บทความ(formula)
Hyundai ในประเทศไทย...ผ่านร้อนผ่านฝนมากว่า 30 ปี
2535 เปิดแบรนด์ Hyundai ในประเทศไทยครั้งแรก โดยบริษัท ยูไนเต็ด โอโตเซลส์ จำกัด ซึ่งเป็นบริษัทในเครือ พระนคร ยนตรการฯ พร้อมกับการเปิดตัว Hyundai Sonata (โซนาตา) Hyundai Elantra (เอลันตรา) และ Hyundai Excel (เอกซ์เซล) ในงาน “มหกรรมรถยนต์ ‘93” ส่วนถัดมาก็มีรุ่นที่จะไม่กล่าวถึงไม่ได้เลยก็ คือ Hyundai S Coupe GT (สกูเป จีที) หรือ LS Turbo ในสหรัฐอเมริกา เป็นความพยายามครั้งแรกของ Hyundai ในการสร้างรถสปอร์ทคูเป เทอร์โบชาร์เจอร์
Hyundai Sonata ซีดานขนาดกลางเวอร์ชันแรกที่จำหน่ายในประเทศไทย ใช้เครื่องยนต์เบนซิน 2.0 ลิตร 4G63 ของ Mitsubishi Motors ซึ่งเกิดจาก Hyundai แลกเปลี่ยนอะไหล่กับ Mitsubishi โดยเวอร์ชันนี้ขายในระยะเวลาเพียง 1 ปี และเปลี่ยนโฉมตามตลาดโลกในปี 2536
Hyundai Elantra คอมแพคท์ซีดาน ที่มีขนาดเครื่องยนต์ 1.5 ,1.6 และ 1.8 ลิตร โดยใช้เทคโนโลยีเครื่องยนต์ร่วมกับ Mitsubishi Motors ระบบเกียร์จะเป็นเกียร์ธรรมดา 5 จังหวะ และเกียร์อัตโนมัติ 4 จังหวะ
Hyundai Excel ซีดานขนาดซับคอมแพคท์ (Subcompact เป็นการจัดประเภทในอเมริกาเหนือ สำหรับรถยนต์ที่มีขนาดเล็กกว่าคอมแพคท์ มันกว้างเทียบเท่ากับการจำแนกประเภท B-Segment ในยุโรป, Supermini ในอังกฤษ) ที่นำมาขาย เป็นรุ่นเครื่องยนต์ 1.3 และ 1.5 ลิตร ตัวถังซีดาน 4 ประตู
Hyundai S Coupe GT เป็นเวอร์ชัน 2 ที่ผ่านการปรับโฉม และจัดหนักด้วยเครื่องยนต์เบนซิน เทอร์โบ 1.5 ลิตร Alpha Turbo กำลัง 115 แรงม้า ที่ 5,500 รตน. และแรงบิดสูงสุด 17.0 กก.-ม. (167 นิวตัน-เมตร) ที่ 4,500 รตน. ขับเคลื่อนล้อหน้า
2538 เปิดตัว HYUNDAI ELANTRA รุ่นที่ 2 มีทั้งรุ่นซีดาน 4 ประตู และสเตชันแวกอน 5 ประตู รุ่นนี้ถือว่าเป็นอีกรุ่นหนึ่งที่ประสบความสำเร็จในประเทศไทย โดยมียอดขายหลายพันคัน Hyundai Excel ถูกแทนที่ด้วย Hyundai Accent (แอคเซนท์) ส่วนรุ่นคูเป Hyundai Scoop (สกูพ) ที่เรียกว่า Hyundai S Coupe ถูกแทนที่ด้วย Hyundai Coupe (คูเป) หรือที่เรารู้จักในชื่อ Hyundai Tiburon (ติบูรน) ในปี 2539
Hyundai Tiburon ติดตั้งระบบกันสะเทือนแบบแมคเฟอร์สันสตรัทรุ่นแรก ที่พัฒนาร่วมกับผู้ชนะการแข่งขัน Pikes Peak International Hill Climb ครั้งที่ 75
Hyundai Elantra รุ่นที่ 2 สเตชันแวกอน 5 ประตู หรือที่เรียกว่า Touring Wagon ซึ่งเปิดตัวตามหลังรุ่นซีดาน 4 ประตู เครื่องยนต์ 1.6 และ 1.8 ลิตร
