ธุรกิจ
Ferrari เปิดตัว 499P
การกลับมาอีกครั้งในรอบ 50 ปี: หวนคืนสู่ระดับหัวแถวของการแข่งขัน World Endurance Championship 499P คือ ชื่อของ Le Mans Hypercar รุ่นใหม่ ที่ Ferrari จะใช้ในการแข่งขัน FIA WEC World Endurance Championship Top Class ตั้งแต่ปี 2023 เป็นต้นไป นี่คือ ชื่อที่ปลุกประวัติศาสตร์ของม้าลำพองขึ้นมาอีกครั้ง ในอดีตรถต้นแบบถูกระบุด้วยตัวอักษร "P" ซึ่งมักนำหน้าด้วยจำนวน (ตัวเลข) ความจุรวมของเครื่องยนต์ และรุ่น 499P ก็เช่นกัน รถคันนี้เป็นผลลัพธ์ซึ่งได้จากวิสัยทัศน์ที่หยั่งรากลึกอย่างภาคภูมิใจในอดีต จนก่อกำเนิดเป็นตำนานในปัจจุบัน ส่งให้บริษัทสามารถคว้าแชมพ์โลก 22 รายการ และคว้าชัยชนะประเภท Overall ในการแข่งขัน 24 Hours of Le Mans ได้ถึง 9 ครั้ง อย่างไรก็ตาม รถเหล่านี้ต่างมีจุดมุ่งหมายที่แจ่มชัดในอนาคต นั่นคือ นำทั้งคุณลักษณะทางเทคนิค และการออกแบบที่มีอยู่ในรถต้นแบบมาปรับใช้กับ Road Car ลวดลายของ 499P ที่จะเปิดตัวในการแข่งขัน 1000 Miles of Sebring ใช้สีสันแบบเดียวกับรุ่น 312P ซึ่งโด่งดังอย่างยิ่งในยุค 1970 เพื่อเน้นย้ำให้เห็นถึงความเชื่อมโยงทางประวัติศาสตร์เมื่อ 50 ปีที่แล้ว กับผลงานล่าสุดของ Ferrari คันนี้ ด้วยเหตุผลดังกล่าว หนึ่งในรถ Endurance ที่มาราเนลโลส่งลงสังเวียน จะถูกประดับด้วยหมายเลข 50 ในขณะที่อีกคันจะใช้หมายเลข 51 ซึ่งเป็นหนึ่งในหมายเลขการแข่งรถที่ประสบความสำเร็จมากที่สุดในประวัติ ศาสตร์ของเรา รายชื่อนักแข่งอย่างเป็นทางการที่จะมาเป็นผู้กุมพวงมาลัย 499P จะประกาศให้ทราบต่อไปเร็วๆ นี้
กฎระเบียบใหม่ทางเทคนิคของ FIA (Federation Internationale De L'Automobile) และ ACO (Automobile Club de L'Ouest) ที่ร่างไว้สำหรับคลาสส์ไฮเพอร์คาร์ได้นำ Ferrari ไปสู่เส้นทางแห่งนวัตกรรม และการพัฒนาเพื่อผลิต Le Mans Hypercar (LMH) ที่ยังคงไว้ซึ่งเอกลักษณ์ที่ยึดมั่นมาช้านาน ซึ่งมองว่าสนามแข่งเป็นภูมิประเทศในอุดมคติสำหรับการพัฒนาเทคโนโลยีล้ำสมัยต่างๆ ที่จะนำมาใช้กับ Road Car ต่อไป และ 499P ก็แสดงให้เห็นถึงความมุ่งมั่นของ Ferrari ต่อการแข่งแบบ Endurance อย่างจริงจัง
ระบบขับเคลื่อน 4 ล้อต้นแบบถูกออกแบบ ตามข้อกำหนดทางเทคนิค และกฏเกณฑ์ของคลาสส์ Le Mans Hypercar ที่ใช้เครื่องยนต์ไฮบริด โดยส่งกำลังสูงสุด 500 กิโลวัตต์สู่ล้อทั้ง 4 และมีน้ำหนักขั้นต่ำไม่น้อยกว่า 1,030 กก. ในการสร้าง 499P บริษัทได้ดึงทรัพยากรมากมายทั้งทางเทคนิค ความเชี่ยวชาญ และความเป็นเลิศของบุคลากรของแบรนด์จากมาราเนลโลมาใช้ โดยมอบความไว้วางใจให้แก่ทีม “Attivita Sportive GT” ภายใต้การดูแลของ Antonello Coletta และ Ferdinando Cannizzo หัวหน้าฝ่ายเทคนิค เพื่อดูแลรับผิดชอบด้านวิศวกรรม และพัฒนา การแข่งขัน และรถแข่ง GT และรถสปอร์ทรุ่นต่างๆ
