ข่าวจากประเทศจีน ระบุว่า BYD ลงนามในสัญญามูลค่า 1 หมื่นล้านหยวน (ประมาณ 4.95 หมื่นล้านบาท) เพื่อสร้างฐานการผลิตแบทเตอรีใหม่ในเมืองซูโจว โดยโรงงานมีที่ตั้งอยู่กึ่งกลางระหว่างปักกิ่งกับเซี่ยงไฮ้ มีกำลังผลิต 30 กิกะวัตต์ชั่วโมง/ปี และคว้าตำแหน่งโรงงานผลิตแบทเตอรีโซเดียม-ไอออน ขนาดใหญ่ที่สุดในโลกไปครอง
ช่วงเดือนพฤศจิกายน บริษัท Findreams Battery บริษัทลูกของ BYD และบริษัท Huaihai Holding Group ผู้ผลิตรถสามล้อรายใหญ่ ได้ลงนามในสัญญาเป็นจำนวนเงินถึง 1 หมื่นล้านหยวน (ประมาณ 4.95 หมื่นล้านบาท) ที่สำนักงานใหญ่ของ BYD ในเซินเจิ้น เพื่อสร้างโรงงานผลิตแบทเตอรีโซเดียม-ไอออน ร่วมกัน
ทั้ง 2 บริษัทประกาศร่วมกันสร้างโรงงานที่เมืองซูโจว ให้เป็นศูนย์กลางการผลิตแบทเตอรีสำหรับรถไฟฟ้าขนาดเล็ก และสกูเตอร์ ซึ่งเหมาะสมในการใช้แบทเตอรีโซเดียม-ไอออน มากที่สุด
ก่อนหน้านี้ ทั้ง BYD และ Huaihai Holding Group เคยลงทุนร่วมกันในการสร้างโรงงานผลิตแบทเตอรีมาตรฐาน ในเดือนพฤศจิกายน 2565 เป็นเงินถึง 1 หมื่นล้านหยวน (ประมาณ 4.95 หมื่นล้านบาท) เพื่อสร้างโรงงานขนาด 3.1 แสนตรม. ซึ่งใกล้จะเสร็จสมบูรณ์แล้ว และจะเริ่มทดสอบการผลิตในเดือนมีนาคม 2567
สรุปข่าวการพัฒนาแบทเตอรีโซเดียม-ไอออน ในปี 2566
กุมภาพันธ์ 2566 บริษัทผลิตแบทเตอรี Hina ของจีน เปิดตัวรถไฟฟ้าแบบแรก ที่ใช้ แบทเตอรีโซเดียม-ไอออน ในรุ่น Sehol E10X ซึ่งเป็นความร่วมมือกันระหว่าง Volkswagen และ JAC โดยใช้แพคแบทเตอรีโซเดียม มีความจุ 25 กิโลวัตต์ชั่วโมง, มีความเข้มกระแสไฟ 120 วัตต์ชั่วโมง/กก. สามารถทำระยะเดินทางได้ 250 กม. แต่แบทเตอรีโซเดียมถูกใช้งานในระดับต้นแบบเพื่อการทดสอบเท่านั้น และไม่ได้ถูกผลิตในระดับอุตสาหกรรม
จากนั้นมีข่าวลือว่า BYD Seagull จะเป็นรถรุ่นแรกที่ผลิตเป็นจำนวนมาก และจะใช้ แบทเตอรีโซเดียม-ไอออน แต่เมื่อเปิดตัวเป็นทางการในเดือนเมษายน 2566 รถรุ่นนี้ก็ยังใช้แบทเตอรี LFP Blade ตามเดิม
สำหรับบริษัท CATL ประกาศในเดือนเมษายน 2566 รถไฟฟ้า ICar บริษัทลูกของ Chery Auto จะเป็นบริษัทแรกที่จะใช้แบทเตอรีโซเดียม-ไอออน แต่ยังไม่เห็นการเคลื่อนไหวเพิ่มเติมตั้งแต่ประกาศออกมา
และล่าสุด Jiangsu Zoolnasm บริษัทผู้ผลิตแบทเตอรี ได้ประกาศสร้างโรงงานผลิตแบทเตอรีโซเดียม-ไอออน ที่มีกำลังการผลิต 20 กิกะวัตต์ชั่วโมง/ปี โดยเริ่มก่อสร้างในเดือนพฤศจิกายน 2566 ที่เมืองกวางเต๋อ มณฑลอานฮุย