เมื่อ Hyundai Motors ไม่ต่อสัญญากับ ยูไนเต็ด โอโตเซลส์ฯ ทำให้การทำตลาดรถยนต์ทุกรุ่นของ Hyundai ในประเทศไทยต้องยุติลงไปด้วย และเลิกขายในปี 2545 ก่อนจะกลับมาแนะนำรถยนต์ Hyundai อีกครั้งในปี 2550 โดยรถยนต์รุ่นสุดท้ายในยุคของ พระนคร ยนตรการฯ คือ Hyundai Santa Fe (ซันตา เฟ) เปิดตัวเมื่อปี 2544
Hyundai Santa Fe รถยนต์รุ่นสุดท้ายในยุคของ พระนคร ยนตรการฯ มีตัวเลือกเครื่องยนต์เพียงตัวเลือกเดียว คือ เบนซิน วี 6 สูบ DELTA ขนาดความจุ 2.7 ลิตร จับคู่กับระบบส่งกำลังแบบเกียร์อัตโนมัติ 4 จังหวะ และ 4WD แบบเดียวกับที่จำหน่ายในออสเตรเลีย
2549 ก่อตั้ง บริษัท ฮุนได มอเตอร์ (ไทยแลนด์) จำกัด
2550 เปิดตัว ฮุนได มอเตอร์ (ไทยแลนด์)ฯ สู่สาธารณะครั้งแรก และเปิดตัวรถใหม่ Hyundai Coupe หรือ Hyundai Tiburon ใหม่ Hyundai Sonata และ Hyundai Santa Fe เพื่อจำหน่ายเป็นครั้งแรก
Hyundai Coupe ใหม่ รถ 2 ประตูคูเป 2+2 ที่นั่ง รุ่นที่ 3 ในตระกูล Coupe ใช้เครื่องยนต์ 4 สูบเรียง DOHC 16 วาล์ว ขนาด 2.0 ลิตร 143 แรงม้า ระบบเกียร์อัตโนมัติ 4 จังหวะ ขับเคลื่อนล้อหน้า
นอกจาก Hyundai Coupe แล้ว ยังมีเอสยูวีคันหรู Hyundai Santa Fe เครื่องยนต์ดีเซล เทอร์โบ คอมมอนเรล ไดเรคท์อินเจคชัน (CRDI) 2.2 ลิตร 150 แรงม้า
2551 ฮุนได มอเตอร์ (ไทยแลนด์)ฯ เปิดตัว Hyundai H-1 (เอช-1) รถตู้ที่กลายเป็นกำลังหลักที่ทำให้ Hyundai เติบโตในตลาดบ้านเรา
Hyundai H-1 รถตู้แบบ 12 ที่นั่ง เครื่องยนต์ดีเซล 4 สูบ เทอร์โบ อินเตอร์คูเลอร์ ความจุ 2.5 ลิตร กำลังสูงสุด 175 แรงม้า ที่ 3,600 รตน. แรงบิดสูงสุด 45.0 กก.-ม. ที่ 2,000-2,250 รตน. เกียร์อัตโนมัติ 5 จังหวะ ขับเคลื่อน 2 ล้อหลัง
2553 เปิดตัวรถประกอบในประเทศอินโดนีเซียรุ่นแรก Grand Starex (กแรนด์ สตาเรกซ์)
2555 เปิดตัว Hyundai Elantra รุ่นที่ 5 แต่ถือเป็นโมเดลที่ 3 ในประเทศไทย โดยข้ามรุ่นที่ 3 และ 4 มีเครื่องยนต์ 1.8 ลิตร ทั้งแบบเกียร์ธรรมดา และเกียร์อัตโนมัติ ในความจริงแล้ว ฮุนได มอเตอร์ (ไทยแลนด์)ฯ ตั้งใจจะเปิดตัวตั้งแต่ปี 2554 แต่ต้องเลื่อนไปเพราะน้ำท่วมใหญ่
Hyundai Elantra รถขนาดคอมแพคท์ 4 ประตู ที่ได้รับการออกแบบในแคลิฟอร์เนียตอนใต้ มีฐานล้อยาวแบบสปอร์ทรูปทรงคูเป เครื่องยนต์ 4 สูบ ขนาด 1.8 ลิตร กำลังสูงสุด 150 แรงม้า ส่งกำลังผ่านระบบเกียร์อัตโนมัติ ขับเคลื่อน 2 ล้อหน้า
