ข่าวจากสหรัฐอเมริกา ระบุว่า Honda และ GM ร่วมกันพัฒนาเซลล์เชื้อเพลิงไฮโดรเจน สำหรับใช้กับรถบรรทุก, รถใช้งานหนัก, เครื่องกำเนิดไฟฟ้า รวมถึงรถยนต์นั่งส่วนบุคคล โดยผลิตขึ้นในรูปแบบโมดูลเซลล์เชื้อเพลิง ทำการพัฒนาร่วมกันที่โรงงานในมิชิแกน เพื่อนำมาใช้ใน Honda CR-V ใหม่ ที่จะเปิดตัวในเดือนมีนาคมนี้ โดยผลิตจำนวนจำกัด และขายเฉพาะในแคลิฟอร์เนีย
เชื้อเพลิงไฮโดรเจนถูกมองว่าเป็นเชื้อเพลิงที่ใช้เฉพาะกลุ่มรถยนต์นั่ง, พิคอัพ และเอสยูวี เหมือนกับการเลือกใช้เชื้อเพลิงดีเซลแทนน้ำมันเบนซิน อันที่จริงแล้วไฮโดรเจนมีการตอบสนองการใช้งานที่กว้างกว่า เพราะสามารถใช้กับรถบรรทุกระยะไกล, รถใช้งานหนัก และเครื่องกำเนิดกระแสไฟฟ้า โดยมีค่ามลพิษเป็นศูนย์ เมื่อเทียบกับรถไฟฟ้าพลังแบทเตอรี เซลล์เชื้อเพลิงไฮโดรเจนมีระยะเดินทางไกลกว่า และใช้เวลาเติมเชื้อเพลิงน้อยกว่า ซึ่งเป็นข้อได้เปรียบในการทำธุรกิจที่ทุกนาทีมีค่า ทั้งไม่ต้องสร้างสถานีที่มีเนื้อที่กว้างใหญ่ สามารถตั้งสถานีเครือข่ายให้มีระยะห่างกว่า เชื้อเพลิงไฮโดรเจนจึงเป็นทางเลือกที่ลงตัวสำหรับระบบเศรษฐกิจยุคใหม่
การร่วมลงทุนของ GM และ Honda ด้วยชื่อบริษัท Fuel Cell Systems Manufacturing LLC (FCSM) ขณะนี้ทำการผลิตเพียงรูปแบบของโมดูลเซลล์เชื้อเพลิงไฮโดรเจน ที่มีขนาดเท่ากับเครื่องยนต์ 4 สูบ ให้กำลัง 103 แรงม้า ถ้าต้องการกำลังมากกว่าสามารถติดตั้งได้หลายโมดูล สามารถนำมาใช้กับรถกึ่งบรรทุก หรือเครื่องกำเนิดกระแสไฟฟ้า นอกจากนั้น ระบบเซลล์เชื้อเพลิงใหม่ มีราคาเพียง 1 ใน 3 ของระบบเซลล์เชื้อเพลิงที่ใช้ใน Honda Clarity รุ่นปี 2562
บริษัท FCSM เป็นผู้ผลิต และขายระบบเซลล์เชื้อเพลิงไฮโดรเจนให้ Honda และ GM Hydrotec Division เพื่อนำไปติดตั้งกับสินค้าอื่น หรือขายให้แก่บริษัทอื่นได้ โดย Honda ตั้งเป้าขายระบบเซลล์เชื้อเพลิงถึง 2,000 เครื่อง ภายในปี 2568 โดย 500 เครื่อง สำหรับใช้กับ CR-V ใหม่ ที่โรงงาน Performance Manufacturing Center ในรัฐโอไฮโอ ทั้งยังนำไปติดตั้งให้แก่รถเพื่อการพาณิชย์, รถอุปกรณ์งานก่อสร้าง และสถานีจ่ายกระแสไฟฟ้า ขณะนี้ Honda ร่วมกับ Isuzu ทำการพัฒนารถกึ่งบรรทุกระดับ 8 (Class 8) ซึ่งจะเริ่มผลิตภายในปี 2570 ที่ญี่ปุ่น แต่ไม่ได้ระบุว่าเป็นระบบเซลล์เชื้อเพลิงของ FCSM
ทางฝั่ง GM ต่างไปเล็กน้อย โดยจะขายระบบเซลล์เชื้อเพลิงภายใต้แบรนด์ Power Cubes เพื่อติดตั้งกับรถอุปกรณ์ใช้งานหนัก และสถานีกำเนิดกระแสไฟฟ้า ทั้งร่วมมือกับบริษัท Autocar ในการติดตั้งระบบเซลล์เชื้อเพลิงเป็นระบบส่งกำลังให้แก่รถเก็บขยะ, รถบรรทุก, รถผสมปูน, รถบดถนน และรถหัวลาก
บริษัท Komatsu จะนำระบบเซลล์เชื้อเพลิง แทนเครื่องยนต์ดีเซล ที่ผลิตกระแสไฟฟ้ากำลัง 3,500 แรงม้า ให้แก่รถบรรทุกพลังไฟฟ้าใช้งานในเหมือง รุ่น 930e ส่วนบริษัท Liebherr-Aerospace จะพัฒนาระบบเซลล์เชื้อเพลิงไปใช้เป็นเครื่องกำเนิดกระแสไฟฟ้าบนเครื่องบินแทนเครื่องยนต์เทอร์ไบน์ขนาดเล็ก เมื่อปี 2565 บริษัท Hydrotec ได้สร้างชื่อเสียงด้วยการนำระบบเซลล์เชื้อเพลิงไฮโดรเจน ไปใช้เป็นสถานีบริการไฟฟ้า เพื่อจ่ายไฟฟ้ากระแสตรงแบบชาร์จเร็ว 60 กิโลวัตต์ ในการทดสอบเอสยูวียอดเยี่ยมแห่งปีของนิตยสาร
โรงงานผลิตระบบเซลล์เชื้อเพลิงใช้ฐานการผลิตแบบอัตโนมัติ ของ FCSM ในพื้นที่ขนาด 70,000 ตารางฟุต (6,503 ตารางเมตร) ด้วยเงินลงทุนร่วมกันถึง 85 ล้านเหรียญสหรัฐฯ (ประมาณ 3,002 ล้านบาท) ก่อตั้งในปี 2560 โดยทั้ง 2 บริษัทได้ร่วมมือกันพัฒนาระบบเซลล์เชื้อเพลิงมาก่อน ตั้งแต่ปี 2556 และทั้ง 2 บริษัทต่างมีประสบการณ์ในการพัฒนาระบบเซลล์เชื้อเพลิงเป็นเวลานาน โดยในปี 2509 GM ได้ผลิตรถ GM Electrovan รถพลังไฮโดรเจนคันแรกของโลก และ Honda มีประสบการณ์ด้านการพัฒนาระบบเซลล์เชื้อเพลิงเกือบ 40 ปี