ระบบขับเคลื่อนไฮบริดของ 499P ผสมผสานเครื่องยนต์ที่ถูกวางกลางลำด้านหลัง ทำงานร่วมกับมอเตอร์ไฟฟ้าที่ใช้ขับเคลื่อนล้อคู่หน้า เครื่องยนต์สันดาปภายใน (ICE) มีกำลังตามข้อจำกัดสูงสุดของกติกาที่ 500 กิโลวัตต์ (680 แรงม้า) และพัฒนาขึ้นมาจากเครื่องยนต์ตระกูล V6 ทวินเทอร์โบ เครื่องยนต์ที่ใช้พื้นฐานจากรุ่น 296 GT3 ได้รับการยกเครื่องใหม่ทั้งหมดโดยวิศวกรของ Ferrari มุ่งเป้าไปที่การพัฒนาเพิ่มขีดความสามารถของเครื่องยนต์ และการลดน้ำหนักโดยรวมถือเป็นลักษณะเฉพาะของขุมพลัง V6 ใน 499P รวมถึงการวางตำแหน่งเครื่องยนต์บนโครงสร้างของรถก็ได้รับการออกแบบใหม่เช่นกัน เมื่อเปรียบเทียบกับเครื่องยนต์ที่ติดตั้งในรถ GT ของคู่แข่ง ซึ่งติดตั้งไว้ที่โครงสร้างของส่วนรองรับช่วงล่างหลัง ความเปลี่ยนแปลงที่สำคัญอีกประการ คือ ระบบขับเคลื่อนไฮบริด ERS (Energy Recovery System) ให้พละกำลังสูงสุด 200 กิโลวัตต์ (272 แรงม้า) มอ เตอร์ไฟฟ้ามีเฟืองท้ายติดตั้งมาในตัว และขับเคลื่อนโดยใช้แบทเตอรีที่สามารถชาร์จไฟกลับเข้าไปได้ขณะถอนคันเร่ง และการเบรค โดยไม่จำเป็นต้องใช้แหล่งพลังงานภายนอกอื่นๆ ชุดแบทเตอรีแรงดันไฟฟ้า 900 โวลท์ ที่นำประสบการณ์จากรถแข่งฟอร์มูลา วัน มาใช้ ถูกปรับให้ตรงตามจุดประสงค์ของพโรเจคท์นี้โดยเฉพาะ พละกำลังรวมสูงสุดของ 499P อยู่ที่ 500 กิโลวัตต์ (680 แรงม้า) และทำงานร่วมกับเกียร์ Sequential 7 จังหวะ
ดีไซจ์นของ Ferrari 499P รุ่นใหม่ รังสรรค์ขึ้นภายใต้การสนับสนุนจาก Ferrari Styling Centre โดยการนำของ Flavio Manzoni คุณสมบัติทางเทคนิค และแอโรไดนามิคของรถได้รับการปรับปรุงโดยใช้รูปทรงที่เรียบง่าย และโค้งมน สะท้อนถึง DNA ของ Ferrari ได้อย่างชัดเจน ความสมดุลระหว่างเส้นสายอันเฉียบคม และพื้นผิวที่ลื่นไหล เผยออกมาด้วยภาษาการออกแบบที่ล้ำยุคโดดเด่น และเป็นเอกลักษณ์ นิยามความเป็นสถาปัต ยกรรมที่เรียบง่ายทว่าครบครันทุกความสำคัญได้อย่างชัดเจน ตัวถังของรถต้นแบบได้รับการขัดเกลาจากพื้นผิวเรียบๆ สู่ช่องอากาศ และซุ้มล้อที่กลมกลืนลงตัว กระแสอากาศไหลผ่านช่องด้านข้างบริเวณเหนือช่องรอบๆ ห้องโดยสาร เพื่อลดความร้อนให้แก่หม้อน้ำที่ซ่อนอยู่ใต้ตัวถัง พื้นผิวของซุ้มล้อใน 499P ที่มีรูปทรงเป็นเอกลักษณ์เฉพาะของ Ferrari โดดเด่นด้วยบานเกล็ดขนาดใหญ่ มีจุดประสงค์เพื่อลดแรงดันภายในโพรงซุ้มล้อโดยเฉพาะ ทีมออกแบบด้านหน้าตัวรถถูกออกแบบใหม่ให้กลมกลืนกับชุดไฟหน้าที่ดีไซจ์นใหม่เช่นกันทำให้ได้รายละเอียดคล้ายกับดีไซจ์นที่เคยเปิดตัวครั้งแรกไปใน Ferrari Daytona SP3