2556 เปิดตัวสำนักงานใหญ่แห่งใหม่บนถนนวิภาวดีรังสิต และเปิดตัว Hyundai Veloster (เวโลสเตอร์) เทอร์โบ ใหม่ รถสปอร์ทคูเป แบบบวกประตูด้านหลังด้านผู้โดยสารอีก 1 บาน เพื่อเข้าถึงที่นั่งด้านหลังได้ง่ายขึ้น
Hyundai Veloster รถสปอร์ทคูเป แบบบวกประตูด้านหลัง เครื่องยนต์เบนซิน เทอร์โบ 4 สูบแถวเรียง ขนาด 1.6 ลิตร กำลังสูงสุด 201 แรงม้า ที่ 6,000 รตน. แรงบิดสูงสุด 27.0 กก.-ม. หรือ 195 ฟุตปอนด์ ที่ 1,500-4,500 รตน. เกียร์อัตโนมัติคลัทช์คู่ 7 จังหวะ (DCT) ขับเคลื่อน 2 ล้อหน้า
2557 เปิดตัวรถ Hyundai ประกอบในประเทศมาเลเซียรุ่นแรก Elantra ซีรีส์ และเปิดตัวรุ่น Elantra Sport ที่ได้รับการอัพเดทจาก GLS เปลี่ยนเป็น SE
2559 เปิดตัวรุ่นไมเนอร์เชนจ์ H-1/Grand Starex MC16 ในปีนี้ Hyundai มียอดขายสะสมเกิน 30,000 คัน
2561 เปิดตัวรถยนต์พลังงานไฟฟ้า Hyundai คันแรกในไทย Hyundai Ioniq Electric (ไอโอนิก อีเลคทริค) ขับเคลื่อนด้วยพลังไฟฟ้าล้วนๆ
Hyundai Ioniq Electric ซีดานติดตั้งมอเตอร์ไฟฟ้าขนาด 88 กิโลวัตต์/120 แรงม้า ระบบเกียร์จังหวะเดียว และแบทเตอรีลิเธียม-ไอออน โพลีเมอร์ ขนาด 28 กิโลวัตต์ชั่วโมง เมื่อประจุไฟเต็มหม้อแต่ละครั้งรถพลังไฟฟ้าแบบนี้จะวิ่งได้ไกลกว่า 250 กม./ชม. และสามารถทำความเร็วสูงสุด 165 กม./ชม.
2562 เปิดตัวรุ่นไมเนอร์เชนจ์ H-1/Grand Starex MC20 จำนวนที่นั่งภายในห้องโดยสารยังคงไม่มีการปรับเปลี่ยน ในรุ่น Grand Starex สามารถรองรับผู้โดยสารได้ 7 ที่นั่ง ในขณะที่รุ่น H-1 สามารถรองรับได้ถึง 11 ที่นั่ง และรถยนต์พลังงานไฟฟ้า Kona Electric (โคนา อีเลคทริค)
HYUNDAI H-1/Grand Starex รุ่นไมเนอร์เชนจ์ เครื่องยนต์ดีเซล คอมมอนเรล 2.5 ลิตร 4 สูบ 16 วาล์ว CRDI พร้อมเทอร์โบแปรผัน VGT อินเตอร์คูเลอร์ ให้กำลังสูงสุด 175 แรงม้า ที่ 3,600 รตน. แรงบิดสูงสุด 45.0 กก.-ม. (441 นิวตัน-เมตร) จับคู่กับเกียร์อัตโนมัติ 5 จังหวะ พร้อมระบบ Sequential Shift
Hyundai Kona Electric รถอเนกประสงค์ขับเคลื่อนด้วยมอเตอร์ไฟฟ้ากำลัง 204 แรงม้า และแรงบิดสูงสุด 40.3 กก.-ม. อัตราเร่งจาก 0-100 กม./ชม. ในเวลา 7.6 วินาที และความเร็วสูงสุด 167 กม./ชม. โดยมีแบทเตอรีลิเธียม-ไอออน โพลีเมอร์ ที่ให้พลังงานยาว 64 กิโลวัตต์ชั่วโมง ให้ระยะทาง 482 กม. และขนาดมาตรฐาน 39.2 กิโลวัตต์ชั่วโมง ให้ระยะทาง 312 กม.
