สถานการณ์ราคาน้ำมันขายปลีกในประเทศที่ปรับตัวขึ้นเรื่อยๆ หลายคนอาจสงสัยว่าโครงสร้างราคาน้ำมันในประเทศไทยนั้น ประกอบด้วยค่าอะไรบ้าง และมีผลต่อการปรับราคาขายขึ้น และลงอย่างไร “autoinfo.co.th” มีคำตอบ..ราคาน้ำมันต่อลิตร ประกอบด้วยอะไรบ้าง ? 1. ต้นทุนเนื้อน้ำมัน (40-60 %) คือ ต้นทุนราคาน้ำมันสำเร็จรูปที่ผลิตจากโรงกลั่น ซึ่งอ้างอิงราคาตามตลาดกลางภูมิภาคเอเชีย (ทั้งน้ำมันเบนซิน และน้ำมันดีเซล) 2. ภาษีต่างๆ (30-40 %) ได้แก่ ภาษีสรรพสามิต ภาษีเทศบาล และภาษีมูลค่าเพิ่ม เพื่อนำมาใช้เป็นงบประมาณในการพัฒนาประเทศ และบำรุงท้องถิ่น โดยภาษีที่จัดเก็บ มีดังนี้ - ภาษีสรรพสามิต : จัดเก็บโดยกระทรวงการคลัง ตาม พรบ. ภาษีสรรพสามิต นำมาใช้เพื่อพัฒนาประเทศ - ภาษีเทศบาล : จัดเก็บโดยกระทรวงการคลัง ในอัตรา 10 % ของภาษีสรรพสามิต ตาม พรบ. ภาษีสรรพสามิต มาตรา 150 และจัดส่งให้กระทรวงมหาดไทยเพื่อนำมาใช้ในการพัฒนาท้องถิ่น - ภาษีมูลค่าเพิ่ม : จัดเก็บ 7 % ของราคาขายส่งน้ำมันเชื้อเพลิง และจัดเก็บอีก 7 % ของค่าการตลาดน้ำมันเชื้อเพลิงแต่ละชนิด 3. กองทุนต่างๆ (5-20 %) - กองทุนน้ำมันเชื้อเพลิง : จัดเก็บตามประกาศคณะกรรมการบริหารกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิง (กบน.) เพื่อรักษาเสถียรภาพราคาขายปลีกน้ำมันในประเทศไม่ให้เกิดความผันผวน - กองทุนเพื่อส่งเสริมการอนุรักษ์พลังงาน: จัดเก็บตามประกาศคณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติ (กพช.) เพื่อส่งเสริมสนับสนุนพลังงานทางเลือก พลังงานทดแทน เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพและลดการใช้พลังงาน 4. ค่าการตลาด (10-18 %) คือ ส่วนที่เป็นต้นทุน ค่าใช้จ่าย และกำไรของธุรกิจค้าปลีกน้ำมันทั้งระบบ ตั้งแต่การจัดการคลังน้ำมัน การขนส่งน้ำมันมายังสถานีบริการ และการให้บริการของสถานีบริการที่เติมน้ำมันแต่ละลิตรให้กับประชาชน ดังนั้น โครงสร้างราคาน้ำมันของไทยเหล่านี้ มีผลต่อการปรับขึ้น และลงราคาน้ำมันภายในประเทศทั้งสิ้น (ข้อมูลจากกระทรวงพลังงาน) *** ทำไมน้ำมันแพง หรือทำไมราคาน้ำมันไทยทำไมไม่ลดลง เป็นเพราะไทยนำเข้าน้ำมันดิบในช่วงเวลาหนึ่งก่อนที่ราคาตลาดโลกจะปรับลด น้ำมันดิบเหล่านั้นจะต้องผ่านกระบวนการกลั่น การขนส่งต่างๆ และออกมาเป็นน้ำมันสำเร็จรูป หรือราคาน้ำมันหน้าสถานีบริการน้ำมัน กระบวนเหล่านี้จะใช้ระยะเวลาประมาณหนึ่ง ทำให้ราคาน้ำมันสำเร็จรูปในไทยไม่สามารถปรับลงลดทันทีเหมือนกับราคาน้ำมันดิบของตลาดโลก อ่านเพิ่มเติม : เคาะปรับภาษีรถใช้น้ำมัน หนุนคนไทยมาใช้ EV