหน่อย แต่สุดท้ายจะน่าซื้อแค่ไหน คงต้องไปลองขับด้วยตัวเอง รวมถึงรอราคาเปิดตัวในวันที่ 29 ตุลาคมนี้ เพื่อประกอบการตัดสินใจ
ข้อดี
- รูปลักษณ์ภายนอกสวยงาม น่ารัก คลาสสิค
- มีระยะทางวิ่งได้ไกลถึง 500 กม. ในรุ่นสูงสุด
- มีฟังค์ชันอัจฉริยะให้ใช้มากมาย จนตกใจ
ข้อด้อย
- ไม่มีระบบปัดน้ำฝนหลัง มีเพียงไล่ฝ้าหลังเท่านั้น
- หน้าจอทัชสกรีนยากไปหน่อย ไม่ค่อยสะดวกเวลาขับรถ
- เสียงของช่วงล่าง เข้ามาในห้องโดยสารเยอะเกินไป
ABOUT THE AUTHOR
วิธวินท์ ไตรพิศ
ดูคุณพ่อจนขับรถได้ตั้งแต่ 8 ขวบ หลงใหลยานยนต์ จนได้วุฒิ Automotive Engineering ติดตัว ปัจจุบันเป็น บก.นักเขียน นักทดสอบรถ และ Instructor ที่พร้อมถ่ายทอดความรู้ แบบไม่มีกั๊ก !
คอลัมน์ Online : ทดลองขับ (บก. ออนไลน์)
คำค้นหา