2564 เปิดตัว Hyundai Staria (ฮันเด สตารีอา) เป็นครั้งแรกในประเทศไทย
Hyundai Staria เป็นรถเอมพีวี 11 ที่นั่ง ออกแบบล้ำสมัย เครื่องยนต์ดีเซล เทอร์โบ 2.2 ลิตร 177 แรงม้า แรงบิดสูงสุด 44.0 กก.-ม. และเกียร์อัตโนมัติ 8 จังหวะ มีระบบช่วยหยุดรถเมื่อเกิดอุบัติเหตุ ระบบช่วยควบคุมรถให้อยู่ในเลน ระบบเตือน และช่วยควบคุมพวงมาลัยเมื่อมีรถในจุดอับสายตา
2565 เปิดตัวรถยนต์อเนกประสงค์รุ่นใหม่ล่าสุด Hyundai Creta ( กเรตา) รถยนต์รุ่นนี้ ไม่เพียงแต่เป็นรถอเนกประสงค์รุ่นแรกที่ Hyundai นำมาทำตลาด แต่ยังเป็นรุ่นแรกที่ประกอบจากโรงงานประกอบรถยนต์แห่งใหม่ในประเทศอินโดนีเซีย
Hyundai Creta มากับขุมพลังเครื่องยนต์ Smartstream ขนาด 1.5 ลิตร 115 แรงม้า ที่ 6,300 รตน. เกียร์อัตโนมัติ IVT (Intelligent Variable Transmission) ขับเคลื่อนล้อหน้า โดยมีโหมดขับขี่ให้เลือกถึง 6 โหมดด้วยกัน ได้แก่ Eco, Comfort, Smart, Sport, Sand และ Mud
2566 รถรุ่นใหม่ที่คาดว่าจะเปิดตัวในเมืองไทย Hyundai Stargazer (ฮันเด สตาร์เกเซอร์) รถอเนกประสงค์ขนาดคอมแพคท์ พร้อมห้องโดยสารแบบ 6 ที่นั่ง และ 7 ที่นั่ง เปิดตัวครั้งแรกในโลกที่ประเทศอินโดนีเซีย หน้าตาคล้ายกับ Hyundai Staria ย่อส่วน และการเผยโฉมเป็นครั้งแรกในอาเซียน อีกรุ่นหนึ่งก็เป็นรถยนต์พลังงานไฟฟ้า ส่วนจะเป็น Ioniq 5 (ไอโอนิก 5) หรือจะ Ioniq 6 (ไอโอนิก 6) ก็เป็นแนวทางที่ทำให้เรารู้ว่า Hyundai คือ หนึ่งในผู้ผลิตรถไฟฟ้า
Hyundai Stargazer เครื่องยนต์เบนซิน 4 สูบ ขนาด 1.5 ลิตร MPI ให้กำลังสูงสุด 115 แรงม้า (PS) ที่ 6,300 รตน. แรงบิดสูงสุด 14.7 กก.-ม. (144 นิวตัน-เมตร) ส่งกำลังผ่านเกียร์อัตโนมัติ IVT (CVT) ขับเคลื่อนล้อหน้า
Hyundai Ioniq 5
Hyundai Ioniq 6 สร้างขึ้นบนพแลทฟอร์ม E-GMP ที่ได้รับการพัฒนาขึ้นเพื่อผลิตรถยนต์ไฟฟ้าโดยเฉพาะ Ioniq 6 มาพร้อมกับเทคโนโลยีสุดล้ำ ที่คิดค้นจากด้วยการคำนึงถึงลูกค้าเป็นสำคัญ ห้องโดยสารที่กว้างขวาง นอกจากนี้ ระยะทางขับขี่ยังมากถึง 614 กม./การชาร์จไฟเต็ม 1 ครั้ง
ABOUT THE AUTHOR
Thanasan Saowamol
ลุงหนึ่ง ฟอร์มูลา ศึกษาวิชาตำรารถมานานกว่า 30 ปี ผ่านร้อนหนาว ตั้งแต่ ยุคเครื่องยนต์ มาถึงยุคมอเตอร์ จะว่าเวอร์ ก็เจอมาหมด
คอลัมน์ Online : บทความ(formula)
คำค้นหา