ส่วนท้ายของรถแสดงให้เห็นอย่างชัดเจนถึงการหลอมรวมทั้งเทคโนโลยีแอโรไดนามิคส์ และการออกแบบอันล้ำเลิศ เข้าด้วยกัน พื้นผิวคาร์บอนไฟเบอร์ที่มีรูปทรงพริ้วไหวทำหน้าที่หลากหลายฟังค์ชัน และเปิดโล่งเผยให้เห็นล้อ และช่วงล่างได้อย่างชัดเจน สปอยเลอร์หลังโดดเด่นด้วยปีกคู่แนวนอน โดยปีกชิ้นหลัก และแผ่นกั้นด้านบนถูกออกแบบขึ้นอย่างพิถีพิถันเพื่อให้มั่นใจว่าจะได้แรงกดตามต้องการ และบรรลุประสิทธิภาพสูงสุด
ปีกชิ้นล่างมาพร้อมกับ “เส้นนำแสง” ที่เสริมดีไซจ์นด้านท้ายให้ดูงดงามยิ่งขึ้น ด้วยสัมผัสที่เฉียบขาดทว่าเรียบง่าย สุดท้าย คือ ช่องดักอากาศจำนวน 3 ช่อง บริเวณด้านบนของรถ ที่รับอากาศมาป้อนให้แก่ขุมพลัง V6 และส่งอากาศเย็นไปยังแบทเตอรี (ของระบบไฮบริด) และชุดเกียร์
499P รังสรรค์ขึ้นบนแชสซีส์ Monocoque ทำจากคาร์บอนไฟเบอร์ มาพร้อมกับฟีเจอร์ที่แสดงให้เห็นถึงความล้ำหน้าทางเทคโนโลยีมอเตอร์สปอร์ท การจัดวางโครงสร้างปีกนกคู่ของช่วงล่างแบบ Push-Rod ให้ผลลัพธ์เป็นคุณภาพด้านการดูดซับแรงสั่นสะเทือนที่โดดเด่น ซึ่งเห็นประโยชน์ได้ชัดเจนในขณะขับขี่ด้วยความเร็วสูงสุด และในการเข้าโค้ง ระบบอีเลคทรอนิคส์ได้รับการพัฒนา และสร้างสรรค์ต่อยอดจากประสบการณ์ที่ได้รับมาจากโลกแห่งการแข่งขัน GT
ระบบเบรคก็มีความซับซ้อนไม่น้อยไปกว่ากัน ด้วยการใช้ระบบ Brake-by-Wire เพื่อให้สามารถนำพลังงานจุลน์จากล้อหน้า ในขณะเหยียบเบรคกลับมาใช้ใหม่ได้ ระบบได้รับการพัฒนาให้ผสานความแม่นยำ และความรวด เร็วในการตอบสนอง เข้ากับความเสถียรภาพ และความทนทาน ซึ่งเป็นปัจจัยสำคัญที่นำพาไปสู่ความสำเร็จในการแข่งแบบ Endurance พลังงานไฟฟ้าจากล้อหน้าที่ได้มาในขณะเบรค จะเก็บไว้ในแบทเตอรีแรงดันสูงก่อนส่งพละกำลังกลับไปยังล้อหน้าเมื่อต้องการพละกำลังเพิ่มเติม จึงช่วยเพิ่มประสิทธิภาพบนทุกสนามแข่ง ตามตารางการแข่งขันปี 2023
Ferrari 499P จะได้รับการดูแลโดยทีมช่าง และวิศวกรจากมาราเนลโลร่วมกับ AF Corse ซึ่งยังคงเป็นพันธมิตรกันเพื่อร่วมสร้างชัยชนะเช่นเดิม ความร่วมมือนี้เริ่มขึ้นตั้งแต่ปี 2006 ในการแข่งขัน FIA GT กับรถแข่ง F430 GT2 ซึ่งคว้าตำแหน่งชนะเลิศประเภททีมนักแข่ง และผู้ผลิต ได้ในฤดูกาลที่เปิดตัว ความสำเร็จส่วนใหญ่ของการแข่งขัน GT ในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมา รวมถึงความสำเร็จทั้งหมดในการแข่งขัน World Endurance Champion ship (WEC) นับตั้งแต่ก่อตั้งในปี 2012 เป็นผลมาจากความร่วมมือระหว่าง Ferrari และ AF Corse ทั้งสิ้น
John Elkann ประธานกรรมการบริหารของ Ferrari กล่าวว่า “499P ชี้ให้เห็นว่าเราได้หวนคืนสู่การทวงบัลลังก์แชมพ์ในรายการ WEC อีกครั้ง เมื่อเราตัดสินใจที่จะเอาจริงกับพโรเจคท์นี้ เราจึงเริ่มดำเนินงานบนเส้นทางแห่งนวัตกรรม และการพัฒนา ยึดมั่นในธรรมเนียมของเราที่มองว่า สนามแข่งเป็นเหมือนภูมิประเทศในอุดมคติ ที่จะผลักดันขอบเขตของเทคโนโลยีล้ำสมัย ที่จะถูกถ่ายทอดต่อไปยัง Road Car ของเรา ให้กว้างออกไป เราเข้าสู่การแข่งขันนี้ด้วยความอ่อนน้อมถ่อมตน แต่ตระหนักถึงประวัติศาสตร์ที่นำเราไปสู่ตำแหน่งแชมพ์โลกของรายการ Endurance ว่า 20 ครั้ง และชัยชนะประเภท Overall อีก 9 ครั้ง ในการแข่งขัน 24 Hours of Le Mans ”
Antonello Coletta หัวหน้าทีม Ferrari Attivita Sportive GT กล่าวว่า “499P คือ ความฝันที่เป็นจริง วันนี้เป็นช่วงเวลาที่สำคัญสำหรับทุกคนที่ทำงานอย่างหนักในพโรเจคท์นี้ตลอดช่วง 2 ปีที่ผ่านมา เราต้องการอุทิศให้แก่ประวัติศาสตร์ของเรา ด้วยการค้นคว้าหาข้อมูลที่สำคัญมากมายทั้งเรื่องใหญ่ และเล็ก ในอดีตของเราที่มีทั้งความสำเร็จ และชัยชนะ อย่างไรก็ตาม เรามองไปข้างหน้าเพื่อประกาศความมุ่งมั่นของเราต่อการแข่งขัน World Endurance Championship นี้ 499P เป็นรถต้นแบบที่แสดงให้เห็นถึงความแน่วแน่อย่างแท้จริงของ Ferrari และทำให้เรารู้สึกตื่นเต้นอย่างมากที่จะได้เผยโฉมให้ลูกค้าของเรา และผู้ที่ชื่นชอบแบรนด์นี้ได้เห็นในวันนี้”
Ferdinando Cannizzo หัวหน้าฝ่ายพัฒนารถแข่ง Ferrari GT ทิ้งท้ายไว้ว่า “นี่เป็นช่วงเวลาที่น่าตื่นเต้นของผม และทุกคนในทีม เรารู้ว่าเรามีความรับผิดชอบที่ยิ่งใหญ่ เราออกแบบ และสร้างรถยนต์ที่แปลกใหม่ และซับซ้อนเป็นพิเศษในทุกด้าน ความท้าทายที่ไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อนนี้ กระตุ้นให้ทุกคนร่วมมือร่วมใจกันแบ่งปันทุกส่วนที่เกี่ยวข้อง กับทุกแผนกในบริษัท และพันธมิตรด้านเทคนิคของเรา การเริ่มต้นจากกระดาษเปล่าเป็นที่มาของแรงผลักดันที่ยากจะอธิบายได้ ในการค้นหาวิธีแก้ปัญหาที่มีประสิทธิภาพ เพื่อรับประกันสมรรถนะและเสถียรภาพของ 499P ตั้งแต่การซ้อมครั้งแรกจนถึงการแข่งขันแรก เราได้วางแผนโปรแกรมการพัฒนาที่เข้มข้นมาก ทั้งบนแท่นทดสอบ และในสนามแข่ง จนได้ข้อมูลที่น่าสนใจกลับมา งานวิเคราะห์ที่รอเราอยู่ในอีกไม่กี่สัปดาห์ที่จะถึงนี้ ตลอดจนการขับในสนามทดสอบอื่นๆ เป็นสิ่งสำคัญที่สุดสำหรับการปรับแต่งอย่างละเอียด และการผสานระบบต่างๆ ทั้งหมดเข้าด้วยกันเป็นครั้งสุดท้าย แน่นอนว่าเรายังเหลืออีกหลาย กม. (ที่จะต้องขับทดสอบ) แต่ทีมงานทุกคนก็ยังคงตระหนักถึงความสำคัญของพโรเจคท์นี้ และจะยึดในความมุ่งมั่น ความหลงใหล ความเชี่ยวชาญ และความเป็นมืออาชีพที่ยอดเยี่ยมเช่นนี้ต่อไป”
ABOUT THE AUTHOR
นุสรา เงินเจริญ
บรรณาธิการข่าวธุรกิจและสังคม รักการอ่าน ขอบงานเขียน ชอบพบปะผู้คน ได้มีโอกาสสัมภาษณ์ผู้บริหารในวงการยานยนต์ไทย ท่องเที่ยว เป็นประสบการณ์ที่ดี พร้อมได้ เปิดโลก ได้พัฒนาตัวในแวดวงสื่อสารมวลชน
ภาพโดย : บริษัทผู้ผลิตคอลัมน์ Online : ธุรกิจ (บก. ออนไลน์)
คำค้นหา